“ครบรอบ 46 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน และ 30 ปีแห่งจีน-อาเซียน” โดย สหัส บัณฑิตกุล


โดย ดร.สหัส บัณฑิตกุล (วศ.2510)


ผมมีความยินดีที่ได้มาคุยเล่าสู่กันฟังผ่านนิตยสารแม่น้ำโขง ในวาระครบรอบ 46 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน และ 30 ปีแห่งจีน-อาเซียน ขอถือโอกาสเกริ่นแต่ต้นนี้ก่อนว่าเรื่องที่จะคุยนั้นจะไม่เน้นภาคทฤษฎีหรือความเป็นมาที่ทุกท่านสามารถหาอ่านได้จากที่ต่าง ๆ โดยไม่ยาก แต่จะเน้นประสบการณ์แห่งความทรงจำบางส่วนซึ่งผมได้สัมผัสมาด้วยตัวเองในช่วงเวลาดังหัวข้อเรื่องนี้ที่มีส่วนเกี่ยวโยงถึงความสัมพันธ์ทั้งไทย-จีน และจีน-อาเซียน

ขอเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) หรือเมื่อ 46 ปีที่แล้ว อันเป็นปีแรกแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน ตอนนั้นผมไม่ได้อยู่เมืองไทย แต่อยู่ระหว่างการทำปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมืองแอนอาร์เบอร์ สหรัฐอเมริกา… แล้วมาโยงถึงจีนได้อย่างไร? ขอเรียนว่านี่เป็นส่วนสำคัญที่ต้องนำมาเล่าแต่เริ่มแรกนี้ด้วย นั่นก็คือปริญญาเอกที่ทำนั้นผมได้อาจารย์ที่ปรึกษาคุมวิทยานิพนธ์เป็นศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงและผลงานตีพิมพ์นานาชาติมากมาย ท่านเป็นคนจีน

ท่านเป็นผู้ที่มีบุญคุณกับผมมาก ช่วยดูแลความเป็นอยู่ ปกป้องและให้โอกาส สอนทั้งความรู้วิชาการและการใช้ชีวิต หลังจากเรียนจบแล้วก็มีโอกาสได้เจอกันเป็นระยะ ทั้งแวะไปเยี่ยมและเชิญท่านพร้อมครอบครัวมาเที่ยวเมืองไทย ซึ่งผมจะลางานไปดูแล ตอนท่านถึงแก่กรรมผมก็บินไปร่วมงานศพที่อเมริกา มีอยู่วันหนึ่งก่อนหน้านั้นผมได้รับจดหมายจากท่านว่าจะยกสมบัติทางวิชาการทั้งหมดให้ ทั้งที่ท่านมีลูกศิษย์มากมาย และมีหลายประเทศต้องการของอันทรงคุณค่านี้ ผมได้ขออนุญาตโอนสมบัตินั้นให้กับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย หรือ เอ.ไอ.ที. ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย เพราะจะใช้ประโยชน์ได้มากคนกว่าเฉพาะอยู่ที่ผมคนเดียว ทางสถาบันฯ ก็ยินดีมาก ให้เกียรติจัดส่วนหนึ่งของห้องสมุดเป็นชื่อท่านเพื่อเก็บรักษาและใช้ประโยชน์ ซึ่งยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ทางสถาบันฯ ได้เชิญท่านมาทำพิธีส่งมอบ และกล่าวในวันรับปริญญาบัตรของผู้สำเร็จการศึกษา โดยท่านได้มอบทุนให้กับทางสถาบันฯ อีกด้วย เป็นความประทับใจอย่างยิ่ง

