Lean และ Simulation เครื่องมือในการสร้างคุณค่าองค์กร

Lean และ Simulation เครื่องมือในการสร้างคุณค่าองค์กร


ในโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน องค์กรต่างมุ่งแสวงหาแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ แนวคิด Lean และ Simulation ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงกระบวนการทำงาน ลดความสูญเปล่า และตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ได้อย่างแม่นยำ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงบทบาทและคุณค่าของเครื่องมือทั้งสองนี้อย่างลึกซึ้ง ทางกองบรรณาธิการวารสารอินทาเนีย ได้รับเกียรติจาก ณัฏฐิกา เดชคุณากร วศ.2542 Lean and Simulation Specialist บริษัท Virtual Manufacturing (Thailand) Co., Ltd. มาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ พร้อมทั้งแนะแนวทางการประยุกต์ใช้ Lean และ Simulation ในการสร้างคุณค่าให้องค์กรไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม

หัวใจสำคัญของ Lean คือ “เน้นสิ่งที่ทำแล้วเกิดคุณค่ามาก”

ณัฏฐิกา เดชคุณากร
ณัฏฐิกา เดชคุณากร

ณัฏฐิกา เดชคุณากร กล่าวว่า ได้ค้นพบ Lean ใน ค.ศ. 2019 อายุประมาณ 30 กว่า ๆ เรียนจบด้านไฟฟ้าและแมคคาทรอนิกส์ ทำงานด้าน Automation มาโดยตลอด ในความคิดมองว่า วิศวฯ จะอยู่ในฝั่งของเทคโนโลยี สำหรับศาสตร์ทางด้านบริหารจัดการ โดยเฉพาะ Industrial Engineering (ทัศนคติส่วนตัว) ค่อนข้างมีทัศนคติเชิงลบ เพราะคิดว่าไม่มีความน่าสนใจเหมือนกับเทคโนโลยี ไม่สนุกเหมือนการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์และตนได้ทำงานสายนี้มาโดยตลอด 10 กว่าปี ตั้งแต่เรียนจบปริญญาโท ทำงานช่วยคุณพ่อขายเครื่องจักรและทำงานด้าน PLC (ระบบควบคุมในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่) หลังจากนั้นทำงานในโรงงานของสามี ผลิตช็อกโกแลต ลูกอม และขนมต่าง ๆ คลุกคลีและใกล้ชิดกับเทคโนโลยีมาโดยตลอด จนกระทั่งมีโอกาสได้เรียนหลักสูตร Lean ที่สอนโดย Denso International Asia จึงได้เปิดใจมากขึ้น และเห็นว่า Lean มีความสำคัญ สามารถแก้ปัญหาในสิ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถแก้ได้ ซึ่งปัญหาหลาย ๆ อย่างมาจากมนุษย์

ในมุมมองของ Lean สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการเข้าใจแก่นแท้ของ “คุณค่า” ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของแนวคิดนี้ กล่าวคือ การพิจารณาว่าในกระบวนการทำงานแต่ละขั้นตอนนั้น สิ่งใดคือคุณค่าที่แท้จริงที่องค์กรสามารถส่งมอบให้แก่ลูกค้าได้ เมื่อมองเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า อะไรคือสิ่งที่สร้างคุณค่าและอะไรที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่า กระบวนการปรับปรุงจึงเริ่มต้นขึ้น องค์กรจะต้องมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มพูนสิ่งที่สร้างคุณค่าให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องลดความสำคัญ หรือลดการดำเนินการในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าลงอย่างเป็นระบบ แนวทางนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ได้รับการถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงแรกที่แนวคิด Lean ได้นำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าและยังคงใช้ได้อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แนวคิด Lean ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การแยกแยะคุณค่าหรือการลดความสูญเปล่าเท่านั้น หากแต่ยังให้ความสำคัญกับหลักการของ “การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” (Continuous Improvement) ด้วย แม้องค์กรจะสามารถยกระดับสู่การเป็นอุตสาหกรรมชั้นนำในระดับโลกได้แล้วก็ตาม กระบวนการเรียนรู้และปรับปรุงก็ไม่ควรหยุดนิ่ง ทุกองค์กรควรมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ เพราะในโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันจำเป็นต้องอาศัยการปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ และนวัตกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณค่าให้แก่องค์กรได้อย่างยั่งยืน

