เบปปุ... น้ำพุร้อนธรรมชาติที่ “ออกแบบ” ได้

เบปปุ… น้ำพุร้อนธรรมชาติที่ “ออกแบบ” ได้


เคยไปเที่ยวบ่อน้ำพุร้อนมาหลายสิบแห่งหลายทวีป ทั้งในบ้านเราและเมืองจีน ฝรั่งและญี่ปุ่น ดูมันก็คล้าย ๆ กัน จอดรถลงรถแล้วก็เดิน ๆ บางแห่งมีรถยนต์รถเมล์เข้าถึง บางที่ก็มีรถรางนั่งเข้าไปถึงเลย หากอยู่บนภูเขาสูงก็จะมีรถเคเบิลกระเช้าแต่รวม ๆ บรรยากาศจะเหมือน ๆ กัน ได้สัมผัสกับควันไอน้ำร้อน ๆ และได้กลิ่น กำมะถันฉุนฟุ้งกระจายแสบตา

เบปปุ

แต่ที่เบปปุไม่ใช่แค่นั้น ธรรมชาติสร้างหุบเขาและบ่อน้ำพุร้อนกระจัดกระจายทั่วเมืองรอบนอก ชุมชนเขาก็จัดการให้ทุกบ่อเชื่อมต่อกับการคมนาคมอย่างลงตัว สามารถ ใช้ตั๋วใบเดียว มีสตอรี่เล่าเรื่องราวของบ่อต่าง ๆ ผนวกความเชื่อถือของคนท้องถิ่นเติมแต่ง ให้เข้าใจเบปปุมากขึ้น…ไม่ผิดหวังเลย ได้อะไรติดตาติดใจกลับบ้านเยอะเลย มากกว่ารูปภาพสวย ๆ ประทับใจกับการใส่ใจ ทุกอย่างออกแบบและควบคุมอย่างลงตัว…ตามมาสำรวจกันครับ (เมืองเบปปุ : Beppu เป็นเมืองในจังหวัดโออิตะ บนเกาะคิวชูของประเทศญี่ปุ่น เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยอมรับกันว่าเป็นเมืองหลวงแห่งออนเซน การแช่น้ำพุร้อน)

ไฮไลต์ของเบปปุที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวคือ ทัวร์บ่อนรก 8 บ่อ โดยเฉพาะบ่อน้ำพุร้อนสีแดงคล้ายยเลือด ชื่อว่า “Chinoike-Jigoku” หรือ “Bloody Hell Pond” ซึ่งถูกยกให้เป็นหนึ่งใน Most Mysterious Place on Earth สาเหตุมาจากชาวญี่ปุ่นโบราณตั้งชื่อบ่อโดยอิงจากรูปนรกตามที่บรรยายไว้ในศาสนาพุทธ บ่อนี้มีอายุมากกว่า 1,300 ปี มีอุณหภูมิความร้อนถึง 78 องศาเซลเซียส และมีความลึกกว่า 27 เมตร แนะนำให้ซื้อบัตรแบบเหมา 1,500 เยน เพราะหากแยกซื้อจะตกราคา 400 เยนต่อบ่อ เราวางแผนใช้เวลาเร่ง ๆ ก็ดูได้เพียง 5-6 บ่อ เพราะปิดแค่ 17.00 น. ที่นั่นจะเริ่มมืดและหนาวจัดมากแล้ว เที่ยวแบบสบาย ๆ ดีกว่าแต่ก็ต้องถูกตังค์ด้วยนะ…

