ศ. ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn School of Integrated Innovation)


“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบเสมือนเรือเดินสมุทรลำใหญ่ มีประวัติและวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง สง่างาม แต่ด้วยโมเมนตัมขนาดมหาศาล ทำให้เรือเดินสมุทรขาดความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนทิศทางได้ทันท่วงที เมื่อต้องเผชิญกับพายุแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจุฬาฯ จึงใช้กลวิธี Speedboat Model จัดตั้งองค์กรต้นแบบขึ้นใหม่ภายใต้ชื่อรหัสว่า “เรือด่วนจุฬา” ที่มีความคล่องตัว (Agility) และความรวดเร็ว (Speed) โดยเริ่มต้นด้วยการบริหารองค์กรแบบกระบะทราย (Sandbox) มีอิสระในการจัดการแบบนอกกรอบ ซึ่งต่างจาก ‘ระบบไซโล’ โดยสิ้นเชิง หน่วยงานใหม่นี้ใช้ชื่อว่า สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

(1) สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเป็นมาอย่างไร?

“เรือด่วนจุฬา – เจาะเวลาหาอนาคต (Chula Speedboat – Hacking the Future)”

ศ. ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวถึงการที่จุฬาฯ ตัดสินใจเปิด สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นมานั้น สืบเนื่องมาจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดในสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ระบบการอุดมศึกษาที่ถูกคาดหวังให้เป็นเสาหลักในการชี้นำมนุษย์ชาติกำลังตกเป็นจำเลยของสังคมทั่วโลก สถาบันการอุดมศึกษาส่วนใหญ่ยังใช้ระบบที่ได้รับการออกแบบมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 บนพื้นฐานการถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์สู่นักศึกษา โดยคาดหวังว่า นักศึกษาจะได้นำความรู้ที่สะสมมา ไปใช้ในการทำงานตลอดชีพจนกระทั่งเกษียณ แต่ปัจจุบันสังคมกลับพบว่า การศึกษาระบบนี้ ไม่สามารถผลิตบัณฑิตเพื่อสนองความต้องการของโลกได้ ความรู้ที่ท่องจำและสะสมมาจะค่อยๆล้าสมัยไปภายในไม่กี่ปี อีกทั้งระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นสอนให้นักศึกษาพัฒนาความคิดวิกฤติและทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองในอนาคต

หากพิจารณาการจัดหลักสูตรอุดมศึกษาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเน้นเนื้อหาความรู้แบบแยกส่วน โดยมหาวิทยาลัยจะจัดมีการแบ่งออกเป็นคณะๆตามแต่ละศาสตร์ และแต่ละคณะก็ยังแบ่งย่อยออกเป็นภาควิชา ในแต่ละภาควิชาจึงมีองค์ความรู้ใน “ถังไซโล” ของตัวเอง มหาวิทยาลัยตามแบบอย่างจึงประกอบด้วยความรู้ใน “ถังไซโล” หลาย ๆ ใบที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน บัณฑิตที่จบมาจากแต่ละภาควิชาจึงรู้หรือสนใจเฉพาะในภาคส่วนของตัวเอง สังคมขาดผู้มีความสามารถในการจัดการกับการบูรณาการความรู้หลาย ๆ สาขาที่เกี่ยวพันแบบข้ามศาสตร์ได้

ในโลกปัจจุบัน ความรู้ต่างๆได้ถูกพัฒนาเป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้มนุษย์สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการประยุกต์ความรู้ต่างๆโดยรวดเร็วและสะดวก ดังนั้น ความสำเร็จในอนาคตของบัณฑิต จะวัดด้วยความสามารถในการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ เพราะปัญหาต่างๆในโลกจริงมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขครบถ้วนด้วยศาสตร์เดียวได้ ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกจึงกำลังมองหาวิธีการเปลี่ยนถ่ายองค์กรให้เหมาะกับสังคมดิจิทัล (Digital Transformation) องค์กรจะได้ไม่ตกยุคและมีบทบาทในโลกอนาคต แต่ขบวนการเปลี่ยนแปลงนี้จะสูญเสียทั้งเวลาและโอกาส ถ้าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะจะวิ่งตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลไม่ทัน ดังนั้น องค์กรต้องมีกลยุทธในการสร้างหน่วยงานต้นแบบ ที่มีความคล่องตัว (Agility) และความรวดเร็ว (Speed) เพื่อค้นหากระบวนทัศน์ใหม่ที่มีด้วยความสามารถในการปรับตัวตามพลวัตของโลก เมื่อมีต้นแบบที่ใช้ได้ผลแล้ว การเปลี่ยนถ่ายองค์กรจึงค่อยทำอย่างครบวงจร ตั้งแต่วัฒนธรรมองค์กร โครงสร้างองค์กร หลักสูตรที่เน้นบูรณาการมากขึ้น ตลอดจนขบวนการทำงานที่ลดขั้นตอนและพิธีกรรมลง สุดท้ายแล้ว ก้าวแรกที่จะท้าทายต่อความสำเร็จ คือ การเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ของคณะผู้บริหารสูงสุดนั่นเอง

