การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับสังคมไทยต้องพิจารณาหลายปัจจัย ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างแนวทางและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน จึงได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิ อรุณ สรเทศน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศ
สถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS)
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล วศ.2538 ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) กล่าวว่า สถาบันฯ มุ่งเน้นการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิศวกรรม ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมพัฒนานวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนตํ่าและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ผ่านที่มาสำคัญดังนี้
- กระแสเรื่อง Climate Change ที่เป็น Global Mega Trend ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจ
- ต้องให้ความสำคัญกับ Supply Chain หรือ SME เพราะเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยให้ Carbon Neutral และ Net Zero เดินหน้าต่อไปได้
- การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและประสบการณ์ในการทำเรื่อง Decarbonized ขององค์กร ปัจจุบันยังขาดทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้
“ขอบคุณเครือข่ายมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ เพราะทางมูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนสถาบันฯ ให้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ และอีกเครือข่ายที่สำคัญคือ คณะวิศวฯจุฬาฯ โดยเฉพาะคณบดี เพราะ MOTTO ของคณะวิศวฯ คือ “Innovation Toward Sustainability” ดังนั้นต้องมีเรื่องที่พูดถึง Sustainability ที่ตอบโจทย์ Global Mega Trend และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ CBiS เกิดขึ้นมา”
หลักสูตร IES สนับสนุนการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
IES หรือ Innovative Engineering for Sustainability คือ หลักสูตรปริญญาโท แผน ข เป็นหลักสูตรใหม่ มีความทันสมัยและท้าทาย ตอบโจทย์การสร้างการเติบโตของประเทศอย่างมีส่วนร่วม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีประสบการณ์การทำงานเพื่อเชื่อมโยงโจทย์ในการปฏิบัติงานจริงกับองค์ความรู้ที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้เรียนที่เรียนรายวิชาในโครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และยังสามารถเก็บสะสมผลการเรียนที่ผ่านตามข้อกำหนดมาใช้เพื่อการขอยกเว้นรายวิชาในหลักสูตร ต้องทำให้ผู้เรียนสำเร็จการศึกษาได้รวดเร็วขึ้นมีจุดเด่น 3 ข้อดังนี้
- หลักสูตร IES ผู้เรียนไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ ทำ Independent Study หรือ IS
- เรียนแบบไฮบริด เป็นการเรียน Online ผสม Onsite เหมาะสำหรับคนทำงาน
- IES เป็นหลักสูตรแรกของคณะวิศวฯ จุฬาฯ ที่ผู้เรียนไม่ต้องจบปริญญาตรีสายวิทย์ก็สามารถเรียนปริญญาโทสายวิทย์ วิศวฯ จุฬาฯ ได้
IES คือ Innovative Engineering for Sustainability เปิดมาประมาณ 2 ปี ช่วงที่เปิดหลักสูตรและเปิดสถาบันฯ เป็นช่วงที่ใกล้กัน เพราะฉะนั้นตัวหลักสูตร IES จึงถูกออกแบบมาตอบโจทย์การดำเนินงานของสถาบันฯ และสถาบันฯ ได้ปรับกลไกให้สนับสนุนหลักสูตร IES ไปพร้อม ๆ กัน ผ่าน 2 กลไก ดังนี้
- ผู้ที่เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้จะได้เรียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change, Carbon Footprint และ Decarbonized สถาบันฯ และหลักสูตร IES ได้มีการทำงานร่วมกันเสริมสร้างรายวิชา ในปัจจุบัน สถาบันฯ ได้ทำเคสต่าง ๆ และนำเคสเหล่านี้มาสอนในหลักสูตร IES เพื่อที่นิสิตจะสามารถแชร์เรื่องราวเหล่านี้ต่อกันได้ เพราะผู้เรียนส่วนมากมีประสบการณ์มาจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ผู้เรียนที่กำลังจะจบปริญญาโทจะต้องทำ IS ทุกคน โจทย์ที่เขาทำ IS ส่วนหนึ่ง คือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Decarbonized เช่น สถาบันคาร์บอนให้การช่วยเหลือ SME โจทย์ที่เกี่ยวข้องทำอย่างไรให้ SME มี Carbon Footprint และมี Decarbonized Journey ที่เกิดขึ้น มีเคสที่สำเร็จแล้วประมาณ 2-3 เคส เช่น ผู้เรียนเป็นผู้ประกอบการเจ้าของโรงแรมที่จังหวัดภูเก็ต เขาได้นำโรงแรมเข้ามาทำ ใช้หลักสูตร IES และสาถาบันฯ มาทำงานร่วมกัน อีกเคสคือ เจ้าหน้าที่ Sustainability ที่ดูแล ESG ของโรงงาน เขาได้ทำ IS เรื่อง Carbon Footprint และ Decarbonized Journey ของโรงงาน รวมไปถึงในส่วนของข้าราชการประเทศไทยมีแนวทางพัฒนาการปลูกข้าวแบบแห้งสลับเปียก พอมาเชื่อม IES กับ CBiS สามารถลงรายละเอียดในทฤษฎีได้ และอีกตัวอย่างคือ ผู้เรียนที่มาจากธนาคาร ใช้หลักการที่เรียนใน IES และเคสจาก CBiS มาตอบโจทย์ในเรื่องของ Green loan
