นิติกรรมสัญญา...วิศวกรควรรู้

นิติกรรมสัญญา…วิศวกรควรรู้


มนุษย์มีความผูกพันกับกฎหมายมาตั้งแต่แรกเกิด กฎหมายกำหนดไว้ว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอด แล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย” กฎหมายไทยย่อมใช้บังคับเฉพาะแต่ในราชอาณาจักร ซึ่งหมายความถึงให้ใช้บังคับแก่การกระทำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร แต่จะบังคับใช้บุคคลใดจะใช้ “หลักดินแดน” หมายความว่ากฎหมายไทยย่อมบังคับแก่บุคคลทุกคนที่อยู่ภายในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว

กฎหมายแบ่งแยกตามเนื้อความของกฎหมายได้เป็น 3 ประเภท

  1. กฎหมายมหาชน ได้แก่กฎหมายที่กำหนดตามสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร รัฐจึงมีฐานะเหนือราษฎร
  2. กฎหมายเอกชน ได้แก่กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันในฐานะเท่าเทียมกัน
  3. กฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกัน

นิติกรรม คือการใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

สัญญา คือนิติกรรมชนิดหนึ่ง แต่เป็นนิติกรรมที่มีบุคคล 2 ฝ่ายหรือมากกว่านั้นมาตกลงกัน โดยแสดงเจตนาเสนอและสนองตรงกัน ก่อให้เกิดสัญญาขึ้นสัญญาย่อมก่อให้เกิดหนี้ เกิดความผูกพันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ โดยที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามกฎหมาย สัญญาระหว่างคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นเอกชนจะใช้กฎหมายเอกชน แต่หากคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นภาครัฐก็จะใช้กฎหมายมหาชน

บทความนี้จะเน้นไปที่สัญญาจ้างทำของซึ่งมักใช้ในงานวิศวกรรม สัญญาจ้างทำของคือสัญญาที่ผู้รับจ้างตกลงทำการงานสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง โดยที่ผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จของงานนั้น สาระสำคัญของสัญญาจ้างทำ ของคือผลสำเร็จของงานที่จ้าง ลักษณะจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ควรรู้ ได้แก่

มาตรา 587
อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

มาตรา 592
ผู้รับจ้างจำต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของผู้ว่าจ้างตรวจตราการทำงานได้ตลอดเวลาที่ทำอยู่นั้น

มาตรา 593
ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้า ฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้างจนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่า การนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงกำหนดส่งมอบของนั้นเลย

มาตรา 596
ถ้าผู้ว่าจ้างส่งมอบการที่ทำ ไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดีหรือถ้าไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดีผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลงหรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

การที่ผู้รับจ้างปฏิบัติงานตามสัญญาถูกต้องตามแบบ รูป รายการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ย่อมไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหาที่พบเห็นบ่อยคือกรณีคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา และต้องมีการปรับจนบางครั้งต้องยกเลิกสัญญากัน จะมีข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องคือ

มาตรา 381
ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ถูกต้องตามสมควร เช่นว่า ไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันพึงจะริบนั้นด้วยก็ได้

ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้อง สมควร ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 380 วรรค 2
ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้

มาตรา 383
ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป

มาตรา 391
เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิบุคคลภายนอกหาได้ไม่

ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้ และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์สินนั้น การจะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆหรือถ้าในสัญญามีกำหนดให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น

กรณีที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งคือภาครัฐ และเป็นสัญญาปกครองที่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้คู่สัญญาเข้าดำเนินการบริการสาธารณะ สัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีสิ่งที่เป็นสาธารณูปโภค หากท่านเป็นผู้บริหารโครงการ และท่านได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากคู่สัญญาได้ใช้สิทธิตามสัญญาหักเงินค่าปรับมากเกินสมควร หรือดำเนินการบอกเลิกสัญญา ท่านสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองในเขตอำนาจศาลที่ดูแลสัญญาพิพาท ดังกล่าว โดยขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาให้คืนค่าปรับบางส่วนหรือทั้งหมดในกรณีที่การปรับไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ พิพากษาให้จ่ายค่างานที่ได้กระทำไปก่อนบอกเลิกสัญญา แนวทางการสู้คดีกรณีผู้ว่าจ้างเรียกค่าปรับสูงเกินควร ให้อ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 มาตรา 391 ประกอบกับข้อกำหนดในสัญญาที่ยึดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ที่ระบุว่า ในกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงไว้ และต้องมีการปรับตามสัญญา หรือข้อตกลงนั้น หากจำนวนเงินค่าปรับเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้หน่วยงานพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ก็ให้พิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น เจตนารมณ์ก็เพื่อให้หน่วยงานบริหารสัญญามิให้เกิดความล่าช้า เพื่อป้องกันความเสียหายเนื่องจากการปฏิบัติตามสัญญาล่าช้าเกินแล้ว ยังเพื่อมิให้จำนวนค่าปรับมากเกินสมควรซึ่งเป็นภาระต่อคู่สัญญา เนื่องจากมิได้มุ่งให้หน่วยงานแสวงหาประโยชน์จากค่าปรับจนถึงขนาดเงินค่าปรับสูงเกินส่วน สำหรับกรณีผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาก็ใช้มาตรา 391 ที่ให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม การงานอันได้กระทำให้ และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์สินนั้น การจะชดใช้คืนท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น

ท้ายสุด นิติกรรมอีกชนิดหนึ่ง เมื่อผู้รับจ้างทำงานแล้วเสร็จและคณะกรรมการตรวจการจ้างตัวแทนผู้ว่าจ้างได้ตรวจสอบและลงลายมือชื่อในใบตรวจรับงานเป็นหลักฐาน หากผู้รับจ้างต้องการเบิกเงินก่อนระหว่างรอขั้นตอนการเบิกจ่ายก็สามารถทำ ได้ เรียกว่าการโอนสิทธิเรียกร้อง ความหมายคือ การที่เจ้าหนี้ตกลงยินยอมให้โอนสิทธิที่เรียกให้ลูกหนี้ใช้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง มีผลให้บุคคลผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนเจ้าหนี้คนเดิม และมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เช่นเจ้าหนี้เดิม ในทางปฏิบัติผู้รับโอนส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการเงินโดยใช้ใบตรวจรับงานเป็นหลักประกัน จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่ 2 มาตรา ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 303
สิทธิเรียกร้องนั้น ท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ ความที่กล่าวมานี้ย่อมไม่ใช้บังคับ หากคู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น การแสดงเจตนาที่ว่านี้ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต

มาตรา 306
การโอนหนี้อันพึงจะต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่ง การโอนหนี้นั้น ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมการโอนนั้นคำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ต้องทำเป็นหนังสือ

นิติกรรมสัญญาที่วิศวกรควรรู้โดยมีตัวบทกฎหมายประกอบ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ เก็บมาฝาก โดย ชัยภัทร ศรีไทย วศ.17


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save