วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต วศ.2522

วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต วศ.2522 ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี และวิศวกรรม Chief Technology and Engineering Officer: CTO บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)


พวกเราคงสงสัยว่าองค์กรใหญ่อย่าง ปตท. กำหนดให้มีตำแหน่ง CTO เพราะอะไร เหตุใดเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญถึงขนาดต้องมีหัวหน้าผู้บริหารกำกับเป็นการเฉพาะ และผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานสำคัญนี้คือ วิทวัส สวัสดิ-ชูโต

วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต วศ.2522 นิสิตเก่าภาควิชาวิศวกรรมเคมี หลังจากปริญญาตรีจากคณะวิศวฯ จุฬาฯ ก็ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาโท Master of Science (Industrial Engineering) The University of Rhode Island สหรัฐอเมริกา

ในฐานะหัวหน้าคณะบริหารด้านเทคโนโลยี คุณวิทวัส เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการมองหธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรที่ใหญ่ที่สุดองค์กรหนึ่งของประเทศ และมีผลงานที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความทุ่มเทให้การทำงาน ดังที่ คุณวิทวัส กล่าวว่า… เมื่อลงมือทำอะไรแล้วต้องทำให้สุด ทำให้เต็มที่ เมื่อนั้นผลที่ออกมาก็จะดีไปด้วย….

Clip Video

สัมภาษณ์พิเศษ วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต วศ.2522

นิสิต และนักดำน้ำระดับ Instructor

ผมเป็นเฟรชชี่เมื่อปี 2522 รุ่น 63 หรือที่เรียกกันว่าวิศวเก้าแต้ม ผมเรียนวิศวเคมี ตอนเรียนก็สนุกสนานกับการเรียน สนุกสนานกับเพื่อน ๆ กิจกรรมส่วนมากจะเป็นเรื่องของกีฬา ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬายิงปืน นักกีฬาฟันดาบ แต่ช่วงปลาย ๆ ปี 1 ก็สนใจกีฬาดำน้ำอย่างจริงจัง เพราะมีทหารจากกสหรัฐอเมริกามาสอนดำน้ำ ผมฝึกดำน้ำมาเรื่อย ๆ จนจบขั้น Instructor

หลังจากเรียนจบจากคณะวิศวฯ ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วก็กลับมารับราชการ ซึ่งครอบครัวของผมปฏิบัติมาโดยตลอด… ผมจึงได้เริ่มทำงานครั้งแรกที่กระทรวงอุตสาหกรรม

หน้าที่รับผิดชอบในเวลานั้นคือ การดูแลตรวจสอบโรงกลั่นไทยออลย์ ซึ่งตอนนั้นรัฐให้เอกชนเช่า… ที่ผมรู้สึกภูมิใจในการทำงานครั้งนั้นคือ ผมได้ทดลองศึกษาและทำโปรแกรมคำนวณราคาน้ำมัน ในเวลานั้นน้ำมันทุกยี่ห้อจะอ้างอิงราคาจากที่เดียวราคาเท่ากันหมด ในที่สุดผู้ใหญ่ได้มอบหมายให้ผมคำนวณราคาน้ำมันหน้าปั๊ม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เรากำหนดราคาเอง ด้วยหน้าที่นี้ทำให้ผมมีความรู้เรื่องน้ำมัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกโลก ผมต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างางละเอียดทำให้เข้าใจกลไกลของราคาน้ำมันลึกซึ้งในระดับหนึ่ง

ด้วยความรู้ด้านราคาน้ำมัน จึงได้เริ่มต้นทำงานที่ ปตท.

