แปลงโฉมรถน้ำมันผันเป็น EV

แปลงโฉมรถน้ำมันผันเป็น EV


ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความเข้าใจในเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้งาน รวมทั้งยังตอบโจทย์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพราะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงตอนใช้งาน และยังเป็นเหตุผลที่ทำให้ ดร.ยรรยง เต็งอำนวย ได้ทำการทดลองดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายในประจำตระกูลที่มีความเก่าแก่ให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และที่สำคัญการทดลองดัดแปลงครั้งนี้ยังทำให้ได้รู้จักเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยของรถ EV และยังสามารถเป็นแนวคิดให้อุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สามารถนำไปเป็นต้นแบบเพื่อผลักดันธุรกิจของตัวเองไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้รองรับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้

จุดเริ่มต้นในการดัดแปลง “รถน้ำมัน” เป็น “รถ EV”

ดร.ยรรยง เต็งอำนวย
อาจารย์ ดร.ยรรยง อาจารย์เกษียณราชการ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวฯ จุฬาฯ

ดร.ยรรยง เต็งอำนวย กล่าวว่า เหตุผลที่ตนนำรถยนต์ตัวเองดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเนื่องจากรถที่ใช้อยู่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 33 ปี เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวมานาน และเสื่อมสภาพไปตามการใช้งาน ก่อนหน้าได้มีการซ่อมและบำรุงรักษามาหลายครั้ง รวมไปถึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดโลกร้อน และเห็นอู่แถวบ้านมีการดัดแปลงให้เป็นรถไฟฟ้าจึงรู้สึกชอบ และได้คุยรายละเอียดกับเจ้าของอู่ จากนั้นได้นำรถ Mitsubishi Galant ค.ศ. 1990 ของตนที่ใช้งานอยู่ไปดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า มีค่าใช้จ่ายประมาณ 350,000 บาท คันนี้ถือว่าเป็นรถประจำตระกูล จึงรู้สึกเสียดายเพราะหากขายไปก็ไม่คุ้ม ผ่านการใช้งานมาเพียง 200,000 กิโลเมตร จึงคิดว่าหากนำไปดัดแปลงน่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่า

สำหรับชิ้นส่วนที่เราได้เปลี่ยนจะเป็นเรื่องระบบน้ำมันทั้งหมด ตั้งแต่เครื่องยนต์ ถังน้ำมัน ปั๊มติ๊ก ปั๊มน้ำมัน หม้อน้ำระบายความร้อน และระบบที่พึ่งพากำลังจากเครื่องยนต์ ต้องตัดแปลง ระบบพวงมาลัยพาวเวอร์ คอมเพรสเซอร์แอร์ หม้อลมเบรก เกียร์อัตโนมัติ แบตเตอรี่ชุดใหม่และมอเตอร์เข้ามาแทนเครื่องยนต์ มีระบบแปลงไฟบ้าน 220 VAC ให้เป็น 144 VDC เพื่อป้อนแบตชุดใหม่ ไฟแรงสูงนี้ใช้ขับมอเตอร์สำหรับขับเคลื่อนรถยนต์ หมุนคอมเพรสเซอร์แอร์ที่ต้องเปลี่ยนเป็นแบบไฟฟ้า จ่ายปั๊มลมหม้อลมเบรก และผ่านตัวแปลงไฟ DC-to-DC จาก 144 V ไปเป็น 12 V เพื่อชาร์จแบตเตอรี่และจ่ายไฟให้ระบบไฟฟ้าเดิมของรถ แต่ระบบไฟของเดิม 12 VDC ไม่เปลี่ยน ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเบรก ไฟเลี้ยว ไฟเก๋ง กระจกไฟฟ้า วิทยุ พัดลมระบายความเย็นของแอร์ นาฬิกา แตร พยายามคงสภาพโดยรวมของรถไว้ นอกจากระบบน้ำมัน รถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาประมาณ 50 กิโลกรัม

