สิบสองปันนา (Xishuangbanna) ... ดินแดนบรรพบุรุษคนไทย หรือ?

สิบสองปันนา (Xishuangbanna) … ดินแดนบรรพบุรุษคนไทย หรือ?


ตั้งแต่จำความได้ราวๆชั้นประถม เริ่มมีความรู้สึกผูกพันกับสิบสองปันนา (Xishuangbanna) หรืออีกชื่อหนึ่งคือเมืองเชียงรุ้ง ตั้งใจว่าสักวันคงมีโอกาสได้ไปเที่ยว เพราะเหมือนเป็นบ้านพี่เมืองน้องของไทย ตั้งแต่สมัยโบราณ

ดินแดนแถบนี้เราเชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดถิ่นฐานรกรากของคนไทย จากบางตำรา กล่าวว่า 4 เชียง อันได้แก่เชียงแสน เมืองเชียงตุง (ในพม่า) เชียงทอง (ในลาวหรือที่รู้จักกันว่าล้านช้าง) และเชียงรุ้ง (สิบสองปันนา) ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายเดียวกันที่มีชื่อว่าชาวไต (TAI) ที่ประวัติศาสตร์ขยายว่ามาจากคำว่า อัลไต (Altai) หรือเทือกเขาอัลไตที่เราเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ว่าด้วยที่มาของชนชาติไทย และอีกคำที่ทุกคนควรจะจำได้คือ “อาณาจักรน่านเจ้า” ที่ชาวไตอาศัยอยู่นั้น ปัจจุบันก็คือเมืองต้าหลี่ ในมณฑลยูนนานนั่นเอง ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ว่าชนชาติไตในปัจจุบันกระจายไปอยู่อาศัยในมณฑลต่าง ๆ ของจีน โดยเฉพาะมณฑลยูนนานและมณฑลกวางสีที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย รัฐบาลจีนจึงกำหนดให้เป็นเขตปกครองตนเอง เพื่อให้ชนพื้นเมืองดั้งเดิมได้รักษาวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต

ค้นไปอ่านไปเลยยิ่งทำให้อยากไปดูเมืองและดูชุมชนที่สิบสองปันนาให้ได้ แล้วปีนี้ก็มาลงตัวที่เส้นทางจะไปต้าหลี่ ลี่เจียง และแชงกรีล่า… “เชียงรุ้ง” จึงถูกปักหมุดให้เป็นจุดเช็คอินที่ต้องบินต่อย้อนลงมา เพื่อย่นเวลาและระยะทาง ดีกว่าการนั่งรถจากเชียงของผ่านลาวไปออกบ่อเต็น บ่อหานแล้วจึงผ่านเข้ามณฑลยูนนาน ที่ไม่มีอะไรสวย ๆ งาม ๆ ให้ดูให้เที่ยว… ข้อแม้อีกข้อที่ขอไปคือไกด์ท้องถิ่นถ้าได้คนไทลื้อจะดีมากสำหรับการพาตะลอนให้ทั่วเจาะลึก แวะดูบ้าน ดูชุมชน เข้าวัดพุทธ และขอไปกินอาหารพื้นเมืองด้วย กว่าจะต่อรองกับโลคัลทัวร์ได้ ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน ถึงจะมีบริษัทมารับงาน…ไชโย บินๆ ๆ ๆ…

สิบสองปันนา (Xishuangbanna)

คนที่ไปสิบสองปันนา (เชียงรุ้ง) มาแล้วจะมีความรู้สึกเดียวกันคือ…แปลกใจ เอ..ที่ผู้คนท้องถิ่นดั้งเดิม(ชาวไทลื้อ) แต่ทำไมแต่งกายผ้าเสื้อคล้ายคนเหนือของเราโดยเฉพาะผู้หญิง นุ่งผ้าซิ่น กางจ้อง มีดอกไม้เสียบผมที่เกล้ามวย พอเข้าไปในชุมชนยิ่งฉงนสงสัยหนักเข้าไปอีก เพราะสภาพบ้านเรือนของคนไทลื้อจะปลูกสร้างเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ ๆคล้ายบ้านเก่าทรงโบราณในภาคเหนือ ซึ่งมักจะมีใต้ถุนเตี้ย ๆ ไม่สูงมากนัก มีระเบียงไม้อยู่กลางหรือหน้าบ้าน ส่วนนี้จะไม่มีหลังคาคลุม ไม่มีฝากั้น คนไทยเราเรียกว่านอกชาน ใช้เป็นที่อเนกประสงค์ แต่ลักษณะบ้านในสิบสองปันนาดูขัดแย้งกับสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงเช้าและค่ำ แม้จะเป็นฤดูร้อน แต่ในฤดูหนาวจะต้องเย็นมากๆ เพราะตัวบ้านโล่งโปร่ง รับลมทุกทิศทาง ไม่ปิดทึบ แผนผังของหมู่บ้านคล้ายเมืองไทยเรา มีวัดพุทธใกล้หรือในชุมชน มีศาลาของชุมชน มีบึงน้ำ มีตลาดนัดและลานร้านค้า เป็นที่พบปะกัน นี่มันคนไทยชัด ๆ ๆ ใช่คนจีนคนยูนนานที่ไหนกัน..!!!??