ที่จริงแล้วผมเองอยากทำงานเอกชนตั้งแต่เรียนจบเพราะมองว่าท้าทายการทำงาน แต่ครอบครัวอยากให้รับราชการ แต่หลังจากผมทำงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ 6 เดือน ทาง ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ประกาศรับสมัครพนักงานที่ต้องมีคุณสมบัติคือ มีความรู้เรื่องราคาน้ำมัน การซื้อ-ขายน้ำมัน และมีเพื่อนมาชวนว่าผมน่าจะทำงานนี้ได้ดี จึงตัดสินใจมาสมัครงานที่นี่ และะเริ่มทำงานในปี พ.ศ. 2530 ตอนนั้นมีรุ่นพี่ที่เป็นรุ่นบุกเบิกหลายท่านทำงานที่นี่ และมีความคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ยังเป็นนิสิตที่คณะ อาทิ พี่สุพัฒนพงษ์ พี่กุศรินทร์ พี่ศรีวรรณ

หน้าที่หลักในตอนเริ่มทำงานที่นี่คือ ศึกษาเรื่องระบบการซื้อขายน้ำมัน การขึ้น-ลงราคาน้ำมันว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ผมเริ่มทำงานตอนที่น้ำมันมีราคาแค่ 3–4 เหรียญต่อบาเรล จนถึงราคา 100 เหรียญต่อบาเรล ซึ่งเป็นราคาที่เรียกว่าผิดปกติและอาจจะเป็นการปั่นราคาก็ได้ แล้วบริษัทน้ำมันแต่ละยี่ห้อจะมีวิธีเสนอราคาน้ำมันหลายสูตร ผมจึงเริ่มศึกษาการซื้อขายราคาน้ำมันล่วงหน้าจริงจัง ซึ่งในเวลานั้นมีการซื้อขายน้ำมันนนล่วงหน้ายังเพิ่งเริ่มได้ 2-3 ปีเท่านั้น จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าใจกลไกลราคาน้ำมันอย่างแท้จริง ต่อมาผมก็ได้เป็นผู้จัดการฝ่าย International Marketing การค้าขายน้ำมันล่วงหน้าก็ส่งต่อให้นพดลทำงานต่อ (นพดล ปิ่นสุภา วศ.2525 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัลในปัจจุบัน) นพดล ก็สานงานต่อได้อย่างยอดเยี่ยม

ปี พ.ศ. 2530 จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่ ปทต. ของผม และผมทำงานที่นี่ถึง 34 ปี…

พัฒนาศักยภาพตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้พร้อมรับหน้าที่ใหม่ ๆ

ด้วยตำแหน่ง International Marketing ผมต้องดูแล 5 ประเทศรอบ ๆ ประเทศไทย มีประเทศ ลาว เขมร เวียดนาม ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ทำให้ผมได้เรียนรู้มากมาย และสิ่งสำคัญคือ ทำให้รู้ว่า ปตท. ไม่ได้น้อยหน้าใครเลยในแถบนี้ ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่มีบ่อน้ำมันมากมายเหมือนประเทศอื่น แต่องค์ความรู้ด้านน้ำมันดิบ ด้านปิโตรเคมี ีน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ด้อยกว่าใครเลย

จากนั้นผมย้ายไปทำงานที่ IRPC ทำให้ได้รู้ว่า IRPC เป็นหน่วยงานที่สะสมองค์ความรู้ไว้เยอะ แต่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ประโยชน์ได้จริง น่าเสียดายมาก

เพื่อผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง (ปตท.ซื้อที่ดิน 3000 ไร่ที่วังจันทร์จาก IRPC) เพื่อตั้งเป็น EECi (the Eastern Economic Corridor of Innovation) หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของประเทศ โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. มาพัฒนาพื้นที่ส่วนนี้ร่วมกัน

บริษัทในกลุ่ม ปตท. ก็มีศูนย์วิจัยในพื้นที่นั้นเช่นกัน อย่างเช่น ปตท.สผ. มีบริษัทย่อยเรียกว่า ARV เป็นบริษัทที่ทำโดรน หรือหุ่นยนต์ที่ใช้ตรวจสอบท่อน้ำมันในน้ำ รวมทั้งการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หากพี่น้องวิศวฯจุฬาฯสนใจจะไปศึกษาดูงานสามารถติดต่อมาได้ จะได้เห็นว่า ปตท.กำลังทำอะไรบ้าง

วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต วศ.2522

….ผมเป็นคนมุ่งมานะ เวลาทำอะไรก็จะทำไปจนสุด ถ้ายังไม่ถึงที่สุดจะไม่ทิ้ง… ด้วยการทำงานแบบนี้ผมคิดว่าผู้ใหญ่จึงมอบหมายให้ทำ New Business และเป็นที่มาของการรับหน้าที่ CTO ในปัจจุบัน…

CTO กับภารกิจ New Business ที่ไม่ง่าย

ปตท. ก่อตั้งมากว่า 40 ปี มีความชำนาญในเรื่องของ Oil&Gas แต่เมื่อแนวโน้มของการใช้พลังงานของโลกเริ่มเปลี่ยนไป เหมือน ปตท. ถูก Disrupt เพราะน้ำมันใช้น้อยลง จึงต้องกลับมาตั้งคำถามว่า ปตท. ควรมองหาธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และจากที่ผมคลุกคลีกับ Innovation มามาก ผู้ใหญ่เห็นว่าผมชอบด้านนี้ก็เลยให้มาดูเรื่อง New Business S-curve ของ ปตท. กลุ่มธุรกิจวิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นฝ่ายเทคโนโลยี และวิศวกรรม หรือ CTO

ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี และวิศวกรรม (Chief Technology Officer: CTO) มีอดีตผู้ว่าชาญศิลป์ ตรีนุชกร ดำรงตำแหน่งคนแรก ท่านทำงานได้ 2 เดือนก็ขึ้นเป็น CEO ผมก็ได้รับตำแหน่งนี้ต่อนับเป็น CTO คนที่ 2

ผมได้มีโอกาสเรียนและสนทนากับศาสตราจารย์จาก MIT ท่านหนึ่ง เวลานั้น ปตท. กำลังมองหาธุรกิจใหม่ ท่านถามว่าจะทำ New Business หรือ S-Curve ถ้าทำแบบ S-Curve คือทำธุรกิจแบบเดิมเพียงแต่ปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ถ้าจะทำ New Business จะต้องเป็นธุรกิจที่ฉีกแนวจากธุรกิจเดิมอย่างสิ้นเชิง แต่ต้องจำไว้ว่าการทำ New ไม่ง่ายเลย เพราะเราไม่มีพื้นฐานมาก่อน ต้องใช้เวลาในการปรับตัว ที่สำคัญคือต้องทำให้ผู้บริหารที่มีหน้าที่ตัดสินใจ เข้าใจในธุรกิจใหม่นี้ด้วย เพราะในระยะแรกธุรกิจใหม่อาจจะขาดทุน ถ้าผู้บริหารตัดสินใจยกเลิกธุรกิจ เมื่อนั้นเราก็อาจจะสูญเสียธุรกิจนั้นไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปตท. ร่วมลงทุนกับบริษัท 24M Technologies Incorporation เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัท 24M เป็นบริษัทที่อาจารย์จาก MIT ร่วมกันก่อตั้งขึ้น ในช่วงแรกผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง หลาย ๆ คนจึงคิดว่าควรขายออกไป ผมได้บินไปดูการผลิตจริงที่โรงงาน ผู้บริหารก็มาอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ให้ฟัง ผมเห็นว่าธุรกิจแบตเตอรีจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ ปตท. ได้อย่างแน่นอน ผมกลับมายืนยันกับผู้บริหารว่าต้องเดินหน้าต่อ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ก็ได้เปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell โดยใช้เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia)

ผมเป็นคนมุ่งมานะ เวลาทำอะไรก็จะทำไปจนสุด ถ้ายังไม่ถึงที่สุดจะไม่ทิ้ง… ด้วยการทำงานแบบนี้ผมคิดว่าผู้ใหญ่จึงมอบหมายให้ทำ New Business และเป็นที่มาของการรับหน้าที่ CTO ในปัจจุบัน…

