ในกระแสโลกยุคผกผันที่มีการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภูมิอากาศ การเมืองและการปกครอง ฯลฯ การต่อสู้แข่งขันในตลาดโลกของประเทศต่าง ๆ จึงมีความเข้มข้น รุนแรง ผกผัน และคาดคะเนถึงผลลัพธ์ต่าง ๆ ได้ยากอย่างยิ่ง
ในสภาวะเช่นนี้ การพัฒนาประเทศเพื่อให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน (ให้ประชาชนมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี?) จำเป็นจะต้องพิจารณาทบทวนสถานะของประเทศเทียบเคียงกับประเทศอื่น ๆ ว่าเราอยู่ที่ใด และใช้เป็นฐานในการกำหนดเป้าหมายว่าเราอยากจะก้าวไปให้ถึงจุดใด มาลองดูข้อมูลเบื้องต้นจากตารางที่เผยแพร่สู่สาธารณะกันดูนะครับ

หัวข้อแรกที่เราจะมาดูกัน คือ Harmonized Learning Outcome หรือที่ใช้ภาษาไทยว่าผลลัพธ์ทางการศึกษา ซึ่งความหมายจริง ๆ คือผลลัพธ์ทางการศึกษาที่มีการปรับค่าความแตกต่างเพื่อให้เปรียบเทียบกันได้ระหว่างประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน จากรูปที่ 1 ด้านซ้ายแกนนอนคือ ค่า GDP ต่อหัวประชากร ใช้ค่า Log เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์เป็นเส้นตรง ในขณะที่ตารางด้านขวาเปรียบเทียบผลการศึกษาของเด็กไทยกับเด็กฟินแลนด์ สิงคโปร์ และเวียดนามครับ
อ่านความหมายจากรูปด้านซ้ายได้ว่า ข้อมูลที่เป็นจุดของประเทศที่อยู่บนหรือใกล้ ๆ กับเส้นตรงที่เฉียงขึ้น คือค่าคะแนนที่ควรจะเป็น หมายความว่า ประเทศที่มีผลผลิตมวลรวมประชาชาติสูง เด็กก็จะได้รับการศึกษาดี มีค่าผลสัมฤทธิ์สูงตามไปด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป บางประเทศผลลัพธ์คะแนนการศึกษาสูงกว่าที่คาดคะเนจากผลผลิตมวลรวมประชาชาติ แปลว่า ระบบและการจัดการการศึกษาทำได้ประสิทธิผลดีมาก เช่น เคนยา เวียดนาม โปแลนด์ และสิงคโปร์
ข่าวดีก็คือ ผมลองเอาตัวเลขข้อมูล Log GDP per Capita ของไทย ที่อยู่ประมาณ 3.8 ลองกำหนดจุดบนกราฟในรูปด้านซ้ายดู หากคิดแปรผันตามเส้นตรงหรือค่าที่ควรจะเป็นนั้น คะแนนผลลัพธ์ทางการศึกษาของเราน่าจะอยู่ที่ประมาณ 280 คะแนน แต่ดูจากข้อมูลในตารางด้านขวา เราได้สูงถึง 431 คะแนนครับพี่น้อง!!
