บทสัมภาษณ์พิเศษ พี่หนู-ศักดิ์ชัย ยอดวานิช มือประสานสิบทิศ “INTANIA Connection” จากนักธุรกิจหนุ่มแห่งค่ายเสรีชัยยุทธภัณฑ์ ผันตัวเข้าสู่แวดวงการศึกษามากว่า 2 ทศวรรษ รั้งตำแหน่งนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มานานถึง 12 ปี หนุนส่งให้โรงเรียนแห่งนี้พรั่งพร้อมทุกด้านจนชื่อชั้นของ “สาธิตจุฬาฯ” นั้น ไม่เป็นสองรองใครในแผ่นดิน และทันทีที่สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) เผยชื่อของเขาออกมาในฐานะ “นายกสมาคม” คนใหม่ จึงทำให้ชาวอินทาเนียหลากรุ่นหลายวัยคึกคักและจับจ้องมองดูการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้อย่างใจจดจ่อรอให้ “ถนนทุกสายมุ่งตรงสู่ลานเกียร์” (อีกครั้ง)
ศักดิ์ชัย ยอดวานิช มีชื่อเล่นว่า “โป้” หรือที่พี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ วิศวฯ จุฬาฯ รู้จักกันดีในนามของ“พี่หนู” เพิ่งฉลองอายุครบ 59 ปี ไปหมาด ๆ ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยหากย้อนเวลากลับไปช่วง พ.ศ. 2524 เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลแล้วได้เลือกเข้าศึกษาต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นสมาชิก วศ.2524
“ตื่นเต้นและภูมิใจอยู่ไม่น้อยนะครับที่สอบเข้ามาเรียนที่วิศวฯ จุฬาฯ ได้ นับเป็นความใฝ่ฝันของเด็กผู้ชายในสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ วิศวฯ จุฬาฯ นี่เป็นที่หนึ่งสุดยอดแล้ว ใครที่ได้เข้าเรียนที่นี่ได้ก็ต้องยืดเป็นพิเศษหน่อย เพราะมันเท่ (หัวเราะ) และยังเป็นเหมือนของขวัญให้แก่ตัวเราเอง หรือบางคนบอกว่าเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จของชีวิตนักเรียนที่ขยันและตั้งใจสอบเข้าจุฬาฯ มาได้ก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งสาขาที่ผมเลือกเรียนคือวิศวกรรมไฟฟ้า เมื่อเข้ามาเรียนบรรยากาศการเรียนอิสระมาก จะเข้าเรียนหรือไม่เข้าก็ไม่มีใครสนใจ เพียงแต่เราก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง เพราะโตแล้ว เป็นนิสิตไม่ใช่นักเรียนแล้ว ซึ่งนอกจากเรียนก็ยังเผื่อใจให้เวลากับการทำกิจกรรมด้วย โดยในเทอมต้น ผมได้เข้าไปอยู่ในทีมนักโต้วาทีน้องใหม่ของคณะ ได้ลงสนามแข่งขันในหมู่นิสิตใหม่ด้วยกัน จนในที่สุดก็ได้รางวัลชนะเลิศมาฝากเพื่อน ๆ จากนั้นเทอมปลายก็หันมาเอาดีกับกีฬาบริดจ์ เรียกว่าฝึกเล่นจนได้เป็นนักกีฬามหาวิทยาลัยที่เด็กที่สุดในทีม พี่เขาส่งออกไปแข่งภายนอกในนามทีมจุฬาฯ ก็พอจะคว้าเหรียญเงินมาฝากชาวจุฬาฯ ได้อยู่เหมือนกัน ส่วนผลการเรียนทั้ง 2 เทอมนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ผมเองก็พอใจ ได้เกรดเฉลี่ยอยู่ราว ๆ 2.60-2.70 ถือว่าหล่อพอประมาณ (ยิ้มเบา ๆ) แต่หลังจากจบปี 1 ก็มานั่งทบทวนดู ถึงทำให้เรารู้จักตัวเองมาขึ้นว่าผมชอบสาขาวิศวกรรมอุตสาหการมากกว่า ไหนจะต้องกลับมาสานต่อกิจการงานของครอบครัวด้วย จึงตัดสินใจรํ่าลาเพื่อน ๆ และย้ายไปเรียนสาขาวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการ ที่มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (University of Southern California)” พี่หนูเล่าให้เราฟังถึงช่วงชีวิตในรั้วจามจุรี
หลังจากจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาแลว้ คุณศักดิ์ชัยได้นำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการ กลับมาบริหารกิจการครอบครัว คือ บริษัท เสรีชัยยุทธภัณฑ์ จำกัด จนเจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งใจไว้
แม้ว่าจะแยกย้ายกันไปตามวิถีของแต่ละคน แต่ความผูกพันกันของกลุ่มเพื่อนจุฬาฯ นั้นยังคงแนบแน่น นานวันขึ้นยิ่งแน่นแฟ้นตามวัยที่เติบโตจนล่วงเข้าสู่ พ.ศ. 2547 คุณศักดิ์ชัยได้หวนคืนสู่รั้วจุฬาฯ อีกครั้งในบทบาทของ ‘พ่อ’ ที่ตอ้ งทำหนา้ ที่ดูแลทั้งลูกตนเองและลูกคนอื่นควบคูกั่นไปในฐานะ ‘นายกสมาคมผูป้ กครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณม์ หาวิทยาลัย’
“ลูกชายผมทั้ง 2 คนได้เรียนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จึงทำให้ผมมีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับโรงเรียน ได้รู้จักกับคณาจารย์ได้พบปะเพื่อนผู้ปกครองด้วยกัน แลกเปลี่ยนทัศนะการเลี้ยงดูลูก ตั้งใจปลูกฝังบ่มเพาะให้เขาเติบโตขึ้นเป็นคนดีที่มีความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน จนได้รับความไว้วางใจจากคุณครูและผู้ปกครองด้วยกันให้เป็นนายกสมาคมผู้ปกครองและครูยาวนานถึง 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเรากรรมการสมาคมสนับสนุนโรงเรียนอย่างเต็มที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งการจัดการเรียนการสอนปรับปรุงรูปแบบตำราเรียน ปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างอาคารเรียนและห้องเรียนปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย หากโรงเรียนมีปัญหาอะไร เมื่อได้หารือกันแล้วเห็นแนวทางแล้วก็ต้องทำเลยอย่างรวดเร็วต้องให้ได้ทันใช้ เห็นปัญหาถ้าแก้ได้ ต้องแก้เลยอย่ามัวรอพึ่งพางบประมาณภาครัฐอย่างเดียว เพราะบทบาทของเราคือเข้ามาเพื่อสนับสนุน ติดขัดขาดเหลือบอกกัน จนผมกล้าพูดได้เลยว่า วันนี้โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีชีวิตชีวาขึ้นและต่างไปจากโรงเรียนอื่นในประเทศไทยมาก” คุณศักดิ์ชัย ในฐานะอดีตนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
เมื่อได้ปวารณาตัวตั้งใจเข้ามาพัฒนาแวดวงการศึกษาแล้ว ไม่เพียงแต่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เท่านั้นที่อยู่ในความสนใจของคุณศักดิ์ชัย แต่พี่หนูยังได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งผูกพันกันอยู่แล้วเป็นทุนเดิมในฐานะนิสิตเก่า วศ.2524
