หลังจากเราเป็นกันเป็นแล้ว คราวนี้ล่ะครับเราถึงจะมาเริ่ม “คิด” กัน นี่ไม่ใช่การเล่นคำนะครับ แต่เป็นความจริงแบบหญ้าปากคอก หรือความจริงที่เรามักอุปมาว่าเหมือนของอยู่ที่ปลายจมูก คือมันใกล้เสียจนละเลยไป ขั้นตอนของ IDGs นี่ก็เช่นกัน เรามักละเลยที่จะไปคิดเค้นค้นควานหาสารพัดไอเดียมาพัฒนาสร้างงานโดยละเลยไปว่า ก่อนจะเริ่มคิดได้นั้นเราต้องปรับภายในคือการเป็นตัวของเราให้มันถูกต้องเสียก่อน ซึ่งตอนนี้เราผ่านขั้นตอนนั้นกันมาแล้วกับ 5 ทักษะการเป็นในมิติ Being ฉบับนี้เราจึงจะมาเริ่มคิดกันได้ครับ ทักษะการคิดนั้นมีมากมายมาก หลายองค์กร HR จะมีคู่มือเลยว่ามีหน้าที่ต้องพัฒนาทักษะการคิดแบบใดให้พนักงานบ้าง อาจเป็นการคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงกลยุทธ์ ฯลฯ แต่ปัญหาคือแต่ละองค์กรนั้นเคยได้สำรวจไหมว่า ทักษะการคิดเหล่านั้นยังจำเป็นต่อการทำงานในยุคปัจจุบันจริง ๆ หรือเปล่า หรือใส่ไปใน Competency เพราะคุ้นหู หรือมีมาเนิ่นนานแล้วก็ยึดตามเอาไว้ และได้เคยศึกษาเพิ่มเติมไหมว่า ใน BANI World นี้ทักษะการคิดใดที่จำเป็น เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้การทำงานนั้นประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
และนี่คือโชคดีของเราครับ IDGs ได้ศึกษาสิ่งเหล่านี้มาให้เราแล้วว่า ณ ปัจจุบันทักษะการคิด 5 ประเภทนี้ครับที่มีผลแบบมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จ นั่นคือ
- Critical Thinking
- Complexity Thinking
- Perspective Skill
- Sense Making Skill
- Long-term Orientation and Visioning
แต่ละทักษะเป็นอย่างไร และฝึกอย่างไรมาดูกันครับ เริ่มจาก
Critical Thinking
การคิดเชิงวิพากษ์ เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับความสำเร็จทั้งในด้านส่วนตัวและอาชีพการงาน เพราะความสามารถในการประเมินข้อมูลและวิเคราะห์ได้ดีจะทำให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่ข้อมูลมีอยู่มากมายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลได้ เพราะหากเราประเมินข้อมูลผิด แม้ขั้นตอนการนำข้อมูลไปใช้จะยอดเยี่ยมเพียงใด สุดท้ายผลลัพธ์ก็จะยังออกมาผิดอยู่ดี เหมือนดั่งที่เราพูดกันคือ Garbage in Garbage Out
นอกจากนี้ การคิดเชิงวิพากษ์ยังเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนารากจากภายในเพราะมันช่วยให้เราสามารถตั้งคำถามกับความเชื่อของตนเอง ทั้งเปิดโอกาสให้เราได้พิจารณาเรื่องนั้นจากมุมมองอื่น ๆ ซึ่งสิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นของเราที่มีต่อโลกได้
การพัฒนาความคิดเชิงวิพากษ์เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องใช้การฝึกฝนและความตั้งใจ วันนี้ผมเลยขอนำเคล็ดลับในการพัฒนาทักษะที่สำคัญนี้มาฝากครับ
- ฝึกตั้งคำถาม การถามคำถามเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของการคิดเชิงวิพากษ์ โดยเฉพาะการตั้งคำถามต่อสมมติฐานและหลักฐานของเรื่องนั้น ๆ
- พิจารณามุมมองที่หลากหลาย ลองฝึกมองเหตุการณ์นั้นจากมุมอื่นให้รอบด้าน จะทำให้เราเห็นและเข้าใจเหตุการณ์นั้นได้ดีขึ้น
- ประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐาน ข้อนี้สำคัญมาก เราเห็นได้ชัดจากบรรดา Fake News ต่าง ๆ ที่แชร์กันว่อนจนบางครั้งก่อความเสียหายในวงกว้างก็เพราะขาดทักษะการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลนี่เอง
- ตรวจสอบตรรกะที่ใช้ เช่นเดียวกับการตรวจความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้ ที่สำคัญเราก็ต้องตรวจสอบตรรกะที่เราใช้ต่อเรื่องนั้นด้วย เพราะหากตรรกะผิดต่อให้ข้อมูลถูก ก็ประเมินผลออกมาผิดเช่นกัน
- การฝึกทบทวนไตร่ตรอง หรือไม่ด่วนสรุป ให้เวลาค่อย ๆ คิดใคร่ครวญ พิจารณาให้ละเอียด เราอาจพบจุดที่ละเลยหรือพลาดไปได้
- หาความท้าทายใหม่ ๆ สถานการณ์ที่ท้าทายเป็นโอกาสที่ดีในการฝึกคิดวิเคราะห์ การแสวงหาสถานการณ์ที่ต้องการการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและการตัดสินใจจะช่วยให้เราสามารถพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ได้
