ความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์กับการจัดการปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน


โดย: รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ 

 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


1.สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้

สภาพฝนในปีนี้ของประเทศไทย มีฝนตกเร็วในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม แต่หลังจากนั้น สภาพฝนลดลง และฝนมาตกมากอีกทีในช่วงกลางเดือนกันยายนที่มีร่องความกดอากาศต่ำภายใต้ดีเปรสชั่นโกเชิน และตามด้วยดีเปรสชั่นเตี้ยนหมูในปลายเดือนกันยายน ทำให้เกิดสภาพฝนตกหนักเฉพาะพื้นที่ และน้ำท่วมอย่างรวดเร็วเฉพาะพื้นที่ เช่น โคราช ชัยภูมิ ป่าสัก อ่างทอง สระบุรี อยุธยา และขึ้นเหนือด้วยอิทธิพลลมตะวันตกเฉียงใต้ไปยังพิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย ทำให้เกิดฝนตกหนักและภาวะน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่เชิงเขา พื้นที่ต่ำ ริมน้ำและนอกคัน (ตามรูปที่ 1) และภาวะน้ำท่วมยังดำรงอยู่อีกระยะหนึ่ง จากน้ำท่าที่ตกด้านเหนือน้ำที่จะไหลลงมาสมทบอีก

รูปที่ 1 พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

2.แนวทางการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย

โครงสร้างการบริหารจัดการน้ำปรกติ ประกอบด้วย โครงสร้าง (Hard) กฎกติกาการจัดการ (Soft) และรวมการเตือนภัย การเผชิญภัยเพื่อลดความสูญเสียชีวิตและลดความเสียหาย และการพัฒนาความสามารถในการรับมือ (People) ที่ผ่านมา เรามักเน้นพัฒนาโครงสร้าง เพื่อบรรเทาภาวะน้ำ (ท่วม ขาด แล้ง เสีย) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาว ใช้เวลานานกว่าโครงการก่อสร้างจะสามารดำเนินการสร้างได้เสร็จ

การบริหารจัดการน้ำของไทยในช่วงที่ผ่านมา มีการปรับปรุงขึ้นมาก และอาจแบ่งเป็นระยะได้ คือในช่วงน้ำท่วมปี 54 ช่วงหลังน้ำท่วมปี 54 และหลังการออก พรบ.ทรัพยากรน้ำปี 61 โดยการดำเนินการช่วงก่อนน้ำท่วมปี 54 มีการแก้ไขปัญหาเป็นโครงการแต่ละที่ ๆ และเฉพาะหน้า ใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่แก้ไขปัญหา และมีการวางโครงการแก้ไขจำนวนมากที่รองบประมาณในการดำเนินการ หลังน้ำท่วมปี 54 เริ่มมีการแก้ไขปัญหาเป็นชุดแผนงานตามพื้นที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผนงานการปรับปรุงการบริหารเขื่อน การพัฒนาพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่ (ดังรูปที่ 2) [1] การขุดลอกเพื่อเชื่อมทางระบายน้ำสายหลัก ซึ่งทำให้โครงสร้างพื้นฐานในการจัดการในภาพใหญ่ (ทั้งโครงสร้าง กฎกติกา การเตือนภัย) ดีขึ้น และหน่วยงานส่วนกลางมีความมั่นใจในการดำเนินการมากขึ้น หลังออกพรบ ทรัพยากรน้ำปี 61 มีการจัดองค์กร โครงสร้าง ระเบียบการบริหาร (ศูนย์อำนวยการน้ำ ผังน้ำ ฯลฯ) ในภาพใหญ่ และการจัดการข้อมูลในส่วนกลาง (One Map) ในภาพใหญ่ได้ดีขึ้น และในระดับลุ่มน้ำและจังหวัด เริ่มมีการตั้งกรรมการลุ่มน้ำ และอนุกรรมการน้ำจังหวัดขึ้นเพื่อการวางแผน แต่กลไกที่การดำเนินการจัดการในจังหวัดและพื้นที่ยังดำเนินการโดยอิงตามกลไกที่มีอยู่มาก่อน