จะว่าไปแล้ว ผมก็ไม่ได้ไปไหนไกลจากวิศวฯ จุฬาฯ เลยนะ เราเคยเรียนที่นี่ ลูกชายผมทั้ง 2 คนพอจบ ม.6 จาก โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ก็เข้ามาเป็นรุ่นน้องที่วิศวฯ จุฬาฯ ด้วยเช่นกัน ครอบครัวเราจึงผูกพันอยู่กับลานเกียร์ และได้เข้ามามีส่วนร่วมในหลายกิจกรรมของทั้งคณะและสมาคมนิสิตเก่าฯ โครงการดี ๆ มีเข้ามาผมก็สนับสนุนเป็นกำลังใจให้พี่เราน้องเราไม่ได้ขาด อย่างช่วงที่เราจะฉลองคณะครบ 100 ปี คณะวิศวฯ จุฬาฯ เคยมีดำริว่าอยากสร้างอาคารไว้ให้เป็นอนุสรณ์ในโอกาสสำคัญนี้มาตั้งแต่สมัยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ เป็นคณบดีแล้ว และคาดว่าจะได้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลอยู่ราว 220 ล้านบาท แต่ไม่เพียงพอ ยังขาดงบประมาณอยู่อีก 90 ล้านบาท จึงยังไม่ได้ตัดสินใจดำเนินโครงการ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัย รศ. ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ เป็นคณบดี
ผมเองในฐานะประธานรุ่น วศ.2524 ซึ่งขณะนั้น ได้ชักชวนเพื่อน ๆ จัดกิจกรรมกอล์ฟการกุศลหาเงินมอบให้คณะอยู่แล้ว จึงได้มีโอกาสหารือพูดคุยกันกับท่านคณบดี จนทราบความตั้งใจดีที่ท่านอยากผลักดันสร้างตึก 100 ปีให้สำเร็จจงได้ ผมจึงได้เชิญท่านมาเยี่ยมชมอาคาร 50 ปี โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ซึ่งเป็นโครงการที่สมาคมผู้ปกครองและครูร่วมกันสนับสนุนตั้งแต่ริเริ่มจนแล้วเสร็จ
ได้แลกเปลี่ยนกันถึงรูปแบบการหาเงินสนับสนุนส่วนที่ยังขาดอยู่ให้เป็นไปในแนวทางลงขันกันตามความสมัครใจในหมู่นิสิตเก่าด้วยกัน จากนั้น รศ. ดร.บุญสม จึงได้ชวนให้ผมเข้าไปเสนอแนวคิดนี้ในที่ประชุม สวจ. ซึ่งพี่ ๆ กรรมการ สวจ. ขณะนั้นก็ได้กรุณารับเอาแนวคิดและแนวทางนี้ไปดำเนินการ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเชิญชวนให้พวกเรานิสิตเก่าได้มาร่วมกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธา ไม่มีใครบังคับใคร ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ให้กันมาด้วยใจในแบบที่ต้องเรียกว่าถนนทุกสายมุ่งสู่ ลานเกียร์คับคั่ง จนภายในเวลาอันรวดเร็ว เราก็สร้างอาคาร 100 ปี วิศวฯ จุฬาฯ ได้สำเร็จ
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนั้นยังเป็นต้นแบบให้เกิดสิ่งดี ๆเพื่อสังคมที่ชาวอินทาเนียได้ร่วมกันนำความรู้ความสามารถมาขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแน่นอนว่าคุณศักดิ์ชัยได้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤตโควิด-19 ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์และสมาคมนิสิตเก่าได้ให้ความช่วยเหลือสังคมอย่างเร่งด่วนผ่านโครงการมากมาย อาทิ “ถุงปันนํ้าใจ” นับพันถุงดูแลชุมชนรอบจุฬาฯ หุ่นยนต์ช่วยหมอชุด CU-Robo-COVID ทั้งน้องปิ่นโต น้องกระจก รถความดันบวก รถตรวจวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ จนเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ที่ประชุมใหญ่สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) ได้มีมติเลือก คุณศักดิ์ชัย ยอดวานิช วศ.2524 ให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม วาระ พ.ศ. 2565-2567 ต่อจากคุณอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์
