EV

จีน สหรัฐอเมริกา ยานยนต์ไฟฟ้าและทางเลือกทางรอดอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ตอนที่ 1


นับจนถึงทุกวันนี้ สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 อยู่กับโลกมาเกือบ 2 ปีเต็มแล้ว และเมื่อมีการกระจายการฉีดวัคซีนกันอย่างแพร่หลาย มีการพัฒนาวัคซีนมากมายหลายชนิดเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทยของเราเองก็ยังเร่งพัฒนาวัคซีนโดยนักวิจัยของเราเองขึ้นมาอีก 2-3 ชนิด ไม่นับรวมสมุนไพรพื้นบ้าน “ฟ้าทลายโจร” ที่ใช้บรรเทาและทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อฟื้นฟูสภาพร่างกายได้ดีขึ้นล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคมมีข่าวเรื่องยารักษาอาการป่วยที่พัฒนาโดยบริษัทยาใหญ่ของโลก ทำให้ความรู้สึกผ่อนคลายจากอันตรายของโรคระบาดร้ายแรงนี้เริ่มมีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้อยู่ในแวดวงวิชาการสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทั้งหลายได้พยายามส่งเสียงเตือนชาวโลกว่า เมื่อ COVID-19 กำลังจะผ่านไป สิ่งที่ควรหันมาเอาใจใส่กันอย่างจริงจังเสียทีเพราะเป็นเสมือนหนึ่งระเบิดเวลาที่นาฬิกาเดินอยู่อย่างต่อเนื่องใกล้ถึงเวลาระเบิดเข้าไปทุกที คือ พิบัติภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครับ ซึ่งนอกจากสัญญานเตือนจากคนในวงวิชาการแล้ว เราเองได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ตั้งแต่นํ้าแข็งขั้วโลกที่มีการละลายและมีปริมาณลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่อง ไฟป่าที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และยาวนานตามประเทศต่าง ๆ พายุเฮอร์ริเคน ฝนหนัก ฝนแล้ง ฯลฯ ซึ่งได้รับการยืนยันด้วยข้อมูลทางวิชาการอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้วว่าทุกอย่างเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่มีต้นเหตุใหญ่มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ นั่นเอง

แหล่งกำเนิดใหญ่ของก๊าซเรือนกระจกที่มีองค์ประกอบหลักคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นมาจาก 3 กิจกรรมหลักคือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการคมนาคมขนส่ง และภาคเกษตรกรรม

คณะกรรมการระดับนานาชาติที่มีการจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือของนานาประเทศทั่วโลก คือ คณะกรรมการนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (International Panel on Climate Change Committee – IPCCC) ได้พยายามจัดทำข้อมูลต่าง ๆ และรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการประชุมนานาชาติที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า COP หรือ Conference Of the Parties ใน พ.ศ. 2564 นี้ จะเป็นการประชุมครั้งที่ 26 Glasgow, Scotland โดยจัดพร้อม ๆ กับ CMP 16 (Kyoto Protocol) และ CMA 3 (Paris Agreement) ซึ่งโดยภาพรวมมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมกำหนดเป้าหมายร่วมกัน แล้วนำเป้าหมายนั้นไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง

จากประวัติการประชุมในครั้งที่ผ่าน ๆ มาพบความจริงว่า หากประเทศใหญ่ ๆ และประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายไม่ขยับขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง โอกาสในการบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย และกลุ่มสหภาพยุโรป จึงเป็นเป้าหมายหลักในการที่จะต้องรณรงค์ให้รัฐบาลของประเทศเหล่านี้กำหนดมาตรการและลงมือทำงานมุ่งสู่เป้าหมายอย่างจริงจังครับ

เป้าหมายที่มีการรณรงค์กันอย่างเข้มข้นในขณะนี้คือ การรักษาระดับอุณภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 2°C โดยล่าสุด เป้านี้ได้ลดลงมาไม่ให้เกินกว่า 1.5°C เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมที่กรุงปารีสเมื่อ พ.ศ. 2560

เบื้องต้นเรามาดูท่าทีและการปฏิบัติของสองอภิมหาอำนาจที่เผชิญหน้ากันในหลากหลายมิติ คือ สหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน เรียกกันง่าย ๆ สั้น ๆ ว่าอเมริกากับจีนก็แล้วกันนะครับ ที่ดู 2 ประเทศนี้ก่อนด้วยสาเหตุ 2-3 ประการครับ

