EXIM Thailand

3 อินทาเนีย แม่ทัพแห่ง EXIM BANK ผู้ขับเคลื่อนธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย


3 อินทาเนีย แม่ทัพแห่ง EXIM BANK
ผู้ขับเคลื่อนธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พี่น้องชาวอินทาเนีย ได้ใช้ความรู้วิชาวิศวกรรม ผนวกกับทักษะความรู้ด้านอื่น ๆ และประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำงานในองค์กรต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนฟันเฟืองน้อยใหญ่เพื่อพัฒนาประเทศ รวมถึงเข้าไปทำงานในสถาบันการเงินอย่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ให้ขยายบทบาทมากขึ้นไปสู่การทำหน้าที่ “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” ส่งเสริมและสนับสนุนการค้าและการลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ

นิสิตเก่าชาวอินทาเนีย 3 ท่านที่เป็น “สามทหารเสือ” นั่งบริหารอยู่ในคณะกรรมการ EXIM BANK ประกอบด้วย ดร.พสุ โลหารชุน วศ.2519 ประธานกรรมการ EXIM BANK คุณสุวัฒน์ กมลพนัส วศ.2524 กรรมการ EXIM BANK และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร วศ.2534 กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK

ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK

ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK เป็นนิสิตเก่าที่มี DNA วิศวกรที่เข้มข้น หลังจากจบวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ดร.พสุ ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านวิศวกรรมอุตสาหการ จาก Polytechnic Institute of New York สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกด้านวิศวกรรมอุตสาหการและการวิจัยการดำเนินงานจาก Virginia Polytechnic Institute and State University สหรัฐอเมริกา เข้ารับราชการที่กระทรวงอุตสาหกรรมมาตลอดชีวิตการทำงาน โดย ดร.พสุ นั่งเก้าอี้อธิบดีมาแล้วถึง 2 กรมคือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนจะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งสูงสุดคือ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประสบการณ์ทำงานอื่น ๆ ได้แก่ การรับตำแหน่งประธานกรรมการหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ อาทิ ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการ บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด

ดร.พสุ เล่าถึงชีวิตนิสิตวิศวะ จุฬาฯ ว่า ช่วงที่เรียนอยู่มีความสนุกสนานกับการเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยในโอกาสต่าง ๆ อยู่เสมอ ทำให้เรียนรู้เรื่องของการทำงานเป็นทีม มีเพื่อนเยอะ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการเรียนค่อนข้างมาก เนื่องจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้ามีความท้าทาย และมีอะไรใหม่ ๆ ให้ได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

หลังจากเรียนจบปริญญาเอก ดร.พสุ เข้ารับราชการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้นำเอาความรู้ด้านวิศวกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการโดยตรง ขณะนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กำลังอยู่ในช่วงเติบโต มีบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยได้ให้การสนับสนุน SMEs ไทย ซึ่งเราต้องการให้ SMEs ได้เป็นส่วนหนึ่งของสายการผลิตหลัก เป็นซัพพลายเชน ผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานหลัก

ดร.พสุ กล่าวว่า หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ EXIM BANK ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ จากการทำงานในหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาเชื่อมโยงและต่อยอดสู่แนวนโยบายในการขับเคลื่อน EXIM BANK โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการสร้างเครื่องยนต์ใหม่เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งการสร้าง New Engine of Growth หรืออุตสาหกรรมใหม่ เช่น BCG (Bio-Circular-Green), S-curve รวมถึงการยกระดับ SMEs ให้ก้าวสู่ Smart SMEs เพื่อแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่ง

“ผมได้นำแนวคิดวิศวกรรม โดยเฉพาะการทำงานที่เป็นระบบและการวิเคราะห์เชิงปริมาณ มาประยุกต์ใช้กับการกำหนดนโยบายของ EXIM BANK ทั้งการตั้งเป้าหมาย การเ พิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการวัดผลการดำเนินงาน ซึ่งทั้งหมดจะต้องจับต้องได้และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน”

ดร.พสุ เล็งเห็นถึงการขับเคลื่อนบูรณาการในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ต้องใช้ 2 แรงส่งในการขับเคลื่อน แรงส่งแรกคือ การเร่งเสริมสมรรถนะของผู้ประกอบการ ด้วยการกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่ม

ขณะที่อีกหนึ่งแรงส่งคือ การร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดสู่กระบวนการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรม 4.0 ตลอดจนเชื่อมโยงและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้

สำหรับหลักการทำงานและหลักการบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จ ดร.พสุ กล่าวว่า “แนวทางการสร้างรากฐานที่มั่นคงในการบริหารองค์กรให้สำเร็จอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ผมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์และต่อยอดสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะในระดับบุคคล กระบวนการทำงาน และแนวนโยบายการบริหารจัดการองค์กร เพื่อให้องค์กรพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและหมั่นพัฒนาขีดความสามารถอยู่เสมอ ตลอดจนสร้างสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน (Inclusive Growth) ไปพร้อม ๆ กัน”

ดร.พสุ ฝากถึงเพื่อนพี่น้องชาวอินทาเนียว่า ในฐานะที่พวกเราล้วนเป็นชาววิศวกร ซึ่งมีพื้นฐานในการเป็นนักสร้าง นักพัฒนา และนักนวัตกรรม ดังนั้น เราทุกคนสามารถใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ ร่วมกันสร้างและขับเคลื่อนประเทศไทยภายใต้บทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ล้วนเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยกันพัฒนาและเสริมสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแรงต่อไปได้ครับ

คุณสุวัฒน์ กมลพนัส กรรมการ EXIM BANK

คุณสุวัฒน์ กมลพนัส กรรมการ EXIM BANK เป็นนิสิตวิศวกรรมไฟฟ้า หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากจุฬาฯ แล้วได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านวิศวกรรมสาขา Pulp and Paper Engineering ที่ Miami University สหรัฐอเมริกา เป็นผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงพลังงานทั้งไทยและภาคพื้นเอเชีย ผ่านการทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่มากมาย อาทิ เครือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) และกลุ่มมิตรผล รวมถึงองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรหลายแห่ง สำหรับประสบการณ์ทำงาน เคยเป็นประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการบริษัท ไทยอีสเทิร์น พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด บริษัท แอดวานซ์ พาวเวอร์ คอนเวอร์ชั่น จำกัด บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบัน นอกจากตำแหน่งกรรมการ ประธานกรรมการกิจการสัมพันธ์ กรรมการบริหาร และกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน EXIM BANK แล้ว ยังดำรงตำแหน่งกรรมการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน

คุณสุวัฒน์ย้อนวันวานเมื่อครั้งเป็นนิสิตว่า “ในช่วงปีแรก ๆ ของการเป็นนิสิตผมได้ร่วมกิจกรรมของชมรมวิชาการ แต่ช่วงหลังต้องทำงานเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านจึงเข้าร่วมกิจกรรมได้ไม่มากนัก ซึ่งยังรู้สึกเสียดายอยู่เสมอ เพราะสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมนั้นหาไม่ได้ในห้องเรียน และประสบการณ์ตรงนี้เองที่ทำให้ผมอาสาทำงานให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหลายองค์กร”

คุณสุวัฒน์ กล่าวว่า วิศวกรรมศาสตร์หล่อหลอมให้เรามี Logical Thinking ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของการบริหารงานทุกอย่าง เช่น การบริหาร EXIM BANK ต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจก่อนว่าเป้าหมายองค์กรไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่เป็นการสร้าง Ecosystem ด้านการเงินที่ สนับสนุนแผนพัฒนาของภาครัฐ เมื่อเราเข้าใจก็จะสามารถสนับสนุนองค์กรให้ไปถึงเป้าหมายได้ อีกเรื่องคือ Innovation วิศวกรจะสร้างสิ่งใหม่ ๆ จากสิ่งเดิม ๆ ได้เสมอ เมื่อวิศวกรมาบริหารองค์กรก็จะมีความคิดที่จะทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาวิธีการทำงานให้ดีขึ้นอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงินภาครัฐอย่าง EXIM BANK ยิ่งต้องเน้นเรื่อง Innovation เป็นพิเศษเพื่อเป็นแรงสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0

ดังนั้น การก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ธุรกิจต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปปรับปรุงกระบวนทำงานเพื่อสร้างคุณค่าและความสามารถในการแข่งขัน บทบาทของ EXIM BANK ในการเป็น “เครื่องยนต์หลัก” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตคือ การสร้าง Ecosystem ด้านการเงินให้ภาคธุรกิจมีความกล้าที่จะกระโดดเข้าไปเล่นกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น รถไฟฟ้าที่เป็นเทรนด์ของโลกอนาคต แต่ผู้ประกอบการต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งจากเทคโนโลยี การตลาด และต้นทุนทางการเงินที่สูง ทำให้เอกชนไม่กล้าออกจาก Comfort Zone ซึ่ง EXIM BANK สามารถเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ จนเมื่อธุรกิจแข็งแรงแล้วก็ส่งไม้ต่อให้ธนาคารพาณิชย์ และนำทรัพยากรส่วนนี้ไปสนับสนุนธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 อื่นต่อไป

