อาหาร

เมื่อวิศวกรอดข้าว


ก่อนอื่นเลยต้องขอออกตัวว่า ผู้เขียนเป็นวิศวกรไม่ใช่แพทย์ แต่ข้อดีของวิศวกร คือ ในขณะที่หมอจะเน้นที่ How ผ่านการท่องตำราแล้วฝึกฝน แต่ Engineer Learn Why คือเราถูกฝึกมาให้ถามคำถาม (เข้าข้างอาชีพตัวเองสักหน่อย 5555..) ซึ่งเมื่อนำแนวคิดดังกล่าวมาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพแล้ว ก็พบว่ามีหลายแนว ซึ่งหลายครั้งก็ขัดแย้งกันเอง เช่น กินนมวัวดีหรือไม่ดี กินไข่ดีหรือไม่ดี กินเนื้อสัตว์ดีหรือไม่ มีข้อมูล รวมทั้งผลวิจัยสนับสนุนทั้ง 2 ความเชื่อ สุดท้ายผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็เลยต้องเลือกเชื่อกันเอาเองว่าจะกินไข่หรือไม่จะกินเนื้อวัวหรือไม่ แล้วแต่ว่าเราได้ข้อมูลจากด้านไหนมากกว่ากัน

เดิมผู้เขียนใช้ชีวิตแบบกินมื้อดึก ชอบของหวานหลังอาหารทุกมื้อ ชอบขนมปัง ยิ่งยุคหลัง ๆ ร้านขนมปังจะอบสด ๆ ในร้านแล้วใช้กลิ่นหอม ๆ มาเรียกลูกค้าด้วยแล้ว ผู้เขียนจะซื้อกินตลอด

นอกจากนี้ผู้เขียนยังรู้สึกว่าการนอนเป็นเรื่องเสียเวลา นิยมการนอนน้อย จะนอนคืนละ 3-4 ชั่วโมง อยู่เกือบ 10 ปี เพราะคำนวณแล้วว่า แค่เรานอนน้อยกว่าคนอื่นเพียงคืนละ 2 ชั่วโมง ใน 1 ปี เราจะมีเวลาเพิ่มขึ้นมาอีก 1 เดือน นั่นสำหรับเรา แล้ว 1 ปี จะมี 13 เดือน ซึ่งเป็น 1 เดือนที่เราได้เปรียบคนอื่น เอาไปทำอะไรก็ได้ (แล้วเราก็เอาเวลาช่วงนั้นมาเล่นเกม Football Manager ถึงตี 3 พาลิเวอร์พูลทีมรักเป็นเจ้าโลก) ช่วงทำงานอยู่โรมาเนียนานเกือบ 1 ปี กิน Big Mac ทุกเที่ยง เพราะเราไม่คุ้นอาหารท้องถิ่น ซึ่งคนเมืองหลาย ๆ คนก็มีพฤติกรรมการกินนอนใกล้เคียงกัน เราก็เลยไม่รู้สึกผิดปกติอะไร (จริงไหมครับ? พี่น้อง)

พอผู้เขียนเริ่มมาออกกำลังกายและดูแลตัวเองมากขึ้น ด้วยการตีแบดทุกคืนวันศุกร์ แต่หลังเล่นเสร็จตอน 5 ทุ่ม ก็จะไปนั่งกินเป็ดตุ๋น สาคูนมสดต่อแถวพัฒนาการ แล้วจึงค่อยกลับบ้านมาอาบน้ำนอนส่วนคืนวันเสาร์เราก็จะไปกินข้าวต้มกุ๊ยและข้าวมันไก่แถวประตูน้ำรอบดึกก่อนกลับบ้าน ภรรยาที่ไปด้วยตลอด แต่ไม่กินเหมือนเราก็จะคอยเตือนทั้งเรื่องกินดึกและประเภทอาหารที่กิน เราก็ไม่ฟัง เพราะเราเป็นคนไม่กลัวเมีย ถ้าเราเชื่อเขาก็แสดงว่าเรากลัวน่ะสิ 5555… แหม เราเองเหล้าก็ไม่กิน บุหรี่ก็ไม่ได้สูบมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว การพนันก็ไม่เล่นอีก เรานี่เทพตัวจริงแล้วนะเนี่ย ยังจะมายุ่งเรื่องกินอีกเหรอ เกินไปมั้งแม่คุณ….