แปลว่า แม้มวลรวมประชาชาติเราจะยังต่ำอยู่ แต่สัมฤทธิผลทางการศึกษาของเด็กไทยก็นับว่าใช้ได้ โดยสูงกว่าที่คาดคะเนถึงประมาณ 54% ครับ
ลองมาดูสิงคโปร์ก็ยิ่งน่าภูมิใจไทยแลนด์ เพราะตามเส้นตรงแล้วเขาน่าจะได้ประมาณ 510 คะแนนตามระดับ GDP แต่กลับได้ 581 คะแนน สูงกว่าที่คาดคะเนประมาณ 14 %
หรือในทำนองเดียวกัน เวียดนามได้สูงกว่าที่คาดคะเนประมาณ 44.2% ครับ
แปลว่าเมื่อใช้ผลผลิตมวลรวมต่อหัวประชากรเป็นฐานแล้ว ประเทศไทยเรามีคะแนนผลลัพธ์การศึกษาในอัตราที่สูงกว่าการคาดคะเนเหนือกว่าเวียดนามและสิงคโปร์ครับ
ลองดูผลลัพธ์ในมุมกลับบ้างนะครับ มีหลายประเทศเช่นกันที่ผลลัพธ์ทางการศึกษากลับต่ำกว่าค่าที่แปรผันเป็นสัดส่วนเทียบกับผลผลิตมวลรวมต่อหัวประชากร จากรูปด้านซ้ายที่มีชื่อปรากฏอยู่จะได้แก่ อาฟริกาใต้ คูเวต การ์ตา และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ครับ ซึ่งน่าสังเกตว่ามักเป็นประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรน้ำมันซึ่งทำให้ค่าผลลิตมวลรวมสูง แต่อาจจะลงทุนด้านการศึกษาต่ำ หรือระบบการจัดการศึกษายังไม่มีประสิทธิผลดีพอก็เป็นไปได้ครับ
เอาละครับ คราวนี้ลองมาวิเคราะห์เจาะลึกกันที่รูปที่ 1 ตรงตารางด้านขวาดูบ้าง มาพิจารณากันว่าในระดับโลกนั้น เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ฟินแลนด์ และเวียดนามแล้ว เราเป็นอย่างไร? จะแข่งกับใครได้ตามที่ผมจั่วหัวเรื่องเอาไว้
คะแนนผลลัพธ์ทางการศึกษา สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 1 ของโลก ฟินแลนด์ที่ 4 เวียดนามที่ 27 ไทยอยู่ที่ 48 ของโลกจากข้อมูลทั้งหมดที่นำมาประมวลประมาณ 164 ประเทศ
เมื่อแยกออกมาเป็นคะแนนวิชาที่สำคัญที่เป็นฐานในการศึกษาระดับสูงต่อไปเราก็จะพบว่า คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ของสิงคโปร์ยังนำลิ่วอยู่ที่อันดับ 2 ในขณะที่เวียดนามแซงฟินแลนด์ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 13 ดันฟินแลนด์ไปอยู่อันดับที่ 16 และประเทศไทยอยู่อันดับที่ 68
ไล่มาที่คะแนนวิทยาศาสตร์และการอ่าน เราก็ยังรั้งท้ายเมื่อเทียบกับอีก 3 ประเทศ และเป็นการรั้งท้ายที่ห่างกันหลายสิบอันดับครับพี่น้อง……
แปลว่าสัดส่วนนักเรียนต่อครู 1 คนของเราสูงไปไหม? ครู 1 คนต้องดูแลเด็กมากเกินไปหรือเปล่า?
หรือการลงทุนด้านการศึกษาหรืองบประมาณที่ใช้เพื่อการศึกษาเราต่ำไปไหมเมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ อีก 3 ประเทศ?
จากข้อมูลในบรรทัดต่อมาก็พบว่า ไม่ใช่หรอกครับ อัตราส่วนนักเรียนต่อครูของเราเท่า ๆ กับเวียดนาม และสูงกว่าสิงคโปร์และฟินแลนด์เพียงเล็กน้อยครับ
ในขณะที่งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเทียบสัดส่วนกับผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือ GDP ก็พบว่าไม่ใช่เช่นกัน เราใช้จ่ายด้านการศึกษาพอ ๆ กับเวียดนาม มากกว่าสิงคโปร์ น้อยกว่าฟินแลนด์ประมาณ 35%
ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือ อัตราส่วนของครูชั้นมัธยมที่มีวุฒิปริญญาโทครับ ประเทศไทยมีเพียง 15% ในขณะที่เวียดนามมี 70% ฟินแลนด์มีกว่า 90% และสิงคโปร์มี 40%
อัตราจบการศึกษาระดับมัธยมเราก็ต่ำสุดใน 4 ประเทศครับ ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจนะครับ เพราะข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ทั้งด้านคะแนนสอบวิชาหลัก คะแนนการอ่าน และคุณภาพของครูเราด้อยกว่า 3 ประเทศที่นำมาเปรียบเทียบ
แล้วจะแก้อย่างไร? เดี๋ยวค่อยคุยกันนะครับ ลองมาดูข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งก่อนครับ