“ผมมองว่า Key Success Factors สำคัญของการบริหารองค์กรมี 3 อย่างคือ 1. เป้าหมายและนโยบายต้องชัดเจน 2. ทรัพยากรมนุษย์ต้องมีศักยภาพ 3. องค์กรต้องไม่หยุดพัฒนาและปรับตัว ประกอบกับเราต้องเข้าใจเป้าหมายขององค์กรและบทบาทของตำแหน่งงานของเรา อย่างเช่น ตำแหน่งกรรมการบริษัทเปรียบกับการเล่นฟุตบอลก็คือ โค้ช ซึ่งมีหน้าที่วางแผนการเล่นร่วมกับกัปตันทีมและผู้เล่นหลักแต่ไม่ต้องเข้าไปเล่นในสนามเอง เหนือสิ่งอื่นใดผู้นำองค์กรต้องสร้าง Trust ในการทำงานด้วยการ Walk the Talk ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าด้วย Speed ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน” คุณสุวัฒน์ กล่าว

คุณสุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่มีใครที่สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้โดยไม่กล้าออกนอกกรอบครับ จงกล้าเสี่ยงบนเหตุผลที่ได้ไตร่ตรองไว้แล้ว เสี่ยงด้วยจิตวิญญาณของชาวอินทาเนีย องค์ความรู้ที่เราทุกคนได้รับการปลูกฝังจะทำให้เราตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดในทุก ๆ เรื่องครับ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK

วิศวกรหนุ่มที่สุด ไฟแรงที่สุด นั่งเก้าอี้ CEO ธนาคารในปัจจุบัน ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นิสิตเก่าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ จบปริญญาเอกด้านการบริหารธุรกิจจาก Strathclyde Business School สหราชอาณาจักร และปริญญาโท MBA จาก Birmingham Business School สหราชอาณาจักร

ดร.รักษ์ เริ่มเส้นทางสาย “นายช่าง” จากหัวหน้าคณะที่ปรึกษาภูมิภาคเอเชียใต้ (Regional Lead Advisor) บริษัท เชฟรอนเอเชียเซ้าท์ จำกัด ก่อนจะผันตัวเข้าสู่แวดวง “นายธนาคาร” และประสบความสำเร็จในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินหลายแห่ง อาทิ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และ EXIM BANK ก่อนจะข้ามห้วยไปเติบโตเป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และย้ายกลับมาเป็นกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เมื่อเดือนเมษายน 2564 ด้วยวัยเพียง 46 ปี ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา ดร.รักษ์ นำพา EXIM BANK ทุบสถิติมากมาย พลิกขาดทุน 1,340 ล้านบาทในปี 2563 เป็นกำไร 1,531 ล้านบาทในปี 2564 ซึ่งเป็นกำไรสูงสุดของ EXIM BANK นับแต่เปิดดำเนินงานในปี พ.ศ. 2537

ดร.รักษ์ เล่าว่า ผมมี DNA ของเด็กวิศวะ แต่ไม่ค่อยชอบอยู่รวมกลุ่มกับเด็กวิศวะด้วยกันสักเท่าไหร่ ชีวิตในช่วงเป็นนิสิตจึงออกแนวเตร็ดเตร่อยู่นอกคณะ ไปคลุกคลีอยู่กับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย ผมมองว่าเราไม่จำเป็นต้องอยู่ในสังคมหลักของเราตลอดเวลาก็ได้ การที่เรามีโลกใบที่สองหรือสาม มันทำให้เราเป็นมนุษย์ที่มีความสะเทินน้ำสะเทินบก ปรับตัวเข้ากับสังคมและคนรอบข้างได้ง่าย

“วิศวกรที่เป็นนายธนาคารจะมองภาพความสำเร็จองค์กรต่างไป เรามองโลกบนความเป็นจริง มอง Productivity ขององค์กร โดยใช้หลัก Operation Management ของวิศวกรรมอุตสาหการมาบริหารให้สมดุลกัน”

ดร.รักษ์ กล่าวว่า การจะบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้นำต้องทำให้ทุกคนประสานการทำงานและเห็นเป้าหมายร่วมกัน มีฝันเดียวกัน ผู้นำต้องเป็น Conductor ของวงดนตรีและสร้าง Ecosystem ต่าง ๆ ที่จะทำให้แต่ละคนทำงานได้สำเร็จ ผมจึงให้ความสำคัญกับการดูแลเพื่อนพนักงานอย่างดีที่สุด สร้าง EXIM BANK ให้เป็น Emphatic Workplace ที่พนักงานอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รวมทั้งทำลายปัญหาคอขวด ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นหรือไม่มีประสิทธิภาพลง เพื่อให้พนักงาน EXIM BANK นำพาผู้ประกอบการไทยไปประสบความสำเร็จในเวทีโลกได้มากที่สุด ด้วยความเชื่อมั่นว่าความสำเร็จของธุรกิจ SMEs หรือกิจการของคนตัวเล็ก ซึ่งเป็นกิจการส่วนใหญ่ของประเทศ จะนำพาฟันเฟืองการพัฒนาประเทศเคลื่อนไปข้างหน้า