- ฝึกฝนการแก้ปัญหาร่วมกัน การทำงานร่วมกับผู้อื่นในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนสามารถช่วยให้เรารวมถึงทีมงานสามารถพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ได้ เพราะจะทำให้ได้พิจารณาจากหลายมุมมอง
สรุป การคิดเชิงวิพากษ์เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับความสำเร็จทั้งในด้านส่วนตัวและด้านอาชีพ เพราะจะช่วยให้เราตัดสินใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับทักษะการคิดต่อมาก็คือ
Complexity Thinking
การคิดเชิงซ้อน เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับความสำเร็จในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคแห่ง BANI World ที่มีความสลับซับซ้อนเข้าใจได้ยากกว่ายุค VUCA World มากนัก เพราะลำพังแค่ความคลุมเครือในยุคหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็นก็ยากจะทำความเข้าใจได้แล้ว มาในยุคนี้ที่การเปลี่ยนแปลงมิได้มีเพียงแค่ความผันผวนแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบจับเส้นทางไม่ได้ (Non Linear) ก็ยิ่งยากที่จะเข้าใจใหญ่ และนั่นคือความจำเป็นของการคิดเชิงซ้อนนี้ที่ต้องคิดเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลก ต้องเข้าใจถึงพลวัตเบื้องหลังที่เกิดขึ้น หาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบต่าง ๆ มามองในแบบองค์รวมให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในมิติของธุรกิจ การเมือง หรือสังคม
ในโลกของธุรกิจ เราจำเป็นต้องใช้ทักษะการคิดเชิงซ้อนนี้เพื่อที่จะทำให้เห็นความซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค หรือเหตุการณ์ที่เกิดจากทางภูมิรัฐศาสตร์ ให้เข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ
ในโลกของการเมือง การคิดเชิงซ้อนจะทำให้เราเกิดความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างระบบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งจะเห็นการตัดสินใจนโยบายทางการเมืองมีผลกระทบที่กว้างไกล
สุดท้าย ในโลกของสังคม การคิดเชิงซ้อนจะทำให้เข้าใจปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างบุคคลกับกลุ่ม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้
การพัฒนาความคิดเชิงซ้อนเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องใช้การฝึกฝนและความตั้งใจ และนี่เป็น 6 เทคนิคที่จะช่วยได้
- พัฒนากรอบความคิดเชิงระบบ ทำความเข้าใจองค์ประกอบต่าง ๆ ที่สัมพันธ์ระหว่างกัน
- ยอมรับความซับซ้อน ไม่หวาดผวาว่าเป็นเรื่องน่ากลัวแต่ให้มองว่าเป็นโอกาสสำหรับการเติบโตและการพัฒนา
- ยอมรับกับความคลุมเครือ และความไม่แน่นอน ทำใจให้สบายเพื่อการเปิดรับมุมมองได้หลากหลายและเต็มใจที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนั้น
- ความคิดสร้างสรรค์ ที่จะทำให้ได้วิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนนั้น
- ฝึกการทำงานเป็นทีม การทำงานร่วมกันจะทำให้เรามีมุมมองและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันเพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
- เรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ต้องติดตามข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการพัฒนาใหม่ ๆ ในสายงานหมั่นพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง
แม้การคิดเชิงซ้อนจะเป็นทักษะที่ยากแต่ก็คุ้มค่าที่จะฝึกเพราะเป็นคุณสมบัติจำเป็นในการเอาชนะโลกที่คลุมเครือและยากเข้าใจนี้
เป็นอย่างไรครับ แค่ 2 ทักษะก็พอเห็นภาพแล้วนะครับว่าเป็นประเภทการคิดที่จำเป็นจริง ๆ ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ ไว้ฉบับหน้าเราจะมาต่อกันอีก 3 ทักษะครับ
ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์ ข้อคิดจากนิสิตเก่า โดย ดร.วีรณัฐ โรจนประภา (ดร.ใหม่) วศ.28