ตอนที่ 2 ความผิดพลาดด้านเทคนิควิศวกรรมในการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสีย


ด้วยความปรารถนาดีจากใจจริง

มนู เมฆโสภาวรรณกุล วศ.2517

วุฒิวิศวกรสิ่งแวดล้อม วส.67


น้ำเสีย ความหมายที่ทุกคนก็สามารถให้คำจำกัดความได้อย่างง่ายดาย เช่นคือน้ำเน่า น้ำดำ น้ำสกปรก น้ำมีมลพิษ เป็นต้นแต่จะมีใครเข้าใจและรับทราบบ้างว่า อดีตของน้ำเสียเคยสดใส บริสุทธิ์ สะอาด กระทั่งเคยปราศจากมลทินใด ๆ มาแปดเปื้อนแม้แต่น้อย ประดุจน้ำค้างกลางเวหาหรือมากกว่านั้นเลยทีเดียว ตัวอย่างน้ำที่ดีได้แก่ น้ำจากฝน น้ำตก ลำธาร คลอง ธารนํ้าแข็ง บึง อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร และสุดท้ายน้ำกลั่น, RO Water, DI Water ซึ่งน้ำแต่ละชนิดมีความสะอาด บริสุทธิ์แตกต่างกันไปตามสภาพของแต่ละชนิด ตราบใดที่มนุษย์ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับน้ำ น้ำก็จะยังคงความดีความงามตลอดไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับน้ำ ธรรมชาติก็สามารถจัดการ บำบัดน้ำให้คงสภาพน้ำดีได้เสมอ มนุษย์ คือสาเหตุ ต้นเหตุทำให้น้ำเสียเสมอมานับร้อย นับพันปีมาแล้ว ถ้าหากวันนี้มนุษย์ 7000 ล้านคนหมดสิ้นไปจากโลกนี้ให้เวลากับโลกเพียงไม่กี่สิบปี น้ำเสียก็จะถูกธรรมชาติบำบัดให้กลับกลายมาเป็นน้ำดีได้เหมือนเมื่อหลายพันปีที่แล้ว แต่ตราบใดที่มนุษย์ยังคงอยู่และมากขึ้นทุกวันธรรมชาติก็ไม่สามารถบำบัดน้ำเสียทีมนุษย์ช่วยกันสร้างขึ้นมาให้กลับมาเป็นน้ำดีได้ทันกับน้ำเสียที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ ดังน้ำจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องช่วยกันบำบัดน้ำเสียจากตัวเองให้ได้มากที่สุดก่อนที่น้ำเสียจะไหลมารวมกันที่ระบบบำบัดน้ำเสียรวม เริ่มต้นจากครัวเรือน ไร่นา ปศุสัตว์ ชุมชน อาคารต่าง ๆ ภาคอุตสาหกรรม ช่วยกันแยกของเสีย ของแข็ง ขยะ ไขมัน สารพิษ ฯลฯ ออกจากน้ำเสีย นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง เพื่อลดความยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายในการบำบัดแต่เบื้องต้น

มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ช่วยธรรมชาติในการบำบัดน้ำเสีย หากปล่อยให้ธรรมชาติทำงานแต่เพียงฝ่ายเดียวนั่นย่อมเป็นเครื่องชี้ว่าท่านไม่มีความรับผิดชอบต่อโลกนี้แล้ว และท่านคือผู้เห็นแก่ตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขั้นตอนสุดท้ายของการบำบัดน้ำเสียรวมจึงเป็นหน้าที่ของวิศวกรผู้ออกแบบ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักเคมีที่จะต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ถูกต้อง มีประสิทธิ์ภาพ เหมาะสม คุ้มค่าการลงทุน สามารถใช้งานได้ยาวนาน ไม่ต้องทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่กันบ่อยๆ จากประสพการทำงานตลอด 42 ปีที่ผ่านมา พบระบบบำบัดนํ้าเสียที่ออกแบบผิดมากมาย เกลื่อนกลาดทั่วทั้งประเทศไทย อาคารใหญ่โต โรงแรมห้าดาว ศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมระดับประเทศ ระดับโลก ออกแบบโครงการโดยวิศวกรที่ปรึกษาระดับสุดยอดของประเทศ แต่ระบบบำบัดน้ำเสียล้มเหลวใช้งานได้กระท่อนกระแท่น ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวลไปทั้งอาคารและโรงงาน อีกทั้งบ้านเรือนที่รายรอบ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบบำบัดฯทำหน้าที่หลักคือเจรจา หลบหลีก ต่อรอง เตรียมซอง ไว้ต้อนรับเจ้าหน้าที่ของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม เจ้าของที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมก็จะสรรหาคนมาอาสารับจ้างออกแบบปรับปรุงให้ใหม่ในที่สุดก็ออกแบบผิดอีกเสียเงินไปมากมายแต่แก้ปัญหาไม่ได้ เจ้าของบางรายเสียเงินซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายรอบจนหวาดระแวงไปหมด 80% ของอาคารและโรงงานในเมืองไทยเหมือนกันทั้งสิ้น ตรวจสอบที่ไหนก็จะพบที่นั่น แม้กระทั่งโครงการของรัฐบาลทั่วประเทศซึ่งเสียค่าออกแบบสูงมากก็ไม่มีข้อยกเว้น สูญเสียงบประมาณค่าออกแบบและก่อสร้างนับแสนล้านบาทเพื่อจะได้อนุสาวรีย์บำบัดน้ำเสียไว้ให้ลูกหลานมาแก้ไขกันใหม่ บางโครงการปรับปรุงแก้ไขใหม่แล้วก็ใช้ไม่ได้เหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้คือความล้มเหลวของภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยใช่หรือไม่ ความรู้ที่อาจารย์ประสิทธิ์ประสาทให้มาพวกเราไม่ได้นำไปช่วยพัฒนาประเทศเลยหรืออย่างไร ทำงานไปวัน ๆ เพื่อหาเงินเยอะ ๆ รวยมาก ๆ โดยไม่ต้องรับผิดชอบผลงานใด ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่ขอตอบว่าไม่ใช่และไม่ยอมให้เกิดขึ้นกับชีวิตการทำงานของตัวเองเด็ดขาด

ความผิดพลาดและความบกพร่องในการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียที่จะต้องระมัดระวังสำหรับวิศวกรผู้ออกแบบพอจะประมวลได้ดังต่อไปนี้

1.ไม่เอาใจใส่ถึงแหล่งที่มาของนํ้าเสียรวมทั้งคุณสมบัติของน้ำเสียแต่ละชนิด เช่นน้ำเสียจากชุมชน จากอาคารแต่ละประเภท จากอุตสาหกรรมเคมี จากอุตสาหกรรมอาหาร จากอุตสาหกรรมอีเล็กโทรนิก จากอุตสาหกรรมปีโทรเลียม ปริมาณน้ำเสียต่อวันที่ถูกต้องพร้อมออกแบบเผื่อการขยายตัวในอนาคต ช่วงเวลาที่น้ำเสียมีปริมาณมากผิดปรกติ (Peak Flow) ช่วงเวลาทำงานในแต่ละวัน (Working Hours) ปริมาณการใช้น้ำประปาย้อนหลัง 6 เดือน จำนวนเจ้าหน้าที่ พนักงานของแต่ละโรงงาน ปริมาณสารพิษที่อาจทำลายเชื้อจุลินทรีย์ในระบบบำบัดรวมทั้งกรรมวิธีในการทำลายพิษก่อนเข้าสู่กระบวนการบำบัดทางชีวภาพ เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นการออกแบบที่สำคัญที่สุดและไม่อาจผิดพลาดได้

2. ระบบรวบรวมน้ำเสีย (Collecting System) ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ คือ

2.1 บ่อรับน้ำเสีย (Waste Water Sump) จะต้องคำนึงถึงอัตราการไหลของน้ำเสียปรกติและผิดปรกติ (Peak Flow) ต้องแยกน้ำเสียกับน้ำฝนออกจากกันอย่างเด็ดขาด สารพิษรุนแรงและสารกัดกร่อนรุนแรง (High Toxic and High Corrosive Chemical) ควรแยกไปกำจัดต่างหาก

2.2 เครื่องสูบส่งน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัด (Waste Water Pump) จะต้องคำนึงถึงอัตราการไหลของนํ้าเสียปรกติและผิดปรกติ (Peak Flow) เป็นชนิดไม่อุดตัน (Non-clog Pump)

