สนจ. ในยุคหญิงเก่ง และหญิงแกร่งแห่งจุฬาฯ


จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ 3 หญิงแกร่งร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อ สนจ….

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ได้เลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการ วาระปี 2564-2566 จากนั้นคณะกรรมการได้เลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ และผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนที่ 32 คือ อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นิสิตเก่าจากคณะวิศวกรรมศาสตร์…

สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่เป็นนายก สนจ.หญิงคนแรกในรอบ 75 ปีเลยทีเดียว…

ปัจจุบัน อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย วศ.23 หรือ “พี่จิ๊” ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอี และนอกจากนายกสมาคมฯ แล้ว ในคณะกรรมการชุดนี้ยังมีนิสิตเก่าหญิงจากคณะวิศวกรรมศาสตร์อีก 2 ท่านที่พร้อมใจมาร่วมทำงานเพื่อ สนจ. ของเรา คือ ดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม วศ.22 เลขาธิการสมาคมฯ หรือที่พวกเราเรียกันว่า “พี่ดวง” พี่ดวงเพิ่งพ้นจากตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ปตท.มาหมาด ๆ อีกคนคือ ปรียานุช ศุภสิทธิ์ วศ.23 “พี่หยก” รองเลขาธิการสมาคมฯ และเลขาธิการสมาคมวิศวกรหญิงไทย เรียกว่าแทคทีม 3 สาวแกร่งกันมาเลย

อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย
อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย

น่าสนใจแล้วใช่ไหมว่า… สนจ. ภายใต้การบริหารของนายกสมาคมหญิงคนแรกจะเป็นอย่างไร…

อัจฉรินทร์ “พี่จิ๊” กล่าวกับพวกเราอย่างภูมิใจว่า การได้รับเลือกเป็นนายก สนจ. รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่จะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาให้ สนจ. ก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างาม และเพื่อให้ “จุฬาฯ รับใช้ประชาชน” เป็นการน้อมสืบสานพระราชปณิธานแห่งพระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กอปรกับเป็นคนชอบทำกิจกรรมตั้งแต่ยังเป็นนิสิต และมีโอกาสมาร่วมทำงานกับ สนจ. ในบางช่วง ทำให้เชื่อมั่นว่าจะทำงานได้สำเร็จดังตั้งใจแน่นอน

เปิดกว้างให้นิสิตเก่าทุกรุ่นทุกวัยให้เข้ามาร่วมกิจกรรม ให้ สนจ.ได้เป็นศูนย์กลางของทุกคน

ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่เกิดโรคระบาดของโรคโควิด-19 จุฬาฯ ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพทั้งของนิสิตปัจจุบันและนิสิตเก่าในการนำความรู้ความสามารถมากมารับใช้ประชาชน จุฬาฯ เองได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความ Sustainable Impact อันดับต้น ๆ ของโลก อย่างที่ทราบกันดีว่าจุฬาฯ เรามีผลงานที่ได้เข้าไปช่วยเหลือสังคมมากมาย และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแบ่งเบาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในช่วงที่เกิด PM2.5 และในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19

มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นหลักที่ช่วยประเทศและสังคมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิทยาการและความรู้ทั่วไป ต้องผลิตนิสิตที่พร้อมทั้งความรู้รอบตัวและความรู้ทางด้านวิชาการ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักถึงเช่นกัน ดังนั้น สนจ. ต้องเป็นศูนย์กลางของนิสิตเก่าทุกคณะ ทุกวัย ไม่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องเปิดกว้างมากขึ้นให้นิสิตเก่าเข้ามาร่วมกิจกรรมให้มากขึ้น

ด้วยเป็นปลัดดีอี จะนำระบบ e-Office มาใช้เพื่อให้การบริหารจัดการ สนจ. ทันสมัยและทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล

ความตั้งใจแรกหลังจากรับตำแหน่งคือ การพัฒนารูปแบบการทำงานให้นำระบบ e-office มาใช้เพื่อลดขั้นตอนการทำงานให้รวดเร็ว ลดภาระของพนักงาน สะดวกกับทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งคิดว่าทำได้แน่นอนเพราะเจ้าหน้าที่มีศักยภาพอยู่แล้ว

ดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม และ ปรียานุช ศุภสิทธิ์ 
ดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม และ ปรียานุช ศุภสิทธิ์

“คู่ใจ” เรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงาน…

การทำงานนั้นทีมงานเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ จึงต้องเลือกผู้จะมาทำงานร่วมกันอย่างถี่ถ้วน หรือต้องมี “คู่ใจ” ที่มีความสามารถ และไว้ใจกันได้ ไม่อย่างงั้นเราทำงานไม่ได้จริง ๆ …

เมื่อถึงเวลาต้องเลือกคนทำงานร่วมกัน ก็นึกถึงรุ่นพี่กับเพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่ยังเป็นนิสิตที่คณะวิศวฯ คือ พี่ดวง กับหยก ที่จริงก็คิด ๆ ไว้แล้วว่าจะชวนใครมาทำงานด้วยกัน เพราะคนที่ทำงาน สนจ. ต้องเป็นคนที่มีความสามารถ เป็นคนกว้างขวางในความรู้ และด้านอื่น ๆ ก็ได้พี่ดวงกับหยกมาทำงานด้วยกัน

นอกจากนั้นก็ได้รับคำปรึกษาจากพี่ ๆ ที่ให้คำแนะนำว่า ตำแหน่งไหนควรเลือกใครเพื่อให้ตรงกับความสามารถที่จะเข้ามาช่วยเราพัฒนาและทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งที่ผ่านมาเพียงระยะสั้น ๆ ที่ได้ทำงานร่วมกันก็ต้องเรียนว่าคณะกรรมของ สนจ. ทุกท่านทำงานได้อย่างมีพลัง และมีประสิทธิภาพอย่างมาก เป็นการทำงานอย่างตรงไปตรงมา ละเอียดทุกระบบและขั้นตอน ทำให้มั่นใจได้ว่าการทำงานจากนี้ไปจะต้องประสบความสำเร็จแน่นอน

สนจ. ชุดใหม่

“พี่ดวงกับหยก”…2 หญิงแกร่ง “คู่ใจ” ที่พร้อมทำงานเพื่อความก้าวหน้าของ สนจ.

ดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม วศ.22 “พี่ดวง” เลขาฯ สนจ. กล่าวเสริมว่า พวกเราสนิทกันทั้งแต่ยังเป็นนิสิต เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน ซึ่งในสมัยนั้นนิสิตหญิงทุกรุ่นจะสนิทสนมกันอย่างมาก เพราะมีกิจกรรมทำร่วมกันมาตลอด พอเริ่มทำงานก็อาจจะห่าง ๆ กันไปบ้างตามภาระหน้าที่ แต่ก็มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมนอกงานกันบ้างในบางครั้ง

ในจังหวะเดียวกับที่ได้ตัดสินใจเกษียณจากการทำงานประจำ ก็ได้รับการติดต่อจากจิ๊ให้มาทำงานด้วยกันที่ สนจ. ตอบรับอย่างไม่ลังเล เพราะเราเป็นพี่น้องวิศวฯ รักกันและช่วยเหลือกันในทุกเรื่องอยู่แล้ว ด้วยตัวเราเองก็มีแนวทางการทำงานคล้ายกันกับจิ๊อยู่แล้ว เช่น ในเรื่องการปรับการทำงานใน สนจ. ให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำระบบดิจิตอลเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งต้องมีกระบวนการทำงานที่รวดเร็วและโปร่งใส ซึ่งเป็นสิ่งที่ทาง สนจ. ให้ความสำคัญเสมอมา

ความตั้งใจและเป้าหมายนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เรียกได้ว่าโชคดีที่เรามีความตั้งใจและเป้าหมายเดียวกันที่อยากจะพัฒนา เพราะฉะนั้นก็ไม่ยากเลยที่จะตอบรับเป็นเลขาธิการในครั้งนี้…

แนวทางที่จะทำต่อไปคือ จะทำงานร่วมกับคณะกรรมการ สนจ. ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ สนจ. ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเพิ่มเสริมโครงการ หรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับทิศทาง สนจ. เชื่อมโยงกับนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน คณะต่าง ๆ และทางมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะรวบรวมความรู้ ความสามารถของพวกเราชาวจุฬาฯ มาร่วมกันทำประโยชน์อย่างมี impact ให้สังคมจุฬาฯ และสังคมโดยรวม