เรื่องมันมาทำเอาเราสับสนตรงที่ พอหันมาออกกำลังกายสักพัก เรากลับเจอปัญหาสุขภาพ คือเส้นเลือดหัวใจอุดตัน เช้ามืดวันเกิดเหตุรู้สึกแสบ ๆ ร้อน ๆ ที่ลำคอ และสักพักค่อยรู้สึกอึดอัดที่หน้าอกแต่แค่รู้สึกแน่น ๆ ไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดมากมายอะไรและไม่ได้รู้สึกเหมือนมีอะไรหนัก ๆ มาทับแบบที่เขาสอนกัน จึงไม่ได้นึกถึงโรคหัวใจ ภรรยาจึงสันนิษฐานว่าเป็นกรดไหลย้อน เพราะอาการนี้คล้าย ๆ ฉันฉันเป็นอยู่ จึงให้กินยาธาตุน้ำขาว แล้วขึ้นมานอนพักตอนนั้นผู้เขียนก็ยังไม่ปักใจว่าเป็นอะไร แต่ก็ยังสงสัยอยู่ว่าไม่น่าใช่กรดไหลย้อน เพราะไม่เคยเป็นมาก่อนแต่กินยาธาตุแล้วดันรู้สึกดีขึ้น… จึงคิดว่าอาจจะใช่กรดไหลย้อนก็ได้ จริง ๆ ภรรยามีนัดหมายเพื่อไปทำบุญต่างจังหวัด ผู้เขียนรอดชีวิตมาได้เพราะภรรยาเอะใจ ขอยกเลิกนัด และกลับมาพาไปหาหมอ จึงตรวจเจอและรักษาด้วยการทำบอลลูนและใส่ขดลวด (Stent Angioplasty)

เมื่อออกจากโรงพยาบาล ก็ปฏิบัติตัวเหมือนผู้ป่วยทั่ว ๆ ไป คือกินยาให้ครบโดส ไม่ขาด และไปพบหมอตามนัดทุกครั้ง แต่ผู้เขียนทำเพิ่มคือค้นคว้าเพิ่มเติม เพราะสัญชาตญาณวิศวกรเราอยากรู้ว่า Why เราจึงเป็นโรคหัวใจได้? คนอื่น ๆ ใช้ชีวิตหัวหกกันขวิดกว่าเราตั้งเยอะ ทำไมเขากลับไม่เป็น? แล้วทำไมก่อนนี้เราใช้ชีวิตชี้ชั่วก็ไม่เคยเป็นอะไร แต่พอเริ่มออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ พักผ่อนมากขึ้นดันมาเป็น…

นอกจากอยากค้นหาสาเหตุแล้ว ผู้เขียนก็สงสัยอีกว่าทำไมต้องกินยาตัวนั้นตัวนี้ กินแล้วจะมี Side Effects อะไรบ้าง? (และเมื่อพบว่า Side Effects ของยากลุ่ม Statin นั้นน่ากลัวมาก ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เขียนอยากเรียนรู้มากขึ้น) และถ้ายากลุ่ม Statinมี Side Effects เยอะแล้ว ทำไมหมอยังยืนยันว่าเราต้องกินไปตลอดชีวิต? แสดงว่าข้อดีต้องมีมากกว่าข้อเสียสิ แล้วทำอย่างไรหลอดเลือดเราจึงจะไม่ตีบหรือตันซ้ำที่จุดอื่น ๆ เช่น สมอง? รวมทั้งช่วงอยู่โรงพยาบาลผู้เขียนตั้งเป้าหมายว่าจะต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงกว่าตอนก่อนเข้าพยาบาลให้ได้เราจึงต้องคิดหาวิธีที่จะทำให้สุขภาพเราแข็งแรงกว่าเดิมให้ได้ จึงต้องมาทำการค้นคว้าส่วนตัว ซึ่งโชคดีมากที่ยุคนี้อะไร ๆ ก็หาได้จากอินเทอร์เน็ตและโชคร้ายที่เราไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง ข้อมูลมีทั้งสอดคล้องกันและขัดแย้งกันเอง นักวิจัยและนายแพทย์ต่างก็ออกมาสนับสนุนข้อมูลของตัวเอง และหักล้างข้อมูลตรงข้ามทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผู้เขียนจึงศึกษาและฟังหมดทุกความเชื่อ ซึ่งใช้เวลาไปมากพอควรเลยทีเดียว แต่ก็สนุกดี เหมือนดูการโต้วาที่ สักพักพอเริ่มจับทางได้ จึงเลือกเฉพาะข้อมูลที่มีผลงานวิจัยมาสนับสนุน ข้อมูลที่จะมาเล่าสู่กันฟัง เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีงานวิจัยรองรับไม่ใช่เพียงแต่บอกต่อ ๆ กันมา ก็ขอให้อ่านกันแบบเพลิน ๆ ก็แล้วกัน ไม่ต้องเชื่อกัน เหมือนรุ่นพี่รุ่นน้องมานั่งคุยกัน เล่าสู่กันฟัง คุยเสร็จก็แยกย้ายกันไปและแต่ละท่านก็จะมีประสบการณ์และพื้นฐานความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปอยู่แล้ว โดยเฉพาะท่านที่เป็นโรค NCD อยู่ ก็ขอให้พูดคุยกับแพทย์ประจำตัวท่าน และปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเสื่อมโรคเรื้อรั้ง มากกว่าป่วยด้วยโรคติดต่อ เพราะวิทยาการทางการแพทย์จะป้องกันและขจัดเชื้อโรคไม่ให้ระบาดได้ดี ส่วนตัวเชื้อโรคต่าง ๆ (โดยเฉพาะเชื้อไวรัส) ก็จะดิ้นรนพัฒนาตัวเองเพื่อความอยู่รอดของตัวมันเองไปเรื่อย ๆ ผ่านการกลายพันธุ์ เช่น Covid 19 อย่างที่เราเผชิญกันอยู่