ค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงรถ

ชิ้นส่วนที่ราคาแพงที่สุดคือแบตเตอรี่ ราคาสูงเกือบ 150,000 บาท เป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนรุ่นเก่ามือสอง คนที่ดัดแปลงรถให้มีการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว คุณภาพยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้และมีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี ราคาแบตเตอรี่ใหม่ประมาณ 300,000 บาทขึ้นไป แบตเตอรี่รุ่นปัจจุบันที่ใช้กันโดยทั่วไปในรถยนต์ไฟฟ้าคือ แบตเตอรี่ NMC และรุ่นใหม่ คือ LFP จะมีราคาสูงขึ้นไปอีก หวังว่าทางภาครัฐจะเข้ามาช่วยในเรื่องของภาษีในอนาคต รองลงมาคือตัวควบคุมมอเตอร์ 2 ตัว ราคาประมาณ 70,000 บาท

การใช้งาน

สำหรับค่าใช้จ่ายในการขับขี่ ปัจจุบันใช้มาแล้วประมาณ 1,200 กิโลเมตร ค่าไฟอยู่ที่ 1.18 บาทต่อกิโลเมตร เปรียบเทียบกับค่าน้ำมัน 6.06 บาทต่อกิโลเมตร ประหยัดไป 1-2 เท่า โดยประมาณ ระยะทางหากรถไม่ติดสามารถวิ่งได้ประมาณ 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และหากวิ่งในเมืองแบบรถติดจะวิ่งได้ประมาณ 150 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง สำหรับการเดินทางต้องแพลนก่อนว่าจะเดินทางไปไหน ระยะทางเท่าไร เพราะเราจะไม่มีการจอดชาร์จรถนอกบ้าน แผนเราจะชาร์จที่บ้านเท่านั้น เพราะรถที่ดัดแปลงเป็นระบบไฟฟ้าเก่าไม่มี Fast Charge แบบ DC ใช้การชาร์จไฟบ้าน 220 VAC และกำลังต่ำเพียง 3 กิโลวัตต์ จึงใช้เวลาชาร์จเต็มที่ 10 ชั่วโมง แบตเตอรี่มีกำลังไฟ 34 กิโลวัตต์ชั่วโมง ตามเกณฑ์จะวิ่งทางโกลได้ 7 กิโลเมตรต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ 5 กิโลเมตรในเมือง โดยประมาณ สำหรับการชาร์จขั้นต่ำอยู่ที่ 10% รถจึงจะสามารถใช้งานได้ ถ้าต่ำกว่านั้นระบบจะ Shut Down ตัวเอง

ปัจจุบันจุดชาร์จยังน้อยอยู่ แต่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ ยังไม่กล้าเข้าไปใช้บริการ เพราะอยู่ในช่วงเก็บสถิติ จึงต้องกลับมาชาร์จที่บ้านและจดตัวเลขต่าง ๆ ไว้ เพราะหากไปชาร์จที่อื่นจะมีปัญหากับการเก็บสถิติ สักระยะหนึ่งหากใช้งานแล้วประมาณ 2,000 กิโลเมตร จะเลิกจดสถิติและเริ่มออกไปชาร์จตามจุดต่าง ๆ ที่มีให้บริการ

การบำรุงรักษา

รถไฟฟ้าที่ใช้มอเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ดีมาก อัตราเร่งดี ได้เปรียบตรงที่ไม่เปลี่ยนเกียร์ รถไฟฟ้าที่เราดัดแปลงแต่เดิมเป็นเกียร์อัตโนมัติมีปัญหาเพราะต้องไปปั๊มน้ำมันขึ้นมาหล่อลื่น แต่ตอนนี้ได้ถอดเครื่องยนต์ออกแล้ว และได้ยกเกียร์ออกไปด้วย ใส่เกียร์ Manual แทน และตรึงไว้ที่เกียร์ 3  ตัวมอเตอร์จะมีกำลังมากพอที่จะฉุดรถตั้งแต่ 0 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนกระทั่ง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ ถ้าขับเร็วกว่านั้นมอเตอร์จะหมุนไม่ไหว สำหรับเรื่องเบรกส่วนเป็นปกติ เพราะใช้ระบบเดิม มีเพิ่มเติมคือเมื่อแตะเบรกจะมี Regenerative คือ มอเตอร์ขับเคลื่อนจะเปลี่ยนเป็นปั่นไฟคืนมา