2.3 การแยกขยะออกจากน้ำเสีย (Solid Waste Separation) โดยใช้ตะแกรงดักขยะชนิดเดินเครื่องด้วยมือ (Manual Bar Screen) หรือ ใช้ตะแกรงดักขยะชนิดเดินเครื่องอัตโนมัติ (Automatic Bar Screen) ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนใหญ่ในเมืองไทยไม่มีระบบแยกขยะออกจากน้ำเสียหรือมีเพียงบ่อดักขยะและเรียกชื่อว่า Septic Tank โดยมีหลักการว่า ดักขยะเก็บไว้ก่อนเมื่อเวลาผ่านไป 6-12 เดือนค่อยรื้อเก็บขยะออกและส่วนใหญ่ไม่เคยรื้อเก็บขยะออกเลยเพราะสกปรกและน่ารังเกียจ ดังนั้นขยะก็จะอยู่คู่ไปกับระบบบำบัดฯตลอดไปและจะสร้างการอุดตันไปทั้งระบบ ทำให้เครื่องสูบส่งน้ำเสียชำรุดเสียหาย ประสิทธิ์ภาพของระบบลดลงอย่างรวดเร็ว ฝรั่งมาเจอ Septic Tank เมืองไทยคือบ่อดักขยะเขางงไปหมด เขาถามว่าขยะที่มาติดอยู่ในบ่อจะเอาออกได้อย่างไร

2.4 การเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ต่างๆในระบบบำบัดฯ ต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่อง Material Handling เพื่อออกแบบให้ใช้งานได้ยาวนาน เหมาะสม ในส่วนของอุปกรณ์ต่างๆในระบบก็ต้องเลือกชนิดที่มีตัวแทนจำหน่ายและสามารถซ่อมบำรุงได้ภายในประเทศ มีหลากหลายยี่ห้อให้ใช้แทนกันได้คือไม่ล็อคสเปค เพราะจะทำให้เจ้าของโครงการเขาเดือดร้อนภายหลัง

3.การบำบัดเบื้องต้น (Pre-treatment System) น้ำเสียที่มีส่วนประกอบเป็นไขมัน น้ำมัน เศษอาหาร เศษเนื้อ ปลา กุ้ง ฯลฯ จำเป็นจะต้องแยกส่วนประกอบเหล่านี้ออกก่อนที่จะส่งต่อไปบำบัดในขั้นตอนต่อไป เพราะส่วนประกอบดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ที่จะทำให้ค่า BOD ของน้ำเสียรวมเพิ่มมากกว่าปรกติ 2-3 เท่า จึงเป็นเหตุให้สิ้นเลืองพลังงานและเวลาในการบำบัดมากขึ้น อีกทั้งยังเกาะติดและอุดตันในเส้นท่อต่างๆได้ง่าย การแยกส่วน ไขมัน น้ำมัน เศษอาหาร เศษเนื้อ ปลา กุ้ง ฯลฯ ออกจากน้ำเสียสามารถทำได้โดย

3.1 บ่อดักไขมัน (Grease & Oil Trap) ที่ออกแบบกันเกือบทั้งหมดเป็นบ่อปิด มีฝา Manhole จำนวน 1-2 ฝา สำหรับเปิดตักไขมันที่ดักเอาไว้ แต่ก็ไม่เคยตักออกหรือตักออกไม่ได้ ฝา Manhole เป็นชนิด Heavy Duty Type หนักมากเปิดออกแทบไม่ได้ ไขมันที่ดักไว้ก็จะค่อยๆหนาขึ้นๆจนเป็นฟุตและหนาเกินฟุตในบางแห่ง ไขมันและน้ำมันด้านล่างภายใต้สภาวะ Anaerobic จะค่อยๆถูกย่อยสลายกลายเป็น BOD เพิ่มให้กับน้ำเสียจากเดิม 2-3 เท่า (หลายคนสงสัยว่าน้ำเสียไหลผ่านบ่อดักไขมันแล้วทำไมค่า BOD สูงขึ้นแทนที่จะลดลง) บ่อดักไขมันสามารถออกแบบใช้งานได้ดีเฉพาะระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็กเท่านั้น (5-50 ลบ.ม./วัน) ฝา Manhole ต้องทำจาก Fibreglass Reinforced Polyester มีน้ำหนักเบา ช่องเปิดจะต้องออกแบบให้ตลอดความยาวบ่อ สามารถตักไขมันได้ทั่วทั้งบ่อ และต้องตักทุกวัน

