มงคล 38 ประการ

มงคล 38 ประการ1


บทนำ

ในกาลก่อนที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติขึ้น มนุษย์ผู้ต้องการความก้าวหน้าในชีวิต แสวงหาสิ่งที่เป็นมงคลกันบางคนกล่าวว่ารูปที่เห็นเป็นมงคล เช่น เห็นเด็กทารกนกแอ่นลม และของสวยงาม บางคนกล่าวว่าเสียงที่ได้ยินเป็นมงคล เช่น ตื่นตอนเช้าได้ยินคำทักทาย ฟังเสียงเพลงอันไพเราะ และได้รับการเยินยอสรรเสริญ บางคนกล่าวว่าอารมณ์ที่ได้รับเป็นมงคล เช่น ดมกลิ่นดอกไม้หอม กินอาหารอร่อย และสัมผัสสิ่งที่อ่อนนุ่มนวล ต่างฝ่ายต่างยืนยันความเห็นของตน ไม่มีใครยอมกัน จึงเกิดการถกเถียงทั้งชมพูทวีปกันว่า อะไรเป็นมงคลกันแน่ ความเห็นขัดแย้งนี้ได้แพร่ไปถึงเทวโลกและพรหมโลก เป็นเหตุให้เทวดาและพรหมได้แบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายเหมือนมนุษย์และไม่สามารถหาข้อยุติได้ ในปัจจุบันนี้คนไทยบางกลุ่มก็ยังยึดถือความเป็นมงคลในทำนองเช่นนี้อยู่ ตัวอย่างเช่นถือว่าเลข ๙ เป็นเลขมงคล เลข ๖ เป็นอัปมงคล จึงเริ่มเข้ารับตำแหน่งงานใหม่เวลา ๙.๐๙ น. ส่วนประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ บอกว่าเลข ๘ เป็นมงคล เลข ๔ เป็นอัปมงคลและชาวอเมริกันบอกว่า เลข ๑๓ เป็นอัปมงคลจึงไม่มีตึกชั้นที่ ๑๓ เป็นต้น แต่ความเป็นมงคลตามหลักศาสนาพุทธนั้น จะต้องไม่มีเงื่อนไข ใช้ได้ทุกที่ทั่วโลก ไม่มีกำหนดเวลาดังนั้น ถ้าจะกำหนดว่าเลขนี้เป็นมงคล เลขนั้นเป็นอัปมงคลก็ต้องเป็นเหมือนกันทุกประเทศ

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระอินทร์จึงมอบหมายให้เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามปัญหานี้ต่อพระองค์ว่า อะไรเป็นมงคล ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตรัสพระปริตรอันแสดงมงคล ๓๘ ประการ มีทั้งหมด ๑๐ คาถา

ในการสวดงานมงคลทั่วไป พระภิกษุสงฆ์มักจะสวดมงคลสูตร ๓๘ ประการไว้เป็นบทต้น ๆ เป็นการแนะนำผู้ฟังว่า ผู้ที่ดำเนินชีวิตตามหลักมงคลทั้ง ๓๘ ประการตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนนั้น จะทำให้ชีวิตมีความสุขความเจริญ มีโชค ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหามงคลอื่นจากที่ไหน เพราะเป็นการปฏิบัติฝึกฝนตนเอง ผู้ใดปฏิบัติตามแล้วย่อมได้ผลแน่นอน เป็นสัจธรรมที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงอีกร้อยปีพันปีก็ยังใช้ได้ตลอดไป รายละเอียดมีดังต่อไปนี้

คาถาที่ ๑

อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา
ปูชา จ ปูชเนยฺยานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑
การบูชาบุคคลผู้ที่ควรบูชา ๑ เป็นมงคลอันสูงสุด

มงคลข้อที่ ๑. การไม่คบคนพาล

การคบ หมายถึง การเป็นเพื่อน เป็นมิตร เป็นสามีภรรยา การไปมาหาสู่การปฏิบัติคำสอน ทำกิจกรรมร่วมกัน การช่วยเหลือสนับสนุน เป็นต้น คนพาล คือ คนชั่ว ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์ คล้ายคนโง่เขลา มีชีวิตอยู่แต่เพียงลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ส่วนคนเรียนจบมีปริญญาสูง ๆ แต่ประพฤติผิดศีลธรรม เรียกว่า คนพาลเช่นกัน วิธีสังเกตดูว่าคนไหนเป็นคนพาล มีหลักดังนี้