โรคเสื่อมที่เป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน เราจะรวมเรียกว่า NCD (Non Communicable Diseases) หรือโรคไม่ติดต่อ แต่เกิดจากการเสื่อมลงของสุขภาพและระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุสูงถึง 3 ใน 4 ของการเสียชีวิต (มากกว่าโรคระบาด และอุบัติเหตุ แต่การอุบัติขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อาจเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการเสียชีวิตได้ดังที่กล่าวมาแล้ว) ตัวอย่างของ NCD คือ เบาหวาน ความดันมะเร็งต่าง ๆ โรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับสมอง เช่น อัลไซเมอร์ ความจำเสื่อม ซึ่งเมื่อมีอาการอย่างใด อย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว ก็มักจะเป็นโรคอื่น ๆ หลายโรคดังกล่าวตามมาด้วย และแพทย์จะทำได้เพียงรักษาตามอาการ เนื่องจากอวัยวะหรือระบบต่าง ๆ ไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อีกต่อไป หรือหากเป็นมะเร็ง แพทย์ก็จะทำได้เพียงส่งยาไปไล่จับผู้ร้าย เช่น Chemotherapy ฉายแสง ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่วินิจฉัยว่าโรคพวกนี้รักษาไม่หายขาด เช่น เบาหวาน หรือหายได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หรือไม่ก็ไปเป็นอวัยวะส่วนอื่น เช่น มะเร็ง ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็น NCD ก็เลยจะต้องกินยาตลอดไปทั้งช่วงที่เหลือของชีวิต เพื่อควบคุมอาการของโรคไว้ เช่น ความดัน ไขมัน หรือเพื่อไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปส่วนอื่นได้

ตรวจเช็คสุขภาพ

แต่ก็มีแพทย์และนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งทำการวิจัยพบว่า ต้นเหตุอย่างหนึ่งของโรค NCD (โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง ความดัน ความจำเสื่อม) คือ การที่ร่างกายดื้อ Insulin หรือ Insulin Resistance ไม่ใช้ไขมันในเลือดเป็นหลักอย่างที่บอกต่อ ๆ ตกทอดกันมา และหากเรารักษาอาการดื้อ Insulin ได้ โรค NCD ก็จะสามารถ Reverse หรือหายได้ (ถึง ณ จุดนี้ ผู้เขียนเลือกศึกษาเพิ่มเติมต่อเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวเอง คือโรคหัวใจ ส่วนโรคอื่น ๆ คือ มะเร็ง ความดัน เบาหวาน ผู้เขียนไม่ได้ศึกษาให้ลึกต่อลงไป เพราะจะเน้นที่การดูแลสุขภาพตนเองเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจจะรักษาใคร) สาเหตุที่ผู้เขียนสนใจศึกษาเพิ่มเติม ก็เพราะเห็นว่ามีผลงานวิจัยมาสนับสนุนและซื้อไอเดียวมีวิธีดูแลโรคหัวใจที่เป็นอยู่ได้ โดยไม่ต้องกินยาตลอดชีวิต

