ความเสี่ยง

มนุษย์โลกทุกวันนี้อยู่บนความเสี่ยง


ไม่ว่าจะเสี่ยงต่อโรคร้ายใหม่ ๆ ที่ก่อเกิดขึ้นมาไม่เว้นแต่ละวัน มีทั้งใหม่แบบไม่เคยพบไม่เคยเห็นบ้าง ใหม่แบบพัฒนาแปลงร่างบ้าง ที่เห็นชัดคือโควิด-19 ที่มีสารพัดสายพันธุ์มาให้เราสะดุ้งกันอยู่แทบจะตลอดเวลา ที่สำคัญมันทำให้เรากลับมาอยู่กับความเป็นจริงว่า มนุษย์อยู่บนความเสี่ยงอย่าได้ทะนงตนว่า ข้าแน่ มีวิชามาก แบบที่ผ่านมา ที่มาถึงวันนี้คงไม่มีใครกล้ามั่นใจในเทคโนโลยีทางการแพทย์อีกแล้วว่า จะเนรมิตให้ชีวิตมนุษย์มีแต่ความปลอดภัย วิธีเดียวที่เราจะใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้คือการยอมรับความจริงถึงความเสี่ยงในโรคระบาดใหม่ ๆ และปรับวิถีการดำเนินชีวิตให้เสี่ยงน้อยที่สุด

หรือความเสี่ยงจากภัยพิบัติใหญ่ ๆ ก็เช่นเดียวกัน หลังจากสึนามิใหญ่เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ก็ไม่มีมนุษย์คนไหนกล้ามั่นใจอีกแล้วว่า ตนจะไม่เจอกับภัยธรรมชาติอันร้ายกาจที่ธรรมชาติมาเอาคืนจากการทำลายล้างของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากแผ่นดินไหว ที่แนวโน้มไหวหนักขึ้นเรื่อย ๆ น้ำท่วม พายุคะนองที่แทบจะเหมือนเป็นเพอร์เฟ็ก สตอร์ม เข้าไปทุกที ไม่เว้นแม้แต่ภัยที่นึกว่าจะมีแต่ในนิยายวิทยาศาสตร์อย่างคลื่นความร้อนถาโถมที่มีเค้าเกิดขึ้นได้จริงในอนาคตอันใกล้ ยังไม่รวมภัยโดยอ้อมที่กำลังจะมาถึงแน่ ๆ อย่างภัยจากภาวะโลกร้อน ที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรกันจนเลยเถิดเกินลิมิตการฟื้นตัวของธรรมชาติ จนทำให้อากาศมีแต่จะวิปริตไปเรื่อย ๆ มากและถี่ขึ้น

ยังไม่นับภัยแบบไฮเทคอย่างภัยจากการขาดแคลนพลังงาน หรือภัยจากการทำงานผิดพลาดของคอมพิวเตอร์ ใครเคยผ่านยุคมิลเลนเนียมที่เกิดการเปลี่ยนสหัสวรรษมาคงยังพอจำกันได้ว่า ตอนนั้นเราเกรงเหตุร้ายจากการทำงานผิดพลาดอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนปี ค.ศ. ในหลักพันว่า จะทำให้ระบบการนำทาง การขนส่ง การเงิน การอุตสาหกรรม ทำงานเพี้ยนจนเครื่องบินตก รถไฟชน เงินในบัญชีหายเกลี้ยง (อันนี้สำคัญ) ถ้าพอจำได้ คงระลึกได้ว่า พวกเราเครียดกันขนาดไหน ถึงขนาดมีบางกลุ่ม บางหมู่ หนีออกไปเตรียมตัวลาโลกกันเลยทีเดียว แต่สุดท้ายเราก็รอดมาได้ เพราะเหตุนั้นเป็นเหตุที่เราสามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยมีเวลาแก้ไขป้องกันพอที่จะหยุดยั้งไม่ให้เกิด (ในมุมกลับว่า หากเราไม่รู้ก็มีสิทธิ์เหมือนกันที่การทำงานพร่องของเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่ของมนุษยชาติแบบที่เราหวั่น)