ประการที่หนึ่ง ความยิ่งใหญ่ทั้งในด้านขนาดเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผลิตและบริการ) ขนาดพื้นที่ ประชากร และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นทำให้ท่าทีและการกระทำต่าง ๆ ของทั้ง 2 ประเทศ ส่งผลกระทบไปได้ทั่วโลก

ประการที่สอง แม้ภาคพื้นยุโรป อเมริกากลาง อเมริกาใต้ เอเชียและอาฟริกา จะเป็นภาคพื้นใหญ่อีกส่วนหนึ่งของโลก มีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการคมนาคมขนส่ง และภาคเกษตรกรรมที่ต่างปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศมากมาย แต่ภาคพื้นต่าง ๆ ดังกล่าวประกอบด้วยหลากหลายประเทศที่มีนโยบายและการปฏิบัติแตกต่างกันไป มีความน่าสนใจมากเช่นกัน แต่ขอยกยอดไปคุยกันในโอกาสต่อไปนะครับ

ประการที่สาม ทั้ง 2 ประเทศมีการแสดงท่าทีในลักษณะทั้งการแข่งขัน ทั้งร่วมมือกัน ที่เรียกกันด้วยศัพท์บัญญัติใหม่ว่า Co-Competition ทำให้น่าสนใจมากกว่า สุดท้ายแล้วจะร่วมมือหรือแข่งขันกันให้เกิดประโยชน์แก่โลกของเราได้อย่างใด? หรือไม่?

กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในโลกมักจะคล้าย ๆ กัน คือ เริ่มจากเกษตรกรรมทำกินซึ่งเป็นลำดับแรกของปัจจัย 4 ของมนุษย์ ตามมาด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งน่าสังเกตว่ามักเริ่มจากอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อทำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อันเป็นปัจจัย 4 อันดับสอง เมื่อเศรษฐกิจเจริญเติบโตขยายตัวมากขึ้นอุตสาหกรรมการก่อสร้างก็ตามมาเพื่อตอบสนองความจำเป็นด้านที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงาน ซึ่งเป็นจจัย 4 อันดับสาม และสุดท้าย อุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่ในปัจจุบันและอย่างน้อยอีก 4-5 ปีในอนาคต คือ อุตสาหกรรมยาและการบริการสาธารณสุข หรือปัจจัย 4 อันดับสุดท้ายนั่นเองครับ

สหรัฐอเมริกาเริ่มจากการเกษตรกรรมหักร้างถางพง ขยายบ้านเมืองจากฝั่งทะเลตะวันออกสู่ฝั่งทะเลตะวันตก (จำได้ว่ามีภาพยนตร์ How The West Was Won หรือพิชิตตะวันตกที่ยาวเหยียดถึง 3 ชั่วโมงกว่าจนต้องพักครึ่งเวลา แต่ก็สนุกสนานมากครับ) จากเกษตรกรรมนำไปสูอุ่ตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมหนักเช่น เหมืองแร่ การถลุงเหล็ก การผลิตเหล็กกล้า การผลิตยานยนต์และอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ จนเกิดแถบอุตสาหกรรมที่ได้ฉายาว่า Rust Belt จาก New York พาดผ่านแถบตะวันตกกลางรวมมลรัฐ Indiana, Illinois, Michigan, Missouri, New York, Ohio, Pennsylvania, West Virginia และ Wisconsin

ถ้าพูดกันในปัจจุบัน แถบ Rust Belt ถือเป็นแหล่งใหญ่ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมากมายทีเดียวครับ ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและอาคารสำนักงาน รวมถึงที่อยู่อาศัยของประชากรหลายล้านคน

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมหนักเหล่านี้เริ่มหดตัวจนถึงเลิกกิจการไปมาก เพราะการแข่งขันจากประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาตามหลังมาไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินเดีย จีน เกาหลีใต้ และอาเซียน โดยอเมริกาหันไปพึ่งพาอาศัยอุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ หรือใช้เทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

ประสบการณ์ตรงของผมกับการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกาเริ่มจากช่วงที่เข้าไปทำงานที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติหรือ MTEC สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ NSTDA เมื่อ พ.ศ. 2542 ในยุคที่ท่าน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ครับ

Dr.Dennis Shuetzle ที่เป็นผู้บริหารการวิจัยพัฒนาของบริษัท Ford Motor Corporation สหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาปรึกษาหารือกับท่านรัฐมนตรีเพื่อรณรงค์การใช้ Gasohol เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ เพราะเมื่อ 20 กว่าปีก่อนนั้นฟอร์ดเป็นผู้นำด้านนี้ โดยร่วมกับ Brazil ที่นับเป็นประเทศแรกที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับยานยนต์อย่างทั่วถึงและจริงจัง

ทำไมต้องเป็น Brazil?

เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลชั้นนำของโลกไงล่ะครับ แต่เราคนไทยมักคุ้น กับกาแฟและทีมฟุตบอลมากกว่านะครับ

Brazil ผลิตแอลกอฮอล์แล้วนำมาผสมในนํ้ามันก๊าซโซลีน (ที่คนไทยเรียกติดปากว่าเบนซิน…ดีที่ตอนหลังเมื่อมีการผสมแอลกอฮอล์แล้วเราเปลี่ยนมาเรียกเป็นแก๊สโซฮอล์ไม่เป็น “เบนซิฮอล์” ให้จั๊กจี้เล่น) โดยเริ่มเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกที จนสุดท้ายใช้แอลกอฮอล์เพียว ๆ เติมรถกันเลยล่ะครับ โดยยานยนต์รุ่นหลัง ๆ ที่เติมได้ตั้งแต่ E0-E100 ได้ชื่อว่า Flex Fuel Vehicle – FFV

ที่สนุกสนานมากก็คือสถานีบริการนํ้ามันที่คนไทยเรียกติดปากว่าปั๊มนํ้ามันนั้น ไม่ต้องมีหลายหัวจ่ายแบบบ้านเราที่มีทั้ง E0, E10, E20, E85, B0, B7, B10…แค่ขับรถเข้าไปก็งงแล้วล่ะครับว่าจะไปเข้าช่องไหนดี

ที่ Brazil มีเพียง 2 หัวจ่ายครับ คือ E0 และ E100 ผู้ใช้เลือกเอาเองได้ว่าท่านจะเติมในสัดส่วนเท่าใดเหมือนผสม Cocktail เลยล่ะครับ

การทำแบบนี้ช่วยให้ราคาอ้อยและนํ้าตาลไม่หวือหวาขึ้นลงแบบบ้านเรา เพราะเวลาที่แอลกอฮอล์แพง ก็เติมแก๊สโซลีนมากหน่อยแต่หากแก๊สโซลีนแพงก็เติมแอลกอฮอล์มากหน่อย…หากแพงทั้งคู่คงต้องประหยัดใช้รถละครับ

Dr.Dennis เข้ามาพบกับท่านรัฐมนตรี ดร.อาทิตย์ เพื่อขอคำแนะนำและการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการคมนาคมขนส่ง เบื้องหลังก็คือผลประโยชน์ทางธุรกิจของฟอร์ดมอเตอร์เอง แต่เบื้องหน้าคือการอนุรักษ์และยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมอากาศให้ดีขึ้น

เพราะ “อากาศ” คือสิ่งที่จำเป็นของทุกชีวิตบนโลกครับ

ท่านรัฐมนตรีเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย ในฐานะของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่มีพันธกิจในการยกระดับขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่สำคัญที่สุดคือการนำเอาผลิตผลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศมากที่สุด

ปัญหาคือ เมื่อเห็นดีเห็นงามกับแนวคิดเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว จะให้หน่วยงานไหนในกระทรวงฯ เป็นหน่วยรับผิดชอบผลักดันล่ะครับ?

ท่านรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ที่เป็นองค์กรมหาชนน่าจะคล่องตัวที่สุดในการทำงานนี้ โดยภายใต้ สวทช. (ในขณะนั้น) มีศูนย์แห่งชาติอยู่ 3 ศูนย์ คือ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ BIOTEC ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC

เมื่อพิจารณากันในเชิงของการส่งเสริมเรื่องการพัฒนาและการใช้งานเชื้อเพลิงชีวภาพเช่นแก๊สโซฮอล์อย่างที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ศูนย์แห่งชาติที่น่าจะเกี่ยวข้องมากที่สุดเห็นจะเป็น MTEC เพราะครอบคลุมเทคโนโลยีใน Real Sector หรือภาคอุตสาหกรรมการผลิตอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์

ผมในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ MTEC หมาด ๆ ในขณะนั้นจึงได้รับภารกิจจากท่านรัฐมนตรีโดยท่านรองผู้อำนวยการ สวทช. ขณะนั้นคือ ศ. ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ เป็นผู้ประสานและแนะนำให้ผมรู้จักกับ Dr.Dennis จนได้ร่วมงานกันต่อมาอีกหลายปี

