อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย

อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 1


โดย ดร.สหัส บัณฑิตกุล (วศ.2510)


บทความสำหรับวารสารฉบับนี้ ผมขอพูดถึงเกร็ดประสบการณ์ที่นำมาสู่แนวคิดที่ว่า “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย” ผมหมายความเช่นนี้จริงๆ หรือถ้าจะขยายข้อความให้กระจ่างขึ้นอีก ก็อาจเป็นว่า “อย่าเรียนหนังสืออย่างเดียว ต้องเรียนงาน และท่องเที่ยวเดินทางไปด้วย” แต่ต้องรู้จักเที่ยวหรือท่องเที่ยว เลี่ยงที่อโคจร และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรหากิจกรรมทำไปด้วย แต่หมั่นเตือนตัวเองเสมอว่าระหว่างเป็นนักเรียนการเรียนต้องอยู่ในลำดับต้น ถ้าเรียนจบทำงานแล้วงานก็ต้องมาก่อน ใช้วันหยุดหรือนอกเวลางานให้เป็นประโยชน์ เวลาเดินทางผมจะใช้ที่พักเพียงเพื่ออาบน้ำและนอนเป็นหลักเท่านั้น ที่เหลือคือออกหาประสบการณ์เมื่อมีเวลาเป็นส่วนตัวแล้ว

การเรียนรู้ผสมผสานกับการท่องเที่ยวช่วยให้เราได้เห็นวัฒนธรรมหลากหลาย ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและการทำงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเจรจาต่อรอง ที่หากเราเข้าใจในวัฒนธรรมของคู่เจรจา เช่นมาจากพื้นที่ใด หรือวิชาชีพใด จะทำให้เราเข้าถึงจิตใจเขาได้ง่ายขึ้น ช่วยเสริมประสิทธิภาพและไหวพริบในการเจรจา หากเริ่มไม่ถูกทางอาจทำให้คู่เจรจารู้สึกอยากปฏิเสธไว้ในใจแต่เริ่มแล้ว เราสามารถนำไปใช้ได้กับงานทั้งด้านเทคนิค (Technical) และไม่เฉพาะเทคนิค (Non-technical) ซึ่งมีความผูกโยงกันเสมอ ผมเองได้นำไปใช้บรรยายด้วยในหัวข้อ “การเจรจาต่อรองและจัดการข้ามวัฒนธรรม ( Negotiation & Cross-Cultural Management)” หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เกิดแนวคิดและแรงกระตุ้นต่ออนุชนรุ่นหลัง ที่อาจเลือกนำไปใช้ประโยชน์ได้

ผมสนใจเรื่องเที่ยวมาแต่เด็ก แต่ไม่มีโอกาสมากนัก ได้แต่อ่านจากหนังสือหรือดูจากโทรทัศน์ แม่บอกว่าตอนเด็กเมื่อเริ่มอ่านหนังสือได้ พอกลับมาจากโรงเรียนก็มักจะเอาหนังสือเล่มเดิมๆมาอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เที่ยวรถไฟ” ตัวเอกเป็นเด็กสองคนชื่อเรณูและปัญญา ที่นั่งรถไฟเที่ยวชมวิวทิวทัศน์สองข้างทางกันไป เมื่อรถจอดตามสถานีก็จะมีของมาขาย เช่น ข้าวเหนียวไก่ย่าง ไข่ต้ม อ้อยควั่น ฯลฯ ทำให้นึกอยากเที่ยวบ้าง และช่วงหนึ่งของชีวิตก็ได้มาทำงานที่การรถไฟฯ

สมัยนั้นโทรทัศน์เป็นขาว-ดำ มีอยู่ 2 ช่อง คือช่อง4ไทยทีวี บางขุนพรหม (ออกนิตยสารรายเดือนชื่อ “ไทยโทรทัศน์”) และช่อง7กองทัพบก สนามเป้า (ออกนิตยสารรายเดือนชื่อ “แฟนสัมพันธ์”) มีรายการเฉพาะช่วงเย็นค่ำราวห้าโมงเย็นถึงห้าทุ่มกว่า ยกเว้นวันหยุดที่มีกลางวันด้วย ไม่ได้มีทั้งวันอย่างเดี๋ยวนี้ จำว่าเวลาช่อง7เปิดสถานีจะมีรายการชื่อว่า “โทรทัศนาจร” มีภาพวิวทิวทัศน์ต่างประเทศมาฉายพร้อมดนตรีเบาๆของท้องถิ่นนั้นๆประกอบ ผมชอบนั่งดู แต่ที่ไม่พลาดคือรายการสารคดีท่องเที่ยวที่มักจะพาไปดูการผลิตสินค้าพื้นบ้านพร้อมไปด้วย เช่นการทำทุเรียนกวน น้ำตาลปี๊บ ฯลฯ ได้แก่รายการ “เที่ยวเมืองไทยไปกับโอวัลติน” น่าจะทางช่อง4 และ “สองข้างทางรถไฟ” น่าจะมาทีหลัง และทางช่อง7

สมัยเด็กที่บ้านรับนิตยสารรายสัปดาห์สำหรับเด็กมาไว้ให้อ่านกันชื่อ “ดรุณสาร” มีฉบับหนึ่งลงบทความเกี่ยวกับดิสนีย์แลนด์ (Disneyland) พร้อมภาพบนหน้าปก สร้างความใฝ่ฝันให้อยากเห็นอยากไปเที่ยวมาก ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างริบหรี่ เพราะแม่ยังมีหนี้สินที่ต้องชดใช้แทนจากการไปค้ำประกันให้ญาติสนิท (แม่สั่งไว้ ห้ามค้ำประกันให้ใคร ไม่ว่ามาด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น) แต่ในที่สุดเมื่อโตขึ้นผมก็ได้ไปเที่ยวดิสนีย์ ตั้งใจไปทุกที่ที่มี และก็ไปมาหมดแล้ว เรียงตามลำดับที่ไปคือ ดิสนีย์เวิลด์ ฟลอริดา, ดิสนีย์แลนด์ ลอสแอนเจลิส, โตเกียวดิสนีย์, ยูโรดิสนีย์ ฝรั่งเศส, ฮ่องกงดิสนีย์ และ เซี่ยงไฮ้ดิสนีย์ บางแห่งไม่มีใครไปด้วยก็ไปคนเดียว คิดว่าถ้ามีดิสนีย์เปิดใหม่ที่ไหนก็จะไปอีกให้ครบ

ตัวอย่างภาพปกนิตยสารดรุณสาร
ตัวอย่างภาพปกนิตยสารดรุณสาร ซึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์สำหรับเด็ก เริ่มตีพิมพ์ฉบับแรกราวปลายปีพ.ศ.2498
[ภาพเพื่อการศึกษา จาก Google Images]
สมัยเรียนชั้นมัธยมไม่ค่อยได้ไปไหนมาก นอกจากเล่นกีฬาพอสนุก และดูกีฬานักเรียนเช่นฟุตบอล รักบี้ มวย เพราะทางโรงเรียน (อำนวยศิลป์) ส่งแข่งหลายประเภทกีฬา พอเข้ามหาวิทยาลัย (วิศวจุฬา ปี 2510) ก็เลยทำกิจกรรมหลายชมรม เช่นชมรมวิชาการ ชมรมบริการโลหิตและสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ตอนปิดเทอมต้นปี 2 ไปกับชมรมปาฐกถาและโต้วาทีจุฬา ที่ขุนตาน ประมาณ 30 คน นั่งรถไฟไปกัน พวกเราได้รับความกรุณาเป็นอย่างสูงจากท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ให้ใช้ที่พักของท่านบนยอดที่2 หรือ ย.2 ของดอยขุนตาน พร้อมเลี้ยงอาหาร และอยู่ดูแลพวกเราที่นั่นด้วย อีกทั้งยังลงมือเองทำข้าวหลามที่มีหน้าเป็นน้ำพริก(ไม่ใช่กะทิ)ให้ทานกัน อร่อยมาก ไม่เคยทานที่ไหนมาก่อน โดยบอกว่าเรียนมาจากหม่อมแม่ของท่าน จากนั้นต่อๆมาก็ได้ไปดอยขุนตานกับเพื่อนกลุ่มอื่นอีกหลายครั้ง บางครั้งก็พักที่บ้านพักรถไฟบนยอดที่1 หรือ ย.1