3.2 สำหรับระบบบำบัดฯที่มีปริมาณน้ำเสียเกินกว่า 50 ลบ.ม./วัน อีกทั้งปริมาณไขมันสูง ไม่ควรใช้บ่อดักไขมันเหตุผลง่าย ๆ คือ ตักไขมันออกไม่ทัน จะต้องใช้ระบบแยกตะกอนลอยตัว (Dissolved Air Flotation หรือ DAF) เพื่อแยกตะกอนอื่นๆ ไขมัน น้ำมัน พร้อมเศษขยะเล็กๆ ให้ลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ เครื่องกวาดตะกอนลอยทำหน้าที่กวาดตะกอนลงในกล่องรับตะกอน (Scum Box) ตลอดเวลาการเดินระบบ ตะกอนลอยไหลไปเก็บในถังเก็บกักตะกอน (Scum Collecting Tank) ตะกอนที่รวบรวมไว้นี้นำไปผ่านกระบวนการแยกนํ้าออกจากตะกอน (Sludge Dewatering System) ด้วยเครื่องบีบตะกอน (Belt Press, Filter Press หรือ Screw Press) กระบวนการ DAF & SDS สามารถทำงานต่อเนื่องอัตโนมัติ วันละ 12-24 ชม.

ระบบ DAF เคยช่วยแก้ปัญหาระบบบำบัดฯทีล้มเหลวให้กลับมามีประสิทธิ์ภาพโดยไม่ต้องทุบทิ้งออกแบบใหม่ สร้างใหม่ หลายโครงการมาแล้ว นั่นคือการลดค่า BOD 70-80% ก่อนบำบัดต่อด้วย Biological Treatment

4.การออกแบบบ่อปรับสมดุล (Equalizing Tank) ความสำคัญในข้อนี้คือออกแบบอย่างไรไม่ให้ราคาสูงเกินและน้ำเสียต้องไม่ล้นบ่อ เมื่อเราได้รับข้อมูลปริมาณน้ำเสียต่อวันแล้ว เราจะต้องทราบช่วงเวลาที่น้ำเสียมีปริมาณมากผิดปรกติด้วย (Peak Flow Period) เพราะบางโครงการมีปริมาณน้ำเสียวันละ 100 ลบ.ม. ถ้าคำนวณอัตราการไหลเฉลี่ยก็แค่ไม่เกิน 5 ลบ.ม./ชม. แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่า 15 ชม.มีอัตราการไหลเพียง 2 ลบ.ม./ชม. ส่วนอีก 5 ชม. มีอัตราการไหล 14 ลบ.ม./ชม. ปริมาตรรวม 70 ลบ.ม. ออกแบบ EQ ไว้ 40 ลบ.ม. ซึ่งถ้าคิดตามอัตราการไหลเฉลี่ยก็สามารถรับน้ำได้ 8 ชม. มีวิศวกรผู้ออกแบบหลายคนเสียชื่อเพราะสาเหตุนี้ บางคนบอกเพื่อความสบายใจออกแบบไว้ 100 ลบ.ม.เลยดีกว่า แต่เจ้าของโครงการต้องเสียเงินมากมาย อีกทั้งถ้าปริมาณน้ำเสียวันละ 3000 ลบ.ม. ก็คงต้องออกแบบ EQ 3000 ลบ.ม.ใช่หรือไม่

