สังคมสูงวัยกับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19

สังคมสูงวัยกับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล รัสเซีย และอินเดีย จำนวนผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ได้อีก ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในระดับโลกอีกครั้งเป็นรอบที่สอง

ศ. ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน ผศ. ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ผศ. ดร.สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์ ผศ. ดร.ภัทเรก ศรโชติ และ รศ. ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับ ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในมิติของ สังคมสูงวัย ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศไทย

ผลกระทบทางสังคมและทางเศรษฐกิจ ประการแรกคือ ผลกระทบต่อตลาดแรงงานและความสามารถในการผลิตในส่วนของแรงงานสูงวัย

เป็นที่ทราบกันดีว่า มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดแรงงานและความสามารถในการผลิต แม้ว่าหลายประเทศได้เริ่มลดระดับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมไปบ้างแล้ว แต่กลุ่มแรงงานสูงวัยก็มักจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปทำงาน ทั้งจากความสมัครใจของผู้สูงวัยเอง หรือ จากนโยบายของรัฐ (เช่น กรณีที่ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ได้แนะนำให้เริ่มต้นการเปิดเมืองโดยเริ่มจากแรงงานวัยหนุ่มสาวก่อน) เพราะกลุ่มแรงงานสูงวัยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จากการติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงกว่าประชากรในวัยอื่น ดังนั้น แรงงานสูงวัยอาจจะต้องรอจนถึงวันที่การผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายจึงจะสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้งก็เป็นได้

สังคมสูงวัยกับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19

หากอ้างอิงข้อมูลจาก The Census Population Survey ของประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่า ใน พ.ศ. 2562 แรงงานที่มีอายุมากกว่า 55 ปีนั้นมีมากกว่า 36 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 23 เปอร์เซ็นต์ และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 มาจากการจ้างงานในกลุ่มประชากรสูงวัยทั้งสิ้น ดังนั้น ประชากรสูงวัยที่ยังมีสุขภาพดี มีการศึกษาดี และมีประสิทธิผลในการทำงานสูง ก็ยังถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต นอกจากนี้ งานวิจัย ชั้นนำทางเศรษฐศาสตร์หลายชิ้นยังพบว่า การตกงานเป็นเวลานานของผู้สูงวัยจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “Unemployment Scarring” หรือปรากฏการณ์แผลเป็นจากการตกงาน ซึ่งเกิดจากการที่แรงงานสูงวัยได้สูญเสียทักษะที่สำคัญในการทำงานไปเนื่องจากการตกงานเป็นระยะเวลานาน และอาจจะทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ อีกเลย ทั้งนี้ ก่อนวิกฤตโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ผู้สูงวัยกลับเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพื่อลดผลกระทบจากการขาดรายได้ของผู้สูงวัยและลดภาระ ของรัฐสำหรับค่าใช้จ่ายจากสวัสดิการต่าง ๆ ของผู้สูงวัย แต่การแยกผู้สูงวัยออกจากภาคเศรษฐกิจนั้นจะทำให้มาตรการส่งเสริมผู้สูงวัยในตลาดแรงงานไม่สามารถทำได้

สำหรับผลกระทบทางสังคมและทางเศรษฐกิจประการที่ 2 คือ ปัญหาหนี้สาธารณะจากการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยในระดับสูงก็มักจะ มีค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจากสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัยในระดับสูง อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การรับมือวิกฤตโควิด-19 อาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและหนี้สาธารณะสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยในระดับสูงจะมีอัตราการเสียชีวิตหรือการป่วยในขั้นวิกฤตของประชากรจากโรคโควิด-19 ในระดับที่สูงมากเช่นกัน จากรายงานของเว็บไซต์ Worldometers ซึ่งรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก พบว่า ประเทศอิตาลีและประเทศสเปนมีอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากโรคโควิด-19 ในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 10 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศเหล่านี้จะต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะไม่สามารถรักษาชีวิตพวกเขาไว้ได้ก็ตาม

ส่วนผลกระทบทางสังคมและทางเศรษฐกิจประการที่ 3 คือ ปัญหาสุขภาพจิตใจของผู้สูงวัยจากการถูกแยกออกจากภาคเศรษฐกิจและสังคม สาเหตุสำคัญที่จะต้องแยก ผู้สูงวัยเป็นเพราะผู้สูงวัยมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าประชากรในวัยอื่น งานวิจัยของ Armitage และ Nellums (2020) พบว่า การที่ผู้สูงวัย ถูกแยกออกจากภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยให้อยู่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาวะทางจิตที่ยํ่าแย่กว่าและมีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้า ได้สูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคที่อาจจะตามมาอีกหลายประการ นอกจากนี้มีผู้สูงวัยจำนวน ไม่น้อยที่ “ไม่มีลูกหลาน” คอยดูแลทั้งทางด้านการเงินและทางด้านจิตใจ


ที่มา: https://www.chula.ac.th/news/32262/
อินทาเนีย ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2563 คอลัมน์ รอบรั้วจามจุรี โดย จุฬาลงกรณณ์มหาวิทยาลัย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save