ดร. สหัส บัณฑิตกุล วศ.12

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศจีนครั้งแรกหลังจากนั้นหลายปี คือเมื่อเดือนกันยายน 2528 (ค.ศ. 1985) ผมในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีให้เป็นตัวแทนท่าน และเป็นหัวหน้าคณะนำทีมงานเดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีและดูงานคมนาคมที่ประเทศจีน ทั้งทางบก (ถนน และรถไฟ) ทางอากาศ (เครื่องบินภายในประเทศ) และทางน้ำ (เรือโดยสาร และขนส่งสินค้า) เป็นระยะเวลาราว 2 สัปดาห์ ได้มีโอกาสเดินทางโดยเรือตามแม่น้ำแยงซี (ตอนนั้นยังไม่มีเขื่อนสามผา) จากนครเซี่ยงไฮ้ไปถึงเมืองฉงชิ่ง ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเมืองเอกของมณฑลเสฉวนอยู่ ก่อนได้รับการยกฐานะเป็นมหานคร ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางในปี 2540 (ค.ศ. 1997)

ตลอดเส้นทางแม่น้ำสวยงามและน่าประทับใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์ของแม่น้ำในการรคมนาคมขนส่ง ทั้งผู้โดยสารและสินค้าที่มีต้นทุนต่อหน่วยน้ำหนักถูกสุด ตอนนั้นธนบัตรเงินหยวนมีสองแบบ คือสำหรับคนท้องถิ่นและต่างชาติ จำได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น 1 หยวน ประมาณ 11 บาท (ปัจจุบันประมาณ 5 บาท)

หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศจีนบ่อยครั้ง ในงานทั้งภาคธุรกิจ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี กับบริษัทซิโนเปก (Sinopec) ของจีน) งานประชุม สัมมนา สอน (เช่นที่ Oxbridge Collage Kunming University of Science and Technology, KUST) บรรยาย รวมถึงท่องเที่ยวเป็นส่วนตัว ได้เห็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดที่น่าชื่นชมของประเทศจีนมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อครั้งที่ท่านนายกรัฐมนตรี จู หรงจี้ (Zhu Rongji) มาเยือนเมืองไทยในช่วงวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2544 (ค.ศ. 2001) ผมในฐานะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขณะนั้น ได้มีโอกาสติดตามผู้ว่าฯ ไปร่วมต้อนรับและประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ณ โรงแรมที่ท่านพัก เพื่อฟังวิสัยทัศน์และขอความรู้ความคิดเห็นจากท่านเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง ทุกคำแนะนำ ความเห็น และคำตอบของท่าน กระทัดรัดชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมคลุมเครือ ไม่ต้องให้มาตีความเอง น่าประทับใจอย่างยิ่ง เป็นแบบอย่างของผู้นำโดยแท้

ในช่วงปักกิ่งโอลิมปิก 8-24 สิงหาคม 2551 (ค.ศ. 2008) ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ผมได้มีโอกาสเข้าชมพิธีเปิดมหกรรมกีฬาที่อลังการยิ่งนี้บนอัฒจันทร์ในสนาม รวมถึงได้เดินทางไปกับนายกรัฐมนตรีในการเข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดี หู จินเทา (Hu Jintao) ท่านได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และได้เน้นย้ำถึงความพร้อมเสมอของจีนในการทำงานร่วมกับไทย และรักษาไว้ซึ่งคุณค่าความสัมพันธ์อย่างไม่ถดถอย เพื่อขยายยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย (win-win solution) ให้เจริญรุ่งเรืองและลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้แสดงความเห็นที่สอดคล้องต้องกัน

เมื่อปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักสูตรวิทยาการผู้นำไทย-จีน (วทจ.) ที่กำกับดูแลและดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จุดประสงค์ของหลักสูตรคือเพื่อเน้นเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศจีนในด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประวัติความเป็นมาฯลฯ เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพและความเข้าใจที่ดีต่อกัน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย เช่น มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง และในประเทศจีนเช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง อันมีชื่อเสียงของจีน รวมถึงการสนับสนุนช่วยประสานงานจากหน่วยงานของสถานทูตจีนในไทย ทางหลักสูตรได้ผู้มีประสบการณ์สูงในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเป็นผู้บรรยาย ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากปริมาณที่รับได้ไม่พอเพียงกับจำนวนผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรม จนต้องจัดหลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ไทย-จีน (วมทจ.) สำหรับผู้ที่มีอายุหรือประสบการณ์น้อยกว่า เพิ่มขนานไปอีกหลักสูตรหนึ่ง มีการพาไปดูงานที่เมืองจีน และเข้าฟังการบรรยายอันน่าประทับใจที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งด้วย