นั่นคือข้อมูลล่าสุดจาก Japan Science and Technology Agency (JST) ที่เป็นองค์กรระดับชาติของญี่ปุ่นซึ่งมีพันธกิจด้านการทำแผนหลักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น รับผิดชอบด้านการจัดการทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยพัฒนาภาครัฐ และล่าสุดมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเงินทุนเบื้องต้นหรือ Seed Money ให้แก่วิสาหกิจแรกตั้งหรือ Start-up ด้วยครับ
ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นที่ไปศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว และอยู่ในช่วงเดียวกับที่ผมไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยโตเกียวเช่นกัน ได้ส่งข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมาให้ผมเป็นประจำ และล่าสุดได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการเปรียบเทียบจำนวนการตีพิมพ์เอกสารงานวิจัยของชาติต่าง ๆ ในอาเซียนที่ JST ได้รวบรวมไว้ดังนี้ครับ
ลำดับของจำนวนเอกสารงานวิจัยและพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน

เมื่อพิจารณาข้อมูลจากตารางข้างบนจะเห็นได้ว่า แม้ในเชิงจำนวนการตีพิมพ์เราจะอยู่ในอันดับที่ 4 แต่ในกรณีของจำนวนผลงานระดับดีเยี่ยมนั้นเราอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนเชียวนะครับ เป็นรองแต่สิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น ลองมาดูรายละเอียดคำอธิบายของ JST ประกอบตารางฉบับนี้เขารายงานไว้ดังนี้ครับ
ในวาระที่ ASEAN และญี่ปุ่นครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปี ใน ค.ศ. 2023 ประเทศญี่ปุ่นเองได้มีนโยบายส่งเสริมการเปิดเสรีของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งนอกจากทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงแล้ว ก็ยังต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย เพื่อความร่วมมือทางด้านต่าง ๆ ดังกล่าว ศูนย์วิจัยเอเชียแปซิฟิกของ JST จึงได้จัดการวิเคราะห์ข้อมูลระดับความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน โดยใช้ข้อมูลจากบริษัทสำรวจข้อมูลของประเทศอังกฤษที่สังเคราะห์สารสนเทศซึ่งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนได้เปิดเผยต่อสาธารณะไว้ ซึ่งเป็นข้อมูลระหว่าง ค.ศ. 2018-2022
จากตารางจะเห็นจำนวนการตีพิมพ์บทความวิชาการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย โดยสิงคโปร์มาเป็นอันดับแรกที่ 120,000 บทความ มีการอ้างอิงในระดับสูงช่วง 10% แรกถึง 22,000 ฉบับ หรือประมาณ 18.33% ในขณะที่มาเลเซียตามมาที่ 2 จำนวนตีพิมพ์ประมาณ 114,000 บทความ มีการอ้างอิงในระดับสูง 14,000 บทความ หรือประมาณ 12.28% JST รายงานต่อไปว่า เมื่อนำเอาสาขาต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นและประเทศพัฒนาต่าง ๆ มุ่งเน้นในปัจจุบัน 5 สาขา ได้แก่ AI, Quantum Technology, Renewable Energy and Hydrogen, Biotechnology, Epidermic หรือโรคระบาด สรุปว่าในสิงคโปร์นั้นงานที่มุ่งเน้นวิจัยและพัฒนา คือ AI และ Quantum Technology ซึ่งนับเป็นระดับนำในอาเซียน โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ หรือ National University of Singapore มีการตีพิมพ์ผลงานถึง 3,000 ฉบับ เหนือกว่ามหาวิทยาลัยโตเกียวซึ่งตีพิมพ์ต่ำกว่า 3,000 ฉบับเล็กน้อย ซึ่งนักวิจัยของ JST ให้เหตุผลไว้ว่า สิงคโปร์นั้นทุ่มเทความพยายามเรื่องทรัพยากรบุคคลมานานมากเนื่องจากขาดแคลนด้านทรัพยากรธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ ค.ศ. 2013 สิงคโปร์ได้ริเริ่มโครงการ “สมองไหลกลับ” ที่สามารถดึงเอาบุคลากรชั้นมันสมองกลับมาจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก
ในส่วนของมาเลเซียซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพก็มุ่งเน้นงานวิจัยพัฒนาด้านพลังงานชีวภาพและพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ นอกจากนั้นยังเน้นการพัฒนาคนโดยยกระดับความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษาอย่างมากโดยมหาวิทยาลัยของมาเลเซียติดระดับ 200 แรกของโลกถึง 5 แห่ง เทียบกับญี่ปุ่นซึ่งติดอันดับ 10 แห่งครับ
ลองมาดูของไทยเราบ้างที่ติดอันดับ 4 ของจำนวนการตีพิมพ์ในจำนวน 80,000 บทความ รองจากอินโดนีเซีย แต่จำนวนบทความที่มีการอ้างอิงในระดับสูงอยู่ในอันดับ 3 จำนวน 8,000 บทความ หรือเทียบเท่ากับ 10% ครับ น่าเสียดายว่าทาง JST ไม่ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าเราเน้นงานวิจัยพัฒนาด้านใดบ้างอย่างที่ได้พูดถึงสิงคโปร์และมาเลเซีย
จากสองฐานข้อมูลทั้งด้านผลการศึกษาและด้านการวิจัยและพัฒนานั้น ข่าวร้ายที่ฟันธงได้ คือ เรายังไม่สามารถแข่งกับประเทศที่น่าจะเป็นเป้าหมายในการแข่งขัน เช่น สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ได้ในระดับการศึกษาและการวิจัยพัฒนา และเวียดนามที่เราเกรงกันนักหนาว่าจะแซงเรานั้นก็แซงไปแล้วจริง ๆ เรื่องการศึกษา ในส่วนของการวิจัยและพัฒนานั้น แม้จำนวนผลงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์จะน้อยกว่าไทย แต่เปอร์เซ็นต์การนำไปอ้างอิงก็สูงกว่าเราที่ 12.72% ครับ
ดังนั้น ในโลกที่คุณภาพของประชากรซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความก้าวหน้าด้านการพัฒนายกระดับความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศนั้น ประเทศไทยจะต้องเร่งรัดการพัฒนาการศึกษา การวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ
ในส่วนของการศึกษานั้น ได้เคยพูดไว้หลายครั้ง และขอย้ำตรงนี้อีกครั้งโดยมีข้อมูลเบื้องต้นเป็นหลักฐานให้เห็นได้ชัดเจนว่า คุณภาพครูคือสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญที่สุด ต้องทำให้คนเก่ง คนดี มาเป็นครูให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยปฏิวัติระบบผลตอบแทน การประเมินผล และการสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ให้ครูอย่างเต็มที่ คนเป็นครูต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีกิน มีใช้ อย่างที่ท่านผู้นำรัฐบาลพูดติดปาก โดยไม่ต้องกังวลกับหนี้ครัวเรือนและ/หรือปัจจัย 4 ทั้งหลาย และประการสุดท้าย คือ การประเมินผลงานอย่างเข้มงวดจริงจังครับ
ผมมองเห็นว่าการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเรื่องการศึกษาให้เหมาะสมสอดคล้องกับภูมิภาคต่าง ๆ เป็นการทำงานที่ดีที่สุดครับ
ในส่วนของการวิจัยพัฒนานั้น ขอทิ้งท้ายสั้น ๆ ว่า ควรเริ่มพิจารณาการยุบรวมสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานวิจัยพัฒนาต่าง ๆ แล้วปฏิรูประบบกระทรวงโดยแยกเอาส่วนงานวิจัยพัฒนาจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มารวมกับกระทรวงอุตสาหกรรมครับ
เมื่อผู้ใช้เทคโนโลยีอยู่รวมกับผู้สร้างเทคโนโลยีได้ ความเจริญก้าวหน้าจะไปไหนเสียครับพี่น้อง?
ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2568 คอลัมน์ สะดุดฟันเฟือง โดย รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15