เมื่อไม่นานมานี้ กองบรรณาธิการ วารสารอินทาเนีย มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์ อัญชลี ชวนิชย์ วศ. 2512 นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร ถึงบทบาทและหน้าที่ของสมาคมฯ ในการส่งเสริม ESG ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ ไทย
บทบาทในการส่งเสริม ESG ของโรงงานอุตสาหกรรม
นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทยจะอยู่ภายใต้นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจมีกฎหมายเป็นของตัวเอง จัดตั้งมาเข้าปีที่ 53 ถือว่าเติบโตมาด้วยประสบการณ์ที่มากพอสมควร จะเห็นได้ว่านิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงเป็นวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปี แรกที่ดึงอุตสาหกรรมเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เราเน้นเรื่องสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้มีความสมบูรณ์เป็นหลัก เมื่อโลกเปลี่ยนไป ความคาดหวังของคนที่จะมาลงทุนในอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนไป 10 ปี ต่อมาเราต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพราะมีอากาศเสีย น้ำเสีย ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน โรงงานต้องปรับตัวเองหันมาดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากขึ้น และยุคต่อมาจะมีในเรื่องของ Environment, Social และ Governance เข้ามาเกี่ยวข้องตามลำดับ และเมื่อเข้ายุคที่ 40 ปี ของนิคมฯ เริ่มมีเรื่องของ Eco Industrial เข้ามา เพราะฉะนั้นโรงงานมีเรื่อง ESG และเราถือว่าเป็นคีย์หลักของ Sustainable Development เมื่อถึงยุคปัจจุบันนิคมฯ ต้องพัฒนาเป็น SMART ECO Industrial Estates โรงงานที่อยู่ในนิคมฯ จะมีเรื่องนี้เป็นเป้าหมายเดียวกัน
“โดยเฉพาะในยุคนี้ทุกคนยอมรับว่าเรื่อง Climate Change มีผลกับสภาพแวดล้อมและบรรยากาศมาก ทุกคนจะต้องรับภัยพิบัติร่วมกัน วันนี้ที่โลกเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะ เรา ผู้พัฒนานิคมฯ หรือโรงงาน ทุกคนต้องมีเป้าหมายเดียวกัน เมื่อเราอยู่บนโลกเราต้องกลับมาปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง เราจะเห็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่อยู่บนโลกนี้รวมถึงประเทศไทยที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายใต้ ESG”
เมื่อ 50 ปี ที่ผ่านมาจะเห็นว่าโรงงานใหญ่ ๆ ในนิคมฯ พร้อมที่จะทำตามกฎเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกัน ภาครัฐจะให้การดูแลสนับสนุน และมองว่าเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งที่เราสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมีอุตสาหกรรมเข้ามาและยังสามารถดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน และธรรมาภิบาลได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรามีโรงงานใหญ่ ๆ ประมาณ 5,000 กว่าโรงงาน หลายล้านๆ บาทที่มีการลงทุนอยู่ในนิคมฯ บนพื้นที่ประมาณ 200,000 ไร่ ถือว่าเป็นทิศทางกลยุทธ์ของประเทศที่ถูกต้อง
บทบาทสำคัญของนิคมฯ
จะเห็นว่าทิศทางที่นิคมฯ ทำจะเน้นในเรื่องของ Green Industrial Estates มาตรฐานต่าง ๆ ของโรงงานต้องได้ตามมาตรฐานที่ทางเรากำหนด เช่น เรื่องมาตรฐานน้ำทิ้ง ทุกโรงงานต้องส่งน้ำเสียเข้าสู่ระบบส่วนกลางของทางนิคมฯ นิคมฯ จะเป็นผู้ทิ้งออกสู่ด้านนอก เป็นมาตรฐานที่เข้มงวด ทางนิคมฯจะกำหนดมาตรฐานให้ทางโรงงานต้องทำตาม ซึ่งเป็นหน้าที่และเราต้องกำกับดูแลเขา ซึ่งเราดูแลกันได้เพราะใกล้ชิด และสามารถที่จะดูผ่านระบบออนไลน์ได้ ค่อนข้างมั่นใจว่าทุกโรงงานที่อยู่ภายใต้นิคมฯ เขาจะยอมรับ ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวด
“หน้าที่ของนิคมฯ คือ การกำหนดมาตรฐาน กำกับ และส่งเสริม โดยมีมาตรฐานจูงใจเข้ามามีส่วนช่วย จะทำให้ทุกโรงงานตื่นตัว และทำตามกฎเกณฑ์เพราะมีตัวชี้วัดเข้ามาเกี่ยวข้อง”