นิสิตหญิง

EPSON MFP image

นิสิตหญิง ไข่ในหินที่ต้องทะนุถนอม


บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่จะลืมไม่ได้คือ “ชนกลุ่มน้อย” ของชั้นปี นั่นคือ หญิงเหล็กทั้ง 8 ของพวกเรา

การเป็นน้องใหม่นิสิตหญิงจำนวนเท่าหยิบมือในคณะที่เกือบจะมีผู้ชายล้วนนั้น ทำให้นิสิตหญิงกลายเป็น “คนพิเศษ” โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ประคบประหงมจากรุ่นพี่ทั้งชายหญิง และจากเพื่อน ๆ ด้วยกันเป็นอย่างดี แตกต่างจากนิสิตชายที่มักจะโดนกดขี่ข่มเหงจากรุ่นพี่เสมอ ๆ หนำซ้ำยังได้รับการปลูกฝัง (หรือบังคับ) ให้ปฏิบัติต่อน้องใหม่หญิงเสมือนไข่ในหินที่บอบบาง ต้องได้รับการทะนุถนอม ปกป้องดูแล และต้องท่องจำ ชื่อน้องใหม่หญิงให้ได้ไม่งั้นโดนลงโทษ

และไม่ใช่เพียงการเอาใจใส่ดูแลเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เอาใจใส่ดูแลกันจนถึงประตูบ้านเลยทีเดียวโดยเฉพาะในช่วงที่มีกิจกรรมห้องเชียร์ที่ต้องซ้อมกันดึก ๆ ดื่น ๆ ทุกวัน พวกรุ่นพี่จะจัดเวรให้พวกผู้ชายไปส่งผู้หญิงจนถึงบ้านเพื่อความปลอดภัย

และไม่ใช่เพียงรุ่นพี่เท่านั้นที่เอาอกเอาใจพวกเธอ ทางคณะเองก็ให้สิทธิพิเศษ โดยจัดห้องพักไว้สำหรับนิสิตหญิงซึ่งเป็นเขตห้ามที่ไม่ให้ผู้ชายเข้า (ยกเว้นแต่จะมาส่งขนมนมเนยให้ทางหน้าต่าง)

แต่ถึงแม้นิสิตหญิงจะได้รับการเอาอกเอาใจจนดูน่าอิจฉา แต่ก็มีบางแง่มุมที่ค่อนข้างน่าเห็นใจ เพราะพวกเธอมักถูกคนนอกจับตามองตลอดว่า “สาววิศวะ” มีอะไรผิดแผกแตกต่างจากสาว ๆ คณะอื่น ๆ หรือเปล่า

ด้วยความที่แวดล้อมไปด้วยผู้ชายจำนวนมาก จึงทำให้สาววิศวะ แม้ภายนอกจะดูบอบบาง แต่ก็มีนิสัยใจคอเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งแบบผู้ชาย ๆ ไม่คิดมาก ไม่จู้จี้จุกจิกเหมือนผู้หญิงทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าพวกเธอจะกระด้างกระเดื่องไปเสียทั้งหมด มุมอ่อนโยน อ่อนหวานอย่างที่ผู้หญิงควรจะมี พวกเธอก็มีเหมือนกัน อย่างเช่น กิจกรรมในยามว่าง ใครจะคาดคิดว่านิสิตวิศวฯ สาวที่ดูกระโดกกระเดก ห้าวหาญ เหมือนผู้ชายใส่กระโปรง กิจกรรมยามว่างของเธอกลับเป็นการนั่งเย็บปักถักร้อย ถักโครเชต์ ซึ่งกิจกรรมนี้ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ จะทำในที่โล่งแจ้งให้คนทั่วไปเห็นไม่ได้ เสียลุคสาวห้าวหมด พวกเธอจึงมักไปแบ ๆ ทำในห้องพักนิสิตหญิงซึ่งลับหูลับตาผู้คน หรืออย่างการกรี๊ดกร๊าดรุ่นพี่ที่หน้าตาดี ก็เป็นอีกหนึ่งสีสันที่เติมความสดใสของวัยสาว เพราะพวกเธอจะมีรุ่นพี่ที่ตัวเองแอบปลื้มและคิดไปฝ่ายเดียว หรือที่สมัยนี้เรียกว่า “มโน” ว่าคนนี้เป็นของเรา คนอื่นห้ามแย่ง ซึ่งเวลารุ่นพี่คนที่ตัวเองชอบเดินผ่านมา หรือทำอะไรที่น่ากรี๊ด พวกเธอก็จะหันไปสะกิดเพื่อน ๆ และซุบซิบกรี๊ดกร๊าดกันเป็นที่สนุกสนาน

