รายการเจาะข่าวเช้านี้ ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเติบโตของอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2567
การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยและสถานการณ์ของโลก ภายใต้การปรับตัวของนโยบายการค้าของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาจะมีการตั้งกำแพงภาษีกับประเทศคู่ค้าอย่างจีนซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก จากการตอบรับของผู้คนที่มาเที่ยวงาน Motor Expo ที่เพิ่งจบไป วันที่ 28 พฤศจิกายน 2568 ถึง วันที่ 10 ธันวาคม 2568 เราเห็นตัวเลขการจองเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงินจอง 1,000 บาท ก็สามารถจองได้ ทำให้มีการทิ้งเงินจองก็เป็นไปได้ ยอดจองประมาณ 50,000 คัน เฉลี่ยเป็นรถไฟฟ้าBEV เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ รถสันดาปภายใน รถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริดอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ติดตามสถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ปัญหาอุปสรรคและการเติบโต กับ คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ อดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าไทย ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าไทยหรือ EVAT
สถานการณ์ของโลก
ถ้าเราอ้างอิงสถิติจากสำนักข่าวยูโรนิวส์ ตัวเลขของการขายรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 เทียบกับปีที่แล้ว ทั้งโลกมีการขายรถยนต์ไฟฟ้า 15.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ ยอดขายในจีน 9.7 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนฝั่ง อียู ลดลง 2.7 ล้านคัน ลดลง -3 เปอร์เซ็นต์ หากมองในภาพรวม การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลขที่ปรับขึ้น มีตลาดที่แข็งแกร่งในเชิงของสินค้าที่มีความหลากหลาย และยังคงได้รับความนิยมค่อนข้างสูง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในจีนจะไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนในช่วงที่ผ่านมา แต่ตัวเลขของการซื้อขายรถยนต์ไฟฟ้ายังคงเติบโตขึ้นอยู่ดี เรียกได้ว่าจีนเป็นผู้นำในของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ส่วนสถานการณ์ในไทย ตัวเลขอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยของเราลดลง ประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ในเชิงการจดทะเบียนและการซื้อขาย หากมาดูเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ จากตัวเลขที่ทางสภาอุตสาหกรรมไทยชี้แจงไว้ ในช่วง 10 เดือนแรก เรามียอดขายรถยนต์ประมาณ 476,000 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว 26 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มที่ลดลงจะเป็นรถยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเบนซิน ดีเซล มียอดขายประมาณ 129,000 คัน ลดลง 36 เปอร์เซ็นต์ รถยนต์ BEV มียอดซื้อขาย 55,000 คัน ลดลง 0.33 เปอร์เซ็นต์ ลดลงมาไม่เยอะ ส่วนในกลุ่มที่เพิ่มขึ้น จะเป็นรถยนต์ประเภทไฮบริด มียอดซื้อขายประมาณ 97,000 คัน เพิ่มขึ้นเกือบ ๆ 40 เปอร์เซ็นต์ จากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์ไฮบริด การที่คนมาชอบไฮบริดมากขึ้นเพราะยังกังวลเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วจะไม่เสถียรตลอดระยะทาง หรือยังขาดแคลนสถานีชาร์จ การเดินทางไกลจะไม่สะดวกถ้ามีสถานีชาร์จไม่เพียงพอหรือไม่
การรับรู้ ความเชื่อ ทัศนคติของคนไทยที่มีต่อยานยนต์ไฟฟ้าดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าได้พูดคุยหารือกับสมาชิก และได้มีการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ฟีดแบ็คที่เราได้ทำให้เราค่อนข้างเชื่อมั่นว่า ผู้บริโภคเข้าใจเทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น สำหรับคนที่เริ่มใช้รถยนต์ไฟฟ้าไปสักพักจะเข้าใจว่าสถานีอัดประจุไฟฟ้าเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต้องมีความกังวลใจเวลาที่จะต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เพราะจังหวัดที่เป็นที่นิยมสามารถหาสถานีชาร์จได้ง่าย สำหรับการวางแผนการเดินทาง เวลาก่อนที่จะเดินทาง ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามักจะต้องเช็คระยะทางว่าทริปที่เราจะไปมันใช้ระยะทางไปกลับกี่กิโล เฉพาะแบตเตอรี่ของรถมีพอสำหรับไปกลับหรือไม่ หากเป็นทริปสั้น ๆ เช่น กรุงเทพ-พัทยา รถยนต์ไฟฟ้าที่แบตเตอรี่ระยะทาง 400 กิโลเมตรขึ้นไป สามารถขับไปกลับได้สบาย ๆ หากจะต้องแวะชาร์จก็มีแอปพลิเคชันค้นหาสถานีชาร์จจากหลากหลายผู้ให้บริการให้เลือกใช้งาน ซึ่งผู้ให้บริการก็ทำระบบที่ใช้งานสำหรับวางแผนการเดินทางได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น แอปพลิเคชัน EV Station PluZ ของปตท. สามารถจองชาร์จได้ล่วงหน้าตามเวลาที่กำหนด ทำให้เราไม่ต้องรอคิวนาน ๆ
