ภาษาไทย ใครว่าไม่สนุก

ภาษาไทย ใครว่าไม่สนุก


ท่านบรรณาธิการของ สาระสราญ ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ขอให้ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทยมาลงพิมพ์บ้าง ในฐานะที่ผมเคยพูดเล่นสำนวนกวนบาทาท่านมาบ่อย ๆ ท่านบอกว่าไม่อยากจะให้ทรัพย์สินทางปัญญาของคน “ยวน” ในประเทศไทยอย่างผมต้องละลายหายไปเสียเปล่า ๆ โดยไม่ได้รับการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือของท่าน ผมเองกระอักกระอ่วนใจเพราะเป็นเพียงคน “ยวน” เชื้อสายไทยที่ไม่ได้เชี่ยวชาญภาษาไทยหรือภาษาไหน ๆ หากเป็นเพียงผู้ที่สนใจภาษาไทยและนำไปใช้ในรายการเฮฮาปาร์ตี้กับบรรดาเพื่อนฝูงใกล้ชิดสนิทสนมกัน ไม่ถึงขั้นที่จะตั้งตัวเป็นพิธีกรรายการทอล์กโชว์หรือนักพูดประเภท “เดี่ยวไมโครโฟน” ที่ท่านอาจจะได้ยินได้ฟังมาแล้ว แต่เมื่อท่านบรรณาธิการท่านมา “หาเรื่อง” กับผม (เพื่อลงพิมพ์) และคาดคั้นจะ “เอาเรื่อง” ให้ได้ผมก็ต้องยอมตามใจท่าน คือ เขียนเรื่องการเล่นคำสำนวนโวหารภาษาไทยให้ เริ่มจาก สาระสราญ เล่มนี้เป็นต้นไป

สำหรับท่านที่สงสัยว่า “นายยวน” เป็นคนเชื้อชาติไหนกันแน่นั้น ผมใคร่ขอเรียนท่านทราบว่าเขาเป็นคนไทยเกิดในเมืองไทยนี้เอง คำว่า “นายยวน” นี้ขึ้นด้วย ย ยักษ์ มิใช่ ญ หญิง ดังนั้น เขาผู้นี้ (คือผมเองน่ะแหละ) จึงไม่ใช่คนเวียดนามที่อพยพมาตั้งรกรากในเมืองไทยแต่อย่างใด บางท่านอาจสงสัยว่าผมจะเป็นคนเชื้อชาติกรีกหรือคนแถวถิ่นล้านนาของไทยหรือเปล่า ในประเด็นนี้ผมก็ขอตอบว่าเปล่าอีกเช่นกันเพราะคำว่า “ยวน” ในชื่อของผมนั้นไม่ได้เป็นคำนามที่ใช้เรียกชาวโยนกผู้เป็นชนชาติทางเหนือของอินเดียหรือในภาคเหนือของไทย หากแต่เป็นคำกริยาที่มีความหมายว่า ยั่ว ล่อ ชวนให้เพลิน ชวนให้ยินดี (ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของผมและท่านบรรณาธิการ) หรือก่อกวนให้เกิดโทสะ (ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของเรา) นั่นเอง แท้ที่จริงผมเป็นคนที่มีพื้นเพเดิมในประเทศไทยอยู่กันคนละขั้วกับชาวโยนกเสียด้วยซํ้า แต่ท่านผู้อ่านคงจะหาคนสัญชาติ “ยวน” อย่างผมได้ไม่ยากนักหรอก ก็ทำนองเดียวกับที่คนไทยในอเมริกาจะหาคน “กะเหรี่ยง” พบได้บ้างนั่นแหละครับ

แนะนำตัวเองพอหอมปากหอมคอแล้ว ก็ขอเข้าเรื่องภาษาไทยที่มีสาระกันบ้าง (ส่วนจะสราญหรือไม่โปรดติดตาม) ตำราภาษาไทยของคนรุ่นเก่าอย่างเช่นหนังสือหลักภาษาไทยของพระยาอุปกิตศิลปสารได้จำแนกเนื้อหาภาษาไทยออกเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ รวม ๔ หัวข้อ คือ

  • อักขรวิธี ซึ่งหมายถึงวิธีการเขียนและอ่านหนังสือให้ถูกต้อง
  • วจีวิภาค ซึ่งหมายถึงการจำแนกถ้อยคำออกเป็นคำนาม สรรพนาม คำสุภาพ ฯลฯ
  • วากยสัมพันธ์ ซึ่งหมายถึงความเกี่ยวข้องกันของคำต่าง ๆ
  • ฉันทลักษณ์ ซึ่งหมายถึงคำประพันธ์ที่เป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ต่าง ๆ