(2) การออกแบบหลักสูตรต้นแบบ มีแนวคิดและหลักการอย่างไร?

“สมรรถนะพื้นฐานสากล (Basic Universal Competency)”

วิสัยทัศน์ของสถาบัน คือ การเป็นสถาบันการศึกษาระดับโลกสำหรับอนาคต (Global Academy for the Future) หลักสูตรแรกของสถาบัน คือ หลักสูตรศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมบูรณาการ (Bachelor Degree of Arts and Science in Integrated Innovation BAScii) หลักสูตรนี้ จะเน้นที่การบูรณาการวิทยาการข้ามศาสตร์ (Transdisciplinarity)

การออกแบบหลักสูตร BAScii เปรียบเหมือนการออกแบบบ้านบนกระดาษเปล่า โจทย์ คือ ถ้าเรามีอิสระในการออกแบบหลักสูตรปริญญาตรีใหม่เริ่มต้นจากศูนย์ เราจะวางหลักสูตรอย่างไร?แนวคิดในการออกแบบหลักสูตรจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ช่วงวัยเรียน 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย นิสิตเปรียบเสมือนลูกนกที่ใกล้จะต้องบินออกสู่โลกกว้างโดยลำพัง เป็นช่วงที่พ่อนกแม่นกต้องฟูมฟักสั่งสอนเคลัดลับต่างๆ ตลอดจนเป็นพี่เลี้ยงประคองให้ลูกนกได้มีประสบการณ์การบิน จนปีกกล้าขาแข็งและมีความมั่นใจในการออกไปใช้ชีวิตในโลกกว้างด้วยตนเอง เช่นเดียวกัน หลักสูตรของ BAScii ได้รับการออกแบบให้นิสิตทุกคนได้รับการบ่มเพาะและฝึกฝนอย่างเป็นระบบ โดยเป้าหมายไม่ใช่เพียงเพื่อหางานทำเมื่อจบการศึกษาแล้ว แต่ช่วงเวลา 4 ปีที่สำคัญนี้ จะถูกใช้ในการเตรียมนิสิตให้สามารถเติบโตเป็นพลเมืองโลก ที่มีสมรรถภาพในการเผชิญกับความท้าทายต่างๆในอนาคตที่ไม่มีใครมองเห็น นิสิตในหลักสูตร BAScii ทุกคนจึงต้องจบไปด้วยคุณสมบัติพิเศษติดตัวที่สถาบันฯเรียกว่า สมรรถนะพื้นฐานสากล (Basic Universal Competency) อันประกอบด้วย (ก) ความรู้พื้นฐาน (ข) ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และ (ค) วัฒนธรรมสากล ที่มนุษย์ทุกคนในโลกนี้จำต้องมี เพื่อจะเอาตัวรอดได้ในสังคมพลวัตแห่งโลกอนาคต

