เรื่องของใคร?

เรื่องของใคร?


วันหนึ่งหนูน้อยตัวหนึ่งมองผ่านทางรูฝาผนังบ้าน เห็นภรรยาของชาวนากำลังตั้งกับดักหนู ด้วยความตื่นเต้นตกใจ เจ้าหนูน้อยกระโจนออกไปกลางลาน พร้อมตะโกนด้วยความตกอกตกใจกลัวภัยอันตรายที่จะเข้ามาใกล้ตัวแล้ว “กับดักหนูอยู่ในบ้าน กับดักหนูอยู่ในบ้าน”แม่ไก่ได้ยินเข้าแล้วก็มองหนูอย่างเยาะหยันพร้อมยักไหล่อย่างไม่แยแส “เจ้าหนูน้อย ข้าได้ยินแล้วว่าภัยใกล้ตัวเจ้า แต่นั่นมันเป็นเรื่องของเจ้า กับดักหนูไม่ใช่เรื่องที่ข้าจะสนใจอะไร มันไม่ใช่ธุระของข้า” ว่าแล้วก็คุ้ยเขี่ยหาอาหารอย่างทองไม่รู้ร้อนต่อไป

เจ้าหนูน้อยวิ่งหน้าตั้งไปยังหมูซึ่งกำลังใช้จมูกขุดคุ้ยอาหาร “หมู หมูนายรู้หรือเปล่า มีกับดักหนูอยู่ในบ้าน” หมูได้ยินพยักหน้ารับ พร้อมบอกว่า “เจ้าหนูน้อย ข้ารู้สึกสงสารแกจริง ๆ แต่ข้าไม่สามารถจะช่วยอะไรเจ้าได้หรอก นอกจากจะสวดมนต์ภาวนาให้เจ้าปลอดภัยเท่านั้น ข้าจะสวดมนต์ภาวนาให้เจ้าทุก ๆ ครั้งก่อนนอน

ด้วยความหมดอาลัยตายอยาก เจ้าหนูวิ่งโร่ไปหาวัวซึ่งกำลังเล็มหญ้าอยู่ข้าง ๆ บ้าน “นาย นาย มีกับดักหนูอยู่ในบ้าน” เจ้าหนูน้อยตะโกนบอกวัวด้วยเสียงระทึกกลัว วัวหันมายิ้มกับหนูน้อย พร้อมกับพูดว่า “โม โม! เออ! จริงหรือ? น่ากลัวนะสำหรับเจ้า แต่ขอโทษทีเถอะสำหรับข้าไม่ได้สะเทือนซางเลยกับกับดักหนูเล็ก ๆ แค่นั้น

ด้วยความหมดหวัง เจ้าหนูน้อยเดินคอตกกลับไปเผชิญชะตากรรมในบ้านอย่างโดดเดี่ยว

หลังมืดสนิทคืนนั้น เสียงกับดักหนูงับดังสนั่น ภรรยาชาวนาลงมาดูหวังได้หนู แต่ในความมืดภรรยาชาวนามองไม่เห็นว่ากับดักหนูงับติดหางงูเห่าตัวใหญ่อยู่ ในความมืดงูเห่ากัดภรรยาชาวนา ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล และกลับมารักษาที่บ้าน แต่ปรากฏว่าภรรยาชาวนามีไข้ขึ้นสูง

ชาวนาทุกคนรู้ยาแก้ไข้นั้น ต้องให้คนไข้กินซุปไก่ ดังนั้นชาวนาก็ฆ่าไก่มาต้มซุปให้ภรรยากิน แต่อย่างไรเสียอาการป่วยของภรรยาไม่ดีขึ้น มีเพื่อนฝูงเกือบทั้งหมู่บ้านมาเยี่ยมเฝ้าไข้กันเนืองแน่น ชาวนาก็ต้องฆ่าหมูเพื่อทำอาหารเลี้ยงเพื่อน ๆ ที่มาปรนนิบัติภรรยาตัวเอง

