ฤดูร้อนปีนี้อากาศร้อนรุ่มถึงระดับหนักหนาสาหัสจนคนทั่วโลกรู้สึกได้จนถึงขั้นคำว่า “โลกเดือด” เลยละครับ พี่น้องชาวไทยที่พอมีปัจจัยเหลือกินเหลือใช้บ้างก็เดินทาง “หนีร้อนไปพึ่งเย็น” ในต่างประเทศ ไปเที่ยวชายทะเลหรือน้ำตกในประเทศบ้าง ส่วนพวกเรา ๆ ที่เดินดินกินข้าวแกงก็อาศัยเดินห้าง เข้าโรงหนังพอบรรเทาไปได้ชั่วคราว
ที่น่าสงสารก็พวกที่ต้องทำงานกลางแจ้งอย่างงานก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร หรือ รปภ. ที่ต้องทนแดดทนฝนอย่างไม่มีทางเลี่ยง
ไม่ต้องพูดถึงฝุ่น ควัน ภาวะมลพิษทางอากาศอีกสารพัด ซึ่งแหล่งใหญ่ก็มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นแหละครับที่ทำให้มีระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะฉะนั้น เรามาคุยกันต่อถึงเทคโนโลยีการแก้วิกฤตการณ์ภูมิอากาศด้วยวิศวกรรมที่ค้างอยู่จากครั้งที่แล้วกันนะครับ มาดูกันว่าจะช่วยโลกได้มากน้อยเพียงใด
บริษัท Climeworks มีแผนการขยายงานเชิงรุกอย่างมาก โดยขอรับทุนส่วนหนึ่งจากภาครัฐเพื่อสร้างโรงงานตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรงที่รัฐหลุยเซียนา ร่วมงานกับกลุ่มผู้ประกอบการเคนยาเพื่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ประเภทเดียวกันนอกเมืองไนโรบี และมีแผนในการสร้างโรงงานประเภทนี้อีกหลายแห่งที่แคนาดาและประเทศต่าง ๆ ในยุโรป
สิ่งที่เป็นแรงผลักดันการตื่นตัวในการก่อสร้าง คือ ความต้องการที่จะลดผลกระทบของกิจกรรมของบรรษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งที่มีผลทำให้โลกร้อน ในทศวรรษที่ผ่านมาบรรษัทนานาชาตินับร้อย ๆ แห่งปฏิญาณตนที่จะทำให้กิจการของตนเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2040 ทว่า แทนที่จะค่อย ๆ ลดทอนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทส่วนมากกลับจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิต ซึ่งสามารถทำได้โดยการอนุรักษ์ป่า อุดหนุนโครงการพลังงานหมุนเวียน หรือจ่ายเงินทำโครงการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์
Microsoft, JPMorgan และ UBS เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ลงนามข้อตกลงระยะยาวในการซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัท Climeworks ในขณะที่ Amazon, AT&T และ Houston Astros เป็นกลุ่มที่ลงนามในข้อตกลงประเภทเดียวกันกับบริษัท Occidental
Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft ได้แถลงเมื่อปีที่ผ่านมาว่า เขาเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ Climeworks โดยจ่ายค่าชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทถึง $10 ล้านต่อปี แม้กระนั้นก็ตาม แผนการใหญ่ของบริษัทต่าง ๆ ที่ทำกิจการตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศที่วางแผนสร้างโรงงานนับร้อย ๆ แห่งในหลายปีข้างหน้านั้นตั้งสมมติฐานอยู่บนการคาดคะเนตลาดที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง มีเพียงบริษัทขนาดใหญ่เพียงส่วนเดียวเท่านั้นที่เต็มใจจะควักกระเป๋าออกมาจำนวนล้าน ๆ เหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อคาร์บอนเครดิต โดยไม่มีหลักประกันว่าบรรษัทอื่น ๆ ที่เหลือจะยอมทำตามหรือไม่ในอนาคตอันใกล้นี้?