จำชื่อ..ย่านคันนาวะ ให้ดี ๆ ที่นี่มีบ่อน้ำพุร้อนรวมทั้งสิ้น 6 บ่อ ประกอบด้วย บ่อโอนิอิชิโบสุจิโกะกุ บ่อยามะจิโกะกุ บ่อคามาโดะจิโกะกุ บ่อโอนิยามะจิโกะกุ บ่อชิราอิเกะจิโกะกุ บ่ออุมิจิโกะกุ (บ่อทะเลเดือด) บ่อนี้จะเดือดปุด ๆ มีไอน้ำพุ่งสูงมาก ปลิวคลุ้งไปตามลม ถ่ายรูปเอาบ่อเป็นแบ็กกราวด์สวยมาก ๆ และลงไปอีก 500-600 เมตร ก็จะเป็นจุดที่ 2 บริเวณนี้มี 2 บ่อคือ บ่อน้ำพุร้อน Tatsumaki-Jigoku เป็นบ่อที่มีน้ำพุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน ซึ่งจะพุ่งขึ้นมาทุก ๆ 30 นาที 1 รอบใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที เจ้าหน้าที่สามารถแจ้งเวลาที่น้ำพุจะพุ่งขึ้นมาได้ใกล้เคียงแม่นยำ เรียกว่าตั้งกล้องรอได้เลย

และบ่อใกล้ ๆ กันคือหมายเลข 7 Chinoike-Jigoku ที่เรียกว่าบ่อสระเลือด เป็นบ่อน้ำร้อน สีแดงสด ๆ มีไอควันขาว ๆ ดูน่ากลัว แต่ก็แปลกตาแปลกใจ กดภาพยืนข้าง ๆ บ่อ มีแบ็กกราวด์ออกมาเป็นสีแดง โอ้โฮ ทำไมถึงมหัศจรรย์อันซีนอะเมซิ่งได้ขนาดนี้

ด้วยสภาพภูมิประเทศทำให้บ้านเรือนของเบปปุที่ปลูกสูงต่ำไล่ไปตามไหล่เชิงเขาส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียว มี 2 ชั้นประปราย ดูเผิน ๆ เหมือนแถบชานเมืองในออสเตรเลีย หรือที่นิวซีแลนด์ ทำให้ยานพาหนะหลักของเบปปุคือรถเมล์ประจำทางคล้ายกับเกียวโต เพราะไม่มีรถไฟฟ้าใต้ดิน สังเกตจากที่ยืนรอที่ป้ายหน้าสถานีรถไฟและดูตารางเวลารถมากพอเพียงให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ร่วมกับชาวบ้านเขาสบาย ๆ เลย เวลาที่ระบุตามป้าย ตรงเวลาเป๊ะ ระดับนาที (เหมือนรถไฟเลย) แถมมีป้ายจอดตามจุดท่องเที่ยวไปทั่วเมือง ขึ้นแต่ละครั้งเริ่มที่ราคา 150 เยน ราคาจะเพิ่มตามระยะทาง + ไปเรื่อย ๆ จนถึงราคา 900-1,000 เยน แต่ถ้าเราซื้อตั๋วเหมาเพียง 900 เยนต่อ 1 วัน หรือ 1,500 เยนต่อ 2 วัน ขึ้นลงไม่จำกัดครั้งและสาย

เบปปุ

เห็นการเดินทางเชื่อมต่อของกลุ่มบ่อน้ำพุร้อนของเขต (ตำบล ) คันนาวะ 6 บ่อ กับ 2 บ่อล่าง แถวบ่อทัตสุมากิ เลยนั่งเหม่อลอย… คิดไปถึงแม่ริม-แม่สา-สะเมิง-หางดง หรือบ่อน้ำร้อนสันกำแพง กับเส้นทางโป่งเดือดป่าแป๋ (ที่แม่แตง)-บ่อน้ำร้อนฝาง-ห้วยน้ำดัง-ปาย ถ้าอบจ. จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน และ ททท. จับมือกันผูกร้อยเรียงให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์เที่ยววันเดียว (1 Day Trip) มีรถเมล์บริการครบรอบวงจร ทำไมเราจะทำไม่ได้?? เสียดาย กลไกอย่างนี้เมืองไทยเราหาคนเริ่มจัดการเป็นเจ้าภาพยากจริง ๆ ที่ญี่ปุ่นเชื่อว่าทุกอย่างเกิดจากชุมชนและเอกชนรายย่อยบริหารจัดการแล้วรัฐเข้ามาสนับสนุน

