มกร พงษ์ธนพฤกษ์ วศ. 2519

CU Blood …ฟื้นฟูกิจกรรมดี ๆ เพื่อสร้างผู้บริจาคเลือดหน้าใหม่


มกร พงษ์ธนพฤกษ์ วศ. 2519

แต่เดิมกิจกรรมการบริจาคโลหิตเป็นกิจกรรมที่นิสิตคณะวิศวฯ จุฬาฯ ทำเป็นประจำตั้งแต่มีการริเริ่มในปี พ.ศ. 2506 และต่อเนื่องมาจนกระทั่งมีกรณีที่มีการติดเชื้อ AIDS จากการบริจาคโลหิตช่วงหลังปี 2535 ทำให้วัฒนธรรมการบริจาคโลหิตของนิสิตคณะวิศวฯ หยุดไปและไม่ได้หวนกลับมาอย่างเข้มแข็งเหมือนเดิม

ก่อนครบรอบวาระวิศวฯ จุฬาฯ 100 ปี กรรมการ สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) ได้เดินสายไปพูดคุยกับพี่ ๆ ที่เป็นผู้บริหารองค์กรใหญ่ ๆ พี่ไพรินทร์ ชูโชติถาวร วศ.2518 ซึ่งขณะนั้นเป็น CEO บมจ.ปตท. ก็ได้แนะนำว่าทำไมไม่รื้อฟื้นกิจกรรมดี ๆ อย่างเรื่องการบริจาคโลหิตขึ้นมาใหม่ หลวงพี่กฤษณ์ (คุณกฤษณ์ มุทิตานันท์ วศ.2511 อดีตอุปนายก สวจ.) จึงได้ริเริ่มกิจกรรมรณรงค์บริจาคโลหิต CU B157 ขึ้นมาใหม่ แต่ตอนนั้นก็ใช้วิธีนำเตียงมาตั้งและมารับบริจาคที่คณะ ทำให้ผู้บริจาคไม่ได้มากเท่าไหร่ วันหนึ่ง ๆ อย่างมากก็ได้ประมาณ 100 กว่าคน ปีแรกของการจัดจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะแนวคิดของพี่ ๆ คิดถึงสมัยที่ตัวเองเป็นนิสิตซึ่งอาจจะไม่ทันยุคสมัยที่แนวคิดเปลี่ยนไป

มกร พงษ์ธนพฤกษ์ วศ. 2519 บริจาคโลหิต

มกร พงษ์ธนพฤกษ์ วศ. 2519 บริจาคโลหิต

ปีต่อมาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด เพราะเป้าหมายการรณรงค์บริจาคโลหิตก็คือ ต้องการสร้างผู้บริจาคหน้าใหม่ ที่เป็นนิสิตปัจจุบันมาเสริมหรือทดแทนนิสิตเก่าที่อายุมากที่บางคนก็ไม่สามารถบริจาคได้แล้ว แต่ผู้บริจาคหน้าใหม่สามารถบริจาคต่อไปได้อีก 30-40 ปี สมาคมนิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ จึงได้หารือและมอบหมายให้นิสิตปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินการโครงการ เนื่องจากเข้าใจความต้องการและมีวิธีการใหม่ ๆ ที่จะชักชวนนิสิตปัจจุบันให้มาร่วมกิจกรรม โดยพี่ ๆ กรรมการสวจ. เป็นที่ปรึกษาและให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดงาน มีการตั้งเป้าหมายจำนวนโลหิตที่จะรับบริจาค ถือว่าเป็นการเริ่มต้นกิจกรรม CU B157 Season 1

