เมื่อ 2 ปีก่อน ความท้าทายใหม่ในชีวิตได้โผเข้าหา ผศ. ดร. วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร หรือ ดร.อ๊อด วศ.2527 อีกครั้ง ทันทีที่คุณศักดิ์ชัย ยอดวานิช นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) วาระ พ.ศ. 2565-2566 ได้ยกหูทาบทามให้เข้ามารับตำแหน่ง เลขาธิการ สวจ. นับแต่วันที่ได้ตกปากรับคำเชื้อเชิญ เราจึงได้เห็นพี่นายช่างมากความสามารถท่านนี้ แวะเวียนเข้ามาที่คณะแทบทุกสัปดาห์ มาเกาะติดภาระงานน้อยใหญ่ตามที่ สวจ. ได้มอบหมายให้เร่งรัดดำเนินการ เกิดก่อผลงานมากมายมีให้เห็นเด่นชัดเป็นประจักษ์สัมผัสจับต้องได้ ทั้งงานปรับปรุงหอประชุมและอาคาร สถานที่ งานวางระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ให้แก่คณะใหม่แบบม้วนเดียวครบจบทันอายุ สวจ. วาระเดียว
แน่นอนว่ายังมีสิ่งละอันพันละน้อยซ่อนอยู่ในผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่ผ่านการรังสรรค์กลั่นออกมาจากจิตวิญญาณของเลขาธิการ สวจ. ท่านนี้ผู้ซึ่งหลายคนต่างยกให้เป็นวิศวกรเทสต์ดีมีรสนิยมลำดับต้น ๆ ของเมืองไทยที่สั่งสมองค์ความรู้วิชาช่างและประสบการณ์ด้านวิศวกรรมโยธามาอย่างโชกโชน โดยหลังจากที่คว้าปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตที่จุฬาฯ ได้แล้ว ดร.อ๊อด ยังได้ทุน ไปศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และปริญญาเอกวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรม ชายฝั่งทะเลจาก Yokohama National University ซึ่งเป็นทุนของกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศญี่ปุ่น (Monbusho) จนปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิชชากร จำกัด ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม แต่ด้วยใจรักในงานศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ จึงทำให้ ดร.อ๊อด ยังได้ชื่อว่าเป็นนักสะสมงานศิลปะตัวยง ทั้งผลงานภาพวาดของศิลปินชั้นบรมครูและศิลปินรุ่นใหม่ของไทยที่มีไว้ครอบครอง กว่า 500 ชิ้น จนได้รับการขนานนามให้เป็น “นายช่างหัวใจศิลป์” (The Art of Engineer)
แต่ก่อนที่ท่านจะครบวาระพร้อมส่งไม้ต่อให้แก่คณะกรรมการบริหาร สวจ. ชุดต่อไป เราจึง ไม่พลาดที่จะขอเวลามาพูดคุยถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แฝงตัวเป็น Signature ของชายคนนี้ที่ได้ ฝากไว้ให้เป็นแรงบันดาลใจของพวกเราชาวอินทาเนียทุกรุ่นทุกวัยกับเลขาธิการ สวจ. นามว่า “วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร”
