การลดก๊าซเรือนกระจก ทำไมต้องเริ่มวันนี้


“ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนให้ความสำคัญและจับตามองเรื่องของภาวะโลกร้อนเป็นอย่างมาก เพราะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสุขภาพของทุกคนโดยตรง เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันโดยใช้กลยุทธ์และความแข็งแกร่งที่มีอยู่เร่งแก้ปัญหานี้ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้ลดลงตามเป้าหมายที่กำหนดให้ได้ เพื่อระบบเศรษฐกิจและสุขภาพที่ดีของทุกคน

กิจจา จำนงค์อาษา วศ.10

กิจจา จำนงค์อาษา วศ.10 ผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัท บี ปิโตรไทย จำกัด ดำเนินธุรกิจทางด้านพลังงานและปิโตรเคมีในไทยมาอย่างยาวนานกว่า 41 ปี ได้เป็นวิทยากรในรายการพูดจาประสาช่าง ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ FM101.5 MHz

สำหรับเนื้อหาที่จะพูดคุยกันในครั้งนี้จะเป็นเรื่องของภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างมาก ซึ่งการประชุม “COP26” (การประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ที่ผ่านมาครั้งนี้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมและประกาศว่า “ประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจก และจะต้องเป็น Carbon Neutrality ใน ค.ศ.2050 เป็น Net Zero Greenhouse Gas Emission ใน ค.ศ.2065 และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ใน ค.ศ. 2030”

“โลกร้อน” ส่งผลกระทบกับทุกคนโดยตรง…

กิจจา จำนงค์อาษา กล่าวว่า ผมขอเรียนว่า จากการที่เราถูกฝึกมานั้นการที่เราจะพูดอะไร เราจะต้องพูดบนข้อมูลที่มีอยู่ และผมโชคดีที่ได้เข้าไปเห็นข้อมูลในการศึกษาเรื่องน้ำ เรามีข้อมูลชุดหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นการศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ซึ่งแหล่งน้ำของประเทศไทยนั้นเกิดจากป่าฝน ใน พ.ศ. 2538 เริ่มเห็นว่าฝนที่ตกหนักและมีการตกใต้เขื่อน บางส่วนมีเรื่องของน้ำแล้งที่ควบคุมไม่ได้

ใน พ.ศ. 2554 เป็นปีที่ผมได้เข้ามาทำเรื่องนี้พอดี และเป็นเวลาวิกฤตในการบริหารเรื่องของน้ำต้นทุนในเขื่อน ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง บางอย่างเราต้องพึ่งลมมรสุมที่มาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือหรือมาจากอันดามัน ผลปรากฏว่าเส้นทางเดินนั้น

ไม่เหมือนเดิม ฝนดันตกใต้เขื่อน ซึ่งเป็นปัญหาที่เราได้เห็นวิกฤตจริง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราถือว่านี่คือเรื่องของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบแก่เราโดยตรงแล้ว

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความรู้ ความเข้าใจของประชาชนที่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำนั้นมีน้อย การที่เราจะออกกฎหมายเรื่องของน้ำ การบริหารน้ำ ในปีนั้นก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

หลังจากนั้นทำให้ได้มีโอกาสศึกษาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และได้เห็นว่าเป็นวิกฤตของประชาคมโลก เริ่มมีการพูดถึง Fossil Base เพราะวิกฤตตรงนี้ส่งผลทางลบให้แก่เศรษฐกิจไทย นอกจากน้ำที่บริหารยากแล้ว เศรษฐกิจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีปัญหาด้วยเช่นกัน

ในช่วง พ.ศ. 2554 ผลิตภัณฑ์ของเรานั้นเกี่ยวข้องกับ Fossil Base พวกพลาสติก พวกอะไรต่าง ๆ เราก็เริ่มมาศึกษาแล้วว่าพลาสติกอะไรที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน จึงมีการริเริ่มศึกษาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ Bio Base ที่เกี่ยวกับ Green Product ที่ส่งผลทางบวกให้แก่เรา

