สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จัดงานเสวนา “เข้าใจน้ำท่วม แนวคิดวิศวกร” โดยมี วิโรจน์ เจริญตรา นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ กล่าวต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวฯ จุฬาฯ กล่าวเปิดงาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน กล่าวรายงาน
วิโรจน์ เจริญตรา นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมเสวนาว่า “การจัดงานในครั้งนี้ทางสมาคมฯ ร่วมกับคณะวิศวฯ จุฬาฯ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 111 ปี ของคณะวิศวฯ จุฬาฯ ซึ่งทางสมาคมฯ ได้จัดเสวนาขึ้นทั้งหมด 11 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2568 ทางสมาคมฯ ได้นำเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจและเป็นประเด็นในขณะนั้นมาเป็นหัวข้อในการเสวนา อาทิ หัวข้อ “เข้าใจน้ำท่วม แนวคิดวิศวกร” ที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจ และขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานในครั้งนี้”
รศ. ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี คณะวิศวฯ จุฬาฯ กล่าวว่า “การเสวนาหัวข้อในวันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะการที่เราเข้าใจ ทำให้เรารู้ถึงความสำคัญนั้นอย่างลึกซึ้ง ทำให้เรารู้ว่าจะรับมือกับสถานการณ์ เตรียมตัว และป้องกันอย่างไร รวมถึงแนวทางปฏิบัติเมื่อเราเจอกับอุทกภัย”
รศ. ดร.เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน กล่าวรายงานว่า “การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจทางวิชาการ แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ สถานการณ์น้ำท่วมผ่านแนวความคิดของวิศวกรในวันนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ประชาชนรอดพ้นจากวิกฤติน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ การเดินทาง และคุณภาพชีวิต เช่นตัวอย่างน้ำท่วมจากภาคเหนือในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และความเสียหายในชุมชนอย่างมาก”
ในช่วงแรกได้รับเกียรติจาก ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพูดคุยถึงเรื่อง “การบริหารจัดการในพื้นที่น้ำท่วม” จากนั้นเป็นการเสวนา โดยได้รับเกียรติจาก ชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ทีมกรุ๊ป บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด และนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่อง “การคาดการณ์ การเตรียมตัว และการป้องกัน” รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่อง “การบริหารจัดการในพื้นที่น้ำท่วม” ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าภาควิชาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คณะวิศวฯ จุฬาฯ กล่าวถึงเรื่อง “ข้อคิดข้อสังเกตทางเทคนิคของปัญหาจากน้ำท่วม” และ ดร.สุกิจ วิเศษสินธุ์ ที่ปรึกษาโครงการและการประยุกต์ใช้ระบบ บริษัท จีไอเอส จำกัด กล่าวถึง “การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์สถานการณ์อุทกภัย และการถอดบทเรียน” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี คณะวิศวฯ จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นอกจากนี้ในช่วงท้ายของการเสวนา เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงและผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวสรุปว่า Climate Change เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เห็นชัดเจนว่าการสะสมของฝนทำให้น้ำท่วมหลายพื้นที่ และ ดร.ชัชชาติ ได้ให้ความสำคัญเรื่องของเส้นเลือดฝอยในการระบายน้ำ รวมถึงบ่อขยะว่า เรามีมาตรฐานการจัดการอย่างไรไม่ให้ขยะลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการด้านการเก็บขยะมากขึ้น รวมถึงการใช้ข้อมูลเดิมในแต่ละปีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ และใช้ข้อมูลปัจจุบันในการวางแผนรับมือ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญเข้ามาช่วยในเรื่องความแม่นยำในเรื่องการคาดการณ์ ซึ่งมีประโยชน์กับหน่วยงานต่าง ๆ มาก ที่ต้องเตรียมการเข้าไปรับมือในแต่ละพื้นที่น้ำท่วม ที่สำคัญต้องใช้สหวิชาเข้ามารับมือ มีการใช้งานในส่วนของภาคสังคมเข้ามาร่วมด้วย รวมไปถึงมีความเข้าใจในความรู้สึกของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นหลากหลายองค์ความรู้ที่เราต้องประมวลเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่ลืมระบบนิเวศ ใช้องค์ความรู้ในเรื่องของวิศวกรรมมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ลืมเรื่อง Navigation และ Adaptation รวมไปถึงเรื่อง Climate Change ที่เรากำลังเผชิญ ซึ่งเราสามารถช่วยลดอุณหภูมิโลก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องทำควบคู่กันไป และทำอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นเราจะพบสถานการณ์รุนแรงขึ้นในทุก ๆ ปี
ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์ สายสัมพันธ์อินทาเนีย โดย กองบรรณาธิการ