Experientiaการสอนและสร้างวิศวกร: แนวคิดจากประสบการณ์ สู่แนวทางในอนาคต โดย ดร.สหัส บัณฑิตกุล (วศ.2510)

การสอนและสร้างวิศวกร: แนวคิดจากประสบการณ์ สู่แนวทางในอนาคต


โดย ดร.สหัส บัณฑิตกุล (วศ.2510)


ผมได้รับการประสานจากผู้จัดทำหนังสือ “9 รอบ 108 ปี คณะวิศวฯ จุฬาฯ (เล่ม 3)” ให้เขียนบทความจากประสบการณ์ โดยกำหนดประเด็นมาคือ “บัณฑิต​วิศว​ะควรมีทักษะอะไรบ้าง ​และทางสถาบันการศึกษา​ควรวางรากฐาน​หรือให้ความรู้อย่างใด” ซึ่งผมก็ได้แจ้งตอบรับยินดีที่จะทำให้ แต่ก็ได้บอกไปว่า อันที่จริงก็ได้เคยเขียนเนื้อหาในทำนองที่เกี่ยวกันนี้ไปให้บ้างแล้ว เป็นประเด็นแทรกอยู่ในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารอินทาเนีย เช่น เรื่อง “ที่สุดแห่งความประทับใจและความภูมิใจ(ที่มีต่อในหลวง ร.9)” และ “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย” ซึ่งมีอยู่หลายตอน และลงต่อเนื่องในหลายฉบับด้วยกัน เนื่องจากกรอบพื้นที่บทความนี้มีค่อนข้างจำกัด และเพื่อให้ได้เนื้อหาใหม่ ๆ มากขึ้น แต่รักษาของเก่าส่วนที่สำคัญไว้ อีกทั้งสำหรับผู้ที่อาจจะยังไม่ได้อ่านบทความเหล่านั้นด้วย จึงขอกล่าวถึงส่วนเดิมบ้าง แต่จะเน้นเพียงโดยสรุปเป็นหลัก (อาจมีข้อความหรือภาพซ้ำบางส่วน) หากสนใจในรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถหาอ่านได้จากวารสารดังกล่าว ซึ่งทางสำนักพิมพ์ได้นำขึ้นเว็บไซต์ไว้ด้วยแล้ว ดังได้ระบุไว้ในเอกสารอ้างอิงท้ายบทความนี้

ชื่อเรื่องที่ตั้งขึ้นนี้คงบอกเป็นนัยอยู่แล้วว่า ที่จะเล่าสู่กันฟังจะไม่เน้นทฤษฎีนัก แต่จะนำมาจากประสบการณ์ชีวิตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการสร้างวิศวกร เพื่อเป็นตัวอย่างแนวคิด หากส่วนใดที่เห็นว่าล้าสมัยก็ขอให้ข้ามไป เชื่อว่าหลายตัวอย่างที่จะนำมาจากการผจญภัยในชีวิตจริงอาจนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์และเสริมทักษะได้ จึงขอเกริ่นถึงประสบการณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการสอนพอเป็นข้อมูลโดยสังเขปก่อน (ภาพประกอบ) เพื่อโยงเข้าเนื้อหาหลัก

ผมเองเป็นทั้งวิศวกร (ได้วุฒิวิศวกรเครื่องกลเมื่อ พ.ศ. 2526) และครูบาอาจารย์ โดยเริ่มสอนที่วิศวฯ จุฬาฯ เมื่อ พ.ศ. 2514 (พร้อมทำปริญญาโทไปด้วย) จากนั้นก็ได้ไปสอนในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น ที่อเมริกา อังกฤษ จีน เกาหลีใต้ ฯลฯ รวมถึงงานบริหารและการเจรจาระหว่างประเทศ เคยเป็นประธานกรรมการบริหารสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอ.ไอ.ที.) อยู่ราว 7 ปี ขณะนี้  พ.ศ. 2566 ยังอยู่ในวงการการศึกษา โดยเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ  เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี (ในฐานะบุคคลภายนอก โดยไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด) เคยทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ และได้รับมอบหมายให้ไปเจรจาในการประชุม ASEAN ที่สิงคโปร์ ประเด็น “กรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เขาพระวิหาร” และแก้ปัญหาหลักตอนนั้นไปได้ด้วยความรู้จากวิชาสำรวจ (Survey) ซึ่งเคยเรียนที่วิศวฯ จุฬาฯ และไม่เคยคิดว่าจะได้เอามาใช้เป็นกิจจะลักษณะ เพราะผมเลือกเรียนเครื่องกล ผ่านมาถึงตอนที่ไปเจรจานั้นก็ 40 ปีเต็ม แต่ปรากฏว่าช่วยได้มาก เป็นเหตุให้เกมพลิก แก้ปัญหาเฉพาะหน้าส่วนนั้นไปได้ ซึ่งจะได้เล่าถึงในบทความนี้ต่อไป เพื่อให้เห็นว่าแนวคิดจากประสบการณ์จะนำไปสู่แนวทางในอนาคต สำหรับการสอนและสร้างวิศวกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของทักษะได้อย่างไร

ห้องทำงานที่ตึก Lab เครื่องกล ชั้น 4 คณะวิศวฯ จุฬาฯ
ห้องทำงานที่ตึก Lab เครื่องกล ชั้น 4 คณะวิศวฯ จุฬาฯ อยู่กัน 4 คน นั่งกันคนละมุมห้อง

สมัยเป็น Lecturer
สมัยเป็น Lecturer (ไม่ใช่ Teaching Assistant) ขณะกำลังสอนวิชา Mechanical Engineering Design
(โดยให้งาน ออกข้อสอบ ตัดเกรด เองทั้งหมด) ที่ University of Michigan, Ann Arbor, USA [เอกสารอ้างอิง: “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย” ตอนที่ 1]
บรรยายเกี่ยวกับโลจิสติกส์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Logistics) และการจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management) ที่ Institute for Defense and Business, University of North Carolina, Chapel Hill, USA
บรรยายเกี่ยวกับโลจิสติกส์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Logistics) และการจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management) ที่ Institute for Defense and Business, University of North Carolina, Chapel Hill, USA (ซึ่งเป็นวิชาด้านการจัดการ ผสมผสานกับเทคโนโลยี สนับสนุนโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) [เอกสารอ้างอิง: “ที่สุดแห่งความประทับใจและความภูมิใจ” (ที่มีต่อในหลวง ร.9)]
สอนที่ Oxbridge College, Kunming University of Science and Technology (KUST) ประเทศจีน
สอนที่ Oxbridge College, Kunming University of Science and Technology (KUST) ประเทศจีน; และภาพการลงนามความเข้าใจร่วมกันหลังการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเกี่ยวกับลุ่มน้ำโขง โดยได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่ายให้เป็นสักขีพยานคนกลางที่ให้มีเพียงคนเดียว พร้อมบรรยายราว 40 นาที ในหัวข้อเกี่ยวข้อง (ในฐานะวิศวกร เพราะตอนนั้นไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใดแล้ว) [เอกสารอ้างอิง: “ที่สุดแห่งความประทับใจและความภูมิใจ” (ที่มีต่อในหลวง ร.9)]
สอนวิชา Failure Analysis ให้วิศวกรที่บริษัท Daewoo ประเทศเกาหลีใต้
สอนวิชา Failure Analysis ให้วิศวกรที่บริษัท Daewoo ประเทศเกาหลีใต้ สมัยถูกส่งไปเป็นวิศวกรตรวจการสร้างรถสินค้าของการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งสั่งซื้อจากที่นั่น สอนให้ฟรีแต่แลกกับการได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพในโรงงาน เพื่อนำมาใช้สอนที่เมืองไทยด้วย เคยสอนวิชา นี้ให้ที่ปริญญาโทวิศวฯ จุฬาฯ กองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเอกชนหลายแห่ง เช่น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ฯลฯ ส่วนหนึ่งของภาพที่เห็นมาจากกองขยะเศษเหล็กของการรถไฟฯ ซึ่งถ่ายเองเก็บไว้และนำมาใช้สอน [เอกสารอ้างอิง: “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย” ตอนที่ 1 และ 2]
ที่จะกล่าวถึงหรือให้ความเห็นต่อจากนี้ ขอให้ถือว่าเป็นข้อคิดจากประสบการณ์เพียงส่วนหนึ่งของบุคคลคนหนึ่งเท่านั้น อาจมีถูกหรือผิด เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หากนำไปปรับแต่งให้เข้ากับยุคสมัยใช้ประโยชน์ต่อไปได้ก็ดี ส่วนใดที่เห็นว่าล้าสมัยไม่เหมาะสมแล้วก็ขอให้ข้ามไปก่อน เผื่อย้อนกลับมาพิจารณาใหม่ภายหลังในโอกาสอันควรหากมี

สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำวิจัย: จากที่ได้มีโอกาสรับเชิญไปงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติในหลายประเทศ น้อยครั้งที่จะเห็นมีผู้นำเสนอผลงานวิจัย หรือ Present Paper มาจากเมืองไทย ซึ่งรู้สึกเสียดาย ในเอเชียจะมาจากจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และเวียดนาม เป็นส่วนใหญ่ ผมเคยเป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ และกรรมการตัดสินผลงานวิจัยให้แก่ที่นี่ พบว่าที่ส่งเข้าแข่งขันกันนั้นมักกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์กว่าครึ่งค่อน ส่วนงานวิจัยขอพูดตรงๆ อย่าโกรธกันว่า ของวิศวฯ จุฬาฯ เราที่เห็นส่งเข้ามามักเป็นของสาขาวิศวกรรมเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ส่วนของสถาบันเทคโนโลยีหลายแห่งมักเป็นงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้า (ไม่ได้หมายความว่าแต่ละแห่งไม่มีผลงานของสาขาอื่นเลย) เราควรปรับปรุง พัฒนา แก้ไข ในเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร

อยากเสนอว่า ในการพัฒนาปรับปรุงใดก็ตามจะมีองค์ประกอบที่จำเป็นหลักบางอย่างอยู่เสมอ นั่นก็คืองบประมาณ และบุคลากร เชื่อว่าในหลายภาควิชายังขาดอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการทำวิจัย หากจะเกลี่ยงบประมาณโดยชะลอหรือลดการสร้างถาวรวัตถุลงบ้าง แล้วนำเงินแม้จะโดยบริจาครวมอยู่ด้วยก็ตาม (ซึ่งได้รับอนุญาต) มาซื้อสิ่งจำเป็นต่อการวิจัย/ทดลอง เช่น ภาควิชาเครื่องกลอาจมี Wind Tunnel ขนาดใหญ่และทันสมัยกว่าที่พอมีอยู่ โยธาให้มี Testing Machine ที่สมรรถนะสูงขึ้น โลหการอาจมีเครื่อง Spectrometer ซึ่งลงรายละเอียดได้สูงพอให้วิจัยได้ในเชิงลึกยิ่งขึ้น หรือดูว่าแต่ละภาควิชายังขาดแคลนและมีความต้องการอุปกรณ์อะไรที่จำเป็น เช่นนี้เป็นต้น เพราะนอกเหนือจากที่อาจารย์จะได้นำไปใช้งานทำวิจัยแล้ว นิสิตวิศวะเองก็จะได้สัมผัส เรียนรู้ และทดลองลงมือจริงได้เต็มที่ยิ่งขึ้นเช่นกัน เพิ่มเติมจากการเรียนภาคทฤษฎี ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยเสริมทักษะการทำงานให้แก่บัณฑิตวิศวะที่จบออกไป

ผมกลับไปเยี่ยมเยียนที่คณะเมื่อ พ.ศ. 2560 ยังเห็นเครื่อง AVERY Testing Machine ที่ผมใช้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเมื่อ  พ.ศ. 2514 (46 ปีผ่านไป) ตั้งอยู่ที่เดิม (ภาพประกอบ) การอนุรักษ์ไม่ใช่เป็นเรื่องไม่ดี นี่เป็นเพียงการเปรียบเทียบ เพราะอาจมีเครื่องใหม่แล้วและตัวนี้ยังใช้การได้ดีอยู่ แต่อุปกรณ์เหล่านี้เพียงพอที่จะเป็นองค์ประกอบเอื้อต่อการค้นคว้าวิจัยสร้างเครดิตให้แก่สถาบัน มีผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ (International Journal) ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ หรือเพิ่มทักษะให้แก่นิสิตวิศวะที่จะจบเป็นบัณฑิตหรือวิศวกรในสาขาต่างๆ หรือยัง

เครื่อง AVERY Testing Machine สมัยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ
ทำการทดสอบแรงกดด้วยเครื่อง AVERY Testing Machine สมัยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ เมื่อ พ.ศ.  2514 (ภาพซ้าย) และภาพเปรียบเทียบ เครื่องเดิม คนเดิม ที่เดิม (ชั้น 3 ตึก Lab เครื่องกล) ปลาย พ.ศ. 2560 (ภาพขวา) ห่างกัน 46 ปี

ทางสถาบันการศึกษาควรให้น้ำหนักกับผลงานวิจัยสูงขึ้นและการแปลตำราน้อยลงหรือไม่ เพื่อเป็นการจูงใจและส่งเสริมงานวิจัย อีกทั้งยังช่วยให้ผู้เรียนได้อ่านตำราภาษาอังกฤษโดยตรงเพิ่มขึ้น จะได้คล่องตัวหากไปเรียนต่อหรือทำงานโยงใยกับต่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์นี้  อย่างไรก็ตามผมยังเห็นด้วยกับการที่อาจารย์จะไปทำงานพิเศษข้างนอกด้วย เพื่อให้ได้เห็นชีวิตจริงในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม จะได้นำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับการสอนและทำวิจัย แต่ต้องแบ่งเวลาให้ดี ผมได้มีโอกาสไปดูงานที่สถาบันวิจัยแห่งชาติของจีน ที่น่าสนใจมากคือผลงานวิจัยไม่ใช่เพียงเอกสารเก็บขึ้นหิ้งรอคนมาเปิดอ่านหรืออ้างอิงเท่านั้น เขาจะมีอีก 2 หน่วยงานตั้งมารองรับต่อ อันแรกคือทำหน้าที่แปลงผลงานวิจัยให้เป็นสินค้า และอีกหน่วยงานคือนำสินค้าสู่ผู้บริโภค เช่นวิจัยทางเคมี ฝ่ายผลิตสินค้าอาจมองว่าสามารถใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้จึงผลิตออกมา แล้วหน่วยงานถัดไปก็ทำเรื่องการตลาดเพื่อขายสินค้านั้น

