อีกก้าวแห่งความสำเร็จของวงการหุ่นยนต์ฝีมือคนไทย จากนิสิตเก่านิสิตจุฬาฯ สู่ผู้ก่อตั้งบริษัท CT Asia Robotics เปิดตัวหุ่นยนต์ดินสอ รุ่นล่าสุด “Pro 4” ผู้ช่วยประจำตัวแพทย์และพยาบาล เพื่อการบริการโดยเฉพาะ พร้อมคัดกรองและประเมินความเร่งด่วนของคนไข้เบื้องต้น
อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าโรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริการ การเงิน ทรัพยากรคน และด้านอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้โรงพยาบาลรัฐบาลมีผู้ใช้บริการมากกว่าเอกชนหลายเท่า ปัจจัยจากค่าบริการที่ถูกกว่า ส่งผลให้ภาพจำของโรงพยาบาลรัฐในทุกเช้าเต็มไปด้วยจำนวนคนมหาศาลที่มารอต่อคิวเพื่อรับการรักษา บางคนต้องใช้เวลา 4-5 ชั่วโมงในการเข้ารับการรักษา หรือบางคนอาจจะต้องใช้เวลาทั้งวันเพื่อค่ายาและการบริการที่ถูกกว่า จนก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแพทย์และพยาบาลตามมาในที่สุด
ต่อเนื่องมาถึงปัญหาความวุ่นวายในโรงพยาบาลรัฐ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างพยาบาลกับคนไข้ และความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ จนนำไปสู่การทำงานล่าช้าของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ประกอบกับการผลิตแพทย์และพยาบาลที่ปัจจุบันมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในยุคของสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งการที่มีผู้สูงอายุมากเท่าไร โรคภัยไข้เจ็บก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น นี่จึงเป็น Pain Point ที่เราต้องพัฒนาหุ่นยนต์ดินสอรุ่นนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เบาบางลง
“ปัจจุบันหุ่นยนต์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่หลากหลายมากขึ้น การกำหนดภารกิจของหุ่นยนต์จึงช่วยให้หุ่นยนต์มีทักษะชำนาญเฉพาะด้านนั้นๆ อย่างตรงจุด และสามารถนำไปใช้งานได้อย่างเต็มกำลัง เช่นเดียวกับหุ่นยนต์ดินสอรุ่นนี้ ที่เกิดจากการความร่วมมือของวิศวกรกับแพทย์และพยาบาล รวมถึงความร่วมมือจากทีมซอฟแวร์ AI และกราฟฟิกดีไซน์ เพื่อเป้าหมายในการช่วยเหลือด้านการแพทย์โดยเฉพาะ ซึ่งเกิดจากฝีมือของคนไทยทั้งหมด” เฉลิมพล กล่าว
เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด กล่าวถึงความสามารถของหุ่นยนต์ดินสอเวอร์ชันนี้ว่า “หุ่นยนต์ดินสอรุ่น Pro 4” มีความสามารถในการเช็คสิทธิในการรักษา เช็คการนัดหมาย ซักอาการคนไข้ วัดความดัน การวัดไข้ วัดส่วนสูงและน้ำหนัก รวมถึงการทำบัตรใหม่สำหรับคนไข้ที่มาใช้สิทธิครั้งแรกในโรงพยาบาลนั้นๆ การตรวจทั้งหมดนี้หุ่นยนต์สามารถทำได้ ทำให้การรักษาเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้นจากเดิมถึง 50% นอกเหนือจากความรวดเร็วแล้ว อัตราการเกิดความผิดพลาดก็ยิ่งน้อยลงจนอาจไม่เกิดความผิดพลาดขึ้นอีกเลย ด้วยการมีระบบที่เชื่อมต่อกับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. และระบบเวชระเบียนของโรงพยาบาลโดยตรง ทำให้คนไข้สามารถเช็คข้อมูลด้วยตนเองได้ เพื่อให้แพทย์เห็นข้อมูลการเจ็บป่วยในห้องตรวจ โดยที่ไม่ต้องมีพยาบาลมาซักถามแบบเดิมอีกต่อไป แต่เพื่อให้คนไข้ใช้อย่างถูกต้อง เดิมทีเราได้ให้เจ้าหน้าที่พยาบาลมายืนควบคุมและดูแลการใช้งานจากหนึ่งคนต่อหนึ่งเครื่องมาเป็นหนึ่งคนต่อสามแถว จนปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เจ้าหน้าที่ในการดูแลหนึ่งคนต่อ 5 แถวแทน