ภาพเมื่อครั้งไปเที่ยวขุนตานครั้งแรก
ภาพเมื่อครั้งไปเที่ยวขุนตานครั้งแรก กับชมรมปาฐกถาและโต้วาทีจุฬา ในปี 2511 มี ดร.ผาสุข กุลละวณิชย์ (ขออนุญาตเอ่ยนาม, ภายหลังท่านไปเป็นอธิการบดี ม.สงขลานครินทร์) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของกลุ่ม โดยได้รับความกรุณาจาก มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ใช้ที่พักของท่านบนดอย พร้อมเลี้ยงอาหาร และอยู่ดูแลพวกเราที่นั่นด้วย

พอปิดเทอมปลายปี 2 เป็นชาวค่ายจุฬา ไปพัฒนาการศึกษา ที่บ้านสำราญ จังหวัดชัยภูมิ ตอนปิดเทอมต้นปี 3 ไปเที่ยวขุนตานอีกครั้ง น่าจะกับชมรมวรรณศิลป์จุฬา ได้รับความกรุณาจากท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังเช่นเดิม ช่วงปิดเทอมปลายปี 3 ได้ไปฝึกงาน (ตามความสมัครใจ ตอนนั้นยังไม่มีเป็นภาคบังคับ) ที่โรงงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งยังเผาปูนอยู่ที่บางซื่อ ได้ความรู้ดีมาก นายช่างรุ่นพี่ใช้งานและให้ลงมือทำจริง ได้เดินเข้าไปดูในเตาเผาปูนตอนช่วงหยุดซ่อมทำวาระด้วย ตอนปี 4 มีเรียนวิชา Industrial Organization ทำคะแนนได้ดีมาก เพราะเอาที่ได้ฝึกงานมาประกอบเป็นตัวอย่างตอบข้อสอบ  มีบางช่วงเหมือนกันที่ค่อนข้างจะหลงระเริงไปกับกิจกรรม แต่ได้เพื่อนสนิทเตือนสติ เขาเล่นฟุตบอลเก่ง(เกษียณที่รองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง) เราเองก็เตือนเขาไม่ให้เล่นฟุตบอลจนเพลิน ถ้อยทีถ้อยเตือนสติกัน

สมัยนั้นที่วิศวจุฬายังเรียนเป็นคะแนน ไม่ได้เป็นหน่วยกิตตัดเกรดอย่างในปัจจุบัน ได้ต่ำกว่า 60 จาก 100 ต้องซ่อม ตกเกิน 3 วิชาก็ซ้ำชั้นเลยไม่มีสิทธิ์ซ่อม ซ่อมไม่ผ่านเพียงวิชาเดียวต้องซ้ำชั้น ซ้ำชั้นในปีติดกันก็ตกออก เอาวิชาอื่นมาช่วยเฉลี่ยคะแนนในลักษณะเป็นหมวดหมู่ไม่ได้ ระหว่างที่ซ้ำชั้นวิชาที่เคยสอบผ่านแล้วแต่คะแนนไม่ถึง 70 ก็ต้องกลับมาเรียนใหม่สอบใหม่ ในรุ่นที่ผมเรียนการจะได้เกียรตินิยมมีเงื่อนไขว่า คะแนนเฉลี่ยของแต่ละปีต้องไม่ต่ำกว่า 70% ด้วย หากมีเพียงปีใดปีหนึ่งต่ำกว่าก็ถือว่าหมดสิทธิ์แล้ว ไม่ว่าปีสุดท้ายจะได้คะแนนสูงเท่าใด เกียรตินิยมอันดับ2 ตัดที่ 75% อันดับ1 ตัดที่ 86% ผมเรียนวิศวจุฬารุ่นที่ 51 ในรุ่นที่ 1-50 หรือทั้ง 50 ปีก่อนผม ทราบว่าสาขาวิศวกรรมเครื่องกล (ย้ำว่าสมัยที่ยังไม่เรียนเป็นหน่วยกิต) มีเกียรตินิยมอันดับ1 เพียง 2 คนเท่านั้น คือ อ.ทวี บุตรสุนทร และ อ.มานพ เจริญจิต (ขออนุญาตเอ่ยนาม)

ภาพเมื่อครั้งเป็นชาวค่ายจุฬา
ภาพเมื่อครั้งเป็นชาวค่ายจุฬา ไปพัฒนาการศึกษา ที่บ้านสำราญ จังหวัดชัยภูมิ ในปี 2512 โดยมี ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา (ขออนุญาตเอ่ยนาม) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของกลุ่ม

ปิดเทอมต้นปี 4 ไปเที่ยวภูกระดึง กับชมรมวรรณศิลป์จุฬา แต่เกิดเรื่องเศร้า ทีมหัวหน้าคณะซึ่งขึ้นเป็นกลุ่มสุดท้ายเสียชีวิตทั้ง 3 คน (อาจารย์ที่ปรึกษา, อดีตประธานชมรมฯ, และประธานชมรมฯขณะนั้น) จากดินถล่ม (Landslide)  หมอกลงหนามากมองทางแทบไม่เห็น ไฟฉายท่อนยาวๆส่องเห็นเพียงระยะ 1-2 ก้าวข้างหน้าเท่านั้น เสื้อผ้าเปียกชุ่มจากฝน หลงทางกัน  ได้เหล่า ตชด. ที่มีความชำนาญในเรื่องการเดินป่าออกมาช่วยตามหาพวกเราและพาไปที่พัก ลูกหาบขึ้นตามมายังไม่ได้ แต่ได้เพื่อนคณะบัญชีจุฬาที่อยู่บนนั้นก่อนแล้วช่วยเอื้อเฟื้อในเรื่องต่างๆอย่างน่าประทับใจยิ่ง ในส่วนของจำนวนยังขาดไป 3 คน (ที่ขึ้นเป็นกลุ่มสุดท้าย) 2 วันผ่านไปหมอกเริ่มจาง หน่วยงานเกี่ยวข้องจึงมาช่วยหาและพบว่าเสียชีวิตทั้ง 3 คนแล้วจากดินถล่มทับ (รายละเอียดขอไม่เล่า) ผมเองอยู่ในกลุ่มรองสุดท้าย ตอนผ่านที่เกิดเหตุซึ่งทราบภายหลังนั้น ต้องคลานแล้วเพราะทางขาดและมีต้นไม้ล้ม จากการที่ดินเริ่มเคลื่อนตัว แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ จะถอยหลังก็ไม่ได้ วันกลับต้องลงขันกันจ่ายเป็นค่ารถบัส ส่วนค่าอาหารชาวบ้านยกให้ เพราะเงินที่เก็บไปทั้งหมดอยู่กับทางหัวหน้าคณะ ไม่รู้ว่ากระจายฝังอยู่ในโคลนดินที่ใด ตอนนั่งรถกลับมองไปที่ภูเขายังเห็นรอยโล้นเป็นสีลูกรัง ซึ่งน่าจะเป็นที่เกิดเหตุ จากวันนั้นถึงวันนี้ ผมไม่ไปภูกระดึงอีกเลย แม้แต่เพลง “ภูกระดึง” ที่แสนจะไพเราะ เวลาได้ยินก็มักจะทำให้นึกย้อนเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวรรคแรกของท่อนสุดท้ายที่ว่า “ทุกคนได้ยล ขออยู่ไปจนตาย”

ภาพเมื่อครั้งไปเที่ยวภูกระดึงกับชมรมวรรณศิลป์จุฬา
ภาพเมื่อครั้งไปเที่ยวภูกระดึงกับชมรมวรรณศิลป์จุฬา ในปี 2513 โดยแวะเขื่อนอุบลรัตน์ (เขื่อนน้ำพอง) ก่อนเดินทางต่อไปยังภูกระดึง แต่รถไปตกหล่มเสียเวลา (ภาพแรก) ทำให้ไปถึงและเดินขึ้นภูบ่ายมาก ระหว่างทางเกิดเหตุดินถล่ม ทราบภายหลังว่ามีผู้ร่วมเดินทางเสียชีวิต 3 คน (ภาพถัดมา เป็นสถานที่เกิดเหตุ)

ระหว่างเรียนเทอมปลายปี 4 ทางคณะฯส่งไปทำงานตอนเย็น ที่บริษัทขายเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ชื่อ”เอส-บอร์ดีน” อยู่สนามเป้า เยื้องสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ได้ความรู้ดีมาก ทั้งทางเทคนิคและธุรกิจการค้า จำที่เจ้าของบริษัทสอนได้จนถึงทุกวันนี้ว่า ไม่มีคำว่า “No” กับลูกค้า แต่ให้ใช้ “Yes, but” แทน คือเราทำให้ได้เสมอในทางเทคนิค แต่ลูกค้าจะสู้ราคาที่ต้องสูงขึ้นไหม จะคุ้มไหม ให้ลูกค้าพิจารณา หรือปฏิเสธเอง