เวลาผ่านไป ภรรยาชาวนาก็ไม่ดีขึ้น ในที่สุดก็ตายไป หลังจากนั้นก็มีงานศพใหญ่โต เพื่อนฝูงมาร่วมงานมากมาย ชาวนาก็ต้องเชือดวัวทำอาหารเลี้ยงแขกในงาน

…เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ได้เล็ดลอดจากสายตาของเจ้าหนูน้อยตัวนั้นแม้แต่นิด เพราะเจ้าหนูน้อยได้เฝ้าสังเกตการณ์จากรูฝาผนังด้วยหัวใจที่แสนเศร้าสลดตลอดมา

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หากได้ยินภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ใครคนใดคนหนึ่งในสังคม จงคิดเอาใจใส่หาทางช่วยเหลือ อย่าคิดว่าธุระไม่ใช่ จงจำไว้ว่าวันหนึ่งภัยเล็กน้อยนั้นจะลามใหญ่เป็นภัยถึงตัวได้ ฉะนั้น เราต้องเป็นหูเป็นตาให้แก่กัน อย่านึกว่าธุระไม่ใช่ ถ้าเช่นนั้น ในที่สุดก็ต้องตายเพราะถือว่าไม่ใช่เรื่องของตน ดังเช่น ไก่ หมู และวัว ในนิทานนี้แล…

ตอนเด็ก ๆ ผู้เขียนยังทันเติบโตมาในยุคที่รถยนต์ยังไม่เต็มถนน คนซื้อรถมาขับได้ยังมีไม่มากพื้นที่สาธารณะที่สามารถจอดรถได้มีมากมายบ้านเรือนที่สร้างในช่วง 30-50 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะตึกแถวริมถนนจึงไม่ค่อยคำนึงถึงพื้นที่จอดรถเพราะมีสมมติฐานว่า ยังไง ๆ ในซอยแถว ๆ บ้านหรือถนนหน้าบ้านก็จะมีที่จอดรถอยู่แล้ว ความรู้สึกว่าพื้นที่สาธารณะตรงไหนว่างอยู่ ก็ย่อมสามารถจอดรถได้ หรือใช้เป็นพื้นที่ทำมาหากินเช่น วางแผงขายของบนทางเท้าได้ จึงก่อตัวขึ้นอย่างเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดการนำพื้นที่สาธารณะมาใช้ประโยชน์ส่วนตัวจนกลายเป็นความเคยชินและเป็นเรื่องปกติและกลายเป็นสัญลักษณ์และเสน่ห์อย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่เสน่ห์ดังกล่าวก็แลกด้วยความยากลำบากในการใช้พื้นที่ส่วนกลางของเจ้าของพื้นที่ตัวจริง คือชาวบ้านที่อยู่อาศัยและสัญจรผ่านพื้นที่เหล่านั้น เช่น ต้องเสี่ยงภัยลงมาเดินบนถนน เพราะทางเท้าแน่นไปด้วยรถมอเตอร์ไซค์ที่หลีกรถติดบนถนนมาวิ่งบนทางเท้าที่คอยบีบแตรไล่คนเดินให้หลีกทางให้ และพ่อค้าแม่ขายที่ปักหลักทำมาหากินบนพื้นที่ตรงนั้นจนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนั้น เกิดพฤติกรรม ‘ยึด’ พื้นที่นั้น ๆ มาใช้ประโยชน์เสมือนเป็นของตนเอง ประกอบกับการถ้อยทีถ้อยอาศัยของเจ้าหน้าที่รัฐฯ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่นั้น ๆ เช่น เทศกิจทำให้เกิดการย่อหย่อนในการปฏิบัติหน้าที่จนกลายเป็นความเคยชิน เรื่องง่าย ๆ จึงกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา เพราะเมื่อจะบังคับใช้กฎกติกาที่มีอยู่ ก็จะมีข้ออ้างว่า ฉันก็ทำมาหากินตรงนี้หรือใช้พื้นที่ตรงนี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อแล้ว จะให้ย้ายไปไหน? และที่ผ่านมาก็ไม่เห็นใครว่าอะไร เจ้าหน้าที่รัฐของเรามักจะเป็นคนขี้ตกใจ เจอผู้บุกรุกเสียงดังตวาดใส่ก็ลืมหน้าที่ ไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ของตนแล้ว จึงได้แต่ปล่อยปละละเลยกันต่อเนื่องจนเป็นความเคยชินยิ่งขึ้นไปอีก และพัฒนา(?)ต่อจนในบางที่ถึงขั้นทำเต็นท์ หรือสิ่งก่อสร้างแสดงความเป็นเจ้าของไว้เลย เช่น กรณีรุกล้ำพื้นที่สาธารณะจนเกิดเป็นชุมชนต่าง ๆ หรือการรุกล้ำคลองสาธารณะมาทำพื้นที่พาณิชย์ เช่น แผงค้าขายแผงอาหาร ร้านอาหาร ยิ่งเจ้าหน้าที่รัฐฯ ละเลยไม่รีบเข้าไปจัดการตั้งแต่แรก ๆ ก็เท่ากับเป็นการรับรู้และยอมรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้น ๆไปโดยปริยาย จนจากเดิมหลาย ๆ พื้นที่เพียงใช้พื้นที่สาธารณะวันต่อวัน กลายเป็นปักหลักยึดครองไปเป็นร้านค้าของฉัน พื้นที่จอดรถส่วนตัว อู่ซ่อมรถก็ทำงานกันบนทางเท้า ฯลฯ แล้วแต่ความกล้า(ต่อสายตาของเพื่อนบ้าน) ของแต่ละคน

การละเมิดพื้นที่
ภาพประกอบจากเน็ต

ต่อมาเมื่อเมืองแน่นขึ้น พื้นที่ส่วนกลางก็ไม่เพียงพอ แต่ทั้งแนวคิดเรื่องการนำพื้นที่ส่วนกลางมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว หรือการละเมิดสิทธิในการใช้พื้นที่นั้น ๆ ไม่เปลี่ยนไป ยิ่งเกิดการแย่งชิงนำพื้นที่สาธารณะมาใช้ประโยชน์ส่วนตนเข้มข้นขึ้น โดยไม่ได้คิดว่าเป็นการเอาเปรียบส่วนรวม และเมื่อเวลาผ่านไป พฤติกรรมและแนวคิดในการยึดครองพื้นที่ส่วนกลางก็เริ่มแพร่สู่พื้นที่พักอาศัย ประเด็นคลาสสิกที่โดนกันทุก ๆ หมู่บ้าน คือจำนวนรถเกินพื้นที่จอดรถของบ้านตน จึงต้องเอารถไปจอดแปะไว้หน้าบ้านคนอื่นหรือพื้นที่ส่วนกลางโดยไม่ได้พูดคุยหรือตกลงกันไว้ก่อน ยิ่งผู้มีความรับผิดชอบ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐฯ หรือนิติบุคคลของหมู่บ้านละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วยแล้ว ผู้อยู่อาศัยรอบ ๆ พื้นที่นั้น ๆ ก็ได้แต่มองตาปริม ๆเพราะเราไม่กล้า เท่าเขาหากโดนทักท้วงก็กลายเป็นความไม่มีน้ำใจไปซะอีก ดูเอาเถอะ เขากล้าเอาความเห็นแก่ตัวของตัวเองมาว่าคนอื่นว่าไม่มีน้ำใจ

หากปล่อยปละละเลยไปสักพักก็จะเกิดความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน หากมีรถคันอื่นมาจอดก็จะไปตามมาเลื่อน ทั้ง ๆ ที่เขาก็มีสิทธิเช่นกัน หรือถึงขนาดตั้งเต็นท์ในพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านเพื่อจอดรถของบ้านตนเท่านั้น หรือบ้านที่อยู่ท้ายซอย สุดท้ายกั้นรั้วใหม่อีกอันปิดท้ายซอยประหนึ่งเป็นที่ดินส่วนตัวเสียเอง