  • ความรู้พื้นฐาน แก่นความรู้พื้นฐานที่สถาบันให้ความสำคัญ ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีดิจิทัล และ ธุรกิจผู้ประกอบการ ผู้ที่จะผ่านเข้ามาเป็นนิสิต BAScii นี้ ต้องมีพื้นฐานคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษในระดับดีเลิศ ส่วนเทคโนโลยีดิจิทัล และ ธุรกิจผู้ประกอบการ สถาบันถือเป็นวิชาแก่นที่นิสิตทุกคนจะต้องเรียนลึก ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า บัณฑิต BAScii ทุกคนจะมีความเป็นเลิศในแก่นความรู้พื้นฐานทั้งสี่นี้
  • ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยทักษะที่ได้รับการระบุตรงกันในสังคมโลกว่า มีความจำเป็นเพื่อความสำเร็จในสังคมดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสถาบันเน้นที่ทักษะ 6C คือ (1) Critical Thinking ความคิดเชิงวิเคราะห์; (2) Collaboration ความร่วมมือ; (3) Communication การสื่อสาร; (4) Computing Literacy การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์; (5) Creativity ความคิดสรรค์สร้าง; (6) Cross-culture Interaction การปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม ทักษะที่สำคัญเหล่านี้จะถูกพัฒนาจากขบวนการศึกษาแบบ Project-Based Learning ของสถาบัน
  • วัฒนธรรมสากล มีผู้กล่าวไว้ว่า “เมื่อนวัตกรรมไม่มีพรมแดน วัฒนธรรมคือกุญแจสำคัญ (When Innovation Has No Borders, Culture Is Key)” สถาบันเชื่อว่า นิสิต BAScii ทุกคนที่ใฝ่ฝันจะเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมระดับยูนิคอร์น โลกคืออาณาจักรการทำงานของเขาในอนาคต ดังนั้น สถาบันจึงมุ่งหวังให้ บัณฑิต BAScii เป็นพลเมืองโลก (Global Citizens) สถาบันจึงต้องการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศให้เป็นสากล โดยกำหนดนโยบายให้มีอาจารย์จากนานาชาติในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของคณาจารย์ทั้งหมด นอกจากนี้ สถาบันยังมีวัฒนธรรมสากลในการดึงดูดคณาจารย์พิเศษระดับโลก (Global Adjunct Faculty) มาช่วยสอนและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่นิสิตด้วย ส่วนประชากรนิสิตเอง สถาบันเปิดกว้างรับนิสิตนานาชาติ โดยไม่จำกัดชาติกำเนิดและศาสนา และส่งเสริมให้นิสิตนานาชาติมีกิจกรรมจิตอาสา เพื่อจะได้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อโลก (Globally Responsible Citizens)

(3) BAScii ต้องการฟูมฟักนิสิตให้มีความสามารถพิเศษอย่างไร?

“เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา (The Seeds of Wisdom)”

หลักสูตร BAScii จะทำหน้าที่เป็นแหล่งฟูมฟักนิสิตให้มีความสามารถพิเศษ (Talents Incubator) โดยให้นิสิตหาประสบการณ์จากโครงงานข้ามศาสตร์ โดยเลือกทำโครงงานภายใต้อรรถบท (Theme) ที่กำลังเป็นแนวโน้มใหญ่ของโลก ได้แก่

  • สุขภาวะและการอยู่ดีมีสุข (Health and Wellbeing)
  • การพัฒนาการรวมชุมชนและเมืองอัจฉริยะ (Inclusive Community and Smart City)
  • การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และ
  • การพัฒนาปัญญาดิจิทัลเชิงประยุกต์ (Applied Digital Intelligence)

แนวคิดของการบูรณาการข้ามศาสตร์ถือเป็นหัวใจสำคัญของหลักสูตร BAScii ที่รวมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การศึกษา การวิจัย การปฏิบัติ และการนำประสบการณ์ไปบูรณาการเป็นนวัตกรรมที่สร้าง ”มูลค่าและผลกระทบ” ในโลกแห่งความเป็นจริงในรูปแบบของ Startup เรามักจะได้ยินว่ามี Startup มากกว่า 90% ที่ล้มเหลว ดังนั้น โครงงานนวัตกรรมบูรณาการจึงต้องการเป็นเวทีให้นิสิตทุกคนได้มีโอกาส ลองถูกลองผิด ล้มลุกคลุกคลานในช่วงที่ยังศึกษาอยู่ โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นพี่เลี้ยง (Mentors) และด้วยประสบการณ์ทั้งลบและบวกเหล่านี้ จะช่วยนิสิตสร้างภูมิคุ้มกันและเพิ่มศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมที่มีความยั่งยืนในอนาคต

(4) แนวทางในการจัดการเรียนการสอนมีความแตกต่างจะคณะอื่นๆอย่างไร?

