SDGs: Sustainable Development Goals

SDGs อาชีพแห่งอนาคต


จากสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในมนุษยชาติ ทุกคน ทุกวงการได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้ วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจนชนิดไม่มีใครนึกถึง

แต่ในอีกด้าน วิกฤตการณ์ในครั้งนี้ได้ทำให้เห็นถึงภูมิต้านทานของสินค้าและบริการที่ตอบสนอง ‘ความต้องการแท้’ ว่ามีมากกว่าสินค้าหรือบริการที่มุ่งขายความต้องการเทียมเป็นอย่างมาก เพราะความต้องการเทียมนอกจากต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการกระตุ้นตลาดและสร้างค่านิยมแฝงแล้ว ในยามที่เกิดวิกฤติใหญ่ธุรกิจประเภทนี้ยังเป็นธุรกิจแรก ๆ ที่ล้ม เพราะกำลังซื้อของลูกค้าไม่เพียงพอที่จะมาใช้กับสินค้าฟุ่มเพือยที่ยังไม่จำเป็น ดังนั้น การทำธุรกิจยุคใหม่จึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการแท้ หรือการแก้ปัญหาให้กับสังคมเป็นหลัก โดยเฉพาะปัญหาระดับโลกที่เรียกว่า SDGs

สำหรับพวกเราชาววิศวฯ ลูกหลานพระวิษณุกรรม เทพผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างเครื่องมือและสร้างสิ่งของต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น จึงอยากชวนคิดต่อว่า แล้วในวิกฤตเช่นนี้ เราจะสร้างงาน สร้างอาชีพที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาโลก ซึ่งเป็นความต้องการแท้ได้อย่างไรบ้าง เพราะนี่ไม่เพียงเป็นโอกาสรอด แต่ยังเป็นโอกาสทองทางธุรกิจที่นอกจากจะสามารถสร้างความมั่นคงแล้ว ยังช่วยสร้างสรรค์สังคมให้รอดพ้นจากปัญหาด้วย อีกทั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย กลุ่มประเภทธุรกิจเหล่านี้จะยิ่งกลายเป็นดาวเด่นที่สามารถขยายตลาดได้ง่าย เพราะนี่คือ Mega Trend กระแสหลักของโลกธุรกิจในปัจจุบัน

สำหรับ SDGs หรือ Sustainable Development Goals นั้นเป็นบทสรุปจากการสำรวจของสหประชาติถึงปัญหาที่ประเทศสมาชิกทั่วโลกประสบและต้องการให้แก้ไข มีทั้งสิ้น 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเป้าหมายนี้กำเนิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 2015 ประกอบไปด้วย 169 เป้าหมายย่อย (SDG Targets) ที่มีความเป็นสากล เชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน และกำหนดให้มี 247 ตัวชี้วัด เพื่อใช้ติดตามและประเมินความก้าวหน้าของการพัฒนา โดยสามารถจัดกลุ่ม SDGs ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ (5P) ได้แก่

  • มนุษย์: มุ่งขจัดความยากจน การขาดอาหารและและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
  • โลก: รักษาทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาสภาพภูมิอากาศให้เหมาะสม
  • เศรษฐกิจ: ดูแลด้านคุณภาพชีวิต สุขอนามัย
  • สันติภาพ: พัฒนาธรรมาภิบาล สร้างสังคมที่สงบสุข ไม่แบ่งแยก
  • ความร่วมมือ: ให้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ

โดยเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมาย ประกอบด้วย

  1. ขจัดความยากจน
  2. ยุติความหิวโหย
  3. สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
  4. จัดการศึกษาให้มีคุณภาพ
  5. สร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ
  6. จัดการเรื่องคุณภาพของน้ำ
  7. ดำเนินการพลังงานสะอาด
  8. ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง
  9. สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม
  10. ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ
  11. การจัดการเมือง
  12. สร้างหลักประกันการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
  13. ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  14. อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรอย่างยั่งยืน
  15. ปกป้อง ฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก
  16. ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและยุติธรรม
  17. เสริมความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก

ซึ่งวางไว้ว่า ทุกประเทศต้องช่วยกันผลักดันให้แล้วเสร็จใน ค.ศ. 2030 เมื่อมองในมุมของการทำธุรกิจ หากใครที่สามารถนำงานของตนมาใช้ตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ก็จะได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลภายในไปจนถึงนักลงทุนระดับโลก ที่ปัจจุบันจะพิจารณาสนับสนุนองค์กรที่มีคะแนน SDGs Score เป็นบวก

SDGs
Kid-mai.com

SDGs จึงเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของคนที่กำลังค้นหาเป้าหมายชีวิต ค้นหาอาชีพที่ทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยผู้ประกอบการที่มีธุรกิจอยู่แล้วให้เห็นช่องทางใหม่ ที่คนจำนวนมากมักนึกไม่ถึงในประเด็นปัญหาที่อยู่ใน 17 ข้อนั้นว่าเป็นปัญหาระดับโลก ทำให้ละเลยโอกาสงามนี้ไป จนเมื่อได้ศึกษาโดยเฉพาะลงลึกในรายละเอียดย่อยของแต่ละเป้าประสงค์ใน 17 ข้อ ซึ่งมีแยกย่อยไปอีกมากก็จะยิ่งทำให้เจองานที่ตนอยากทำและถนัดได้ง่ายขึ้น โดยสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://sdgs.un.org/goals (และขอเชิญชวนมาร่วมติดตามฟังแนวคิดดี ๆ ได้ในสโมสร Build Your Future ที่คลับเฮาส์ ซึ่งเป็นพื้นที่ให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ และทำด้าน SDGs ทั้งในและต่างประเทศมาแบ่งปันกันทุกวันจันทร์เวลา 15.00 น.)

SDGs ถูกมองว่า เป็นโอกาสทองของทั้งคนที่กำลังหาอาชีพ และองค์กรที่กำลังเริ่มทำธุรกิจหรือมองหาธุรกิจใหม่ ขณะเดียวกัน SDGs ก็เป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อธุรกิจที่ละเลยไม่สนใจ ดังนั้น เราจะจับ SDGs เพื่อสร้างธุรกิจช่วยแก้ปัญหาสังคมให้สมกับเป็นลูกพระวิศวกรรม หรือจะยอมให้ SDGs เข้ามา Disrupt อาชีพและธุรกิจของเรา ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองนะครับ


ที่มา: คอลัมน์ ข้อคิดจากนิสิตเก่า โดย ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา วศ.28


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save