นอกจากนี้ยังมีการใช้บ้านพักอาศัยทำกิจการต่าง ๆ ที่ละเมิดสิทธิเพื่อนบ้านทั้งในแง่พื้นที่ เสียง ฝุ่น และความปลอดภัยจากสิ่งของชิ้นส่วนที่กอง ๆ ไว้ เช่น ทำอู่ซ่อมรถ โกดังเก็บของ ซึ่งต้องใช้พื้นที่มากกว่าที่ตนมีอยู่ จึงข้ามไปจอดรถหน้าบ้านคนอื่นหรือใช้พื้นที่ส่วนกลางในการเก็บของ ทำงาน ด้วยเหตุผล (รึเปล่า?) ว่า ก็ว่าง ๆ อยู่แล้ว แบ่ง ๆ มาใช้ประโยชน์ หลายหมู่บ้านเมื่อมีการทักท้วงก็กลายเป็นว่าผู้ทักท้วง เขี้ยว งก หรือ เห็นแก่ตัว หรือหากเพื่อนบ้านมาทักท้วงเรื่องเสียงดังหรือฝุ่นเยอะ ก็กลายเป็นคนเรื่องมากไปโดยไม่ได้พิจารณาใจเขาใจเราว่า หากตนเป็นผู้ถูกกระทำแล้วจะคิดอย่างไร หรือหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็จะกลายเป็นว่าผู้เสียหายประมาทเอง หรือกลายเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรมไปเสียอีก

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องคนงานที่เข้าออกหรือเจ้าของบ้านให้คนงานย้ายเข้ามาพักอาศัยเมาเหล้า ส่งเสียงดัง ทะเลาะวิวาท ปล้นชิง หรือทำร้ายร่างกาย หากสมาชิกในหมู่บ้านนิ่งเฉย ไม่ได้รวมพลัง ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน หรือต่างคนต่างคิดว่าธุระไม่ใช่ เพราะไม่ได้เกิดกับตัวเรา ก็จะกลายไปเป็นวัฒนธรรมแบบตัวใครตัวมัน ก่อให้เพื่อนบ้านคนอื่น ๆ คิดว่า ‘มือใครยาว สาวได้สาวเอา’ มึงทำได้ กูก็ทำได้ สุดท้ายบ้านที่เราลงทุนลงแรงอาบเหงื่อต่างน้ำทำงานหลายสิบปีมาผ่อนส่ง ก็กลายสภาพเป็นชุมชนที่มีแต่คนเห็นแก่ตัวต่างคนต่างต้องดูแลตัวเอง ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับภาพฝันที่จินตนาการถึงบ้านในฝันตามภาพที่โฆษณาหรือตามที่เราจินตนาการไว้

ผู้เขียนเองมีประสบการณ์โดยตรงตั้งแต่เด็ก เพราะเกิดมาในบ้านที่เป็นตึกแถวที่อยู่ในซอย หน้าบ้านจึงมีคนมาจอดรถเวียน ๆ กันไป บางคนรักรถมาก ก่อนออกรถทุกเช้าต้องสตาร์ตรถทิ้งไว้หลาย ๆ นาทีเพื่อวอร์มเครื่อง ไอเสียก็ฟุ้งเข้ามารมควันเราในบ้านทุก ๆ เช้า และเมื่อย้ายบ้านไปอยู่ในหมู่บ้านก็เคยเจอเพื่อนบ้านมาจอดรถหน้าบ้านเราเมื่อเดินไปตาม เจ้าของรถกำลังกินข้าวอยู่ทำท่ารำคาญประหนึ่งว่าเรามารบกวนเวลาส่วนตัวของเขา มองเราด้วยหางตา เดินมาเลื่อนรถ และไม่คุยกับเราแม้แต่คำเดียวประมาณว่าเราไม่มีน้ำใจเลย หรือไม่ก็มารบกวนเขา (ทั้ง ๆ ที่เขาจอดรถขวางหน้าบ้านเรา) ที่ตลกแบบขำไม่ออก คือในบ้านและหน้าบ้านของตัวเองก็ว่างอยู่ แต่เอารถมาจอดหน้าบ้านคนอื่นเสียอย่างนั้น

