วิถีเวียดนาม...วิถีไทย...ใครจะรุ่ง?

วิถีเวียดนาม…วิถีไทย…ใครจะรุ่ง?


บทเรียนของประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ให้เจริญก้าวหน้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กำลังเจริญเติบโตในทุกด้านจะพบว่า เกิดจากความร่วมมือที่ผมเคยเขียนไว้ว่า “สามประสาน” คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต (ที่รวมภาคการเกษตรไว้ด้วย) ภาคการศึกษา และภาครัฐหรือราชการ

ใน 3 ภาคส่วนดังกล่าวข้างต้น การประสานความร่วมมือและการขยับปรับเปลี่ยนต่าง ๆ จะทำได้เร็วหรือช้ามักขึ้นอยู่กับผู้นำและกรอบความคิดของผู้นำเป็นสำคัญ ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะพบว่า ภาคอุตสาหกรรมจะมีความร่วมมือและขยับปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว เพราะเคยชินกับการอยู่ใต้ภาวะการแข่งขันสูง ในขณะที่ภาคการศึกษา ภาครัฐหรือราชการ จะมีโมเมนตัมความเฉื่อยมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แข่งขันน้อย หรือไม่ต้องแข่งขันกับใครเลยในภาครัฐนั่นเองครับ แต่เราก็จะพบว่าผลสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ดีนั้น มักตัดสินกันด้วยการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ของภาครัฐในที่สุด ในกรณีนี้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน เป็นกรณีศึกษาและตัวแบบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดครับ

จากแบบจำลองดังกล่าวที่สามารถเรียนรู้ได้ ผมก็ยังเชื่อว่าประเทศไทยยังมีความหวังที่จะยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม หรือแม้กระทั่งหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” อย่างที่พูดกันอยู่เสมอ ๆ ถ้าเราไม่เอาแต่พูดแล้วลงมือทำสิ่งที่พึงกระทำอย่างเข้มแข็งจริงจัง

ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสช่วยประสานงานพานักเรียนระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนสาธิต สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ไปดูงานและร่วมทำกิจกรรมกับนักศึกษาญี่ปุ่นที่ Kitakyushu National Institute of Technology หรือเรียกกันย่อ ๆ เป็นภาษาญี่ปุ่นว่า Kitakyushu Kosen เมือง Kokura จังหวัด Kyushu ได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สิ่งแวดล้อม และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของเมืองนี้ด้วยครับ

ที่พิพิธภัณฑ์สิ่งแวดล้อมนั้น เจ้าหน้าที่ได้อธิบายว่า Kitakyushu ที่ปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็น “เมืองสีเขียวระดับโลก” หรือ Global Green City นั้น เดิมเมื่อประมาณ 50-60 ปีก่อน เป็นฐานกำเนิดของอุตสาหกรรมหนักของญี่ปุ่น มีโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กโรงแรกของประเทศที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ชื่อ Yawata Steel Corporation ที่มาตั้งโรงงานแถบนี้เพราะมีเหมืองถ่านหิน แหล่งหินปูน แหล่งน้ำ และท่าเรือน้ำลึกสำหรับการขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้สะดวก

ผลกระทบของอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ตามมา คือ ภาวะมลพิษหรือมลพิษทางอากาศและน้ำ ท้องฟ้าเป็นสีแดงคล้ำ หลังคา ผนัง กำแพงของอาคารบ้านเรือนมีฝุ่นจับหนา ต้องมีเครื่องฟอกอากาศตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ที่ต้องทำความสะอาดไส้กรองอยู่บ่อย ๆ

น้ำในแม่น้ำลำคลองและทะเลแถบอ่าวของเมืองเป็นสีดำขุ่น เต็มไปด้วยสารพิษต่าง ๆ จนไม่มีสิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่อธิบายว่านี่เป็นข้อดีข้อเดียวของภาวะมลพิษทางน้ำ เพราะถ้ามีสัตว์น้ำอยู่ คนจับไปบริโภคก็จะเกิดอันตรายถึงชีวิต เช่น ชาวเมืองมินามาตะที่เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการบริโภคสัตว์น้ำที่มีสารปรอทเข้าไป

จากเมืองที่เต็มไปด้วยภาวะมลพิษทั้งน้ำและอากาศ กลับกลายมาเป็นเมือง “สีเขียว” ของโลกได้อย่างไร?