เมื่อได้รับมอบหมายมาแล้ว ผมก็จะทำเต็มที่ให้สมกับที่พี่ ๆ น้อง ๆ ได้ไว้วางใจให้ผมทำหน้าที่นายกสมาคม ไม่มีอะไรที่ต้องหนักใจ กลับกัน ต้องภูมิใจมากกว่าที่ได้มีโอกาสเข้ามารับใช้สถาบันที่เคยประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ตัวเรา
ผมต้องบอกว่าระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปีนั้นสั้นกระชับแค่อยู่ในวิสัยที่พวกเราคณะกรรมการบริหารสมาคมจะก่อร่างสร้างงานใหม่ที่เราตั้งใจจะทำกันได้ รวมถึงสานงานต่อจากพี่หมู อดิศักดิ์ ที่ท่านเองก็ตั้งใจทำเพื่อวิศวฯ จุฬาฯ ไม่น้อยเลยเช่นกัน
หลักใหญ่ของ สวจ. คงเป็นเรื่องกิจกรรมสานสัมพันธ์ฉันน้องพี่ในหมู่พวกเราชาวอินทาเนียหรือจะเรียกให้โก้หรูดูอินเตอร์ก็คือ “INTANIA Connection” ซึ่งพวกเราเองก็เป็นหลักให้แก่ประเทศในหลายวงการ หลายอุตสาหกรรม ทั้งกิจการงานโยธาก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานนํ้าไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก กิจการสื่อสารโทรคมนาคม กิจการพลังงานไฟฟ้า ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี เหมืองแร่ และสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมไปถึงภาคการเงิน การคลัง การธนาคารและการเมือง ล้วนแล้วแต่มีผลผลิตจาก “วิศวฯ จุฬาฯ” เข้าไปเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนให้ทุกวงการพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงแข็งแรง
นอกจากนี้เรายังมีสมาชิก สวจ. หลากวัยหลายรุ่นร่วมอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่เราต้องให้โอกาสเปิดพื้นที่ให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมทำงานกับพี่โต ๆ อย่างใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ผมอยากชวนให้พี่น้องเรากลับมาช่วยสถาบัน เกียรติภูมิและภูมิประวัติของเราโดดเด่นไม่แพ้ใครเมื่อผนึกกำลังกันไว้ได้อย่างแน่นหนาแล้ว ไม่ว่าเราจะขับเคลื่อนงานหรือโครงการใดย่อมมีพลังและมองเห็นความสำเร็จชัดเจนแน่นอน นายกศักดิ์ชัยกล่าวอย่างเปิดใจด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม
นอกจากโครงการและกิจกรรมที่ สวจ. ดำเนินงานตามแผนอยู่แล้ว ยังมีโครงการเร่งด่วนที่คุณศักดิ์ชัยตั้งใจเข้ามาผลักดันและขับเคลื่อนให้สำเร็จลุล่วงแข่งกับเวลาอันสั้น นั่นคือโครงการปรับปรุงหอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในโอกาสสถาปนาคณะครบ 110 ปี
“หอประชุมวิศวฯ ของเรานี่สร้างมานานมากแล้วนะครับ ครั้งหนึ่งเคยทันสมัยสุด ๆ เมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันก็ทรุดโทรมลงไปมากตามอายุขัย ระบบเครื่องปรับอากาศก็ดี ระบบไฟส่องสว่างก็ดี ระบบเครื่องฉายภาพต่าง ๆ ก็ดี ไหนจะชุดเก้าอี้ที่นั่งอีกเขาก็รับใช้ดูแลพวกเรามาเต็มความสามารถของเขาแล้วนะ น่าจะถึงเวลาที่เราต้องดูแลหอประชุมคณะของพวกเราบ้างแล้ว ก็ได้เวลาต้องปรับปรุงใหญ่ที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ผมริเริ่มขึ้น หากแต่เป็นทาง สวจ. ชุดก่อนได้เริ่มตั้งไข่ไว้แล้ว แต่มาเป็นรูปเป็นร่างในช่วงที่ผมเข้ามารับตำแหน่งนายก สวจ. พอดีพวกเราจึงตั้งใจจะปรับปรุงหอประชุมนี้ให้ทันสมัยมากขึ้นเพื่อรองรับอนาคตรองรับการเรียนการสอนสมัยใหม่ รองรับยุค Metaverse ที่มาถึงแล้ว ให้น้อง ๆ นิสิตได้เข้ามาใช้ทำกิจกรรมที่หลากหลายตามความถนัด ตามความสนใจของเขา”
