เรื่องเล่า ของวิศวกรโลหการ ตอนที่ 2

เรื่องเล่า ของวิศวกรโลหการ ตอนที่ 2


ต่อจากฉบับที่แล้ว

จำได้ในตอนแรก ๆ นั้น หัวหน้างานที่ช่วยผมจะชื่อ คุณตัน ภูหมื่น หัวหน้าหมวดเครื่องมือกล มีลูกน้องฝีมือดี อีกคนชื่อ จิระพล อยู่คงออกแบบจิ๊กและฟิกเกอร์ได้เก่งมาก ผมเพียงแต่ Free Hand Sketch ให้ก็เอาไปออกแบบเป็น Engineering Drawing และเอาแบบไปทำได้เลย ช่วยลดงานผมได้มากทีเดียวใน พ.ศ. 2524 บริษั ทปูนซิเมนต์ไทย ได้ร่วมทุนกับบริษัท คูโบต้า ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อการเกษตรแบบสูบเดียว

มีการก่อตั้งบริษัท สยามคูโบต้า จำกัด (SKDC) โดยที่โรงงานสร้างที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร งานหล่อส่วนใหญ่ของเครื่องยนต์คูโบต้า SKDC จึงตกเป็นภาระงานของบริษัทนวโลหะ งานชิ้นสำคัญได้แก่ การผลิต Fly Wheel และชิ้นส่วนเล็ก ๆ อื่น ๆ รวมถึงต้องมีการวางแผนผลิตเสื้อสูบ (Crank Case) โลหะ หล่อแล้วยังส่งไปกลึงที่บริษัทสยามคูโบต้า ใน พ.ศ. 2525 อีกประมาณ 2 ปีต่อมา นวโลหะได้ขยายโรงงานผลิตติดตั้ง Line ผลิตชื่อว่า M9

การผลิตรถไถได้เดินตามยุคตามสมัย ในยุคนั้นมีการแข่งขันกัน 2 ราย คือ บริษัทสยามคูโบต้า และบริษัท ยันม่า ประเทศไทย จำกัด ซึ่งของคูโบต้าเริ่มจาก พ.ศ. 2524 จนถึงปัจจุบัน ใน พ.ศ. 2565 ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Kubota Corporation ผลิตรถแทรกเตอร์ โดยพัฒนามาจากรถไถนั้นเอง ในส่วนของบริษัทยันม่า มาถึงปัจจุบันยังเป็นรถไถเหมือนเดิม

พ.ศ. 2529 แผนกเครื่องมือกลที่ผมเป็นหัวหน้าแผนก มีงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น งานกลึงกระบอกสูบของบริษัทคูโบต้า งานกลึง Drum Brake และ Disc Brake ของรถ Pick Up จำนวน 1-2 ตัน ได้มีการซื้อ Transfer Line จากบริษัท Aichin Takaoka ซึ่งตามสัญญาครอบคลุมรุ่นของผลิตภัณฑ์ได้ไม่หมด เนื่องจากลูกค้าตัดสินใจช้า ทางบริษัทลงนามสัญญาสั่งซื้อ Line ไปแล้ว

นายช่างจำลอง เภกะนันทน์

ซึ่งทำให้เกิดรุ่นที่อยู่นอกสัญญา เราจึงต้องออกแบบเครื่องจักรและกลึงเอง สุดท้ายเราซื้อเครื่องกลึง CNC 2 เครื่องจากบริษัท Mori Seiki (เกียวโต) เครื่องเจาะ 2 เครื่อง บริษัท Yashi Yoda และออกแบบจิ๊กเอง งานนี้ผมจึงต้องไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อตรวจรับเครื่องจักรของผู้ผลิตเครื่องทั้ง 2 บริษัท ในช่วงนั้น ผมเริ่มมีวิศวกรประจำแผนกชื่อ พงศ์เทพ กิติพงศ์เดชา เราแบ่งงานกันทำ จำได้ว่าเราฝึกงานกลางวัน ตกเย็นก็มาเขียนรายงานการฝึกงาน เสร็จแล้วก็ออกแบบกันต่อ ถ้าวันถัดมาเป็นวันหยุดก็จะทำงานกันดึกหน่อย บางครั้งเข้านอนตอน 03.00-04.00 น. ซึ่งปกติหอพักจะดับไฟและให้เข้านอนประมาณ 5 ทุ่ม ถึงเที่ยงคืนต่อมาเมื่อเจ้านายของผม นายช่างจำลอง เภกะนันทน์ ได้มาเยี่ยม คนดูแลหอพักเขาก็ฟ้องท่านว่าพวกเรานอนเปิดไฟกัน ไม่ดับไฟ นายช่างจำลองทราบถึงสถานการณ์จึงบอกคนดูแลหอพักไปว่า เราขยัน ยังไม่นอน พอดีมีงานสำคัญเร่งด่วนที่ได้มอบหมายให้ทำ