  1. ชอบทำชั่ว (กายทุจริต) เช่น การทำปาณาติบาต การลักทรัพย์ คอร์รัปชัน ประพฤติผิดในกาม เสพยาเสพติด และดื่มน้ำเมา
  2. ชอบพูดชั่ว (วจีทุจริต) เช่น กล่าวคำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อ
  3. ชอบคิดชั่ว (มโนทุจริต) เช่น คิดอยากได้สิ่งของคนอื่นคิดพยาบาทปองร้าย มีความเห็นผิด

คนพาลจะชักนำคนที่คบหาด้วยไปในทางที่ผิด เช่น เล่นการพนัน เสพยาเสพติด ปล้น และฆ่า สอนให้เห็นผิดเป็นชอบ ให้ทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระคนพาลแม้พูดดีด้วยก็โกรธ ไม่รู้จักระเบียบวินัย สมดังสุภาษิตไทยว่า คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล

การคบคนพาลจึงมีแต่นำความฉิบหายความเสื่อมเสียมาให้ เสมือนใบไม้ที่สะอาดนำมาห่อปลาเน่า ใบไม้จะเหม็นปลาเน่าไปด้วย ตัวอย่างเช่น ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าอชาติศัตรูสมคบกับพระเทวทัตต์ แล้วถูกยุยงให้ปลงชีวิตพระราชา คือ พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระชนกของตน ส่วนสัตว์ดิรัจฉานก็เช่นกัน ถ้าให้คนเลี้ยงม้าที่มีลักษณะเดินขากะเผลกเดินนำหน้าม้าทุกวันสักวันหนึ่งม้าจะเดินขากะเผลกตามไปด้วย เพราะม้าเข้าใจว่า คนเลี้ยงสอนให้มันเดินอย่างนั้น ในกรณีของสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ต้นมะม่วงมีผลรสอร่อยถ้าปลูกต้นไม้มีรสขม เช่น สะเดาหรือบอระเพ็ดล้อมรอบไว้ ไม่นานนักรสของผลมะม่วงจะขมตามไปด้วย เพราะรากของต้นไม้เหล่านั้นเกี่ยวพันกันหรือนำห่อผงซักฟอกและขวดนํ้าสะอาดใส่ลงในภาชนะปิด นํ้าในขวดจะมีกลิ่นผงซักฟอกติดไปด้วย อนึ่งถ้าคนพาลเป็นบิดามารดา ญาติสนิทมิตรสหายถ้าจะคบ ต้องคบด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้นตนเองจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนพาลไปด้วย

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถานี้ไว้ในคราวที่ตรัสสอนพระฉันนะเถระว่า2

น ภเช ปาปเก มิตฺเต น ภเช ปุริสาธเม
ภเชถ มิตฺเต กลฺยาเณ ภเชถ ปุริสุตฺตเม
บุคคลผู้มีปัญญาไม่พึงคบพวกบาปมิตร ไม่พึงคบพวกบุรุษผู้ตํ่าทราม
พึงคบกัลยาณมิตร พึงคบบุรุษผู้สูงสุด

ดังนั้น การไม่คบคนพาล คือ การไม่เกี่ยวข้องโดยประการทั้งปวง จึงถือว่าเป็นมงคล

มงคลข้อที่ 2. การบังคับบัณฑิต

เมื่อไม่คบคนพาล ต้องคบบัณฑิต เพราะถ้าอยู่เฉย ๆ ไม่เป็นมงคล บัณฑิต แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา หรือกัลยาณมิตร นั่นเอง คนบางคนทำงานไม่มีรายได้มากมาย แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บ เพราะอะไร เพราะไม่คบกับกัลยาณมิตรจึงไม่มีใครบอกทางสว่างให้ ลักษณะบัณฑิตตรงกันข้ามกับคนพาล

  1. ชอบทำดี (กายสุจริต) เช่น ไม่ทำปาณาติบาต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
  2. ชอบพูดจาดี (วจีสุจริต) มีวาจาสุภาษิต ได้แก่ พูดคำจริง มีประโยชน์ถูกกาลเทศะ พูดด้วยความเมตตา อ่อนหวาน
  3. ชอบคิดดี (มโนทุจริต) คือ ไม่คิดอยากได้สิ่งของคนอื่น ไม่คิดพยาบาลปองร้าย มีความเห็นชอบ

มีคำกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คนเสื่อมหรือเจริญ มีเหตุ ๒ ประการ คือ