ปัจจุบันมี 7 หน่วยงาน ที่ทางสถาบันฯ ให้ความร่วมมือทั้งในรูปแบบ MOU และรูปแบบความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด มีดังนี้ 1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2. บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด 3. ธนาคารกสิกรไทย 4. บริษัท อโยเดีย จำกัด บริษัทที่ทำเรื่อง Data และ Set ระบบ 5. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 6. กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม 7. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเคหะแห่งชาติ
แอปพลิเคชัน CFiD (Carbon Footprint in Daily Life)
แอป CFiD ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่าย สามารถบันทึกกิจกรรมที่ทำประจำได้โดยไม่ต้องบันทึกใหม่ทุกวัน เช่น การเดินทางไปยังที่ทำงาน การใช้ไฟฟ้า เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาในการบันทึกข้อมูล นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มกิจกรรมที่ชดเชย (Offset) การปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เช่น การปลูกต้นไม้ และแสดงผลภาพรวมการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกิจกรรมต่าง ๆ (Total Carbon Footprint Emission) พร้อมสถิติการเปลี่ยนแปลง และเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ เพื่อสร้างการปรับตัวในชีวิตประจำวันสำหรับการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ส่วนบุคคล อีกทั้งยังมีภารกิจเพื่อการสะสม Coin จากการอัปเดตข้อมูลกิจกรรมที่ลดและชดเชยคาร์บอนสำหรับนำไปแลกเป็นของรางวัลได้
แอปพลิเคชัน CFiD นี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของทุกคน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญในการเดินหน้าไปยังเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ในการทำให้ทุกคนสามารถเห็นข้อมูลที่จับต้องได้ ตรวจสอบได้ และเมื่อรู้ว่าการปรับพฤติกรรมอย่างไรที่จะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของตัวเอง ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องดำเนินการในเร็ววันนี้ ก่อนที่ผลเหล่านี้จะสะท้อนไปยังคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศในท้ายที่สุด โดยการใช้งานแอปพลิเคชันนี้ถือเป็นหนึ่งในวิธีการที่ทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการช่วยโลก โดยเริ่มต้นที่ตัวเราในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลชัดเจน
นวัตกรรมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับสังคมไทย
การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การดักจับ หรือใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ โชคดีที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ มีคณาจารย์และบุคลากรที่ทำงานวิจัยและมีความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง พร้อมกับการสร้างจิตสำนึกและความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การมีเทคโนโลยีที่ดีย่อมเป็นเรื่องดี ที่สำคัญตัวบุคคลหรือประชาชนทั่วไปควรมีความรู้ความเข้าใจด้วย เช่น เรื่องการปล่อยคาร์บอนในแต่ละบุคคล ถ้าเราสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คนทั่วไปหรือประชาชนให้สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนในตัวเองได้ สามารถส่งต่อนวัตกรรมการเปลี่ยนผ่านเรื่องนี้ได้ เรื่องนี้คงเป็นหัวใจสำคัญของนวัตกรรม มีข้อมูลที่เป็นส่วนสำคัญที่กระทรวงและประเทศต้องการโดยเฉพาะหากเราร่วมมือกับกระทรวงและเก็บจาก SME มาได้จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศมาก ๆ