สำหรับค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาจากการดัดแปลง ในส่วนของเครื่องยนต์ยังไม่มีการบำรุงรักษา จะมีในส่วนของมอเตอร์ขับเคลื่อนเพราะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า เปรียบเหมือนพัดลมตามบ้านเรา ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงนำออกมาปัดฝุ่น ทำความสะอาด ส่วนตัวผมเองก็ไม่ใช่คนที่ใช้งานรถหนัก คิดว่าไม่ต้องบำรุงรักษาในระยะเวลา 4-5 ปีแรก แต่จะมีในส่วนของช่วงล่างที่เหมือนรถทั่วไป และตอนที่เราไปเปลี่ยนทะเบียนกับกรมการขนส่ง เราต้องจดทะเบียนรถใหม่เป็นรถที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นไฟฟ้า ช่างที่ดัดแปลงพยายามจะคงสภาพเดิมของรถให้มากที่สุด น้ำหนักต่าง ๆ จะไม่เปลี่ยนมาก

“สิ่งสำคัญคือ เมื่อดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้าแล้ว ไม่มีไอเสีย ไม่มีภาวะมลพิษ สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ เวลาจอดรถนาน ๆ ไม่ต้องดับเครื่อง สามารถเปิดแอร์ได้สบาย ไม่มีควันจากไอเสียรบกวนคนรอบข้าง”

City of the Future

ข้อคิดสำหรับคนที่คิดจะดัดแปลง “รถน้ำมัน” เป็น “รถ EV”

จากประสบการณ์ส่วนตัว ช่างและอู่ที่ใช้ไม่ได้ทำด้านนี้เป็นหลัก แต่เจ้าของอู่สนใจเรื่องเทคนิค ติดตามข่าวสารและดัดแปลงรถเก่าไว้ใช้เอง มีความตั้งใจและละเอียดรอบคอบมากในทุก ๆ ส่วน การดัดแปลงรถคันนี้จึงเหมือนเป็นงานทดลองหรืองานวิจัยมากกว่าจะเป็นงานการดัดแปลงทั่วไป ผลงานจึงออกมาเป็นที่พอใจมากแม้จะมีจุดบกพร่องอยู่บ้าง แต่อยู่ในระดับเทคโนโลยี และราคานี้ถือว่ายอมรับได้

หากมีกำลังซื้อมากพอ แนะนำให้ซื้อรถ EV รุ่นใหม่ที่มีอยู่ในท้องตลาด และสำหรับการจดทะเบียนจากรถน้ำมันให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้มีความยุ่งยาก ได้ไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก หลังจากเอกสารทุกอย่างเรียบร้อย (1) ต้องได้ใบวิศวกรรมเกี่ยวกับประสิทธิภาพว่ารถวิ่งได้เร็วไหม ต้องนำไปขึ้นสายพานดูว่ารถเราวิ่งได้เร็วเพียงไหน จะตั้งไว้ที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (2) ระบบเครื่องกล วิศวกรเครื่องกลก็จะมาตรวจดูว่าการจัดวางต่าง ๆ มีความแข็งแรงไหม (3) ระบบไฟฟ้า วิศวกรไฟฟ้าก็จะมาดูว่าระบบไฟว่าเป็นอย่างไร ใช้เอกสาร 3 อย่างนี้เป็นหลัก และมีเรื่องของมอเตอร์ เพราะเรามองว่ามอเตอร์ขับเคลื่อนเทียบเท่ากับมอเตอร์เครื่องยนต์รถยนต์ ถือว่าเป็นสินทรัพย์สำคัญที่จะต้องมีใบเสร็จแสดงยืนยัน เราจะนำไปให้กรมการขนส่งทางบก ใบวิศวกรราม 3 ใบนี้ใบละ 5,000 บาท รวม 15,000 บาท

