รุ่นวิศวฯ จุฬาฯ 2521 จัดขึ้น โดยเป้าหมายหลักคือไปเยี่ยมเยือนโรงงานเบทาโกร โดยเพื่อนร่วมรุ่น อาจารย์ ดร.วรัญ แต้ไพสิฐพงษ์ ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี
วันที่ 3 สิงหาคม 2567
ทริปนี้เริ่มออกเดินทางจากคณะวิศวฯ จุฬาฯ โดยรถบัส พวกเราไปเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นจุดแรก
สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมถึงการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาการเกิดน้ำท่วมในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักในฤดูน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน อันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
จนกระทั่งกรมชลประทานได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทำพิธีเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
ที่เขื่อนป่าสักฯ เราได้นั่งรถพ่วง (คนละ 30 บาท) วิ่งตามสันเขื่อน เป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ที่ปิดกั้นแม่น้ำป่าสักที่ไหลมาจากต้นน้ำที่เลยผ่านเพชรบูรณ์ลงมาที่ลพบุรี ก่อนที่จะปล่อยน้ำจากเขื่อนผ่านจังหวัดสระบุรีและไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดอยุธยา
ชมวิวอ่างเก็บน้ำที่ถือได้ว่าเป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จุน้ำได้ 960 ล้านลูกบาศก์เมตรรถพ่วงพาเราจากจุดเริ่มต้นจังหวัดลพบุรี ผ่านสันเขื่อนยาว 4,860 เมตรไปอีกฝั่งซึ่งขึ้นกับจังหวัดสระบุรี เราลงไปเพื่อไหว้พระพุทธรัตนมณีมหาบพิตรชลสิทธิ์มงคลชัย เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ สีขาว มีขนาดหน้าตักกว้าง 9 เมตร ความสูง 14 เมตร
จากเขื่อนป่าสัก เวลาเที่ยงเรารับประทานอาหารกลางวันกันที่ร้าน “ชาวเขื่อน” เป็นร้านอาหารที่อยู่ก่อนถึงเขื่อน รองรับพวกเราเกือบ 50 คนได้อย่างสบาย อาหารแนะนำ เช่น ต้นอ่อนทานตะวันผัดน้ำมันหอยปลาคังต้มยำ ทอดมันปลากราย กุ้งราดซอสมะขาม ขาดไม่ได้คือไข่เจียว
ช่วงบ่ายเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานเบทาโกร
โรงงานแรก บริษัท Pet Focus ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ชมกระบวนการผลิตต่างๆ โรงงานสะอาดสะอ้าน ไม่ต่างจากการผลิตอาหารของคนเลย เราจะสังเกตการณ์จากทางเดินด้านบน ไม่ได้ลงไปในไลน์ผลิต เพราะมาตรการการควบคุมความสะอาดนั่นเอง
โรงงานที่ 2 ชมโรงงาน Betagro Feed Mill LR3 (LR คือ Lopburi) ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปไก่ ปริมาณผลิตมหาศาลมาก โรงงานนี้มาตรการความสะอาดเข้มข้นเช่นเคย
สุดท้ายเราไปต่อที่โรงงานของบริษัท บี.ฟู้ดส์ โปรดักส์ ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปเนื้อไก่สดแช่แข็ง รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงต่างๆ เช่น ยากิโทริ ไก่ทอด ฯลฯ การเยี่ยมชมโรงงานนี้ เราได้ชิมอาหารจากผลิตภัณฑ์ของโรงงานด้วย อร่อย ๆ