“หุ่นยนต์ดินสอ Pro 4” ถือว่าเป็นหุ่นยนต์ที่มีความฉลาดในการถามและตอบในระดับที่ดี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนไข้เล่าว่าตนเองมีอาการปวดศรีษะ ตัวหุ่นยนต์จะถามเพื่อตอบกลับว่า “ปวดมานานหรือยัง?” และ “ปวดในลักษณะไหน” นานแล้วหรือเพิ่งปวด ซึ่งการตอบโตของหุ่นยนต์ทำให้ได้รับความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการมากขึ้น จนนำไปสู่ความร่วมมือในการมอบหุ่นยนต์ให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพฯ
“ความร่วมมือดังกล่าวเกิดจากมาตรการ BOI หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ให้การสนับสนุนบริษัทที่มีจิตกุศลอยากบริจาคให้กับโรงพยาบาลภาครัฐ ซึ่งหุ่นยนต์ดินสอก็เป็นหนึ่งในการสนับสนุนที่ได้รับการจัดซื้อเพื่อนำไปใช้บริการในโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลในเครือประมาณ 4-5 แห่งได้รับหุ่นยนต์ดินสอเวอร์ชันนี้ไปช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์และพยาบาลมากขึ้น อาทิ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาลเจริญกรุง โรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์”
เฉลิมพล ปุณโณทก กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตอนนี้เรามีหุ่นยนต์ดินสอรุ่น Pro 4 มากกว่า 100 ตัว โดยแบ่งเป็นตัวใหญ่และตัวเล็ก สำหรับหุ่นยนต์ดินสอตัวใหญ่ มีขนาด 120 เซนติเมตร ขณะที่ตัวเล็กมีขนาดเพียง 30 เซนติเมตร ซึ่งความสามารถเดิมของหุ่นยนต์ดินสอตัวเล็กคือการดูแลผู้สูงอายุ แต่เราได้นำมาปรับปรุงซอฟแวร์ให้เป็นเวอร์ชันสำหรับการดูแลผู้ป่วยใน เพื่อเฝ้าคนไข้ในวอร์ด รวมถึงมี Dashboard ให้ในพื้นที่ Nurse Station เพื่อให้การดูแลคนไข้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อการตอบสนองคนไข้ที่รวดเร็วมากขึ้น
คนไทยมีทักษะเรื่องเทคโนโลยีในการผลิตหุ่นยนต์ที่เก่ง แต่ยังขาดพื้นที่ในการแสดงความสามารถและขาดเวทีร่วมที่จะผนึกกำลังร่วมกันได้อย่างเต็มที่ หนึ่งในการผลักดันทักษะนี้ของคนไทยควรเริ่มจากการตื่นตัวของสถาบันการศึกษาและคนรุ่นใหม่ก่อนเป็นลำดับแรก ด้วยการสอนให้เด็กเริ่มจากการทำ Deep Technology ด้านใดด้านหนึ่งเพื่อให้จดจ่อเฉพาะด้าน เช่น ด้านการแพทย์ ด้านเกษตร และด้านอาหาร ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวที่ยกตัวอย่างมาล้วนมีความเกี่ยวข้องกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงคณะแพทยศาสตร์และเทคนิคการแพทย์ ซี่งคนรุ่นใหม่ที่เรียนคณะดังกล่าวแทบจะไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับเพื่อนต่างคณะมากนัก พอเราสร้างเด็กมาแบบนี้ทำให้ขาดการประสานงานต่อกันและกัน ส่งผลให้เด็กขาดการต่อยอดในการบูรณาการ ขาดการแลกเปลี่ยนหรือระดมสมองร่วมกันกับเพื่อนต่างคณะ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องร่วมกันสร้างกิจกรรมการบูรณาการอย่างจริงจัง เพื่อก่อให้เกิดเมล็ดพันธ์ใหม่ๆ ที่รวมกันเป็นทีมในการสร้างธุรกิจขึ้นมาได้
“ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจด้าน Deep Technology และ AI รวมถึงหุ่นยนต์ในประเทศไทย โดยเริ่มจากระดับการศึกษาในการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรม หรือการแข่งขัน การมอบรางวัล และการมอบทุน ผ่านการสนับสนุนจากกระทรวง อว. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อปลูกเมล็ดพันธ์ใหม่ๆ ให้งอกงามขึ้นมาและพร้อมต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศสู่การแข่งขันที่สมบูรณ์” เฉลิมพล กล่าวทิ้งท้าย