“ผมทราบดีว่าหน้าที่เลขาธิการสมาคมต้องทำอะไรบ้าง เพราะเคยผ่านงานสมาคม เคยเป็นกรรมการ และเคยเป็นนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน เพียงแต่พอต้องมาทำหน้าที่เลขาธิการด้วยตนเองช่วงแรกอาจยังต้องปรับตัวให้เข้ากับการทำงานที่ สวจ. บ้าง แต่พอได้เข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาด จัดวางระบบจัดระเบียบงาน ทำความเข้าใจพูดคุยกับ สตาฟ สวจ. ทุกคนให้เข้าที่เข้าทางแล้ว พวกเราก็พร้อมลุยงานใหญ่ด้วยกัน เพราะนอกจากงานที่ สมาคมต้องทำเป็นประจำอย่างงานคืนสู่เหย้าและงานประกาศเกียรติคุณวิศวจุฬาดีเด่นแล้ว เรายังมีภารกิจที่ทั้งใหม่และทั้งใหญ่ต้องทำกันให้สำเร็จใน สวจ. สมัยของนายกศักดิ์ชัย นั่นคือ งานซ่อมแซมหอประชุมคณะและงานปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ”
2 ปีที่ต้องสวมหมวก 2 ใบในเวลาเดียวกัน
ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ เปิดบทสนทนาโดยเท้าความกลับไป ณ วันแรกที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่งนี้
“ผมได้รับการชักชวนจากคุณศักดิ์ชัย ยอดวานิช วศ.2524 ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากที่ประชุมใหญ่สมาคมให้เป็นนายก สวจ. ครั้งแรกผมก็ตอบปฏิเสธพี่เขาไปนะครับ เพราะจากที่ทราบมานายกกับเลขาธิการแต่ละรุ่นมักจะเป็นคนที่มาจากรุ่นเดียวกัน คุ้นเคยกัน สนิทกัน แต่นายกศักดิ์ชัยก็ยังยืนยันว่าอยากจะให้ผมเข้ามาช่วยตรงนี้ เพราะเราก็คุ้นเคยและรู้ฝีมือกันดีอยู่เช่นกัน ตั้งแต่สมัยที่ช่วยงานที่สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ แล้ว ตอนแรกผมยังไม่ทราบว่ามีภารกิจใหญ่รออยู่ แต่ก็พอจะเข้าใจว่าทำไมตนเองถึงถูกเลือกให้เข้ามารับงานแม่บ้านสมาคมให้ท่านนายกศักดิ์ชัย ก็ต้อง ขอบคุณพี่ ๆ วศ.2524 ที่ไว้วางใจให้ผม วศ.2527 เข้ามาร่วมงานด้วย”
“แต่เมื่อทราบว่าต้องเข้ามาบริหารโครงการปรับปรุงหอประชุม คณะมูลค่าร้อยกว่าล้านบาทด้วยแล้ว นี่คือหมวกอีกใบที่เราต้องสวม ซ้อนทับกับหมวกใบแรกคือเลขาธิการ สวจ. เรายิ่งต้องปรับโครงสร้างการทำงานของสมาคมให้พร้อมทำงานใหญ่ที่ต้องแข่งกับเวลา ทำไป ปรับไป ตรงไหนยังไม่ดี เราก็แก้ไขเลยทันที เข็นกันจนออกมาได้เสร็จ ทันเวลาตามกรอบที่เราวางไว้ โดยเฉพาะงานหอประชุมคณะ ที่ต่อมาเราต้ังชื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการระดมทุนว่า “Hall of INTANIA” รวมถึงงานปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบคณะท้ังลานอินทาเนีย ห้องน้ำตึก 3 งานทาสีตึก 1 ตึก 2 และตึก 3 งานปรับปรุงห้อง INTANIA CLUB และอาคารอรุณ สรเทศน์ งานไหนที่ล่าช้าเราก็ปรับแผนให้สามารถเปิดใช้งานชั่วคราวกันไปได้พลางก่อนอย่างลานอินทาเนีย และแน่นอนว่ายังมีงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจล่าช้าจากเทคนิคการก่อสร้างคืองานปรับปรุงระเบียงชั้น 2 ตึก 3 หรือ ที่เรารู้จักกันในนามลานการเวก แต่ก็ยังไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ได้กระทบกับงานหลักของเรานัก”
“ฟังดูเหมือนว่าเราทำงานเร่งนะครับ ซึ่งเราก็ถูกบีบด้วยเงื่อนเวลามาด้วย จึงต้องคุมงานกันเข้มและเครียดอยู่ไม่น้อย ยอมรับว่า กดดันตัวเอง แต่ก็ต้องเรียนว่าทุกขั้นตอนเราพิถีพิถันใส่ใจในทุกรายละเอียดนะครับ ทั้งเรื่องการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ เราต้องคำนึงถึงการใช้งานรองรับอนาคต คิดถึงความคงทนแข็งแรง ดูแลรักษาง่าย รวมไปถึงเทคนิคการก่อสร้างที่ต้องเอื้อให้งานเสร็จทันเวลาและใช้งานได้จริงตรงตามวัตถุประสงค์ และที่สำคัญ คือ ต้องสวย น่าใช้งาน ดูแล้วเจริญหูเจริญตา เป็นที่น่าจดจำของผู้มาเยี่ยมเยือนพบเห็น” ดร.อ๊อด เล่าให้เราฟังถึงแนวทางการทำงานที่ เข้มข้นภายใต้หมวกสองใบตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
เลือกแบบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
สวจ. ได้เริ่มดำเนินการชักชวนบริษัทสถาปนิกให้เข้ามาประกวดแบบโครงการปรับปรุงหอประชุมคณะค้างไว้ตั้งแต่ช่วงท้ายสมัย คุณอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ เป็นนายกในวาระ พ.ศ. 2563-2564 และได้ส่งต่องานนี้ให้ สวจ. ชุดต่อมา นายกศักดิ์ชัย ยอดวานิช จึงได้แต่งตั้ง ให้ ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร ร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกบริษัทผู้ออกแบบด้วย
“วันคัดเลือกผู้ออกแบบได้ทราบว่างานที่เราจะทำระหว่างทางน่าจะมีปัญหา พอสมควร คนที่มาร่วมงานเป็นคนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ และการที่จะเลือกผู้ออกแบบเข้ามาทำงานก็มีปัญหาความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป ผมจึงคุยกับพี่ ๆ ในที่ประชุมและท่านนายก สวจ. ว่าเราไม่ควรมานั่งโหวตกัน การคัดเลือกผู้ออกแบบควรให้เป็นฉันทานุมัติของท่านนายกและคณบดี เพื่อไม่ให้เรามีความเห็นไม่ตรงกัน ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน ซึ่งนายกได้คุยกับคณบดีแล้วตกลงเลือก “บริษัท A&A” เพราะ แบบที่เสนอมานั้นตอบโจทย์ตรงใจกรรมการและยังเป็นบริษัทที่มีความเข้มแข็งมาก ที่สุดในการนำเสนอท่านก็พิจารณาแล้วเหมาะกับโครงการน้ีเพราะเราต้องการให้งานออกมาเสร็จภายในสมัยที่ คุณศักดิ์ชัย ท่านยังเป็นนายกอยู่ ซึ่ง A&A เสนอราคา มาแพงเป็นอันดับ 2 แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นนะครับ เพราะกรรมการ สวจ. ของเราคือ พี่วิโรจน์ เจริญตรา วศ.2525 ได้เข้ามาช่วยต่อรองราคาให้ จาก 8.5 ล้านบาท เหลือ เพียง 4 ล้านบาทถ้วนรวม VAT ถือว่าเป็นดีลที่ได้ทั้งผู้ออกแบบที่มีความพร้อมสูง และราคาที่ถูกมาก ตัวแบบของหอประชุมแห่งนี้จึงดูสวยงาม รองรับอนาคต สมฐานะคณะเราที่เป็นที่หนึ่งในประเทศไทย เพราะที่นี่จะสามารถใช้เป็นสถานที่ บ่มเพาะให้นายช่างรุ่นน้องได้มีความสมบูรณ์พร้อมมิใช่เพียงด้านวิชาการ แต่ยังหมายรวมถึงทักษะการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับคนหมู่มากทั้งในสาขาอาชีพเดียวกันและ ต่างสาขาอาชีพที่นี่จึงนับเป็นอีกระบบโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งของคณะเราที่จะช่วยให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมได้ ผมเชื่อเช่นนั้นนะครับ”
“หลังจากนั้นท่านนายกก็ได้มอบหมายให้ผมเป็นหัวหน้าโครงการปรับปรุง หอประชุม คณะ และได้กรุณาแต่งตั้งพี่ ๆ กรรมการอีก 4-5 ท่านเข้ามาช่วยกัน มี พี่หนู ณรงชัย วศ.2524 พี่เปิ้ล พงษ์เดช วศ.2523 เข้ามาช่วยกันดูงานตลอด เมื่อได้แบบมาแล้วเราก็ได้คัดเลือกผู้รับเหมา ทั้งงานโครงสร้างและงานระบบโสตฯ ต่าง ๆ ช่วยกันกำกับทีมควบคุมงานก่อสร้างกัน อย่างใกล้ชิด วิ่งเข้า ๆ ออก ๆ คณะกันเป็นว่าเล่น เวียนกันอยู่อย่างนี้หลายเดือน แต่ก็เหมือนได้กลับมาเป็นนิสิตอีกครั้ง (หัวเราะ) และ ศ. ดร.สุพจน์ คณบดีก็เป็น Backup ที่ดีให้แก่พวกเรา เพราะแน่นอนว่าการปรับปรุงหอประชุมจะกระทบกับการเรียน การสอน ท่านช่วยอำนวยความสะดวกให้พวกเรา คอยเป็นกันชนรับแรงปะทะจากอาจารย์บางท่านที่อาจไม่ได้รับความ สะดวกสบายในระหว่างที่เราปิดปรับปรุงอาคารสถานที่ ตรงนี้ต้องกราบขอบพระคุณท่านจากใจจริง มิเช่นนั้นงานเราจะไม่มีทาง เสร็จได้ทันเวลาเลยครับ”
“โดยส่วนตัวผมมองว่าเราอยากสร้างหอประชุมนี้ให้ล้ำสมัย รองรับการเรียนการสอน ระบบใหม่อย่างเต็มที่ มีฟังก์ชันสำหรับจัดกิจกรรมของน้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็นละครเวที ภาพยนตร์ และเราได้จัดระบบโสตฯ ที่ดีที่สุดมาใช้ในหอประชุมแห่งนี้ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่คัดสรรมาอย่างดีในราคาที่เหมาะสมเช่นกัน อาทิ เก้าอี้เราเลือกใช้ของแบรนด์โมโตบูกิจากประเทศญี่ปุ่น มีวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน หุ้มด้วยผ้าที่ไม่ลามไฟ ตัวโต๊ะรองเขียนหนังสือใช้เป็นระบบอัตโนมัติ เมื่อทำแล้วก็ควรให้ใช้งานได้อย่างยาวนาน รวมไปถึงทำ Ambient หอประชุม ให้มีความสวยงาม ซึ่งเราเปลี่ยนอารมณ์ได้ทั้งหมด หลายท่านคงเคยได้เข้ามาใช้ Hall of INTANIA กันบ้างแล้ว คงสัมผัสได้ถึงอารมณ์และความรู้สึกตามที่ผมเล่าให้ฟังได้ไม่ยาก โดยสิ่งที่เรายังคงเก็บรักษาไว้คือ ‘ตราพระวิษณุกรรม’ ซึ่งเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของ พวกเราชาวอินทาเนีย ยังคงประดิษฐานไว้เหนือเวทีใหญ่ของหอประชุมเช่นเดิม”
อีกสิ่งหนึ่งที่น้อยคนนักจะทราบเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงหอประชุมคณะและภูมิทัศน์โดยรอบ นั่นคือ งานออกแบบพื้นที่ตั้งแต่หน้าตึก 3 หอประชุมคณะ ลานอินทาเนีย เรื่อยไปจนถึงตึกอรุณ สรเทศน์ มีความสอดคล้องต้องกันอย่างมีนัยสำคัญ ในประเด็นนี้ ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ เผยว่า “ด้วยความที่เราเป็นวิศวกรเรามักจะคำนึงถึงแบบที่มีความแข็งแรง และ คิดถึงฟังก์ชันการใช้งานก่อน โดยมักจะลืมคิดถึงเรื่องความสวยงามไป ไม่ต้องไปดูที่ไหนอื่นไกลเลยครับ อย่างอาคารในคณะเราหลายหลังก็เข้าข่าย ที่ผมว่ามานี้แหละ ส่วนตัวผมเป็นคนชื่นชอบเรื่องศิลปะ ผมคิดว่าถ้าเราเพิ่มสิ่งนี้เข้าไปในงานแบบอาคารสถานที่ได้โดยไม่ได้ทำให้ค่าใช้จ่ายแปรเปลี่ยนเพิ่มสูงขึ้นมากมายนัก จะช่วยให้เกิดสุนทรียะได้มากเลย พูดง่าย ๆ คือ ‘สวย ได้โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม’ ยกตัวอย่างตึกคณะอักษรศาสตร์หลังใหม่ทำไมจึงสวยงามกว่าตึกวิศวฯ ผู้ออกแบบก็มาจากเบ้าหลอมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เช่นเดียวกัน อันนี้ทำให้ผมอยากให้เน้นเหมือนกันว่าเราต้องเป็นคนกำกับนะครับ เราต้องเป็นคนบอกผู้ออกแบบตึกของเราว่าอยากให้อาคาร เรามีรูปลักษณ์อย่างไรที่จะสามารถสะท้อนความสวยงามตามแบบอย่าง วิศวฯ สิ่งนี้ทั้งผมและนายกศักดิ์ชัยเราต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะงานปรับปรุงนี่เมื่อทำแล้วต้องใช้สอยได้ดีขึ้น และต้องสวยงามขึ้นด้วย ฉะนั้นเมื่อโครงการของเราเสร็จสมบูรณ์จึงมีสิ่งสวยงามที่ถือเป็น งานศิลปะซ่อนอยู่หลายจุดภายในคณะเรา”
รังสรรค์งานศิลป์แฝงไว้ใน Hall of INTANIA
“อย่างใน Hall of INTANIA ของเรานั้น นอกจากจะมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังมีงาน ศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่อยู่ด้วยนะครับ อย่างองค์พระเกี้ยวจำลององค์ใหม่ที่ศิลปินทำขึ้น เพื่อทดแทนพระเกี้ยวองค์เดิมที่ทำจากปูนปั้นสึกหรอ ไปตามกาลเวลาหมดแล้ว พระเกี้ยวองค์ใหม่นี้ ทำจากบรอนซ์นะครับ สามารถอยู่ได้เป็น 100 ปี เลย รวมถึงตราสัญลักษณ์ใหญ่ของสมาคมที่ติดตั้งอยู่กึ่งกลางระเบียงชั้น 2 ภายในหอประชุมนั้น ศิลปินเขาใช้สเตนเลสทำออกมาได้สวยสมมาตรดี พิถีพิถันอีกเช่นกัน รวมถึงการนำโลโก้ผู้บริจาครายใหญ่ทั้ง 6 ราย เข้ามาติดตั้งไว้ในฮอลล์ ผมก็แก้แบบที่สถาปนิกออกแบบมาไม่รู้ตั้งกี่รอบเพราะ เราไม่อยากได้สิ่งไม่สวยมาประดับไว้ในหอประชุมของเรา ซึ่งพอปรับกันแล้วก็ออกมาลงตัวเลย เป็นที่ พอใจของทั้งเราและผู้เข้ามาเยี่ยมชมฮอลล์ของเรา ครับ” ดร.อ๊อด กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
สร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้ลานอินทาเนีย
“สำหรับลานอินทาเนีย ทั้ง สวจ. และคณะเองเราเห็นตรงกันอยู่แล้วที่อยากปรับปรุง ให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมและใช้เป็น Landmark เราคิดว่าเวทีก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่หากทำ เวทีอย่างเดียวประโยชน์ใช้สอยอาจจะน้อยเกินไป เลยทำให้เป็นลักษณะ Multi-function สามารถใช้เป็นสแตนด์ถ่ายรูปร่วมด้วยได้ ถ้าเดินมาที่ลานอินทาเนียเราจะเห็นเวทีถาวร โฉมใหม่สร้างไว้ที่ฉากหลังเวทีนั้นจะเห็น “ลวดลายโมโนแกรมใหม่” ซึ่งได้แรงบันดาลใจ มาจากช่องลมของตึก 3 นำมาใช้เป็นลายแพทเทิร์นประจำคณะไปแล้ว รวมถึงเราได้ทำระบบต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับทำกิจกรรมด้วย เช่น ระบบไฟฟ้าที่ใช้กำลังค่อนข้างสูงมีตู้ ไว้ด้านหลังเวที เวลาจะทำกิจกรรมไม่ต้องนำเมนไฟออกมาจากห้องควบคุมเลย และทำ ที่นั่งสำหรับนิสิตไว้อ่านหนังสือ มีหลังคากระจกสีชา บนหลังคากระจกตรงที่ราบสูงของ ลานอินทาเนียถ้าแหงนหน้ามองขึ้นไปบนหลังคากระจกก็จะเห็นลวดลายโมโนแกรมนี้ ปรากฏบนนั้นเช่นกัน ล่าสุด น้อง ๆ กวศ. ก็ขอนำลายนี้ไปใช้เป็นลายเสื้อวิ่ง CHULA INTANIA RUN 2024 กลายเป็นลายประจำแบรนด์ไปแล้ว นอกจากนี้หากเราขึ้นไปบน ตึก 3 ชั้น 2 ชั้น 3 ชั้น 4 แล้วมองลงมาที่กลางลานอินทาเนีย จะพบ “ลวดลายเส้นบน พื้นลานอินทาเนีย” ที่มีความทันสมัย นั่นก็ถือเป็นกราฟิกที่เราตั้งใจออกแบบไว้เช่นกัน”
“ลานอินทาเนียเรายังมีงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งปรากฏอยู่ด้วยนั่นคือ “ป้ายชื่อลานอินทาเนีย” ที่ติดตั้งอยู่ตรงพื้นที่ที่อยู่ใต้หลังคากระจกสีชา ที่มีลายโมโนแกรม ศิลปินก็รังสรรค์ผลงานเป็นบรอนซ์สวยงามประดับไว้ด้วยเช่นกัน และที่มากไปกว่านั้นคือ “โต๊ะ” ที่น้อง ๆ ใช้นั่งกันในลาน จำนวน 49 ตัวนั้น ก็ได้รับการออกแบบและจัดทำขึ้นมาใหม่เป็นการเฉพาะ คงทนแข็งแรงแน่นหนาด้วยตัวฐานที่ทำจากสเตนเลสกันสนิม ท๊อปด้วยไม้แดงซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ใช้แม่พิมพ์เหล็กสแตมป์ตราสัญลักษณ์ สวจ. ลงบนเนื้อไม้เพื่อป้องกันการโจรกรรม หากหายไปจะได้รู้ว่าเป็นโต๊ะของคณะวิศวฯ (หัวเราะ) นี่ถือเป็นงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งที่อยู่บนลานอินทาเนียครับ นอกจากนี้เรายังได้ทำจุดชาร์จไฟไว้ให้ด้วย รวมถึงระบบ กระจายเสียงชุดใหม่ เวลาคณะจะประกาศข่าวสารอะไรที่ลานอินทาเนียก็จะได้ยินทั่วถึงกันหมด แถมยังติดตั้ง Wi-Fi Router ให้น้อง ๆ ได้ใช้ อินเทอร์เน็ตกันที่ลานอินทาเนียของเราได้สบายเลย”
จะต้องสวยไปทำไม ?
หากถามว่าทำไมเราต้องใส่ใจในเรื่องความสวยงามขนาดนี้ ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ ตอบข้อถามนี้อย่างไม่ลังเล
พื้นที่ในจุฬาฯ นั้นมีจำกัด ดังนั้น เวลาเราจะขึ้นสิ่งปลูกสร้างอะไรใหม่ก็ต้องให้สวยงามเหมาะสมกับผืนแผ่นแดนดินถิ่นนี้ เพราะจะอยู่ไปอีกนาน ถ้าทำแล้วไม่สวย อีกกี่ปีจึงจะได้เวลาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงล่ะครับ ดูอย่างหอประชุมวิศวฯ กว่าจะได้ฤกษ์ซ่อมใหญ่ เชื่อไหมว่าใช้เวลายาวนานถึง 57 ปี อยู่มานับแต่วันที่สร้าง เพิ่งจะมาได้รับการบูรณะในช่วงสมัยเรา ติดขัดกันเรื่องงบประมาณ ดังนั้น ถ้าคิดจะสร้างอะไรก็ขอให้คำนึงถึงความสวยงาม เจริญหูเจริญตา แสดงความมีอารยะ คิดเรื่องนี้เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักร่วมด้วย จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้สภาพภูมิทัศน์มหาวิทยาลัยและคณะของเรา อย่างลานอินทาเนียที่เราซ่อมบำรุงทำไปให้แล้วอย่างสวยงามก็ยังคง ใช้เงินเท่าเดิมนะครับ ไม่ได้ใช้เงินมากกว่าเดิมเลย แต่เราเน้นลวดลาย พื้นและปรับแต่งทัศนียภาพโดยรอบให้งดงาม และเราก็ไม่ลืมที่จะ ใส่ใจธรรมชาติ ยังคงอนุรักษ์ต้นจามจุรีให้ยืนต้นปกคลุมแผ่ร่มเงาไว้เฉกเช่นเดิม ซึ่งนี่คือโจทย์ยากที่สุดของลานอินทาเนียเลยก็ว่าได้ ต้นจามจุรีทั้ง 9 ต้นใหญ่นี้ทำให้เราต้องแก้โจทย์ว่าจะทำงานได้อย่างไรให้ไม่กระทบกับต้นจามจุรีอายุเก่าแก่มีรากชอนไชไปทั่ว ยิ่งถ้าเราเปิดพื้นที่ไปมากก็จะยิ่งเจอแนวราก ก็ต้องเว้นในช่วงนั้นไว้เพื่อให้น้ำ อากาศ ลงไปถึงรากใต้ดินได้ ทำให้ตอนออกแบบต้อง Custom เมื่อเจอรากก็ต้องเว้นไว้ ถ้าเป็นดินเหมือนเดิมอาจจะโรยกรวดให้มี ความโปร่งให้อากาศและน้ำสามารถเข้าไปได้ ส่วนบริเวณรอบต้น จามจุรีเราได้ปรับให้เป็นที่นั่งหินขัดครอบและด้านล่างจะมีปลั๊กไฟ สำหรับน้อง ๆ ไว้ใช้งาน ทำให้ต้นจามจุรีอยู่คู่กับลานอินทาเนียต่อไปได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ เรายังมีห้อง INTANIA CLUB ในอาคารอรุณ สรเทศน์ ที่ได้ปรับปรุงแล้วเสร็จออกมาสวยงามให้คณาจารย์และ นิสิตเก่าได้ใช้เป็นที่รับประทานอาหาร พบปะพูดคุยกัน เราใส่ใจและกำกับกันตั้งแต่ออกแบบเลยนะครับ เพิ่มเติมด้วยการประดับตกแต่งด้วยงานศิลปะเข้าไปยิ่งช่วยเพิ่มให้ทุกอย่างลงตัวน่าใช้ เป็นหน้าเป็นตาให้แก่คณะได้เลย
อวดงานศิลป์ซ่อนตัวใน INTANIA CLUB
เมื่อเล่ามาถึงงานปรับปรุงอาคารอรุณ สรเทศน์ ซึ่งเป็นอาคารที่ทำการสมาคม ดร.อ๊อด ได้เล่าถึงการนำงานศิลปะหลากหลายชิ้นมาจัดแสดง ประดับตกแต่งห้อง INTANIA CLUB ที่ตั้งใจทำไว้ให้พี่น้องอินทาเนียได้ใช้เป็นแหล่งรวมสังสรรค์เวลากลับมาพบกันที่คณะไว้อย่างน่าสนใจ
“ภายในห้อง INTANIA CLUB เรายังได้ประดับตกแต่งให้ห้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยภาพวาด Painting ที่ได้เลือกรูปให้ศิลปินวาดขึ้นมา 3 ภาพด้วยกัน ได้แก่ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์องค์พระปิยมหาราช ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยที่เราได้ใช้ พระนามของพระองค์ท่านเป็นนามสถาบัน ภาพต่อมาคืออีกหนึ่งสัญลักษณ์ของคณะเรา นั่นคือ ภาพปราสาทแดง ในมุมมองที่น้อยคนนัก จะได้เห็น และภาพสุดท้ายผมได้ให้ศิลปินวาด ภาพคณะกรรมการ สวจ. ชุดนี้ที่ถ่ายรูปภาพหน้าอาคารอรุณ สรเทศน์ ไว้เป็นที่ระลึกให้แก่พวกเขา ได้ภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเราได้เข้ามาช่วยพัฒนาคณะด้วยกัน นอกจากนี้ เรายังได้จัดสรรพื้นที่ให้สำหรับเป็น Hall of Fame ประกาศเกียรติคุณ วิศวจุฬาดีเด่น และวิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่น จารึกรายนามของทุกท่านไว้ที่นี่ด้วยนะครับ ซึ่งเราได้จำลองงานศิลปะชิ้นพิเศษมาไว้ที่นี่ด้วย นั่นคือ “ถ้วยรางวัลวิศวจุฬาดีเด่น” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและทรงคุณค่า และได้มอบให้แก่พี่ ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกไปในงานแล้วมาจัดแสดงไว้ที่นี่ด้วย” ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ เล่าให้เราฟังพร้อมนำชมงานศิลปะอย่างเพลิดเพลินสมกับที่เป็นนายช่างหัวใจศิลป์
ทิ้งท้ายถึงอินทาเนีย
“ต้องยอมรับนะครับว่า คุณศักดิ์ชัย เป็นนายก ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ถือเป็นจุดแข็งของพี่เขาเลย นอกเหนือจากเป็นคนกล้า มีความสามารถระดมทุน เก่งมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมมองว่าผู้นำที่ดีควรจะมี มาได้ ถูกจังหวะ สบช่องในสถานการณ์นี้ของคณะเราที่ต้องการผู้นำที่กล้าฝ่าปัญหาอุปสรรค มันไม่มีอะไรโรยด้วยกลีบกุหลาบหรอกนะครับ มีแต่จะกอดกันฝ่าขวากหนาม ไปยังไงให้ถึงปลายทางให้ได้ต่างหาก (หัวเราะ) การเข้ามาทำงานครั้งนี้ถือเป็นการ่วมงานกับวิศวกรด้วยกัน ทุกคน มีศักดิ์มีศรีเท่าเทียมกันหมด เพราะฉะนั้นความคิดเห็น ใด ๆ ก็สามารถแสดงออกมาได้จากทุกคน ซึ่งแน่นอนว่า พวกเรามองหาสิ่งที่ดีที่สุดกันอยู่แล้ว สำหรับผมมองว่า นี่เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ทำประโยชน์ให้แก่คณะที่เรารัก ครั้งหนึ่งในชีวิตได้กลับมาตอบแทนคณะที่สร้างเรามา เรายิ่งต้องทำให้ดี ทำให้สุดฝีมือ และนี่ไม่ใช่ธุรกิจ เราทำในนามองค์กรไม่แสวงหากำไร ไร้ผลประโยชน์ ยิ่งต้องใส่ให้สุด เราตั้งใจมาทำเพื่อน้องนิสิต คณาจารย์ และ คณะวิศวจุฬาฯ ถ้าตรงไหนช่วยกันได้ก็อยากจะให้ช่วยกัน อย่าให้ต้องเอ่ยปากกันมาก เห็นแล้วไม่นิ่งดูดาย ช่วยกันคนละไม้คนละมือเดี๋ยวมันก็สำเร็จเสร็จสิ้น นี่ภาพที่ผมเห็นตลอด 2 ปีนี้ น้ำใจอินทาเนียยังไม่เหือดแห้ง และ หลั่งไหลมาทุกเมื่อที่คณะต้องการ นี่คืออีกหนึ่งความ สวยงาม เป็นความสวยงามที่สะท้อนออกมาจากสปิริต วิศวจุฬาฯ และยั่งยืนเหนือกาลเวลา สวยงามยิ่งกว่างานศิลปะใด ๆ ที่ผมหลงใหล ขอชื่นชมและคารวะรุ่นพี่อาวุโสทุกท่านที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนคณะเป็นแบบอย่างให้พวกเราเดินตาม ขอเพียงมีศรัทธาต่อกัน ผมว่า เราทำอะไรได้ทั้งนั้น ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สวจ. ชุดนี้เราระดมทุนจากพี่ ๆ มาพัฒนาคณะได้เกือบ 200 ล้านบาท หากขาดศรัทธาจากพี่ ๆ เราคงไม่มีวันนี้เช่นกัน และเมื่อวันที่ผมต้องลุกจากเก้าอี้เลขาธิการนี้ไปเราก็พร้อม ส่งต่องานพร้อมด้วยกำลังใจให้แก่ คณะกรรมการ สวจ. ต่อไปเข้ามาบริหารงานสมาคมของเราให้ก้าวหน้า ดูแลพี่น้องอินทาเนียอย่างแข็งขันเข้มข้นเช่นเดียวกับที่พี่เราเคยทำกันมา” ผศ. ดร.วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร เลขาธิการ สวจ. กล่าว ทิ้งท้าย
ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