ความต้องการทางด้านผลิตภัณฑ์สีเขียวประชาชนเริ่มให้ความสนใจ แต่ผู้ผลิตนั้นมีอยู่น้อยราย ตรงนี้ถือเป็นโอกาส และในตอนนั้นได้มีการจัดงานสัมมนาเชิญธุรกิจการบิน ธุรกิจปิโตรเคมี มานั่งฟังแลกเปลี่ยนมุมมองกัน หลังจากนั้นการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้ส่งผลทางบวกคือผลิตภัณฑ์สีเขียวเริ่มมีการลงทุนเป็นรูปร่างขึ้น

ดังนั้นเรื่องของโลกร้อนส่งผลกระทบแก่ประเทศไทยจริง ๆ ข้อมูลที่มี โดยเกี่ยวกับเรื่องของน้ำ เรื่องของเศรษฐกิจหลักของประเทศ ซึ่งต้องมีส่วนในการลด Greenhouse Gas และเรื่องของ CO2 เพราะไม่อย่างนั้นผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะขายสู่ตลาดโลกไม่ได้

การลดก๊าซเรือนกระจก เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน..

สิ่งที่ท่านนายกได้ประกาศในการประชุม “ COP26 ” ผมว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่านโยบายของรัฐนั้นมี Commitment กับสังคมโลก ทางด้านเอกชนก็ต้องรับมาเพื่อปฏิบัติ ผมอยากจะเน้นว่ากติกาโลกในเวลา ณ ปัจจุบันมีทุกเรื่องคือจะผ่าน United Nations จะเรียกเป็น UNFCCC มีมาบังคับแม้กระทั่งเรื่องของ Anti-Corruption ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยมีการกล่าวถึงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ประเทศไทยมีการเซ็นสัญญาเรื่องของ Anti-Corruption ในปี พ.ศ. 2554

เศรษฐกิจของประเทศไทยโตมาตั้งแต่เกษตรกรรมหลังจากนั้นก็มาเป็นอุตสาหกรรม และเข้าสู่ Oil & Gas ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจที่ต่อเนื่องจาก Oil & Gas ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำนั้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สร้างมูลค่าให้กับประเทศชาติมหาศาล

“ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า Gas ที่มาจากอ่าวไทยคือเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลก ถ้ามามองตรงนี้ในทุกจุดที่มาตั้งแต่แก๊สเข้าโรงแยก จากโรงแยกไปโรงไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าไปเป็นปิโตรเคมี ซึ่งตลอดทั้งกระบวนการมีเรื่องของก๊าซเรือนกระจกมีเรื่องของ CO2 ตลอด เพราะฉะนั้นการพูดของท่านนายกทำให้เราต้องตื่นตัวเรื่องนี้”

ประเด็นเรื่อง Anti-Corruption ซึ่งผมเป็นบริษัท Trading ที่ต้องการดึงเทคโนโลยีจากบริษัท first tier technology ซึ่งเป็น เจ้าของ research and development ผมได้ทำโมเดลโดยเอาแนวคิดของรัฐบาลผนวกกับ Pollution Management และ Efficiency  Improvement ของโรงงานต่างๆ เช่น Refinery Plant,  Power Plant, และ Petrochemical Plant ซึ่งบริษัท First Tier Technology จะตั้ง Third Party มาตรวจสอบ Quality บริษัทของผมหลายรอบ ว่าได้ Business Compliance รวมถึงความโปร่งใสก่อนจะได้พูดคุย
ในรายละเอียด

