โดย ดร.สหัส บัณฑิตกุล (วศ.2510)
อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 5
ในการประชุมนานาชาติที่ได้มีโอกาสไปร่วม เช่น เจรจาเพื่อปกป้องและแก้ปัญหากรณีปราสาทพระวิหาร ฯลฯ สิ่งละอันพันละน้อยที่ได้จากการท่องเที่ยว เรียนรู้วัฒนธรรม นิสัยใจคอ ที่หลากหลายของแต่ละชาติแต่ละภาษา สามารถนำมาผสมผสานประยุกต์ใช้งานได้โดยไม่คาดคิดมาก่อน ผมจะใช้สอนเสมอว่า ไม่ว่าการเจรจาใด เหตุผลจะมีเพียง 2 ข้อเท่านั้น คือ “เหตุผลในใจ” และ “เหตุผลบนโต๊ะ” การที่เรารู้จักขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและนิสัยใจคอพื้นฐานของคู่เจรจาแต่ละพื้นที่แต่ละวิชาชีพ จะช่วยให้เราเอาชนะเหตุผลในใจเขาได้ง่ายขึ้น ก่อนไปถึงข้อเท็จจริงหรือเหตุผลบนโต๊ะ ดังนั้นนอกจากการเรียนแล้ว การท่องเที่ยวยังช่วยเราได้มากอีกด้วย
สมัยเมื่อทำหน้าที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ผมได้รับมอบหมายงานให้ดูแลกระทรวงที่เกี่ยวโยงกับงานเทคนิค วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์เป็นหลัก อยู่มาวันหนึ่ง (ด้วยเหตุผลบางประการ ที่ขออนุญาตไม่กล่าวถึง) ได้รับมอบหมายเป็นกรณีพิเศษจากท่านนายกรัฐมนตรี ให้ทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีต่างประเทศ (โดยที่ไม่ได้เป็นรองนายกฯ ซึ่งดูแลกระทรวงการต่างประเทศ และมีพื้นฐานทางวิศวกรรม ไม่ใช่ด้านการทูต) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 20-25 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ (มีเกริ่นไว้บ้างบางส่วนในบทความที่ผมได้เขียนและลงตีพิมพ์ในวารสารอินทาเนีย ฉบับที่ 3/2563) ในการประชุมครั้งนั้น คู่กรณีเราได้นำประเด็นขัดแย้งเรื่อง “ปราสาทพระวิหาร” เข้าถกด้วย (คำนี้เป็นภาษาทางการ ส่วนชาวบ้านจะใช้เพียงว่า “เขาพระวิหาร” สำหรับภาษาอังกฤษผมใช้ในที่ประชุมว่า “Phra Wihan” ไม่ใช้ตามคู่กรณีที่พยายามให้เรียก “Preah Vihear” เกรงเอาไปอ้างทำให้เราเสียประโยชน์ได้)
เชื่อว่าในตอนนั้นคู่กรณีเราน่าจะมีการล็อบบี้หลายประเทศสมาชิกไว้ก่อนแล้วเกี่ยวกับกรณีพิพาทนี้ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการเจรจา และนำผลสรุปที่ประสงค์ให้เป็นไปใช้ประโยชน์ โดยอาจเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้เสนอการนำตัวแทนกลุ่มประเทศอาเซียนเข้ามาช่วยแทรกแซงดูแลระงับข้อพิพาทในลักษณะรักสันติ หรือถูกประเทศที่ใหญ่กว่ารังแก หน้าที่เราคือต้องพยายามยับยั้งสิ่งที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงนี้ไว้ให้ได้ เพราะเขาอาจนำไปใช้อ้างในศาลโลกต่อไปว่า แม้แต่กลุ่มอาเซียนยังเห็นด้วย อีกทั้งเราจะเสียเปรียบทางอ้อมในอำนาจการเจรจาต่อรองเรื่องอื่น ๆ กับประเทศที่เข้ามาร่วมดูแลแทรกแซงนั้น ทั้งในด้านการเมือง การค้า ฯลฯ จึงได้วางกลยุทธ์ และเจรจาต่อสู้แก้ไข จนในที่สุดอาเซียนมีมติไม่เห็นด้วยกับที่คู่กรณีเราเสนอ โดยให้เจรจากันเอง 2 ชาติ หรือที่เรียกว่าทวิภาคีไปก่อน จากนั้นเขาได้นำเรื่องไปฟ้องต่อที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ผมจึงต้องเจรจาแบบทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอีกหลายชาติทั้งที่เป็นสมาชิกถาวรและไม่ถาวรของคณะมนตรีฯ ที่มาร่วมประชุมครั้งนั้นให้เข้าใจข้อเท็จจริง เช่น สหรัฐอเมริกา (Condoleezza Rice), จีน (Yang Jiechi) และรัสเซีย จนในที่สุดคู่กรณีเรายอมถอยไม่เดินหน้าต่อ
