เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาทางกองบรรณาธิการได้มีโอกาสเข้าร่วมพูดคุยกับ คุณโยธิน ธาราหิรัญโชติ วศ.19 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท บีเอสวาย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
คุณโยธิน ได้เล่าถึงความภาคภูมิใจที่ได้ตัดสินใจมอบของสะสมอันทรงคุณค่าให้กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เพราะอยากให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นสิ่งที่ทรงคุณค่าของคนไทยในสมัยก่อน มีความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ และเชื่อว่าความภาคภูมิใจนี้จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศต่อไป
ในงานศิลปะมีพลังซ่อนอยู่ จุดเริ่มต้นที่ทำให้หลงใหลในงานศิลปะโบราณของเขมร
ในทุก ๆ ผลงานของศิลปะมีพลังซ่อนอยู่ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมตัดสินใจสะสมเครื่องถ้วยเขมร และส่วนตัวผมเป็นคนชอบชื่นในงานศิลปะโบราณของเขมรอยู่แล้ว จุดเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2528 ได้มีโอกาสไปเดินตลาดของเก่าที่วัดมหาธาตุ และได้ไปเจอ “กระปุกรูปนกสีน้ำตาล” เป็นงานเก่าที่ขุดได้จาก บ้านหนองแจง อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ผมเห็นรูปแบบดูแปลกตาจึงตัดสินใจซื้อมาลองศึกษาดูในราคา 300 บาท จากการศึกษาเขาเรียกกันว่า “เครื่องถ้วยเขมร” ซึ่งตรงกับความชอบโดยส่วนตัวของผมอยู่แล้ว
“ที่ บ้านหนองแจง ตอนนั้นขุดเจอพวกสัมฤทธิ์เยอะมาก จากนั้นผมก็สนใจศึกษาพวกของเก่า และเครื่องกระเบื้อง จนเข้ามาอยู่ในสายเลือด เพราะนอกจากเจอที่นี่แล้วยังเจอเครื่องกระเบื้องไทยที่ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก อีกแห่งหนึ่ง แต่เป็นงานของทางศรีสัชนาลัย และก็มีเตาทางเหนือที่เขาเรียกกันว่า เตาเวียงกาหลง ซึ่งเป็นของคุณภาพที่ไม่เคยเจอมาก่อน ตอนนั้นมีหนังสือออกมาหลายเล่มผมก็ซื้ออ่าน แต่ปัญหาคือเครื่องถ้วยของเขมรที่ผมชื่นชอบนั้นราคาค่อนข้างสูงเพราะหาเจอน้อย ส่วนเครื่องกระเบื้องเขมรที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะจะเรียกว่า “กระปุกคน” จะเป็นกระปุกรูปหน้าคน ปีหนึ่งจะขุดเจอเพียงแค่ 1 หรือ 2 ครั้งเท่านั้น ขุดเจอครั้งหนึ่งก็เป็นที่ฮือฮากันอย่างมาก ส่วนราคาเงินเดือนผมทั้งปีก็ซื้อไม่ได้ เพราะตอนนั้นก็ยังเป็นวิศวกรอยู่กับรุ่นพี่แต่ก็สนใจและศึกษามาโดยตลอด”
จนกระทั่ง พ.ศ. 2534 ผมได้ก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างก็ทำให้มีเงินมากขึ้น แต่ปรากฏว่าของก็เริ่มไม่ค่อยมีแล้ว คนอื่น ๆ ก็ซื้อกันไปหมด ซึ่งเราก็ตามข่าวอยู่ตลอดเพราะเราก็อยากรู้ “ด้วยความที่เราเข้ามาในวงการมาแล้วก็เหมือนการทำธุรกิจก่อสร้าง เราก็อยากเป็นที่ 1 ในวงการเหมือนกับการดำเนินธุรกิจ”
จุดเปลี่ยน..ที่ทำให้ได้เครื่องถ้วยเขมรคอลเลกชันที่ดีที่สุดในโลกมาครอบครอง
จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นจุดพลิกผัน ตัวผมเองมีทั้งองค์ความรู้มากพอจนสามารถแยกได้ว่าชิ้นไหนเป็นของแท้ ชิ้นไหนเป็นของปลอม และบอกได้ว่ามีคุณค่าหรือมีความสำคัญแค่ไหน ที่สำคัญคนที่สะสมของเก่าพวกนี้เริ่มหายไปจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้น และการค้าของเก่าในธุรกิจเมืองไทยก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ปกติของเก่าที่เจอในเมืองไทยส่วนใหญ่จะเข้าไปอยู่ในเทรดเดอร์รายใหญ่ ซึ่งจะขายให้กับคอลเลคเตอร์รายใหญ่ที่มีอยู่ในลิสต์รายชื่อเท่านั้น และช่วงนั้นเริ่มมีของจากในเขมรออกมา แล้วเมืองพระนครเป็นศูนย์กลางอำนาจ ของที่ขุดเจอนั้นต้องพิเศษมากกว่าของในเมืองบริวารแถวนี้อย่างแน่นอน ของที่มาจากทางเขมรในช่วงนั้นก็ขุดโดยกองโจร ซึ่งจะถูกส่งมาที่ชายแดน พ่อค้าตามชายแดนก็จะนำเข้ามาขายที่สวนจตุจักร พวกนักสะสมรายใหญ่ก็จะไปแย่งกันซื้อกับผม
หลังจากนั้นพอระบบการซื้อขายของเก่าในเมืองไทยเริ่มเปลี่ยนไป ผมจึงเริ่มสร้างเครือข่ายขึ้นมา เลือกพ่อค้าชายแดน ที่กล้าได้กล้าเสีย ซื่อสัตย์ นิสัยดี และพัฒนาองค์ความรู้ได้ สัก 2-3 คน ให้เงินทุนไว้ และรอลมตะวันออกพัดมา ซึ่งลมตะวันออกก็พัดมาจริง ๆ อย่างที่ผมคาดการณ์ไว้
ประมาณ พ.ศ. 2542 เราก็เริ่มเจอสัญญาณของชิ้นที่มีมูลค่าแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน เป็นผลงานการผลิตจากเตา บ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าเตาลักษณะนี้จะมีที่เขมรด้วยหรือป่าว แต่ผมคาดว่ามีเพราะเป็นเมืองพระนครน่าจะมีเตาหลวงอยู่ที่นั่น แต่เตาที่ บ้านกรวด เป็นเตาของชาวบ้าน และผมก็บอกเครือข่ายไว้เลยว่า ให้เลือกจากคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ และตั้งใจไว้ว่าถ้าของออกมาจากเขมรผมจะต้องได้เห็นทุกชิ้น หรือถ้าไม่เห็นผมต้องได้ข่าว ถ้าหลุดไปแล้วใครเป็นคนได้ นี่คือเหตุผลที่ผมไม่เก่งเรื่องการตีกอล์ฟเลย เพราะตั้งใจศึกษาแต่เรื่องของเก่า เช้าวันเสาร์ผมต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 ไปดูของที่จตุจักรทุกอาทิตย์ ตลอดระยะเวลา 7 ปี ช่วงนั้นผมก็ไม่เคยให้สัมภาษณ์กับที่ไหนเลยว่าผมกำลังสะสมของโบราณอันทรงคุณค่านี้ เพราะไม่ใช่ผมคนเดียวที่สะสม คนอื่น ๆ ก็สะสมเหมือนกัน และถ้าของหลุดไปอยู่ในเทรดเดอร์รายใหญ่ก็จะลำบาก ไปซื้อยากมาก นี่คือจุดเปลี่ยนที่ผมได้มีโอกาสได้สะสมคอลเลกชันเครื่องถ้วยที่ดีที่สุดในโลกชุดนี้
ความงามทำให้เกิดศรัทธา จนอยากหาความหมาย
ต่อมา พ.ศ. 2548 ผมก็เริ่มมั่นใจแล้วว่าของที่ขุดได้นั้นหมดแน่ ๆ ช่วงแรก ๆ เจออาทิตย์ละชิ้น ต่อมาเดือนละชิ้น และปีละ 2-3 ชิ้น ของพวกนี้ชิ้นหนึ่งไม่ได้หาง่าย บางครั้งต้องเลือกจากของเป็นหลักร้อยชิ้น พอมั่นใจว่าของหมดแล้วเลยคิดว่าอยากทำหนังสือเพราะในมือผมก็มีของที่ดีมาก ๆ แล้ว เลยยากเผยแพร่ออกไปให้ทุกคนได้เห็น และมั่นใจว่าทุกคนจะต้องตื่นเต้นอย่างแน่นอน
ซึ่งได้มืออาชีพในสาขาต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงทั้งในไทยและต่างชาติช่วยกันทำหนังสือ ซึ่งผมตั้งชื่อไว้ตั้งแต่แรกว่า “KHMER CERAMICS BEAUTY AND MEANING” เพราะเชื่อว่าความงามเป็นสากล และความงามทำให้เกิดศรัทธาแบบที่ผมเกิดศรัทธาในงานศิลปะของเขมร พอเกิดศรัทธาก็ทำให้อยากตามหาความหมาย เลยติดต่อช่างภาพที่มีความสามารถระดับโลกอย่าง Robert McLeod ให้มาช่วยถ่ายทอดความสวยงามจากภาพถ่ายให้ ซึ่งเป็นหัวหน้าช่างภาพตอนในหลวง ร.9 พระชนม์มายุครบ 80 พรรษา ซึ่งส่วนตัวสนิทกับผมอยู่แล้วเพราะชอบของเก่าเหมือนกัน และให้ทุน ดร.ปริวรรต ธรรมาปรีชากร ทำวิจัยและถ่ายทอดลงในหนังสือเล่มนี้ และได้ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤษฎา พิณศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เป็นผู้ตีความหมายลงในหนังสือเล่มนี้ และ Dawn F. Rooney มือ 1 เรื่องถ้วยเขมรระดับโลกเป็นคนรวบรวมข้อมูลลงในหนังสือ รวมทั้งได้สำนักพิมพ์ ริเวอร์บุ๊คส์ สำนักพิมพ์ที่ดีที่สุดใน พ.ศ. 2552 ของหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ เป็นผู้พิมพ์หนังสือให้