แต่เนื่องจากสภาพธรรมชาติมีความแปรปรวนและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำ ต้องการความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ยังต้องการการปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในระดับจังหวัดและพื้นที่ให้มากขึ้น ซึ่งดูได้จากการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งในระหว่างที่รอการพัฒนาโครงสร้าง เราควรให้ความสำคัญต่อการจัดการด้านไม่ใช้โครงสร้าง และการเตรียมความพร้อมของชุมชน ซึ่งรวมการกำหนดเกณฑ์การจัดการน้ำต่าง ๆ การเตือนภัย การเผชิญเหตุ การจัดการหลังภัย และการมีส่วนร่วมดำเนินการในระดับต่าง ๆ รวมถึงชุมชน เพื่อลดความเสียหาในระดับหนึ่งไปก่อน ในขณะที่รอการพัฒนาเชิงโครงสร้าง

รูปที่ 2 การจัดการน้ำท่วมอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่พักน้ำ

3.แนวโน้มสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในเขตมรสุม และเป็นที่ลุ่มโดยเฉพาะเมืองใหญ่ แนวโน้มการเกิดน้ำท่วมที่รุนแรงงมากขึ้น ยังมีโอกาสอยู่ตลอดไป การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เราควรนำแนวคิดการบริหารความเสี่ยงเข้ามาประกอบการวางแผนและดำเนินการ โดยจัดทำผังความเสี่ยง (แบ่งพื้นที่ออกเป็นสี่ประเภทคือ น้ำท่วมแบบรอระบาย พื้นที่ต่ำ พื้นที่ริมน้ำ พื้นที่สำคัญ ตามลักษณะการใช้พื้นที่ เมีองใหญ่ เมืองรอง เทศบาล ชนบท) กำหนดพื้นที่น้ำท่วม พื้นที่กักเก็บน้ำ (และสามารถใช้เพื่อสันทนาการ และลดภาวะแล้งได้) และกำหนดแผนปฏิบัติการตามลักษณะพื้นที่ไว้ล่วงหน้าเชิงป้องกัน เชื่อมโยงงานต่าง ๆ ในระดับบนลงล่าง ล่างขึ้นบน (ประเทศ ลุ่มน้ำ จังหวัด ชุมชน) เพื่อให้เกิดการตัดสินได้โดยทันที โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยเพื่อการดำเนินการที่รวดเร็ว ทั่วถึง และใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าได้ ทุกพื้นที่ควรมีภูมิป้องกันตนเอง ลดความเสียหาย และมีมาตรการปรับตัว และช่วยเหลือ ปรับอาชีพให้หลากหลาย และการใช้ประโยชน์ที่ดินให้คุ้มค่าและเหมาะสมกับพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ มีพื้นที่สีเขียว ที่เก็บกักน้ำ และสังคมที่ปลอดภัย [6]

4.การนำความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์มาใช้จัดการในเรื่องน้ำท่วม

การแก้ไขบรรเทาปัญหาน้ำท่วมจากนี้ไปจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถในการทำนาย การประเมินน้ำท่า ภาวะน้ำท่วม ความเสี่ยง การเผชิญเหตุ หลังเหตุ เพื่อเตรียมมาตรการเชิงป้องกัน เพื่อลดความเสียหายและความเสี่ยง สามารถกำหนดกำหนดพื้นที่ หน่วยงานและบุคคลที่รับผิดชอบไว้ล่วงหน้า พร้อมพัฒนาเครื่องมือการจัดการและชุมชนสำหรับพื้นที่ได้แม่นยำ ทันกาลมากขึ้น

ในระยะหลัง เราได้มีโอกาสใช้ข้อมูลทำนายสภาพพายุ ฝน และน้ำท่วมจากแพลตฟอร์มทั้งในและต่างประเทศที่มีข้อมูลใกล้เวลาจริงมากขึ้น วิทยาการเหล่านี้เริ่มเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเข้าถึงได้สะดวกมากขึ้น ไม่ว่า จะเป็นการทำนายฝน น้ำท่า (ดังตัวอย่างในรูปที่ 3) [3, 7] การเตือนภัย และการวางแผนอนาคตอย่างมีข้อมูล โดยใช้ความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรม (เช่น การสำรวจ อุทกวิทยา ชลศาสตร์ สิ่งแวดล้อม) ร่วมกับวิทยาการ (ทั้งด้านการจัดการ เศรษฐศาสตร์ สังคม กฎหมาย ฯลฯ) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจดำเนินการได้แม่นยำมากขึ้น

