ร่วมมือให้เป็น

ร่วมมือให้เป็น


จากเป็นให้เป็น สู่คิดให้เป็น ถึงสัมพันธ์ให้เป็น คราวนี้เรามาถึงมิติที่ 4 ของ IDGs Inner Development Goals ที่ว่าด้วยเรื่องของความร่วมมือ ที่เราต้องรู้ว่าการจะได้รับความร่วมมือนั้นจำเป็นต้องมีทักษะใดบ้างถึงจะทำให้เรา “ร่วมมือเป็น”

จากมิติก่อนหน้าที่เป็นทักษะเฉพาะตนนั้นจะก่อให้เกิดรูปธรรมได้เราต้องอาศัยอีก 5 ทักษะในมิตินี้ ที่จะแปรไปสู่การกระทำ นั่นคือ ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ที่เหมือนการทำการ์ดเชิญที่ชวนให้คนรับประทับใจและอยากมาร่วมงานกับเรา ซึ่งเมื่อเขามาถึงแล้วเราต้องมีทักษะการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Co Creation) ให้เขาสบายใจที่จะอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการอยู่ที่เจ้าของสถานที่มีความเข้าใจในความแตกต่างของพวกเขา (Inter Cultural & Inclusive Mindset) ที่แต่ละคนที่มาจากต่างเชื้อชาติ ศาสนาและพื้นเพ แต่ที่สำคัญคือไม่เพียงอยู่อย่างสบายใจแบบต่างคนต่างอยู่ แต่ต้องอยู่ด้วยความเชื่อใจซึ่งกันและกัน (Trust) และสุดท้ายทักษะที่จำเป็นมากคือ Mobilization Skill ที่จะขับเคลื่อนให้ทีมดำเนินงานไปตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้

อินทาเนียฉบับนี้เราจึงจะมาดู 5 ทักษะที่จะแปรวิสัยทัศน์ไปสู่การกระทำกันนี้กันครับ

Communication Skill

การสื่อสารเป็นหัวใจของการเชื่อมโยงระหว่างบุคคล ทุกความสัมพันธ์ที่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัว ครอบครัว หรือองค์กร ล้วนมีรากฐานจากการสื่อสารที่ดีและชัดเจน เมื่อเราสื่อสารอย่างเข้าใจและมีประสิทธิภาพ เราสามารถลดความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจ และขับเคลื่อนความร่วมมือได้ดียิ่งขึ้น การสื่อสารไม่ได้หมายถึงเพียงการพูดหรือเขียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการฟัง การจับสัญญาณทางอารมณ์ และการใช้ภาษากายที่ถูกต้องด้วย

วิธีการฝึก:

  1. ฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening):การฟังไม่ใช่เพียงการได้ยินเสียง แต่เป็นการตั้งใจฟังด้วยหัวใจ เข้าใจทั้งคำพูดและความรู้สึกที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำพูด การฟังอย่างลึกซึ้งช่วยให้เราจับสัญญาณและเจตนาของอีกฝ่ายได้ชัดเจน และลดความเข้าใจผิดในการสนทนา
  2. ฝึกการพูดที่ชัดเจนและมีวัตถุประสงค์:พูดในสิ่งที่ต้องการสื่อสารอย่างตรงประเด็น กระชับ และใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม การฝึกนี้ช่วยให้คำพูดของเรามีน้ำหนักและมีความน่าเชื่อถือ
  3. อวัจนภาษา (Non-Verbal Communication):ภาษากาย สีหน้า และน้ำเสียง ล้วนสะท้อนถึงความตั้งใจของเรา การฝึกสังเกตและควบคุมอวัจนภาษา จะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  4. ฝึกทักษะการเขียน:เขียนให้ชัดเจนและเป็นระบบ ฝึกวางโครงสร้างการเขียนเพื่อนำเสนอประเด็นอย่างมีลำดับ

Co-Creation

การสร้างสรรค์ร่วมกัน (Co-Creation) เป็นกระบวนการที่ทำให้กลุ่มคนซึ่งมีความแตกต่างในทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ รวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ใหญ่กว่าการกระทำของแต่ละคนซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาองค์กร ครอบครัว หรือชุมชนให้แข็งแรง เพราะมันไม่ใช่เพียงการรวมทรัพยากร แต่เป็นการรวมพลังใจ ความคิด และความมุ่งมั่นของคนที่หลากหลาย เพื่อสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่

วิธีการฝึก:

  1. เปิดใจกว้าง (Open-Mindedness):พยายามเข้าใจความคิดเห็นของผู้อื่นแม้ว่าจะแตกต่างจากของเรา ฝึกฟังโดยไม่ด่วนตัดสิน
  2. จัดกิจกรรมกลุ่ม:สร้างโอกาสในการทำงานร่วมกัน เช่น การแก้ไขปัญหาผ่านการระดมความคิดแบบไม่มีการตัดสินล่วงหน้า
  3. ยอมรับความล้มเหลว:การสร้างสรรค์ร่วมกันอาจไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรก ฝึกมองความล้มเหลวเป็นบทเรียน เพื่อกระตุ้นการพัฒนาร่วมกันต่อไป
  4. สร้างความไว้วางใจ (Trust Building):การทำงานร่วมกันต้องเริ่มจากความไว้วางใจ ฝึกแสดงความจริงใจและยอมรับในจุดอ่อนของตัวเองเพื่อสร้างบรรยากาศที่ทุกคนรู้สึกปลอดภัย