ในบางโครงการ การออกแบบระบบบำบัดฯต้องคำนึงถึงการกำจัดสารอาหารในน้ำเสีย (Nutrient Removal Process) และไขมันส่วนที่ยังคงเหลือจากการบำบัดเบื้องต้น เราสามารถดัดแปลง EQ ให้กลายเป็น EQP Equalizing and Prehydrolysis Tank เพื่อใช้ EQP ภายใต้สภาวะ Anaerobic และความเป็นกรดอ่อน ๆ (pH 5.5-6.0) จะช่วยในการย่อยสลายไขมันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งปรับสภาพน้ำเสียให้เหมาะกับการบำบัดต่อไปด้วย ASBR Tank (Anoxic Oxic Sequencing Batch Reactor) ซึ่งก็คือ Activated Sludge Process อีกชนิดหนึ่งที่สามารถกำจัดสารอาหารในน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5.การออกแบบบ่อเติมอากาศ (Aeration Tank) และ ASBR Tank (Anoxic Oxic Sequencing Batch Reactor) จะคำนึงถึงส่วนสำคัญหลายประการ เช่น Flowrate Capcity, Inlet BOD, Outlet BOD, MLSS, MLVSS, Oxygen Uptake, Blower / Aerator Required, Air Diffuser, Tank Volume & Water Depth, Mixing Required, Excess Sludge, Return Sludge (AS), และสำคัญที่สุดคือค่า F/M Ratio คำศัพท์ต่าง ๆ ในข้อนี้ วิศวกรสิ่งแวดล้อมทุกคนคงทราบดี สิ่งสำคัญที่จะพลาดไม่ได้คือ (จะกล่าวถึงส่วนที่สำคัญเท่านั้น)

5.1 ค่า Dissolved Oxygen : DO ในบ่อ Aeration Tank จะต้องวัดได้ที่ 0.5-2.0 ppm. น้อยกว่า 0.5 ก็จะขาดแคลน AS ไม่สมบูรณ์ เกิน 2.0 ppm. ก็จะสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ เคยพบค่า DO ของบางโครงการ ค่า DO วัดได้ 4.0-6.0 ppm. เขาภูมิใจมากที่ติดตั้ง Air Blower ตัวใหญ่เหลือเฟือ แต่พอถามเรื่องค่าไฟฟ้าหน้าเขาก็เหี่ยวลง จึงแนะนำเขาว่าลองเปลี่ยน Air Blower เป็นขนาดตัวเล็กแต่หลายตัว ค่อย ๆ เดินเครื่องเพิ่มขึ้นทีละตัวจนวัดค่า DO ได้ 1.0 ppm. แล้วหยุดเพิ่ม ปรากฏว่าค่าไฟฟ้าลดลดลงปีละหลายแสนบาท

5.2 การเลือกขนาด Air Blower ผู้ออกแบบหลายคนทำพลาดโดยเลือก Capacity จากตารางในแคทตาล็อกของ Air Blower แล้วนำไปใช้ในรายการคำนวณเลย ซึ่งแท้ที่จริงค่า Capacity ในตารางเป็นเพียง Suction Capacity ค่าที่จะนำมาใช้คำนวณจะต้องเป็น Discharge Capacity เท่านั้น ซึ่งจะได้มาจากการคำนวณตามสูตรที่ Air Blower แต่ละชนิดจะกำหนดไว้ และจะแปรตามความลึกของน้ำในบ่อ Aeration Tank เสมอ จึงต้องระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ

5.3 การเลือก Aerator ชนิดอี่นๆไม่ว่าจะเป็น Surface Aerator หรือ Submersible Aerator ทุกครั้งที่ได้ค่า Oxygen Uptake Required จะต้องคูณด้วย Safety Factor 1.20 เสมอ

6.การออกแบบบ่อตกตะกอน (Sedimentation Tank) ข้อนี้เป็นสาเหตุแห่งความล้มเหลวของระบบบำบัดฯมากมายเนื่องจากผู้ออกแบบละเลยส่วนที่สำคัญของบ่อจากสาเหตุของงบประมาณและข้อจำกัดของพื้นที่ก่อสร้าง หรือเพราะคิดว่าไม่สำคัญ เหตุแห่งความล้มเหลวได้แก่

6.1 สำหรับขนาดของระบบบำบัดฯที่มี Capacity เกิน 500 ลบ.ม./วัน ปัญหาจะไม่มากนัก สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ

6.1.1 Water Depth ควรออกแบบที่ 2.50-4.00 เมตร Bottom Slope 1:10-1:12

6.1.2 Surface Loading Rate 1.0-1.2 ลบ.ม./ตร.ม./ชม. ยกเว้นติดตั้ง Tube Settler เพิ่มเติมก็สามารถออกแบบ Surface Loading Rate ได้สูงกว่านี้ 2-3 เท่า