Simulation คือเครื่องมือสำคัญในการช่วยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของ Simulation คือ เครื่องมือสำคัญในการช่วยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อใดที่เราต้องพัฒนาเราต้องอยู่กับกระบวนการนั้นและมองเห็นปัญหาที่เจอซ้ำ ๆ ทั้งผู้ปฏิบัติการ ลูกค้า รวมถึงเจ้าของธุรกิจ เมื่อรู้ถึงปัญหาแล้วต้องหาสาเหตุของปัญหานั้นว่าคืออะไร ซึ่งจะมีกระบวนการและเครื่องมือของ Lean ในการช่วยหาสาเหตุของปัญหานั้นว่ามีอะไรบ้าง อาจจะมีการทดลองดูว่าใช่ปัญหาเหล่านั้นจริงหรือไม่ เมื่อหาสาเหตุเจอแล้วเราจะต้องดูว่าจะสามารถแก้หรือปรับปรุงได้อย่างไรและ Simulation ยังเป็นเครื่องมือช่วยให้เราตัดสินใจว่าวิธีใดจะตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาในบริบทขององค์กร

ความจำเป็นของ Lean สำหรับอุตสาหกรรมในไทย

Lean กับธุรกิจไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ธุรกิจเป็นกระบวนการชนิดหนึ่งในการทำงานให้เกิดคุณค่าส่งมอบให้แก่ลูกค้า และลูกค้าตอบแทนคุณค่าเหล่านั้นกลับมาเป็นผลกำไรของบริษัท หากอยากมีธุรกิจที่ยั่งยืน ต้องมีการสร้างคุณค่าและความเชื่อมั่น มีกระบวนการที่สร้างความมั่นใจว่าเราส่งมอบคุณค่าเหล่านั้นให้แก่ลูกค้าแล้ว ไม่ว่าจะทำธุรกิจผลิต บริการ หรือซื้อมาขายไป Lean สามารถช่วยได้ ทำให้เราไม่หลงทางกับสิ่งที่ทำอยู่

หากยกตัวอย่างเรื่องธุรกิจ เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า มองว่าลูกค้าของเราคือกลุ่มไหน เราตัดเย็บโดยตรงให้แก่ผู้บริโภคหรือในรูปแบบ B2C หรือเราขายให้แก่ Suppler เพื่อไปส่งต่อให้ลูกค้า ซึ่งความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกัน ความง่ายในการเลือกซื้อสินค้าเราให้ความสำคัญในเรื่องนี้หรือไม่ ถ้าให้ความสำคัญจะต้องเพิ่มความใส่ใจในเรื่องนี้มากขึ้น เช่น การลดต้นทุน ซึ่งบางครั้งไม่ตอบโจทย์คุณค่าของลูกค้าเราเสมอไป ยิ่งลดต้นทุนมากเท่าไรเราอาจได้กำไรมากขึ้นในระยะสั้น แต่ระยะยาวสามารถรักษาความพึงพอใจของลูกค้าและความยั่งยืนของธุรกิจเราได้หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างยิ่ง เพราะถ้าเชื่อว่า Lean คือคุณค่า เราจะไม่ได้มองเพียงต้นทุนหรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว

สำหรับตัวอย่างที่ 2 คือ ธนาคาร อาจใช้วิธีการลดสาขา ลดคน และเพิ่มบริการออนไลน์ เพราะบริการธนาคารส่วนหนึ่งเป็นบุคคลทั่วไปแบบเรา และกลุ่มลุกค้าธุรกิจจะต้องมีทีมบริการที่ตอบโจทย์ธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มลูกค้าทั่วไปอาจใช้บริการผ่านมือถือจะสะดวกสบายมากกว่า และอาจเพิ่มทีมที่ให้บริการผ่านมือถือให้ตอบโจทย์ลูกค้า และลดต้นทุนหรือสิ่งที่ลูกค้าไม่ต้องการออกไป เช่น การใช้บริการที่สาขา

Lean เริ่มต้นจากทัศนคติ

จากประสบการณ์การทำงานในฐานะที่ปรึกษาให้แก่องค์กรขนาดใหญ่ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ทำให้พบว่า ไม่ว่าองค์กรจะเล็กหรือใหญ่ ต่างก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ แม้จะมีทรัพยากรและศักยภาพที่สูง แต่บ่อยครั้งกลับพบว่า การปรับเปลี่ยนทัศนคติภายในองค์กรเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แม้ว่าจะมีความพยายามในการแยกธุรกิจออกมา (Spin off) ให้กลายเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่คล่องตัวขึ้น แต่กระนั้นก็ตาม ธุรกิจย่อยเหล่านี้ยังคงต้องอยู่ภายใต้กรอบของนโยบาย การตัดสินใจ และคำสั่งการที่กำหนดโดยองค์กรแม่ ทำให้ความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการมีข้อจำกัด