เวลาที่เส้นเลือดอุดตันจนเป็นสาเหตุของสโตรกหรือหัวใจวาย สิ่งที่อุดตันคือไขมันและแคลเซียม แพทย์จึงสรุปกันมาว่าไขมันเป็นสาเหตุของโรค NCD (ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมไม่พูดถึงแคลเซียมกัน?) และสาเหตุของการเสียชีวิต และสรุปว่าหากเราลดไขมัน ไขมันก็จะไม่ไปอุดตัน เราก็จะไม่เสียชีวิตจากไขมันอุดตัน แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการควบคุมปริมาณไขมันที่เราบริโภค และหากไขมันในเลือดเรายังสูงอยู่ ก็จะต้องพึ่งยาเพื่อไปกดไม่ให้ไขมันในเลือดเราสูงโดยจุดโฟกัสจะอยู่ที่ LDL และ Cholesterol ซึ่งแนวคิดดังกล่าวฟังดูก็จริงอยู่ว่า หากหลอดเลือดเราอุดตันด้วย ไขมัน เราก็ลดไขมันซะ จะได้ไม่มีอะไรไปอุดตัน แล้วเราก็จะไม่ตายเพราะไขมันอุดตัน (แต่จะตายด้วย Side Effect ของผลที่มุ่งแต่จะลดไขมัน เช่น เบาหวานและ คณะ โรคความจำเสื่อม)

ตรวจเช็คสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม หากเราสงสัยต่อว่า Why, แล้วทำไมต้องมีไขมันไปอุดตัน ณ จุดนั้น ๆ ด้วย? เราก็พบว่าที่จริงแล้วมีงานวิจัยมากมายที่ค้นพบแล้วว่า Why ซึ่งระบุว่าเหตุที่ไขมันไปอุดตันก็เพื่อซ่อมแซมแผลที่หลอดเลือดอันเกิดจากการอักเสบ พูดง่าย ๆ คือ ไขมันทำหน้าที่เป็นปูนไปอุดรอยร้าวที่ผนังหลอดเลือดนั่นเอง ดังนั้นสิ่งที่เราควรแก้ไขคือการไม่ปล่อยให้เกิดรอยร้าวที่ผนังหลอดเลือด ไม่ใช่การกำจัดไขมันซึ่งพยายามอุดรอยรั่ว และสิ่งที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่หลอดเลือดก็คือ Insulin นั่นเอง ทั้งนี้อินชูลินจะมีหน้าที่ออกมาจัดเก็บคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนเข้ากล้ามเนื้อในรูปไกลโคเจน และเข้าเซลล์ในรูปไขมัน เพื่อใช้เป็นพลังงาน ต่อไป

