สัมภาษณ์พิเศษ รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วศ.26…ชีวิตที่ไม่มีการออกแบบ


สัมภาษณ์พิเศษ

รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วศ.26


ชีวิตที่ไม่มีการออกแบบ…

รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

….บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง นักเรียนทุนอานันทมหิดล อาจารย์คณะวิศวฯ จุฬาฯ ข้าราชการการเมือง และผู้บริหารบริษัทเอกชน… บทบาททั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากชีวิตที่ “ไม่มีการออกแบบ” ของ รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์….

ผมเรียนจบจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา ที่เลือกเรียนโยธาเพราะคิดว่า เทคโนโลยีการก่อสร้างเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
หลังเรียนจบก็ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาวิศวกรรมโครงสร้างที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) และระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Illinois Urbana Champaign

พอเรียนจบปริญญาเอกผมก็ทำงานหาประสบการณ์ 2 ปีที่บริษัท สกิดมอร์ โอวิงส์ เมอร์ริล (Skidmore Owings and Merrill LLP;SOM) เป็นบริษัทที่ออกแบบอาคารสูง ได้ประสบการณ์มากมาย ได้เห็นถึงวัฒนธรรมการทำงาน วิธีคิด การทำงานเป็นทีม รวมทั้งทำให้เรามี Networking ที่จะช่วยเปิดมุมมอง เปิดโลกกว้าง และเพื่อนที่ยังติดต่อกันจนถึงทุกวันนี้

เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้กลับมาสานต่องานอาจารย์รุ่นพี่ที่ได้ทำไว้ทั้ง Laboratory for Full Scale Test เป็นการหล่อกำแพงคอนกรีต และ Lab ทดสอบคอนกรีตทนไฟ ซึ่งเป็นงานที่ผมทำต่อจากอาจารย์เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ ผมภูมิใจกับงานเหล่านี้ เพราะเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนให้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับวัสดุทนไฟที่ใช้ในงานก่อสร้างขึ้นมา

ถึงเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ทำงานวิจัย และทำงานบริหารในมหาวิทยาลัย …แต่ก็ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ มีช่วงหนึ่งผมได้ไปช่วยงานที่สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ กับได้มีโอกาสไปเป็นทีมงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งตอนนั้นก็ไปแบบนักวิชาการ มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เรียกว่าไปทำงานเพราะความอยากรู้อยากเห็นว่างานคมนาคมเป็นอย่างไรเท่านั้น

ผมเข้าไปทำงานที่กระทรวงบ่อย ทำให้รู้จักคุ้นเคยกับทุกคนในกระทรวง …ผมทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทน แต่อยากได้ประสบการณ์ อยากมีความรู้เพิ่มขึ้น เมื่อเรามีประสบการณ์เพิ่ม ความรู้เพิ่ม ก็ทำให้มีทางเลือกชีวิตที่หลากหลายมากขึ้นไปด้วย

ผมชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ชอบอ่านหนังสือ… เมื่อรู้ว่าไม่มีความรู้ด้านการเงิน ผมก็ไปเรียน MBA ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ทั้งเรื่อง HR, Organization, Finance รวมถึงเรื่องของการลงทุน …ความรู้เหล่านี้ทำให้ผมได้โอกาสทำงานเป็น CEO บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งความรู้ด้านวิศวฯ เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ได้รับโอกาสเช่นนี้ก็ได้ เมื่อสะสมความรู้หลากหลาย เมื่อโอกาสมาถึงเราก็พร้อมที่จะคว้าไว้

อาจารย์ ข้าราชการการเมือง และผู้บริหารบริษัทเอกชน…ทุกอาชีพมีความแตกต่างกัน

หากถามถึงความแตกต่างระหว่าง 3 งาน ผมมองว่า 3 งานนี้หนักเท่ากันหมด เพราะว่าเราก็มี 24 ชั่วโมงเหมือนกัน เมื่อตั้งใจทำอะไรแล้วก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ผมว่างานไหนก็หนักเหมือนกันหมด แต่ความหนักอาจจะต่างกันออกไป
ในงานการเมือง การตัดสินใจจะต้องพิจารณาในหลายมิติ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจะค่อนข้างกว้างเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน เพราะฉะนั้นจะต้องระมัดระวังและรอบคอบในการตัดสินใจให้มาก อีกเรื่องคืองานการเมืองไม่ค่อยมีความไว้ใจกัน ทำให้เสียเวลาต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ยุ่งยาก ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
ส่วนเรื่องธุรกิจ จะมี Value เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมจะให้ความสำคัญกับคุณภาพมากที่สุด ดังนั้น ผู้รับเหมาที่ถูกที่สุดอาจจะไม่ได้รับการว่าจ้างก็ได้หากคุณภาพไม่ได้ตามที่ต้องการ