ที่เล่ามานี้เป็นเพียงข้อมูลโดยย่อ ในทางปฏิบัติต้องทำงานกันอย่างหนักและละเอียดอ่อน ก่อนได้มติหรือข้อสรุปดังกล่าวออกมา ขอไว้เล่ารายละเอียดภายหลังเมื่อมีโอกาสอันควร
ในการเจรจานั้นส่วนใหญ่ไม่มีเวลาให้คิดนานหรือหันไปถามใคร ต้องใช้ไหวพริบและความรู้พื้นฐานต่าง ๆ มาประกอบเสริม อย่างที่ได้เรียนไว้แต่ต้นว่า ผมเองไม่เคยเรียนหรือทำงานสายการทูตมาก่อน แต่พื้นฐานวิศวะกลับเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ช่วยได้มากในการเจรจาต่อสู้กรณีพิพาทปราสาทพระวิหารนี้ สมัยเรียนวิศวะตอนนั้นแยกแผนกปี 3 ส่วนปี 1 และ 2 ยังต้องเรียนเหมือนกัน ตอนปี 2 ต้องเรียนวิชาสำรวจ (Survey) ด้วย จำว่าอาจารย์เคยพูดถึงแผนที่การแบ่งพรมแดนในอดีตที่มักใช้ขนาด 1:200,000 แล้วตัวเลขนี้ได้ช่วยจุดประกายนำมาใช้ประโยชน์ขณะเจรจานี้ได้อย่างไร สรุปโดยย่อก็คือ ความหนาเส้นปากกาคอแร้งที่ใช้ขีดแบ่งพรมแดนบนแผนที่นี้ เช่น แนวผืนป่า หากหนา 1 มิลลิเมตร พื้นที่จริงก็จะเท่ากับ 200 เมตร หากหนา 2 มิลลิเมตร ก็จะเป็น 400 เมตร แล้วพื้นที่ตรงความกว้าง 200-400 เมตร นี้เป็นของใคร ใครบอกของตนอีกฝ่ายก็ย่อมไม่ยอม (ต่างกับปัจจุบันซึ่งใช้ GPS ที่ให้ค่าละเอียดกว่าเดิมมาก) ดังนั้นประเทศที่อยู่ติดกันจึงมักมีประเด็นปัญหาพรมแดนกันเสมอ และจากประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปตามประเทศต่าง ๆ มาตลอดในอดีต ทำให้ทราบว่าในภูมิภาคอาเซียนเราเองก็เป็นจริงตามนั้นเช่นกัน
ผมจึงได้ถามที่ประชุมอ้อม ๆ อย่างสุภาพในทำนองว่า หากจะใช้หลักเกณฑ์ส่งสมาชิกอาเซียนบางประเทศเข้าไปแทรกแซงดูแล จะใช้กับทุกคู่ในอาเซียนเราหรือไม่หากเกิดเหตุในลักษณะคล้ายกันนี้ขึ้น มีประเทศหนึ่งไวมาก ขอไม่เอ่ยชื่อ เขาพลิกเปลี่ยนทันที เพราะประเทศตนเองก็จะเจอเงื่อนไขแบบเดียวกัน รีบบอกว่า งั้นให้ไทยกับคู่กรณีคุยกันเองก่อนก็ได้ แล้วถามว่า จะใช้เวลานานเท่าไร จึงได้ตอบไปว่า ใช้เวลาตามที่เหมาะสม (Reasonable Time) ก็แล้วกัน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เขารีบตอบตกลง เพราะถ้ากำหนดให้เราเท่าใด เขาก็จะได้เท่านั้นเช่นกัน ท้ายสุดถ้าตกลงกันไม่ได้ อาเซียนจึงจะเข้ามาแทรกแซง ข้อสรุปนี้ก็ดี แต่ยังไม่น่าไว้ใจ เกรงคู่กรณีเราจะหาเหตุไปขออาเซียนให้เข้ามา จึงบอกที่ประชุมในทำนองหวังดีให้เกิดความยุติธรรมกับเขาด้วยว่า ไทยประเทศเดียวจะขอให้อาเซียนเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ ต้องไทยและคู่กรณี แต่ในความหมายก็คือทำนองกลับกันนั่นเอง เขาฝ่ายเดียวจะขอให้อาเซียนเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ ต้องไทยเห็นชอบด้วย แล้วสิ่งที่ระแวงไว้ก็เป็นจริงเพราะมีอยู่วันหนึ่งหลังจากนั้นนานพอควร คู่กรณีเราไปขอจริง ๆ จึงได้แนะนำไปทางผู้รับผิดชอบขณะนั้นให้ไปเอาข้อตกลงที่ทำกันไว้พร้อมหน้า 10 ชาติอาเซียนนี้มาอ้าง คู่กรณีเราจึงยอมถอยอีกครั้ง
นอกจากประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้งหมดที่มีรวม 10 ชาติแล้ว ยังรวมไปถึงกับของอาเซียนพลัสต่าง ๆด้วย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย ฯลฯ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีต่างประเทศ รวมถึงการทำหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นผู้รับมอบตำแหน่งประธานอาเซียนกลับมายังประเทศไทยด้วย โดยเราเป็นประธานถัดจากสิงคโปร์ (10 ปี จะวนมา 1 ครั้ง ตามจำนวนสมาชิกที่มี 10 ประเทศ เรียงตามลำดับอักษรตัวหน้าของประเทศ ครั้งถัดจากปี พ.ศ. 2551 นี้ ก็จะเป็นปี พ.ศ. 2561)
เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยได้ไม่นาน มีคำสั่งปรับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบเกิดขึ้น โดยผมต้องเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงการต่างประเทศ และทำหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศ เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
ปิดท้ายเพลิน ๆ ด้วยภาพภูเขา ที่ไม่ต้องบอกก็คงจะทราบว่าชื่อภูเขาอะไร เป็นภาพที่ถ่ายด้วยตัวเองเมื่อครั้งไปเที่ยวที่ประเทศมองโกเลีย ไม่มีการเพิ่มเติมตกแต่งรูปลักษณ์ใดในภาพทั้งสิ้น หากต้องการประมาณขนาดของภูเขา ลองขยายภาพเปรียบเทียบดู จะเห็นมีคนขี่ม้าอยู่ริมถนน มีรถบัสตามมา และขวามือสุดของภาพเป็นกระท่อม และแน่นอน ชื่อของสถานที่นี้ก็คือ “Turtle Mountain” หรือ “เขาเต่า”
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เนื้อหาบทความจากประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่เยาว์วัยจนถึงสูงวัย รวมถึงตัวอย่างและเกร็ดความรู้ข้อคิดทั้งหลายเหล่านี้ ที่ตั้งใจเขียนถ่ายทอดออกมาไม่อยากให้สูญหายตายไปกับตัว จะเป็นประโยชน์ได้บ้างแก่ผู้อ่าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่อนุชนรุ่นหลัง เผื่อได้เป็นแนวคิดแนวทางที่จะนำไปประยุกต์ใช้ ทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคต สิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งให้ไปถึงจุดหมายนั้นได้ไม่ใช่มีเพียง “ความรู้” ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ต้องมี “ความรอบรู้” ซึ่งประกอบด้วยประสบการณ์จากโลกภายนอกด้วย จึงได้โยงมาเป็นชื่อบทความนี้ว่า “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 1
- อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 2
- อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 3
- อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 4
- อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 5 (จบ)
- “ครบรอบ 46 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน และ 30 ปีแห่งจีน-อาเซียน” โดย สหัส บัณฑิตกุล
- ที่สุดแห่งความประทับใจและความภูมิใจ
- ไปดูเขาทำเหมืองพลอยกันที่ศรีลังกา
- “อดีตคณบดีวิศวจุฬา ที่ผมได้เคยทำงานใกล้ชิด… ศ.พิเศษฯ, ศ.อรุณฯ, ศ.ชัยฯ”
- การสอนและสร้างวิศวกร: แนวคิดจากประสบการณ์ สู่แนวทางในอนาคต
- มารู้จักปรมาจารย์ท่านหนึ่งในสาขา Thermodynamics (วิชาปราบเซียนของเครื่องกล)