แต่อย่างไรก็ตาม วิบัติภัยเหล่านี้แม้จะเกิดจากมนุษย์ แต่มนุษย์ก็ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดอย่างโรคระบาด แม้อาจบอกได้ว่า ส่วนหนึ่งเริ่มจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่ผิดเพี้ยนจนทำให้เกิดโรคแปลก ๆ ขึ้น แต่สุดท้ายแล้วคือมนุษย์ไม่ได้ตั้งใจสร้างโรคนั้นขึ้นมาหรือภัยธรรมชาติก็เช่นกัน อาจพูดได้ว่า เกิดจากการเอาเปรียบธรรมชาติของมนุษย์แต่ย่อมไม่มีมนุษย์คนไหนอยากให้เกิดภัยพิบัติขึ้น หรือภัยจากช่องโหว่ของเทคโนโลยีที่ก็ไม่มีโปรแกรมเมอร์คนใดตั้งโปรแกรมให้มันเกิด แต่มันเกิดจากความนึกไม่ถึง

ภัยเหล่านี้ว่าน่ากลัวแล้ว แต่ยังสู้อีกภัยที่น่ากลัวกว่าไม่ได้ เป็นภัยที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของมนุษย์ที่จุดชนวนมันขึ้นมาเอง นั่นคือ “ภัยสงคราม”

หากพูดถึงการเกิดสงครามในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ แทบทุกคนคงนึกไปถึงสงครามการค้า สงครามไซเบอร์ นักรบดิจิทัลคงมีน้อยคนที่จะคิดไปถึงการเกิดสงครามใหญ่ ๆ ในรูปแบบดั้งเดิมอย่างสงครามโลก เพราะหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น กำแพงเบอร์ลินล่มสลายไปพร้อมกับขั้วอำนาจ 2 ขั้วที่สลายหมดแล้ว เราก็คิดว่ามนุษย์คงไม่หันกลับไปรบแบบนั้นอีก

แต่เช่นเคยครับ อะไรที่คิดว่าพ้นยุคแล้ว ไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้ว ก็หวนกลับมาเกิดใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดที่แต่ก่อนต้องกลับไปเปิดหนังสือประวัติศาสตร์หาอ่านเรื่องหวัดระบาดในยุคก่อน แต่มาวันนี้ไม่ต้องทำเช่นนั้นแล้ว เพราะไวรัสโควิด-19 มาเสนอหน้าเป็นข่าวอยู่ทุกชั่วโมง สงครามก็เช่นกัน ที่อาจไม่ต้องไปศึกษากับตำรา แต่มีให้ดูกันได้สด ๆ ในสื่อต่าง ๆ แถมวันนี้มีให้เลือกดูถึง 2 สมรภูมิที่น่ากลัว ทั้งโซเวียต-ยูเครน ซึ่งกำลังฮึ่ม ๆ กันมาพักใหญ่อย่างมองไม่เห็นทางจบง่าย ๆ และอีกจุดก็เพิ่งสด ๆ ร้อน ๆ กับความสัมพันธ์ของพี่เบิ้มที่สุด 2 พี่ของโลกคือ สหรัฐอเมริกากับประเทศจีน 2 ชาตินี้งัดข้อกันมาตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยี การค้า จนไป ๆ มา ๆ จะกลับมาเล่นกันจริงกับสงครามจริง ๆ เราได้กลับมาเห็นภาพการเกทับบลัฟแหลกของคู่ชิงอำนาจ การซ้อมรบด้วยอาวุธจริง การวางกองกำลังแบบชวนให้เสียวสันหลัง การออกแถลงการณ์ที่ใช้น้ำหนักแบบหนักที่สุด นี่ยังไม่นับอีกหลายสมรภูมิขนาดย่อมลงมาอย่างเกาหลีเหนือ หรืออิหร่าน

