กำเนิดค่าย “ยุววิศวกรบพิธ”


อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นกิจกรรมสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นของค่ายยุววิศวกรบพิธในปีต่อ ๆ มา คือการที่พวกเราชาววิศวรวมพลกันไปออกค่ายอาสาพัฒนาเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2512

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นทางภาคใต้ ทำให้ทางสัญจรหลายสายชำรุดและขาดช่วง การลำเลียงพืชผลทางการเกษตรของราษฎรเป็นไปด้วยความยากลำบาก รุ่นพี่ที่เป็นหัวเรือใหญ่ของพวกเราจึงปรึกษาหารือกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น กอปรกับเห็นว่า จริง ๆ พวกเราก็ว่าง ๆ กันอยู่ (เพราะไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรร่วมกับ สจม. อีกแล้ว) อีกทั้งงานสร้างสะพานก็เป็นงานถนัดของพวกเราอยู่แล้ว น่าจะพอช่วยเหลืออะไรได้บ้าง จึงได้พากันออกเดินทางไปสำรวจเส้นทางในแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้พบเส้นทางสายหนึ่งในนิคมสร้างตนเองตำบลอ่าวน้อย ซึ่งเดิมทีทางสายนี้ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงผลิตผลทางการเกษตรของราษฎรในนิคมฯ เพื่อออกสู่ตลาดภายนอก แต่ผลจากอุทกภัยทำให้ทางขาดการ ขนส่งเป็นไปอย่างยากลำบาก จึงได้ตกลงกันว่าจะสร้างสะพานไม้ถาวรขึ้นที่นี่ โดยใช้แบบสะพานจากกรมทางหลวง

สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ส่วนเงินงบประมาณในการก่อสร้างนั้นส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะ แต่ก็ไม่เพียงพอในการดำเนินการรุ่นพี่จึงได้ร่างหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่นิสิตเพื่อใช้ในโครงการนี้ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชกระแสรับสั่งมายังนิสิตทุกคน มีใจความสั้น ๆ ว่า

กำเนิดค่าย “ยุววิศวกรบพิธ”

จงทำตนให้เป็นผู้ใหญ่และรอบคอบ ทำอะไรอย่าให้บานปลาย” จากนั้นพวกเราจึงได้เริ่มดำเนินการสร้างสะพานไม้ถาวรขึ้น นับเป็นผลงานชิ้นแรกของนิสิตคณะวิศวฯ จุฬาฯ

จากความสำเร็จในการไปสร้างสะพานที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ในปีต่อมาได้มีการจัดค่ายวิศวฯ จุฬาฯ อาสาไปสร้างสะพานแขวนที่บ้านม่วงชุม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สนองตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิจร ที่มีพระราชกระแสรับสั่งผ่านมาทางหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี โดยมีอาจารย์ไพโรจน์ ธีระวงศ์ เป็นผู้เขียนแบบ

สะพานที่กำลังจะไปสร้างนี้สร้างข้ามลำห้วยชื่อ “ห้วยผักไห่” ในหมู่บ้านม่วงชุม ซึ่งติดต่อไปถึงหมู่บ้านบ้านลาน (บ้านไทยหมู่) และหมู่บ้านมูเซอแดง ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากการสัญจรไปมา และขนส่งพืชผลทางการเกษตรถึง 2,000 คน ส่วนเหตุผลที่ต้องสร้างเป็นสะพานแขวน เพราะด้วยสภาพภูมิประเทศ เวลาหน้าน้ำน้ำจากภูเขาจะไหลมาแรงมาก ยากที่สะพานไม้ธรรมดาจะต้านทานแรงน้ำได้ จึงต้องออกมาในรูปสะพานแขวน นิสิตที่มาร่วมงานครั้งนี้เป็นนิสิตวิศวฯ จุฬาฯ ทั้งหมด ชุดแรกที่เดินทางไปประมาณ 80 คน ออกเดินทางเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2514

กำเนิดค่าย “ยุววิศวกรบพิธ”

ระหว่างเดินทางก็มีเรื่องตื่นเต้น เนื่องจากถนนทางหลวงเป็นทางขึ้นเขาอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่งลงดินอัด ยังไม่ได้เทยางมะตอย ปรากฏว่าในขณะเดินทางมีฝนตกมาก่อนหน้านั้นทำให้ทางเละเป็นโคลน รถวิ่งขึ้นเขาไม่ไหว และยังลื่นไถลลง พวกเราก็ต้องลงจากรถมาช่วยกันเข็นรถจนพ้นช่วงนั้นมาได้