พ.ศ. 2529 บริษัทได้ตั้งบริษัทผลิตภัณฑ์วิศวไทย (TEPCO) โดยย้ายเครื่องจักรในแผนกเครื่องมือกลไปที่บริษัทใหม่ เขาทำกันโดยไม่ให้ผมรู้ตัวเลย เมื่อย้ายเครื่องจักรเรียบร้อยแล้วก็มีคำสั่งให้ย้ายผมไปเป็นหัวหน้าแผนกเหล็กเหนียว ตามความเหมาะสม แล้วบริษัทควรย้ายผมไปพร้อมกับงานที่ถูกย้ายไป โดยอาจจะเลื่อนตำแหน่งของผมให้สูงขึ้น คือ เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วน (ระดับ จ.1) ที่บริษัทใหม่ แต่บริษัทตัดสินใจเก็บผมไว้ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกเหมือนเดิมคือเป็นหัวหน้าแผนกเหล็กเหนียว ซึ่งเป็นยุคที่บริษัทนวโลหะมีนโยบายว่าจะเลิกการผลิตในแผนกนี้ทั้งหมด และเหลือไว้เฉพาะงานอะไหล่ของโรงงานบริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือบริษัทในเครือฯ เท่านั้น ในยุคนี้ การทำเหมืองแร่ดีบุกเริ่มหยุดกิจการกันหมดแล้ว เพราะมีวัสดุพลาสติกเกิดขึ้นในโลกความต้องการ โลหะดีบุกก็หมดไป

งานในแผนกเหล็กเหนียวนี้ ต่อมาใน พ.ศ. 2540 ก็หยุดผลิตอย่างสมบูรณ์ มีหัวหน้างานเก่าแก่หลายท่านในบริษัทขอลาออกแบบเกษียณก่อนกำหนด บริษัทปูนซิเมนต์ไทยขายบริษัทนวโลหะให้แก่กลุ่มทุนบริษัท โตโยต้า (ประเทศไทย) จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท Aichin Takaoka (ประเทศไทย) จำกัด

ทีมงาน

ใน พ.ศ. 2545 บริษัทนวโลหะเลิกผลิตอะไหล่ให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย และบริษัท SIAM MAGOTTEAUX CO. (เบลเยียม) ผู้ผลิตเครื่องจักรผลิตปูนซีเมนต์ก็มาเปิดโรงหล่อในประเทศไทยที่จังหวัดสระบุรี ผมนึกย้อนดูแล้วน่าเสียดายเป็นอย่างมาก กับองค์ความรู้ในงานหล่อเหล็กที่สะสมมานับ 70-80 ปี ในการผลิตอะไหล่เครื่องจักรผลิตปูนซีเมนต์ที่จะหายไปจากการหยุดกิจการของแผนกหล่อเหล็กเหนียวในครั้งนี้ ความเหลือเชื่อเกิดขึ้น ในสิ้นปีบริษัทมีกำไร จนแจกโบนัสให้พนักงานได้ถึง 5 เดือน ซึ่งปกติบริษัทจะให้โบนัสได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น จากการวิเคราะห์พบว่า เมื่อเปลี่ยนผู้ถือหุ้น แหล่งเงินกู้ก็เปลี่ยนไป เป็นกู้จากด้านญี่ปุ่นที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าของฝั่งไทยเรามาก จนผลประกอบการอยู่ในระดับดีมาก มีกำไรมหาศาลอย่างไม่น่าเชื่อ แสดงว่าหลายปีที่ผ่านมา บริษัทนวโลหะขาดทุนเพราะมีการกู้เงินจากสถาบันการเงินที่เก็บดอกเบี้ยแพง

สำหรับงานที่ผมทำในแผนกหล่อเหล็กเหนียว ผมมาเริ่มตอนที่มีงานค้างการส่งมอบจำนวนมาก ผมก็แก้ปัญหาโดยไปประชุมกับวิศวกรซ่อมบำรุงของโรงงาน 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานท่าหลวง โรงงานแก่งคอย โรงงานทุ่งสง เดือนละ 1 ครั้ง เป็นการตรวจสอบงานที่ค้างการส่งมอบ และหากมีการสั่งซื้อก็รับข้อมูลมาก่อน รวมถึงอธิบายปัญหาการชำรุดของชิ้นส่วนอะไหล่ ให้ข้อคิดที่จะปรับปรุงให้อะไหล่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น เมื่อกลับมาโรงงานก็จัดทำรายงานของนายช่างวิสุทธิ์ วงศ์ทองศรี ผู้จัดการโรงงานหล่อเหล็กในยุคนั้น ผมทำงานในตำแหน่งนี้จนถึง พ.ศ.2530

ใน พ.ศ. 2530 นี้ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้ร่วมกับบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็คทริก จำกัด ในการก่อตั้งบริษัท สยามคอมเพรสเซอร์อุตสาหกรรม จำกัด ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อผลิต Rotary Compressor สำหรับเครื่องปรับอากาศ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ เรื่องเล่าชาวอินทาเนีย โดย วรุณ จันทรสุนทรกุล วศ.17


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save