จุดกำเนิดของการรณรงค์เพื่ออากาศและน้ำสะอาดเริ่มจากกลุ่มแม่บ้านที่อดรนทนไม่ไหวเพราะเสื้อผ้าที่ซักอย่างสะอาดเอาออกไปตากกลางแดดให้แห้งกลับเลอะฝุ่นดำสกปรกในเวลาไม่ช้าไม่นานครับ แถมต้องมาไล่ทำความสะอาดผนังและกำแพงบ้านที่มีคราบเขม่าดำสกปรกจับแน่น มีการประชุมรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้โรงงานกำจัดแหล่งกำเนิดภาวะมลพิษทั้งทางอากาศและทางน้ำเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อแม่บ้านขยับ พ่อบ้านก็อยู่เฉยไม่ได้ โรงงานต่าง ๆ ในภาคเอกชนเริ่มรณรงค์กำจัดแหล่งต้นกำเนิดของภาวะมลพิษ ในขณะที่ภาครัฐเองก็ออกกฎหมายของเมืองและกฎระเบียบที่เข้มงวดกวดขันกว่ากฎหมายระดับประเทศที่มีอยู่ ปฏิบัติการที่ผมคิดว่าสำคัญมากประการหนึ่ง คือ หน่วยงานตรวจติดตามภาวะมลพิษต่าง ๆ  ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคอยตักเตือนแหล่งกำเนิดภาวะมลพิษต่าง ๆ ว่าอยู่ในระดับเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่

เมื่อภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน ขยับขับเคลื่อนได้อย่างสอดประสานกัน จากท้องฟ้าสีแดงขุ่น และแม่น้ำลำคลองที่ดำคล้ำสกปรก ก็กลายเป็นฟ้าสว่างใส น้ำไหลเย็นเห็นตัวปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ ที่กลับคืนมาในที่สุด

แน่นอนครับว่าไม่ใช่การใช้เวทย์มนต์วิเศษที่เสกได้ในชั่วข้ามคืน Kitakyushu ใช้เวลาประมาณ 30 ปี จึงปะสบความสำเร็จอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ถามว่าประเทศไทยจะทำได้หรือไม่เพื่อให้เราไม่ต้องเผชิญกับ PM2.5 ที่วนเวียนมาเยี่ยมเยียนเราทุกปีในช่วงฤดูแล้งที่อากาศนิ่ง? ตอบว่าทำได้แน่นอนครับ เพราะเมืองปักกิ่งเองที่ผมเคยไปตอนที่อากาศสกปรกจนฟ้ามืดทั้งเมืองเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เดี๋ยวนี้ก็ฟ้าใสให้อากาศสดชื่นบริสุทธิ์ได้เช่นเดียวกัน โดยปัจจัยสำคัญคือภาครัฐที่เอาจริงเอาจังและเข้มงวดกวดขันนั่นเองครับ

เข้ามาที่ประเด็นการปรับปรุงการทำงานในภาครัฐกันนะครับ เรามักจะใช้คำว่าปฏิรูประบบราชการกันอยู่เป็นประจำ แต่ผมยังไม่เห็นการปฏิรูปที่ส่งผลดีให้เห็นอย่างจริงจังเลยครับตั้งแต่จำความได้ ที่อยากจะหยิบมาคุยกับน้องพี่ชาวอินทาเนียในตอนนี้ ก็มาจากหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ที่ ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ รุ่นน้องจากมหาวิทยาลัยโตเกียว กรุณาส่งมาให้เมื่อไม่นานมานี้เองครับ เนื้อข่าวเล่าถึงการปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุบรวมกระทรวงของเวียดนามครับ

คำว่า “ยุบรวม” นั้นเป็นคำที่หาได้ยากมากในการปรับโครงสร้างราชการไทยครับ!!

หนังสือพิมพ์ Nihon Keizai Shinbun เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ได้ลงข่าวที่พาดหัวว่า เวียดนามปฏิรูปโครงสร้างทางราชการ ยุบ 5 กระทรวง ยกเลิกหน้าที่งานที่ซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิผลการรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กระทบข้าราชการ 1 แสนคน

บทนำของข่าวกล่าวว่า เวียดนามวางแผนการปฏิรูปโครงสร้างทางราชการครั้งใหญ่ เช่น การยุบรวมกระทรวงการคลังเข้ากับกระทรวงวางแผนและการลงทุน ยุบกระทรวงลงได้รวม 5 กระทรวง ลดจำนวนกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเป้าหมายเพื่อลดภาระงานที่ซ้ำซ้อน ตลอดจนปรับลดจำนวนข้าราชการลง เป็นการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐบาลเพื่อรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

เหงียน โฮ บินห์ รองนายกรัฐมนตรีของเวียดนามได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมเพื่อปฏิรูปองค์กรภาครัฐที่กระทรวงมหาดไทยของเวียดนาม เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2024 ว่า

“สถาบันต่าง ๆ ในภาครัฐไม่ใช่ที่หลบภัยของคนเกียจคร้าน หน่วยราชการจะต้องเข้มงวดระมัดระวังไม่ให้คนที่ไร้สมรรถภาพยังคงเหลือค้างอยู่ในหน่วยราชการของเรา”