ประเด็น คือ คนเมืองในปัจจุบันจะกินบ่อยและกิน ตลอดเวลา เพราะความสะดวกในการหาของกิน เช่นจากร้านข้าวแกงริมถนนที่ขายกันทั้งวันทั้งคืน และร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโม และได้พัฒนาถึงขั้นสุดยอดเมื่อมีบริการ Grab, Get ฯลฯ จนเด็กรุ่นใหม่แทบไม่รู้จักคำว่าหิวกันแล้ว และประเภทอาหารที่เป็นที่นิยมและหาได้ง่าย ก็จะเป็นจำพวกแป้งและน้ำตาลทั้งนั้น เช่น ชานม เบเกอรี่ ซึ่งร่างกายจะต้องผลิตอินชูลินออกมาเพื่อเก็บอาหารพวกนี้ในรูปไกลโคเจนดังที่กล่าวมา แต่เมื่อเรากินบ่อยหรือกินเยอะเกินจนไม่มีที่เก็บ ร่างกายก็จะแปลงรูปอาหารที่กินเป็นไขมันไปเก็บในเซลล์แทนและเมื่อเราเพลิดเพลินกับการกินไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ใช้พลังงานออกไป ก็เท่ากับร่างกายต้องหลั่งอินซูลินออกมาเพื่อจัดการกับอาหารที่เรากินตลอดเวลา เพราะอินชูลินต้องคอยแปลงอาหารที่กินยัดเข้าไปในเซลล์ในรูปไขมันแล้วเราก็จะค่อย ๆ อ้วนขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งเมื่อเซลล์ไม่สามารถรับไขมันเข้าได้อีกต่อไปแล้ว กระแสเลือดเราก็จะเต็มไปด้วยอินชูลิและน้ำตาลที่ล่องลอยไปทั่วร่างเพราะไม่มีที่ไป ร่างกายก็จะเกิดอาการดื้ออินซูลินซึ่งนำไปสู่โรคเบาหวาน (ที่ผู้เขียนสงสัย คือวิธีการรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบัน คือ เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าน้ำตาลในเลือดสูง (Fasting Blood Sugar หรือ FBS) ก็จะให้ยาเพื่อให้ร่างกายผลิตอินชูลินเพิ่ม หรือฉีดอินชูลิน บนสมมติฐานเพื่อให้อินซูลินไปเก็บน้ำตาลเหล่านั้นเข้าเซลล์ทำไมไม่ตรวจค่าอินชูลินก่อนว่าสูงอยู่แล้วหรือไม่ ซึ่งในคนไข้ที่ดื้ออินซูลินจะพบว่าในร่างกายมีอินซูลินสูงอยู่แล้ว) และในระหว่างทางสู่การดื้ออินชูลินจนกระทั้งเป็นโรคเบาหวาน ร่างกายเราจะเกิดการอักเสบสูง (Inflammation) ซึ่งผลอย่างหนึ่งคือการเกิดการอักเสบที่หลอดเลือดอันนำไปสู่การเป็นหลอดเลือดอุดตันนั่นเอง

ดังนั้น หากเราต้องการป้องกันหลอดเลือดอุดตันที่สาเหตุ ก็คือเราต้องหยุดการหลั่งอินชูลินตลอดเวลาจนร่างกายเราเกิดอาการ “ดื้อ” การจะหยุดไม่ให้อินซูลินออกมาก็คือหยุดต้นเหตุ ซึ่งก็คือหยุดเติมอาหารเข้าสู่ร่างกายเรา (โดยเฉพาะแป้งแปรรูป เช่น เบเกอรี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว หรือที่เรียกกันว่า Refined Carbohydrate ซึ่งจะกระตุ้นอินซูลินมากสุด) นั่นคือที่มาของการทำ Intermittent Fasting หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า IF (ออกเสียงไอเอฟ) ซึ่งไม่เพียงเป็นการให้ร่างกายเราได้พักการหลั่งอินชูลิน แต่ยังช่วยให้ระบบเผาผลาญ ระบบย่อยอาหารของเราได้พักผ่อนอีกด้วย

ที่จริงแล้วการทำ IF หรือการอดอาหารมีมานานแล้วไม่ว่าจะเป็นช่วงรอมฎอนของชาวมุสลิม รวมทั้งพระสงฆ์ซึ่งตามศีลแล้วจะฉันภัตตาหารได้ก่อนเที่ยงวันเท่านั้น แต่การจะให้อดอาหารนั้นฟังดูน่ากลัวมาก ผู้เขียนต้องศึกษารายละเอียด และชั่งใจอยู่นานกว่าจะกล้าทดลองทำ ก็แหมเดิมเที่ยงคืนเรายังนั่งกินข้าวต้มกุ้ย ข้าวมันไก่อยู่เลย แล้วตื่นนอนมาเราก็กินมื้อเช้าตั้งแต่ 6-7 โมงเข้าแล้ว นั่นคือเราไม่เคยอดอาหารเกิน 8 ชั่วโมงเลย แค่นึกว่าจะให้ไม่กินอะไรเลยนานตั้งครึ่งค่อนวัน เราก็กลัวจะมีปัญหา ยิ่งเราเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว มันจะเป็นอะไรช้ำเติมไปอีกหรือเปล่า? ตอนแรกก็ทำเพียงแค่ 12/12 คืองดอาหาร (กินแต่น้ำเปล่า ชาจีน หรือกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล หลักการคือ ไม่กระตุ้นให้อินชูลินออกมา) และค่อย ๆ ขยายเวลางดอาหารออกทีละชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายเราปรับตัว สิ่งที่ผู้เขียนเรียนรู้เพิ่มเติมก็คือประโยชน์อีกอย่างของการทำ Fasting ก็คือ เป็นการฝึกให้ร่างกายเราเป็น Hybrid Burner ด้วย นั่นคือสามารถเป็น Fat Burner ได้ด้วย กล่าวคือ ร่างกายสามารถนำไขมันที่สะสมในร่างกายมาเผาผลาญเป็นพลังงานได้ เพราะพฤติกรรมการบริโภคแบบคนเมืองของเราทั้งประเภทอาหารที่กินและ การกินตลอดเวลา ทำให้ร่างกายเราเผาแต่แป้ง (Sugar Burner) จนกระทั่งไม่นำไขมันมาใช้ ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ว่าเราเป็น Fat Burner ได้จากว่าเราไม่รู้สึกหิวในระหว่าง Fasting และเราจะออกกำลังกายหรือทำงาน ทำกิจกรรมได้เหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิมด้วย เพราะร่างกายเราไม่ได้ขาดพลังงาน แต่ไปนำไขมันมาใช้ นี่คือเหตุผลที่นักกีฬาที่เป็นอิสลาม เช่น Mo Salah หรือนักกีฬามุสลิมทุกคนสามารถวิ่งเตะบอล หรือแข่งขันกีฬาได้ตามปกติในช่วงรอมฎอน