เสร็จจากโรงงาน เราเดินทางไปเช็คอินที่โรงแรม O2 ในตัวเมืองลพบุรี ก่อนเดินทางไปร้านสวนอาหารบัวหลวง เพื่อรับประทานอาหารเย็นและสังสรรค์กัน เป็นแบบโต๊ะจีน ปริมาณมาก รสชาติโอเค ทาง ดร.วรัญ ยังจัดออร์เดิฟพิเศษจากผลิตภัณฑ์เบทาโกรมาเพิ่มให้อีก โอ้โห อิ่มจนพูดไม่ออก
ในช่วงอาหารค่ำ มีร้องเพลงคาราโอเกะกันอย่างสนุกสนาน พร้อมมีประกวดร้องเพลงเก็บตะวันกันเป็นที่สนุกสนาน และมีเซอร์ไพรซ์เล็กๆ เป่าเค้กวันเกิดสำหรับเพื่อนที่เกิดในเดือนสิงหาคมด้วย มื้อเย็นทั้งหมด ดร.วรัญใจดี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงพร้อมคาราโอเกะ
วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2567
หลังอาหารเช้า เราเข้าชมพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2209 เนื้อที่ 41 ไร่ 3 งาน แบ่งเป็น
- เขตพระราชฐานชั้นนอก นำชมระบบน้ำประปาที่แรกแห่งสยาม 12 ท้องพระคลังที่เก็บสมบัติ ตึกพระเจ้าเหา เป็นจุดที่พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ใช้วางแผนยึดอำนาจ โรงช้างหลวง
- เขตพระราชฐานชั้นกลาง
- พระที่นั่งจันทรพิศาล จัดแสดงประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์
- หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ บูรณะเสร็จ พ.ศ. 2408
- พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ใช้รับคณะราชทูต
สถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป ประดับกระจก (จากฝรั่งเศส) ทั้งหลัง
- เขตพระราชฐานชั้นใน
- พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นที่ประทับ ที่สวรรคตสมเด็จของพระนารายณ์ (11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231) ด้านหน้าเป็นอุทยาน ทรงปลูกต้นส้มและต้นมะนาว
เดินทางต่อไปที่บ้านหลวงรับราชทูต หรือบ้านวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน) สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2228 เป็นบ้านพักของคณะทูตชาวฝรั่งเศส ส่วนด้านตะวันตกเป็นบ้านพักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และท้าวทองกีบม้าภรรยา ส่วนกลางเป็นที่ตั้งของโบสถ์คริสต์ ที่สถาปัตยกรรมเป็นแบบเรอเนซองค์ผสมสถาปัตยกรรมไทยแห่งแรกของสยาม
การบรรยายรายละเอียดได้อาศัย “ไก๊ด์ไก่” และได้นายตำรวจ สายตรวจจักรยานท่านหนึ่ง คือ ผู้กอง ร.ต.อ.ธรรศกร ธรรศธรณิน สมญา “ตำรวจหน้าขาว” มาช่วยอธิบายข้อมูลเพิ่มเติมของพื้นที่นี้อย่างละเอียดพิสดารทั้ง 2 แห่ง สนุกมาก และได้ความรู้มากครับ
อาหารเที่ยงเราไปรับประทานกันที่ร้านที่ถือว่าเป็น “a must” ของลพบุรี คือร้านมัดหมี่ไทยพวนครับ เป็นร้านอาหารที่ชาวลพบุรี ผวจ. และ ททท. แนะนำ
อาหารที่แนะนำคือไข่เค็มผัดพริกขิง แกงคั่วเห็ดเผาะปลากราย แกงส้มพรวน ไก่รวนปลาร้าสมุนไพร ไข่เจียว และของหวานต้องข้าวเหนียวทุเรียน
สุดท้ายก่อนกลับกรุงเทพฯ เราแวะร้านกาแฟ “คาเฟ่ลำดวน” ร้านนี้อยู่ใกล้กับวัดสะตือ ซึ่งมีพระนอน สร้างโดยสมเด็จฯโต พรหมรังสี
ออกจากร้านกาแฟ ลาจากลพบุรีกลับสู่กรุงเทพฯ
ทริปนี้สนุกสนานเฮฮา ถ่ายรูปกันกระหน่ำ พบกันใหม่ทริปหน้าจ้า
ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์ เที่ยวกับอินทาเนีย (Journey & Yummy) โดย ไก๊ด์ไก่ วศ.2521