ผู้บริหารหมายเลขหนึ่งของเวียดนาม โท ลัมห์ ที่เป็นเลขาธิการพรรคได้สั่งการให้วาระการปฏิรูปองค์กรภาครัฐต้องได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2025 การควบรวมหน่วยงานต่าง ๆ ในภาครัฐจะต้องเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 2025 นี้

การปฏิรูปโครงสร้างภาครัฐในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาล รัฐสภา ตลอดจนส่วนราชการในภูมิภาคทั้งหมด เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของรัฐบาลนั้นกำหนดแผนการจะลดจำนวนกระทรวงลงจาก 18 กระทรวงเหลือ 13 กระทรวงในที่สุด กระทรวงวางแผนและการลงทุนซึ่งรับผิดชอบดูแลการลงทุนจากต่างประเทศจะยุบรวมกับกระทรวงการคลัง แล้วตั้งชื่อใหม่เป็น “กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ” หรือ “กระทรวงการคลังและการพัฒนาการลงทุน” กระทรวงคมนาคมขนส่งก็จะยุบรวมกับกระทรวงก่อสร้าง

ส่วนของหน้าที่งานพัฒนาอาชีพในกระทรวงแรงงาน ทหารผ่านศึกพิการ และกิจการสังคม จะมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการและการพัฒนามนุษย์รับผิดชอบดำเนินการ ส่วนหน้าที่งานที่เหลือทั้งหมดจะยุบรวมเข้ากับกระทรวงมหาดไทย จากการย้ายและยุบรวมหน้าที่งานต่าง ๆ ในส่วนราชการต่าง ๆ คาดว่าจะสามารถลดจำนวนของหน่วยงานต่าง ๆ ลงได้ 15-20%

การปฏิรูปส่วนราชการย่อมมีผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจที่ส่วนราชการกำกับดูแลอยู่ด้วย โดยเมื่อมีการยุบรวมกระทรวงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจด้วยเช่นกัน รัฐวิสาหกิจใหญ่ของประเทศเวียดนามจำนวน 19 แห่งซึ่งเคยกำกับดูแลโดยคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์ของประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการยุบเลิกคณะกรรมการชุดดังกล่าว รัฐวิสาหกิจหลัก ๆ เช่น Petro Vietnam, Vietnam Electricity, Vietnam Airline จะกระจายไปขึ้นกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้น ๆ เป็นหลัก

ในส่วนของกิจการสื่อสารมวลชน เช่น สถานีโทรทัศน์รัฐสภา และ Nanzan Television จะถูกยุบเลิกไป แม้แต่กิจการโทรทัศน์ของรัฐที่ใหญ่ที่สุดที่ชื่อ Vietnam Television หรือ VTV ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนโดยกระจายหน้าที่งานออกไปยังหน่วยงานอื่น ๆ การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้เฉพาะงานด้านสื่อสารมวลชนอย่างเดียวคาดว่าจะมีคนตกงานหลายพันคนทีเดียว

น่าสนใจว่าส่วนราชการของเวียดนามได้รับการตำหนิวิพากษ์ว่าเป็นที่รวมของบุคลากรที่ไร้ประสิทธิภาพและมีการคอร์รัปชันกันอย่างมโหฬาร……ฟังคุ้น ๆ เหมือนของไทยไหมครับ? ….โดยสาเหตุหลักของการไร้ประสิทธิภาพและการคอร์รัปชันนั้นเชื่อว่ามาจากการที่อัตราค่าตอบแทนการทำงานหรือเงินเดือนต่ำมากนั่นเอง

ลองนึกภาพง่าย ๆ ว่า ผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแล ให้คุณให้โทษแก่ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป แต่กลับมีเงินเดือนตอบแทนการทำงานต่ำกว่าส่วนที่กำกับดูแลเช่นภาคเอกชนแล้ว การกินสินบาทคาดสินบนหรือระบบ “ใต้โต๊ะ” จะมากมายเพียงใด

ยิ่งการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้น ภาคการเมืองที่เป็นระบบพวกพ้อง ก็ไม่ต้องหวังว่าจะเกิดความเจริญก้าวหน้าหรือการเติบโตอย่างเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศและประชากรได้ครับ

ดร.วิค ชาน นักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยลีกวนยู ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า การปฏิรูประบบราชการอย่างที่เวียดนามกำลังดำเนินการหรือกำหนดแผนที่จะเดินหน้าอยู่นั้นน่าจะส่งผลดีอย่างมากในอนาคต เขากล่าวว่า

“หากสามารถลดจำนวนข้าราชการ (ที่ไร้ประสิทธิภาพ) ลงได้ ก็จะสามารถปรับเงินเดือน ผลตอบแทนของคนที่ยังเหลืออยู่ได้ …..ซึ่งน่าจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มสูงขึ้น”

