หลักการก้าวเดินแบบ MOVE โดย ศาสตราจาร์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชื่อมโยงกับทุกส่วนสังคมจากการเป็นผู้นำของคณะวิศวฯ จุฬาฯ ตลอดระยะเวลา 8 ปี
ต่อจากฉบับที่แล้ว…
“Maximize Learning System คือแนวคิดที่จะต้องให้คนที่เกี่ยวข้องกับเราได้รับการเรียนรู้ที่ดีที่สุดเพื่อให้เขาได้เติบโตต่อไปในอนาคต…”
O: Outstanding Research and Innovation
รากฐานสำคัญที่สุดคือ อาจารย์และนักวิจัยต้องมีความรู้ในเชิงลึก
สำหรับ O คือ Outstanding Research and Innovation ฐานสำคัญที่สุดคืออาจารย์และนักวิจัยที่มีความรู้ในเชิงลึกที่ตนเชี่ยวชาญมากน้อยแค่ไหน และบริบทที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่ยังคงความเป็นจุฬาฯ และผลักดันจุฬาฯ ให้ก้าวเดินไปข้างหน้า
และแน่นอนว่าถ้าพูดเรื่องนี้ต้องมีคำถามว่า “ขึ้นหิ้ง” ไหม คิดว่าคำว่า “ขึ้นหิ้ง” ไม่ใช่คำหยาบและคำที่ความหมายไม่ดี เพราะหากเราไม่มีของบนหิ้งเราจะใช้อะไรทำนวัตกรรม สิ่งที่พยายามบอกอาจารย์และนักวิจัยทุกคนว่า ต้องลงไปให้ลึกที่สุด ให้เป็นเทพในสิ่งที่ตนเองทำ ในหลายแพล็ตฟอร์มความสำคัญจากนี้ไปคือมหาวิทยาลัยหรือคณะต้องส่งเสริมให้เกิดแพล็ตฟอร์มหลังจากที่อาจารย์ลงลึกที่สุดแล้ว จะต้องทำให้เขานำความเชี่ยวชาญขึ้นมาอยู่บนแพล็ตฟอร์มให้ได้ และแพล็ตฟอร์มจะช่วยดึงคนข้างนอกเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม นิสิต และนอกจากจะเรียนรู้ในเชิงลึกแล้ว ยังเรียนรู้อยู่ในแพล็ตฟอร์มด้วย ทางคณะวิศวฯ มีแพล็ตฟอร์มเหล่านี้พอสมควร เช่น AI การนำความรู้มาใช้ในด้านการแพทย์ ใช้วิเคราะห์สุขภาวะ สร้างแพล็ตฟอร์มขึ้นมา เมื่อเริ่มทำสังคมภายนอกเห็นคุณค่าในเรื่องนี้จึงเข้ามาร่วมกันทำ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ จิตแพทย์ ภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุข
สำหรับแนวคิดเรื่องแพล็ตฟอร์มเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นการปรับตัวของคณะและมหาวิทยาลัย เมื่อพูดถึงจุฬาฯ มีความหลากหลายทางด้านศาสตร์และหลากหลายในด้านองค์ความรู้ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานีรถไฟ เป็นสถานีรถไฟที่รองรับรถไฟจากหลากหลายขบวนและหลากหลายเส้นทาง
เป้าหมายสำคัญของคณะวิศวฯ จุฬาฯ
ในคณะวิศวฯ และในมหาวิทยาลัยต้องมองเป้าหมายของงานวิจัยให้ดี นอกจากจะสร้างองค์ความรู้แล้ว ยังต้อง
- สร้างคน ทุกองคาพยพของจุฬาฯ คือการสร้างคน ทำให้นิสิตหรือคณาจารย์ มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้เติบโต ทุกกิจกรรมที่สำคัญของคณะวิศวฯ จุฬาฯ เพื่อการดำเนินการสร้างคุณค่าในตัวผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
- อำนวยความสะดวกแก่อาจารย์ให้นำความรู้นั้นขึ้นมาอยู่บนแพล็ตฟอร์ม Chula Engineering Enterprise ที่พร้อมจะ Support หรือหาคนเข้ามาช่วยดู เช่น กลุ่มนิสิตเก่า เป็นกลุ่มสำคัญที่จะเข้ามาช่วยดึงและประเมินว่าผลงานนั้น ๆ สามารถทำอะไรได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ทางคณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้มีการทำงานร่วมกับองค์กรต่างประเทศหลายองค์กร และกำลังจะเปิดรายวิชาใหม่ ๆ ร่วมกัน โดยให้นิสิตเป็นผู้ดึงผลงานวิจัยของอาจารย์ขึ้นมาอยู่บนแพล็ตฟอร์มให้ได้ โดยให้นิสิตเข้าไปเรียนรู้ผลงานวิจัยของอาจารย์ และสร้าง Business Model สำหรับงานวิจัยนั้นและทดลองทำ สิ่งสำคัญคือ อาจารย์จะเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการในการนำงานวิจัยมาสู่บนแพล็ตฟอร์มและสร้างประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