หน้าที่ของคนยวน ทั้งที่เป็นคนเขียนคอลัมน์นี้และพรรคพวกเชื้อชาติเดียวกัน ซึ่งขอประกาศให้ท่านทราบไว้เสียตั้งแต่แรก ก็คือหาแง่ขำขันที่มีสาระบ้างไร้สาระบ้างในหัวข้อทั้งสี่ของภาษาไทยมาเล่าสู่กันฟัง หรือกระเซ้าเย้าแหย่กันเพื่อความสนุกของคนที่รักเล่นคำสำนวนด้วยกัน ยกตัวอย่างคำว่า นครหลวง ซึ่งคนไทยผู้รู้ภาษาไทยท่านอ่านออกเสียงว่า นะคอนหลวง นั้น คนยวนจะแกล้งอ่านเป็น นะคอระหลวง ตามแบบการอ่านคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤตเสีย นี่เรียกว่าเป็นการยวนกันในเชิงอักขรวิธี หรืออย่างคำว่า หัวแม่เท้า นั้น คนยวนอาจแปลงไปเป็นคำในภาษาบาลี-สันสกฤตว่า ศีรษะมารดาบาท อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการยวนกันในเชิงวจีวิภาคอีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้ามีใครในกลุ่มของคนยวนพูดว่า “ผมเป็นคนไม่มีลูกมีเมีย” ก็เป็นอันเข้าใจกันว่าเขามีเมียแล้วแต่ยังไม่มีลูก นี่ก็เป็นการยวนกันในเชิงวากยสัมพันธ์ ตัวอย่างสุดท้าย ท่านผู้อ่านคงจะคุ้นเคยกับคำพังเพยที่ว่า “เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร” แต่คนยวนอาจจะดัดแปลงคำพังเพยนี่เสียใหม่ว่า “ได้ทองเท่าแขน ใครอยากได้แฟนก็เชิญเอาไป” นี่เป็นการยวนกันในเชิงฉันทลักษณ์นั่นเอง

สรุปได้ขั้นแรกว่า ภาษาไทยเรามีเรื่องสนุก ๆ ให้แซวหรือกระเซ้ากันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเขียน การอ่าน การพูด และแม้แต่การประพันธ์ อย่างไรก็ตาม นายยวนผู้เขียนคอลัมน์นี้ขอชี้แจงว่า การยวนกันในที่นี้ มีเจตนาที่จะทำเพื่อความสราญ (สำราญ) ใจของท่านผู้อ่านเท่านั้น มิไดมี้เจตนาที่จะทำให้เกิดความวิบัติวิปลาสขึ้นในภาษาไทย อันเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่พวกเราจะต้องเคารพและอนุรักษ์ไว้ นายยวนขอให้สัญญาว่าจะพยายามเขียนในเชิงสร้างสรรค์ (ความสนุก) โดยจะมิให้เกิดเรื่อง “อักขระบัดสี” หรือ “วจีวิวาท” ขึ้นในคอลัมน์นี้เลย เพราะการใช้ภาษาเพื่อความสนุกนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยความหยาบโลนหรือข้อขัดแย้งที่รุนแรงก็ได้ (หากท่านผู้อ่านท่านใดรู้ตัวว่ามีเชื้อสายคนยวน อยากจะเขียนอะไรสนุก ๆ มาออกทางคอลัมน์นี้บ้าง นายยวนผู้เขียนประจำก็ยินดีรับครับ)

ขอฝากคำกลอนไว้คู่กับคอลัมน์นี้ว่า

ภาษาไทยใครว่าไม่สนุก   มองในทุกแง่คิดไม่ผิดหวัง
อ่านพูดเขียนแซวบ้างช่างน่าฟัง   ผู้ใดยังไม่เคยยวนขอชวนเอย

จนกว่าจะพบกันใหม่ใน สาระสราญ ฉบับหน้า
สวัสดีครับ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ ข้อคิดจากนิสิตเก่า โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.มงคล เดชนครินทร์ (ราชบัณฑิต)

ปรับปรุงจากบทความเรื่อง “ภาษาไทยใครว่าไม่สนุก” ใน นิตยสารสาระสราญ
ปีที่ 1 ฉบับที่ 2, กันยายน พ.ศ. 2540-ปีที่ 2 ฉบับที่ 16, ธันวาคม พ.ศ. 2541


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save