ตามให้ทันในเรื่องของวิวัฒนาการและเทคโนโลยี: สิ่งเหล่านี้พัฒนาไปเร็วมาก หากไม่หมั่นติดตามจะพบว่าไม่นานนักตัวเราเองก็จะล้าสมัย อย่างไรก็ตาม พื้นฐานที่มีก็เป็นสิ่งสำคัญ เหมือนสร้างตึกหากฐานรากแข็งแรงก็จะช่วยให้การต่อยอดในภายหลังสะดวกขึ้น ผมเองทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกโดยใช้ Computer Simulation เขียนโปรแกรมเอง ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมืองแอนอาร์เบอร์ ซึ่งมีระบบและเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ทันสมัยมากในสมัยนั้น เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยความรู้เรื่องนี้ยังนำยุคอยู่ ไปช่วยสอนให้หลายแห่ง เช่น ที่บัญชีธรรมศาสตร์ ฯลฯ ตอนใช้ทุนอยู่ที่การรถไฟฯ งานที่ทำส่วนใหญ่คือคุมโรงซ่อมและบริหารคน ผ่านไปเพียงไม่กี่ปีความรู้ที่มีอยู่ด้านนี้กลายเป็นของล้าสมัยไปแล้ว และเมื่อไปทำงานบริหารก็ยิ่งห่างขึ้นอีก เดี๋ยวนี้ติดขัดต้องเรียกหลานมาช่วย การใช้งานก็มักเห็นแต่นำโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้กัน ไม่ค่อยต้องเขียนเอง แต่พื้นฐานหรือฐานรากที่ผมยังนำมาใช้ประโยชน์ได้จนถึงทุกวันนี้คือการเขียน Computer Flowchart ที่ช่วยให้การทำงานเป็นระบบไหลรื่นเป็นขั้นเป็นตอนได้ดี

ในขณะที่วิวัฒนาการและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานกำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากระยะนี้ ขอใช้โอกาสนำมาเป็นตัวอย่างให้ข้อสังเกตถึงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) การศึกษาเรื่องนี้เริ่มต้นกันอย่างจริงจังในช่วงที่ผมกำลังเลือกหาหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก คือในราว พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ตอนนั้นเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันดิบขาดแคลน จากปัญหาการเมืองระหว่างอาหรับกับอิสราเอล ทำให้กลุ่มอาหรับในโอเปกงดส่งออกน้ำมันดิบไปยังหลายประเทศที่ช่วยฝ่ายตรงข้าม เกิดการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นมาก จึงเกิดมีแนวคิดที่จะเอาพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ไม่ต้องไปซื้อจากไหนมาใช้ มีการทุ่มทำวิจัยด้านนี้กันอย่างหนัก พร้อมเงินทุนวิจัยจากแหล่งต่างๆ จำนวนมหาศาล ผมเองไม่ได้เลือกทำด้านนี้ ถึงแม้ตอนไปศึกษาต่อผมเรียนทั้งวิชา Conduction, Convection และ Radiation (ซึ่งแยกเป็น 3 วิชา) อาจารย์ที่ผมทำงานด้วยบอกว่า โดยธรรมชาติและในทางฟิสิกส์แสงอาทิตย์ (แม้ในทะเลทราย) มี Heat Density หรือ Surface Power Density อยู่ในกลุ่มต่ำ (ตารางเปรียบเทียบดังภาพแนบ) จากวันนั้นถึงวันนี้ (พ.ศ. 2566) ผ่านไป 50 ปีเต็ม มีการพัฒนาโซลาร์เซลล์ไปได้มาก แต่การประยุกต์เชิงพาณิชย์เพื่อใช้ในการขับเคลื่อน เช่นรถยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ ยังมีขอบเขตที่จำกัดมากด้วยสาเหตุทางฟิสิกส์ดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงต้นแบบ (Prototype) หรือใช้ในระบบควบคุมและแสงสว่างเป็นหลัก ทั้งนี้มิได้หมายความว่าสิ่งนี้ไร้ประโยชน์ คุณค่ายังมีอยู่มหาศาลหากประยุกต์ได้เหมาะสม เช่นบริเวณที่ไฟฟ้ายังปักเสาพาดสายเข้าไปไม่ถึง ฯลฯ ระยะหลังผมได้มีโอกาสไปดูงานการพัฒนาด้านพลังงานที่ประเทศเยอรมนี เขากำลังมุ่งเน้นศึกษาพลังงานจากไฮโดรเจน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อมูลจากประสบการณ์ในยุคสมัยที่วิวัฒนาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ มีการพัฒนาเปลี่ยนไปเร็วมาก อาจมีมุมมองหรือทัศนะที่ต่างออกไปได้หลากหลาย ในที่นี้เพียงแต่อยากให้เห็นภาพกว้างในด้านอื่นๆ เป็นตัวเลือกหรือเปรียบเทียบด้วย

ค่า “Surface Power Density”
ค่า “Surface Power Density” ที่บางคนอาจเรียกสั้นๆ ว่า “Power Density” หรือ “Heat Density” จากแหล่งพลังงานต่างๆ [Wikipedia]
ให้มีการเรียนรู้แบบตัวที (T) ไม่ใช่ตัวไอ (I):  ถึงแม้ประเด็นนี้อาจเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ก็ขอนำมาย้ำไม่ให้ลืมเลือน ทุกวิชาที่ได้เรียนรู้เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น อย่าคิดว่าเราจะได้ทำงานตรงกับสาขาที่จบมาเสมอไป ต้องมีการเรียนรู้ใหม่เพิ่มเติมจากพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว มากบ้างน้อยบ้างหรือยังไม่มีเลยก็เป็นได้ การรู้อะไรแม้เพียงเฉพาะทางแต่ลึกคล้ายกับตัว “I” ก็เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ แต่ก็ต้องเผื่อไว้ว่าวันหนึ่งเราอาจต้องใช้ในส่วนที่กว้างออกไปแต่ยังตื้นอยู่ (แบบตัว “T”) มาเสริมบ้าง บางครั้งส่วนเสริมนี่แหละอาจกลายมาเป็นสาระสำคัญในชีวิตของเราก็ได้ ผมสอบ ก.พ.ไปเรียนต่อทำปริญญาเอกทางเครื่องกล แล้วต้องกลับมาทำงานใช้หนี้ทุนที่การรถ-ไฟฯ มักมีความเห็นขัดแย้งกับฝ่ายบัญชีเสมอ อันที่จริงแล้วแต่ละวิชาชีพต่างก็มีจุดยืนของตน การเข้าใจกัน เดินสายกลางตามหลักพุทธศาสนาไม่ตึงไปหย่อนไปจะเป็นทางออกที่ดี ตอนจบใหม่ๆ ยังเป็นวัยรุ่นใจร้อนไม่ยอมคน บางครั้งถูกบีบให้ต้องยอมจึงเกิดอาการต่อต้าน เช่น ของที่ดูหน้าตาภายนอกเหมือนกันก็มักจะให้ซื้อแต่ของถูก แต่หารู้ไม่ว่า วัสดุและการผลิตมันต่างกัน เอาสลักเกลียวราคาต่ำกว่ามากประหยัดไปได้หลายเท่าตัวแต่ก็เพียงหลักพัน ไปแขวนเครื่องยนต์ใต้ท้องรถดีเซลราง เครื่องตกลงมาระหว่างวิ่ง เสียหายเป็นล้าน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงในเรื่องของอันตรายจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นด้วย ทำให้เกิดความอยากรู้ให้กว้างไปถึงด้านบัญชีและการเงิน จึงไปสอบเข้าเรียน MBA ภาคค่ำที่บัญชีธรรมศาสตร์ จนเหลืออีกไม่กี่วิชาจะจบ พอดีต้นสังกัดส่งไปสอบทุนรัฐบาลอังกฤษ โดยกรมวิเทศสหการและบริติชเคานซิล ภายใต้แผนโคลัมโบ จึงไปจบ MBA ที่อังกฤษแทน โดยเลือกทำวิทยานิพนธ์ทางบัญชีต้นทุนและการเงิน แต่เมื่อกลับมาถึงแทนที่ว่าจะไปลุยกับฝ่ายบัญชีกลับต้องมาเป็นคนกลางแทน เพราะบางครั้งวิศวะเราเองก็มีจุดอ่อน เช่น จัดหาอะไหล่ไว้เกินความจำเป็น สามารถหยิบใช้ได้สะดวกก็จริง แต่ลืมคิดไปว่า ที่กองอยู่นั้นเป็นเงินเป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น