6.1.3 Hydraulic Retention Time 2.50-4.00 ชม.

6.1.4 วัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องกวาดตะกอนจะต้องเป็น HDG Steel, Stainless Steel 304 เพื่อยืดอายุการใช้งานของเครื่องกวาดตะกอน (Scraper) ในกรนีที่น้ำเสียมีตะกอนลอย จะต้องติดตั้ง Surface Skimmer ที่ผิวน้ำด้วย

6.1.5 การกระจายน้ำใสออกจากบ่อควรใช้ Peripheral V-Notch Weir หรือ Radial Launder V-Notch Weir

6.2 สำหรับขนาดของระบบบำบัดฯที่มี Capacity ต่ำกว่า 500 ลบ.ม./วัน ปัญหาจะมากมาย สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ

6.2.1 Straight Water Depth ความลึกแนวดิ่ง 2.00-3.50 เมตร บางคนใช้ 0.50-1.00 เมตร ซึ่งความล้มเหลวจะรออยู่แน่นอน

6.2.2 Bottom Slope 50˚-60˚ เลวร้ายที่สุดต้องไม่ต่ำกว่า 45˚ ที่พบทั้งประเทศคือ 25˚-40˚ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ระบบบำบัดฯจะมีประสิทธิภาพได้ ถึงแม้ว่าในลำดับต้นๆของระบบได้ออกแบบมาสมบูรณ์ครบถ้วน แต่ก็ต้องมาตายตอนจบ เพราะจะเกิดตะกอนลอยเต็มไปทั้งบ่อ สาเหตุมาจากการเกิด Denitrification ในชั้นตะกอนที่ตกค้างจากสาเหตุออกแบบ Bottom Slope ผิด และต้นเหตุที่ออกแบบผิดเกิดจากข้อจำกัดด้านความลึกของบ่อบำบัดซึ่งมักจะก่อสร้างในลานจอดรถใต้ดิน บ่อตกตะกอนต้องการความลึกมากกว่าบ่ออื่นๆ 1.00-2.00 เมตร

6.2.3 ออกแบบ Sludge Hopper กว้างเกินไปทำให้เครื่องสูบส่งตะกอนไม่สามารถสูบตะกอนได้หมดในแต่ละวัน จะเกิด Denitrification ในชั้นตะกอนตกค้าง ตะกอนลอยและหลุดไปกับน้ำใส

6.2.4 บ่อตกตะกอนขนาดเล็กนิยมออกแบบเป็นบ่อสี่เหลี่ยม มีพื้นคอนกรีตปิตปากบ่อ ผู้ออกแบบมักจะออกแบบรางน้ำล้น (Effluent Launder) ด้านเดียว หรือสองด้าน แทนที่จะเป็นสี่ด้าน ทำให้อัตราการไหลล้นของน้ำใสผ่าน Weir มากเกินไปและไม่สม่ำเสมอรอบบ่อ กระแสของน้ำด้านที่ไหลมากจะพาเอาตะกอนติดไปด้วย ทำให้ผลวิเคราะห์น้ำทิ้งไม่ได้ค่าตามมาตรฐาน

บทความนี้เพียงกล่าวถึงเฉพาะระบบบำบัดฯที่ออกแบบ ก่อสร้าง ใช้งานมากที่สุดในประเทศไทยคือ ระบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge Process) ชนิด Conventional Type พร้อมกับส่วนประกอบอื่นๆในระบบ สำหรับ Actvated Sludge ชนิด Anoxic Oxic Sequencing Batch Reactor ซึ่งปรับปรุงยกระดับสูงขึ้นกว่า Conventional Type และไม่ต้องใช้ถังตกตะกอนมาช่วยแยกน้ำใสออกจากตะกอน ทำให้งานก่อสร้างและการเดินระบบบำบัดฯง่ายและสะดวกมากขึ้น

ในส่วนของระบบบำบัดฯประเภทอื่นๆเช่น UASB : Upflow Anaerobic Sludge Blanket, Anearobic Filter, SBR : Sequencing Batch Reactor, Fixed Film Aeration ฯลฯ อาจจะได้กล่าวถึงหากมีโอกาสต่อไป

 

แนวทาง ข้อกำหนดและตัวอย่างความผิดพลาดดังกล่าว สามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบระบบบำบัดฯได้ทุกประเภท ทุกขนาด โดยไม่มีข้อจำกัด หวังว่าระเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านได้บ้างไมมากก็น้อย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save