ความไว้ใจคือสิ่งที่มีค่าที่ต้องรักษาเท่าชีวิต…

ผมคิดว่าความรู้เชิงวิชาการเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่ง แต่ “ความไว้ใจ” คือสิ่งที่มีค่าที่สุดที่ผมจะต้องรักษาเท่าชีวิต

มีหนังสือชื่อ The Speed of Trust เขียนโดย Stephen M.R. Covey พูดถึงเรื่อง Trust เราต้องมี Character และ Competence ทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องมี และอีกอย่างที่ผมยกย่องให้เป็นสิ่งที่ควรมีและปลูกฝังในจิตสำนึกของทุกคนคือ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว การทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานกับลูกน้องในการสร้างความไว้ใจ เชื่อใจซึ่งกันและกัน สิ่งนี้คือหัวใจของการทำงาน

เราไม่ได้ดูจากว่าเขาทำงานเก่งแค่ไหน แต่ดูว่าเราไว้ใจเขาได้ไหม …ผมว่าการไว้ใจเป็นสิ่งที่มีค่าเท่าชีวิต ต้องรักษาไว้ให้ได้

ตอนที่ผมอยู่บริษัทเอกชนผมจะไต่ถามทุกข์สุข ถามถึงการทำงานของทุกคน ทำให้เกิดความผูกพันธ์ แสดงถึงการเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน

ที่กระทรวงคมนาคมก็เช่นกัน ผมจะดูแลเจ้าหน้าที่ทุกคน เพราะทุกคนมีส่วนสำคัญในการทำงาน เมื่อทุกคนเห็นว่าเราตั้งใจทำงาน ไม่เห็นแก่ตัว จุดนี้ก็เปรียบเหมือนการสร้างความเชื่อใจกันและกัน

Design โถแก้วของชีวิตให้ดี จัดเรียงหิน กรวด ทราย ให้ลงตัว… ผมเป็นคนตื่นเช้า ประมาณตี 4 ก็จะออกไปวิ่ง ผมคิดว่าการวิ่งเหมือนได้ทำสมาธิ ไม่ต้องใช้ความคิด ทำให้เรามีเวลาคิดเรื่องอื่น หลาย ๆ ครั้งที่ผมสามารถค้นหาวิธีแก้ปัญหาได้ในขณะวิ่งออกกำลังกาย และยังทำให้ร่างกายและจิตใจดีขึ้น และที่สำคัญเมื่ออายุมากขึ้นผมไม่อยากเป็นภาระให้กับครอบครัว ผมอยากเป็นคนดูแลเขามากกว่า

ผมมองว่าชีวิตคนเราก็เหมือนโถแก้ว โถแก้วเปรียบเสมือนเวลา 24 ชั่วโมงที่ทุกคนมีเหมือนกันหมด หน้าที่ของเราคือการนำของ 3 สิ่งใส่เข้าไป หิน คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต กรวด รองลงมา ส่วนสิ่งสุดท้ายคือ ทราย ที่เปรียบเป็นเหมือนเรื่องไร้สาระ

หลายคนเลือกที่จะให้มีทรายในโถแก้วเยอะเกินไป เปรียบเสมือนเราปล่อยให้มีเรื่องไร้สาระมาจองพื้นที่ในชีวิต ดังนั้น เราต้อง Design โถแก้วของเราให้ดี ใส่หินเป็นหลักให้ได้ก่อน หินของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะให้งานเป็นหินก็ได้ แต่อย่ามาเสียใจภายหลังว่าเลือกหิน กรวด ทราย ผิด

สำหรับผมแล้ว สุขภาพและครอบครัวเปรียบเหมือนหินก้อนใหญ่ เพราะถ้าสุขภาพไม่ดีเราก็อาจจะดูแลครอบครัวได้ไม่ดี ดูแลลูกน้องได้ไม่ดี เมื่อแบ่งสรรเวลาและจัดลำดับความสำคัญได้ไม่ดี ส่งผลกระทบให้แก่ทุกอย่างในชีวิตเรา ทำให้ดูแลลูกน้องไม่ดีด้วย งานที่ได้ก็จะไม่เป็นไปตามที่หวัง

เทคโนโลยีเปลี่ยนไป วิศวกรรมโยธาต้องก้าวตามให้ทัน…ผมเลือกเรียนวิศวกรรมโยธาเพราะคิดว่าโยธาไม่มีเรื่องความล้าสมัย พื้นฐานของโยธาคือ Physical หรือ Analog ไม่ได้เปลี่ยนมาก จะเป็นหิน เหล็ก ปูน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปมี 5 เรื่อง คือ