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2561 (ค.ศ. 2018) ผมได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะนำนักศึกษาหลักสูตรวิทยาการผู้นำไทย-จีน เข้าเยี่ยมคารวะท่านอยูวเฉวียน (You Quan) เลขาธิการสำนักงานเลขาคณะกรรมการกลางพรรคฯ และรัฐมนตรีกระทรวงรวมชาติ โดยได้รับการต้อนรับ และความเอื้อเฟื้อร่วมมือจากท่าน เป็นอย่างดียิ่ง

ขอกล่าวโยงถึงแม่น้ำโขง (ส่วนต่อจากแม่น้ำหลานชาง (Lancang) หรือล้านช้างที่ผ่านมณฑลยูนนานของจีนลงมา) ซึ่งไหลผ่านกลุ่มอาเซียนถึง 5 ประเทศ ได้แก่เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ทางประเทศตะวันตกถึงแม้จะอยู่ห่างไกล แต่ก็ให้ความสำคัญต่อแม่น้ำสายนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นส่วนของยุทธศาสตร์ในหลายด้าน อาทิ ภูมิรัฐศาสตร์ คมนาคม และการเมือง ฯลฯ โดยได้มีการเจรจาเกี่ยวกับประเด็นลุ่มน้ำโขง พร้อมลงนามความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2560 (ค.ศ. 2017) ซึ่งผมได้รับการเห็นพ้องเชิญให้เป็นสักขีพยานคนกลาง (ที่มีเพียงคนเดียวและขณะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือรักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยแล้ว) จากนั้นผมได้บรรยายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ให้ผู้ร่วมงานได้รับฟังอีกประมาณ 40 นาที ในหัวข้อ “Vital Common Issues for the Effectiveness of the US-China GMS Cooperation Dialogue and the Belt and Road Initiative”

ประสบการณ์ความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ที่ผมได้เข้าไปมีส่วน หรือรับรู้ ทั้งขณะดำรงตำแหน่งต่าง ๆ และกลับมาเป็นพลเรือนแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องแต่ขออนุญาตไว้เล่าสู่กันฟังในโอกาสอันควรอื่นบ้างเพื่อไม่ให้ครั้งนี้ยาวเกินไป

สำหรับความประทับใจด้านใดเป็นที่สุดในความร่วมมือไทย-จีนนั้น ยากที่จะระบุเพราะเกี่ยวโยงถึงกันทั้งสิ้น มีคนไทยไม่น้อยที่มีเชื้อสายจีนผูกพันธ์กันมายาวนานแต่ครั้งบรรพบุรุษ ที่ผ่านมาจึงมีความร่วมมือกันมากมายหลายด้านและโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 (ค.ศ. 1975) หรือครบ 46 ปีเต็ม มีทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน ค้าขาย สังคม ความมั่นคง การเมือง ฯลฯ อยากบอกว่าทุกด้านสร้างความประทับใจในความร่วมมือไทย-จีนได้เป็นที่สุดทั้งสิ้น มากขึ้นน้อยลงแปรเปลี่ยนตามสถานการณ์และเวลา ในด้านความมั่นคงเคยได้รับทราบ (ขอไม่ยืนยัน) มาว่า ในช่วงต้นทศวรรษของปี พ.ศ. 2520 (ค.ศ. 1977) จีนเคยให้ความร่วมมือช่วยให้แนวโน้มที่ไทยอาจถูกรุกรานหรือมีการสู้รบรุนแรงเกิดขึ้นทางชายแดนบางด้านจบลง ในทางการค้าจีนก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญมากของไทย เช่นในปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) จีนอยู่ที่อันดับ 1 ด้วยมูลค่าการค้าทวิภาคีที่ US$ 79,500 ล้าน