ระบบการจัดการน้ำท่วมของรัฐจากนี้ไป ต้องพัฒนาโดยนำข้อมูลและวิทยาการใหม่ที่มีอยู่เหล่านี้เข้ามาเชื่อมโยงให้เป็นระบบเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและทันกาลในระดับต่างๆ ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นทั้งแบบบนลงล่าง (ดาวเทียม ภาพเรดาห์) และล่างขึ้นบน (เซนเซอร์และไอโอที) เพื่อการตรวจสอบและการตัดสินใจในแต่ละระดับเป็นฐานที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งยังต้องการกลไกการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ให้กระจายผ่านกลไกสมัยใหม่ พร้อมมีการวิจัยพัฒนา ปรับปรุง พัฒนาคน ให้มีความสามารถมากขึ้นในการรับมือได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รูปที่ 3 แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าและปริมาณการระบายน้ำรายวันของเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่

ในเดือนกันยายนและตุลาคม 2564 (จากผลจากการวิจัยแผนงานเข็มมุ่งด้านการจัดการน้ำ วช.)

4.แนวทางการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

มักมีคำถามว่า เราจะต้องลงทุนอีกเท่าไร น้ำจึงจะไม่ท่วม เมื่อพิจารณาจากทั้งกรณีนประเทศและต่างประเทศในขณะนี้ คำตอบที่ได้ คงจะมีว่า น้ำคงจะท่วมตลอดไป ตราบใดที่ยังมีฝนตก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะตกแรงเฉพาะจุดมากขึ้น จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมนุษยชาติก็พยายามจะลดการใช้พลังงานและทรัพยากรลงอยู่ การจัดการน้ำท่วมจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการบรรเทาสภาพน้ำท่วมให้อยู่ขอบเขตที่ควบคุมได้ การแก้ไขเป็นงานวางแผนระยะยาว โดยในระยะที่ 1 เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมักจะเป็นในลักษณะแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา โดยการสร้างพนังกั้นน้ำ ทำทางระบายและติดตั้งระบบสูบ โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญ ระยะที่ 2 จะเป็นการวางแผนตามความเสี่ยง มีการทำแผนที่เสี่ยงภัย การเตือนภัยและมีมาตรการทั้งก่อน ระหว่าง หลังเกิดภัย เพื่อให้น้ำท่วมลดลงในพื้นที่สำคัญ มีมาตรการช่วยเหลือ ฟื้นฟูในพื้นที่ประสบภัย [4, 5, 6, 8, 9] ระยะที่ 3 จะเริ่มมีการวางแผนเปลี่ยนผ่านไปสู่การวางแผนอยู่กันน้ำอย่างยั่งยืน โดยมีการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับทางด้านเศรษฐกิจ โครงข่ายคมนาคมและทางน้ำ (ผังน้ำ) และการรักษาสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พื้นที่ป่า สีเขียว มีพื้นที่น้ำ(ท่วม) ฯลฯ) ให้สมดุล เหมาะกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเดินทาง(คนและน้ำ)และสภาพอากาศในอนาคต พร้อมทำความเข้าใจและสร้างการยอมรับกับประชาชนในพื้นที่ (ตามรูปที่ 4) [2] ซึ่งจะต้องมีการวางแผนแก้ไขปรับตัวและเปลี่ยนผ่านในระยะสั้นและยาวร่วมกันไป (ตามตัวอย่างในรูปที่ 5) [2]จึงจะเป็นการเปลี่ยนผ่านใปสู่ความยั่งยืนในอนาคตได้

รูปที่ 4 การวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่คำนึงถึง อาชีพ โครงข่ายและสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