V: Value Creation for Society
นำความรู้ไปสร้างคุณค่าให้แก่สังคมคือ Core Value หลักของคณะวิศวฯ
ศ. ดร.สุพจน์ กล่าวว่า เวลาคนมองเข้ามาในคณะวิศวฯ มักมองว่าเราเป็นสายเทคโนโลยี เป็นเรื่องของ Deep Tech, Publication และเรื่องของงานวิจัยชั้นสูง เป็นสิ่งที่เราทำอยู่ เป็นเรื่องของตัว O สิ่งที่คณะวิศวฯ ไม่หยุดทำและถือว่าเป็นวัฒนธรรมขององค์กรคือ “การนำความรู้ไปสร้างคุณค่าให้แก่สังคม” ความรู้บางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ได้ลงลึกมาก สามารถสร้าง Value และสร้างคุณค่าให้แก่สังคมได้ ทั้งในเรื่องของการสร้างความตระหนักเพื่อเตรียมตัวรับสิ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา กับการนำความรู้เพื่อไปเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่สังคมหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรา
คณะวิศวฯ ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคม
เมื่อเรามองออกไปข้างนอกเราจะต้องมองเห็นถึงปัญหาของสังคมก่อน เป็นเรื่องของ Empathy สิ่งที่เราสอนนิสิตมายาวนานถึง 10 ปี ในอดีตอาจไม่ได้สอนในเรื่องของ Design Thinking โดยตรง แต่เป็นในเรื่องของ CDIO การ Integrate เข้าไปเกือบทุกรายวิชา หลัก ๆ เราต้องรู้ก่อนว่าสังคมภายนอกต้องการอะไร หลักการเดียวกันคือ Empathy ใน Design Thinking เสร็จแล้วเราจะต้องคิดว่าจะนำอะไรไปส่งมอบให้แก่สังคมได้บ้างและต้องมี Action ต้องทำ เสร็จแล้วต้องส่งมอบ นำไปใช้งานจริง เป็นสิ่งที่เราทำจนกลายเป็น Routine ของคณะวิศวฯ ทั้งในส่วนของนิสิตมีความชัดเจนมาก อาจารย์เองผลักดันเรื่อง CDIO คณะวิศวฯ เป็น Member ใน CDIO ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เราดำเนินเรื่องนี้มาตลอด อาจจะเรียกเป็นอย่างอื่นบ้าง แต่สุดท้ายความหมายเดียวกัน ต้องคิดและทราบว่าปัญหาคืออะไร สังคมภายนอกต้องการอะไร จากนั้นร่วมกันทำ และส่งมอบให้ได้ เป็นเรื่องที่ยากกว่าการส่งมอบสิ่งของ
ตัวอย่างกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคมในช่วงเวลาที่ผ่านมา
เรื่องกิจกรรมของนิสิตช่วงหลังมาได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการให้น้อง ๆ โฟกัสที่เป้าหมาย ต้องส่งมอบตามที่สัญญา การส่งมอบนี้ไม่ใช่การส่งมอบเพียงครั้งเดียว ยกตัวอย่าง ค่ายวิศวพัฒน์ จังหวัดน่าน ที่เราทำมาอย่างน้อย 7-8 ปี ในปีแรก ๆ ทำค่อนข้างลำบากมากเพราะจำเป็นต้องมี Engagement ของประชาชนในพื้นที่เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่ และเราค่อยนำคนของเราเข้าไปทำ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ค่ายวิศวพัฒน์ทำต่อเนื่องมาหลายปีที่จังหวัดน่าน รู้ดีว่าพื้นที่ป่าหายไปมาก จะเปลี่ยนให้กลับมาภายในระยะเวลาสั้น ๆ คงเป็นไปได้ยาก “บอกน้อง ๆ ทุกคนว่า การที่เราทำสิ่งเล็ก ๆ แต่ Impact ไม่เล็ก ไม่มีสิ่งเล็ก ๆ ใน Global Impact อยู่ Impact จะค่อย ๆ กระจายออกไปเหมือนผีเสื้อขยับปีกที่ทำให้เกิดลมพายุ” มุ่งเป้าตัวเขาเองอยู่ในพื้นที่และทำอย่างต่อเนื่อง ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น จนได้รับรางวัลมากมาย