ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร วศ.27

ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร วศ.27 กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิชชากร จำกัด “วิศวศิลป์” ท่านหนึ่งของไทย


จากจุดเริ่มต้นที่ชื่นชอบในงานศิลปะ ไปสู่การสะสมผลงานจนเข้าไปอยู่ใน DNA ของ ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร วศ.27 กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิชชากร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมให้แก่โครงการก่อสร้างของภาครัฐอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย นิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ ท่านนี้ชื่นชอบและหลงรักในงานศิลปะหลากหลายแขนง เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในวงการนักสะสม จนได้ชื่อว่า “วิศวศิลป์” ท่านหนึ่งของไทย

ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร จบการศึกษามัธยม 5 จากโรงเรียนวัดราชาธิวาส จากนั้นสอบเทียบและสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในภาควิชาวิศวกรรมโยธา เนื่องจากพี่ชายทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และคิดว่าเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี และหลังจากเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทุนเข้าศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ซึ่งเป็นช่วงที่ ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ รู้สึกมีความสุขกับการเรียนมากที่สุดเพราะได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชื่นชอบได้เต็มที่และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ทำกิจกรรมเต็มรูปแบบ รวมทั้งได้เรียนรู้การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม จากนั้นได้ทุนเรียนต่อปริญญาเอกวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมชายฝั่งทะเล ที่ Yokohama National University เป็นทุนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศญี่ปุ่น (Monbusho)

พ.ศ. 2537 หลังจากเรียนจบได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สร้างผลงานสำคัญ คือ ห้องทดลองวิศวกรรมชายฝั่งทะเลจนสำเร็จเป็นแห่งแรกในสถาบันการศึกษาของไทย หลังจากทำงานได้ 2 ปี จึงได้ลาออกจากการเป็นอาจารย์ เพราะรู้สึกถึงความไม่ท้าทายในหน้าที่ และอยากมีประสบการณ์ด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าภาควิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ระบบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยเอกชน

พ.ศ. 2539 ได้ลาออกจากหัวหน้าภาควิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยศรีปทุม เพราะคิดว่าการเป็นอาจารย์ไม่ใช่จุดมุ่งหมายสำคัญในชีวิต จากนั้นได้ก่อตั้งบริษัท วิชชากร จำกัด ขึ้นมา โดยรับเป็นที่ปรึกษางานออกแบบและควบคุมงานให้แก่โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของภาครัฐ จนกลายเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของไทยในปัจจุบัน เพราะได้รับความไว้วางใจให้ทำงานโครงการที่สำคัญต่าง ๆ มากมายของภาครัฐ เช่น งานออกแบบถนนของกรมโยธาธิการ งานออกแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง งานศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีน้ำตาล รวมทั้งผลงานออกแบบและควบคุมงานสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ ซึ่งเป็นสะพานแบบ Extradosed แห่งแรกของเมืองไทย และงานออกแบบและควบคุมงานสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งความยากของโครงการนี้คือเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และมีน้ำเต็มอยู่ตลอดทั้งปี รวมทั้งโครงการควบคุมงานก่อสร้างสะพานยกระดับข้ามทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำไม่สามารถถมดินเพื่อทำถนนได้ ต้องทำสะพานเพื่อให้น้ำลอดไปและไม่กระทบต่อสิ่งมีชีวิต เป็นผลงานที่มีความท้าทายเพราะสะพานมีความยาว 5 กิโลเมตร ใช้เสาเข็มมากกว่า 1 แสนเมตร

งานศิลปะ

ความภาคภูมิใจสมัยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ

จุดเริ่มต้นในการเข้าดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เกิดจากต้องการหาโรงเรียนให้ลูก และเห็นว่าโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีระเบียบที่ชัดเจนและมีหลักเกณฑ์ที่ดี ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ปกครองต้องทำความดีให้แก่โรงเรียนล่วงหน้าอย่างน้อย 2 ปี และได้มีโอกาสได้พบกับคุณศักดิ์ชัย ยอดวานิช ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ

หลังจากลูกคนโตสามารถเข้าเรียนชั้น ป.1 คุณศักดิ์ชัยและอาจารย์ลัดดา ผอ.โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ในช่วงนั้นได้ชักชวนให้ลงสมัครเป็นคณะกรรมการของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จนได้รับมอบหมายงานสำคัญให้ช่วยดูแลและกำกับการก่อสร้างและการตกแต่งภายในอาคาร 50 ปี สาธิตจุฬาฯ โดยมีโจทย์ว่าต้องสร้างให้เสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนที่ ผอ. คนปัจจุบันจะเกษียณ ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก เนื่องจากเป็นอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า 8,000 ตารางเมตร นอกจากนี้ยังได้ช่วยในการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการนี้ไปพร้อมๆ กัน ด้วยความที่รู้จักศิลปินหลายท่าน จึงใช้วิธีขอผลงานจากศิลปินมาประมูลเพื่อหาเงินสร้างอาคาร 50 ปี ได้เงินจำนวน 13 กว่าล้านบาท หลังจากที่สร้างโครงสร้างอาคารแล้วเสร็จยังได้รับผิดชอบเป็นหัวหน้าโครงการในเรื่องการตกแต่งอาคาร ซึ่งทำออกมาได้สวยงาม และประทับใจ ภายในห้องประชุมขนาดใหญ่จุที่นั่งได้ร้อยกว่าที่นั่ง ได้ตกแต่งด้วยภาพวาดจากศิลปิน โดยวาดรูปผู้ก่อตั้งโรงเรียนไปจนถึงผู้อำนวยการคนปัจจุบัน มีห้องพระธรรมสิงหบุราจารย์ เป็นห้องที่เข้าไปแล้วดูเงียบสงบเหมาะสำหรับให้เด็ก ๆ ได้ฝึกสมาธิ รวมทั้งยังตกแต่งด้วยงานศิลปะหลากหลายชิ้น หลังจากสร้างเสร็จรู้สึกภูมิใจเพราะผลงานออกมาสวยงามได้รับคำชื่นชมมากมาย รวมทั้งสร้างเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นได้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการฝ่ายหารายได้ประมาณ 10 ปี และรับตำแหน่งเลขาธิการสมาคมควบคู่ไปด้วย 6 ปี ทำให้โรงเรียนพัฒนาไปอย่างมาก

ต่อจากนั้นได้เข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เป็นเวลา 4 ปี โดยสามารถหารายได้เข้าโรงเรียนได้มากถึง 600 กว่าล้านบาท ได้ทำโครงการสำคัญหลายโครงการ เช่น ให้สถาบัน British Council เข้ามาสอนภาษาอังกฤษเป็นทางเลือกให้แก่เด็ก ๆ ทำโครงการหนังสือที่เขียนโดยอาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เอง กว่า 100 รายวิชา ซึ่งเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องจากคุณศักดิ์ชัย รวมทั้งยังทำโครงการใช้ iPad เป็นสื่อการเรียนการสอนจน คุณทิม คุก ผู้บริหาร Apple มาขอดูการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ทำห้องเรียนอัจฉริยะที่น่าเรียนมาก ๆ ทำให้โรงเรียนสาธิตมีมาตรฐานที่น่าเรียนเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย มีสื่อการเรียนการสอนเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ยังแบ่งปันหนังสือให้แก่โรงเรียนที่ยากไร้ รวมทั้งยังจัดกิจกรรมเดิน วิ่ง การกุศลต่าง ๆ จนสมาคมมีเงินสะสมเป็นจำนวนมาก ทำให้ฐานะการเงินของสมาคมดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยผลักดันให้โรงเรียนมัธยมสาธิตจุฬาฯ มีอาคารเรียน 17 ชั้น หลังใหม่ ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงกำลังสร้าง หลังจากอำลาตำแหน่ง ทางสมาคมยังได้แต่งตั้งให้เป็นนายกสมาคมกิตติมศักดิ์ร่วมกับคุณศักดิ์ชัยด้วย

จุดเริ่มต้นในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.)

จุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการสมาคม สวจ. เนื่องจากคุณศักดิ์ชัย นายก สวจ. ชักชวน จึงได้ตัดสินใจเข้ามาช่วยงาน เพราะเป็นคณะที่เคยเรียน และระหว่างที่เป็นนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้ช่วยงานคณะวิศวฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มามากพอสมควร เช่น เป็นประธานหารายได้การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการจัดงานปิยมหาราชานุสรณ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน และช่วงโควิด-19 ยังบริจาคเงินสมทบสำหรับโครงการหุ่นยนต์น้องปิ่นโต เพื่อมอบให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ต้องการ

หลังจากได้มีโอกาสเข้าทำงานกับ สวจ. เห็นว่ากรรมการชุดนี้ทำงานหนักพอสมควร เพราะต้องสานต่อโครงการปรับปรุงหอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้สวยงามทันสมัย น่าใช้งานให้สำเร็จ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก และถ้าพอมีเงินเหลือจากโครงการหอประชุมก็จะปรับปรุงห้องน้ำของตึก 3 ทั้งหมด รวมถึงลานเกียร์ เพราะเด็ก ๆ ใช้ประโยชน์ที่ค่อนข้างมาก มีการพูดคุยเรื่องนี้ทั้งหมดแล้ว และช่วงที่ทำงานให้แก่ สวจ. ต้องยอมรับว่าเป็นงานที่หนักกว่างานสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เพราะมีทีมงานที่เข้มแข็งแต่ สวจ. มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องเข้าไปดูรายละเอียดเกือบทั้งหมด