รูปที่ 5 วิวัฒนาการของการเปลี่ยนผ่านของผังเมืองเพื่อการจัดการน้ำที่ดีขึ้นในเขตเมือง (รอตเตอร์ดัมส์)

บทส่งท้าย

สภาพน้ำท่วมในปีนี้ เริ่มจากคำถามว่าจะท่วมแบบปี 54 หรือไม่ ได้มีการทบทวนสภาพฝน น้ำ และน้ำท่วม ซ ก็พบว่ามีความเหมือน (มีพายุเข้ามาติดต่อกันหลายลูก) และความต่าง (ลักษณะการตก และน้ำท่วม มีลักษณะเฉพาะ) และพบว่ามาตรการระดับชาติมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหลังปี 54 ไปพอสมควร แต่ในระดับจังหวัดและพื้นที่ ยังมีประเด็นที่ต้องปรับตัวให้สามารถรองรับสภาพในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น และเสนอแนะว่าเราควรต้องทำทั้งมาตราการเตรียมพร้อม สร้างภูมิป้องกัน การใช้ข้อมูล ความรู้ นวัตกรรม เพื่อแก้ไข ปรับตัว และเปลี่ยนผ่านในระดับพื้นที่ ไปพร้อมๆกันหลายรูปแบบ (ทั้งแบบระยะที่ 1, 2 และ 3) ตามความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจ ภูมิสังคม ทรัพยากร (ผังน้ำ) สิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ และความเข้าใจและยอมรับของชุมชน เพื่อลดความเสียหาย ความเสี่ยงและความยั่งยืน ซึ่งควรจะกำหนดในแต่ละพื้นที่และชุมชนทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อม ๆ กัน

เอกสารอ้างอิง

1) Sucharit Koontanakulvong.2020. Thailand Recent Drought Counter Measure Program Assessment, Internet Journal of Society for Social Management Systems Vol.12 Issue 2 sms19-7943, ISSN: 2432-552X, pp 66-75 (under TRIF-NRCT Spearhead Research Program on Water Management Year 1).

2) Chris Zervenbergen and Paul Rabe, WATER MANAGEMENT AND THE LAND-WATER NEXUS: SOME GENERAL NOTIONS ON LONG-TERM PLANNING, Webinar for Chao Phraya Delta 2040 Project, Thailand, July 17, 2020 ( under TSRI-NRCT Program Chair on Spearhead Research Program on Water Management Year 1).

3) สุจริต คูณธนกุลวงศ์ งานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ ๑ เอกสารสรุปของ สกสว-วช ธันวาคม ๒๕๖๓

4) สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ภาพรวมการจัดการน้ำจืดในฤดูแล้งของพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างและแนวทางออก เอกสารบรรยายในงานสัมมนาออนไลน์ ศาสตราจารย์ อรุณ สรเทศน์ เรื่อง ผลกระทบของน้ำทะเลหนุนต่อคุณภาพน้ำดิบ และการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ จัดโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2564

5) สุจริต คูณธนกุลวงศ์ การบริหารจัดการน้ำเพื่อการปรับตัวภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ISBN 978-616-586-130-4 สนพ. สสท จัดจำหน่ายโดย ศูนย์หนังสือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กันยายน 2564

(https://www.chulabook.com/th/product-details/134797)

6) สภาพัฒน์ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฉบับที่ 13 หมุดที่ ๑๑ กันยายน ๖๔

7) สำนักงานวิจัยแห่งชาติ แนวโน้มสถานการณ์น้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่เดือนตุลาคม

2564 กันยายน 64 (จดหมายข่าว https://www.bangkokbiznews.com/tech/964228) ภายใต้แผนงาน

วิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ ปีที่ 2 สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ)

8) สุจริต คูณธนกุลวงศ์ รายการวิทยุ “พูดจาประสาช่าง” โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ

จุฬาฯ FM 101.5 MHz วันที่ 1 ตุลาคม 64 เวลา 08.30-08.55 น.

9) สุจริต คูณธนกุลวงศ์ แนวคิดการจัดการภัยพิบัติสู่แผนฯ 13 วารสาร ปภ ตุลาคม ๖๔

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save