แต่รางวัลเป็นเพียงตัวให้กำลังใจ เป้าหมายหลักของเราก็ยังคงอยู่คือ สร้างพื้นที่ที่เรากำหนดไว้และขยายออกไปให้มีความชุ่มชื้นและเป็นพื้นที่สีเขียวอย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ยังได้พานิสิตกลุ่มนี้ไปร่วมงาน COP28 เพราะเป็นสิ่งที่เราควรบอกให้ประชาคมโลกได้รับทราบ ถึงแม้จะไม่ใช่ Carbon Credits แต่ผมมองว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจว่า ไม่มีกิจกรรมใดที่เป็นกิจกรรมเล็กสำหรับเรื่องการรักสิ่งแวดล้อม และสำหรับเรื่องที่เราทำมายาวนานอีกเรื่องคือ เรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนหรือเรื่องของฝุ่น ซึ่งทำมาระยะเวลานานถึง 10 ปี เริ่มจากจุดมุ่งหมายแรกคือ ในอดีตประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่านไม่ทราบว่าหมอกคือฝุ่น PM2.5 ทางคณะวิศวฯ ได้ทำ CU Sent หรือ Sensor for All สำหรับติดตามข้อมูลด้านคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่น PM2.5 มาเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นกิจกรรมสำหรับน้อง ๆ ทำร่วมกับอาจารย์ นำเรื่องของเทคโนโลยี IoT กับการสื่อสารเข้าไปผนวกร่วม เพื่อแจ้งเตือน แน่นอนว่าเป็นเรื่องของปลายทาง ต้นทางอาจจะเกินตัวเราไปหน่อย แต่สามารถเสนอนโยบายได้ แต่ทั้งนี้ต้องเรียนว่าเราไม่สามารถดำเนินการเองได้ทั้งหมด ในช่วงแรก ๆ ทุกคน Comment กันต่าง ๆ มากมายว่าจะแม่นยำไหม เขาลืมไปว่าเป้าหมายไม่ใช่ความแม่นยำของ Sensor แต่เป้าหมายคือต้องการเป็นเหมือนเครื่อง Warning Sign ให้แก่ประชาชนในพื้นที่
E: Engaging Stakeholders
พื้นฐานสำคัญของคณะวิศวฯ
Stakeholders หลักของคณะวิศวฯ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. กลุ่มผู้คน 2. สังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับกลุ่มผู้คนคือ นิสิต รวมไปถึงนิสิตเก่า เรื่องการเติบโตตลอดชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เติบโตเพียงในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นเราต้องเสริมสร้างความรู้และความมั่นใจในการใช้ชีวิต รวมถึงกลุ่มคนอื่น ๆ ที่ต้องการ Reskill, Upskill ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่และสำคัญมากที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยลืมไปคือ บุคลากรของมหาวิทยาลัย เราลืมไปว่าบุคลากรก็ต้องเติบโตเช่นกัน ทั้งบุคลากรฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายวิชาการ เพราะทุกคนมีบทบาทในการสร้างโอกาสในการเติบโตให้แก่ทุกกลุ่มที่เข้ามาร่วมกับเรา รวมถึงภาคเอกชนเป็นอีกกลุ่มใหญ่ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญของคณะ เพราะการที่เขามาจ้างเราทำวิจัยหรือการเข้ามามองหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเติบโตไปด้วยกัน เราจึงต้องมีแพล็ตฟอร์มที่จะต้องมารองรับคนกลุ่มนี้
ตัวอย่างที่เกิดจากผลลัพธ์ของ E
- หลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ยกตัวอย่างหลักสูตรของคณะวิศวฯ ที่อยู่มาเกือบ 100 ปี และเป็นหลักสูตรต้นแบบสำหรับคณะวิศวฯ ทั้งประเทศ เรียนทั้งหมด 150 หน่วยกิต แต่เนื่องจากโลกเปลี่ยนไปเร็ว เราไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วนได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือลดหน่วยกิตลง ให้นิสิตมีโอกาสเลือกวิชาที่ชื่นชอบและสามารถตอบโจทย์ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เขาจะเข้าไปมีบทบาทได้ และเขาสามารถที่จะเข้าไปเติบโตในองค์กรต่าง ๆ ได้ นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำให้หลักสูตรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น หลักสูตร Sandbox ของคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (Computer Engineering and Digital Technology: CEDT) เป็นตัวอย่าง Engaging Stakeholders ที่ชัดเจน ทำให้องค์กรได้คนที่ชอบ งานที่ใช่ และความรู้ที่ตรง เด็ก ๆ จะมีทักษะติดตัวไปตั้งแต่ปี 1-4 เขาควรจะเดินเข้าไปในสายงานที่เขาอยากทำ เพื่อให้เขาโตไปข้างหน้าให้ได้
- การทำงานร่วมกับ สวจ. ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและการเติบโตไปด้วยกัน ที่ผ่านมาเราค่อนข้างติดขัดกับกฎระเบียบค่อนข้างมาก แต่จะทำอย่างไรที่จะดึงทรัพยากรจากข้างนอกเข้ามาได้ ในอดีตเรามักจะมองว่าใช้สิ่งล่อใจ เช่น การให้บริจาคเงินเข้ามาและจะได้การคืนภาษี 2 เท่า แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่สามารถใช้กับสังคมปัจจุบันได้ เราจึงเปลี่ยนไปใช้แรงบันดาลใจ คนที่จะเข้ามาร่วมทำงานกับเราหรือรวมไปถึงเรื่องของการร่วมบริจาคต้องมีแรงบันดาลใจ สำหรับหอประชุมเราให้แรงบันดาลใจว่า หอประชุมนี้อยู่มาแล้ว 50 ปี และจะอยู่ต่อไปอีก 50-100 ปี อย่างแน่นอน นิสิตเก่าควรได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงหอประชุม เพราะเป็นสิ่งที่สร้างเขาขึ้นมาและเป็นสิ่งที่จะอยู่ตรงนั้นไปอีก 50-100 ปี เป็นอย่างน้อย และจะทำให้นิสิตเก่าภาคภูมิใจว่าได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างการเติบโตของน้อง ๆ นิสิตในปัจจุบันรวมไปถึงในอนาคตด้วยเช่นกัน ปัจจุบันหอประชุมและลานอินทาเนียมีตารางการใช้งานที่ค่อนข้างมาก ที่สำคัญการเป็นวิศวฯ ไม่ได้เติบโตด้วยวิชาชีพอย่างเดียว แต่จะมีวิชาชีวิตที่จะต้องผสมผสานและเติบโตไปด้วยกัน
- การดูแลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ตลอดวาระที่ผมดูแลคณะวิศวฯ มา เราเน้นเรื่องความยั่งยืนมาตลอด ก่อนที่จะเป็นประเด็นในทุกวันนี้ เช่น เรื่องฝุ่น PM2.5 เรื่องการสร้างจิตสำนึก ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ NY Mission ทางวิทยุจุฬาฯ เข้ามาช่วย วิทยุจุฬาฯ จึงเป็นหัวใจสำคัญ จึงต้องมีแพล็ตฟอร์มที่จะนำข่าวสารข้อมูลออกไปสู่คนข้างนอก ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณวิทยุจุฬาฯไว้ ณ ที่นี้ และรายการพูดจาประสาช่างเป็นอีกรายการหนึ่งที่เราทำร่วมกับวิทยุจุฬาฯ มายาวนานกว่า 50 ปี แต่เป็นการสื่อสารกับผู้ฟังทางเดียวตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในปัจจุบันมีการปรับปรุงนำผลผลิตจากนวัตกรรมต่าง ๆ จากนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันสื่อสารออกไป และมี Feedback กลับมา จึงทำให้วิทยุจุฬาฯไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวอีกต่อไป มีการเชื่อมต่อกับผู้ฟังผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น QR Code หรือการเผยแพร่ซ้ำต่าง ๆ คลื่นวิทยุยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน และจะเป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจากในรั้วมหาวิทยาลัยสู่สังคมภายนอกได้อย่างทั่วถึง
ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