กำเนิดค่าย “ยุววิศวกรบพิธ”

วันแรกที่ออกค่ายไม่มีอะไรทำมากนักเพราะต้องรอรถมาตอกเสาเข็มหัวสะพานดังนั้นชีวิตประจำของพวกเราชาวค่ายก็ว่ากันตามถนัด บางคนก็เข้าป่าหากล้วยไม้ ช่วยสอนหนังสือเด็กชาวบ้าน นั่งคุยตามบ้านชาวบ้าน กินเหล้าป่า แม้ว่าจะมีร้านขายน้ำอยู่ห่างจากแคมป์ถึง 2-3 กิโลเมตร แต่ก็ยังมีคนเดินไปนั่งกินโอเลี้ยงเป็นประจำ กลางคืนดึก ๆ ยังมีคนเดินเข้าอำเภอซึ่งก็ไกลมากทีเดียว มีเพื่อนเราคนหนึ่งเดินลุยไฟเล่น ผลคือต้องกลับมารักษาตัว มีคนในรุ่นอีกคนเดินป่าข้ามพม่าหายหน้าหายตาไปจนเพื่อน ๆ เป็นห่วง แต่ในที่สุดก็ปลอดภัยกลับมาพบหน้าพวกเราจนได้ พ่อครัวประจำแคมป์ช่วงแรกคือ กิม (มนตรี อุทัยภัตรากูร) ซึ่งอาหารหลักคือผักกาดกระป๋องเปิดกินกันทุกวัน จนพอเปลี่ยนผลัดสอง กิมกลับกรุงเทพฯ เปลี่ยนพ่อครัวใหม่เป็นรุ่นพี่ ทำอาหารเป็น รายการอาหารสลับสับเปลี่ยนทุกวัน มาตรฐานชีวิตของพวกเราก็ดีขึ้นมาก

กำเนิดค่าย “ยุววิศวกรบพิธ”

งานสร้างสะพานโดยนิสิตเริ่มขึ้นจริง ๆ หลังจากที่มีการตอกเสาเข็มโดยปั้นจั่น สกัดหัวเสาเข็มโดยช่างก่อสร้าง (ถ้าทำเองสงสัยไม่เสร็จ) เราทำแบบหล่อ เทปูนเสาสะพานแขวนสะพาน เป็นที่สนุกสนาน รุ่นพี่ปี 4 โยธาเป็นวิศวกรใหญ่คุมโครงการก่อสร้าง วันหนึ่งหลังจากเสร็จงานแล้วก็นั่งเล่นกันในอู่แถวแคมป์ รอกินข้าว มองไปมองมาเห็นเสาสะพานที่เพิ่งแกะแบบแกว่งโยกไปมา จนรุ่นพี่ต้องไปเอากล้องสำรวจมาตั้งส่อง ปรากฏว่าที่โยกคือนั่งร้านไม้ไผ่ ไม่ใช่เสาคอนกรีต

สะพานแห่งนี้ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 2 เดือนเต็มและได้มีการจัดการปิดแคมป์ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 งานปิดแคมป์ของเรากลายเป็นงานใหญ่ประจำปีของที่นั่น มีภาพยนตร์ ดนตรี รำวงเมืองพร้าว และซอสายทอง

ในวันเปิดสะพาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2514 พร้อมทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานยุววิศวกรบพิธ” อันมีความหมายว่า สะพานที่นายช่างเด็ก ๆ ได้ร่วมกันสร้างขึ้น

ซึ่งการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานความไว้วางใจให้พวกเราชาวนิสิตวิศวฯ จุฬาฯ ไปสร้างสะพานนี้ พวกเราต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และนับจากนั้นค่ายอาสาของชาววิศวฯ จุฬาฯ ก็ได้จัดอย่างต่อเนื่องและได้นาม “ยุววิศวกรบพิธ” เป็นชื่อค่ายและชื่อสิ่งก่อสร้างที่พวกเราสร้างขึ้นเพื่อเป็นสาธารณสมบัติในท้องถิ่นทุรกันดารมาจนถึงปัจจุบันนี้


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2568 คอลัมน์เรื่องเล่าชาวอินทาเนีย คัดลอกจากหนังสือ 50 ปี วิศวจุฬาฯ 2511


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save