รัชนัน ชำนาญหมอ1
ดร.ทักษิณา โพธิ์ใหญ่1
ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา1
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล2
1คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
1. บทนำ
ปัจจุบัน ความเสี่ยงด้านการขาดแคลนแหล่งพลังงานประกอบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านพลังงานโลก (Global Energy Crisis) ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญหน้าทั้งในฝั่งอุปทานและฝั่งอุปสงค์ เหตุการณ์ดังกล่าวผลักดันให้ประเทศต้องเร่งเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการพลังงานในระยะยาว หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil fuel-based Energy) ไปเป็นพลังงานสะอาด (Clean Energy) ผ่านการใช้หลากหลายกลยุทธ์ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพิ่มในพลังงานทดแทน (Increasing Renewable Energy Investments) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Increasing Energy Efficiency) การปรับใช้กฎหมายหรือนโยบายด้านพลังงานให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น (Implementing Supportive Policy) หรือแม้แต่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) การดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage: CCUS) รวมไปถึงการพัฒนา
ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EVs) เป็นต้น
ทั้งนี้ วิกฤตการณ์ด้านพลังงานข้างต้นมีสาเหตุมาจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ได้เริ่มเบาบางลง ส่งผลให้อุปสงค์ด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้นเพื่อตอบสนองการกลับมาของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง รวมไปถึงการดำรงชีวิตของภาคประชาชน (2) การชะลอการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิล อันเนื่องมาจากการประชุม COP26 อีกทั้งประเทศไทยยังได้ประกาศเป้าหมายในการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050 และ ค.ศ. 2065 ตามลำดับ (3) การเปลี่ยนแปลงด้าน ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน เป็นเหตุการณ์ที่เปรียบเสมือนชนวนไปสู่สงครามทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการซื้อขายพลังงานของโลก และอาจพาเราเข้าไปสู่ระเบียบโลกแบบใหม่ (New World Order) ในอีกไม่ช้า และ (4) การดำเนินชีวิตแบบเดิมโดยมีความเชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติและดีขึ้น ทำให้การใช้พลังงานเกิดขึ้นอย่างสิ้นเปลืองและไม่รู้คุณค่า ดังนั้น การปรับเปลี่ยนกรอบความคิดและพฤติกรรม (Mindset and Behavioral Changes) ในระดับปัจเจกบุคคลจึงเป็นเหมือนแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
2. บทบาทของฝั่งอุปทานและฝั่งอุปสงค์
การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในปี ค.ศ. 2050 อาศัยความร่วมมือระหว่างฝั่งอุปทาน (Supply Side) และฝั่งอุปสงค์ (Demand Side) อันเป็นหัวใจหลักที่จะช่วยให้ภาคพลังงานสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมได้อย่างมีนัยสำคัญ (เหลือประมาณ 70-100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) โดยมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้
- ฝั่งอุปทาน (จัดหาพลังงาน) ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเหลือประมาณ 35-40 ล้านตันคาร์บอนไซด์เทียบเท่า ด้วยการปรับเปลี่ยนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ การใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) การลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของระบบสายส่ง (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าที่หลากหลายในอนาคตและเพิ่มการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างประเทศอย่างเหมาะสม
- ฝั่งอุปสงค์ (ต้องการพลังงาน) ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเหลือประมาณ 35-60 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ฝั่งอุปสงค์มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานในการดำรงชีวิตและการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้น หากเราในฐานะประชาชนชาวไทยร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้พลังงานถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานได้มากถึงร้อยละ 50-65 ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และสร้างการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาดได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
3. Last Mile กลไกสู่การเปลี่ยนแปลง
ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับในภาวะวิกฤตพลังงาน การบูรณาการร่วมกันระหว่างภาคพลังงานและภาคประชาชนนับเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งสามารถแบ่งการดำเนินงานออกเป็น
3 ระยะ แสดงดังรูปที่ 2
Last Mile หรือ ไมล์สุดท้าย เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้การประหยัดพลังงานเกิดขึ้นได้ในสังคม โดยส่งผลต่อเนื่องไปยังการควบคุมและบริหารจัดการปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในฝั่งอุปสงค์หรือฝั่งผู้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศสามารถเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้อย่างทันท่วงที
กลไก Last Mile เกี่ยวข้องกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากร อันเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในระดับปัจเจกบุคคล จนนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การประหยัดไฟ และการประหยัดน้ำมัน หากทุกภาคส่วนให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศได้มากถึง 150,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งงบประมาณดังกล่าวสามารถนำไปช่วยเหลือและเยียวยากลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน รวมถึงการต่อยอดไปสู่การลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และแหล่งการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสีเขียว ลดมลพิษ และสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จะเห็นได้ว่า Last Mile เป็นกลไกที่เชื่อมโยงไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคล ซึ่งสามารถสร้างผลลัพธ์เชิงบวกได้อย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายมิติแสดงดังรูปที่ 3 ด้วยเหตุนี้ นานาประเทศทั่วโลกจึงกำลังตื่นตัวและนำกลไก Last Mile มาปรับใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญเพื่อรับมือกับวิกฤตพลังงาน พร้อมทั้งสร้างมาตรการต่าง ๆ ที่สอดคล้องเพื่อช่วยบรรเทาภาระของประชาชนและสร้างความมั่นคงแก่ประเทศชาติ
4. มาตรการรับมือวิกฤตพลังงานของต่างประเทศ
ปัจจุบัน หลากหลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในการออกมาตรการเพื่อรับมือกับวิกฤตพลังงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในขณะที่ผลักดันให้เกิดการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวอย่างมาตรการแสดงดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 มาตรการประหยัดพลังงานของต่างประเทศ (อ้างอิงข้อมูลจากกองการต่างประเทศ)
ประเทศ | มาตรการ |
IEA |
|
สหรัฐอเมริกา
|
|
จีน |
– นิทรรศการนำเสนอเกี่ยวกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงานของจีน แนวทางปฏิบัติในการประหยัดพลังงาน การส่งเสริมมาตรฐานและฉลากประหยัดพลังงาน ตลอดจนกิจกรรมการประหยัดพลังงานและการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมหลัก – เปิดตัวกิจกรรมออนไลน์ เช่น การบรรยายเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน การนำเสนอวีดีโอเกี่ยวกับวิถีชีวิตคาร์บอนต่ำ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและลดคาร์บอน |
เนเธอร์แลนด์
|
|
อิตาลี |
|
ญี่ปุ่น |
|
ฟิลิปปินส์ |
|
อินเดีย
|
|
ฝรั่งเศส |
|
เยอรมนี |
|
สเปน |
– ลดการใช้พลังงานภาครัฐ 25% โดยใช้งบประมาณอุดหนุนจาก EU Covid-19 Recovery Fund จำนวน 1 billion USD เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานในอาคารภาครัฐ – กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องเปิดแอร์อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อน และใช้พัดลมควบคู่ในการทำความเย็นและเปิดฮีทเตอร์ที่อุณหภูมิต่ำกว่าหรือเท่ากับ 19 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาว – สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ/ปั่นจักรยาน – ปิดไฟสำนักงานให้เร็วขึ้น |
สปป.ลาว |
– ประหยัดน้ำมันและลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นเพื่อให้เหลือน้ำมันใช้ในภาคการเกษตรและภาคอื่น ๆ ที่จำเป็ – กำหนดมาตรการจำกัดการเติมน้ำมันในบางพื้นที่ เช่น แขวงคำม่วน ได้มีมาตรการให้ปั๊มน้ำมันเปิด 1-2 วัน/สัปดาห์ และจำกัดการเติมน้ำมัน 4 แสนกีบ/ครั้ง รถแทรกเตอร์ 20 ลิตร/ครั้ง – แขวงอื่น ๆ เช่น สาละวิน เซกอง ได้ออกมาตรการจำกัดการใช้น้ำมันจำกัดไม่เกิน 2 แสนกีบ/ครั้ง |
ในการนี้ ทางคณะผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนพวกเราทุกคนให้หันมาตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของ Last Mile ที่จะนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นของประเทศไทย ผ่านการร่วมแรงร่วมใจกันประหยัดพลังงาน และเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้การออกแบบนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในอนาคต
5. มาตรการรับมือวิกฤตพลังงานของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และกระทรวงพลังงานมีการออกมาตรการเพื่ออนุรักษ์พลังงานพร้อมด้วยแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม สามารถปรับใช้ได้ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับปัจเจกบุคคล (ตารางที่ 2) ทั้งนี้ เพื่อสร้างกรอบแนวทางให้ประชาชนสามารถประหยัดไฟฟ้าและน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งให้ผลลัพธ์ดังนี้
- หากภาคครัวเรือนร่วมมือกันประหยัดไฟฟ้าได้ 10% จะสามารถช่วยประเทศไทยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ถึง 40,000 ล้านบาทต่อปี และหากร่วมมือกันทุกภาคส่วน จะสามารถช่วยประเทศประหยัดได้ถึง 150,000 ล้านบาทต่อปี
- หากผู้ใช้รถยนต์สามารถดำเนินการตามวิธีประหยัดน้ำมันข้อ 1-9 ดังรูปที่ 5 จะสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้ 1,437-2,657 บาทต่อเดือน หรือประหยัดได้สูงสุดรวม 5% และหากปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จะสามารถประหยัดเงินได้ถึง 3,730 บาทต่อเดือน
ตารางที่ 2 มาตรการประหยัดพลังงานของประเทศไทย (อ้างอิงข้อมูลจาก พพ.)
มาตรการประหยัดพลังงานของประเทศไทย | ||
ประเทศไทย | 10 วิธี ประหยัดไฟ | 10 วิธี ประหยัดน้ำมัน |
1. เครื่องปรับอากาศ
– เพิ่มอุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส – ตั้งเวลาเปิดก่อนตื่นนอน 15-30 นาที – ล้างเครื่องปรับอากาศ 2 ครั้ง/ปี (ประหยัดได้ 290 บาท คิดเป็น 6%) 2. เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า – ปิดน้ำร้อนตอนฟอกสบู่ – เปิดใช้เท่าที่จำเป็น (ประหยัดได้ 119 บาท คิดเป็น 2.5%) 3. กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า – ต้มน้ำเท่าที่จำเป็นและถอดปลั๊กหลังเลิกใช้งาน (ประหยัดได้ 25 บาท คิดเป็น 0.5%) 4. หม้อหุงข้าว เตาไมโครเวฟ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ – ถอดปลั๊กหลังเลิกใช้งาน (ประหยัดได้ 11 บาท คิดเป็น 0.2%) 5. ตู้เย็น – ไม่เปิดประตูตู้เย็นนาน/บ่อยเกินไป – ไม่แช่ของแน่นตู้ (ประหยัดได้ 19 บาท คิดเป็น 0.4%) 6. พัดลมไฟฟ้า – ปรับลดระดับความเร็วลง 1 ระดับ – ถอดปลั๊กเมื่อเลิกใช้งาน (ประหยัดได้ 18 บาท คิดเป็น 0.4%) 7. หลอดไฟฟ้าแสงสว่าง LED – ปิดดวงที่ไม่จำเป็น 5% (ประหยัดได้ 11 บาท คิดเป็น 0.2%) 8. เตารีดไฟฟ้า – ถอดปลั๊กออกก่อนรีดเสร็จ 2 นาที – ใช้ความร้อนที่เหลืออยู่ (ประหยัดได้ 11 บาท คิดเป็น 0.2%) 9. ปั๊มน้ำ – ใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างน้อย 10% – ลดการทำงานปั๊มน้ำ (ประหยัดได้ 11 บาท คิดเป็น 0.2%) 10. เครื่องซักผ้า – รวมผ้าซักครั้งละมากๆ ตามขนาดเครื่อง (ประหยัดได้ 11 บาท คิดเป็น 0.2%) |
1. ขับรถด้วยความเร็วคงที่ (90 กม./ชม. ประหยัดน้ำมันมากที่สุด)
(ประหยัดได้ 3.7 ลิตร/เดือน คิดเป็น 140 บาท/เดือน ประหยัด 3%) 2. Work from Home สัปดาห์ละ 1-3 วัน (ประหยัดได้ 17-50 ลิตร/เดือน คิดเป็น 660-1,880 บาท/เดือน ประหยัด 40%) 3. เน้นการใช้รถสาธารณะในวันหยุด (Car-free Sunday) (ประหยัดได้ 7 ลิตร/เดือน คิดเป็น 260 บาท/เดือน ประหยัด 5.5%) 4. ไปธุระใกล้บ้านใช้จักรยาน (ประหยัดได้ 1 ลิตร/เดือน คิดเป็น 37 บาท/เดือน ประหยัด 0.8%) 5. ไม่ขับก็ดับเครื่อง ไม่ติดเครื่องจอดรอนาน ๆ เพียงวันละ 5 นาที (ประหยัดได้ 3 ลิตร/เดือน คิดเป็น 113 บาท/เดือน ประหยัด 2.4%) 6. ตรวจสอบเส้นทางก่อนเดินทาง ใช้ GPS ถึงที่หมายรวดเร็ว (ประหยัดได้ 0.5 ลิตร/เดือน คิดเป็น 19 บาท/เดือน ประหยัด 0.4%) 7. ขับประหยัด ไม่เบรกบ่อย ไม่เร่งแรง ก่อนไฟแดง ชะลอความเร็ว (ประหยัดได้ 12 ลิตร/เดือน คิดเป็น 45 บาท/เดือน ประหยัด 10%) 8. เติมลมยางอย่างเหมาะสมตามคู่มือรถ (ประหยัดได้ 2.4 ลิตร/เดือน คิดเป็น 90 บาท/เดือน ประหยัด 1.9%) 9. หมั่นทำความสะอาดไส้กรองอากาศและเปลี่ยนตามกำหนด (ประหยัดได้ 1.95 ลิตร/เดือน คิดเป็น 73 บาท/เดือน ประหยัด 1.6%) 10. ปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า BEV (คิดค่าไฟฟ้ารถ EV เฉลี่ย 0.65 บาท/กม. ใช้รถ 1,550 กม./เดือน คิดเป็น |
6. บทสรุป
การรับมือกับวิกฤตพลังงานและการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนจำเป็นต้องอาศัยการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ระดับแสดงดังรูปที่ 6 ได้แก่
- การสร้างความตระหนัก (Awareness) เป็นขั้นแรกของการสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ทุกคนหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสถานการณ์และผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
- การเพิ่มเติมความรู้ (Knowledge) หลังจากที่ผู้คนเกิดความสนใจด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ย่อมมีความพร้อมที่จะเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น
- การปรับเปลี่ยนทัศนคติ (Attitude) จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลนั้น ๆ มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมบางอย่าง
- การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership) หลังจากที่บุคคลมีความตระหนัก มีความรู้ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ดีแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องไปสู่คนรอบข้างได้
ทางคณะผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราทุกคนจะทราบแล้วเปลี่ยนและหันมาร่วมมือร่วมใจกันเพื่อเดินหน้าสู่การลงมือปฏิบัติหรือการดำเนินโครงการเพื่อรณรงค์การประหยัดพลังงาน ผ่านการสร้างความตระหนัก สร้างองค์ความรู้ จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติและความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรพลังงาน โดยกระบวนการดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระดับสังคมไปจนถึงระดับปัจเจกบุคคลให้รู้จักใช้พลังงานต่าง ๆ อย่างประหยัดมากขึ้นจนเกิดเป็นลักษณะนิสัย ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศเพื่อนำไปช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะวิกฤติพลังงาน นอกจากนี้ ยังสามารถนำงบประมาณข้างต้นไปสนับสนุนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน การดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน (Collaboration) ที่จะร่วมปรับร่วมเปลี่ยนพฤติกรรมไปพร้อม ๆ กันบนพื้นฐานของทัศนคติและความรู้สึกที่ดี เพื่อสร้างผลลัพธ์ในการประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น รวมถึงช่วยกันสื่อสารและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องออกสู่วงกว้าง (Communication) เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่าร่วมกันของทุกคนในสังคม (Co-creation) ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจบนความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งช่วยให้ประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เอกสารอ้างอิง
Biden Administration Proposes New Cost-saving Energy Efficiency Standards for Home Furnaces.
[ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก: https://www.energy.gov/articles/biden-administration-proposes-new-cost-saving-energy-efficiency-standards-home-furnaces
Central Government Promotes Energy Savings. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก:
https://www.government.nl/topics/renewable-energy/central-government-promotes-energy-savings
China Launches National Energy-saving Week. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก:
https://www.macaubusiness.com/china-launches-national-energy-saving-week/
Energy Conservation Norms May be Must for Residential Buildings. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก:
https://economictimes.indiatimes.com/industry/energy/power/energy-conservation-norms-may-be-must-for-residential-buildings/articleshow/90943985.cms
Energy Efficiency Policies to Enable Big Users to Practice Conservation. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก:
Energy efficiency policies to enable big users to practice conservation
Fostering Effective Energy Transition 2022. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก:
https://www.weforum.org/reports/fostering-effective-energy-transition-2022
France Prepares Measures to Avoid Power Shortfall This Winter. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก:
https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-01/france-prepares-measures-to-avoid-power-shortfall-this-winter
Germany Presents Energy Efficiency “Work Plan” to Reduce Fossil Fuel Demand. [ออนไลน์],
เข้าถึงได้จาก: https://www.cleanenergywire.org/news/germany-presents-energy-efficiency-work-plan-reduce-fossil-fuel-demand
Japan to Ask Households, Companies to Save Energy This Summer. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก:
https://www.reuters.com/business/energy/japan-ask-households-companies-save-energy-this-summer-2022-06-07/
Laos Government Advise Public Advised to Avoid Unnecessary Travel, to Save Fuel for
Agriculture. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก: https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2022/05/22/laos-government-advise-public-advised-to-avoid-unnecessary-travel-to-save-fuel-for-agriculture
Meeting of Ministers from Around the World can Turbocharge Energy Efficiency Progress to
Combat Energy Crisis and Meet Climate Goals. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก:
https://www.iea.org/news/meeting-of-ministers-from-around-the-world-can-turbocharge-energy-efficiency-progress-to-combat-energy-crisis-and-meet-climate-goals
New Energy Efficiency Standards Formulated for Home-use Air Conditioners. [ออนไลน์], เข้าถึงได้
จาก: https://www.meti.go.jp/english/press/2022/0531_002.html
Que Calor! Spain Tells Civil Servants to Limit Use of Air Conditioning. [ออนไลน์], เข้าถึงได้
https://www.reuters.com/business/energy/que-calor-spain-tells-civil-servants-limit-use-air-conditioning-2022-05-24/
The Global Energy Transition: How the World Sees It. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก:
https://energytracker.asia/what-is-energy-transition-an-ultimate-guide/
The Heat is On, Italy Plans to Turn Down Air Conditioning to Save Energy. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก:
https://www.reuters.com/business/energy/heat-is-italy-plans-turn-down-air-conditioning-save-energy-2022-04-20/
ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล และคณะ. (2562). เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา.
สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น). กรุงเทพฯ
พลังงาน จัดกิจกรรมประหยัดพลังงานนำร่องหน่วยงานภาครัฐตั้งเป้าลด 20%. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก:
พลังงาน จัดกิจกรรมประหยัดพลังงานนำร่องหน่วยงานภาครัฐตั้งเป้าลด 20%
ปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของสังคมไทย. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก:
ปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของสังคมไทย
ไทยติด 60 อันดับแรก ด้านระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต (ETI) ประจำปี 2020.
[ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก: https://globthailand.com/switzerland-02072020/