จาก Dr.Dennis ทำให้ผมได้รู้จักกับกลุ่มภาคีในสหรัฐอเมริกาที่เรียกกันในขณะนั้นว่า Governors’ Ethanol Coalition – GEC ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ว่าการรัฐ (ส่วนใหญ่เป็นพรรค Democrat) ที่ส่งเสริมการใช้เอทานอล (แอลกอฮอล์) ผสมในนํ้ามันเชื้อเพลิง ผมได้ไปร่วมประชุมกับกลุม่ นี้ที่สหรัฐอเมริกาหลายครั้ง ซึ่งปจั จุบันเปลี่ยนชื่อกลุม่ภาคีเป็น Governors’ Biofuel Coalition- GBC เพื่อจะได้ครอบคลุมเชื้อเพลิงชีวภาพรวมทั้งชีวมวลอื่น ๆ เช่น ไบโอดีเซล หรือไม้ ฯลฯ ด้วย

มีโอกาสได้จับมือกับท่านประธานาธิบดี Barack Obama สมัยยังเป็น วุฒิสมาชิกหนุ่ม ก็ตอนไปร่วมประชุมที่อเมริกานี่แหละครับ

กลุ่ม GEC ได้พยายามขยายเครือข่ายพันธมิตรนานาชาติซึ่งในขณะที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่นั้นมีชาติพันธมิตรคือ Canada, Mexico, Sweden, Brazil โดย Thailand เข้าไปเป็นภาคีพันธมิตรชาติแรกของเอเชียและชาติที่ 5 ของโลกครับ สรุป ณ ตรงจุดนี้ก่อนว่า สหรัฐอเมริกาเริ่มตื่นตัวรณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา โดยการพัฒนาประยุกต์ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นหลัก กุญแจแห่งความสำเร็จคือไตรภาคีระหว่างรัฐ เอกชน (เชน่ บริษัทรถยนต์ฟอร์ด มอเตอร์ กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย) และสถาบันวิจัยที่เป็นห้องปฏิบัติการแห่งชาติ เช่น National Renewable Energy Laboratory – NREL ที่ Colorado

นอกจากเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว สหรัฐอเมริกายังพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากคลื่น และพลังงานใต้พิภพที่อาศัยความแตกต่างด้านอุณหภูมิ

ด้วยความที่เป็น “ดินแดนแห่งโอกาส” ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นแหลง่ ให้กำเนิดผู้ประกอบการที่โดดเด่นหลายคน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพลังงานสะอาดและมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ Elon Musk ผู้ก่อตั้ง Tesla ที่ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและล่าสุดขยายมาทางกิจการแบตเตอรี่ที่ใหญ่โตมโหฬาร มีการลงทุนในจีนที่เป็นตลาดใหญ่ด้วยครับ

ผมคิดว่า Elon Musk ถือเป็นคนจุดประกายให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวและแพร่หลายไปในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก และช่วยให้การรณรงค์ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคคมนาคมขนส่งเป็นไปได้มากขึ้น

สหรัฐอเมริกาเองมีอาการชะงักงันในเรื่องการรณรงค์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปช่วงหนึ่งสมัยประธานาธิบดี Donald Trump จนถึงขนาดถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส และไม่เข้าไปร่วมสังฆกรรมกับการประชุม COP แต่เริ่มกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งเมื่อเปลี่ยนประธานาธิบดีเป็น Joe Biden ซึ่งนับเป็นข่าวดีแก่ชาวโลกประการหนึ่ง

ลองมาดูมหาอำนาจอีกขั้วหนึ่งที่เริ่มผงาดขึ้นมาในสนามภูมิรัฐศาสตร์โลกคือ จีน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 ทศวรรษในการพัฒนาจากประเทศด้อยพัฒนาและยากจนขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกที่คาดหมายกันว่าน่าจะขึ้นเป็นอันดับ 1 ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าหากเศรษฐกิจยังเติบโตในอัตรา 6-7% ต่อปีอย่างที่ผ่านมา

ผมมีโอกาสไปเยือนจีนครั้งแรกใน พ.ศ. 2527 ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.มนู วีรบุรุษ ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการรองศาสตราจารย์พูลพร แสงบางปลา วศ.500 เลขานุการฝ่ายวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญชัย ลีเผ่าพันธุ์ วศ.14 หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่เมืองที่ไปคือ ปักกิ่งและฉางซาที่อยู่ทางภาคกลางตอนใต้ของประเทศครับ

จำได้ว่าสนุกสนานตั้งแต่เริ่มเดินทางด้วยสายการบิน CAAC จากสนามบินดอนเมืองที่ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศให้เย็นจนเครื่องบินถึงระดับเพดานบิน และไม่แจกอาหารจนกว่าจะบินเข้าเขตประเทศจีนแล้ว