ผมมองว่า..เรามีสภาอุตสาหกรรมที่แข็งแรง เรามีสภาหอการค้าที่แข็งแรง และดำเนินการมาอย่างยาวนาน ในกระบวนการอุตสาหกรรมนั้นมีโรงงานที่ชาวต่างชาติมาลงทุน เขามองผลิตภัณฑ์ของเขานั้นจะต้องขายไปสู่ Global Market ต้องยอมรับว่าตอนนี้เรื่องของ CO2 หรือ Carbon Footprint สามารถสืบดูได้ว่าบริษัทเหล่านั้นลดเรื่องมลภาวะหรือมีการลดการปล่อย CO2 ออกมาหรือไม่ บริษัทที่เป็นแบรนด์ที่อยู่ในตลาดโลกนั้นผมไม่ค่อยห่วง แต่อาจจะห่วงในส่วนที่อยู่ในตลาดที่ขายในประเทศเพราะว่าในประเทศไทยนั้นเราก็ต้องเอาจริง ต้องดึงมาตรฐานของโลกเข้ามาเพื่อที่จะได้นำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดโลกอีกที

แต่อย่าลืมว่าไม่ว่าจะเป็น SMEs หรืออะไรก็ตาม จะมีเรื่องของเงินทุนและปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เพราะฉะนั้นแล้วเรื่องตรงนี้ต้องการจะได้รับความรู้ว่าในกระบวนการที่จะลด CO2 ปัจจุบันเทคโนโลยีที่มีจริงแล้วสามารถทำขึ้นมาได้แล้วต้องหาจุดที่รัฐจะช่วยผู้ประกอบการอย่างไรในการลงทุน

อย่าลืมว่าพ่อค้าหากเปรียบเทียบให้ฟังกันง่าย ๆ เหมือนกับภายนอกดูแต่งตัวดี แต่ไส้ในเรามีเทคโนโลยีที่ไม่ถึง นั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร หากมีไส้ในที่มีเรื่องราวที่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ มีการใช้ High Technology สิ่งจำเป็นอย่างมากคือเงิน ตรงนี้คือสิ่งที่ภาครัฐควรต้องสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่จะไปให้ความรู้และมีหน่วยงานราชการมาช่วยดูระบบเรื่องราวเหล่านี้

Mindset คือสิ่งที่ต้องเปลี่ยน…

ราชการหรือเอกชนนั้นจะต้องเปลี่ยน Mindset เพราะว่า 1.เรื่องของการลด Greenhouse Gas ไม่ว่าจะขายออกต่างประเทศหรือทำภายในประเทศ สิ่งนี้คือความรับผิดชอบที่เราต้องทำให้ได้ เราต้องดู Product Life-Cycle ที่จะต้องจัดการ Mindset นี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องมีและต้องทำ 2.อีกเรื่องหนึ่งที่ภาครัฐจะต้องทำคือจะต้องออกกฎหมาย ซึ่งในบางครั้งอาจจะมี Over Standard คือมีการผลักภาระให้แก่ผู้ผลิต ถ้าเกิดเหตุที่ผู้ผลิตไม่สามารถทำได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วอาจจะมีโทษ ซึ่งพอทำแบบนั้นแล้ว
ก็ไม่มีใครที่อยากจะทำ

ดังนั้น รัฐควรเข้ามาสนับสนุนในลักษณะการทำ Infrastructure ให้คนที่เป็นนักอุตสาหกรรมที่ขายภายในหรือ SMEs ไม่ให้มีผลทางด้านต้นทุนที่สูงเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่มองว่าภาครัฐนั้นควรมาสนับสนุนมากกว่าที่จะมาจับผิดหรือออกกฎหมายที่เป็น International Standard Practice ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเห็นถึงความเป็นไปได้และความจำเป็น ถ้าหากว่าเราต้องการในระยะยาวที่เราจะลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ Industry เหล่านี้จำเป็นจะต้องเข้ามาร่วมมือด้วย

อย่างที่ได้มีการกล่าวไปข้างต้นนั้นในเรื่องของ Oil & Gas, Fossil Base มี Road Map ที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะมีการลดอย่างไรบ้างด้วยวิธีไหน มีอะไรบ้าง หรือไม่มีอะไรบ้าง อาจจะยังไม่ชัดเจนมากพอ เพราะฉะนั้นจะต้องวิเคราะห์ปัญหาให้ถูกเพื่อที่จะได้เข้าไปสนับสนุนได้ถูกต้อง