ที่ได้เกริ่นไว้แต่ต้นว่า จะให้ความเห็นจากประสบการณ์ และได้พูดถึงกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร (ภาษาที่เรียกเป็นทางการ) ผมเป็นวิศวกร ไม่เคยทำงานด้านการทูต หรือที่เกี่ยวกับเขาพระวิหารเลย ขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานสายที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันหนึ่งถูกส่งไปทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เจรจาแก้ปัญหาเรื่องนี้ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN) ที่สิงคโปร์ ขณะนั้นที่ชายแดนพร้อมรบกับคู่กรณีอยู่แล้วหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ขอเลี่ยงชื่อประเทศโดยตรง และเหตุผลที่ถูกเลือกส่งไป แต่ความรู้สึกเหมือนต้องขึ้นชกเป็นมวยแทนในขณะที่ไม่เคยอยู่ในวงการหมัดมวยเลย และแทบไม่มีเวลาเตรียมตัว) ผมได้รับการบรรยายสรุปจากผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงการต่างประเทศในวันศุกร์ จากฝ่ายทหารโดยเจ้ากรมกิจการชายแดนวันเสาร์ วันอาทิตย์เดินทาง เขาจัดขึ้นสังเวียนเย็นวันที่ไปถึงนั้นเลย โดยเป็นการทานข้าวเย็นกึ่งประชุม (Working Dinner) คุยกันในห้องที่ไม่ให้มีตัวช่วย

แต่ถ่ายทอดเสียงออกไปข้างนอกให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของแต่ละประเทศได้ยินตลอด โดยที่เราไม่รู้ มาทราบภายหลังตอนจบออกมาแล้ว เชื่อว่าคู่กรณีได้มีการล็อบบี้สมาชิกอาเซียนหลายประเทศไว้แล้ว ข้อสรุปที่เขาต้องการคือเอาสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ (ก่อตั้ง 2 ใหม่ 2) เข้ามาดูแลเหตุการณ์ ซึ่งก็คือเน้นดูแลประเทศไทยเป็นหลักนั่นเอง แต่เรายอมไม่ได้เพราะจะเสียอำนาจต่อรองในงานอื่นๆ กับประเทศเหล่านั้น แม้กระทั่งทางการค้า และหากมีการนำเรื่องกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารขึ้นศาลโลกอีก (ซึ่งก็มีจริง ดังที่ผ่านมา) คู่กรณีก็อาจอ้างได้ว่า แม้แต่อาเซียนยังเห็นด้วยกับเขาเลย ซึ่งเราจะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้  ที่กล่าวมาถ้าเป็นมวยก็เกิดก่อนระฆังยกแรกดังเสียด้วยซ้ำ เพราะรุ่งขึ้นวันจันทร์ถึงเปิดประชุม ใช้เวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งก็มีการนำเรื่องเขาพระวิหารนี้เข้าให้แก้ไขและตอบโต้โดยตลอด

สมัยที่ผมเรียน วิศวฯ จุฬาฯ ยังใช้ระบบคะแนน (60 ผ่าน, ยังไม่เป็นหน่วยกิต) และบังคับว่าทุกคนต้องเรียนวิชาสำรวจ (Survey) ถึงแม้เวลาจะผ่านมานานแล้วและไม่เคยคิดว่าจะได้มีโอกาสนำมาใช้อย่างจริงจัง แต่เมื่อถึงเวลาสิ่งนี้กลับเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง เพราะขณะประชุมเจรจานึกได้ว่าอาจารย์วิชาสำรวจเคยบอกว่าในสมัยโบราณการแบ่งเขตแดนเขามักใช้แผนที่ 1:200,000 ซึ่งหมายถึงถ้าความหนาเส้นปากกาคอแร้งที่ใช้ขีดกว้าง 1-2 มิลลิเมตร ในพื้นที่จริงคือ 200-400 เมตร แล้วพื้นที่บนความหนาเส้นปากกาจะเป็นของใคร ใครบอกเป็นเจ้าของอีกฝ่ายย่อมไม่ยอม เพราะฉะนั้นทุกประเทศที่อยู่ติดกันจึงมักมีปัญหาเรื่องพรมแดนทั้งสิ้น ถ้าไม่ลงเอยด้วยการใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาใช้ แทนที่จะพูดทำนอง “ทีเอ็งใช้อย่างนี้ ทีข้าเอาบ้างนะ” แต่ได้ถามที่ประชุมตรงนั้นไปอย่างสุภาพว่าเราจะใช้หลักการเอา 4 ประเทศเข้าไปดูแลสมาชิกอาเซียนทุกรายที่มีปัญหาพรมแดนกันใช่ไหม คำถามนี้ช่วยให้เกมพลิก เพราะต่างมีปัญหากันอยู่แทบทั้งนั้น เขาใช้อย่างนี้เขาก็ต้องโดนเงื่อนไขเดียวกันด้วย มีประเทศหนึ่งรีบเปลี่ยนทันทีว่าให้คู่กรณีคุยกันเองก่อนก็ได้ เพราะเขาก็คงกลัวทีเราจะเข้าไปดูแลประเทศเขาในภายหลังเช่นกัน แต่ก็ยังจะตีกรอบเวลาเราโดยถามว่า แล้วต้องการเวลาคุยกันนานเท่าใด ซึ่งก็ได้ตอบไปว่า ตามความเหมาะสมแล้วกัน (Reasonable Time) เพราะเป็นเรื่องใหญ่และละเอียดอ่อน เขาก็ยอมทันที เพราะเขาให้เราเท่าใดเขาก็ได้เท่านั้น ทั้งที่ประชุมก็เห็นชอบยอมถอย (ASEAN Stays Out of Border row) ดังภาพหนังสือพิมพ์ (แนบ)

เป็นรองนายกรัฐมนตรี และทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่สิงคโปร์
เป็นรองนายกรัฐมนตรี และทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่สิงคโปร์ [มีกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารเข้าถกเป็นประเด็นใหญ่ของเราด้วย พื้นฐานวิศวะนอกสาขาเครื่องกล ได้แก่วิชาสำรวจ (Survey) ซึ่งตอนนั้นเรียนมา 40 ปีแล้ว สามารถนำมาช่วยในการเจรจาได้มาก] และเป็นผู้รับมอบตำแหน่งประธานอาเซียนกลับมายังประเทศไทย [เอกสารอ้างอิง: “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย” ตอนที่ 5]
อย่างไรก็ตาม เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อเราแก้ปัญหาในที่ประชุมอาเซียนในวันต่อๆ มาสำเร็จ คู่กรณีเราได้นำเรื่องไปเข้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อให้มาดูแลจัดการแทน จึงต้องเจรจาต่อ โดยเฉพาะกับตัวแทนประเทศสมาชิกถาวร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ รัสเซีย จีน และฝรั่งเศส ที่มาประชุมอาเซียนครั้งนั้น ท้ายสุดสรุปว่าสามารถแก้ปัญหาตอนนั้นไปได้ รายละเอียดการเจรจาขอไม่กล่าวในที่นี้ เพราะจะเป็นการยืดเยื้อนอกเหนือขอบข่ายที่ควรจะเป็น และหลายเรื่องของการเจรจาตัวต่อตัวอาจยังไม่สมควรนำมาเล่าเป็นประเด็นสาธารณะ หากสนใจเป็นพิเศษอาจหาอ่านเพิ่มเติมบางส่วนได้จากเอกสารอ้างอิง “ที่สุดแห่งความประทับใจและความภูมิใจ” (ที่มีต่อในหลวง ร.9) ในเว็บไซต์ท้ายบทความนี้ หรือหาโอกาสคุยไม่เป็นทางการกันได้ แต่ที่อยากเน้นคือ ในฐานะที่ผมเป็นวิศวกรเครื่องกล วิชาสำรวจก็เปรียบเสมือนส่วนหนึ่งบนเส้นแนวนอนของรูปตัว “T” นั่นเอง