Intercultural Skill

ในโลกที่การเชื่อมโยงข้ามวัฒนธรรมเกิดขึ้นตลอดเวลา ทักษะการอยู่ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ การไม่เข้าใจหรือไม่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการสื่อสารผิดพลาด ทักษะนี้ไม่ได้หมายถึงเพียงความสามารถในการหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด แต่ยังช่วยให้เราพัฒนาแนวคิดที่กว้างขึ้น เรียนรู้วิธีการคิดและการตัดสินใจของคนที่มีมุมมองต่างกัน ซึ่งส่งเสริมให้เราเติบโตและปรับตัวได้ดีในทุกบริบท

วีธีการฝึก:

  1. เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ (Cultural Learning):อ่านหนังสือ ดูสารคดี หรือเข้าร่วมกิจกรรมของวัฒนธรรมอื่น เพื่อสร้างความคุ้นเคยและความเข้าใจ
  2. ฝึกตั้งคำถามด้วยความเคารพ:ถ้าเราไม่เข้าใจพฤติกรรมของใคร ให้ถามด้วยความสุภาพและเปิดใจ เรียนรู้ผ่านการพูดคุยอย่างมีมารยาท
  3. ลองประยุกต์ใช้:หลังเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ลองปรับวิธีการสื่อสารหรือการทำงานร่วมกับคนจากวัฒนธรรมนั้นเพื่อสร้างความกลมกลืน

Trust

ความเชื่อใจนั้นสำคัญมาก เป็นคุณสมบัติที่มีผลกระทบมหาศาลต่อชีวิตทั้งส่วนตัวและอาชีพของเรา เพราะเมื่อเราไว้วางใจซึ่งกันและกันจะเกิดสภาพแวดล้อมเชิงบวกที่จะทำให้รู้สึกปลอดภัยและได้รับความเคารพ ก่อเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น เกิดความสบายใจพร้อมที่จะเปิดใจในการทำงานร่วมกัน ส่งผลให้การทำงานเป็นทีมที่ดีขึ้น ได้ผลงานดีขึ้น นอกจากนี้ ความเชื่อใจยังส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพจิตของเรา เพราะเมื่อเราอยู่ท่ามกลางผู้คนที่เราไว้วางใจ เราจะรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลน้อยลง ช่วยให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

วิธีการฝึก:

  1. ซื่อสัตย์ หากเราต้องการให้ผู้อื่นไว้วางใจเรา เราก็ต้องจริงใจและโปร่งใสกับพวกเขา นี่หมายถึงการยอมรับความผิดพลาดและเปิดใจเกี่ยวกับความตั้งใจและการกระทำของเราเองด้วย
  2. ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา สิ่งนี้แสดงให้คนอื่นเห็นว่าพวกเขาสามารถพึ่งพาและไว้วางใจเราได้
  3. ฟังและสื่อสาร เมื่อเราตั้งใจจนได้ยินสิ่งที่เขาพูดจริง ๆ มันจะสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงและความเคารพ
  4. เคารพขอบเขตซึ่งกันและกัน เก็บพื้นที่ที่ควรเก็บไว้เป็นความลับ วิธีนี้ช่วยสร้างความไว้วางใจได้
  5. สม่ำเสมอคงเส้น คงวา จะทำให้ผู้อื่นมั่นใจว่าเขาสามารถพึ่งพาเราได้
  6. รับผิดชอบ หากเราทำผิดพลาดอะไรไปก็ให้รับผิดชอบต่อสิ่งนั้นและพร้อมจะทำงานเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง

Mobilization

ทักษะการขับเคลื่อนมีความสำคัญอย่างยิ่งหากเราต้องการทำสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว การงานหรือแม้แต่การเมือง เพราะมันทำให้การรวมตัวกันนั้นเกิดแรงบันดาลใจที่จะดำเนินการต่อไปได้ เป็นทักษะที่ทำให้ทีมงานที่แข็งแกร่งที่เราไปเชิญเขามาร่วมทีมถูกกระตุ้นด้วยการตระหนักรู้เกี่ยวกับเป้าหมาย พร้อมรู้วิธีการที่จะดำเนินการไปสู่เป้าหมายนั้นด้วยกำลังใจอันหึกเหิม เครื่องมือที่สำคัญก็คือ “การเล่าเรื่อง” หรือ Story Telling

วิธีการฝึก:

  1. มีความกระตือรือร้น เราต้องมีใจรักในงาน ซึ่งจะทำให้คนรอบข้างรับรู้ได้
  2. เป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังความคิดและข้อกังวลของพวกเขาและนำความคิดเห็นของพวกเขามารวมไว้ในแผนของทีม ให้พวกเขาเป็นวีรบุรุษ เราเป็นเพียงผู้บอกทาง
  3. สื่อสารอย่างชัดเจน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และเตรียมพร้อมที่จะตอบคำถามที่ผู้คนอาจมี
  4. เฉลิมฉลองความสำเร็จ เมื่องานสัมฤทธิ์ผลไม่ว่าจะในขั้นใด ให้รางวัลแก่ทีมงานตามที่เหมาะสม

สรุปแล้ว 5 ทักษะในมิตินี้ก็คือการสร้างทีมงานที่พร้อมจะขับเคลื่อน ดำเนินการให้วิสัยทัศน์ที่วางไว้เดินทางไปสู่ความสำเร็จ การร่วมมือจึงเป็นส่วนสำคัญในการทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นในโลก เป็นการนำผู้คนมารวมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของเรา


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2568 คอลัมน์ ข้อคิดจากนิสิตเก่า โดย ดร.วีรณัฐ โรจนประภา (ดร.ใหม่) วศ.28 ESG / SDGs Business Consultant


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save