เพราะฉะนั้นจะต้องมีนวัตกรรมในเชิงเก็บข้อมูลอย่างไรให้ SME ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนเรื่อง Green Loan จำเป็นต้องใช้ Data เพื่อมา Qualify Support อาจจะมี Report เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ประเทศเราต้องการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจาก Unified Numbering System ก็ต้องการ Data เช่นเดียวกัน รวมถึงประเทศไทยต้องการใช้เงินเพื่อ Decarbonized ก็ต้องการ Data เช่นกัน และรวมไปถึงการส่งต่อไปให้ Supply Chain ที่อยู่ระดับด้านบนจะได้เห็นว่า Carbon ของวัตถุดิบที่ซื้อมามีค่าเท่าไรเพื่อที่จะส่งข้อมูลเหล่านี้เป็นขั้นไปเรื่อย ๆ หรือทุก ๆ บริษัทหลังจากนี้ต้องมีการรายงานข้อมูล ESG และเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในนั้น เช่น Data ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Carbon และ Greenhouse Gas
กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นใน ค.ศ. 2024 และในอนาคต
ช่วงปิดเทอมใหญ่เราจะมีกิจกรรม LEARN DO SHARE 2024 เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ Carbon Footprint ได้มีการเปิดรับ SME ให้เข้ามาสมัครและทำ Carbon Footprint ให้ฟรี แต่ SME ต้องนำเจ้าหน้าที่เข้ามาด้วย จากนั้นเราจะเปิดรับนิสิตจุฬาฯ เข้าร่วมโครงการสอนในเรื่องของ LEARN และให้นิสิตลงมือปฏิบัติจริงร่วมกับ SME และให้นำความรู้ที่ได้นั้นมาแบ่งปันกันพร้อมกับร่วมกันทำงาน
ทำหลักสูตรร่วมกับธนาคารกสิกรไทยช่วงเดือนตุลาคม ชื่อว่า Net Zero CEO เป็นหลักสูตรใหญ่ ที่ได้มีการเชิญผู้บริหารระดับสูงมาร่วมเรียน เพราะเชื่อว่าเมื่อผู้บริหารให้ความสนใจ ก็จะมีการให้ความสำคัญกับกลุ่ม SME มากยิ่งขึ้น
อีกทั้งยังมีกิจกรรมในการเปิดเวทีร่วมกันเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมหรือผู้ที่สนใจ เป็นการนำข้อมูลทั้งหมดสรุปและเปิดตัวให้แก่สาธารณชนได้เห็นและสร้างความเข้าใจอันดีงามให้แก่สังคมและระหว่างทางช่วงนี้จนถึงปลายปีก็จะแทรกไปด้วยกิจกรรม In House Training ทำการเรียนการสอนผ่าน IES จัด Training Course ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ปัจจุบันเราได้ทำงานร่วมกับ IRPC ในอนาคตถ้าได้ร่วมมือกับสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ อาจมี Training เป็นระยะ ๆ เพราะเป็นเรื่อง Global Mega Trend ที่ทุกองค์กรให้ความตื่นตัวและพร้อมที่จะเรียนรู้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ทางสถาบันฯ คิดว่าต้องมีกิจกรรมที่ทำร่วมกับ Green Network และเน้นในเรื่อง Decarbonized, ESG ทำร่วมกันหากสามารถเชื่อมกับสภาวิศวกรและภาคส่วนในเครือข่ายของ Green Network น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะจะตอบโจทย์ในเรื่องสร้างความรู้ความเข้าใจ และนวัตกรรมกลุ่มที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นได้
ทำด้วยกัน ไปได้ไกล
ฝากชาวอินทาเนียและพี่น้องประชาชนทุกคน เรารู้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยปล่อยคาร์บอนประมาณ 15 กิโลกรัม/คน/วัน แต่หากเป็นคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องเกิน 40 กิโลกรัม/คน/วัน อยากฝากให้ช่วยกันลดการปล่อย Carbon ในชีวิตประจำวันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เริ่มได้จากตัวเราและเริ่มได้ในทุก ๆ วัน
ในอนาคตหากมีการขอการสนับสนุน ก็อยากจะขอให้มาร่วมด้วยช่วยกันไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านประสบการณ์ของพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวอินทาเนียทุกคน อยากให้เข้ามาช่วยสนับสนุนหลักสูตร IES และสถาบันฯ ในหลากหลายมิติ มาช่วยสอน ถ่ายทอดประสบการณ์ มาร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ช่วยแนะนำพวกเราในส่วนต่าง ๆ อยากขอการสนับสนุนในทุกมิติ
อยากให้ช่วยแนะนำ SME ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในเรื่อง Service หรือเรื่องอื่น ๆ ที่สถาบันฯ หรือหลักสูตร IES มี อย่างน้อยถ้าเป็นเจ้าของกิจการหากมีลูกหลานที่สนใจเรื่องความยั่งยืนสามารถส่งมาเรียนหลักสูตร IES ได้ ระหว่างทางถ้ามีโจทย์ขององค์กรที่อยากให้มีเรื่อง Decarbonized สามารถมาใช้บริการที่สถาบันฯ ได้ อยากฝาก 3 เรื่องนี้เพราะคิดว่าตอบโจทย์ และชาวอินทาเนียส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ หรือแม้กระทั่งอยู่ในองค์กรหลากหลายรูปแบบ ถาเข้ามาร่วมแบ่งปันข้อมูลกันช่วยแนะนำในเรื่องต่าง ๆ นี้จะเป็นการช่วยส่งเสริมและทำให้กลไกของ CBiS หลักสูตร IES เจริญเติบโตไปได้ และจะกลับมาตอบโจทย์ MOTTO ของคณะ คือ การทำ Innovation ในทุกรูปแบบเพื่อตอบโจทย์ Toward Sustainability…
ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