นี่แหละครับ โลกยุคนี้เสี่ยงทั้งที่เราคุมไม่ได้ เราไม่ได้ตั้งใจและเสี่ยงจากความอยากของมนุษย์กันเอง อย่างเรื่องการทำสงคราม เหมือนย้อนยุคกลับไปสมัยดึกดำบรรพ์กันเลยที่มนุษย์รบกันมาตั้งแต่จำความได้ เริ่มแรกก็รบกับสัตว์เพื่อป้องกันตัว เลยมาถึงเพื่อเป็นอาหาร แต่พอมนุษย์หมดศัตรูอย่างสัตว์ก็หันมารบกันเอง เพื่อช่วงชิงความสะดวกสบายชิงเอาทรัพยากร มาถึงวันนี้เรายังไม่สามารถเลยจุดนั้นไปได้เรายังคงรบกันเองอยู่เช่นเคย

แล้วความเสี่ยงจากสงครามนี้จะป้องกันอย่างไร

หากจะตอบกันจากใจก็ต้องบอกว่า วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การทำให้มนุษย์ทุกคนรู้สึกเป็นดังญาติพี่น้องกัน มีความเอื้ออาทรห่วงใยกันด้วยใจ อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่อย่างที่มีคำเก๋ ๆ เรียกว่า “ประชากรโลก” หรือ “Global Citizen” มีอะไรก็แบ่งปันกัน อยู่กันด้วยความรัก ความปรารถนาดี นั่นคือภาพในฝันที่ผมเชื่อว่า ทุกคนอยากให้เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงคือ ด้วยความเป็นมนุษย์ มีตัวกู ของกู มีพวกฉันพวกเธอ มีของฉัน ของเขา ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะอยากได้ของที่เราคิดว่าจำเป็นมาเป็นของเรา หรือไม่ก็ไม่อยากเสียหรือไม่อยากเสี่ยงที่จะเสียของที่เป็นของเราให้คนอื่น นี่เองครับ เลยเกิดการป้องกันด้วยการรบราฆ่าฟันกัน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครมาเอา หรือเราจะสามารถได้ของ ๆ ใครนั้นมาได้

และหากถามต่อว่า แล้วหากเจาะจงมาที่ตัวเราคือ ประเทศไทยของเรานี่ล่ะว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า วัน(ไม่)ดี คืน(ไม่)ดี ประเทศเราอาจจะกลายเป็นคู่สงครามกับชาติมหาอำนาจอื่น ๆ

คำตอบจากยุคที่ทุกอย่างอยู่บนความเสี่ยงนี้ก็คือ “เป็นไปได้” ครับ

ซึ่งเมื่อมีโอกาส สิ่งที่เราต้องทำก็คือเราต้องเตรียมการณ์เพื่อปกป้องชาติของเรา แต่ด้วยศักยภาพอันจำกัด คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะทำอย่างไร

ผมมีตำรามาฝากครับ เป็นวิธีที่อยู่ในคัมภีร์หลักของชาวพุทธเราด้วยนั่นคือ พระไตรปิฎก เป็นคำสอนในหัวข้อที่เรียกว่า “อปริหานิยธรรม” หรือธรรมอันทำให้ไม่เสื่อม มี 7 ประการ ได้แก่

  1. การประชุมกันเป็นประจำ
  2. เริ่มและเลิกประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง
  3. ไม่มีมติใหม่ที่ขัดกับหลักการ หรือไม่ยกเลิกล้มล้างหลักการเดิมตามใจตน
  4. เคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้อาวุโส
  5. ไม่กดขี่ทำร้ายผู้อ่อนแอกว่าทั้งเด็กและสตรี
  6. เคารพและบูรณะ ดูแลสถานที่และวัตถุประจำชาติ
  7. ทำนุบำรุงผู้ทรงคุณ ผู้นำทางจิตวิญญาณ นักปราชญ์ ส่งเสริมให้บุคคลดังกล่าวมาอาศัยในสถานที่