นี่คือจุดเริ่มของเกร็ดประสบการณ์ในช่วงแรกของชีวิตมหาวิทยาลัยสมัยเรียนปริญญาตรี ที่คละด้วย เรียน กิจกรรม ท่องเที่ยว ฝึกงาน และทำงาน ได้ความรู้ทั้งในงานวิศวกรรม และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังคงนำมาประยุกต์ใช้ได้จนถึงทุกวันนี้

ผมเริ่มงานประจำแรกเมื่อปี 2514 โดยได้รับการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในแผนกเครื่องกล ตอนนั้นอายุเพิ่ง 20 เศษๆ สอนอยู่หลายวิชา อาทิ Thermodynamics, Descriptive Geometry, Engineering Drawing และ Mechanical Engineering Lab. ฯลฯ ขั้นตอนการเข้าเป็นอาจารย์ไม่มีพิธีรีตรองอะไรมาก คือช่วงปิดเทอมต้นปี 4 ผมไปเดินเล่นอยู่ที่คณะฯ อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้กรุณาเรียกผมขึ้นไปที่ห้องแล้วถามว่า เมื่อเรียนจบแล้วอยากเป็นอาจารย์ไหม (ตอนนั้นมีแนวโน้มแล้วที่จะได้เกียรตินิยม) ผมก็ตอบด้วยความดีใจและเต็มใจว่า อยากครับ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนต่อด้วย พอเรียนจบก็ได้รับการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ประจำที่คณะวิศวจุฬาเลย ได้เงินเดือน 1,250 บาท ผมได้ใช้เวลาเรียนปริญญาโทที่คณะฯขนานพร้อมไปด้วย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกล จะเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย(เอ.ไอ.ที.) ซึ่งตอนนั้นตั้งอยู่ที่คณะฯเช่นกันก็ไม่ได้ เพราะเอ.ไอ.ที.กำลังจะถูกย้ายไปอยู่ที่รังสิต

ก่อนเริ่มงานสอนมีช่วงเวลาว่างอยู่ 2 เดือน ก็เลยไปฝึกงานด้านการซ่อมบำรุงยานพาหนะและเครื่องมือกล ที่การไฟฟ้านครหลวง สามเสน ท่านผู้อำนวยการให้ความเมตตาสูง ใช้งานเต็มที่ ได้ประสบการณ์หลายอย่าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคปฏิบัติ

ช่วงสอนที่คณะวิศวจุฬา งานเยอะมาก เพราะเรียนปริญญาโท พร้อมทำวิทยานิพนธ์ไปด้วย และรับงานพิเศษทดสอบอุปกรณ์ที่หน่วยงานภายนอกมาจ้างตรวจสอบ แล้วแบ่งรายได้กับทางคณะฯ ชั่วโมงสอนก็แยะเพราะอาจารย์ยังมีน้อยกำลังศึกษาต่ออยู่ต่างประเทศหลายคน แต่ก็ยังพอจัดเวลาท่องเที่ยวในประเทศ ขึ้นเหนือล่องใต้ได้ในยามปิดเทอม ช่วงนั้นมีการเคลียร์พื้นที่ห้องสมุดคณะฯ ทิ้งหนังสือเก่าจำนวนมาก ผมไปค้นที่เรียกว่ากองขยะหนังสือ เผื่อมีเล่มสำคัญๆที่ไม่เอาแล้วหลงติดออกมาบ้าง แล้วก็เจอจริงๆ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทางสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าของท่านศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ปูชนียบุคคลทางวิศวกรรมศาสตร์ (นิสิตเก่า วศ.2472-กองบรรณาธิการ) จบที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ท่านคงได้มอบให้ไว้กับห้องสมุดคณะฯ ผมได้นำมาเก็บรักษาไว้ นับได้ 36 ปี เมื่อมีโอกาสจึงได้มอบต่ออย่างเป็นทางการให้สมาคมนิสิตเก่าวิศวจุฬา ตั้งแต่ปี 2551 เพื่อไปเก็บรักษาไว้ต่อไป

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ของ ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ที่ผมได้นำมาเก็บรักษาไว้ นับได้ 36 ปี เมื่อมีโอกาสจึงได้มอบต่ออย่างเป็นทางการให้สมาคมนิสิตเก่าวิศวจุฬา ตั้งแต่ปี 2551 เพื่อไปเก็บรักษาไว้ต่อไป

ระหว่างนั้นพอดีสอบได้ทุน ก.พ.ไปเรียนต่อต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกา) ตอนสอบสัมภาษณ์ได้ขออนุญาตเปลี่ยนทุนจากที่เลือกไว้เดิมแต่ต้น (ที่ตอนยื่นใบสมัครไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน) ซึ่งก็ต้องยอมรับสภาพหากเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ท่านใจดีและกรุณา หลังสัมภาษณ์เสร็จท่านบอกว่าอยากสลับเลือกทุนอะไรก็ตามใจให้ไปทำบันทึกไว้ที่หน้าห้อง มีทั้งหมด 6 ทุน ทางสาขาวิศวกรรมเครื่องกลนี้ แต่เผอิญปีนั้นมีผู้ผ่านข้อเขียนเพียงคนเดียว จึงอนุโลมยอมให้เลือกที่ว่างได้ ผมขอเลือกทุนรถไฟ เพราะน่าจะมีโอกาสเรียนรู้งานภาคปฏิบัติมากกว่า (ทฤษฎีพออ่านเองได้บ้าง) และยังมีโอกาสท่องเที่ยวเดินทาง ได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นแต่ละภาค อีกทั้งตอนเด็กก็ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับรถไฟอยู่ด้วย ทุนที่เหลือส่วนใหญ่จะไปสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัยที่เปิดมาได้ไม่นานในสมัยนั้น (เมื่อราว 50 ปีที่แล้ว)

จากนั้นผมก็ต้องไปรายงานตัวที่การรถไฟฯ แต่ไม่รู้จะไปรายงานตัวกับใคร สอบถามเมื่อไปถึงได้ความว่าให้ไปรายงานตัวกับรองผู้ว่าด้านวิศวกรรม ผมก็ไปที่ห้องเพื่อขอพบโดยไม่รู้จักมาก่อน ท่านคุยด้วยอย่างดีมีเมตตามาก ท่านเองจบปริญญาเอกทางวิศวกรรมเครื่องกลมาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology, MIT) ท่านผู้นั้นก็คือ ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ (ขออนุญาตเอ่ยนาม, นิสิตเก่า วศ.2493-กองบรรณาธิการ) อดีตองคมนตรี เหตุการณ์ที่ผมคุยกับท่านผ่านมาแล้วราว 50 ปี ผมยังระลึกถึงอยู่ตลอด แต่ยังไม่มีโอกาสเล่า ขอใช้พื้นที่ตรงนี้เล็กน้อยกล่าวถึงโดยสังเขป ด้วยความเคารพ ระลึกถึงคุณความดี ความกรุณา และยุติธรรมของท่าน ทั้งที่ตอนนั้นเพิ่งได้รู้จักและเจอกันครั้งแรก มิได้มีเจตนาก้าวล่วงแต่ประการใด

ท่านถามว่าจะไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ไหน เมื่อผมตอบไปท่านก็ตามใจ แต่บอกว่าอยากให้ไปที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมืองแอนอาร์เบอร์ (University of Michigan, Ann Arbor) เท่าที่ทราบยังไม่มีคนไทยจบปริญญาเอกเครื่องกลจากที่นี่ ผมก็เรียนท่านว่าผมเคยสมัครไปแล้ว และเขาก็รับแล้ว แต่สมัครเพียงปริญญาโทไม่กล้าสมัครปริญญาเอก เพราะเป็นมหาวิทยาลัยระดับ Top 5 ทางสาขานี้อยู่ตอนนั้น เกรงเขาจะไม่รับรองปริญญาโทจากเมืองไทยที่ผมได้รับ ซึ่งยังมีไม่มาก ผมจบโทเครื่องกลจากคณะวิศวจุฬาเป็นคนที่ 7 ตามที่ทราบ ถ้าต้องไปทำปริญญาโทใหม่ก็ไม่แน่ใจว่าทุนจะให้ต่อเอกหลังจากนั้นไหม ส่วนที่อื่นผมสมัครและเขารับเข้าเรียนปริญญาเอกเลย ท่านก็ไม่ว่าอะไร ผมยังจำที่ท่านบอกได้ว่า ทุนที่สอบโดยสำนักงาน ก.พ.ตามความต้องการของการรถไฟฯ ไปทำปริญญาเอกทางสาขาวืศวกรรมเครื่องกลนั้น ตัวท่านเองเป็นคนแรกที่ได้รับ และผมเป็นคนที่สอง และก็ไม่รู้ว่าจะมีอีกไหม (เท่าที่ทราบก็ไม่มี) ส่วนเรื่องสิทธิต่างๆทางนี้ ที่ปกติผู้สอบผ่านทาง ก.พ.พึงได้ ตามกฎเกณฑ์การสอบโดยสำนักงานก.พ.นั้น ทางการรถไฟฯจะไม่ให้ ผมจำที่ท่านพูดได้ดีว่า:

“ตอนผมไปก็ไม่ได้ แต่ผมคิดว่าเป็นความถูกต้องที่ควรได้ตามกฎเกณฑ์ ผมจะทำให้คุณได้”

แล้วท่านก็ทำให้ผมจริงๆ ได้สิทธิหลักๆขึ้นมาหลายอย่าง  เมื่อผมไปที่อเมริกาแล้ว ได้หาโอกาสไปที่แผนกเครื่องกล มหาวิทยาลัยมิชิแกน ขอพบอาจารย์ที่ดูแลเรื่องการรับนักศึกษา เนื่องจากมีประวัติเดิมที่เคยรับเข้าเรียนปริญญาโทอยู่แล้ว เพื่อขอเปลี่ยนเป็นเข้าเรียนปริญญาเอกแทนโดยไม่ต้องทำโทใหม่ ท่านสัมภาษณ์อยู่พักหนึ่งในที่สุดก็รับ แต่ก็บอกว่าไม่รับประกันจะเรียนจบหรือไม่นะ เพราะยังไม่คุ้นกับมหาวิทยาลัยที่เราจบมา  ผมรีบแจ้งผลการรับเข้าเรียนนี้ตรงไปยังท่านดร.เชาวน์ พร้อมให้ทราบว่าค่าเล่าเรียนสูงกว่าที่เดิมและเกินงบประมาณ แต่เพียงไม่นานก็ได้รับคำตอบอนุมัติกลับไป

มาได้ทราบภายหลังว่าแผนกวิศวกรรมเครื่องกลที่นี่ในตอนนั้น มีกฎว่าต้องสอบ Qualifying Exam ในปีที่สองหลังจากเข้าโปรแกรม และต้องผ่านในครั้งเดียวไม่มีแก้ตัว ตกออก สถิติได้ครึ่งตกครึ่งโดยประมาณ ถ้าไปทำปริญญาโทก่อนยังมีเวลาปรับตัว นี่เข้าเอกเลยเวลาจึงกระชั้นมาก ได้รู้จักว่าโรคเครียดจริงๆเป็นอย่างไรก็ในครั้งนี้นี่แหละ ไปหาหมอที่หน่วยแพทย์ของมหาวิทยาลัย เจอหมออายุราว 70 ปีแล้ว ท่านเชี่ยวชาญเรื่องนี้และคงเจอมาเยอะ บอกว่าโรคนี้รักษาไม่หายหรอก… สอบเสร็จผ่านแล้วยูก็หายเอง… จริงอย่างท่านว่าพอสอบผ่านโรคปวดหัว ตึ้บหัว ตึงที่ลูกตาและท้ายทอย หายสนิท ทำให้ผมชอบใจคำกล่าวหนึ่งของ William R. Inge เป็นอย่างมาก ที่ว่า:

“Worry is interest paid on trouble before it comes due”

เวลามีความวิตกกังวล จนอาจก่อให้เกิดอาการเครียดและป่วยขึ้น
เวลามีความวิตกกังวล จนอาจก่อให้เกิดอาการเครียดและป่วยขึ้น คำกล่าวที่ว่า “Worry is interest paid on trouble before it comes due” นี้น่าจะช่วยเตือนสติเราได้บ้าง [ภาพเพื่อการศึกษา จาก Charismaticplanet.com (ไม่รวมคำบรรยาย)]
ย้อนมาตอนออกเดินทางจากเมืองไทย เนื่องจากกระบวนการต่างๆใช้เวลานานกว่านักเรียนทุนรุ่นเดียวกันคนอื่น พอเรื่องเรียบร้อยก็ต้องรีบเดินทางทันที ไม่มีเวลาเตรียมตัวมาก ต้องเดินทางคนเดียว ทางก.พ. จัดตั๋วสายการบิน TWA ให้ (ตอนนั้นยังมีบินเมืองไทยอยู่) จำได้ว่าใช้เครื่อง DC-10 เครื่องบินแวะระหว่างทางไปเรื่อยๆ กรุงเทพฯ-ฮ่องกง, ฮ่องกง-ไทเป, ไทเป-กวม, กวม-ฮาวาย, ฮาวาย-ลอสแอนเจลิส เครื่องขึ้นลงเป็นว่าเล่น แต่ตอนนั้นชอบ ได้ไปหลายประเทศดี ขอนั่งเก้าอี้ริมหน้าต่างดูวิวตอนเครื่องขึ้นลง เดี๋ยวนี้ไม่เอาแล้ว บินตรงดีที่สุด ไม่ขัดจังหวะการนอน เก้าอี้ก็ขอริมทางเดินอย่างเดียวไปห้องน้ำสะดวก ที่สนามบินลอสแอนเจลิส ได้เปลี่ยนเครื่องเป็นสายการบิน American Airlines บินในประเทศ มีแวะกลางทางหนึ่งแห่งก่อนถึงปลายทาง น่าจะเป็นที่เดนเวอร์ คือไม่ได้บินตรงอยู่ดี

ก่อนเปิดเรียนจริงมีเพื่อนนักเรียนไทยที่มิชิแกนจัดขับรถไปเที่ยวทางแถบฝั่งตะวันออกของประเทศ จากเหนือจรดใต้ ผมชอบเที่ยวอยู่แล้วจึงร่วมขบวนไปด้วย ตอนนั้นเพิ่งไปถึงได้ไม่นาน ช่วยขับรถไม่ได้เพราะยังไม่มีใบขับขี่ ได้ไปเที่ยวสวนสนุกดิสนีย์ตามความใฝ่ฝันแต่เด็ก ครั้งนั้นคือดิสนีย์เวิลด์ ที่ฟลอริดา ซึ่งเป็นดิสนีย์แรกที่ได้มีโอกาสไปเที่ยว ก่อนจะตามเก็บในภายหลังจนครบทุกแห่ง

ภาพตอนไปเที่ยว Disney World ที่ Florida
ภาพตอนไปเที่ยว Disney World ที่ Florida, USA เป็นดิสนีย์แรกที่ได้ไป และเป็น 1 ใน 6 แห่งของดิสนีย์ ที่ได้เที่ยวมาทั้งหมดแล้ว ตามความใฝ่ฝันแต่เด็ก

ตอนทำปริญญาโทที่เมืองไทยผมทำวิทยานิพนธ์ทางด้าน Solid Mechanics ตอนไปลงทะเบียนเรียนที่นั่นอาจารย์ที่รับลงทะเบียนเขาสอนวิชา Molecular Theory of Gas ซึ่งเกี่ยวกับ Quantum Mechanics พวก Einstein Theory อะไรทำนองนั้น ทราบภายหลังว่ามีเด็กลงทะเบียนเรียนไม่พอเขาจึงชวนให้เลือกวิชานั้น ไปใหม่ๆเด็กไทยมักจะ “Say No” ไม่เป็น ชีวิตจึงต้องผกผันไปทำทางด้าน Thermal Science เรียนพวก Fluid และ Heat Transfer มีแต่ Math ล้วน ไม่มีคิดเลข และทำวิทยานิพนธ์ทางด้านนี้ โดยต้องเรียนระดับ Advanced เพราะอยู่ในโปรแกรมปริญญาเอก วิชาเบื้องต้นไปนั่งฟังได้แต่ไม่นับหน่วยกิตให้ เปรียบเหมือนต้องเรียน ก-ไก่ ข-ไข่ ขนานควบคู่ไปกับการเรียนวิชาเรียงความ อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ทิ้งสายเดิมทาง Solid Mechanics เสียทีเดียว คือเรียนมันไปทั้งคู่เลย

