เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ลิซ ตัลโบต์-บาร์เร่ ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมและความร่วมมือ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีฉลองครบหนึ่งทศวรรษแห่งความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี และ ECAM LaSalle โรงเรียนวิศวกรรมฯ ชั้นแนวหน้าของประเทศฝรั่งเศส นำโดย ดิดิเย่ เดส์ปล็องช์ อธิการบดี ซึ่งจัดขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้การต้อนรับแขกผู้มีเกียรติจากภาควิชาการ ภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนผู้แทนจากบริษัทอุตสาหกรรมฝรั่งเศส นำโดย ปาทริซ พิสเชดด้า ประธานหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย
นับตั้งแต่ได้เริ่มความร่วมมือขึ้นใน พ.ศ. 2557 ความร่วมมือระหว่างสถาบันอันทรงเกียรติทั้งสองนี้เป็นรากฐานสำคัญของความเป็นเลิศทางวิชาการและความร่วมมือระหว่างประเทศในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความร่วมมือครั้งนี้ได้บรรลุความสำเร็จในโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาข้ามวัฒนธรรม และโครงการริเริ่มด้านการศึกษาเชิงนวัตกรรมที่เสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาการสำหรับนักศึกษาและคณาจารย์
ความสำเร็จที่สำคัญของความร่วมมือ ได้แก่ โครงการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาและการฝึกงาน: โครงการนี้ได้มอบประสบการณ์ระดับนานาชาติอันล้ำค่าให้กับนิสิตนักศึกษา เตรียมความพร้อมด้วยมุมมองระดับโลกและเพิ่มโอกาสในการเป็นมืออาชีพ มีนักศึกษาจาก ECAM LaSalle France มากกว่า 50 คนได้มาเรียนที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และนิสิตไทยเกือบ 20 คนได้เดินทางไปเรียนที่ ECAM LaSalle เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส
นอกจากนี้ การแบ่งปันเทคนิคการสอนและความเชี่ยวชาญเชิงปฏิบัติร่วมกันระหว่างคณาจารย์จากทั้งสองสถาบันซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความรู้และวิธีการสอนอย่างมีประสิทธิผล ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และขับเคลื่อนและผลักดันทักษะด้านวิศวกรรมไปข้างหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
ความร่วมมือดังกล่าวไม่เพียงจะเน้นแต่ด้านความรู้ทางวิชาการชั้นสูงเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความเข้าใจทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศสอีกด้วย ทำให้ได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่าง ๆ ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยวางรากฐานสาหรับการทางานร่วมกันในอนาคตที่ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในด้านวิศวกรรมทั่วโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นการเดินทางอันน่าทึ่งของนวัตกรรมและการเติบโตร่วมกัน ความร่วมมือของเรากับ ECAM LaSalle ได้สร้างมาตรฐานระดับสูงสำหรับความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติ และเรารู้สึกตื่นเต้นที่จะสานต่อการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งนี้ต่อไป จากนี้ เราจะมุ่งเน้นไปที่การทำงานกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ความร่วมมือเหล่านี้สร้างโอกาสที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนจะไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้นิสิตและนักวิจัยได้ทางานในโครงการที่สร้างผลกระทบในโลกแห่งความเป็นจริง”
ดิดิเย่ เดส์ปล็องช์ Didier Desplanche อธิการบดี ECAM LaSalle กล่าวเสริมว่า “ความร่วมมือตลอดระยะเวลา 10 ปีของเรากับวิศวฯ จุฬาฯ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังของความร่วมมือระดับโลกในด้านการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ เราหวังว่าจะได้สานต่อความพยายามร่วมกันของเราและสำรวจโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการวิจัยและการพัฒนานักศึกษา ECAM LaSalle เราเน้นการเรียนร่วมกับการทำงานกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นักศึกษาของเราได้เรียนรู้จากการทำงานจริงกับอุตสาหกรรมชั้นนำ นอกจากนี้เรายังมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้สร้างนวัตกรรมและบริหารจัดการ ตัวอย่างความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นต่อไป ได้แก่ การร่วมสร้างสตาร์ตอัป โครงการนวัตกรรมร่วม การให้คำปรึกษาและการแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรม ฯลฯ”
ปาทริซ พิสเชดด้า ประธานหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย กล่าวว่า “ในฐานะหอการค้าฝรั่งเศสในประเทศไทย บทบาทของเราคือการส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรและสถาบันต่าง ๆ ของไทย เพื่อให้สมาชิกของเรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเด็นสำคัญประการหนึ่งคือการสรรหาและฝึกอบรมพนักงานที่ดี โดยเฉพาะวิศวกรที่มีคุณภาพสูง ดังนั้นเราจึงส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นอย่างใกล้ชิดกับสถาบันการศึกษา เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้ทางานอย่างมีทักษะและความสามารถในโลกแห่งความเป็นจริง”
ก้าวต่อไปคือการเสริมสร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมไทยและฝรั่งเศสทั้งในประเทศไทยและฝรั่งเศส ความร่วมมือเหล่านี้จะมุ่งเน้นไปที่การวิจัย นวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการรับมือกับความท้าทายทางสังคมและอุตสาหกรรม ความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม การฝึกงานและการพัฒนาบุคลากร การให้คาปรึกษาและการแก้ปัญหา ห้องปฏิบัติการร่วมและศูนย์การวิจัย