คุยเชื่อมสัมพันธไมตรี และหารืองานต่างประเทศ
คุยเชื่อมสัมพันธไมตรี และหารืองานต่างประเทศ เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ดี และความร่วมมือในงานต่างๆ กับประธานาธิบดี George W. Bush, รัฐมนตรีต่างประเทศ Condoleezza, เลขาธิการสหประชาชาติ Ban Ki-moon และขึ้นกล่าวปราศรัยที่สหประชาชาติ [เอกสารอ้างอิง: “ที่สุดแห่งความประทับใจและความภูมิใจ” (ที่มีต่อในหลวง ร.9)]
จัดตั้ง “Executives in Residence Programme” ขึ้นที่คณะ;  คงมีคำถามว่า แล้วโปรแกรมนี้คืออะไร มีชื่อที่แปลเป็นไทยไหม เกี่ยวข้องอย่างไรกับทักษะของบัณฑิตวิศวะ และจะช่วยสถาบันในการวางรากฐานหรือให้ความรู้เหล่านิสิตได้อย่างไร ขอเรียนว่า ผมได้ไปช่วยที่มหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อตั้งโปรแกรมนี้ แต่ยังไม่ได้แปลชื่อเป็นภาษาไทย ขอใช้ทับศัพท์ไปก่อน โปรแกรมนี้เราจะประสานติดต่อไปยังผู้บริหารระดับสูง (Top Executive) ของบริษัทหรือองค์กรต่างๆ เชิญมาคุยกับเด็กนักศึกษา (ของเราก็จะเป็นนิสิตวิศวะ) การคุยไม่ใช่อยู่บนเวทีคุยกับเด็กจำนวนมากที่นั่งอยู่ข้างล่าง ซึ่งเป็นเพียงการสื่อสารทางเดียว ที่อาจมีการตอบคำถามเพียงเล็กน้อย แต่นี่จะเป็นการนั่งคุยโต้ตอบกันตัวต่อตัว หรือไม่เกิน 1 ต่อ 5 ใช้เวลาครึ่งค่อนชั่วโมงหรือมากกว่านั้นบ้าง แล้วแต่จำนวนและประเด็นการถก จากนั้นก็เปลี่ยนชุดใหม่เข้ามา โดยเด็กต้องลงชื่อแจ้งล่วงหน้าเพื่อทราบจำนวนในการจัดให้เหมาะสม ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารระดับสูงเหล่านั้น แต่ตรงกันข้าม ได้รับความร่วมมือดีมาก นอกจากมาคุยกับเด็กโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ทั้งค่าแรง ค่าเดินทาง ฯลฯ (เพียงแต่เราควรให้เกียรติเขาเหล่านั้นอย่างเหมาะสม) บางคนยังช่วยบริจาคให้สถาบันหรือให้ทุนการศึกษาอีกด้วย ผมเองเวลาไปงานหรือประชุมที่อังกฤษก็มักถือโอกาสไปช่วยคุยกับนักศึกษาด้วยหลายครั้งใน “Executive in Residence Programme” นี้ (ดังภาพประกอบ) นอกจากเด็กจะได้เรียนรู้ทักษะจากผู้มีประสบการณ์สูงเหล่านั้นแล้ว ทางสถาบันยังจะได้แนวทางการวางรากฐานหรือให้ความรู้เด็กไปในทิศทางที่เหมาะสมอีกด้วย เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีก็คือ ผู้บริหารเองไม่เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่เขาอาจได้ความรู้จากเด็กไปด้วยในแนวคิดรุ่นใหม่ที่เขามองไม่ถึง มองข้ามไป หรือตามสมัยไม่ทันก็เป็นได้ หากพบเด็กคนไหนหน่วยก้านดีเขายังทำหน้าที่เป็นแมวมองไปในตัวด้วย ดังที่ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้บางคนเฉลยให้ฟัง

ที่เสนอมานี้มิได้หมายจะไปเพิ่มงานให้แก่ผู้บริหารสถาบันซึ่งมีมากอยู่แล้ว แต่อย่างที่บอกตอนต้นว่า จะเขียนจากประสบการณ์ และมองว่าน่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ตรงประเด็นของหนังสือนี้ที่ว่า “บัณฑิตวิศวะควรมีทักษะอะไรบ้าง และทางสถาบันการศึกษาควรวางรากฐานหรือให้ความรู้อย่างใด” หากนำไปดำเนินการต่อ ผมเชื่อว่าเพียงรุ่นพี่เก่าที่สามารถมาช่วยก็น่าจะทำให้โปรแกรมนี้เกิดขึ้นได้แล้ว ผมเองก็พร้อมที่จะช่วยเป็นหนึ่งในนั้น ที่จะมานั่งคุยกับเด็กให้เช่นกัน

เป็น Member of the International Advisory Board for Executive Education ที่ Oxford University (Said) Business School
เป็น Member of the International Advisory Board for Executive Education ที่ Oxford University (Said) Business School; ร่วมบุกเบิก Executives in Residence Programme; และ Lecture ให้ที่ Leeds University ประเทศอังกฤษ [เอกสารอ้างอิง: “ที่สุดแห่งความประทับใจและความภูมิใจ” (ที่มีต่อในหลวง ร.9) และ “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย” ตอนที่ 4]
อย่าคิดว่าการท่องจำหรือให้ท่องจำเป็นสิ่งเลวร้าย: ในยุคหลัง ๆ นี้ผมมักได้ยินเรื่องการท่องจำในทางลบเสมอ โดยให้ไปเน้นที่การคิดวิเคราะห์แทน บางครั้งเกือบจะเป็นแฟชั่นว่าการสอนให้เด็กท่องจำนั้นไม่ควรทำ ผมเองอยากให้เดินสายกลางเพราะสำคัญทั้งสองอย่าง ในส่วนของการคิดและวิเคราะห์นั้น ผมจะสอนอนุชนรุ่นหลังเสมอว่า “จงได้ยินมากกว่าที่ได้ยิน และเห็นมากกว่าที่เห็น” (ลองตีความคำกล่าวนี้ดู) เวลาออกข้อสอบถ้าลูกศิษย์จับทางได้จะรู้ว่าผมมักออกให้พิสูจน์สูตร ไม่ใช่แค่ท่องจำ เพราะจะทำให้เรารู้ถึงสมมติฐาน (Assumption) ข้อจำกัด (Limitation) และที่มาของสูตร ทำให้ใช้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น ดีกว่าจำไปใช้แทนค่าตัวแปรเข้าไปเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การท่องจำก็มีความสำคัญอยู่มากเช่นกัน อย่าไปดูถูกดูแคลน เพียงจำในเรื่องที่ควรจำ เช่น เรียนคำนวณต้องท่องสูตรคูณให้คล่อง เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันด้วยถึงแม้จะมีเครื่องคิดเลขหรือคอมพิวเตอร์ เรียนภาษาต้องท่องศัพท์หากไม่ใช่ภาษาหลักที่สามารถเรียนรู้ได้โดยธรรมชาติ เหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะมีหน่วยประมวลผล (Processing Unit) ที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างไร ก็จำเป็นต้องมีฐานข้อมูล (Database) รองรับด้วย สมัยเด็กเคยถูกให้ท่องอาขยานและโคลงกลอน ตอนโตเวลาต้องเขียนสิ่งเหล่านี้ก็ได้เอามาเป็นตัวอย่างเทียบการสัมผัสคล้องจอง สมัยเรียน ม.2 (เทียบคือ ป.6 ปัจจุบัน) ครูสอนภาษาอังกฤษเป็นคนอังกฤษเอง ท่านให้ท่องซึ่งไม่เกี่ยวกับวิชาที่เรียนว่า “1-8-15-22-29” (คือตัวเลข “วันที่” ของแต่ละเดือน ที่มี “วัน” ตรงกัน) ผมได้ใช้มาตลอดชีวิตจนถึงปัจจุบันในการไล่วันในใจถึงวันข้างหน้าที่อยากรู้ว่าเป็นวันอะไรได้เร็วขึ้น เช่น ถ้าวันที่ 1 เป็นวันพุธ (22 ก็จะเป็นพุธ) 24 จะเป็นวันศุกร์