ในระหว่างที่ผู้เขียนปรับร่างกายให้สามารถนำไขมันมาเผาเป็นพลังงานได้ (Fat Burner) ก็จะรู้สึกหิวอยู่บ้างเป็นระยะ ๆประกอบกับความรู้สึกระแวงกลัวว่าสุขภาพจะพัง เราก็แก้ด้วยการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่าเราไม่ได้มักง่ายพาร่างกายเรามาพังด้วยความเชื่อผิด ๆ โดยไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ ผู้เขียนจะเลือกศึกษาเฉพาะจากแพทย์หรือนักวิจัยที่ทำการวิจัยเอง หรือค้นคว้าศึกษางานวิจัยมาเยอะมาก มีผลงานวิจัยจำนวนมากพอมารองรับ (ในไทย ยังหาไม่เจอ เจอแต่นำผลวิจัยไม่กี่ฉบับมาเล่าให้ฟังอีกต่อหนึ่ง) ยิ่งศึกษาก็ยิ่งมั่นใจว่าถึงแม้เราจะเป็นคนกลุ่มน้อย แต่เราทำถูกต้องตามหลักการทุกอย่าง (ย้ำว่าข้อมูลมีทั้งสนับสนุนและ ขัดแย้งการทำ Fasting รวมทั้งรายละเอียดการทำ Fasting ก็แตกต่างกัน ผู้อ่านต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองอย่างมีสติวางใจให้เป็นกลาง และตัดสินใจด้วยตนเองว่าเห็นด้วยหรือไม่) สำหรับผู้เขียนเมื่อมั่นใจแล้วจึงเลิกระแวง และตั้งใจฝึกทำ Fasting อย่างมั่นใจ เวลาหิวเราก็ดื่มน้ำเปล่าสัก 1 แก้วส่วนใหญ่แล้วก็จะหายหิวแล้วก็ลืมมันไปเลย เหมือนเวลาที่เราทำอะไรเพลิน ๆ จนลืมกินข้าว แต่หากผ่านไปสัก 30 นาทีแล้ว ยังรู้สึกหิวอยู่ ก็จะหาผลไม้กินพอให้หายหิวสักคำสองคำ เช่น แอปเปิล ส้ม กล้วย จนปัจจุบันผู้เขียนจะงดอาหารอยู่ประมาณ 14-18 ชั่วโมง และจะมีช่วงเวลากินอาหารอยู่ระหว่าง 6-10 ชั่วโมง กล่าวคือ จะกินมื้อแรกประมาณ 9 โมงครึ่ง มื้อเที่ยงตอนเที่ยง และมื้อเย็นตอนสัก 4-5 โมงเย็น โดยเวลาเราเรียกว่าทำ IF แบบไหน ก็จะเรียกช่วงเวลาที่งดอาหารนำก่อนเช่น หากเราทำ IF 16/8 ก็คือ งดอาหาร 16 ชั่วโมง และมีช่วงกินอาหาร (Feeding Window) 8 ชั่วโมง

อีกสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ IF หรือ Fasting เป็นเรื่องของ When แต่เราก็ยังต้องเลือกกินให้ครบด้วย นั่นคือเรื่องของ What หากเราทำ IF แต่ช่วงกิน เรากินแต่ Junk Food การทำ IF ก็จะไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร และร่างกายก็จะ ขาดสารอาหารอยู่ดี ดังนั้น เราต้องเลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่โดยเฉพาะหมวดวิตามินและเกลือแร่ (นั่นคือกินผักให้ครบ 5 สี วันละ 5-7 หน่วยบริโภค) และลดการกิน Refined Carb หรือแป้งขัดสี แป้งแปรรูป เช่น เบเกอรี่ บิงซู ชานม รวมทั้งปาท่องโก๋ ขนมครก ขนมหวานทั้งหลาย เพราะหาก ร่างกายเราขาดสารอาหาร จะเรียกว่า Starving ไม่ใช่ Fasting นี่คือความแตกต่างระหว่าง 2 คำนี้

ผู้เขียนนำประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่านี้ ไม่ได้มุ่งหวังจะชวนให้มาทำ IF ด้วยกัน แต่อยากให้ฟังเหมือนเวลาเพื่อน ๆ พี่น้องไปเที่ยวที่ไหนที่เราไม่เคยไป หรือไปเจออะไรที่เราไม่เคยเจอ ก็ฟังกันแบบเพลิน ๆ ได้ประสบการณ์กันไป แต่มุ่งหวังอยากชักชวนพวกเราให้ลองย้อนคิดดูว่า วิศวกรอย่างเรา เวลาทำงานจะต้องมีเป้าหมาย มี Deadline ชัดเจนรวมทั้งหลาย ๆ คนก็ตั้งเป้าหมายชีวิตส่วนตัวไว้ด้วยว่า จะมีบ้านมีรถตอนอายุเท่าไร เรามีเป้าหมายในการทำงานทุกอย่างเรามีเป้าหมายทางทรัพย์สินว่าจะมีเงินเท่าไร ตอนอายุเท่านั้นเท่านี้ แต่จะมีสักกี่คนที่ตั้ง “เป้าหมายสุขภาพ” ว่าตอนอายุเท่าไรเราจะมีสุขภาพอย่างไร? ส่วนตัวผู้เขียนเองได้ฉุกคิดเรื่องนี้ในคืนที่ 2 ที่โรงพยาบาล และตั้งเป้าหมายสุขภาพครั้งแรกในคืนนั้น นั่นคือ หลังออกจากโรงพยาบาล เราจะต้องมีสุขภาพแข็งแรงมากกว่าตอนก่อนเข้าโรงพยาบาลให้ได้พอเรามีเป้าหมายหลักปุ๊บ เราก็เริ่มมีทิศทางในการใช้ชีวิตเริ่มศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างจริงจัง แล้วเราก็ลงรายละเอียดเป้าหมายสุขภาพของเราในแต่ละช่วงเวลาครบแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือ ผู้เขียนโชคดีที่มีครอบครัวที่เข้าใจ และมีเป้าหมายสุขภาพชนกัน โดยเฉพาะภรรยา เราจึงใช้ชีวิตประจำวันได้โดยราบรื่น และมีเพื่อน Intania 71 กลุ่มใหญ่มากที่รักการออกกำลังกาย คอยกระตุ้นกันไปวิ่ง การที่เราได้อยู่ท่ามกลาง (ห้องไลน์) คนออกกำลังกายมีผลอย่างมากให้เราสามารถไปออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ

หากท่านใดต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ ทำ IF ผู้เขียนแนะนำให้ศึกษาจาก Dr.Jason Fung ตามลิงก์ https//youtu.be/tluj-oMN-Fk

ส่วนท่านที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องของไขมันกับโรคหัวใจลองศึกษาจาก Dr.David Diamond ตามลิงค์ https://youtu.be/uc1Xs03mxx8

และหากอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์กันตามประสาพี่ ๆ น้อง ๆ ก็ติดต่อมาที่ ID Line 0866446659 หรือ FB messenger ที่ Apiwat Tham กันได้เลยนะครับ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ เก็บมาฝาก โดย อภิวัฒน์ ธรรมวิวัฒนุกูร วศ.30


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save