วิศวกร IE จะถูกสอนว่า ค่าใช้จ่ายในการป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดจะน้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว 7-10 เท่าตัว แต่ประเด็นคือค่าใช้จ่ายในการป้องกันจ่ายแล้วถ้าไม่ได้ผล เกิดเหตุร้ายอยู่ดี เจ้าของเงินก็จะรู้สึกว่าเสียเงิน 2 ต่อ คือเสียเงินเสียเวลาป้องกันแล้ว ก็ต้องมาเสียเงินซ่อมรักษาอยู่ดี แต่ถ้าได้ผล คือไม่เกิดเหตุร้ายนั่นคือไม่มีใครเห็น สุดท้ายแล้วเจ้าของเงินจะเริ่มรู้สึกเสียดายเงินว่าจ่ายเสียเปล่า แต่หลังจากยุติการใช้จ่ายการป้องกันไม่นาน อุบัติเหตุก็จะเกิดขึ้น นำมาซึ่งความสูญเสียและความเสียหายมากมายนัก

ผู้เขียนเคยอ่านเรื่องพื้นที่เสื่อมโทรมในเมืองนิวยอร์กที่มีอาชญากรรมสูงมากเมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปดูแลบ้านเรือนรอบ ๆ นั้นให้มีการซ่อมบำรุงที่เหมาะสมในกรณีนิวยอร์ก คือ ซ่อมเปลี่ยนกระจกบ้านที่แตกอยู่ พบว่าอาชญากรรมเกิดน้อยลงเขาสรุปว่าสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น แสดงถึงความเอาใจใส่ดูแลของเจ้าของและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดังนั้น โจรขโมยจึงไม่กล้าก่อเหตุในพื้นที่นั้น ๆ ประมาณว่าไปขโมยหรือก่อเหตุที่อื่นน่าจะง่ายกว่า

ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบทำหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่ต้น รวมทั้งส่วนรวมร่วมกันทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ทำสิ่งที่ถูกใจ แย่งกันหยิบฉวยประโยชน์จากสมบัติหรือพื้นที่สาธารณะ หรือเอาเปรียบ ละเมิดสิทธิผู้อื่นแบบเธอทำได้ ฉันก็ต้องทำได้ แต่หันมาร่วมกันดูแลสาธารณสมบัติให้ดี พูดคุยสื่อสารกัน คิดแบบใจเขาใจเรา ไม่ปล่อยให้ใครมาเอาเปรียบหรือเบียดบังใช้สาธารณสมบัติ หรือพื้นที่ส่วนกลาง รวมทั้งการละเมิดสิทธิส่วนรวมในเรื่องพื้นที่ เสียง ฝุ่น ความปลอดภัย หรือภาวะมลพิษอื่น ๆ ด้วยตั้งแต่ต้นไม่ใช่ปล่อยให้เรื้อรังจนเกิดความเคยชิน ความรู้สึกเจ้าเข้าเจ้าของ จนเกิดเรื่องแล้วค่อยมาสะสางกัน น่าจะเปลืองเงิน เปลืองตัว เปลืองสายสัมพันธ์ และเปลืองใจน้อยกว่าปล่อยให้ยืดเยื้อไปจนสุดท้ายทุกคนเดือดร้อนหมด ไม่ใช่เพียงแค่คู่กรณีเท่านั้นเหมือนในนิทานที่ยกมาข้างต้น


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ เก็บมาฝาก โดย อภิวัฒน์ ธรรมวิวัฒนุกูร วศ.30


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save