“โลกคือห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต”

การเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) เป็นแนวการจัดการการเรียนการสอนของหลักสูตร BAScii ที่ออกแบบโดยเฉพาะ เพื่อให้นิสิตทุกคนมีโอกาสพัฒนาความรู้และทักษะผ่านโครงงานภายใต้บริบทของโลก โดยมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ที่นิสิตจะได้รับจากกระบวนการเรียนรู้อย่างมีวิจารณญาณ การมีบทบาทและส่วนร่วมในการหาคำตอบตามเป้าหมายของโครงงาน ทำให้ทุกคนมีความเข้าใจความหมายเชิงปฏิบัติการ (Practical Implication) ของสาระความรู้ ผ่านการวิพากย์วิจารณ์ระหว่างสมาชิกในทีม ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของคณาจารย์และพี่เลี้ยงที่สถาบันจัดให้ นิสิตสามารถพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะนำไปสู่ความมีวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นสากลตั้งแต่วัยเรียน

นอกจากโครงงานย่อยในวิชาที่ลงทะเบียนเรียน นิสิตทุกคนจะต้องลงทะเบียนในโครงงานเมล็ดพันธุ์แห่งนวัตกรรมบูรณาการ (Integrated Innovation Seeds Project) ในสามปีแรก โดยแต่ละโครงงาน นิสิต 3-4 คนจะค้นหาไอเดียนวัตกรรมโดยมีอาจารย์จากภาคอุตสาหกรรมเป็นพี่เลี้ยง (Mentors) ให้ ในช่วงนี้หลายโครงงานอาจล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่าจนประสบความสำเร็จ นับเป็นประสบการณ์ที่สำคัญในการฝึกฝนความเป็นนวัตกร โครงงานจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ในชื่ออนุกรมที่สถาบันออกแบบเองว่า A-school Series ซึ่งประกอบด้วย 7 ระดับ กล่าวคือ ระดับ 1 และ 2 เป็นขั้นเตรียมการและสร้างแนวความคิด ระดับ 3 เป็นการทดสอบทำต้นแบบ ระดับ 4 และ ระดับ 5 เป็นการศึกษาตลาดและวางโมเด็ลธุรกิจสตาร์ตอัพ (Startup) ระดับ 6 เป็นการทดสอบตลาด และระดับ 7 เป็นการมองหา ”แหล่งเงินทุน” โดยเฉพาะจากนักลงทุน ที่เรียกว่า “Angel Investors” ผู้ซึ่งมีความพึงพอใจที่ได้ช่วยเหลือนักธุรกิจรุ่นใหม่และมองโอกาสในอนาคต ว่าถ้า Startup ที่สนับสนุนนั้นประสบความสำเร็จ จะมีนักลงทุนระดับสถาบัน คือ Venture Capital มาซื้อต่อหรือขอร่วมลงทุน บริษัทจาก Startup นี้จะนำมาซึ่งผลตอบแทนมูลค่าสูง กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตจนเข้าตลาดหุ้นได้

(5) หนึ่งภาคการศึกษาในต่างประเทศของนิสิต BAScii มีประโยชน์อย่างไร ?

บททดสอบนกน้อยบินสู่โลกกว้าง (First Test Fly for Baby Bird)

สถาบันได้กำหนดให้นิสิตปีที่สามจะต้องออกไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศอย่างน้อยหนึ่งภาคการศึกษา ที่เรียกว่า Semester Abroad โดยมีมหาวิทยาลัยพันธมิตรที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติเป็นเจ้าภาพ โดยนิสิตสามารถเลือกมหาวิทยาลัยที่เหมาะกับความสนใจและความท้าทายของตนเอง การมีโอกาสได้ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เปิดโอกาสให้นิสิตได้ฝึกใช้ทักษะศตวรรษที่ 21 ณ สนามจริง ทำให้ก้าวผ่านความเป็นมือสมัครเล่นไปสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ นิสิตยังสามารถค้นหาความสนใจของตนเอง เพื่อนำไปสู่การเลือกโครงงานในปีสุดท้ายของหลักสูตร

(6) สถาบันเสนอตัวเองเป็นเวทีเปิด (Open Platform) หมายความว่าอย่างไร?