จากนั้นก็มีการรับสมัครทีมงานมาช่วย… เมื่อจบ Season แล้วก็จะมีการเลือกประธานกิจกรรม CU B157 Season ต่อไปซึ่งส่วนมากก็จะเป็นคนที่เคยเป็นทีมทำงานอยู่แล้ว ปัจจุบันสืบทอดมาจนถึง Season 8 แล้ว จากเดิมที่มีการจัดครั้งแรกก่อน Season 1 จัด 5 วัน มีคนมาบริจาคไม่กี่ร้อย กลายมาเป็นจัดครั้งละ 5 วัน ได้ผู้บริจาคครั้งละ 300-400 คน และจัดปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณปลายเดือนตุลาคมหรือต้นพฤศจิกายน กับครั้งที่สองช่วงปลายเดือนมีนาคมปีถัดไป (ใกล้ ๆ วันสถาปนาจุฬาฯ)

กิจกรรมนี้ดำเนินการเรื่อยมาจนมาถึง Season 4 ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างมาก มีการ Re-brand จากที่เดิมใช้ชื่อกิจกรรมว่า CU B157 ปรับเปลี่ยนชื่อให้เป็น CU Blood ที่เหมาะสมกว่าเพราะปัจจุบันนิสิตทุกคณะได้มาร่วมมือร่วมใจกันบริจาคโลหิต ไม่ใช่กิจกรรมของคณะวิศวฯ จุฬาฯ คณะเดียวแล้ว โดยปีนั้นก็เป็นปีที่ครบรอบการสถาปนาจุฬาฯ 100 ปี มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้การบริจาคครั้งนั้นสามารถระดมผู้มาบริจาคได้ทั้งหมดทั้งปีทะลุ 3 พันคนและสามารถบริจาคได้เกินกว่า 2,000 คนเป็นครั้งแรก ได้เลือดเกินกว่า 800,000 ซีซี

หลังจากนั้นการจัดกิจกรรมก็จะมีผู้มาร่วมกิจกรรมบริจาคโลหิตมากว่า 1,000 คนตลอดมา เนื่องจากกิจกรรมนี้ไม่ได้เป็นกิจกรรมเฉพาะของคณะวิศวฯ จุฬาฯ อีกต่อไปแล้ว จึงได้มีการนำเสนอกิจกรรมนี้ให้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในปี พ.ศ. 2561 แต่ก็ยังมีการช่วยเหลือของสมาคมนิสิตเก่าวิศวจุฬาฯ ที่มอบให้ คุณเกียรติชัย ปรีชาชัยสุรัตน์ วศ. 2526 และคุณจรัญญา บุรพรัตน์ วศ. 2529 มาช่วยดูแลด้วย และในวาระครบ 100 ปีของการสถาปนาจุฬาฯ มีการรณรงค์บริจาคโลหิต นับจำนวน 3 ครั้งได้โลหิตมากกว่า 1 ล้านซีซี… ซึ่งกิจกรรมนี้ศูนย์บริการโลหิตให้ความชื่นชมมาก

จนมาถึงปีที่แล้วที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้ยอด Season 7.2 ช่วงเดือนมีนาคม ตกฮวบแม้จะขยายเวลาร่วมกิจกรรมเป็น 3 เดือนแล้วก็ตาม และส่งผลมาถึงการจัดกิจกรรมใน Season 8.1 และ 8.2 ทำให้ยอดรวมยังไม่สามารถทะลุ 1,000 คนต่อครั้งได้… อย่างไรก็ดี หลังจากระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วก็คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 1,000 คนต่อครั้งแน่นอน

CU Blood ...ฟื้นฟูกิจกรรมดี ๆ เพื่อสร้างผู้บริจาคเลือดหน้าใหม่

กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในการสร้างผู้บริจาคเลือดหน้าใหม่ให้กับสภากาชาดไทย และมีส่วนสำคัญกรณีที่มีผู้บริจาคหน้าใหม่ที่มีกลุ่มเลือดอยู่ในกลุ่มโลหิตหายาก เช่น กรุ๊ป A Rh Negative ซึ่งพบได้น้อยมาก ๆ แต่มีเคสมาแล้ว เป็นต้น จึงเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญสำหรับทั้งตัวผู้บริจาคและศูนย์บริการโลหิต เพื่อใช้ในกรณีที่มีผู้มีต้องการเลือดกลุ่มโลหิตหายาก และยังมีเคสที่มีการไปรับบริจาคสเต็มเซลล์จากฐานข้อมูลผู้ที่เคยที่มาร่วมกิจกรรมอีกด้วย ถือว่ามีประโยชน์ต่อสังคมมาก

การบริจาคของผมมีครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่าพิเศษกว่าครั้งอื่น ๆ คือ ครั้งหนึ่งผมไปบริจาคกับรถรับบริจาคเคลื่อนที่ หลังจากนั้นไม่นานก็มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย ติดต่อกลับมาแจ้งให้ทราบว่าหลังจากที่นำเลือดที่บริจาคไปวิเคราะห์ ผลตรวจพบว่าตัวผมเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี แต่เนื่องจากมีสุขภาพแข็งแรง ร่างกายจึงได้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาซึ่งตรวจพบได้ และเสนอให้ไปฉีดเซรุ่มเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน และบริจาคพลาสม่าแทน ซึ่งการบริจาคพลาสม่าสามารถทำได้ทุกเดือน จึงตัดสินใจไปฉีดจนมีภูมิสูงพอที่จะไปบริจาคพลาสม่าได้ และไปบริจาคพลาสม่าตั้งแต่สมัยตึกเก่า มีเตียงรับริจาคพลาสม่าแค่ 2-3 เตียงเท่านั้น เคยไปบริจาคสัก 2-3 ครั้งเนื่องจากตอนนั้นทำงานหนักและการบริจาคแต่ละครั้งประมาณเกือบสามชั่วโมง จึงไม่ได้ไปบริจาคต่อ เว้นมานับสิบ ๆ ปี และมาเริ่มบริจาคอีกครั้งตอนที่มีการรณรงค์การบริจาคโลหิตที่หลวงพี่กฤษณ์จัดขึ้นก่อนวาระวิศวฯ จุฬาฯ 100 ปี

ผมได้ตั้งเป้าว่าจะบริจาคให้ครบ 40 ครั้งหรือจนถึงอายุ 70 ถ้ายังสามารถให้บริจาคได้

การบริจาคโลหิตถือเป็นจิตอาสาวิธีหนึ่ง ไม่ต้องลงทุนอะไรเลยสำหรับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว เพราะเลือดนั้นอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว เพียงแต่รักษาสุขภาพร่างกายให้ดีก็สามารถไปบริจาคทุก ๆ 3 เดือนได้ หรือเมื่อท่านสะดวก

จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมกิจกรรมนี้มาตั้งแต่ต้น พบว่าจากข้อมูลผู้มาร่วมกิจกรรมมีผู้หญิงมาบริจาคมากกว่าผู้ชาย ทั้งกลุ่มผู้บริจาคหน้าใหม่ และกลุ่มผู้บริจาคเดิม จึงอยากเชิญชวนพี่น้องนิสิตเก่าที่ยังสามารถบริจาคได้ และนิสิตปัจจุบันมาร่วมทำกุศล บริจาคโลหิตกันโดยต่อเนื่อง หรือชักชวนคนในครอบครัวให้ร่วมด้วยก็ได้ ที่บ้านผมมี 5 คนก็บริจาคกันทุกคนยกเว้นลูกสาวที่น้ำหนักไม่ถึง

อีกทั้งได้ประโยชน์จากที่ทางศูนย์จะทำการตรวจและวิเคราะห์เลือดทุกครั้งและหากพบความผิดปกติก็จะแจ้งผู้บริจาคทราบ และหากตัวผู้บริจาคต้องการเลือดก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้มีกลุ่มโลหิตหายาก อีกทั้งยังสามารถใช้บริการห้องที่รพ.จุฬาฯ ได้ด้วยกรณีเจ็บป่วย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save