เริ่มธุรกิจใหม่ และพัฒนานวัตกรรมจากธุรกิจเดิม

มีช่วงหนึ่งที่ราคาน้ำมันสูงถึง 100-200 เหรียญต่อบาเรล การผลิตพลังงานจากพลังงานทดแทนได้รับความสนใจมากขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันเริ่มลดลง ในขณะเดียวกันผู้ที่ลงทุนในพลังงานทดแทนก็ต้องพยายามรักษาธุรกิจไว้ บางประเทศพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกกว่าพลังงานจากฟอสซิส ซึ่งเป็นทิศทางด้านพลังงานที่แตกต่างจากที่ผ่านมา
ทาง ปตท. เองก็สนใจธุรกิจด้าน Renewable แต่ด้วยองค์ความรู้ภายในประเทศยังมีไม่มาก จึงทำ MOU กับบริษัทอินเดียเพื่อพัฒนาธุรกิจด้านนี้ แต่ก็ยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นต้องสะสมองค์ความรู้เพิ่ม ปตท. ตั้งเป้าหมายว่า จะต้องผลิตไฟฟ้าจาก Renewable ให้ได้8 กิ๊กกะเฮริ์ท ภายใน 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนั้น ปตท. ได้ตั้งบริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ Cloud ในชื่อ บริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด ดำเนินธุรกิจในกลุ่ม Data Center มีบริษัทใหญ่ ๆ ที่มาติดต่อเพื่อหาผู้ร่วมทุนในการตั้ง Data Center แต่ข้อจำกัดคือ ไฟฟ้าที่ใช้ใน Data Center ต้องเป็น Green แต่ ของ ปตท. จะผลิตจากผลพลอยได้จาก LNG ซึ่งยังไม่ Green แบบ 100% นอกจากนั้นก็ยังมีข้อจำกัดอื่น ๆ ที่เราต้องหาทางแก้ไขต่อไป

มีรถไฟฟ้าเหมือนมีปั๊มน้ำมันในบ้าน

ที่จริงแล้วประเทศเยอรมันเคยผลิตรถไฟฟ้าออกมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1888 แต่เมื่อพลังงานไฟฟ้าเริ่มมีปัญหา แล้วมีน้ำมันมาแทนก็ทำให้รถไฟฟ้าไม่ได้รับความนิยมและเลิกใช้ไปโดยปริยาย ปัจจุบันก็กลับมาได้รับความสนใจอีกกครั้ง

สิ่งสำคัญในการผลิตรถไฟฟ้าคือ แบตเตอรี เมื่อ GPSC เปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell โดยใช้เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกใน South East Asia ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี นับเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและการลดช่องว่างของระบบพลังงานทดแทน (Renewable Energy) นวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid เป็นเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท 24M จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง GPSC ได้รับสิทธิ License ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่าย เริ่มต้นจากการผลิต G-Cell แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) หรือลิเธียมไอรอนฟอสเฟต ที่มีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสูง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า จึงเหมาะสมกับแอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย รวมทั้งยังสามารถรีไซเคิล (Recycle) ได้ง่ายเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยกำลังการผลิต 30 MWh ต่อปี สามารถขยายกำลังการผลิตของโรงงานนี้เพิ่มเป็น 100 MWh ต่อปี และก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดเริ่มต้น 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี แต่อยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในช่วงต่อไป ซึ่งแผนการดำเนินงานครั้งนี้ จะเสริมสร้างความพร้อมด้านพลังงานให้กับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-CURVE) โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV)

การตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ทำให้บริษัทผลิตรถไฟฟ้าหลายรายสนใจเข้ามาคุยกับ ปตท. รวมถึง Foxcon ที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทยเพราะมองว่า ปตท. มีศักยภาพเพียงพอ แต่ต้องพูดคุยเพิ่มเติมต่อไปเพราะยังมีข้อติดขัดบางเรื่องที่ต้องแก้ไข หากแก้ไขกฎระเบียบที่ซับซ้อนก็จะทำให้ธุรกิจรถไฟฟ้าพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

ส่วนของ ปตท. เองนั้น ในระยะแรกจะนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่าย ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้ด้าน EV ต้องทดลองผิดลองถูกเพื่อตามให้ทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

เวลานี้ผมกำลังเขียนโปรแกรมชื่อ EV ME เป็น Platform ที่สามารถนำไปพัฒนารถไฟฟ้าที่เป็นรถบัส รถมอเตอร์ไซต์ได้ด้วย