ก. กรรมพันธุ์ และกรรมจากชาติปางก่อน
ข. สภาพแวดล้อม ประกอบด้วย สถานที่อยู่ที่อาศัย อากาศ เพื่อนบ้าน และอาหาร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเพื่อนบ้าน ถ้าได้เพื่อนบ้านหรือมิตรสหายที่เป็นกัลยาณมิตร เปรียบเสมือนการได้คนนำทางที่ดี ประดุจเทียนส่องนำทางชีวิตเลยทีเดียว เพราะสถานที่ใดไม่มีกัลยาณมิตรแล้ว สถานที่นั้นไม่ควรอยู่อาศัย

มีอุทาหรณ์เรื่องลูกนกแขกเต้า ๒ ตัว วันหนึ่ง มีลมพายุพัดผ่าน ตัวหนึ่งถูกพัดตกไปในหมู่โจร ตัวหนึ่งตกไปในหมู่ฤษี หลังจากนั้นไม่นานพระราชาพระองค์หนึ่งพลัดหลงไปใกล้รังโจร ขณะนั้นโจรไม่อยู่ เหลือแต่คนครัวเท่านั้น ลูกนกแขกเต้าจึงกล่าวกะคนครัวว่า ให้จับพระราชาแล้วฆ่าทิ้ง ถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับออก พระราชาได้ยินดังนั้นก็ตกพระหทัย จึงออกจากที่นั้นไปสู่อาศรมของฤษี นกแขกเต้าที่อาศัยอยู่ในที่นั้นก็ทำการปฏิสันถารด้วยดี

ในสมัยพุทธกาล พระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า การได้กัลยาณมิตรเป็นครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ (หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา) หรือพระเจ้าข้าพระองค์ตอบว่า ไม่ใช่ เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ต่างหาก พระองค์เองก็เป็นกัลยาณมิตรของชาวโลก ส่วนพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเป็นกัลยาณมิตรของภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย

ดังนั้น การคบบัณฑิตเป็นกัลยาณมิตรจึงเป็นมงคล เพราะจะถูกชักนำไปในทางที่ดี ให้ทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ มีความเห็นชอบ ถูกใส่ร้ายก็ไม่โกรธรู้จักระเบียบวินัย และมีโอกาสบรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็วขึ้น สมดังพระพุทธพจน์ในสักกเทวินวัตถุว่า

สาหุ ทสฺสนมริยานํ สนฺนิวาโส สทา สุโข
อทสฺสเนน พาลานํ นิจฺจเมว สุขี สิยา
การพบพระอริยะเจ้าทั้งหลายเป็นความดี การอยู่ร่วมเป็นสุขทุกเมื่อ
บุคคลพึงมีความสุขเป็นนิตย์แท้จริง ก็เพราะไม่พบคนพาลทั้งหลาย

มีคำถามว่า ทำไมพระองค์จึงตรัส “การไม่คบคนพาล” เป็นอันดับแรกแทนที่จะตรัส “การคบบัณฑิต” เป็นอันดับแรก ซึ่งมีความหมายเหมือนกันแม้ก็จริงอย่างนั้นผู้ฟังจะได้รับผลต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในการบอกหนทาง สองแพร่งว่า เมื่อบอกว่าท่านเดินทางไปถึงแยกแล้ว “ห้ามเลี้ยวซ้าย แต่ ให้เลี้ยวขวา” ผู้ฟังจะเข้าใจทันทีว่า เลี้ยวซ้ายไม่ได้ ต้องเลี้ยวขวาเท่านั้นเป็นการยํ้าให้ชัดเจนขึ้น แต่ถ้าบอกว่า “ให้เลี้ยวขวา ห้ามเลี้ยวซ้าย” ผู้ฟังจะรู้เช่นกันว่าเลี้ยวขวา แต่จะไม่สนใจทางซ้าย ดังนั้น การตรัสการไม่คบคนพาลก่อน เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจคนพาลว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้วควรหลีกเลี่ยง ถ้าตรัสให้คบบัณฑิตก่อน ผู้ฟังจะไม่สนใจคนพาลว่าเป็นอย่างไร หลักการนี้สามารถนำไปใช้ในการสอนเด็กเล็กและนักเรียนเพื่อให้รู้ถึงโทษภัยก่อนจากนั้นจึงบอกแต่สิ่งที่ดี

