วิศวฯ จุฬาฯ ผลักดันเทคโนโลยี CCUS ด้วยการเดินหน้าเป็นหน่วยงานกลางประสาน 8 ธุรกิจระดับประเทศ จัดตั้ง CCUS Consortium ซึ่งได้ประกาศความร่วมมือในงาน Future Energy Asia (FEA) 2022 การจัดตั้งความร่วมมือในนาม CCUS Consortium นับเป็นก้าวสำคัญในการจัดการ CO2 ซึ่งเดิมถูกมองว่าเป็นมลพิษ นำมาแปรรูปแล้วนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ กล่าวคือเป็นเทคโนโลยีในการนำของเสียมาสร้างเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางด้านการพาณิชย์ในขณะเดียวกันยังเป็นการขจัดมลภาวะให้กับสภาพแวดล้อมอีกด้วย
ในงาน FEA 2023 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤษภาคม 2566 ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานองค์กรสมาชิก CCUS Consortium ได้ถือเป็นโอกาสอันดีในการนำเสนอความก้าวหน้าของ CCUS consortium ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เป็นต้นแบบในการร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ เอกชน และจุฬาฯ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยด้วยการใช้เทคโนโลยีและวิชาการในการเปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต
วิศวฯ จุฬาฯ ได้นำเสนอความก้าวหน้าของ CCUS consortium ผ่านการประเมินหลากหลายเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเปลี่ยน CO2 ไปเป็นผลิตภัณฑ์และสารเคมีมูลค่าสูงซึ่งล้วนใช้ในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ สมาชิก CCUS consortium ได้ร่วมกันประเมินศักยภาพเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการดักจับและใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว และจุฬาฯ ยังได้เริ่มต้นโครงการการสาธิตเทคโนโลยีการดักจับและการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์โดยการเปลี่ยน CO2 ไปเป็นเมทานอลโดยผ่านความร่วมมือกับสมาชิกใน CCUS consortium อีกด้วย
ในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “CCUS Consortium Progress Update and Key CCUS Project Collaborations”
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย
- ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คุณปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด
- คุณพงษ์กิตติ์ ลักษมีพิเชษฐ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่าย Carbon Capture and Utilization (CCU) และ Hydrogen บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งทิวา เมธาอาภานนท์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวฯ จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
การที่จะสามารถทำการวางแผนตลอดจนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน CCUS ได้นั้น ต้องอาศัยข้อมูลและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในประเทศไทย จากผู้ผลิตและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สร้าง CO2 และมีโอกาสที่จะกับเก็บหรือนำไปใช้ประโยชน์โดยผ่านกระบวนการและเทคโนโลยี จนถึงหน่วยงานที่สามารถวิจัยและสร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อดักจับ กักเก็บ และ แปรรูป CO2 เช่นมหาวิทยาลัยและองค์กรทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนภาครัฐผู้วางนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ CCUS Consortium จัดตั้งขึ้นโดยมีหน่วยงานเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศเข้าเป็นสมาชิกร่วม Consortium ดังต่อไปนี้
กลุ่มอุตสาหกรรม Oil&Gas
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน
- บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
กลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์
- บริษัท เอส ซี จี ซีเมนต์ จำกัด (มหาชน)
กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี
- บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด
กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก
- บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)
และมีหน่วยงานภาครัฐและองค์กรสาธารณะเป็นที่ปรึกษาของ Consortium ได้แก่
- สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
- สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)