หากว่ามีบริษัทหลายแห่งตัดสินใจจะเริ่มลงมือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของบริษัท ก็ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่ถูกกว่าในการทำเช่นนั้นรวมถึงการอนุรักษ์ป่าไม้และการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การลงทุนตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศนั้นจะอยู่ระหว่าง $500-1,000 ต่อเมตริกตัน เทียบกับค่าใช้จ่ายซื้อคาร์บอนเครดิตเพียง $10-30 ต่อตัน เท่านั้นในปัจจุบัน
Robock กล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่ามันแพงมาก ๆ ดังนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาวครับ”
แม้กระนั้น โลกธุรกิจก็ยังมีมุมมองเชิงบวก บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก Boston Consulting Group หรือ BCG คาดว่าจะมีบริษัทที่เริ่มซื้อคาร์บอนเครดิตเพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มเงินทุนในการขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ และรัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศจะส่งเสริมการซื้อเครดิตมากขึ้น รัฐบาลหลายประเทศในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มให้ทุนอุดหนุนการสร้างโรงงานดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ BCG คาดว่าตลาดของเทคโนโลยีการขจัดคาร์บอนไดออกไซด์จะขยายตัวจากระดับปัจจุบันที่ต่ำกว่า $10,000 ล้าน ไปเป็น $135,000 ล้าน ใน ค.ศ. 2040
Rich Lesser ประธานของ BCG กล่าวว่า “บริษัทต่าง ๆ จะถูกกดดันจากราคาของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่เข้มงวดมาก ๆ จนจำเป็นต้องลงมือจัดการกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญนี้”
แม้ตลาดของการตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรงยังอยู่ในสถานะ “แบเบาะ” แต่ก็มีผู้คัดค้านอย่างรุนแรงแข็งกร้าวทั้งในแวดวงวิชาการ กลุ่มนักกิจกรรมผู้รณรงค์เรื่องต่อต้านโลกร้อน และแวดวงอื่น ๆ นอกเหนือไปจากนั้น
ผู้คัดค้านบางกลุ่มกล่าวว่าการลงทุนซื้อคาร์บอนเครดิตและการตรวจจับคาร์บอนจากอากาศเป็นเพียงกลยุทธ์บังหน้าของบริษัทน้ำมันและแก๊สเพื่อจะยืดอายุของอุตสาหกรรมที่เป็นตัวการหลักที่ต้องรับผิดชอบการทำให้โลกร้อน โดยชี้ให้เห็นหลักฐานที่ชัดเจนมากมายที่แสดงว่ากลุ่มผลประโยชน์เชื้อเพลิงฟอสซิลทุ่มเทความพยายามตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาในการลดระดับการตื่นรู้ของสาธารณะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ว่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บมาได้บางส่วนจะถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำมันให้ได้มากขึ้น
ข้อกังวลเหล่านี้เพิ่มพูนมากขึ้นเมื่อ Vicki Hollub หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Occidental ที่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการพลังงานฟอสซิลได้กล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า “เทคโนโลยีการตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรงนั้นสามารถอนุรักษ์อุตสาหกรรมของเราได้ ซึ่งจะทำให้เรายังมีสิทธิที่จะปฏิบัติการต่อไปอีก 60, 70, 80 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง”
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ต่างเรียกร้องว่าการแปรสภาพการใช้พลังงานในกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์อย่างเร่งด่วนออกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นอย่างสุดขั้วของอุณหภูมิโลก ในปีที่ผ่านมามีประเทศต่าง ๆ เกือบ 200 ประเทศที่เห็นพ้องในการเริ่มต้นลด ละ เลิกการใช้น้ำมัน ถ่านหิน และแก๊ส
Lili Fuhr ผู้อำนวยการโปรแกรมเศรษฐศาสตร์ที่ศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อมนานาชาติกล่าวว่า “นี่เป็นปรากฏการณ์ของคลื่นลูกใหม่ในการกล่าวปฏิเสธ บิดเบือน และชะลอมาตรการหลัก ๆ ให้ล่าช้าลงไป คุณกำลังเผชิญกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่พยายามจะโต้แย้งว่าเราสามารถจะใช้วิธีการทางวิศวกรรมในการหาทางออกจากปัญหาโลกร้อนโดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ใด ๆ ในการทำธุรกิจที่เคยทำกันมาตลอด”
เหตุผลที่เกี่ยวเนื่องในเรื่องนี้ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ พลังงานสะอาดปริมาณมหาศาลที่จำเป็นในการป้อนโรงงานตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรงนั้น น่าจะนำมาป้อนให้ใช้งานในที่พักอาศัยและในการทำธุรกิจจะดีกว่า ซึ่งจะช่วยทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่เป็นพลังงานส่วนใหญ่ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของโลก
คุณ Fuhr ได้กล่าวเสริมว่า ต้นทุนในการตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงสูงอยู่มากแม้จะมีการอุดหนุนอย่างมากมายจากภาครัฐรวมถึงเครดิตภาษีมูลค่า $180 ต่อตันของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ตรวจจับและกักเก็บได้ ซึ่งเป็นการอุดหนุนที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายภาษีของบริษัท Occidental อย่างมากมายในหลายปีข้างหน้า โดยกล่าวว่า “อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลประสบความสำเร็จในการ “ตรวจจับ” เงินอุดหนุน ไม่ใช่คาร์บอนไดออกไซด์” และยังมีข้อเท็จจริงที่ว่า แม้ Occidental และ Climeworks จะสามารถทำตามสัญญาที่ว่าจะสร้างโรงงานใหม่ที่ตรวจจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศนับร้อยแห่งได้จริงในอนาคต ก็ยังไม่สามารถจะดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1% ของปริมาณที่ปล่อยออกมาทั้งโลกต่อปีได้
ศาสตราจารย์ Mark Z. Jacobson จากภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด กล่าวว่า การปฏิบัติการปรับแก้สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปและการตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์ล้วนเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจที่อันตรายอย่างยิ่งจากพันธกิจที่เร่งด่วนมากในการลด ละ เลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เขากล่าวย้ำว่า
“มีแนวทางออกของปัญหาภูมิอากาศหลายทางที่จริง ๆ แล้วไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เลย ทางออกพวกนี้ไม่ได้ช่วยเรื่องภูมิอากาศและภาวะมลพิษแม้แต่นิดเดียว การตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรงก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในทางออกพวกนี้”
ทางกลุ่มผู้สนับสนุนเทคโนโลยีเหล่านี้โต้ว่า ในภาวะที่ไอเสียจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โลกได้เข้าใกล้จุดที่จะต้องหยิบยกแนวทางที่จะลดความร้อนของโลกทุกทางที่มีอยู่มาเปิดเผยเพื่อพิจารณาร่วมกันโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
พวกเขากล่าวว่า การตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์ยังเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้อยู่ เพราะถึงแม้กิจกรรมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ถูกขจัดออกไป แต่ทว่า ก๊าซเรือนกระจกบางส่วนยังคงเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคต ดังนั้น การตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศโดยตรงยังมีประโยชน์อยู่
นักวิทยาศาสตร์หลายคนยังเชื่อว่า ในระยะยาวนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ล้นเกินอยู่บางส่วนที่สะสมอยู่ในบรรยากาศในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ผู้สนับสนุนเทคโนโลยีการตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เทคโนโลยีนี้เหมาะสมอย่างยิ่งกับงานยักษ์ขนาดนี้ Lesser กล่าวว่า “ไม่มีใครบอกว่าเทคโนโลยีนี้จะแก้ปัญหาการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งมวลได้หรอกครับ แต่มันสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่มีความหมายอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาใหญ่ของโลกปัญหานี้”
อุณหภูมิที่พุ่งสูงเกินพิกัด มหาสมุทรที่อุ่นขึ้น และมหาอัคคีภัยในปีที่ผ่านมาล้วนเป็นหลักฐานข้อเท็จจริงที่น่าวิตกอย่างยิ่งว่าเราได้สร้างปัญหาให้แก่โลกของเราตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา ในช่วงระยะเวลาที่สั้นกว่าต้นไม้แดงจะเติบโตเต็มที่ มนุษย์ได้เพิ่มพูนปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศในระดับที่สูงมากจนทำให้รูปแบบพฤติกรรมของดินฟ้าอากาศปั่นป่วนวุ่นวาย หลอมละลายธารน้ำแข็งขั้วโลก และสร้างความพินาศย่อยยับให้แก่แถบปะการังชายฝั่ง
เมื่อมองจากมุมนี้ ความพยายามในปัจจุบันในการชะลอหรือพลิกกลับสภาพการอุ่นขึ้นของภูมิอากาศสามารถมองได้เสมือนเป็นการปรับแก้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ทว่า มนุษย์จะสามารถทำสิ่งที่ทะเยอทะยานอย่างยิ่งนี้ได้สำเร็จหรือไม่ ยังไม่ชัดเจน นี่คือปัญหาที่มีผลกระทบต่อเนื่องอย่างมากที่สุดที่เผ่าพันธุ์มนุษย์กำลังเผชิญอยู่
กระนั้น ในขณะที่ผู้คนเริ่มใช้วิธีการใหม่ต่าง ๆ ในการจัดการกับภูมิอากาศ ก็ได้เกิดคำถามพื้นฐานที่เริ่มจะตระหนักกัน กล่าวคือ หากสภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิเพิ่มสูงสุดขั้วในปัจจุบันเกิดขึ้นโดยเราไม่ได้จงใจให้เกิด โดยเป็นผลลัพธ์ที่ไม่ได้เจตนาสร้างขึ้นที่มาจากการพัฒนาของมนุษย์โลก อะไรที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มต้นควบคุมสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างจริง ๆจัง ๆ