ในทางตรงกันข้าม องค์กรขนาดเล็ก หรือรัฐวิสาหกิจชุมชน กลับมีจุดแข็งในเรื่องของความยืดหยุ่น คล่องตัว และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบัน

โดยส่วนตัวแล้ว เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า Lean เริ่มต้นจาก “ทัศนคติ” และทัศนคติของเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะไม่ต้องใช้ต้นทุนใด ๆ ในการเริ่มต้น หากเรามีทัศนคติที่มุ่งมั่น ต้องการให้ธุรกิจของเราสร้างคุณค่าได้อย่างแท้จริง และทำทุกวันเท่าที่กำลังเรามี ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับใครในระดับประเทศ แต่เลือกทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าดี และมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากขนาดเล็ก ๆ ไปสู่ความยั่งยืน หากดำเนินการเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลานาน 10-30 ปี ธุรกิจเล็ก ๆ ของเราก็สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

Lean ไม่ได้เป็นแนวคิดที่ต้องใช้ต้นทุนสูง หากแต่เป็นเรื่องของทัศนคติของเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารเป็นสำคัญ หากเราสนใจศึกษาแนวคิด Lean อย่างจริงจังและเข้าใจว่าแนวคิดนี้สามารถช่วยยกระดับธุรกิจของเราได้ ก็สามารถเริ่มต้นได้ทันทีจากตัวเราเอง โดยไม่จำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาในขั้นเริ่มต้น เพียงเริ่มต้นทำทุกวัน หากพบอุปสรรคหรือติดขัด ก็ใช้วิธีค่อย ๆ ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งที่เป็นหลักสูตรฟรีและหลักสูตรที่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงหมั่นสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงกับผู้คนรอบตัว เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถึงวันที่เราสั่งสมความรู้และนำแนวคิด Lean มาปฏิบัติได้อย่างเต็มศักยภาพแล้ว ผลลัพธ์จะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ธุรกิจของเรามีประสิทธิภาพดีขึ้น มีกำไรเพิ่มขึ้น และมีศักยภาพในการขยายกิจการได้มากขึ้นในอนาคต ซึ่งในจังหวะเวลานั้น หากต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ ก็สามารถเริ่มต้นพิจารณาการจ้างทีม Lean ไม่ว่าจะเป็นทีมภายในหรือทีมที่ปรึกษาภายนอก ได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพและกำลังขององค์กร ทั้งนี้ ควรเป็นการเติบโตตามธรรมชาติ ไม่เร่งรีบหรือก้าวกระโดดจนเกินตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนจ้างทีมที่ปรึกษาในราคาสูงตั้งแต่เริ่มต้น เพียงเริ่มจากการปรับทัศนคติของเราเองให้สอดคล้องกับหลักการ Lean ก็เพียงพอที่จะนำพาธุรกิจเติบโตไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

ความสำเร็จขึ้นอยู่กับเจ้าของหรือผู้บริหาร

ความสำเร็จ

การทำให้ Lean ประสบความสำเร็จในองค์กรนั้นต้องอาศัยความเข้าใจและการปฏิบัติที่มาจากการมี “ทัศนคติ” ที่ถูกต้องจากผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจเป็นหลัก หากผู้นำองค์กรมีความเชื่อมั่นในแนวคิด Lean และตัดสินใจที่จะนำมาใช้จริง พวกเขาก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ทีมงานในทุก ๆ เรื่อง และสิ่งนี้จะสะท้อนออกมาใน Culture ขององค์กรในที่สุด ตัวอย่างเช่น หากผู้บริหารเชื่อว่า “พนักงานในองค์กรควรจะขยันและมุ่งมั่นในงาน” ต้องขยันและมุ่งมั่นก่อน โดยแสดงให้พนักงานเห็นในทุก ๆ การกระทำ ไม่ใช่การพูดเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับการที่ผู้บริหารเชื่อว่า “พนักงานควรมีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดเวลา” ต้องแสดงให้เห็นด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง ก่อนที่จะคาดหวังให้พนักงานทำตาม