โท ลัมห์ ให้ความเห็นว่า การทำงานในภาคราชการของเวียดนามยังมีปัญหาที่สำคัญ 2 ประการ คือ การใช้งบประมาณอย่างไร้ประสิทธิภาพ และการคอร์รัปชัน โดยการใช้งบประมาณอย่างไร้ประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายมากที่สุด

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม (การขยายตัวของ GDP) ใน ค.ศ. 2024 อยู่ที่ระดับ 7.09%  จากเป้าหมายของเวียดนามในการก้าวสู่ประเทศพัฒนาใน ค.ศ. 2045 นั้น จะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ เศรษฐกิจจะต้องขยายตัวในระดับสูงดังที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องมุ่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีระดับสูงให้มากที่สุด การปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดในการที่จะทำให้กระบวนการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน และการอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิผล ย่อมส่งผลสะท้อนไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ใน ค.ศ. 2045 ได้ตามต้องการ

อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงที่แสดงความกังวลจากภาคธุรกิจของญี่ปุ่นในเวียดนามว่า การปฏิรูปองค์กรราชการนั้นจะต้องมีการเตรียมการ การปรึกษาหารือและทำความเข้าใจกันอีกนานพอสมควร เมื่อมีกระแสการปฏิรูปออกมาเช่นนี้น่ากังวลว่า อาจจะเกิดความสับสนวุ่นวายและการหยุดชะงักในการประสานจัดทำเอกสารและการขออนุญาตต่าง ๆ ได้มากทีเดียว

เวียดนามเริ่มขยับปฏิรูปองค์กรภาคราชการอย่างจริงจังแล้วละครับ แม้การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP ของเขายังอยู่ในระดับสูงถึงกว่า 7% มาอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้นำเห็นแล้วว่าสมรรถภาพในภาคราชการคือกุญแจสำคัญในการดึงดูดการลงทุนและการรักษาอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในระดับสูงได้

หันมาดู “วิถีไทย” บ้างครับ ในขณะที่การขยายตัวของ GDP ของไทยนั้นต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่ที่ 2 % กว่ามานานต่อเนื่องกันหลายไตรมาส หลายปี แต่เรายังไม่มีทีท่าในการปฏิรูประบบราชการใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ไปเสียเวลาและงบประมาณกับการทำสิ่งที่ไม่ได้ช่วยภาคการผลิตจริง หรือ Real Sector เลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์เรื่อง Soft Power ที่ลงทุนไป 5,000 ล้านบาท การแจกเงิน 10,000 บาทไปให้ประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ หรือการเสียเวลาไปกับการผลักดัน Entertainment Complex ซึ่งก็ไม่ใช่ภาคการผลิตจริงอีกนั่นแหละครับ

ในภาคส่วนที่สำคัญคือ ภาคประชาชน ภาคผู้ประกอบการ ภาครัฐ และสถาบันการศึกษา ดังที่ผมได้ยกตัวอย่างของ Kitakyushu City ข้างต้นนั้น ภาครัฐคือองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งที่จะทำให้การพัฒนาต่าง ๆ ก้าวหน้าสู่ความสำเร็จได้หรือไม่? เร็วหรือช้า? จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาและตัวอย่างจริงจากประเทศต่าง ๆ นั้น เราจะพบว่า Political Will หรือความมุ่งมั่นจากภาคการเมืองเป็นกุญแจไขสู่ความสำเร็จครับ

ลองตั้งคำถามต่อไปนี้นะครับว่า

ประเทศไทยที่ทำการเกษตรกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกก็ว่าได้ แต่ทำไมไม่มีอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรที่เข้มแข็ง สามารถใช้เพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรในประเทศและส่งออกในตลาดโลกได้?

และ….ทำไมเราไม่มีการพัฒนาพันธุ์พืชการเกษตรที่สำคัญ ทั้งข้าว อ้อย มัน ยาง ให้สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีมูลค่าเพิ่มสูง แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้แทนการขายเป็นวัตถุดิบราคาถูก ๆ ?

และ……นักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทุน กพ. นักเรียนที่ได้รับรางวัลเหรียญทองโอลิมปิกในสาขาวิชาที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งคณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ที่มีมากมายทุกปี ไปอยู่ที่ไหน?

ฝากท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ สมาชิกวุฒิสภา ท่านรัฐมนตรีทั้งหลาย ที่หลายท่านเป็นศิษย์เก่าชาวอินทาเนีย ช่วยตั้งคำถามดังกล่าวข้างต้น แล้วช่วยผมหาคำตอบได้ไหมครับ?

เผื่อเราจะช่วยกันวิ่งแข่งกับเวียดนาม แล้วก้าวตามให้ทันกับสิงคโปร์ โดยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้เสียทีครับ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2568 คอลัมน์ สะดุดฟันเฟือง โดย รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save