หลังจากที่ทำหนังสือเสร็จใน พ.ศ. 2553 ก็เป็นที่ฮือฮากันอย่างมาก เพราะเป็นหนังสือที่ช่วยเปิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ เรื่องเครื่องถ้วยเขมร และยังได้การยอมรับว่า เป็นคอลเลกชันเครื่องถ้วยที่ดีที่สุดในโลก ผมก็รู้สึกดีใจและมีความสุขมากเพราะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และศรัทธามาตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ
จุดเปลี่ยนใน พ.ศ. 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ด้วยความที่ห่วงเครื่องถ้วยจะเสียหายเลยทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่าหากวันหนึ่งที่เราไม่อยู่ของที่เราใช้ความพยายาม และกำลังทรัพย์สะสมมาตลอดระยะเวลา 20 ปี จะกระจัดกระจายไปอยู่ที่ไหน เลยมีความคิดขึ้นมาว่าเราควรจะยกให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ แต่ก็มีคนแย้งว่าหากเรายกให้ทางพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์อาจดูแลไม่ดี เลยคิดที่จะขายโดยตั้งราคาไว้ที่ 150-300 ล้านบาท
จนเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วผมได้ข้อมูลใหม่ว่าเครื่องถ้วยทั้งหมดที่ได้สะสมมาและตั้งราคาไว้ว่าจะขายที่ 150-300 ล้านบาท นั้น จริง ๆ แล้วได้ผลิตที่เตาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งข้อมูลตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในแง่ของประวัติศาสตร์ เพราะหากผลิตที่บ้านเรานั้น ก็แสดงว่าเป็นงานหัตถกรรมที่ยิ่งใหญ่ เพราะเราได้มีการผลิตเครื่องถ้วยและส่งออกไปยังอาณาจักรพระนคร นั่นหมายความว่าชุมชนที่จะผลิตหัตถกรรมนี้ได้ต้องเป็นชุมชนที่ใหญ่ มีการบริหารจัดการที่ดี และคนในสมัยนั้นต้องเก่งและฝีมือดีมาก ๆ ผมเลยมองว่าของที่มีอยู่นั้นกลายเป็นของสำคัญระดับประเทศไม่เหมาะที่จะเป็นของสะสมส่วนตัวของใคร และตัดสินใจที่จะยกให้กับพิพิธภัณฑ์ ด้วยเหตุผลหลัก ๆ 2 อย่างนี้
(1.) อยากให้คนรุ่นใหม่มีความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของเราว่ามีความสามารถมาตั้งแต่ก่อนสมัยเครื่องถ้วยสุโขทัยถึง 300 -400 ปี
(2.) เครื่องถ้วยชุดนี้เป็นเครื่องถ้วยที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก และหากได้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ก็จะทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยว และผู้ที่มีความสนใจในงานศิลปะประเภทนี้ให้มาชมพิพิธภัณฑ์ จะได้เห็นสิ่งที่บรรพบุรุษของเรานั้นได้สร้างเอาไว้ ได้เห็นถึงรากเง้า และวัฒนธรรมที่ดีของเรา ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชาติ และความภาคภูมิใจนี้จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนประเทศต่อไป
“ตอนที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้มาขนของไปแล้วมีความรู้สึกปิติติยินดีจริง ๆ เพราะรู้สึกว่าบรรลุในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ เพราะเครื่องถ้วยที่ตัดสินใจยกให้พิพิธภัณฑ์ไปนั้นก็สามารถทำประโยชน์ และรู้สึกว่าเป็นการตัดสินในที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต”