จุฬาฯ นำร่อง Generative AI ในการเรียนการสอน แนะยุทธศาสตร์ชาติ ส่งเสริม AI Literacyให้คนเข้าใจและใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพงาน ย้ำมนุษย์ต้องเพิ่มศักยภาพและสมรรถนะตัวเอง ก่อนถูก AI ทดแทนและทิ้งไว้ข้างหลัง
เทคโนโลยี AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดตัว Open AI อย่าง ChatGPT หุ่นยนต์แช็ตบ็อต (Al Chatbot) ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ-เรื่องนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับหลายคน ที่เห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี แต่ก็อาจสร้างความตื่นตระหนกให้กับหลายคนด้วยเช่นกันว่าความสามารถของ AI ในระดับนี้จะเป็นการคุกคามหรือริดรอนมนุษย์ในด้านใดบ้าง อย่างที่มักได้ยินคำถามว่า “AI จะแย่งงานมนุษย์?” “AI เก่งกว่าคน?” “AI ดูดข้อมูล?”
ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือโลกเข้าสู่ยุค AI แล้ว! ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม? เป็นคำถามและชื่อของหนึ่งในสองงานเสวนาวิชาการที่จุฬาฯ จัดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ ส่วนอีกงานหนึ่งชื่อ “จุดยืนจุฬาฯ นำการศึกษารุดหน้าด้วย Generative AI” การเสวนาวิชาการทั้งสองงานมีเป้าหมายเพื่อชี้ชวนให้คนในสังคมเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก AI รวมถึงนำเสนอข้อคิดและแนวทางในการเตรียมความพร้อมในการอยู่ในยุค AIAI Literacy
หนึ่งใน 3 สมรรถนะสำคัญของมนุษย์ในอนาคต
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชบัณฑิต แสดงทัศนะในงานเสวนาวิชาการ “ยุคเอไอได้มาถึงแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม?” ว่า “AI จะอยู่กับเราตลอดไป หากเราไม่พัฒนาคนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI เราจะก้าวไม่ทันโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอนาคตหาก AI เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมและการพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ มากขึ้น AI จะสามารถสร้างงานได้อย่างมหาศาล โดยไม่ต้องใช้แรงงานคน ซึ่ง ถ้าเราไม่มีการเตรียมคนให้มีความรู้เรื่อง AI ในอนาคตอาจทำให้คนตกงานได้”
หลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้แล้ว ส่วนประเทศไทย ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กล่าว่า “ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้องหันมาให้ความสนใจกับการกำหนดหา “ที่ยืนของประเทศไทยในโลกแห่งอนาคต” เพื่อเผชิญกับพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค AI”
“AI Literacy จะเป็นหนึ่งในสามสมรรถนะพื้นฐาน ที่เยาวชนต้องเรียนรู้ นอกจากสมรรถนะทางด้านภาษาและการคำนวณ”
ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่าจากวันนี้ไปนับเป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญและเป็นโจทย์อันท้าทายสำหรับจุฬาฯ ที่จะปูพรมพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ เพื่อให้ประชากรไทยมี Al Literacy อีกทั้งต้องปลูกฝังระบบนิเวศการศึกษาและการวิจัยด้านเทคโนโลยี AI
AI แทนที่ หรือ เสริม ศักยภาพมนุษย์
ในปัจจุบัน เราได้เห็นแล้วว่า AI มีความสามารถหลากหลาย ที่เสมอเหมือนหรืออาจจะล้ำกว่ามนุษย์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องการความแม่นยำสูง นอกจากนี้ AI ยังมีสมรรถนะในการพัฒนาความฉลาดและความสามารถตัวเองตลอดเวลา – ทำให้เกิดคำถามถึงความมั่นคงด้านอาชีพและการดำรงอยู่ของมนุษย์
คำถามที่มักพบบ่อยในการเสวนาและการอบรมในประเด็นที่เกี่ยวกับ AI ก็อย่างเช่น “AI จะแย่งงานเรากันหมดไหม?” หรือ “คนจะยังมีประโยชน์อยู่ไหม หากเทคโนโลยีอย่าง AI สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนในหลาย ๆ ตำแหน่ง” หรือ “แล้วคนจะทำอะไร”
รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ ชวนให้เรามอง AI ในมุมบวกที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพมนุษย์
“การเข้ามาของ Generative AI และตัวอย่างการใช้ ChatGPT ทำให้การทำงานของเราหลายอย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น เหมือนมีคนคอยช่วยงาน ให้งานที่เคยต้องทำเองแต่เดิม เสร็จได้เร็วขึ้นและดีขึ้น”
แล้วมนุษย์จะทำอะไร ?
“เราอาจจะต้องขยายขอบเขตความรับผิดชอบของตัวเองให้ขยับไปสู่งานอื่นหรืองานใหม่ ๆ ที่ยากขึ้น เราคงไม่อาจทำงานแบบที่เป็นงานประจำ หรือทำอะไรเหมือนเดิมทุกวี่วันได้ คงต้องมองงานเป็นโอกาสในการเรียนรู้ การทำเช่นนี้ทำให้ทุกคนต้องหมั่นพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี”
รศ.ดร.วิโรจน์ ยกตัวอย่างผู้ที่ทำงานด้านการบริหารธุรการ ที่แต่เดิมอาจเน้นไปที่งานเอกสาร จัดทำข้อมูลต่าง ๆ แต่ในเวลานี้ ควรต้องเริ่มมองงานส่วนบริหารวิเคราะห์ข้อมูลให้มากขึ้น เริ่มทำความเข้าใจข้อมูลและใช้ AI ให้วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นให้เพื่อนำเสนอผู้บริหาร จึงจะยังคงบทบาทและความสำคัญในองค์กรได้
สอดคล้องกับ รศ.ดร.วิโรจน์ ที่เห็นการมาของ AI เป็นโอกาสที่เร่งให้มนุษย์ขวนขวายพัฒนาศักยภาพตนเอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็เคยกล่าวในบทความ “AI วาดรูป เทรนด์การสร้างผลงานศิลปะ แทนที่ หรือ เติมเต็ม ฝีมือและจินตนาการมนุษย์?” https://www.chula.ac.th/highlight/94907/
ว่า “เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง มันสร้างอาชีพของนักพัฒนา เป็นประโยชน์ต่อคนที่จะได้ริเริ่มอาชีพใหม่ ๆ และไม่ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาอย่างไร ชีวิตก็ยังเป็นของมนุษย์อยู่ดี ขอให้เราสนุกไปกับเทคโนโลยีที่นำความเปลี่ยนแปลงเข้ามาให้ชีวิต”
จุฬาฯ นำการศึกษารุดหน้าด้วย Generative AI
ในการเสวนาวิชาการ “Chula the Impact ครั้งที่ 19” เรื่อง “จุดยืนจุฬาฯ นำการศึกษารุดหน้าด้วย GENERATIVE AI” รองศาสตราจารย์ ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ กล่าวนำเสนอความก้าวหน้าของจุฬาฯ ในการบุกเบิกการนำนวัตกรรม Generative AI เข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคณาจารย์และนิสิตในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
“เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์แบบ Generative AI เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากในยุคปัจจุบัน เพราะศักยภาพในการสร้างเนื้อหา รูปภาพ และการเขียนโค้ดต่าง ๆ ทำให้คนทำงานได้ง่ายขึ้น นับเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มโอกาสในธุรกิจ การศึกษา และกระบวนการทำงานในหลายอาชีพด้วย เช่น ศิลปะ” รศ.ดร.โปรดปราน กล่าวและได้ยกตัวอย่างการใช้เครื่องมือ ChatGPT ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนการสอน เช่น กิจกรรม Chula Lunch Talk ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการแบ่งปันความรู้จากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อเผยแพร่ความรู้และเสนอแนะเรื่องการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการเรียนการสอน
ทั้งนี้ รศ.ดร.โปรดปราน ได้กล่าวถึงแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาฯ เพื่อดูแลและกำกับการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม สอดคล้องกับหลักจริยธรรม และเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน โดยแบ่งเป็น 3 หมวดสำคัญ ดังนี้
1. การเรียนการสอนและการประเมินผล
- ผู้สอนควรเข้าใจถึงความสามารถและข้อจำกัดของเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ที่เลือกใช้ และออกแบบกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลที่เหมาะสมกับเครื่องมือนั้น
- ผู้สอนควรระบุในประมวลรายวิชาให้ชัดเจนถึงขอบเขตและแนวทางการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ เช่น ChatGPT, Google Bard ในรายวิชานั้น พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลให้ผู้เรียนทราบ
- หากรายวิชาใดอนุญาตให้นิสิตใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ ผู้สอนควรปรับวิธีการวัดประเมินผลให้เหมาะสม ไม่ควรประเมินผลโดยตรงจากงานที่นิสิตสามารถใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ตอบได้
2. การใช้งานเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์
- ปัญญาประดิษฐ์เป็นเพียงเครื่องมือ ผู้ใช้เป็นผู้รับผิดชอบความถูกต้องของข้อมูลและผลงานที่ได้
- หากมีการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ในงานใด ให้อ้างอิงและระบุให้ชัดเจนถึงขอบเขตการใช้ในงานนั้น การปกปิดไม่แจ้งข้อมูลการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นการละเมิดหลักจริยธรรมซึ่งอาจถูกลงโทษตามระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องได้
3. การปกปิดความลับและข้อมูลส่วนบุคคล
- ห้ามนำข้อมูลใด ๆ ที่เป็นความลับของหน่วยงานหรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลโหลดเข้าไปในระบบงานปัญญาประดิษฐ์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เกี่ยวข้อง
อนาคตมาเร็วกว่าที่คิด โลกในยุค AI จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรเป็นเรื่องที่ท้าทาย ยากจะคาดเดา และน่าติดตาม ทั้งนี้ รศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า “ในอนาคต ไม่ว่า AI จะเข้ามามีบทบาทหรือแทนที่มนุษย์จริงหรือไม่ หรือมากน้อยแค่ไหน มนุษย์ถูกสร้างให้เรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ ดังนั้น ผู้ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับรู้และไม่เข้าใจการใช้ประโยชน์จาก AI จะเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้รับผลกระทบ”
ที่มา: https://www.chula.ac.th/highlight/129132/