แม้แต่การจำภาพสิ่งที่พบเห็น คู่ไปกับคำกล่าวที่ว่า “เห็นมากกว่าที่เห็น” ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่นเวลารถติดเครื่องกั้นรถไฟผ่าน ลองใช้เวลารอให้เป็นประโยชน์ด้วยการจำภาพความยาวโดยประมาณของตู้รถไฟโดยสารของไทย (ไม่รวมขอพ่วง) ที่ผ่านหน้าเราไป ตู้นั้นจะยาวประมาณ 20-21 เมตร แล้วแต่รุ่น พื้นที่ 2 x 2, 3 x 3 และ 5 x 5 ตู้ คือ 1ไร่ (1,600 ตารางเมตร) 1 เอเคอร์(4,840 ตารางหลา) และ 1 เฮกตาร์ (10,000 ตารางเมตร) ตามลำดับ (ถึงแม้เอเคอร์จะเป็นหน่วยระบบอังกฤษก็ตาม) เวลาได้ยินใครพูดถึงหน่วยต่างๆ เหล่านี้เราก็จะได้พอจินตนาการขนาดได้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เข้าไปลากสายวัดความยาวหรือเดินนับก้าวไม่สะดวก และไม่มีกล้องส่องวัดระยะ ผมได้สิ่งนี้มาสมัยเป็นนายช่างคุมอยู่ที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เห็นขบวนรถเข้าออกบ่อย จำความยาวรถไฟโดยสารได้ทั้งที่เป็นตัวเลขและภาพ อีกทั้งมีรุ่นพี่วิศวะท่านหนึ่งเคยสอนให้ “เห็นมากกว่าที่เห็น” จึงได้คิดสูตรโดยประมาณการนี้ขึ้น ซึ่งใช้ได้จนถึงปัจจุบัน (กลับไปวัดความยาวรถโดยสารที่ใช้วิ่งอยู่ตอนนี้มาด้วยแล้วเพื่อความแน่ใจ) ไม่อยากให้มองว่าการท่องจำเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป จึงได้แนะนำให้เดินสายกลาง หากสนใจรายละเอียดและการคำนวณ สามารถดูได้จากเอกสารอ้างอิงท้ายบทความนี้ ซึ่งระบุการเข้าสู่เว็บไซต์ของวารสารอินทาเนียเรื่อง “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย ตอนที่ 3” ไว้ให้

ตัวอย่าง “การท่องจำ” ร่วมกับ “เห็นมากกว่าที่เห็น”
คำบรรยาย: ตัวอย่าง “การท่องจำ” ร่วมกับ “เห็นมากกว่าที่เห็น” เช่น การประมาณขนาดพื้นที่ด้วยสายตา ทั้งที่เป็นหน่วยไร่ เอเคอร์ และเฮกตาร์ จากขนาดความยาวรถไฟโดยสารของไทย [เอกสารอ้างอิง: “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย” ตอนที่ 3]
เรียนรู้การเจรจาต่อรองและจัดการข้ามวัฒนธรรม (Negotiation and Cross Cultural Management):  เป็นกลยุทธสำคัญมากต่อชีวิตการทำงานประจำวัน ผมมีโอกาสบรรยายเรื่องนี้ให้หลายสถาบันทั้งในและต่างประเทศ โดยสอนจากประสบการณ์ว่า ไม่ว่าในการเจรจาใดๆ ก็ตาม เหตุผลมีเพียงแค่ 2 ข้อเท่านั้นคือ เหตุผลในใจ และเหตุผลบนโต๊ะ ต้องเอาชนะเหตุผลในใจคู่เจรจาให้ได้ก่อน บางคนเห็นหน้าตาและคุยกันได้ไม่เท่าไรก็อาจเกิดอาการหมั่นไส้ แล้วมีอคติขึ้น คำตอบในใจจะเป็นลบไว้ก่อนแล้ว หากเราคุ้นกับวัฒนธรรม (Culture) ของคู่เจรจาก็อาจทำให้สามารถเริ่มได้ด้วยบรรยากาศฉันท์มิตรและความรู้สึกที่ดีต่อกัน ง่ายต่อการให้เกิดบวกแทนลบ หรือเปลี่ยนลบเป็นบวกในใจเขาก่อน หลักๆ คือ วัฒนธรรมตามพื้นที่ที่เขามา (ทวีป ภูมิภาค ประเทศ มณฑล/จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ครัวเรือน ฯลฯ) เช่น การผูกใจคนอเมริกันกับคนจีนก็จะต่างกัน และวัฒนธรรมตามวิชาชีพของเขา (แพทย์ วิศวะ บัญชี กฎหมาย ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ นักธุรกิจ ฯลฯ) เช่น คุยกับแพทย์ นักบัญชี หรือวิศวกร การเจาะใจเข้าไปก็ต่างกัน (นอกเหนือจากอุปนิสัยส่วนตัวของแต่ละบุคคล) เอาชนะเหตุผลในใจของคู่เจรจาให้ได้ก่อน จะช่วยให้ความพยายามเอาชนะเหตุผลบนโต๊ะ หรือคือการเอา Facts and Figures มาแสดงต่อรองคุยกันมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายจุดประสงค์ได้ดีขึ้น

แนวทางหนึ่งสำหรับเรื่องนี้ที่อยากแนะนำก็คือ “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย” ผมหมายความเช่นนี้จริงๆ หรือถ้าจะขยายความให้กระจ่างขึ้นไปอีกก็อาจเป็นว่า “อย่าเรียนหนังสืออย่างเดียว ต้องท่องเที่ยวเดินทาง และศึกษาดูงานไปด้วย” แต่ต้องรู้จักเที่ยวหรือท่องเที่ยว เลี่ยงที่อโคจร และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรหากิจกรรมทำไปด้วย แต่ต้องหมั่นเตือนตัวเองเสมอว่า ระหว่างเรียน การเรียนต้องอยู่ในลำดับต้น ถ้าเรียนจบทำงานแล้วงานก็ต้องมาก่อน ใช้วันหยุดหรือนอกเวลางานให้เป็นประโยชน์ เวลาเดินทางผมจะใช้ที่พักเพียงเพื่ออาบน้ำและนอนเป็นหลักเท่านั้น ที่เหลือคือออกหาประสบการณ์เมื่อมีเวลาเป็นส่วนตัวแล้ว การเรียนรู้ผสมท่องเที่ยวช่วยให้เราเห็นวัฒนธรรมหลากหลายที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและเพิ่มทักษะการทำงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเจรจาต่อรองและจัดการข้ามวัฒนธรรม ดังได้กล่าวมาแล้ว