เวทีความร่วมมือสามเกลียว (Triple Helix Platform)

ความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐบาล ในรูปแบบของ เวทีความร่วมมือสามเกลียวเพื่อนวัตกรรมที่ยั่งยืน (Triple Helix Platform for Sustainable Innovation) มีความสำคัญมากในการสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายของชาติ หลักสูตร BAScii จึงถูกออกแบบให้เป็นเวทีเปิด (Open Platform) โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในสังคม อันได้แก่ ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักวิจัย และนักวิชาการอิสระ จากทั้งภาครัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษาทั่วโลก เข้ามาให้คำปรึกษาในการปรับปรุงหลักสูตรตามพลวัตของโลก พร้อมเป็นอาจารย์รับเชิญพิเศษและเป็นพี่เลี้ยงให้กับนิสิตในการทำโครงงานนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังในสังคม หรือแก้จุดปวด (pain points) ต่างๆในภาคอุตสาหกรรม

(7) อะไรคือตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการสร้างนวัตกรรมบูรณาการ?

โครงงานแคปสโตน (Capstone Project)

โครงงานแคปสโตน (Capstone Project) จะเป็น โครงงานปิดท้ายหลักสูตร BAScii เพื่อประเมินประสิทธิผลในการพัฒนาของนิสิตตลอดหลักสูตร ซึ่งบ่งบอกถึงความสามารถในการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์เป็นนวัตกรรม โดยวัดที่คุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมนุษย์ชาติ

สำหรับหัวข้อของโครงงานแคปสโตนนี้ นิสิตสามารถเลือกได้ 3 แนวทาง ได้แก่

(1) โครงงานที่มุ่งสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยการพัฒนาโมเด็ลธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมของตนเอง

(2) โครงงานที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังในภาคอุตสาหกรรม จากโจทย์ของพันธมิตรภาคอุตสาหกรรม

(3) โครงงานนวัตกรรมอื่นๆ ที่เสนอโดยคณาจารย์ในสถาบัน

(8) บัณฑิตในอุดมคติของสถาบันฯ จะมีหน้าตาอย่างไร?

บัณฑิตพันธุ์ใหม่ (New Breed of Graduates)

บัณฑิตในอุดมคติของสถาบันเรียกว่า บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ผู้มีพร้อมซึ่ง ”สมรรถนะพื้นฐานสากล (Basic Universal Competency)” ที่ประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ และ วัฒนธรรม ที่จำต้องมีเพื่อความอยู่รอดในโลกแห่งอนาคต

บัณฑิต BAScii จะนักวิชาชีพยุคใหม่รุ่นบุกเบิก ได้แก่ นวัตกรเทคโนโลยี (Technological Innovators) ผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation Entrepreneurs) นวัตกรสังคม (Social Innovators) หรือ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลขององค์กร (Corporate Digital Transformers) เป็นต้น

สถาบันเองคาดหวังอย่างสูงว่า บัณฑิตที่จบจากหลักสูตร BAScii จะเป็น “บุคคลที่สมบูรณ์แบบ (Full Person)” ที่สุด ในสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ที่พร้อมจะมีบทบาทและความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองโลก (Global Citizens) และจะก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำระดับโลก (Global Leaders) ในที่สุด

(9) ความคิดเห็นส่วนตัวในเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์

หลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับความรู้เฉพาะทางสำหรับวิศวกรรมศาสตร์ ผมเชื่อว่า คณะเราน่าจะมีความทันสมัย เพราะคณะมีการรับอาจารย์ใหม่ๆที่จบจากมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ค่อนข้างจะหลากหลาย ดังนั้น หลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆน่าจะค่อยๆเติมมาพร้อมๆกับอาจารย์รุ่นใหม่ๆเหล่านี้ ส่วนที่ผมว่า วิศวกรบ้านเราขาดแคลน คือ ทักษะที่เราเรียกว่า Soft Skills ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งผมพอจะแตะได้ในบางประเด็น ดังนี้