พอนั่งรถเข้าไปในตลาดผ่านย่านการค้า ริมถนนปลูกต้นมะพร้าว กล้วย ต้นหางนกยูง ลั่นทม เฟื้องฟ้า เหมือนบ้านเราเปี๊ยบเลย ร้านค้าคึกคักมีผู้คนมาค้าขายกันมาก เวลาราชการที่เมืองนี้ทราบจากไกด์ว่า ทำงานตั้งแต่ 8.00-12.00 น./ 15.00-18.00 น. ต่างจากเมืองอื่นตรงพักเที่ยงมากกว่า 1ชม เป็น 3 ชม.เนื่องจากมีสภาพอากาศร้อนมากกว่ามณฑลอื่นที่อยู่เหนือขึ้นไป แม้จะมีคนจีน คนฮั่น มาค้าขายและอาศัยอยู่ แต่สถาปัตยกรรมบ้านเรือนก็ยังมีรูปลักษณ์เป็นไทย เช่นมีกาแล ที่หน้าจั่ว มุงหลังคาด้วยกระเบื้องแป้นเกล็ด มีรูปปั้นช้างตกแต่งตามสี่แยก ตามริมกำแพงอาคาร หลายสิบแห่ง

วัด 2 แห่งในเชียงรุ้ง ที่เราควรต้องไป คือวัดป่าเชต์ และวัดเจดีย์ใหญ่จิงฮง ทั้ง 2 วัดมีทั้งโบสถ์ เจดีย์ พระประธาน ที่คนไทยไปร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์ และทำบุญกันต่อเนื่อง แม้แต่สมเด็จพระเทพฯ ก็ปรากฏในแผ่นบันทึกที่วัดป่าเชต์ วัดนี้อยู่นอกเมือง ส่วนวัดจิงฮงอยู่ในเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง

นั่งรถผ่านลานคนเมือง ด้านหน้าศาลากลางจังหวัด ยังเหลือร่องรอยจากงานสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป 2-3 วันก่อน ไกด์สาวคนไทลื้อบอกว่า เล่นสาดน้ำกัน 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-15 เมษายน มีประเพณีสาดน้ำ แข่งเรือ รดน้ำดำหัว ฟ้อนรำ แห่พระพุทธรูป สรงน้ำพระ เหมือนคนไทย เสียดายจัง….

จากเชียงรุ้งไปคุนหมิง ก็เป็นถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ คือเส้นทางสาย R3a แบบ 4 ช่องจราจรระยะทางประมาณ 800 กม. ไม่บินแต่ขอนั่งรถย้อนกลับคุนหมิง เพราะเพื่อนเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมออกแบบ กรมทางหลวง ต้องมาให้ความร่วมมือช่วยเหลือกับกระทรวงคมนาคมลาว ทำงานร่วมกับจีน ชักชวนให้มาดูถนนที่สวยงามที่สุดทั้งด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมในจีนและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้

สิบสองปันนา (Xishuangbanna)

ออกจากเชียงรุ้งหลังเที่ยงวัน อิ่มตากับวิวทิวทัศน์และป่าไม้ตลอด 2 ข้างทาง ข้ามสะพานโค้ง ผ่านสะพานแขวนหลายสิบแห่ง มุดลอดอุโมงค์ 29 แห่งที่เจาะทะลุภูเขาช่วงยาว นับ 2-30 กม. ได้ชื่นชมกับความเรียบเนียนของผิวจราจร และความลาดโค้งที่สอดรับลงตัวกับความเร็วรถอย่างสนุกสนาน ไม่กระเทือน ไม่สั่น นุ่มนวลตลอดทาง ผ่านจุดไฮไลต์ 1 จุดคือ สะพานใหญ่หงเหอ ( Honghe ) ที่กำลังจะถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ เคยเป็นสะพานที่สูงที่สุดในโลก มีความยาว 801 เมตร กว้าง 20 กว่าเมตร ความสูงจากพื้นสะพานถึงผิวน้ำ 163 เมตร สูงเท่าตึก 61 ชั้น ขณะที่สร้างเสร็จถือได้ว่าเป็นสะพานที่สูงที่สุดในโลกจากสะพานประเภทเดียวกัน อลังการจริง ๆ สำหรับจุดหมายแห่งนี้ แม้เพียงแค่ผ่านก็ตาม

สิบสองปันนา (Xishuangbanna)

เพื่อให้มองภาพระยะทางใกล้ไกลของไทย ลาว สิบสองปันนา และคุนหมิง

  1. เชียงราย > เชียงของ = 113 กม.
  2. เชียงของ > บ่อเต็น(ชายแดนลาวติดจีน) = 260 กม.
  3. บ่อเต็น > สิบสองปันนา = 217 กม.
  4. สิบสองปันนา > คุนหมิง = 560 กม.

เชียงรายห่างจากสิบสองปันนา เพียง 590 กม. เท่ากับ กรุงเทพไป ลำปาง พอจะนึกภาพเขตพื้นที่บริเวณและความสัมพันธ์ในอดีตของชนเผ่าไทต่าง ๆ ที่มีการย้ายถิ่นฐาน การไปมาหาสู่ ทำการค้าขาย การสู้รบตบมือ… ที่แน่ ๆอาณาบริเวณของภาคเหนือของไทย ของพม่า ของลาวและ มณฑลยูนนาน (ภาคใต้สุดของจีน) ก็คือดินแดนของบรรพบุรุษเรานั่นเอง


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ เที่ยวกับอินทาเนีย (Journey & Yummy) โดย สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ วศ.17


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save