Hourdequin จากวิทยาลัย Colorado กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาหลายศตวรรษแล้ว แต่ความตั้งใจพยายามจัดการสภาพภูมิอากาศโดยวิศวกรรมภูมิศาสตร์หรือ Geoengineering นั้นเป็นความพยายามที่โดดเด่น และแตกต่างจากมาตรการแทรกแซงสะเปสะปะที่เราได้ลองผิดลองถูกทำอยู่ตลอดมานี้”
เนื้อหาข่าวจาก David Gelles จากสำนักพิมพ์ New York Times ที่เผยแพร่ออนไลน์เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาก็จบลงอย่างสมบูรณ์ในฉบับนี้แล้วนะครับ ถ้าเราจะสรุปเนื้อหาสาระและบทเรียนจากข่าวนี้ก็จะได้ว่า
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “โลกร้อน” นั้น ได้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และบุคลากรทางเทคโนโลยีที่เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงโดยสังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ เท่านั้นที่รับทราบและออกมาเตือนเมื่อหลายปีก่อน กลายเป็นสิ่งที่สาธารณะประสบพบเห็นได้ด้วยตนเองจากพิบัติภัยรูปแบบต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้น การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ทั้งชนิดและปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น การละลายของธารน้ำแข็งขั้วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคลาดเคลื่อนของฤดูกาลและอุณหภูมิสุดขั้วในภูมิภาคต่าง ๆ จนถึงกับมีคำว่า “โลกเดือด” เกิดขึ้น
บริษัทเอกชนกลุ่มหนึ่งในโลกตะวันตกลงทุนวิจัยพัฒนาและสรรค์สร้างอุปกรณ์ระดับโรงงานที่ตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศ หรือที่เรียกกันว่า Direct Air Caption (DAC) เนื่องจากยังอยู่ในระยะเริ่มต้นการใช้งาน จึงดักจับได้ในปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์และธรรมชาติเองปลดปล่อยอยู่ในปัจจุบัน
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้กล่าวว่า ในอนาคต เทคโนโลยีนี้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศซึ่งกิจกรรมของมนุษย์และธรรมชาติปล่อยออกมาและคงค้างอยู่ในบรรยากาศปัจจุบัน
อีกด้านหนึ่งของเหรียญนั้น กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รวมตัวคัดค้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้มีความเห็นว่า เทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผลประโยชน์ผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สำรวจและขุดเจาะน้ำมัน เพราะช่วยปิดบังปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มดังกล่าว ทั้งยังเป็นการนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้มาอัดลงไปในหลุมขุดเจาะ เพื่อรีดสกัดเอาน้ำมันและก๊าซออกมาได้มากขึ้นกว่าเดิม สุดท้ายก็เป็นการส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล นำไปเผาไหม้มากขึ้น เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มพูนขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย คือ ในภาครัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายและมาตรการเพื่อปรับตัวและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Adaptation and Mitigation ในขณะที่รัฐบาลที่ผ่านมานั้นได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP 26 ที่ปารีส ใน พ.ศ. 2565 ว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนใน พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ใน พ.ศ. 2608
นอกจากนี้ เรายังให้คำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% ใน พ.ศ. 2573 จากเป้าหมายเดิมที่ 20-25% เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของ พ.ศ. 2593 และ พ.ศ. 2608
แต่นอกจากการเปลี่ยนชื่อและปรับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย มาตรการ หรือแผนปฏิบัติการต่าง ๆ แม้แต่แผนพัฒนาพลังงานชาติที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า PDP เองก็ยังไม่มีอะไรสะท้อนให้เห็นว่าเราจะมีการเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ให้สัญญาไว้
กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นครราชสีมา และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ยังเผชิญกับมลภาวะฝุ่นพิษ PM2.5 ซ้ำซาก รวมทั้งระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส อย่างต่อเนื่องในปีนี้ ภัยแล้ง พายุฝน และน้ำท่วม ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากกาศยังคงเกิดขึ้นเหมือนเป็นเหตุการณ์ปรกติ ท่ามกลาง “ทัวร์นกขมิ้น” ของท่านนายกฯ และคณะรัฐมนตรีที่ไม่ได้มีภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมออกมา นอกจากการให้สัมภาษณ์ไปวัน ๆ หรือเป็นเพราะการไปประกาศที่ประชุมนานาชาตินั้นเป็นคำมั่นสัญญาของรัฐบาลชุดที่แล้ว รัฐบาลชุดนี้ไม่รู้ไม่เห็น จึงไม่ต้องทำอะไรครับพี่น้อง?
ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์ สะดุดฟันเฟือง โดย รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15