การสร้างองค์กรที่มีความพึงพอใจสูงสุดจากลูกค้า ก็ต้องเริ่มจากตัวผู้บริหารที่แสดงออกถึงการมีมาตรฐานในการให้บริการที่ดีที่สุด สิ่งนี้จะกลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งในองค์กร ทำให้พนักงานสามารถเข้าใจได้ว่า องค์กรนี้มีเป้าหมายและทิศทางอย่างไร การปฏิบัติตาม Core Value ที่มีร่วมกันจะเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกัน เมื่อพนักงานหรือคนในองค์กรเห็นภาพรวมแล้ว พวกเขาก็จะรู้สึกว่า พวกเขาคือส่วนหนึ่งของทีมที่มีความเชื่อเดียวกัน และมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน

การสร้าง Core Value ที่ชัดเจนและตรงกับแนวทางที่ผู้บริหารต้องการนั้นไม่ได้หมายความว่า ทุกคนในองค์กรจะเห็นพ้องต้องกันในทันที หากมีบุคคลใดที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรได้ พวกเขาก็จะค่อย ๆ หลุดออกไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยให้ทีมที่เหลือมีความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นในแนวทางเดียวกัน และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเป็นทีมขนาดเล็กแต่ก็สามารถทำงานได้อย่างมีพลัง

การพัฒนาและปรับปรุงองค์กรไม่ต่างอะไรกับการออกกำลังกาย การที่เราจะลดน้ำหนักหรือต้องการสุขภาพที่ดีนั้น ไม่สามารถทำได้ในวันเดียว แต่คือการทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน การที่องค์กรตัดสินใจเริ่มต้นใช้ Lean นั้นก็เช่นกัน จะเห็นผลจริงเมื่อมีการดำเนินการที่สม่ำเสมอและค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ หากเราทำตามขั้นตอนอย่างจริงจัง ค่อย ๆ พัฒนาในทุก ๆ วัน ผลลัพธ์ที่เราหวังจะเกิดขึ้นตามมาแน่นอน โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องระยะเวลาว่าจะสำเร็จเมื่อไร เพราะการลงมือทำในทุกวันก็คือความสำเร็จแล้วในตัวเอง

หากองค์กรหรือธุรกิจสามารถทำ Lean ได้สำเร็จ มันจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมและปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นได้ทันที และเมื่อพัฒนาจนบรรลุเป้าหมายแล้ว ก็จะช่วยสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้แก่องค์กรได้อย่างยาวนาน โดยไม่จำเป็นต้องรีบร้อน เพราะการเติบโตที่มั่นคงนั้นสำคัญกว่าการโตอย่างรวดเร็วที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในอนาคต

ข้อเสนอสำหรับน้อง ๆ วิศวฯ จุฬาฯ

ความสำเร็จเป็นสิ่งหอมหวาน ประโยคหนึ่งที่ชอบมากคือ You are not success machine คุณไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เป็นเครื่องสร้างความสำเร็จ เชื่อว่ามนุษย์เรามีหลากหลายนิสัย โดยเฉพาะบุคคลที่มีความคลั่งไคล้เรื่องงาน หรือคลั่งไคล้เรื่องความสำเร็จ หรือความ Perfect สุดท้ายแล้วหากเราทำให้ดีแค่ไหน สุดท้ายอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตจริง ๆ บางครั้งเราทุ่มเทกับความสำเร็จมากไป จนเราอาจหลงลืมสิ่งรอบตัวเรา ทุกคนควรมีความ Balance นี่คือมุมมองของคนอายุ 40 ปี หากน้อง ๆ อายุเพียง 20 ปี อยากลองอะไรให้ลอง อย่าไปกลัวผิด เมื่ออายุ 30 ปี เริ่มลองมาหลายอย่างควรจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และให้ความสำคัญเต็มที่ แต่เมื่ออายุ 40 ปี อาจจะต้องดูว่างานที่เราทำอยู่กลายเป็นตัวตนเราไปผูกอยู่กับงานมากไปไหม ถอยกลับมาได้ไหม และสิ่งสำคัญสำหรับน้อง ๆ ที่กำลังจะเรียนจบ คือ ไม่ควรทำงานเพียงอย่างเดียว ควรทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น ฟรีแลนซ์ เนื่องจากในยุคนี้เศรษฐกิจไม่ดี อาจทำงานที่ไม่ได้เป็น Full Time เช่น น้องคนหนึ่งเรียน Software Engineer ซึ่งเขาชอบงานศิลปะ เขาทำดิจิทัล อาร์ต ศิลปะออกมาขาย ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีแต่มีงานอดิเรกหรือฟรีแลนซ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เป็นความ Balance ที่ดีมาก ๆ โลกสมัยใหม่เราสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2568 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save