ส่วน ปรียานุช ศุภสิทธิ์ วศ.23 รองเลขาฯ กล่าวว่า เมื่อครั้งที่ได้รับการติดต่อก็คิดอยู่ระยะหนึ่งแต่เมื่อได้รับการยืนยันว่างานที่จะต้องทำในตำแหน่งรองเลขาฯ เหมาะสมกับเรา ก็ยินดีรับแล้วยังได้ทำงานร่วมกับรุ่นพี่และเพื่อนที่รู้จักกันมาตั้งแต่ยังเป็นนิสิตด้วย ก็คิดว่าน่าจะทำงานสนุก

งานแรกของคณะกรรมการชุดให้คือ งาน “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2564 จุฬาฯ รับใช้ประชาชน” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม นี้ ซึ่งได้เริ่มทำงานร่วมกันมาประมาณ 1 เดือน จากที่ทำงานร่วมกัน ทราบได้เลยว่ากรรมการทุกคนมีความทรงคุณค่ามาก ทำงานรอบครอบ ไม่มีล่าช้า ขอชื่นชมมาก ๆ เพราะว่าเราเป็นทีมที่เข้ามาใหม่ แต่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา และที่สำคัญทุกคนมีความ Active ในการทำงานมาก ๆ

สนจ. ภาพรวม

เมื่อบุคลากรสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ย่อมเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ

อัจฉรินทร์ กล่าวว่า การจัดหาบุคลากรนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงานร่วมกันเป็นอย่างมาก จุฬาฯ เราต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ชัดเจน การจัดการบุคลากรจึงเป็น Keyword สำคัญ เมื่อบุคลากรพร้อม การทำงานนั้นก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มศักยภาพ และผลงานต่าง ๆ ก็จะออกมาสู่ประชาชน และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

ต้องบอกว่าการจัดทีมนั้นใช้เวลานานพอสมควร เพราะต้องคำนึงถึงเป้าหมายสำคัญเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด และต้องบรรลุเป้าหมายในการทำงาน ทำให้ สนจ. เป็นศูนย์กลางของจุฬาฯ ทุกรุ่นทุกวัย ให้ทุกคนเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และสิ่งที่ตนเองสนใจกันอย่างวงกว้าง ไม่จำใช่ทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนั้น เป้าหมายหนึ่งที่จะต้องผลักดันให้สำเร็จคือ การนำเอาดิจิตอลเข้ามาผสมผสานกับรูปแบบการทำงานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน เพิ่มความมีประสิทธิภาพ และพัฒนาศักยภาพของคนทำงานให้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้น การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของทีมงานสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ ทั้งในมิติของความรู้ ทักษะ และทัศนคติ หากสมาชิกในทีมมีทักษะเฉพาะที่ทำให้งานเสร็จลุล่วงได้ดีก็ช่วยแนะนำเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนล้วนมีความสำคัญภายใต้บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของตนเอง ความเท่าเทียมอย่างให้เกียรติจึงเป็นการทำหน้าที่ของแต่ละบุคคลให้ดีที่สุด โดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน ส่งผลให้สมาชิกในทีมต่างตระหนักในความสำคัญของกันและกัน

สุดท้าย นายกสมาคมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา เผื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายโดยเร็ว เราชาวจุฬาฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาช่วยเหลือประชาชนให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย เช่น หุ่นยนต์ CU Robocovid รวมทั้งการจัดกิจกรรมใหม่ เช่น ข้าวแสนกล่อง กล่องรอดตาย ซึ่ง สนจ. ได้เข้าไปมีส่วนสนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้นอย่างเต็มรูปแบบ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี 2 ปี ข้างหน้าหลังจากนี้ ทิศทางการดำเนินงานของ สนจ.จะมุ่งสร้างสรรค์และดำเนินกิจกรรมดี ๆ เพื่อรับใช้ประชาชนแบบ 4D ร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโลกยุคใหม่