ออมศิลป์

จุดเริ่มต้นของการ..ออมศิลป์

จุดเริ่มต้นในการเข้าไปสู่โลกของงานศิลปะกว่า 500 ชิ้น เกิดจากการชักชวนของภรรยาไปหาภาพเพื่อตกแต่งบ้านที่ห้างเอ็มโพเรียม มีแกลลอรี่ขายภาพชื่อ บีบีแกลลอรี่ เจ้าของร้านแนะนำดีมาก ๆ จึงเลือกงานของอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นภาพ “ต้นอ้อ” รุ้งเหลี่ยมรายพร่างพรายนภา ซึ่งเป็นภาพสีน้ำมันใบอ้อลู่ลมของ อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่นชอบและเริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศิลปะมาเรื่อย ๆ

หลังจากนั้นได้ข่าวการจัดงานของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จัดแสดงงานชื่อว่าวาดทำบุญ ครั้งที่ 2 จึงได้ไปชมงานและแนะนำตัวต่ออาจารย์ บอกอาจารย์ว่าอยากได้ผลงานของอาจารย์มาสะสมจากนั้นอาจารย์จึงตัดสินใจขายงานให้ในวันแรกที่พบหน้ากัน

จากนั้นจึงไปหาอาจารย์ทุกวัน ไปดูผลงานและพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องงานศิลปะ รวมทั้งคอยอำนวยความสะดวกขับรถไปส่งอาจารย์ และทานข้าวเย็นด้วยกันบ้าง จนวันสุดท้ายของการแสดงงานอาจารย์ได้นำงานจากบ้านมาแขวนเพิ่ม และพาผมไปดูพร้อมตบไหล่และพูดว่า “ไอ้ชิ้นเล็กนั่นอย่าเอาเลย ดร. พี่ให้ ดร. ชิ้นนี้” เป็นการเปลี่ยนใจขายผลงานชิ้นสำคัญให้ แทนผลงานชิ้นเล็กที่ตกลงกันในครั้งแรก เราดีใจมาก อาจารย์เฉลิมชัยพูดว่าชื่นชอบนิสัยใจคอเราจึงอยากให้ผลงานชิ้นนี้ ซึ่งเป็นภาพยุคสีน้ำเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดของอาจารย์เฉลิมชัย ชื่อภาพ “เย็นใจด้วยธรรม” ซึ่งมีในหนังสือของอาจารย์เกือบทุกเล่ม หลังจากนั้นจึงได้สนิทสนมกับอาจารย์เฉลิมชัยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าไปสู่วงการศิลปะแบบไม่รู้ตัว และมีศิลปินคอยเป็นพี่เลี้ยงให้เพราะเขาเอ็นดูเรา หลังจากนั้นอาจารย์เฉลิมชัยได้ย้ายไปสร้างวัดร่องขุ่นที่จังหวัดเชียงรายก็เริ่มห่างกันไป

นอกจากนี้ยังชื่นชอบในผลงานของ คุณชาติชาย ปุยเปีย และเคยไปนั่งดูอาจารย์วาดรูปทั้งวัน ตกเย็นก็ไปทานข้าว ไปฟังเพลงด้วยกัน ซึ่งในช่วงนั้นก็ได้ผลงานมาหลายชิ้น อีกทั้งยังชื่นชอบและสะสมผลงานของ คุณประสงค์ ลือเมือง คุณเมืองไทย บุษมาโร คุณวสันต์ สิทธิเขตต์ คุณวราวุธ ชูแสงทอง คุณวัชระ ประยูรคำ คุณทินกร กาษรสุวรรณ และ คุณวัชระ กล้าค้าขาย เป็นต้น รวมทั้งยังชื่นชอบเรื่องของเครื่องเสียง พระเครื่อง รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์วินเทจ และงานวินเทจต่าง ๆ อีกด้วย

ส่วนชิ้นงานที่รู้สึกชอบและภูมิใจเป็นพิเศษมีหลากหลายชิ้น แต่จะขอยกตัวอย่างเป็นภาพของอาจารย์เฉลิมชัยชิ้นแรกที่ได้มาเพราะท่านให้ความเอ็นดูเรา

นอกจากการสะสมผลงานศิลปะแล้ว ยังมีโอกาสได้เข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินการประกวดงานศิลปะต่าง ๆ เช่น ศิลปกรรมช้างเผือกที่จัดโดย ThaiBev และการประกวดศิลปกรรมของ SCG และสอนบรรยายพิเศษในเรื่องของการลงทุนในศิลปะให้แก่หลักสูตรวิทยาการตลาดทุน หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เป็นครั้งคราว