“ไม่ใช่แค่การปรับภูมิทัศน์นะครับ แต่ต้องรวมถึงระบบ IoT ต่าง ๆ ด้วยให้รองรับการเชื่อมโยงกับคนทั้งโลก จะเรียนจะสอน จะประชุมกันในโลกจากแห่งหนตำบลไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโลกจริงหรือโลกเสมือนก็ตาม เราตั้งใจให้หอประชุมวิศวฯ จุฬาฯ เป็นหอประชุมรองรับอนาคต เป็นประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ยุวชนของพวกเรา และต้องไม่ลืมว่าพวกเรานิสิตเก่าเองก็มีโอกาสได้กลับมาใช้ด้วยเช่นกัน เพราะที่นี่คือหอประชุมของพวกเราทุกคน เราเคยนั่งประชุมเชียร์ เคยร้องเพลงด้วยกัน เคยใช้เรียนหนังสือ เคยใช้ทำกิจกรรม ที่แห่งนี้เป็นสถานที่บันทึกความทรงจำของพวกเราทุกคน และมันยังคงจะทำหน้าที่เช่นนั้นต่อไปในบริบทใหม่ตามโลกที่หมุนไปครับ”
แม้โครงการปรับปรุงหอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องอาศัยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท แต่คุณศักดิ์ชัยก็ยังมั่นใจในพลังของ INTANIA Connection และพร้อมกรุยทางให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ลานเกียร์ (อีกครั้ง)
เรากำลังเร่งดำเนินการให้งานปรับปรุงหอประชุมคณะมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทนี้สำเร็จเสร็จได้ทันก่อนเปิดเทอมใหม่ เพื่อต้อนรับน้องนิสิต วศ.2566 เราจึงต้องทำงานแข่งกับเวลาที่งวดเข้ามาแล้ว และยังต้องการการสนับสนุนจากพี่ ๆ นายช่างวิศวฯ จุฬาฯ ที่มีจิตศรัทธากลับมาร่วมมือร่วมใจร่วมกันบริจาคเงินเพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ครับ
เพราะเราไม่มีงบประมาณจากภาครัฐเลย ขณะเดียวกันเราก็รอไม่ได้แล้ว จึงต้องทำเลยทันที โดยความคืบหน้า สวจ. ได้คัดเลือกแบบไว้แล้ว
และคาดว่าจะดำเนินการปรับปรุงแบบให้แล้วเสร็จได้ภายในไม่เกิน 2 เดือนนี้ สวจ. เองต้องขอขอบพระคุณหน่วยงาน องค์กร บริษัท ห้างร้าน และพี่นิสิตเก่าที่ได้เริ่มสนับสนุนสมทบทุนกันเข้ามาบ้างแล้ว
ล่าสุด นายกและกรรมการบริหารสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เองก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกันกับพวกเรา จึงได้มอบเงินสนับสนุนเบื้องต้นจำนวน 4 ล้านบาท และเรายังเปิดรับบริจาคเงินสนับสนุนจากทุกท่านอยู่นะครับ เมื่อท่านทราบและเราเองก็มีจุดหมายปลายทางเดียวกันแล้ว
“ผมในฐานะนายก สวจ. ก็พร้อมกรุยทางให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ลานเกียร์ เพื่อให้ภารกิจของพวกเราบรรลุสมดังที่พวกเราตั้งใจดีกันในคราวนี้อีกครั้งนะครับ” พี่หนู ศักดิ์ชัย ยอดวานิช นายก สวจ. กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