ในเรื่องของสิ่งที่ควรกระชับมากเป็นพิเศษในอนาคตนั้น น่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับจีน ซึ่งรวมถึงความไว้เนื้อเชื่อใจ จริงใจ ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน จีนเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าไทยมาก เปรียบเหมือนพญามังกร พญาราชสีห์ โอกาสที่ไทยจะช่วยเหลือจีนได้อาจมีน้อยกว่า แต่วันหนึ่งหนูอาจมีโอกาสช่วยราชสีห์บ้างก็เป็นได้ เมื่อกระชับความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้มากเป็นพิเศษแล้ว ความร่วมมืออันทรงประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ก็จะตามมาเอง

ในส่วนของจีนกับอาเซียนนั้น จากที่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ.1991) จนถึงบัดนี้ปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ.2021) นับได้ 30 ปีแล้ว จีนได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดมิได้ว่างเว้น และให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพที่มีต่อกันอย่างแน่นแฟ้นชัดเจน นอกจากความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆเช่นที่มีกับไทยแล้ว จีนยังเป็นคู่ค้าและแหล่งเงินลงทุนรายใหญ่ของอาเซียนด้วย
แต่ที่จะขอเล่าในที่นี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งของจีน-อาเซียนที่ผมได้สัมผัสมาด้วยตัวเอง เป็นบทบาทสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือเป็นคนกลางที่ช่วยให้ข้อขัดแย้งบางเรื่องในภูมิภาคได้บรรเทาเบาบางลง

เมื่อปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) ผมได้มีโอกาสพบกับท่านหยาง จีฉี (Yang Jiechi) รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนในขณะนั้นที่มาร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่สิงคโปร์ และได้ประชุมหารืองานแบบทวิภาคีกันในฐานะหัวหน้าคณะของแต่ละฝ่าย ท่านเป็นผู้ที่จับประเด็นได้เร็วมาก มีเรื่องหนึ่งที่ได้ถือโอกาสคุยกันคือกรณีขัดแย้งระหว่างไทยกับหนึ่งในประเทศอาเซียน ซึ่งเขาได้นำเรื่องมาเข้าที่ประชุมครั้งนั้น และเลยไปถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติซึ่งจีนนั่งเป็นสมาชิกถาวรอยู่ด้วย เมื่อได้อธิบายท่านถึงเหตุและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภูมิภาคแล้ว ทราบว่าท่านได้ใช้ความสามารถและอัจฉริยะทางการทูตของท่านดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นกลางในการช่วยบรรเทาความตึงเครียดของสถานการณ์ตอนนั้นลงไปได้มาก (ขออนุญาตไม่กล่าวลึกในรายละเอียด ณ ที่นี้)

จากการดำเนินนโยบายของจีนกับทางอาเซียนที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 30 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียน เห็นได้ชัดว่า การส่งเสริมบทบาทและความร่วมมือของจีน-อาเซียนอย่างยุติธรรมกับทุกฝ่ายนั้น เป็นเรื่องที่มีเหตุผลเพียงพอ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก

ในเรื่องของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ คืออาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และคู่เจรจาอาเซียนอีก 5 ประเทศ อันได้แก่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่ได้ร่วมลงนามความตกลงกันเมื่อปลายปีที่ผ่านมานี้ คือเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2563 (ค.ศ.2020) ทำให้ RCEP เป็นกลุ่มสมาชิกที่มีประชากรรวมกันมากถึงราว 2,300 ล้านคน และมีมูลค่าด้านเศรษฐกิจการค้าสูงที่สุดในโลก คือประมาณ 30 % ของ GDP โลก ครอบคลุมในราว 2/3 ของปริมาณการค้าทั้งหมดของไทย เป็นที่น่ายินดีที่ได้ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อย่างจีนเข้ามาร่วมด้วย จึงหวังว่า RCEP ซึ่งได้ดำเนินมาอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะก่อตั้งมายังไม่นานก็ตาม จะเป็นหนึ่งในผู้นำการฟื้นตัวการลงทุนในเศรษฐกิจโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับทั้งความร่วมมือระหว่างจีนกับไทย และจีนกับอาเซียนนั้น ถึงแม้จะมีผ่านหลายเวทีอยู่แล้ว แต่ RCEP ก็ยังสามารถช่วยได้มากในหลาย ๆ ด้าน คืออาจใช้เป็นอีกเวทีหนึ่งในการส่งเสริมสร้างหรือเร่งรัดงาน แต่หากจะถามว่าแล้วมีจุดเด่นใหม่อะไรหรือไม่นั้น คำตอบคือย่อมมีแน่ ขอยกตัวอย่างหนึ่งที่เรียกว่าเป็นจุดเด่นได้เลยหากทำได้สำเร็จ นั่นก็คือโครงการเส้นทางเชื่อมจีนสู่มหาสมุทรอินเดีย (ที่อย่างน้อยประกอบด้วย ถนน ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน และอาจรวมถึงท่อส่งก๊าซธรรมชาติด้วย) หลังจากที่เจออุปสรรคและความล่าช้ามานานให้เกิดได้เร็วขึ้น ซึ่งอาจมีหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น เมียนมาร์ ลาว และไทยเข้าไปเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

ขอขยายความในประเด็นจุดเด่นดังกล่าวนี้เพิ่มเติม จากข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีว่าประเทศจีนไม่มีส่วนเชื่อมกับมหาสมุทรอินเดีย หากเกิดเหตุการณ์ใดที่ทำให้เรือสินค้าไม่สามารถผ่านช่องแคบมะละกา (Malacca Strait) ซึ่งเชื่อมต่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์ ที่เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์หลักของการนำเข้าสินค้าสำหรับจีน แม้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งก็ตามก็จะกระทบต่อการจัดหา/จัดส่งสินค้าต่อจีนได้ อาทิ น้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง เพราะการเดินเรืออาจต้องเลยไปอ้อมอีกไกลมากที่ช่องแคบลอมบอก (Lombok Strait) ของอินโดนีเซีย

ผมขอวิเคราะห์เส้นทางใหม่ที่จะช่วยเชื่อมจีนสู่มหาสมุทรอินเดีย ว่ามีหลัก ๆ อยู่4 เส้นทาง คือ

  1. ผ่านอินเดีย ปากีสถาน และแคชเมียร์ (ซึ่งเกิดได้ไม่ง่าย ด้วยประเด็นการเมือง)
  2. ผ่านเมียนมาร์ (ซึ่งก็อาจมีประเด็นชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ที่รัฐบาลควบคุมดูแลได้หรือไม่ แต่ที่เป็นห่วงคือกลุ่มที่อาจได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการต่อสู้จากภายนอกบางประเทศ และปัญหาการล่วงล้ำอธิปไตยเมียนมาร์หากจีนจะเข้าไปดำเนินการปราบปรามเอง)
  3. ผ่านไทยและลาว (ปัญหาการเมืองโดยเปรียบเทียบน่าจะน้อยกว่าสองเส้นทางแรก จึงอาจมีความเป็นไปได้ แต่เส้นทางจะยาวขึ้นกว่าผ่านเมียนมาร์โดยตรง
  4. โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ที่เชื่อมภาคใต้ของไทยฝั่งทะเลอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย หรือคือเชื่อมด้านมหาสมุทรอินเดียกับด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีทางเลือกหลายจุด เช่น ระหว่างจังหวัดสตูล ที่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา กับจังหวัดสงขลา ที่ท่าเรืออำเภอจะนะ เป็นต้น สำหรับรายละเอียดจะขอไม่กล่าวไปถึงในที่นี้ รวมทั้งการขุดคลอง