เงินที่จีนยังมี 2 ประเภทคือเงินที่ประชาชนจีนใช้ (เรียกเล่น ๆ ว่า “เงินเฉ่า” เพราะยับยู่ยี่) และเงินที่ชาวต่างชาติใช้ ที่ใหม่หรือค่อนข้างใหม่ เรียกว่า Ren Min Bi – RMB หรือเงินของประชาชน (ต่างชาติ?) อาหารเช้ามื้อละ 20 บาท ขณะที่เงินเดือนอาจารย์ข้าราชการอยู่ในระดับ 200-300 บาท

ท้องฟ้าปักกิ่ง ฉางซา และกว่างโจว ที่เราขึ้นเครื่องบินกลับค่อนข้างโปร่งใส รถยนต์ในปักกิ่งยังน้อยมาก ประชาชนแต่งชุดสีเทาทึมและถีบจักรยานเป็นส่วนใหญ่

หลังจากนั้นได้ไปเยือนจีนอีกหลายครั้ง โดยไปปักกิ่งเป็นส่วนใหญ่ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดยานยนต์วิ่งคับคั่งบนท้องถนน จักรยานหายไป ที่ประทับใจมากคือใช้เวลานั่งแท็กซี่จากสนามบินปักกิ่งเข้าเมืองใช้เวลา 4 ชั่วโมง จากที่ครั้งแรกใช้เวลาเพียง 30 นาที

ช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมาสภาพภูมิอากาศเลวร้ายรุนแรงมากท้องฟ้าปักกิ่งมัวซัวปกคลุมไปด้วยฝุ่น PM … เหมือนประเทศไทยในขณะนี้… สิ่งแวดล้อมเลวร้ายมากจนกระทั่งช่วงการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิก ทางรัฐบาลสั่งหยุดหรือปิดโรงงานหลายแห่งเพื่อแก้ไขมลภาวะทางอากาศ

Fast Forward มาถึงปัจจุบันเรื่องของประเทศจีน ผมโชคดีที่ข้อมูลต่าง ๆ ที่หลากหลายเกี่ยวกับจีนในปัจจุบันนี้ได้รับความกรุณาอนุเคราะห์จากท่านอาจารย์ ดร.กอรป กฤตยากีรณ ส่งมาได้ใช้อ้างอิงทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปได้ ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ไว้ ณ ที่นี้

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ศกนี้ จีนได้ประกาศแผนที่นำทางฉบับแรกที่เป็น “เป้าหมายคู่ด้านคาร์บอน” หรือ Dual Carbon Goal เป็นเส้นทางสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุด หรือ Carbon Peak แล้วก้าวไปสู่การเป็นกลางทางการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Neutral

คำว่า Carbon Neutral นั้น พูดกันให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือสภาพการณ์ที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมทั้งหมดภายในประเทศเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีการกักเก็บกลับไปหรือลดลงไปได้ โดยทั่วไปมักจะเกิดประการหลังก่อน เช่น การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพชีวมวลจากพืชเช่นเอทานอลจากที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น พืชจะดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศเข้าไปแปลงเป็นพลังงานสะสมไว้ เมื่อเราเอาพลังงานนี้ออกมาใช้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจะเท่ากับปริมาณที่ดูดเข้าไปในตอนแรกนั่นเองครับ

จีนได้ประกาศเป้าหมายว่าใน ค.ศ. 2025 จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 18% เทียบกับปี ค.ศ. 2020

ใน ค.ศ. 2030 ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิลจะเท่ากับ25% และเพิ่มขึ้นใน ค.ศ. 2060 ให้ปริมาณเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิลกลายเป็น 80%

โดยแผนที่นำทางที่ว่านี้ในรายละเอียดจะกำหนดเป็น 5 เป้าหมาย10 แนวทาง และ 31 แผนงานหลัก

เป้าหมายที่สำคัญคือ ใน ค.ศ. 2025 Energy Consumption/GDP จะลดลง 13.5% เทียบกับ ค.ศ. 2020 โดยมีปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิล 20%

คุยไปคุยมาเห็นท่าจะจบไม่ลงในตอนเดียวละครับ ขอยกยอดไปคุยกันต่อให้จบในฉบับหน้า พร้อมกับการยกเอาเป้าหมายประเทศไทยที่ท่านนายกไปประกาศในการประชุม COP 26 มาถกกันว่าเราจะทำได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีผลกระทบอย่างไรครับ?


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2564 คอลัมน์ สะดุดฟันเฟือง โดย รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save