1.พลังในการคำนวณเร็วขึ้น เมื่อก่อนโครงสร้างที่ซับซ้อนจะคำนวณได้ยาก แต่ปัจจุบันทำได้ง่าย ทำให้เห็นโครงสร้างใหม่ ๆ ที่แปลกตามากขึ้น ซึ่งวิศวฯโยธาต้องตามให้ทัน ปัจจุบันใช้โปรแกรมคำนวณ CG ได้แล้ว รูปแบบการคำนวณเปลี่ยนไป ถ้ายังยึดรูปแบบเดิมก็จะตามไม่ทัน

2. Platform เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตคนเราเปลี่ยนไป ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น อาทิ เมื่อจะซื้อบ้านหนึ่งหลัง ผู้ซื้อสามารถหาข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่าย นำมาเปรียบเทียบเพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้น การทำงานในปัจจุบันจะต้องคำนึงถึงคุณภาพเป็นหลัก

3. การมี IoT มาช่วย ทำให้ต้นทุนถูกลง ซึ่งในแง่การก่อสร้างอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น ทำประตูระบายน้ำ การก่อสร้างไม่เปลี่ยนไปจากเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ การควบคุมประตูน้ำ อาจจะใช้รีโมตมาช่วย การควบคุมเป็นระบบมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถ้าเสริมกับงานของเรานำเสนอให้ลูกค้าได้ ก็จะเป็นจุดแข็งกว่าคนอื่น ๆ

4.เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีเกิดขึ้น อาทิ Radar, Information Model หรือสิ่งใหม่ ๆ ที่พร้อมจะเกิดขึ้น จึงต้องเรียนรู้ให้ทันพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

5.ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมมีบทบาทมากขึ้น ต่อไปการก่อสร้างอาจจะไม่ต้องกังวลว่าจะสร้างอย่างไร แต่ต้องกังวลว่าสร้างอย่างไรไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะฉะนั้นต้องละเอียดในการทำงาน และคิดมากขึ้น … ต่อไปโยธาไม่ใช่แค่สร้างตึกแต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตึกกับสิ่งแวดล้อม และผู้คนที่อยู่รอบข้างให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

ตึกเก่า… ความท้าทายที่จำเป็น

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวตึกที่อยู่อาศัยในฟลอริดาถล่ม เป็นเหตุการณ์ที่น่ากังวลมาก เพราะกรุงเทพฯ มีตึกเก่าอยู่หลายแห่งที่ไม่ได้รับการดูแล และมีสภาพเสื่อมโทรม จึงเป็นความท้าทายว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัย
ปัจจุบันมีการพูดถึง Smart City หรือเมืองอัจฉริยะกันมาก เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาเมือง แต่สิ่งที่ต้องเน้นก่อนคือคน เทคโนโลยีจะดำเนินการได้ก็ต้องมีคนสั่ง ดังนั้นคำว่า Smart City ต้องเลือกใช้ให้ถูกที่ และจะต้องมี Data Base เมื่อมี Data ก็จะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

เวลานี้ประเทศไทยยังไม่มีแผนการรับมือหากเกิดภัยร้ายแรง ควรมีการวางแผนจัดเตรียมรับมือ และควรจริงจังเรื่องการซ้อมอพยพ ต้องชัดเจนว่าเมื่อเกิดเหตุจะต้องปฏิบัติอย่างไร อีกทั้งจะต้องมีข้อมูลที่เป็น Data Platform ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทุกตึกได้ ต้องรู้ว่าตึกนั้น ๆ มีทางออกกี่ทาง มีประตูฉุกเฉินตรงไหนหรือหากเกิดเหตุฉุกเฉินไฟดับ ก็ต้องทราบได้ทันทีว่าตึกนี้มีลิฟต์กี่ตัว มีคนติดค้างข้างในหรือไม่ เพื่อจะได้เข้าช่วยเหลือได้ทันที ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงนี้สามารถทำได้ไม่ยาก และมีคนเก่ง ๆ ที่พร้อมเข้ามาช่วย

คนไทยเก่งแต่ต้องเสริม 3 สิ่งเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ผมเชื่อว่าคนไทยเก่งพอที่จะทำอะไรก็ได้ เพียงแต่เรายังขาดบางสิ่ง สิ่งแรกคือ Networking ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ไม่จำกัดเพศ อายุ และไม่ต้องลงทุนสักบาทเดียว ขอเพียงเปิดใจให้กว้างในการทำความรู้จักและสานสัมพันธ์กับผู้อื่น
การมี Networking ที่ดีเป็นกลยุทธ์ช่วยอย่างมากในโลกของการทำงานในปัจจุบัน Networking ทำให้มีโอกาสเพิ่มขึ้น ทำให้ได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำที่ดีจากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า นอกจากนี้ เราได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากคนเหล่านี้เพื่อนำไปพัฒนาตัวเองอีกด้วย

สิ่งที่ 2 ที่อยากให้หลาย ๆ คนคิดเหมือนกันคือ ต้องเชื่อว่าคนเก่งส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในองค์กรเรา องค์กรในที่นี่ผมหมายถึงประเทศไทยด้วย เราต้องพยายามดึงคนเก่งมาอยู่กับเราให้ได้ แต่การจะดึงคนเก่ง ๆ มาอยู่จะต้องทำให้เมืองน่าอยู่ มีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยแก่ชาวต่างชาติที่สนใจเข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วย

สิ่งสุดท้ายคือ Team Work เป็นสิ่งที่คนไทยยังขาดอยู่ ประเทศไทยมีคนเก่งเยอะ แต่เก่งอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมี Team Work ที่เข้มแข็ง ผมสนับสนุนให้คนไทยไปหาประสบการณ์ข้างนอกเพิ่มเติม จากนั้นก็กลับมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน และทำให้การทำงานมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อเส้นเลือดฝอยแข็งแรง เส้นเลือดใหญ่ก็จะเข้มแข็งไปด้วย…

การพัฒนาเมืองของเราในเวลานี้จะเน้นเส้นเลือดใหญ่ การจราจรก็จะเน้นสร้างระบบขนส่งขนาดใหญ่ มีระบบระบายน้ำขนาดใหญ่ มีเตาเผาขยะขนาดใหญ่ แต่การขนส่งในตรอกซอกซอย ท่อระบายน้ำอุดตัน ขยะตามแหล่ง่งชุมชนยังไม่มีการจัดเก็บที่ดี ปัญหาเหล่านี้เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยของเมือง

ผมมองว่าปัญหาเมืองอยู่ที่เส้นเลือดฝอย ดังนั้น จะต้องใส่ใจเส้นเลือดฝอยให้มากขึ้น เพราะเราต้องดำรงชีวิตในทุก ๆ วัน แต่การแก้ไขจะต้องได้รับความใส่ใจและแนวร่วม เพื่อที่ทุกคนมีสิทธิในการเดินทางได้อย่างสะดวกปลอดภัย มีการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ สามารถให้ลูกหลานเรียนโรงเรียนใกล้ที่พักอาศัย ผู้สูงอายุ ผู้เจ็บป่วยสามารถเดินทางมายังโรงพยาบาลได้อย่างสะดวก ไม่ไกลจากที่พักอาศัย การเรียนรู้โลกกว้างทำให้การตัดสินใจทำได้ง่ายและตรงกับความต้องการมากขึ้น ในด้านการศึกษา ผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างมีความคิดเป็นของตัวเองกันอย่างเห็นได้ชัดเจน หากมีการแนะแนวทางที่เหมาะสมด้านการศึกษาก็อาจจะช่วยส่งเสริมการศึกษาตามที่เขาสนใจ บางคนอาจจะยังไม่รู้เลยก็ได้ว่าตัวเองกำลังสนใจอะไร แต่การเรียนรู้โลกกว้าง จะทำให้เขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นจะต้องมี Role Model ที่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กรุ่นใหม่ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เขา

นอกจากนั้น “แม่พิมพ์” ก็เป็นเรื่องสำคัญ ต่อไปคนที่เป็นครู ไม่จำเป็นต้องเรียนมาทางด้านการสอนโดยตรงก็ได้ แต่อาชีพอื่น ๆ ก็มาเป็นครูได้ ควรส่งเสริมให้ทุกอาชีพมีความสำคัญและมีประสิทธิภาพในการทำงาน และผลตอบแทนที่เหมาะสม ผมคิดว่าการจะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าได้จะต้องทำให้ทุกอาชีพมี Impact และให้เด็กสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่เขาสนใจ

รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ครั้งหนึ่งเคยได้รับฉายาว่าเป็นรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ควรมีมากกว่าแค่ในรั้วมหาวิทยาลัย การอ่านหรือการใฝ่เรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรพึงมี เพื่อว่าเมื่อมีโอกาสได้ทำสิ่งใหม่ ๆ เราจะได้พร้อมที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้

นอกจากนั้น ความไว้ใจ ความเชื่อใจ เป็นสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น คนเราต้องมี Networking อีกทั้งการให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวย่อมดีกว่า เพื่อเป็นการร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

…นี่คือชีวิตของ รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์…ชีวิตที่ไม่มีการออกแบบ…อาจารย์ นักอ่านหนังสือตัวยง นักบริหาร ผู้ให้ความสำคัญกับการสร้างความไว้วางใจเพื่อผลสัมฤทธิ์ของงาน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save