นอกจากนี้ทาง ดร.ยรรยง ยังได้มีการกล่าวถึงเรื่องของ AI Cyber และกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ AI ครองโลกแทนมนุษย์จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

การที่ AI จะครองโลกคล้ายในภาพยนตร์ Terminator มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? ปัจจุบัน AI เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยทั้งผู้กระทำผิดและผู้ป้องกันเหตุร้าย ตัวอย่างเช่น การใช้ AI ในการแฮ็กข้อมูลหรือเจาะระบบ หน่วยงานด้านความปลอดภัยก็ใช้ AI เพื่อตรวจจับและป้องกันเช่นกัน ทำให้ AI ทุกวันนี้มีบทบาทคล้ายเครื่องมืออย่างปืนหรือมีด ที่มีทั้งคุณและโทษในตัวเอง อย่างไรก็ตาม AI ที่จะ “ครองโลก” ได้หมายถึง AI ระดับสูงหรือที่เรียกว่า AGI (Artificial General Intelligence) หรือ ASI (Artificial Super Intelligence) มีสติปัญญาเท่าเทียมกับมนุษย์หรือเหนือกว่า เชื่อว่า AI ระดับนี้อาจปรากฏขึ้นในอนาคต แต่จะกลายเป็นตัวร้ายที่ครองโลกหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ยากจะตอบ เพราะในชีวิตจริง AI มีการพัฒนาในหลายมิติ ทั้งในด้านสร้างสรรค์และการป้องกันภัย

ข้อดีของนิยายวิทยาศาสตร์

นิยายวิทยาศาสตร์ (ไซไฟ) มีประโยชน์เพราะเป็นการจินตนาการถึงเทคโนโลยี เช่น การเดินทางเร็วกว่าแสง หรือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้อ่านได้เห็นความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี รวมถึงผลกระทบต่อมนุษยชาติ นอกจากการผจญภัยของตัวละครที่มักเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีแล้ว นิยายไซไฟที่ดีมักพิจารณาประเด็นเชิงวิทยาการที่มีหลักการและความเป็นไปได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับมนุษย์ เช่น นิยายที่ว่าด้วยกล้องที่สามารถมองเห็นเหตุการณ์ในอดีตรัฐบาลพยายามปกปิด แต่ตัวเอกนำมาใช้เพื่อดูภาพของคนในอดีต นำไปสู่การที่มนุษย์หลงอยู่กับอดีตและปฏิสัมพันธ์ของเทคโนโลยีกับสังคม ผู้ที่อ่านนิยายวิทยาศาสตร์จึงมักเกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี และเข้าใจถึงผลกระทบที่เทคโนโลยีอาจมีต่อสังคมได้เป็นอย่างดี นิยายวิทยาศาสตร์จึงเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้าใจเทคโนโลยีและหลักการต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต

กฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีความรัดกุมในระดับหนึ่ง แต่ยังคงเผชิญปัญหาด้านการบังคับใช้ โดยเฉพาะในธุรกิจข้ามชาติที่มีอิทธิพลและมักหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในบางกรณี กฎหมายเหล่านี้ช่วยปกป้องผู้บริโภคและสังคมได้บางส่วน แต่ก็อาจทำให้การทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยมีขั้นตอนซับซ้อน เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีความพยายามที่จะปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการปกป้องผู้บริโภคกับการส่งเสริมธุรกิจ

ดร.ยรรยง ได้ฝากข้อคิดให้แก่นิสิตนักศึกษาควรพิจารณาเลือกเรียนในสาขาที่จะเป็นประโยชน์ต่ออนาคต เช่น สายวิศวกรรมศาสตร์หรือเทคโนโลยี เนื่องจากมีความต้องการในภาคอุตสาหกรรมสูง และเป็นสาขาที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ แม้จะไม่ใช่สาขาเด่นหรือเป็นที่นิยมเท่าเศรษฐศาสตร์หรือการจัดการ แต่การพัฒนาทักษะทางเทคนิคในวิศวกรรมสามารถเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงในระยะยาว


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save