สำหรับผู้ที่ไม่ชอบใช้เทคโนโลยี เนื่องจากที่สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีหลากหลายผู้ให้บริการ เราอาจจะต้องค้นหาว่า สถานีมีมากที่สุดในจังหวัดนั้นมากอยู่ที่ไหนบ้าง ใกล้เราหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่สมาคมยานยนต์ไฟฟ้ากำลังทำอยู่คือ เรามีกลุ่มกิจการค้าร่วมสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีประมาณ 20 ผู้ให้บริการมาทำงานร่วมกัน ในอนาคต เราเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำโครงข่ายที่เรียกว่า EV Roaming ซึ่งก็คือ เราสามารถใช้แอปพลิเคชันค้นหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ให้บริการอะไรก็ได้ สามารถค้นหาสถานีชาร์จจากอีกผู้ให้บริการโดยไม่ต้องเปลี่ยนแอปให้ยุ่งยาก โดยเราเดินหน้าผลักดันร่วมกับคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติซึ่งให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี
การครอบคุมของของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ย้อนกลับไปดูเมื่อปี 2019 สมัยที่คนยังไม่ค่อยรู้จักรถยนต์ไฟฟ้า จำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีอยู่น้อยมาก ๆ สมัยนั้นเอง รถยนต์ไฟฟ้าก็อยู่ประมาณหลักร้อยคัน ส่วนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าก็มีอยู่หลักร้อยหัวจ่ายเช่นกัน ต่อมาปี 2020 เราเริ่มมองเห็นสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ1,900 หัวจ่าย จนถึงเมื่อปี 2024 เรามีจำนวนหัวจ่าย ประมาณ 11,196 หัวจ่าย ที่เป็นหัวจ่ายสาธารณะ สัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้ากับกลุ่มของหัวจ่ายที่เป็นประเภทชาร์จเร็จจะอยู่ที่ 26 คันต่อ 1 หัวจ่าย เทียบกับอียูแล้วจะอยู่ที่ 12 คันต่อ 1 หัวจ่าย ที่จีนจะอยู่ที่ 5-6 คัน ต่อ 1 หัวจ่าย เนื่องจากรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนเยอะมาก รัฐบาลไทยก็ควรให้การสนับสนุนให้มีการติดตั้งหัวชาร์จให้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่รถยนต์ไฟฟ้าที่จะมีการจดทะเบียนที่มากขึ้นในอนาคต
ความปลอดภัยของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
ภาพจำเป็นเรื่องที่ลบล้างออกได้ยาก เราจะเห็นได้จากข่าวรถไฟไหม้ เรามักจะโฟกัสไปว่าเป็นรถไฟฟ้ารึเปล่า เหมือนกับรถแก๊สที่คนกังวลเรื่องความปลอดภัย ในเรื่องของอุบัติเหตุก็อาจเกิดขึ้นได้ สามารถเกิดได้กับรถทุกชนิด สิ่งที่ทั้งภาครัฐและทุกหน่วยงานให้ความสำคัญคือความปลอดภัยว่าเราจะมีวิธีการป้องกันเหตุอย่างไร วิธีการเข้าระงับเหตุ หาความรู้ที่ถูกต้องในการจัดการให้กับเจ้าหน้าที่ในการรับมือ อีกเรื่องคือในช่วงน้ำท่วมที่ภาคเหนือ รถยนต์ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับรถน้ำมันแล้วมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง สำหรับแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าทุกคันจะผ่านการทดสอบที่เรียกว่า การทดสอบการกันฝุ่นและกันน้ำ หรือ IP Test โดยแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็น IP 67 ซึ่งสามารถกันฝุ่นกันน้ำได้สูงสุดถึงระดับ 1 เมตร เป็นเวลา 30 นาที เท่ากับว่าการขับรถฝ่าลุยน้ำท่วมในช่วงเวลาสั้น ๆ ความเสี่ยงก็น้อยกว่ารถน้ำมันทั่วไป แต่การจอดแช่นาน ๆ อาจจะมีการเสียหายจากระบบไฟต่าง ดังนั้น จึงควรที่จะเปลี่ยนสถานที่ในการจอด หาสถานที่จอดที่ปลอดภัย รถยนต์น้ำมันก็เช่นกัน
การสนับสนุนจากภาครัฐ
เหตุที่ภาครัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย ย้อนกลับไปในช่วงปี 2021-2022 เราค่อนข้างกระตือรือร้นที่จะดึงดูดการลงทุนในเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพราะไม่อย่างนั้นต่างชาติอาจจะไปลงทุนที่อื่นที่สนับสนุนการลงทุนมากว่า สิ่งที่เรามองไว้คือการที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์ไปด้วย ดังนั้นภาครัฐจึงให้เงินสนับสนุน EV3.0 คันละ 150,000 บาท เพื่อให้ผู้ผลิตเอาไปลดราคาจำหน่ายให้ถูกลง คนจะได้เข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ไปด้วย พร้อม ๆ กับดึงการลงทุนมาที่ประเทศไทย ต่อเนื่องมาในยุคนี้ ซึ่งก็คือ EV 3.5 ซึ่งก็มีผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีความแข็งแกร่งในเชิงอุตสาหกรรม
ส่วนนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ค่อนข้างแข็งกร้าว อย่างการขึ้นภาษีกับคู่ค้า ไม่เพียงแต่กับประเทศจีนเท่านั้น ยังกับประเทศข้างเคียงอย่างเม็กซิโกและแคนาดา การขึ้นภาษีในลักษณะนี้อาจส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคในสหรัฐอเมริกามีราคาสูงขึ้น เรามองว่าอาจจะเป็นแนวคิดที่เหมือนกับการโยนหินถามทาง เราต้องติดตามดูว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างไรบ้าง