ช่วงแรกยากจนมากแต่ไม่บอกทางบ้าน ทุนก.พ.ตอนนั้นให้เดือนละ 200 เหรียญ (เหรียญละ 20 บาท) ครอบคลุมทั้งค่ากินอยู่และที่พัก เพราะไปถึงช้าจองหอพักของมหาวิทยาลัยที่ถูกกว่าไม่ทัน ต้องพักข้างนอกในปีแรก จ่ายเฉพาะค่าที่พักไม่รวมค่าไฟฟ้าและโทรศัพท์ เดือนละ 112 เหรียญ ตอนไปกะว่าจะต่อสู้เอง จึงไม่ให้ทางบ้านรู้หรือส่งเงินไปช่วยทั้งที่ถามมา อยากทานแอปเปิ้ล (Red Delicious กลิ่นหอมเตะจมูก ก้นมีจีบ) สักลูกที่ขายหน้าตึกเรียน เดินผ่านแล้วผ่านอีกเพื่อตัดสินใจ แต่ก็ไม่กล้าซื้อ ทั้งที่ลูกละ25 เซ็นต์ บางครั้งต้องดื่มน้ำแก้หิวระหว่างอยู่นอกที่พัก ไม่เคยให้ใครที่นั่นรู้ และไม่เคยขอยืมเงินใครเลย ตอนนั้นเป็นคนไทยคนเดียวที่เรียนเครื่องกลอยู่ เคยมีอยู่บ้างไม่มากแต่กลับกันไปแล้ว

ไปเจรจาหางานทำ รับจ้างตรวจการบ้านให้อาจารย์ ได้งานแต่ไม่ได้เงินเพราะช่วงนั้นงบประมาณจ้างไม่มี แต่ก็รับทำ ทำให้อย่างละเอียดตรงเวลาทั้งรับงานและส่งงาน อีกทั้งยังเกินหน้าที่ในบางครั้ง มีครั้งหนึ่งอาจารย์มีความจำเป็นอย่างมากต้องไปนอกเมือง ท่านก็ถามว่ายูช่วยสอนแทนได้ไหม ได้ยินว่าเคยสอนที่เมืองไทย ก็รับทำให้ จากที่สมัยอยู่จุฬาสอนไปเรียนไปด้วยทำให้เข้าใจความรู้สึกทั้งสองด้าน เด็กฝรั่งเด็กไทยเหมือนกันเวลาอาจารย์สอนก็หลับๆตื่นๆบ้าง ผมจึงใช้วิธีทำเป็นโน้ตย่อของบทที่จะสอนพร้อมหาตัวอย่างจากแหล่งอื่นมาประกอบแล้วแจกให้ด้วย เด็กก็ชอบ ไม่โวย ทราบว่าตอนอาจารย์กลับมาและถามเด็ก เด็กบอกว่าถ้าติดธุระก็ให้สหัสสอนแทนบ้างก็ได้ จึงต้องสอนแทนบ่อยขึ้น ในที่สุดก็ได้งาน (เมื่อมีงบประมาณจ้างเขาก็เลยเลือกเรา) มีงานเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตลอดเวลา เป็นจุดเริ่มและโอกาสสำคัญที่ทำให้ชีวิตตอนนั้นเปลี่ยนไป

ผมได้นำประสบการณ์หลายปีที่นั่นมาใช้สอนอนุชนรุ่นหลังเสมอว่า ในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ไม่ต้องเลือกงานที่เงินเดือนสูง (ถ้าไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินจริงๆ) แต่ให้เลือกที่เขาใช้งานเราหนัก แยะ หามรุ่งหามค่ำก็ตาม เพราะสิ่งที่เราจะได้คือประสบการณ์ที่จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มี แต่เรากำลังมีพลัง เงินทองได้มาแยะใช้พลาดชั่วพริบตาก็อาจหมดได้ ผมตอนนี้อายุมากแล้วพลังเริ่มถอยแต่ยังมีงานตลอดเพราะเรามีประสบการณ์ ผู้ที่เรียนจบออกมาใหม่ๆ หากได้เงินเดือนมากแต่งานน้อยเบาสบาย มีเวลาว่างแยะเล่นไลน์ ฯลฯ ผมถือว่าคุณน่ะโชคร้าย ตรงกันข้ามหากถูกใช้งานหนักที่เรียกว่าเกินเงินเดือนซะอีก คุณน่ะโชคดี คิดเสียว่าตอนเริ่มทำงานต้องเรียนงาน แต่เป็นการเรียนที่ได้ค่าเล่าเรียน(เงินเดือน) ต่างจากก่อนนั้นที่ตอนเรียนต้องเสียค่าเล่าเรียน ทุกงานให้ความรู้คุณได้ทั้งนั้นแม้แต่งานจัดเอกสาร เมื่อตอนเป็นเด็กเวลาไม่รู้ถามใครก็ได้ แต่เมื่อเป็นผู้บริหารหากพื้นไม่แน่นจะถามใครก็ไม่สะดวก บางงานแม้ไม่ได้เงินเลยแต่อาจได้สิ่งที่สำคัญกว่า นั่นก็คือ โอกาส (Opportunity) ที่จะเบิกทางให้เราต่อไปในอนาคต การที่ต้องเป็นมวยแทนให้ผู้ใหญ่ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้แสดงความสามารถเหนือกว่าหน้าที่ที่เราเป็นอยู่ คิดเสียว่า “มวยแทน” แปลว่า “โอกาส” พยายามทำให้ได้และให้ดี อย่าคิดว่าเป็นการมาใช้งานเราเกินหน้าที่

การเรียนปีแรกของผมผ่านไป ผลการเรียนออกมาดี ไม่เจอเกรดในกลุ่มบีหรือต่ำกว่า เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย งานวิจัยเพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ที่ต้องเริ่มทำขนานไปด้วยนั้น ก็ได้ผลออกมาดีเช่นกัน วันหนึ่งได้รับทราบด้วยความดีใจและตื่นเต้นว่า มีการพิจารณาคัดเลือก(โดยไม่มีการสมัคร) และตัดสินให้ผมได้รับทุนของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้เรียนฟรี ยกเว้นค่าเล่าเรียนที่ค่อนข้างสูงนั้นให้ (ถึงแม้เขาจะทราบว่าเราได้รับทุนรัฐบาลไทยอยู่แล้วก็ตาม) จึงได้แจ้งไปทางสำนักงาน ก.พ. ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่าไม่ต้องส่งค่าเล่าเรียนตอนนั้นให้ผมแล้ว (แต่ค่ากินอยู่ยังขอรับ) สรุปว่าทาง ก.พ. ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเต็มให้ผมเพียงปีแรกปีเดียวเท่านั้น

ระหว่างอยู่ที่นั่นมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทางแผนกหาคนสอนได้ไม่ทัน ในวิชา Mechanical Engineering Design เพราะอาจารย์ที่รับผิดชอบขอเกษียณอายุกระทันหัน ท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากระดับนานาชาติ เขียนตำราไว้แยะและแปลเป็นหลายภาษาใช้กันหลายประเทศ ชื่อ Joseph E. Shigley (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ทางอาจารย์ผู้ใหญ่และแผนกเครื่องกลที่นั่นได้พิจารณากัน แล้วมาทาบทามให้ผมรับหน้าที่สอนแทน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกตินัก แม้แต่อาจารย์ที่ดูแลวิทยานิพนธ์ผมก็ยังประหลาดใจ ที่ด้าน Solid Mechanics ข้ามฟากมาเลือกคนทางด้าน Thermal Science ไปสอนวิชาทางซีกนั้น เพราะทั้งสองด้านนี้ก็ไม่ค่อยลงให้กันนัก และไม่เคยมีมาก่อน โดยมอบตำแหน่ง “อาจารย์ผู้บรรยาย (Lecturer)” ให้ ไม่ใช่ “ผู้ช่วยสอน (Teaching Assistant)” รับผิดชอบทั้งหมดเองในชั้นเรียนตั้งแต่ ให้งาน ออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ ตัดเกรด ฯลฯ ที่ยากลำบากตอนต้นก็คือ เด็กคาดหวังจะได้เจออาจารย์ระดับอินเตอร์ตามที่ประกาศไว้ (ชื่อก็ตรงกับผู้แต่งตำราที่จะใช้) แต่มาเจอมวยแทน การลองภูมิย่อมมี ผมพูดเสมอว่าเวลาทำงานหากถูกลองภูมิอย่าไปโกรธเขาหากเรามีภูมิให้ลอง ในไม่ช้าเราก็จะคุมเขาได้และได้ดี ครั้งนี้ก็เช่นกัน ประเพณีปฏิบัติที่นี่คือเมื่อหมดเทอมเด็กจะเป็นฝ่ายให้คะแนนการสอนของอาจารย์ด้วย ซึ่งผลจะไปปรากฎอยู่ในห้องสมุด นักศึกษาสามารถไปเปิดดูของอาจารย์แต่ละคนได้ ผลการสอนออกมาเป็นที่พอใจต่อทางอาจารย์ผู้ใหญ่และทางแผนกมาก

มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมืองแอนอาร์เบอร์ ได้มอบตำแหน่งอาจารย์ผู้บรรยายให้
ภาพเมื่อปีพ.ศ.2519 (ค.ศ.1976) ทางแผนกเครื่องกล มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมืองแอนอาร์เบอร์ ได้มอบตำแหน่งอาจารย์ผู้บรรยายให้ โดยใช้คำว่า “Lecturer” ไม่ใช่ “Teaching Assistant” รับผิดชอบในชั้นเรียนเองทั้งหมด รวมทั้งการให้เกรด

จากนั้นจึงมีงานเข้ามาตลอด เคยได้มีโอกาสสอนถ่ายทอดสด พร้อมถามตอบสด (สอนออนไลน์ในยุคแรกๆ เมื่อราว 45 ปีที่แล้ว) ไปยังโรงงานอุตสาหกรรมแถบนั้นในรัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ของอเมริกา เช่น GM, Ford ฯลฯ ซึ่งเป็นกรณีไม่ปกติเช่นกันที่จะได้รับโอกาสนี้ มีงานคำนวณออกแบบให้กับบริษัทข้างนอก งานวิจัยและงานวิศวกรรมต่างๆเข้ามามาก จากที่เคยยากจนได้เดือนละ 200 เหรียญ ในช่วงหลังๆได้เดือนละราว 3,000 เหรียญ +/- (เท่ากับราคา Base Price ของรถ Ford Mustang  ในขณะนั้น หรือโดยเปรียบเทียบทำงาน 1 เดือนซื้อรถ Mustang ได้ 1 คัน) หากจะไม่กลับเมืองไทยก็เชื่อว่าสามารถใช้หนี้ทุนได้ไม่ยาก เพราะได้ทุนการศึกษายกเว้นค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยที่นั่นด้วย แต่ก็รู้สึกผิด (Guilty) เลยตัดสินใจกลับ จากที่เคยได้รับเดือนละสามพันกว่า มาเป็นได้รับเดือนละสี่พันกว่า แต่คนละหน่วย

ภาพพิธีรับมอบปริญญาบัตร
ภาพพิธีรับมอบปริญญาบัตร มีรองประธานาธิบดี Walter Mondale (สมัยประธานาธิบดี Jimmy Carter) มาเป็นประธานในครั้งนั้น วิธีการมอบที่เห็นคือ “ปริญญาตรีทั้งหมดยืนขึ้น… นั่งลง…” ถือว่าแจกปริญญาตรีเสร็จแล้ว ปริญญาโทจะมีการแยกคณะให้ เช่น “ปริญญาโทวิศวะทั้งหมดยืนขึ้น… นั่งลง…” ถือว่าแจกปริญญาโทวิศวะเสร็จแล้ว เฉพาะปริญญาเอกจึงขึ้นรับทีละคน เรียงตามอักษรตัวหน้าของนามสกุล ตอนที่ขึ้นรับพอดีข้อเท้าหักจากการเล่นบาสเก็ตบอล เพิ่งขอให้หมอถอดเฝือกให้ก่อนกำหนด ยังคงต้องใช้ไม้ค้ำรักแร้ เลยได้มีภาพออกข่าวทีวี เพราะเขาคงคิดว่าเป็นคนพิการที่มีความพยายามสูงจนเรียนจบ

สมัยอยู่ที่มิชิแกน เมื่อมีจังหวะเวลาก็จะหาโอกาสเที่ยว ที่อาจไม่ใช่เดินทางท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ไปดูกีฬา ละครเวที และคอนเสิร์ต สำหรับกีฬาได้ไปดูการแข่งขันที่สนามทั้งเบสบอล อเมริกันฟุตบอล บาสเก็ตบอล ฮอกกี้น้ำแข็ง แต่ที่ประทับใจมากคือได้ไปดูการแข่งขันเทนนิสที่สนาม ระหว่าง Rod Laver (ช่วงที่อายุเริ่มมาก ใกล้จะเลิกเล่นแล้ว) กับ Bjorn Borg (ช่วงที่กำลังรุ่ง) โดย Borg ชนะ Laver 6:4 และ 6:4 เล่นได้ประทับใจและคลาสสิกมากทั้งคู่ สำหรับละครเวทีมีบางเรื่องที่ฟังยากไม่เข้าใจ เช่น ละครของเชคสเปียร์ เพราะส่วนใหญ่ใช้ภาษาโบราณ มีเพียงบางคำที่อาจพอเดาใด้ เช่น “last night ” ใช้ “yesternight” ตอนพักครึ่งต้องไปซื้อสรุปย่อเรื่องมานั่งอ่านก่อนกลับเข้าไปดูครึ่งหลัง ในส่วนของคอนเสิร์ตได้มีโอกาสไปดูการแสดงสดของ Elvis Presley ซึ่งเป็น On Tour ครั้งสุดท้ายในชีวิตเขา เพราะหลังจากนั้นราวสามเดือน Elvis ก็เสียชีวิต

จุดเริ่มของทั้งหมดนี้ มาจากการทำงานอย่างเต็มที่ เกินหน้าที่ ตรงเวลา ด้วยคุณภาพ และปริมาณ ถึงแม้จะไม่ได้รับค่าจ้างเป็นตัวเงินในยามที่เรามีความจำเป็นต้องใช้ แต่สิ่งที่ได้รับคือโอกาสต่างๆที่ตามมา รวมถึงประสบการณ์ ที่ไม่มีวันสูญไปจากตัวเรา และที่สำคัญสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ควรลืมก็คือ “การรู้คุณคน” ที่ประคับประคองให้โอกาสเรา

วันหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ผมได้รับแจ้งด้วยความประหลาดใจ จาก Professor Wen-Jei Yang ซึ่งเป็นอาจารย์คุมวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมเมื่อกว่าสี่สิบปีมาแล้ว สมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Michigan, Ann Arbor, USA ว่าจะยกสมบัติทางวิชาการของท่านที่ผ่านมาทั้งหมดให้ผม ด้วยผลงานและความมีชื่อเสียงของท่าน เช่น มี Technical Papers ตีพิมพ์ถึง 860 ฉบับ (เราเองได้ตีพิมพ์ใน Journal บ้าง ก็รู้สึกดีใจภูมิใจแล้วในแต่ละครั้ง), ตำรา 23 เล่ม, ได้ Max Jakob Award ซึ่งถือว่าสูงสุดรางวัลหนึ่งทางวิศวกรรมเครื่องกล มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกอยากได้สมบัตินี้ แต่ท่านไม่ให้ ผมได้ขออนุญาตมอบต่อให้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เพราะจะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมมากกว่าอยู่ที่ผมเป็นส่วนตัว President ของ AIT ขณะนั้น รู้จักชื่อเสียงท่านเป็นอย่างดี ได้ให้เกียรติจัดทำเป็น Collection ชื่อท่าน ไว้ในห้องสมุด AIT ด้วย และได้เชิญมาทำพิธีส่งมอบ พร้อมกล่าวในพิธีรับปริญญาของนักศึกษา โดยท่านได้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดส่ง และได้มอบทุนการศึกษาให้กับทางสถาบันอีกด้วย

ท่านเป็นผู้ที่มีบุญคุณกับผมมากที่ผมไม่เคยลืม ช่วยดูแลความเป็นอยู่ ปกป้อง และให้โอกาส ยามที่เรายังลำบาก สอนทั้งวิชาการและการใช้ชีวิต ภรรยาท่านก็เช่นกัน ยามผมจนเวลาท่านชวนไปทานข้าวที่บ้าน ก็จะจัดอาหารอร่อยๆจำนวนมากใส่กล่องให้กลับมาทานอีกด้วย เวลาผมไปอเมริกาก็มักหาโอกาสแวะไปเยี่ยม หรือถ้าท่านมาแถวภูมิภาคนี้ก็จะหาโอกาสบินไปเจอ รวมทั้งเชิญมาเมืองไทยด้วย โดยผมจะลางานไปดูแล และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นของท่านในประเทศไทย เราติดต่อกันมาโดยตลอดหลายสิบปีตั้งแต่เรียนจบกลับมา ตอนท่านเสียชีวิตผมก็บินจากเมืองไทยไปร่วมงานศพ Memorial Service ที่อเมริกาด้วย และหลังสุดเมื่อปี 2563 หลานชาย(หลานตา)ของท่าน ซึ่งสนใจในพุทธศาสนา ได้มาศึกษาธรรมะที่วัดสวนโมกข์ สุราษฎร์ธานี ผมก็บินพาลงไป และขอให้เพื่อนที่นั่นช่วยดูแล โดยขณะอยู่กรุงเทพฯก็พักที่บ้านผม สัมพันธภาพและความผูกพันที่รักษาไว้อย่างยาวนาน การได้ตอบแทนผู้มีพระคุณ และผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกภูมิใจ หลังจากที่ท่านได้เสียไป เวลาสวดมนต์ทุกคืนผมก็จะแผ่ส่วนกุศลให้ท่านมาโดยตลอด