มงคลข้อที่ ๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา

การบูชามีความหมาย ๓ ประการคือ

  • ด้วยการยกย่อง เชิดชู สนับสนุน เชียร์ การเลือกเป็นผู้แทน การเลือกเป็นคู่ครอง
  • ด้วยการถวายดอกไม้ ธูปเทียน ของหอม และด้วยการสักการะเป็นสิ่งของ เรียกว่า อามิสบูชา เช่น การถวายปัจจัย ๔ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
  • ด้วยการนับถือ เคารพ ยำเกรง กราบไหว้ ว่าเป็นที่พึ่งสามารถกำจัดภัยได้ ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน เช่น การถือศีล ๕ การเจริญสติและสมาธิ เรียกว่า ปฏิบัติบูชา ซึ่งมีความสำคัญกว่าอามิสบูชา ตัวอย่างเช่น การทำบุญก่อสร้างวิหาร ๑,๐๐๐ แห่ง แต่ไม่ปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรมบ้านเมือง จะเกิดความวุ่นวาย ไม่มีใครเข้าวัด สุดท้ายศาสนาอยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้าถือศีลด้วย เจริญสติสมาธิด้วย จะทำให้ตนเองมีสติ รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ รู้จักความเกรงกลัว และละอายต่อบาป บ้านเมืองจะสงบไม่มีความวุ่นวาย ศาสนาจะยั่งยืนสิ้นกาลนาน พระองค์จึงตรัสว่า “ผู้ใดทำการปฏิบัติบูชาผู้นั้นชื่อว่าบูชาเรา”

บุคคลผู้ควรแก่การบูชา มี ๔ ประเภทคือ

ก. พระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์)
ข. พระมหากษัตริย์ผู้มีคุณธรรม
ค. บิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่
ง. ครูบาอาจารย์ ผู้ประพฤติดี

อีกนัยหนึ่ง แบ่งตามวุฒิบุคคลมี ๓ ประเภท คือ

ก. คุณวุฒิบุคคล ผู้มีคุณความดี คุณธรรมสูงกว่าเรา เช่น พระภิกษุสงฆ์ ครู และอาจารย์
ข. วัยวุฒิบุคคล ผู้มีอายุมากกว่าเรา เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลาย
ค. ชาติวุฒิบุคคล ผู้มีกำเนิดสูงกว่าเรา เช่น พระราชาพระราชกุมาร พระราชธิดา

ผู้ใดไม่ควรบูชา ตัวอย่างเช่น ชนบางลัทธิ บางศาสนานับถือสัตว์ดิรัจฉาน มีแพะ วัว กบ และหนู เป็นเทพเจ้าแล้วทำการกราบไหว้ การบูชาบุคคลผู้ไม่ควรบูชาเหล่า นี้ถือว่าเป็นอัปมงคล

การบูชาบุคคลผู้ควรบูชามีผลดีดังนี้

  • กำจัดอันตรายได้ เพราะการยกย่องคนชั่วทำให้ผู้อื่นสำคัญว่าตนเองเป็นคนชั่วไปด้วย
  • ป้องกันความหลงผิด เช่น ไม่ไปบูชาต้นกล้วยประหลาดหรือสัตว์ดิรัจฉานที่เกิดมาแล้วมีรูปร่างผิดปกติ
  • อบรมจิตให้สูงขึ้น
  • ก่อให้เกิดบุญ สมดังพระพุทธภาษิตว่า3

ปูชารเห ปูชยโต พุทฺเธ ยทิจ สาวเก
ปปญฺจสมติกฺกนฺเต ติณฺณโสกปริทฺทเว
เต ตาทิเส ปูชยโต นิพฺพุเต อกุโตภเย
น สกฺกา ปุญฺญํ สงฺขาตุํ อิเมตฺตมปิ เกนจิ

ใคร ๆ ไม่อาจนับบุญของบุคคลผู้บูชาปูชารหบุคคลทั้งหลายคือพระพุทธเจ้าหรือเหล่าพระสาวกผู้ล่วงธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ข้ามโสกะและปริเทวะได้แล้วว่า บุญนี้มีประมาณเท่านี้ อนึ่ง ใคร ๆ ไม่อาจนับบุญของบุคคลผู้บูชาปูชารหบุคคลเหล่า นั้น ผู้คงที่ ดับสนิทแล้วหาภัยแต่ที่ไหนมิได้ว่า “บุญนี้มีประมาณเท่านี้”

1 แบบเรียนภาษาบาลีวิชา มังคลัตทีปนี ชั้น ปธ. 4-5 และคำเทศน์ของพระธรรมกิตติวงศ์
2 นิทานธรรมบทภาค 4 เรื่องพระฉันนะเถระ หน้า 7
3 นิทานธรรมบทภาค 6 เรื่องเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล หน้า 116

ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ เก็บมาฝาก โดย พระวิวัฒน์ ธมฺมวฑฺโฒ วศ.16


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save