ถามว่า แล้วพี่เค้ารู้ตัวมั้ยว่าถูกพวกเธอจับจอง ก็ตอบเลยว่า “ไม่”

แต่ที่ดูน่าเห็นใจที่สุด คือ แม้พวกเธอจะได้รับความรักความเอ็นดูจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ ผู้ชายอย่างท่วมท้น แต่กลับไม่มีใครมองพวกเธอด้วยสายตาแบบเดียวกับที่มองสาวคณะอื่น โดยเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างสาวอักษรฯ จึงไม่แปลกเลยที่นิสิตหญิงส่วนใหญ่จะหาแฟนในคณะไม่ได้ แต่รุ่นเราดีหน่อยที่มีปิ๊งกันจริงจังจนถึงขั้นตัดสินใจร่วมหอลงโรงกันถึง 3 คู่

23 ตุลาคม ปิยมหาราชารำลึก

23 ตุลาคม ปิยมหาราชารำลึก

23 ตุลาคม หรือวัน “วันปิยมหาราช” เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของชาวจุฬาฯ พวกเราในฐานะน้องใหม่จะได้เข้าร่วมพิธีถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ทั้งในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้บำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงให้แก่แผ่นดินไทย และในฐานะผู้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา ในวันนั้นน้องใหม่ทุกคนจะต้องแต่งกายด้วยชุดนิสิตอย่างเป็นทางการ ผู้หญิงติดกระดุมคอเสือ กระโปรงสีกรมท่า สวมรองเท้าและถุงเท้าสีขาว ส่วนผู้ชายใส่ชุดขาวผูกเนกไทพร้อมแผงคอเสื้อที่มีสีของแต่ละคณะ ขบวนนิสิตจุฬาฯ ที่ไปถวายบังคมนั้นจะงามสง่าและยิ่งใหญ่มากจนเป็นที่สนใจของประชาชนและเป็นที่จับตาของสื่อต่าง ๆ

การแข่งขันกรีฑากลางแจ้ง

การแข่งขันกรีฑากลางแจ้ง

การแข่งขันกรีฑากลางแจ้งสมัยที่เป็นน้องใหม่ นอกจากการแข่งขันกีฬาแล้วยังมีการประกวดกองเชียร์ และประกวดเดินพาเหรด ซึ่งเราฝึกซ้อมกันแบบเอาเป็นเอาตายติดต่อกันหลายเดือน แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน การแข่งขันกีฬาในครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่มีการแปรขบวนเป็นรูป 3 มิติ โดยน้องใหม่ วศ.22 แปรขบวนเป็นรูปพระเกี้ยวตั้งขึ้นไปในอากาศ มีเกียร์ล้อมรอบ และมีเกียร์จมดินอยู่ครึ่งหนึ่ง ซึ่งด้วยความแปลกแหวกแนวและสร้างสรรค์จนกรรมการตามไม่ทัน ทำให้ปีนี้เป็นปีที่คณะวิศวฯ ไม่ได้ถ้วยเชียร์ จึงต้องมีการจับประธานเชียร์ทำโทษโดยการโยนลงบ่อน้ำตรงหอนาฬิกา แต่ประธานเชียร์ยอมเดินลงไปเองแต่โดยดีเลยไม่ได้ถูกโยน ส่วนน้องใหม่อย่างพวกเราก็ยืนล้อมบ่อน้ำบูมให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด และจากผลการแข่งขันในครั้งนี้ทำให้พวกเราหลายคนถึงกับต้องหลั่งน้ำตาของลูกผู้ชาย เพราะเราไม่ได้เผื่อใจไว้สำหรับความพ่ายแพ้เลย


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์เรื่องเล่าชาวอินทาเนีย คัดลอกจากหนังสือ 50 ปี วิศวจุฬาฯ 2511


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save