“อาจารย์เฉลิมชัยเคยสอนว่า งานศิลปะมีความสำคัญตรงที่ผลงานจะอยู่กับใคร เพราะถ้าอยู่กับบุคคลหรือสถานที่ที่ไม่ดีจะทำให้ผลงานไม่มีคุณค่า หากอยู่กับคนที่รักและดูแลอย่างดีผลงานจะดูมีคุณค่า อาจารย์จึงเลือกว่าจะให้ผลงานไปอยู่กับใคร”

งานศิลปะ

“ออมศิลป์” กลายเป็นการออมสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้ ดร.วุฒิพงศ์ ยังทำหนังสือที่ชื่อ “ออมศิลป์” ขึ้นใน พ.ศ. 2556 เนื่องจากอาจารย์ถาวร ซึ่งเป็นเพื่อนศิลปิน เห็นการสะสมผลงานศิลปะของเรา และบอกว่าควรจะทำหนังสือเพื่อเป็นการเผยแพร่ให้คนได้รู้ โดยการใส่เรื่องราวของเราเข้าไปด้วยเพื่อให้เป็นประโยชน์เพราะเราไม่ใช่เพียงนักสะสม แต่เรามีความเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องกับศิลปินหลายท่าน รวมทั้งยังเคยใช้ชีวิตร่วมกับเขาในช่วงเวลาหนึ่งเราจึงอยากใส่ข้อมูลในส่วนนี้เข้าไปในหนังสือเล่มนี้

และด้วยความบังเอิญ เนื่องจากหนังสือดิฉันขอเข้าสัมภาษณ์และพุดคุยเรื่องผลงานศิลปะ ซึ่งไม่รู้มาก่อนเลยว่าการสะสมผลงานศิลปะของเราคือ การออม เพราะการซื้อปกติทั่วไปจะไม่ใช่การออม จะเป็นการใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นงานศิลปะมูลค่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนกลายเป็นการออมและสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ยกตัวอย่างผลงานของอาจารย์เฉลิมชัยและอาจารย์ชาติชาย ในสมัยก่อนซื้อไม่แพงมาก ปัจจุบันราคาขึ้นมา 20-30 เท่าตัว นี่จึงเป็นที่มาของ “ออมศิลป์” ผมจึงใช้ชื่อนี้ในการทำหนังสือเพราะชื่นชอบและถือว่าเป็นการออมจริง ๆ แต่เป็นการออมศิลปะ รวมทั้งผมได้เล่าเรื่องนี้ให้หลาย ๆ คนฟัง กลายเป็นการไปเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ในเรื่องของการออม

หนังสือออมศิลป์เป็นมากกว่าแค็ตตาล็อกสะสม เราทำด้วยความประณีต มีบทสัมภาษณ์ศิลปินที่เราชื่นชอบและเคยได้สัมผัสในตัวตนของเรา มีผลงานของศิลปินแต่ละท่านที่เราได้สะสมไว้ รวมทั้งอธิบายความพิเศษของชิ้นงานที่สำคัญแต่ละชิ้น หนังสือเล่มนี้ใช้งบประมาณจัดทำทั้งหมด 2 ล้านกว่าบาท ปัจจุบันยังมีวางจำหน่ายที่ร้าน MOCA เล่มละ 2,400 บาท และช่วงหลัง ๆ ไม่เน้นจำหน่าย เน้นแจกให้แก่เพื่อน ๆ และหุ้นส่วนมากกว่า

สิ่งที่อยากฝากไปถึงน้อง ๆ อินทาเนีย

“ผมเคยพูดในบทสัมภาษณ์ครั้งที่ได้รับรางวัลวิศวจุฬาฯ ดีเด่น ผมเองเริ่มต้นจากศูนย์ เราเป็นครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน คุณพ่อเสียแล้ว และคุณแม่ก็อยู่บ้านเป็นแม่บ้าน พี่ ๆ ก็ดำเนินธุรกิจของเขา ซึ่งเราก็เริ่มด้วยตัวเราเองใหม่ทั้งหมด อยากจะฝากถึงน้อง ๆ ว่าเราสามารถประสบความสำเร็จได้ ไม่จำเป็นต้องมาจากครอบครัวที่มีฐานะหรือมีธุรกิจอยู่แล้ว ถ้ามีความตั้งใจ ผมคิดว่าเราทำได้สำเร็จ หากเราชื่นชอบอะไรถ้าทำด้วยใจรักและทำอย่างจริงจัง เราก็สามารถทำได้ และนอกเหนือจากเรื่องงานหลัก ผมก็ได้ทำงานสำคัญ ๆ หลายอย่าง และงานศิลปะก็เป็นงานที่ผมไม่มีความรู้และไม่มีฝีมือในเรื่องของศิลปะเลย แต่เราชอบและศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้เราเป็นบุคคลในวงการศิลปะที่ได้การยอมรับบุคคลหนึ่ง”


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save