สำหรับที่มาของ 4D นั้น ประกอบด้วย D1 : Diversity ไม่ว่าจะเป็นชาวจุฬาฯ รุ่นไหน Generation อะไร อยู่ที่ไหน ในประเทศไทย หรือมุมไหนของโลก จะได้มาร่วม แรงร่วมใจกันทำความดีเพื่อสังคม D2 : SDGs ย่อมาจาก Sustainable Development Goals มี 17 เป้าหมาย วันนี้พวกเราชาวจุฬาฯ จะร่วมกันดูแลทั้ง 17 เป้าหมายนี้ด้วยความถนัด ความเชี่ยวชาญที่แต่ละคนมีอย่างมีคุณภาพ ผ่านนวัตกรรมจุฬาฯ D3 : Digital Platform เชื่อมโยงทุกคนเข้าหากันผ่าน Digital Platform หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น 1.แอปพลิเคชัน CHAM mobile application 2. www.dek.chula.ac.th ชวนคนจุฬาฯ กลับมา ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมยังบ้านจุฬาฯ 3. คือ Instagram 4. Clubhouse และ 5. Tiktok และ D4 : DSR สร้างกิจกรรม Digital Social Responsibility

มาดูกันว่า สนจ. จะเปลี่ยนไปอย่างไรภายใต้นายกหญิง เลขาธิการหญิง และรองเลขาธิการหญิงของพวกเราชาวปราสาทแดง…

และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับ สนจ. ชุดใหม่นี้คือ นอกจากหญิงแกร่งวิศวฯ แล้ว อินทาเนียยังแอบไปเห็นหญิงแกร่งจากคณะอื่น ๆ อีกหลายท่าน อาทิ ดร.ลักขณา ลีลายุทธโยธิน จากคณะวิทยาศาสตร์ อดีตนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และกรรมการอิสระ SCB ศ. ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ จากคณะนิเทศศาสตร์ รองอธิการบดี อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มือต้น ๆ ในวงการสื่อสารมวลชน รัตนาวลี โลหารชุน จากคณะครุศาสตร์ อดีตเลขาธิการ สนจ. นายกสมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาฯ เพียงพนอ บุญกล่ำ จากคณะนิติศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย ปตท. วรรณพร พรประภา จากคณะสถาปัตยศาสตร์ กระบี่มือหนึ่ง ภูมิสถาปัตย์ไทย และภิมลภา สันติโชค จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กรรมการผู้จัดการ ดอยซ์ แบงค์ ประเทศไทย

พูดได้ว่า สนจ. ยุคนี้ เป็นแหล่งชุมนุมหญิงเก่ง หญิงแกร่งของจุฬา อย่างแท้จริง… น่าติดตามบทบาทของหญิงเก่งแห่งจุฬาฯ ว่าจะขับเคลื่อน สนจ.ไปได้ตามที่นิสิตเก่าหวังหรือไม่…

งานแรกของคณะกรรมการชุดนี้คืองาน “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2564” ภายใต้คอนเซปต์ “จุฬา ฯ รับใช้ประชาชนเป็นการรวมพลังชาวจุฬาฯ ทั่วโลก ชวนกันมาทำดีผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อหารายได้สมทบทุนจุฬาสงเคราะห์ ทุนอาหารกลางวันและสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ให้แก่น้องนิสิตจุฬาฯ นับเป็นการส่งต่อโอกาสที่ดีจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาที่มีความประสงค์ร่วมบริจาคเงินผ่านออนไลน์ในแคมเปญ “Less is More” เริ่มต้นที่ 500 บาท เพื่อเป็นการระดมทุนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ขอเรียนเชิญพี่น้องชาวจุฬาฯ ทั้งนิสิตเก่าจุฬาฯ ทั่วโลก และผู้มีจิตศรัทธามาร่วมกันส่งต่อโอกาสดี ๆ ให้กับรุ่นน้อง โดยสามารถบริจาคสมทบทุนในงาน “ปิยมหาราชานุสรณ์  2564” เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการให้ โดยบริจาคสมทบทุน 500 บาท หรือตามจำนวนที่ศรัทธาได้ที่ https://cuaa.chula.ac.th/membership/deposit

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save