ภาพ Collection ของ Professor Wen-Jei Yang
ภาพ Collection ของ Professor Wen-Jei Yang จาก Mechanical Engineering Department, University of Michigan, Ann Arbor, USA ที่ห้องสมุด สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มรดกทางการศึกษาที่ท่านได้กรุณามอบให้

ย้อนมาในช่วงที่เรียนจบและพร้อมเดินทางกลับเมืองไทย ผมถูกส่งไปดูงานสร้างรถจักร Alstom ที่ฝรั่งเศสก่อนประมาณ 1 เดือน อยากลองนั่งเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง Concorde จากนิวยอร์คไปปารีส เพื่อศึกษาเรียนรู้ในเรื่องสมรรถนะของเครื่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกตอนผ่านกำแพงเสียง ตรวจสอบราคาแล้วสูงกว่าตั๋วที่ผมได้รับประมาณ 4-5 เท่า ต้องเพิ่มเงินแยะ เลยตัดสินใจยังไม่บิน แต่ก็ตั้งใจว่าจะลองสักวันหากมีโอกาส

หลังจากนั้นเกือบยี่สิบปีขณะทำงานอยู่ภาคเอกชน ต้องไปทำงานอยู่ที่อเมริกาด้วยและมีประชุมต่อที่ฝรั่งเศส  ช่วงหลังกิจการคอนคอร์ดไม่ค่อยดีจึงมีการทำโปรโมชั่นบ่อย เป็นจังหวะเหมาะ เลยถือโอกาสหาประสบการณ์เดินทางความเร็วเหนือเสียงที่อยากลองมานานแล้ว ในเส้นทาง นิวยอร์ค-ปารีส ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมห้องนักบินตามที่ขอด้วยเพราะสมัยนั้นยังไม่เข้มงวดในเรื่องนี้นัก ระดับความสูงที่บินคือประมาณ 60,000 ฟุต หรือประมาณ 2 เท่าของเครื่องบินโดยสารหลักทั่วไป (เพื่อลดแรงเสียดสีของอากาศภายนอกจากความเร็วที่เพิ่มสูงขึ้น) บรรยากาศบนนั้นสังเกตว่าท้องฟ้ามีสีน้ำเงินเข้มกว่าที่มองจากเครื่องบินปกติ ถึงแม้จะบินสูงแต่เครื่องก็ยังมีสั่นเล็กน้อยบ้างเป็นระยะแต่ไม่บ่อย จอบอกความเร็วจะใช้หน่วย Mach (จำนวนเท่าของความเร็วเสียง) ค่าสูงสุดเท่าที่ได้เห็นขณะบินคือ 2.01 Mach ซึ่งจะมีค่าประมาณ 2,450 กม./ชม. ตอนเครื่องบินผ่านกำแพงเสียง บนจอจะขึ้นว่า M 1.00 (หรือคือ 1.00 Mach) พยายามจับความรู้สึกในส่วนของโซนิคบูม (Sonic Boom) แต่ไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะเป็นการเกิดนอกตัวเครื่อง

เดินทางเหนือเสียงโดยเครื่องบิน Concorde
เดินทางเหนือเสียงโดยเครื่องบิน Concorde เส้นทาง นิวยอร์ค – ปารีส ด้วยความเร็ว 2 เท่าของเสียง เพื่อหาประสบการณ์ทางวิศวกรรม เช่น ในเรื่อง Sonic Boom ที่เคยเรียนมา

เมื่อกลับมาเริ่มทำงานที่การรถไฟฯ ผมเพิ่งอายุยี่สิบกว่ายังไม่ถึงสามสิบ แต่ต้องดูแลพนักงานและคนงานจำนวนมากที่อายุสูงกว่าแยะ การถูกลองภูมิเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นอีกเช่นกัน เมื่อเราพิสูจน์ให้เขารู้ว่าเราก็มีภูมิให้ลองการทำงานร่วมกันจึงสนุกมาก ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ผมใช้วิธีให้ความรู้เขา และส่งเสริมด้านกีฬา มีอะไรชำรุดเขาก็เริ่มจะมาตามผมไปช่วยดู หรือเก็บมาให้ดู แล้วมาวิเคราะห์หาสาเหตุกัน พร้อมถ่ายภาพเก็บไว้ ผมโชคดีที่สมัยอยู่มิชิแกนได้ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญมากในเรื่องนี้สองคน เขาแนะนำเราในภาคปฏิบัติจริงๆ บางเรื่องหาไม่เจอในตำรา

ในเรื่องการวิเคราะความชำรุดของวัสดุ จากประสบการณ์ที่เจอมาพบว่าเมื่อมีความชำรุดเกิดขึ้นกับเครื่องจักรเครื่องกลต่างๆและมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่ของที่ชำรุดแตกหักก็มักจะถูกโยนทิ้งไปหรือขายเป็นขยะเศษเหล็ก แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นคือครูที่ดีของเราที่จะสอนถึงการป้องกันแก้ไขหรือพัฒนาให้เหมาะสมขึ้นได้ในอนาคต ข้อมูลการใช้งาน ข้อมูลจากผู้ใกล้ชิดเหตุการณ์ ลักษณะการหัก เช่น มุมที่หัก ลายเส้นที่หน้าตัดรอยหัก ฯลฯ จะช่วยเราในการพิจารณาหาสาเหตุ และแนวทางการแก้ไขได้มาก ผมมักจะไปคุ้ยหาตามกองขยะเศษเหล็ก รวมทั้งตรวจสอบในบริเวณที่เกิดเหตุการณ์ความชำรุดด้วย แล้วถ่ายภาพ  หรือตัดเก็บมาไว้เป็นชิ้นงานตัวอย่าง ที่ผ่านมาเคยสอนหลักการวิเคราะห์พร้อมแนวทางการป้องกันแก้ไข ให้กับทั้งนายช่างและคนงานลูกน้องที่โรงงาน ธุรกิจภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐเช่นที่กองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจ(ชื่อเดิม) และตามมหาวิทยาลัย แม้กระทั่งระดับปริญญาโท เช่นที่แผนกเครื่องกล คณะวิศวจุฬา ซึ่งแนวทางการสอนก็จะลงลึกแตกต่างกันออกไป โดยเน้นกรณีศึกษาจากของจริง และภาพรูปแบบความชำรุดในลักษณะต่างๆ ที่คัดสะสมไว้หลายร้อยภาพ ซึ่งถ่ายทำด้วยตัวเอง ใช้เวลาสะสมหลายปี และลงทุนเองทั้งหมด

ในตัวอย่างภาพปลอกล้อแตกที่เห็น ภาพแรกเป็นของตู้รถไฟโดยสาร กรณีนี้เกิดจากการใช้แท่งห้ามล้อที่มีสัมประสิทธิ์ความเสียดทานสูงและระบายความร้อนได้ไม่เหมาะสมกับงานที่มีการปรับปรุงเพิ่มแรงกดเข้าไปอีก เมื่อลงห้ามล้อความร้อนที่เกิดจากการเสียดสีระบายไม่ทัน บ่อยครั้งเข้าผิวพื้นล้อก็จะเกิดรอยแตกราน (Thermal Crack) แล้วค่อยๆกินเข้าไปในเนื้อเหล็กคล้ายรูปวงพระจันทร์เสี้ยว ถึงจุดหนึ่งปลอกล้อรับแรงต่อไม่ไหวก็จะแตกออกจากกัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เนื้อหาและตัวอย่างความชำรุดที่ได้รวบรวมไว้มีสารพัดรูปแบบ ทั้งจาก แรงกด แรงดึง การบิด การงอ หรือจากไฟไหม้ ฯลฯ ที่เกิดกับเครื่องจักร และชิ้นส่วน เช่น เพลา ฝาประกับเพลา เทอร์โบชาร์จเจอร์ ฯลฯ โดยได้เรียนพื้นฐานทฤษฎีมา และโชคดีได้ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญดังได้กล่าวมาแล้ว จากนั้นก็มาหาประสบการณ์ภาคปฏิบัติเอาเองด้วย ได้เคยวิเคราะห์เรื่องขึ้นศาลที่อเมริกา เช่น อุบัติเหตุที่เกิด มาจากอะไร ถ้าจากการออกแบบก็จะเน้นความรับผิดชอบไปที่ผู้ผลิต ถ้าจากการบำรุงรักษาก็ไปที่ผู้ใช้ แต่ก็ต้องศึกษาเงื่อนไขสัญญาทางกฎหมายประกอบไปด้วย