ปตท. มีสถานีชาร์ทรถไฟฟ้าทั้งในปั๊มน้ำมันและห้างสรรพสินค้า ผลิตเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ได้เองในราคาาไม่สูงแต่คุณภาพเทียบเท่าเครื่องชาร์จแบตเตอรีจากยุโรป

หากมีใครถามว่า เวลานี้ควรซื้อรถไฟฟ้าใช้หรือยัง ผมตอบได้เลยว่า มีรถไฟฟ้าก็เหมือนมีปั๊มน้ำมันในบ้าน พอเข้าไปจอดในบ้านแล้วก็เสียบสายชาร์จ หรือถึงที่ทำงานก็เสียบชาร์จไว้ การใช้รถไฟฟ้าในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป

34 ปี ใน ปตท. ที่เต็มเปี่ยมด้วยความอบอุ่น

เวลา 34 ปี เหมือนเป็นระยะเวลานาน แต่ถึงตอนนี้ผมรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก… ยังมีสิ่งที่ต้องการจะทำอีกเยอะ แต่ผมก็มั่นใจว่าเมื่อผมเกษียณไป รุ่นน้องสามารถสานงานต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผมมั่นใจศักภาพของน้อง ๆ ทุกคนว่าเขาทำได้ และจะทำอย่างเต็มที่และเต็มกำลัง

ปตท. ตั้งมา 40 ปี เป็นองค์กรที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะเรามีทีมที่ดี พนักงานรุ่นบุกเบิกมีจิตวิญญาณของการต่อสู้เพื่อให้องค์กรแห่งนี้ยืนได้อย่างเข้มแข็ง ก้าวเดินอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ท่านองคมนตรีเชาวน์ ณ ศีลวันต์ ท่านมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง ปตท. ท่านบอกว่าในเวลานั้นข้อมูลสำหรับการก่อตั้งองค์กรประเภทนี้ยังมีไม่มาก แต่ก็ต้องตัดสินใจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เมื่อแรกเริ่มก่อตั้งก็มีพนักงานจากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาร่วมพัฒนา ปตท. ร่วมกัน และหลายคนในยุคแรก ๆ ก็คือรุ่นพี่วิศวจุฬาฯ ของพวกเราเอง

มีวันหนึ่งผมมีโอกาศคุยกับอาจารย์ปิยะสาร อาจารย์ภาควิศวเคมี… ผมบอกท่านว่าความรู้ด้านเคมีผมคืนอาจารย์หมดแล้วเพราะตอนนี้ทำงานด้านการค้าขายน้ำมันเป็นหลัก ท่านบอกกับผมว่า … คณะวิศวฯ สอนให้เราคิด สอนให้เราทำ ไม่ได้สอนเพียงแค่ความรู้ในตำรา เพราะตำราที่เรียนก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อกลับไปอ่านก็จะเข้าใจเหมือนเดิม… ผมคิดว่าจริง…วิศวฯ ไม่ได้สอนแค่ความรู้ในตำรา แต่ตอนให้เราคิด และนำไปปรับใช้กับงานอื่น ๆ ที่ต้องทำ ต้องรับผิดชอบได้ด้วย

วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต กล่าวย้ำว่า… ปตท. เป็นองค์กรที่มีการผสมผสาน “หลายเจเนอเรชั่น” ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ “การเปิดใจ” ปตท. พร้อมเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เสนอความคิดใหม่ ๆ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็พร้อมรับฟังความคิดของคนรุ่นใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้พัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ส่วนคนรุ่นใหม่เองก็ต้องตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง เมื่อตัดสินใจแล้วก็ต้องทำให้ถึงที่สุด ทุ่มเทเต็มที่ ถ้าล้มก็ต้องพร้อมจะลุกขึ้นสู้ใหม่ พร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อที่จะเป็นพลังในการผลักดันให้กับประเทศชาติก้าวไกลสู่โลกอนาคตอย่างเข้มแข้ง ยั่งยืนต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save