[เอกสารอ้างอิง: “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย” ตอนที่ 3]

เป็นผู้ที่รู้ซึ้งถึงบุญคุณ: อย่าลืมบุญคุณใคร รวมทั้งประเทศชาติ และพระคุณของแหล่งเรียนมา ตอบแทนเมื่อมีโอกาส ในสิ่งที่ควร และตามสถานภาพ การตอบแทนไม่จำเป็นต้องด้วยตัวเงินเสมอไป อาจด้วยแรง กำลัง และความศรัทธาของเราก็ได้ ขอเล่าประสบการณ์ในส่วนของการตอบแทนบุญคุณประเทศชาติ เช่น ตอนที่ไปเจรจาแก้ปัญหาข้อพิพาทปราสาทพระวิหารดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ทั้งที่จะปฏิเสธก็น่าจะได้ เพราะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง ถ้าพลาดอาจเป็นตราบาปไปตลอด สมมติหากไม่ไปและท้ายสุดจำเป็นต้องให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สายตรงซึ่งรู้ดีกว่าเก่งกว่าเรามากไป ปัญหาคือที่ประชุมนั้นเขาถือลำดับชั้น (Hierarchy) มาก พูดไปเขาอาจไม่ยอมฟัง ทำให้เราเสียเปรียบได้

อีกกรณีหนึ่งที่น่าจะเกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมโดยตรงและเป็นการได้ตอบแทนบุญคุณประเทศชาติเมื่อมีโอกาสก็คือ ในครั้งที่ไทยจะส่งดาวเทียมธีออส (THEOS) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล เพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ขึ้นสู่วงโคจร ตอนนั้นผมได้รับเชิญไปร่วมพิธีเปิดปักกิ่งโอลิมปิกซึ่งมีผู้นำจากหลายประเทศมารวมตัวกันอยู่มาก ผมได้รับโทรศัพท์จากผู้ใหญ่ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอให้ช่วยเจรจาในเรื่องนี้เพราะล่าช้ามานานแล้วทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ จากที่ได้รับแจ้ง (โดยไม่เคยได้รับทราบเรื่องเหล่านี้มาก่อนเลย) ก็คือ ดาวเทียมดวงนี้สร้างที่ฝรั่งเศส แต่จ้างรัสเซียยิงขึ้น เพราะราคาถูกกว่ามาก โดยคุณภาพและความสามารถไม่แพ้แหล่งอื่น เหตุที่ล่าช้าไปนานไม่สามารถยิงได้เพราะฐานยิงอยู่ค่อนไปทางประเทศคาซัคสถาน (Kazakhstan) และชิ้นส่วนของจรวดจะต้องไปตกในประเทศนี้ ซึ่งเขาไม่ยอม โดยเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงได้ใช้โอกาสตอนนั้นพบพูดคุยกับประธานาธิบดีคาซัคสถาน อธิบายเหตุผลทางเทคนิคที่พอรู้จากพื้นฐานวิศวะที่มีให้ท่านฟัง ส่วนท่านนายกรัฐมนตรีที่ไปด้วยกันก็ได้กรุณาพูดถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ครั้งแรกท่านเพียงรับฟังด้วยอาการเป็นมิตร ได้เรียนย้ำกับท่านครั้งที่สองในตัวสนามกีฬาวันเปิดเลย คราวนี้ท่านรับว่าจะช่วยพิจารณาให้เป็นพิเศษเพราะอาจต้องนำเข้าสภาฯ หลังจากนั้นเดือนเศษดาวเทียมธีออสก็ได้รับการยิงขึ้นสู่ท้องฟ้าและเข้าสู่วงโคจร

อีกเรื่องที่ไม่อยากให้บัณฑิตวิศวะลืมคือ “พระคุณของแหล่งเรียนมา” ขอยกประสบการณ์แนวทางในเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง ไม่มีเจตนาเป็นอื่น ผมเองเวลาไปสอนหรือบรรยายที่ต่างประเทศ หากมีโอกาสจะแนะนำตัวเสมอว่าจบตรีและโทจากวิศวฯ จุฬาฯ; ถ้ามีโอกาสก็จะไปช่วยเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่บัณฑิตศึกษาที่คณะฯ ช่วยดูแลวิทยานิพนธ์ และสอนในบางวิชา เช่น Failure Analysis ซึ่งได้ทำงานในเรื่องนี้มามากทั้งในและต่างประเทศ; สมัยที่ยังทำงานภาคเอกชนด้านปิโตรเคมีที่มาบตาพุด ได้ช่วยส่งเสริมงานบริการของคณะโดยส่งวิศวกรสาขาต่าง ๆ ที่กำลังทำงานด้านปิโตรเคมีไปเข้าอบรมหลักสูตรพิเศษที่คณะ เช่น “Chemical for Non-Chemical Engineers”; สมัยที่เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทางเลขานุการคณะจะประสานมาเสมอ ซึ่งก็จะส่งทีมงานไปช่วยจัดการ อาทิ ท่อระบายน้ำตัน น้ำท่วมขัง  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความปลอดภัย เช่น ต้นไม้จะล้ม หรือไปพาดสายไฟ ฯลฯ; สมัยสอนที่คณะเมื่อ พ.ศ. 2514 มีการรื้อหนังสือห้องสมุดทิ้ง ผมไปคุ้ยกองขยะหนังสือพบว่ามีวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของศาสตราจารย์บุญรอด บิณฑสันต์ ที่ท่านเคยมอบให้แก่ทางคณะฯ ติดอยู่ด้วย จึงได้เก็บมาไว้ เมื่อมีโอกาสได้มอบให้สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาฯ อย่างเป็นทางการไปเมื่อ พ.ศ. 2551 รวมเวลาที่รักษาไว้ 37 ปี; ฯลฯ จึงอยากให้บัณฑิตที่จบออกมา ไม่ว่าคณะใดหรือสาขาใด จะนานเท่าใดแล้วก็ตาม อย่าลืมคำว่าบุญคุณ และ “พระคุณของแหล่งเรียนมา”

เป็นวิศวกรต้องมีทักษะในการบริหาร:  เราไม่ได้อยู่กับเครื่องจักรอย่างเดียว ชีวิตวิศวกรก็ต้องอยู่กับคนด้วย มีทั้งระดับผู้บังคับบัญชาหรือตำแหน่งอื่นๆที่สูงกว่าเรา ระดับเพื่อน และลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชา ขอยกประเด็นของทักษะในการบริหารที่วิศวกรควรมี หรือแม้แต่วิชาชีพอื่นก็ตาม เท่าที่พอนึกได้จากประสบการณ์มาแสดงเป็นตัวอย่าง โดยคำแนะนำส่วนใหญ่จะชัดเจนในตัวอยู่แล้ว จึงอาจมีคำอธิบายประกอบเพียงสั้นๆ หรือไม่มีเลย ดังนี้:

  • การทำให้คนอื่น “โกรธ” บางครั้งอาจเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่าถึงขั้นทำให้เขา “แค้น” เพราะจะอยู่ฝังไปนานไม่รู้เมื่อไรจบ
  • เป็นคน “ฉลาด” อย่างเดียวไม่พอ ต้อง “เฉลียว” ด้วย คือทั้งฉลาดและเฉลียว
  • ใช้ภาษาที่สุภาพกับทุกคน แม้กับคนงาน คนการ หรือพนักงานทำความสะอาด
  • คุมอารมณ์ให้อยู่ เช่น ในการเจรจาหรือถกเถียง ผู้ที่คุมอารมณ์ไม่อยู่จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
  • ประสานงานให้เป็น เข้ากับคนให้ได้ การทำงานต้องอาศัยซึ่งกันและกันกับทุกสาขาวิชาชีพ
  • พร้อมถูกลองภูมิ อย่าไปโกรธถ้าถูกลองภูมิ หากเรามีภูมิให้ลอง ในไม่ช้าเขาจะฟังเราเองและคุมเขาได้ ผมเองก็เจอมาเยอะทั้งในและต่างประเทศ (แต่ถ้าลองไม่รู้จักจบสิ้นก็คงต้องมีการอบรมสั่งสอนกันบ้าง แต่ยังไม่เคยเจอกรณีนี้)
  • ส่งงานไม่ล่าช้ากว่าเวลาที่รับปากหรือตกลง ด้วยปริมาณและคุณภาพที่ดี อีกทั้งการส่งงานยังไม่ได้หมายถึงงานเสร็จสมบูรณ์ อย่างน้อยต้องผ่านการตรวจรับหรือได้รับความพอใจจากผู้สั่งงานเราก่อน (ยังไม่พูดถึงงานที่มีระยะเวลารับประกัน)
  • อย่าคิดว่าคนอื่นโง่กว่า เราจะพลาดได้ง่าย ภายหลังหากเขามีเวลาคิด ไตร่ตรอง ศึกษา สอบถาม ฯลฯ เขาอาจแก้เกมเราได้ และขาดความไว้วางใจในตัวเรา หรือถ้าประมาทอาจหลงกลคนแกล้งโง่ก็ได้
  • เรียนรู้หลักการจิตวิทยา ความรู้เบื้องต้นสามารถพอศึกษาหาอ่านเองได้ ขอแนะนำหนังสือที่ผมเห็นว่าดีมีประโยชน์มากๆ ผมเองอ่านหลายรอบตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ชื่อ “กุศโลบาย” ของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งมาจากเค้าเรื่องเดิมชื่อ “Strategy in Handling People” ของ Ewing T. Webb & John Morgan เป็นหนังสือเก่าแล้วแต่ยังใช้ได้ทันสมัยอยู่
  • เป็นคนมีน้ำใจ ให้เกียรติคนทุกระดับชั้น บางคนอาจไม่ได้ต้องการเงินหรือของขวัญจากเรา เพียงคำทักทายก็ช่วยผูกใจเขาได้ เพราะที่เขาต้องการอาจเพียงให้เราแสดงว่าเห็นคุณค่าหรือยอมรับในตัวเขา (Recognition) เวลาเข้าห้องน้ำตามที่ต่างๆ ถ้ามีคนกำลังถูพื้นหรือทำความสะอาดอยู่ ผมมักจะคุยกับเขาหรือถามว่าตอนนี้ใช้ห้องน้ำได้ไหมทั้งที่รู้ว่าใช้ได้ กับยาม/รปภ.หรือแม้กระทั่งเด็กปั๊ม เพียงถามว่าน้องเข้าออกกะกี่โมง เหนื่อยไหม ทั้งที่เขาอาจกำลังเหนื่อยแต่ก็มักจะแสดงความเป็นมิตรหรือยิ้มได้ออกมา ซึ่งก็เป็นความสุขของเราด้วย
  • เข้าใจคำว่า “มืออาชีพ”  ผมผ่านการเจรจามาเยอะ เห็นการประชุมมาแยะ เจอหลายคนที่ไปเข้าใจว่า “มืออาชีพ” คือต้องพูดจาโผงผาง ไม่เกรงใจ ไว้หน้า หรือแคร์ความรู้สึกใคร คิดว่านี่คือการพูดตรงไปตรงมาของฉันซึ่งเป็นมืออาชีพ ผมจึงนึกคำกล่าวขึ้นมาเอง ใช้สอนคนที่คิดว่าเราจะสอนหรือเตือนเขาได้ว่า “Professional doesn’t mean nasty” เช่น เลี่ยงการด่าทอหรือหักหน้าใครในที่ประชุมหรือทำให้เขาเสียหน้าต่อหน้ากลุ่มคน และควรระวังถ้อยคำที่ใช้ด้วย อย่าใช้คำรุนแรงหรือคำหยาบ เพราะอาจทำให้ติดเป็นนิสัย ให้เน้นประเด็นที่งานไม่ใช่ส่วนตัวหรือก้าวล่วงถึงสถาบันต่าง ๆ ของเขา
  • การให้อะไรใครนั้น จะให้ทรงคุณค่าต้องให้ในสิ่งที่เขาอยากได้ ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากให้ เมื่อครั้งที่ประเทศพม่าหรือเมียนมาร์โดนพายุไซโคลนชื่อนาร์กิส (Nargis) เข้าถล่ม มีผู้เสียชีวิตราว 85,000 คน และสูญหาย 55,000 คน (ตัวเลขเป็นทางการที่ได้รับทราบ) ในระยะแรกนั้นเขาไม่ยอมให้ใครเข้าไปช่วยเลยยกเว้นไทย ซึ่งจัดเป็นมิตรประเทศที่เขาไว้วางใจ ในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงน่าเศร้าสลด นั้นถามว่าเขาขอความช่วยเหลืออะไร โอกาสเดาถูกยาก ที่ทราบเพราะเผอิญต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตอนนั้น ไม่ใช่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย หรือแพทย์/พยาบาล แต่เป็นโทรศัพท์มือถือผ่านดาวเทียม (Satellite Mobile Phones) เพราะการสื่อสารขณะนั้นถูกตัดขาดหมด ไม่สามารถประสานการดำเนินงานหรือความช่วยเหลือภายในประเทศอะไรกันได้

อันที่จริงยังมีข้อคิดอีกหลายเรื่อง แต่ด้วยกรอบพื้นที่ตีพิมพ์ของหนังสือมีจำกัด จึงขอจบเพียงเท่านี้ก่อน ยินดีเพิ่มเติมนำข้อคิดมาฝากในรูปแบบเล่าสู่กันฟังนี้จากประสบการณ์ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นในโอกาสอันควรและเหมาะสมต่อไป อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไว้แต่ต้นคือ ท่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ในเอกสารอ้างอิงข้างล่างนี้ ตอนท้ายของบทความในเว็บนั้นจะมีลิงก์ให้โยงถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องหรืออ้างถึงอื่นๆ จากหลายฉบับของวารสารอินทาเนียที่ได้เคยเขียนลงไว้


เอกสารอ้างอิง:

วารสารอินทาเนีย: บทความ “ที่สุดแห่งความประทับใจและความภูมิใจ” (ที่มีต่อในหลวง ร.9) และ “อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเที่ยวด้วย” (ตอนที่ 1-5)

https://www.intaniamagazine.com/sahas-bunditkul-impression/

ผ่านเว็บไซต์ข้างบนนี้เพื่อเข้าสู่บทความซึ่งตอนท้ายจะมีลิงก์ให้โยงถึง “เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง” อื่นๆ เพื่ออ่านรายละเอียดหากต้องการ มีอยู่หลายตอนที่กล่าวถึง สามารถเลือกดูได้


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save