ตัวอย่างถัดมาเป็นภาพปลอกล้อแตกเช่นกัน แต่คราวนี้เป็นของรถจักร Krupp ผู้เกี่ยวข้องก็เตรียมการแก้ไขด้วยการปรับแรงกดของห้ามล้อและชนิดของแท่งห้ามล้อ เพราะมีตัวอย่างแล้วดังกล่าวข้างต้น ถึงจะย้ายจากบางแห่งที่เคยประจำอยู่มาแล้ว แต่เหล่าลูกน้องเก่าก็มักจะขอให้ไปดูเผื่อรวบรวมไว้สอนพวกเขา ผมแนะนำไปว่าในการวิเคราะห์ความชำรุดนั้นต้องดูให้ละเอียด ไม่ควรด่วนสรุปว่าต้องเป็นจากสาเหตุเดิมเสมอไป ได้ให้ถอดปลอกล้อที่แตกออก แล้วตัดเป็นชิ้นซ้ายและขวาของรอยแตกมาดู (ดังในภาพ) จะเห็นได้ชัดว่ากรณีนี้รอยที่กินเข้าไปในเนื้อเหล็กไม่ได้เกิดด้านพื้นล้ออย่างกรณีแรก จึงไม่ใช่เกิดจากปัญหาที่ห้ามล้อ ถ้าไปแก้ไขอย่างที่จะทำกันในตอนแรกก็จะผิดจุด กรณีนี้เริ่มที่ด้านข้างของปลอกล้อตรงที่มีตัวหนังสือ (เหมือนโยนก้อนหินลงไปในน้ำ วงคลื่นจะเริ่มตรงจุดที่ก้อนหินกระทบน้ำ) ความชำรุดครั้งนี้จึงเกิดจากผู้ผลิตปลอกล้อที่ตอกตัวหนังสือเป็นโค้ดไว้ด้านข้าง โดยไม่ระวังว่าตัว “T” ที่เห็นนั้นลึกและก้นเป็นสันคมเกินไป ทำให้เกิดความเข้มของความเค้น (Stress Concentration) สูง เมื่อใช้งานรับแรงสั่นสะเทือนไประยะหนึ่งจึงเกิดรอยร้าวจากความล้าแล้วกินเข้าไปในเนื้อเหล็ก จนถึงจุดที่รับแรงต่อไม่ไหวจึงแตกหักออก (Fatigue Failure)

กองขยะเศษเหล็ก
กองขยะเศษเหล็ก แหล่งสำคัญอันมีค่าแห่งหนึ่งในการหาตัวอย่างความชำรุดมาวิเคราะห์ แก้ไข แล้วนำไปสอน
ตัวอย่างความชำรุดของปลอกล้อรถไฟ
ตัวอย่างความชำรุดของปลอกล้อรถไฟ ที่เกิดจากผู้ใช้ (เริ่มแตกจากรอยรานที่พื้นล้อ)
ตัวอย่างความชำรุดของปลอกล้อรถไฟ
ตัวอย่างความชำรุดของปลอกล้อรถไฟ ที่เกิดจากผู้ผลิต (เริ่มแตกจากขอบล้อที่ตัว “T” ซึ่งตอกลึกและคมเกินไป)

นอกจากบรรยายให้ความรู้คนงานจากงานจริงและตัวอย่างของจริงทางด้านวิศวกรรมแล้ว ได้หาทางช่วยปรับพฤติกรรมบางอย่างพร้อมไปด้วย ที่โรงงานหนึ่งที่ผมเคยเป็นนายช่างอยู่ เหล่าคนงานช่วงพักกลางวันก็ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรทำ เมื่อเลิกงานกลับบ้านพักก็มักจะตั้งวงดื่มเหล้ากัน หรืออาจติดยาด้วยก็เป็นได้ จึงได้เรียกประชุมชักชวนมาเล่นกีฬา ซึ่งได้ผลและความร่วมมือมากเกินคาด โดยทุกอย่างเขาต้องมีส่วนร่วมในการเตรียมการด้วย ที่ดินว่างหญ้าขึ้นรกข้างโรงงานก็ให้ช่วยกันถางและปรับพื้นที่ทำเป็นสนามฟุตบอล แล้วจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นให้รวมถึงลูกฟุตบอล แต่ให้ลูกแรกเท่านั้น พอเล่นติดแล้วหากไม่ดูแลรักษาของต้องลงขันซื้อกันเอง โต๊ะปิงปองก็หาไม้อัดขนาดและความหนาที่ได้มาตรฐานให้ แต่ต้องต่อโต๊ะเองเพราะมีช่างฝีมือในโรงงานแยะ ออกมาดีมาก ซื้ออุปกรณ์เฉพาะชุดแรกให้เช่นกัน โรงกลึงล้อส่วนที่มีหลังคาคลุมจะขยับของตอนพักกลางวันเพื่อให้สามารถเล่นแบดมินตันได้ ลานจอดรถทุกคนร่วมมือย้ายรถออกชั่วคราวตอนพักกลางวันทำเป็นลานตะกร้อ สำหรับผู้ที่อายุมากหน่อยได้จัดหาไม้สักทองให้ไปต่อทำเป็นกระดานหมากรุกเอง ทุกกรณีจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้แต่เฉพาะชุดแรก ทุกรายการต้องยอมลงทุนทยอยควักกระเป๋าเองทั้งสิ้นเบิกไม่ได้ อันที่จริงก็เป็นเงินไม่มากนักเมื่อเทียบกับคุณค่าที่ได้รับ แต่ก็ดีใจที่คุ้มค่า คนเหล่านี้หลายคนมีพรสวรรค์ในเรื่องกีฬาอย่างที่เรานึกไม่ถึง ร่างกายเขากลับมาแข็งแรงกระปรี้กระเปร่าอย่างเห็นได้ชัด ทำงานได้เต็มที่อึดกว่าเดิมมาก มีทั้งแรงกายและแรงใจพร้อมความร่วมมือที่จะลุยงานไปด้วยกัน พอปลายปีก็จัดให้มีการแข่งขันภายในทุกประเภทกีฬาที่กล่าวถึง ผมเองก็ลงแข่งบางประเภทด้วย

ที่จริงอยากเล่าเพียงแค่นี้ แต่ต้องขอเล่าต่อ เพียงเพื่อเป็นกรณีศึกษาเท่านั้น คืองานเหล่านี้ต้องทำต่อเนื่องระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่ไฟไหม้ฟาง ภายหลังผมได้มีโอกาสกลับเข้าไปเยี่ยมเยียน ปรากฎว่าสภาพที่กล่าวมานั้นหายไป สนามที่เคยให้มีการเล่นฟุตบอลปรากฏว่าหญ้าขึ้นรกไม่เหลือสภาพ โต๊ะปิงปองแหว่งกลายเป็นแท่นเรื่อยไม้และที่วางอุปกรณ์ที่เปรอะเปื้อนน้ำมัน ฯลฯ คงไม่ต้องบรรยายความรู้สึกต่อ

ทำงานรถไฟจะมีไปตรวจงานต่างจังหวัดเป็นระยะ เวลาไปทางสายอีสานก็มักจะหาโอกาสไปนอนค้างตามวัดป่าแทนการพักโรงแรม พนักงานรถไฟที่นั่นโดยปกติจะคุ้นกับทางวัดเพราะช่วยบริการรับส่งของให้ ได้มีโอกาสพบเจอกราบฟังธรรมและสนทนาธรรมกับเกจิอาจารย์หลายรูปมากที่ยังมีชีวิตอยู่ในยุคนั้น (ราว 40 ปี+/- ที่ผ่านมา) ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อท่านเกรงจะเป็นการกล่าวอ้างหรืออวดอ้างซึ่งไม่เหมาะสม นับเป็นโอกาสที่ดีมากๆในชีวิตที่ได้เรียนรู้จากท่านเกจิอาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้นโดยตรง

[อ่านต่อ:  บทความนี้มีทั้งหมด 5 ตอน กดลิ้งค์เลือกเข้าดูได้เลยที่ท้ายเว็บ]


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save