ขณะเดียวกัน ภารกิจยกระดับอุตสาหกรรมไทยในยุค 4.0 ก็เป็นเรื่องสำคัญ ทุกวันนี้หลายอุตสาหกรรมที่เคยเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกำลัง “ตกยุค” และ “แข่งขันไม่ได้” จึงถึงเวลาที่ไทยจะต้องยกระดับภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ อาทิ อาหาร ท่องเที่ยว การแพทย์ เพื่อสร้าง New Engine of Growth ด้วยการเติมตัวตน (Identity) เติมนวัตกรรม (Innovation) ตลอดจน Embed ธุรกิจและสินค้าของเราให้เข้ากับ Supply Chain และ Megatrends ใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ได้

ดร.รักษ์ มองว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงแทบทุกวินาที เราไม่สามารถทำอะไรเดิม ๆ แล้วหวังผลลัพธ์ที่แตกต่างได้ EXIM BANK พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดและกลายมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เรามีการพัฒนากระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อลดความ “ยุ่ง ยาก เยอะ” ของหน่วยงานรัฐสมัยเก่าเพื่อให้เข้าถึงและช่วยเหลือผู้ประกอบการได้กว้างและรวดเร็วขึ้น

สำหรับภารกิจวันนี้ของ EXIM BANK ในบทบาทของ “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank)” นั้น ดร.รักษ์ เล่าว่า มี 3 งานหลัก ๆ คือ รับความเสี่ยงมากกว่าในการสนับสนุนธุรกิจได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์ ให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่ สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่จะเป็น Growth Engine ในการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ BCG และ Infrastructure สำคัญต่าง ๆ และ หนุนทุนไทยไปต่างแดน โดย EXIM BANK พร้อมเป็นหัวหอกพาธุรกิจไทยไปค้าขายและลงทุนในต่างประเทศ

ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 EXIM BANK ทำหน้าที่ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” การพัฒนาประเทศไทย “ซ่อม” ต่อลมหายใจให้ธุรกิจที่ป่วยแต่มีอนาคต ทั้งการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ปรับตารางผ่อนชำระ และสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม อาทิ ธุรกิจการบิน พาณิชยนาวี “สร้าง” อุตสาหกรรมใหม่ เพื่อขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน “เสริม” อาวุธ SMEs ให้เป็นนักรบเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่งด้วยบริการครบวงจร ผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยน Indirect Exporters ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือ Suppliers ของผู้ส่งออก รวมไปถึงผู้ค้าตามแหล่งท่องเที่ยวหรือที่ค้าขายออนไลน์อยู่แต่ในประเทศ ให้ผันตัวเองมาเป็นผู้ส่งออกได้มากขึ้น ผ่านเครื่องมือ Shortcuts ที่เรียกว่า “EXIM Thailand Pavilion” เป็นบัญชีการค้าออนไลน์ของ EXIM BANK บนพื้นที่ของ Alibaba เพื่อให้ SMEs ไทยได้ทดลองขายสินค้าออนไลน์ฟรี 1 ปี สร้าง Export Community โดยมี EXIM BANK เป็นพี่เลี้ยงดูแล ให้คำแนะนำเรื่องการพัฒนาสินค้า การออกแบบแพ็กเกจ และถ่ายทอดเพื่อการตลาด ตลอดจน “สานพลัง” กับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน

ดร.รักษ์ กล่าวฝากถึงพี่น้องชาวอินทาเนียว่า ชีวิตจริงเริ่มต้นนอกรั้วมหาวิทยาลัยครับ เพราะฉะนั้นใช้ชีวิต 4 ปีตรงนี้ให้มีความสุข ตักตวงพลังงานดี ๆ ไว้ในแบตเตอรี่ชีวิตให้ได้มากที่สุด เมื่อใดก็ตามที่คุณต้องออกมาเจอคลื่นลมพายุที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต พลังงานเหล่านั้นมันจะเป็นเหมือนตะเกียงในวันที่โลกมันดับมืด และด้วยความเป็นวิศวกรคนรอบข้างจะเรียกคุณว่า “นายช่าง” ตั้งแต่ยังเป็นนิสิต และคำว่านายช่างนี่แหละที่จะทำให้คนอื่นหวังพึ่งคุณ เป็นเด็กวิศวะที่ไม่จำเป็นต้องแข็งกระด้างหรือพูดจาภาษาต่างดาว เราต้องเป็นชาววิศวะที่มีเสน่ห์ ปรับตัวเข้ากับผู้คนและโลกใบนี้ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างมีความสุข


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save