จะเห็นได้ว่าที่วิเคราะห์ข้างต้นนี้ต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างจีนกับไทย และจีนกับหลายประเทศในอาเซียน โอกาสใหม่หรือจุดเด่นไม่ได้อยู่ที่ตัวเส้นทางอย่างเดียว แต่อยู่ที่การได้ RCEP มาเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้สัมฤทธิ์ผลเร็วขึ้น สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์นั้นจะเป็นประโยชน์กับทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วย ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ก็เป็นสมาชิกของ RCEP อยู่เช่นกัน

สำหรับประเด็นการแพร่ระบาดของโควิด-19นั้น ผมเห็นว่าที่ผ่านมาจีนทำได้ดีทั้งการป้องกันและแก้ไข ดังเห็นได้จากตัวเลขสถิติต่าง ๆ ทั้งนี้นอกจากการทุ่มเทต่อสู้อย่างจริงจังของรัฐบาลแล้ว ที่ไม่ควรมองข้ามคือการให้ความร่วมมือของประชาชนชาวจีนต่อแนวนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐออกมา ทำให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีและเกิดประสิทธิผลเต็มที่ สามารถเดินตามแผนงานและปรับแต่งได้รวดเร็วคล่องตัว ควบคุมสถานการณ์โดยรวมได้ดี ผลกระทบจากโควิด-19เป็นความท้าทายที่สำคัญซึ่ง จีน อาเซียน และไทย ต้องเผชิญไปด้วยกัน เพราะมีผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรแต่ละประเทศด้วยกันทั้งสิ้น จึงควรร่วมมือระดมบุคลากร ประสบการณ์ ความรู้ เครื่องมือทดลอง และผลงานวิจัย ฯลฯ แลกเปลี่ยนถ่ายทอดกัน ส่งเสริมการพัฒนาวัคซีน ยา และแนวทางการรักษาร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้น ดีกว่าต่างคนต่างทำต่างคิด แล้วต่างฝ่ายต้องไปหาซื้อวัคซีนหรือยาที่ราคาแพงมาก หรือค่อนข้างขาดแคลนมาใช้ ทั้งนี้รวมถึงการเอื้อเฟื้อหยิบยืมกันในส่วนที่เพียงพอให้ได้ขณะที่อีกฝ่ายเกิดวิกฤติขาดแคลนสิ่งจำเป็นต่อการป้องกันและรักษา ซึ่งอาจเกิดจากความคลาดเคลื่อนของแผนงานที่วางไว้อย่างนอกเหนือการควบคุม

จึงเห็นว่าการส่งเสริมด้านพัฒนาและความร่วมมือดังกล่าวข้างต้น น่าจะเป็นทิศทางเหมาะสม ในการที่จีน อาเซียน และไทย ควรดำเนินการเพื่อร่วมกันเผชิญความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19นี้ ผมขอแถมในสิ่งที่ไม่ควรทำด้วย นั่นก็คือการกล่าวร้ายซึ่งกันและกัน บั่นทอนกำลังใจกันในยามที่ทุกคนต้องเผชิญต่อความสูญเสียเช่นนี้


หมายเหตุ:

บทความข้างต้นนี้เป็นฉบับเต็มของบทความที่ได้รับรางวัล “Outstanding Essay” ของทางประเทศจีน จากการประกวดที่ทางจีนได้จัดขึ้น ในวาระครบรอบ 46 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน และ 30 ปีแห่งจีน-อาเซียน ภายใต้หัวข้อ “Retrospect and Prospect of the Economic and Relationship Between China and Thailand”

สถานทูตจีนในไทยเป็นผู้ออกใบประกาศ (Certificate, ดังแนบ) นี้ให้กับผู้เขียน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save