อ่านแต่เผิน ๆ อาจเหมือนเป็นเรื่องจริยธรรม ข้อพึงปฏิบัติโดยทั่วไป แต่ลองพิจารณาดี ๆ ซิครับว่า หากหมู่คณะใด องค์กรใด หรือบริษัทห้างร้านใด สามารถทำตามนี้ได้ ความเข้มแข็ง การมีราก ความเหนียวแน่นสามัคคี ย่อมเกิดขึ้นแก่หน่วยงานนั้นอย่างแน่นอน และเมื่อเกิดขึ้นหมายความว่า ความเจริญหรือความไม่เสื่อมดังวัตถุประสงค์ของพระสูตรนี้นี่เอง

และถ้าเราจะเฉลียวเสียหน่อย ก็สามารถนำวิธีนี้ไปใช้ไม่ใช่เพียงเพื่อป้องกันประเทศ แต่ยังสามารถนำไปใช้ในการปกป้ององค์กรธุรกิจของเราได้ ขนาดในตำรา กองกำลังทหารอันแข็งกล้า ไม่ว่าจะชาติใด ชนใด จะตัดสินใจเข้าไปตีเมืองไหน แม้จะเป็นเมืองเล็กกำลังน้อย เขายังต้องพิจารณากันถ้วนถี่ กษัตริย์หรือแม่ทัพนายกองต้องประเมินให้ดี โดยเฉพาะการประเมินความสามัคคีของชนชาติที่จะไปตีนั่นแหละว่ามีมากเพียงใด ความสามัคคีนี้มีอานุภาพยิ่งกว่าอาวุธยุทโธปกรณ์มากนักแม่ทัพจะลังเลทันทีหากสืบแล้วชาตินั้นรักใคร่กลมเกลียวกัน เพราะแม้จะใช้กำลังหักหาญได้ในท้ายสุด แต่ย่อมแลกมาด้วยความสูญเสียมหาศาล วิธีการที่เขาใช้คือ การถอย ยอมงดไม่ตี ไม่เช่นนั้นก็ใช้การผูกมิตรเอาเป็นพวกไปเลยดีกว่า หรือใช้เล่ห์คือการยุยงให้คนในชาตินั้นแตกแยกไม่ปฏิบัติตามธรรมแห่งความไม่เสื่อมทั้ง 7 ข้อนี้ นั่นแหละเขาถึงจะส่งทหารเข้าไปยึดเอาอย่างง่ายดาย

วันนี้แม้ความเสี่ยงจากการเป็นคู่สงครามโดยตรงของเราอาจจะยังไม่มาก แต่สงครามในระดับองค์กร บริษัทห้างร้านของเราที่เหนื่อยยากสร้างขึ้นมาล้วนตกอยู่ในสมรภูมิสงครามทั้งสิ้น อีกทั้งคู่ต่อสู้ของเราวันนี้ไม่ได้มีเพียงองค์กรระดับเดียวกันในประเทศ แต่เป็นองค์กรข้ามชาติที่ถาโถมเข้ามาแย่งชิงประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า จากโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะดีเหลือเกินถ้าเรานำเอาหลักอปริหานิยธรรมนี้มาใช้เพื่อทำให้ข้าศึกเกรงกลัวไม่กล้ารุกรานเรา ความเป็นปึกแผ่นของเรานี้ทำให้กองทัพมหาอำนาจกลัวยิ่งกว่าเรือดำน้ำอีกครับ

ผมเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ นะ ปรินต์ 7 ข้อนี้เป็นธรรมนูญใส่กรอบติดในห้องประชุมบอร์ดบริหารไว้เลย รับรองบริษัทเราจะมีแต่ความรุ่งเรืองครับ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ ข้อคิดจากนิสิตเก่า โดย ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา วศ.28


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save