อุทยา 100 ปี เป็น Model ที่ดี

สิ่งหนึ่งที่อยากให้เชื่อว่า Ecosystem ในแต่ละบริษัทเราก็ต้องมองว่าเรานั้นมีความแข็งแรงด้านไหน เราสามารถที่จะไปเชื่อมโยงความแข็งแรงกับหน่วยงานอื่นอย่างไร ยกตัวอย่างหน่วยงานของผม เรามีความแข็งแรงในเรื่องการบริหารจัดการ เรื่องของเทคโนโลยีเราก็ต้องหาความเชื่อมโยงที่จะดึงนำเอาเทคโนโลยีแบบ First Tier เข้ามา กับอีกอย่างหนึ่งเราเชื่อว่ามหาวิทยาลัยนั้นมีบทบาทจะต้องยื่นไม้ยื่นมือมาเป็นหนึ่งในจุดเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ อย่างเช่น ในตอนนี้บริษัทของผมเองก็เริ่มที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับทางด้านคณะวิศวฯ จุฬาฯ ในความแข็งแรงที่เรามีคือเรื่องของการบริหาร Zero Inventory Management อย่าลืมว่าตรงนี้ก็เป็นการลดภาวะโลกร้อนอย่างหนึ่งเช่นกัน

ทำให้เห็นถึงสิ่งที่เป็น Positive ที่มาจากการร่วมมือเหล่านี้ที่จะสร้างประโยชน์ อย่างที่เราจะทำงานนั้นเราก็รู้ว่าการที่เราจะเขียน Model หรือ Research ให้เห็นว่าแนวโน้มนั้นจะไปทางไหนแต่เราจะคุยเรื่องยาก ๆ เหล่านี้ให้เป็นเรื่องง่าย ๆ แบบนี้ไม่ได้ แต่ถ้าได้ทางด้านสถาบันเหล่านี้มาร่วมมือกันศึกษาในสิ่งที่เราจะทำซึ่งจะสร้างประโยชน์

มุมมองของผมที่เป็นวิศวฯ จุฬาฯ จากที่เกิดเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าคณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้ร่วมมือผลิตอุปกรณ์เครื่องมือเกี่ยวกับการช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19  ซึ่งทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยติดอันดับ Ranking ที่ดีระดับโลก เพราะว่าเรามุ่งการกระทำและวิจัย เรื่องของเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ได้สอนเราหลายอย่าง

ในจุฬาฯ เรามีหลายอย่างที่สามารถเป็น Model ที่ดีได้ผมได้มีส่วนในการช่วยจัดหาทุนทำเกี่ยวกับอุทยาน 100 ปี อย่าลืมว่าต้นไม้เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะจับตัว CO2 และสิ่งที่ได้กล่าวข้างต้น ต้นน้ำของเราเกิดจากป่าฝน ถ้าเราจะจัดการเรื่องของ CO2 เราลงทุนเรื่องของการปลูกต้นไม้เหมือนได้นก 2 ตัวเลย

เราจัดการเรื่องของการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น อาจจะมีการนำโดรนไปโปรยเมล็ด ซึ่งมีอีกหลายอย่างที่ทางจุฬาฯ เรามีความเก่งทางด้านต่าง ๆ เช่น โรบอติค ที่จะช่วยเรื่องเหล่านี้ได้ เหมือนอย่างอุทยาน 100 ปี ก็เป็น Model ที่ดีแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน

Green Area นั้นเป็นเรื่องสำคัญ วิศวฯ จุฬาฯ หลาย ๆ คนเป็นเจ้าของโครงการต่าง ๆ สามารถนำ Model นี้ไปประยุกต์ใช้เพิ่มพื้นที่สีเขียวในโครงการต่าง ๆ เป็นการช่วยลดโลกร้อนได้อีกระดับหนึ่ง ผมชื่นชมโครงการก่อสร้างสวนป่าเบญจกิติ เชื่อมต่อสวนลุมพินี เพิ่มพื้นที่สีเขียวของกทม. ผมอยากนำสิ่งดี ๆ ในวัยเด็กที่ผมเคยเห็นนั้นกลับมาให้ได้ เพื่อการลด Greenhouse Gas และการลด CO2

เมื่อหาความสมดุลเจอ จะทำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันและไปต่อได้..