ในปัจจุบันโลกกำลังค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นโลกที่ไร้พรมแดน ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ จึงเป็นสิ่งที่นิสิตวิศวกรรมทุกคนควรจะได้รับการส่งเสริม ในเมื่อวิศวกรจำต้องทำงานเป็นทีมร่วมกับชาวต่างชาติ สิ่งแรกที่เขาจะตัดสินความสามารถของเรา คือ ทักษะในการสื่อสาร เป็น Impression แรกที่เขาจะตัดสินว่า เราพอจะเป็นผู้นำในวิชาชีพได้หรือไม่ ต่อให้เราจะเก่งหรือมีความรู้ในด้านลึกมากแค่ไหน ขาดทักษะการสื่อสารเพียงอย่างเดียว เพดานสูงสุดของเราจะถูกจำกัดที่ Operator แทนที่จะเป็น Executive  เพราะฉะนั้นคณะควรพิจารณาว่า ทำอย่างไร จึงสามารถฝึกฝนให้นิสิตคณะวิศวกรรมทุกคน มีความสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นเลิศ คณะอาจต้องมาเริ่มวางแผนว่า สักวันหนึ่ง ระบบการเรียนการสอน และภาษาที่ใช้ในการศึกษาเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดโดยสมบูรณ์

ถ้าเป็นไปได้ ในปีหนึ่งทั้งปี นิสิตทุกคนควรได้เรียนศาสตร์ต่างๆที่จะไปเสริมสร้าง ”สมรรถภาพพื้นฐานสากล (Universal Basic Competence UBC)” ซึ่งประกอบด้วย (1) ความรู้พื้นฐาน (2) ทักษะศตวรรษที่ 21 และ (3) วัฒนธรรมสากล

Universal Basic Competence เป็นคำที่ผมตั้งชื่อขึ้นสำหรับนิสิตสถาบันนวัตกรรมบูรณาการ เป็นคุณสมบัติต่ำที่สุดที่มนุษย์ทุกคนในอนาคตพึงมี เพื่อให้สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองสำหรับเอาตัวให้รอดในโลกอนาคต

ความรู้พื้นฐานที่นิสิตวิศวกรรมควรรู้ เช่น เศรษฐศาสตร์ กฏหมายเบื้องต้น เทคโนโลยีสารสนเทศ การเขียนโปรแกรม ความรู้ด้าน IoT Design Thinking เป็นต้น

ทักษะ 6C คือ (1) Critical Thinking (ความคิดเชิงวิเคราะห์); (2) Collaboration (ความร่วมมือ); (3) Communication (การสื่อสาร); (4) Computing Literacy (การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์); (5) Creativity (ความคิดสรรค์สร้าง); (6) Cross-culture Interaction (การปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม) ทักษะเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่สามารถสอนเป็นวิชาได้ แต่สามารถแฝงอยู่ในวิชาต่างๆ โดยการจัดการเรียนการสอนแบบ Project-Based Learning

ส่วนวัฒนธรรมสากล นอกจากสามารถเปิดวิชาเลือกที่ข้ามศาสตร์ ยังต้องมีการสร้างสิ่งแวดล้อม และบรรยากาศให้เป็นสากล ตลอดจนขบวนการทำงานที่รวดเร็วแบบสากลโดยลดขั้นตอนและพิธีกรรมต่างๆเท่าที่จะทำได้

ผมคิดว่าถ้ามีการปรับโครงสร้างหลักสูตรของคณะ ควรให้นิสิตวิศวะปีหนึ่งเรียนวิชาที่เสริมสร้างสมรรถนะพื้นฐานสากล หลักสูตรปีสองเน้นวิชาพื้นฐานของวิศวะทุกสาขา หลักสูตรปีสามจึงแยกเรียนลึกในวิชาเฉพาะสาขา และปีสี่จึงเรียนวิธีประยุกต์ความรู้กับการประกอบวิชาชีพจริง

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มักเริ่มด้วยการเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ของผู้บริหารโดยเฉพาะตั้งแต่ระดับหัวหน้าภาควิชาขึ้นไป คณะต้องมีเจตนารมณ์ที่จะต้องการผลิตบัณฑิตวิศวะ นอกจากให้เป็นผู้ปฏิบัติที่เก่งกล้าแล้ว ยังต้องมีสมรรถนะที่จะเป็นนักคิดและเป็นผู้ชี้นำสังคมได้


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save