ทุก ๆ บ่อที่ไปแวะตามตารางนำเที่ยว มีการสร้างเรื่องราว เขียนบรรยายความเชื่อ เรื่องราวแนวนิทานแฝงไว้กับแต่ละบ่อน้ำเกี่ยวกับภูติผีปีศาจ เทพเจ้าความรักมิตรภาพ กระตุ้นต่อมความสนใจใคร่รู้ของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนต่างชาติจะต้องยืนอ่านให้เข้าใจ และรู้ว่าแต่ละแห่งมีกิจกรรมให้ร่วม อาทิเช่น แช่เท้าล้างมือ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพร มีควันไอน้ำพวยพุ่งให้สัมผัส และทางออกทุกบ่อมักมีร้านขายของที่ระลึกเกี่ยวกับแต่ละบ่อให้เสียสตังค์ คนไทยเราก็ใจร้อน ซื้อกันทุกร้านตามประสาคนญาติเยอะ มีร้านขายไข่ต้มจากบ่อน้ำพุ นึ่งกันเป็นหลายสิบซึ้ง คนญี่ปุ่นนิยมนั่งแกะกินกันสดๆ รวมทั้งชอบดื่มน้ำแร่ธรรมชาติบริสุทธิ์ด้วย เข้ามาในตัวเมืองเบปปุก็ยังมีร้านขายไข่ต้มเต็มไปหมด เพราะมีบ่อเล็กบ่อน้อยตามซอกซอยที่เปิดบริการออนเซนทั่วทั้งเมือง…สมกับเป็นเมืองหลวงออนเซนจริง ๆ

เบปปุ

สถานที่ท่องเที่ยวของญี่ปุ่นสะอาดสะอ้าน แยกทางเข้าทางออก ไม่ปะปน สะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นวัด ศาลเจ้าตลาด เหมือนมาตรฐานเดียวกันหมด ไม่รู้มี ISO อะไรทำนองนั้นหรือเปล่าคนญี่ปุ่นรู้จักหน้าที่และมีความรับผิดชอบสูง จึงดูแลเรื่องสถานที่บริเวณ แม้ห้องน้ำสาธารณะก็ถือว่าได้คะแนนเต็ม 100 ทุกแห่งทั้งประเทศ

อีกเรื่องที่ต้องชมเชยคือ “ป้าย” แต่ละทางเลี้ยวทางแยกจะมีข้อมูลพออ่านให้เข้าใจและเห็นชัดเจน ห้องน้ำสาธารณะมักจะมีขนาดเล็ก ๆ แต่มีกระจายรองรับทุกพื้นที่ มีมากจุดเข้าไว้ก่อน มีผ้าเช็ดมือ กระดาษแบบไม่อั้น น้ำสะอาดไหลแรงมาก เครื่องเป่ามือแห้งพร้อม (ไม่เห็นเสียชำรุดสักแห่ง อันนี้งงมาก) ก๊อกน้ำก็อนามัยหรูแบบไร้สัมผัส สุขอนามัยประเทศนี้ช่างดีจริงหนอ เอ้อ…เซไปตรงไหนก็แอ่นฉี่ปิ๊ด ๆ ๆ ได้ คนไทยเราก็แปลก..ยิ่งหนาวยิ่งเห็นสัญลักษณ์ “ห้องน้ำ” ต้องขอแวะสักช้อต…ไม่ลุ้นไปตายเอาดาบหน้าหรอกตรู… ขอปลิดออกก่อนล่ะ…


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2562 คอลัมน์ เที่ยวกับอินทาเนีย (Journey & Yummy) โดย สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ วศ.17


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save