อีกเรื่องคือเรื่องของการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ ซึ่งมาโยงในเรื่องของการจัดการขยะทั้งหลาย อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นเขามีการบวกราคาในผลิตภัณฑ์ อาทิเช่น จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเขาจะมีการบวกราคาในการจัดการกับซากผลิตภัณฑ์เข้าไปแต่แรกแล้ว เมืองไทยเราก็สามารถทำได้เช่นกัน หากทุกคนเริ่มจากตัวเองก่อน และมองหาความสมดุลให้เจอเพื่อทุกภาคส่วนจะได้ร่วมมือกันอย่างลงตัว

เมื่อก่อนการประชุมผมเข้าห้องน้ำ ตึก 100 ปี คณะวิศวฯ จุฬาฯ พบว่ามีการแบ่งแยกขยะที่ทิ้ง ผมว่าทุกคนต้องเริ่มจากตัวเองก่อน อย่าลืมว่าทุกคนเมื่อเดินออกจากบ้านนั้นก็ได้สร้างขยะ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีวินัยในเรื่องการคัดแยกก็สามารถเดินต่อไปได้

บทบาทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการร่าง พ.ร.บ. ขึ้น อย่าลืมว่าประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ในอันดับต้น ๆ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการเขาต้องมีการคิดไว้อยู่แล้วเกี่ยวกับเรื่องของ EPR (Extended Producer Responsibility) ที่เป็นหลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัดจะต้องมีไม่เช่นนั้นของเขาขายไม่ได้

ความจริงแล้วถ้าเรามองความสัมพันธ์ของกฎหมาย เรามีกฎหมายโรงงานที่มีการกำจัดพวกซาก เรามีกฎหมายที่ทำขึ้นทางด้านกระทรวงมหาดไทยที่มีการควบคุมในเรื่องขนซาก เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมควบคุมมลพิษจะต้องทำยังไงเพื่อที่จะให้วงจรชีวิตของซากสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ถ้าเรามองตรงนี้แต่ละคนนั้นจะมาร่วมในวงจรนี้ได้อย่างไร อันนี้คือเรื่องสำคัญ คือเราก็มีการให้ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มาเยอะแล้ว

ข้อควรพิจารณาเรื่องของการออกกฎหมายที่เข้มงวดเกินไปเกินกว่ามาตรฐานโลกที่เป็นที่ยอมรับในประเทศอื่น ดูเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ (Internationally Accepted Standard) พอมาถึงตรงนี้อย่าลืมว่าผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออกที่เป็นแบรนด์ต่างประเทศนั้นหากมีอะไรผิดพลาดไปเขาอาจจะได้รับโทษที่หนักจนไม่อยากมาทำก็เป็นได้

เราจะหาความสมดุลตรงนี้อย่างไร ถ้าเราเขียนวงกลม 3 วง แบบที่เขาศึกษาว่าตรงไหนคือจุดร่วม ผมมองว่าน่าจะทำได้ และสิ่งหนึ่งที่ผมบอกมาแต่แรกเลยคือสภาอุตสาหกรรมประเทศไทยของเรานั้นแข็งแรง คือถ้าพูดกับหน่วยงานรัฐไปเรื่อย ๆ จุดสมดุลตรงนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อย่าลืมว่าขยะเหล่านี้มีมูลค่าและมีคนต้องการในส่วนตรงนี้ เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้สมดุลและไปต่อได้

กิจจา กล่าวปิดท้ายว่า “ผมเชื่อว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน และใช้กลยุทธ์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหาความสมดุลในการร่วมมือกันให้เจอ สิ่งที่ได้พูดคุยกันมาทั้งหมดนี้ต้องเดินหน้าไปถึงจุดหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน…”


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save