โลกร้อน

โลกร้อน…ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง…และคำถามของประเทศไทย?


การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ทั้งใกล้และไกล ทั้งโรคระบาดที่ยืดเยื้อ ยาวนาน สงครามเศรษฐกิจ และสงครามรบพุ่ง ความวุ่นวายทางการเมือง อุบัติภัยและพิบัติภัย ทำให้เกิดคำเรียกช่วงเวลาปัจจุบันและอนาคตอันใกล้เป็นภาษาอังกฤษว่า New Normal หรือสภาวะแวดล้อมใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ผมค่อนข้างชอบคำว่า No Normal หรือไร้สภาวะปรกติ มากกว่า เพราะผมเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยคุ้น จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

อันที่จริง ท่านที่เป็นชาวพุทธน่าจะคุ้นเคยกับคำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือความไม่เที่ยงแท้ของสิ่งรอบตัวทั้งหลายทั้งปวงอยู่แล้ว แต่สัญชาตญาณของมนุษย์มักจะยึดติดกับความเคยชิน

หมายความว่า สิ่งใดที่คุ้นชิน ก็มักจะเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งนั้น ๆ จะคงอยู่ยั้งยืนยง ทั้ง ๆ ที่เป็นไปไม่ได้

ภูมิอากาศของโลกก็เช่นเดียวกัน แม้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างมากมาย ก็ยังมีคนที่เชื่อว่า ข่าวสารข้อมูลเรื่อง “โลกร้อน” นั้นเป็นสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่งสร้างเรื่องขึ้นมาหลอกให้คนหลงเชื่อ… คนที่มีชื่อเสียงรู้จักกันไปทั่วโลกและยังเชื่ออย่างนั้นก็คือท่านอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัล ทรัมป์ นั่นไงครับ

แต่ทว่า โลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น “ของจริง” ครับ!!

Website ของ World Economic Forum ที่น่าจะเรียกแบบไทย ๆ ว่า “อาศรมเศรษฐกิจโลก” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ศกนี้ ได้เผยแพร่บทความที่ร่วมกับสำนักข่าว Reuters (รอยเตอร์) ที่จัดทำโดย Andrea Januta เกี่ยวกับประเด็นสำคัญจาก.15รายงานของคณะกรรมการนานารัฐ (นานาชาติ) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า IPCC หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change หลายท่านอาจจะยังจำชื่อของ Dr.Rajendra Prachauri อดีตประธานของ IPCC ที่มีบทบาทสำคัญมากในการผลักดันให้เกิดพิธีสารเกียวโต หรือ Kyoto Protocol (ค.ศ. 2007 หรือ พ.ศ. 2550) ที่เป็นจุดตั้งต้นในการรณรงค์ลดโลกร้อนมาจนทุกวันนี้

15 ปีผ่านไป… รายงานล่าสุดของ IPCC ได้กล่าวถึงผลกระทบที่รุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสถานะที่เลวร้ายลงของสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่บนโลกนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นมีทั้งการทำลายสิ่งมีชีวิต การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสี่ยงของการขาดแคลนแหล่งอาหารของโลก

รายงานยังเน้นความจำเป็นในการอนุรักษ์ปริมาณของผืนดิน นํ้าสะอาด และพื้นที่มหาสมุทร ให้ได้ 30-50% ของปริมาณทั้งหมดของโลก ซึ่งสอดคล้องกับค่าเป้าหมาย 30% ของสหประชาชาติ

ประเด็นสำคัญในรายงานของสหประชาชาติฉบับล่าสุดมีดังต่อไปนี้ครับ

  1. ความเสียหายในวงกว้างเกิดขึ้นแล้ว มนุษย์และสัตว์ร่วมโลกอื่น ๆ เสียชีวิตจากคลื่นความร้อน พายุ และพิบัติภัยต่าง ๆ ที่เสริมพลังจากโลกร้อน แม้ IPCC ได้แจ้งเตือนครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทว่าพืชและสัตว์ประจำถิ่นนับร้อย ๆ สายพันธุ์ได้หายไปจากท้องถิ่นกำเนิด ทั้งบนพื้นดินและในทะเล สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงได้ส่งผลกระทบให้คนนับล้าน ๆ คนปราศจากความมั่นคงทางอาหารและนํ้า หรือก่อความเสียหายแก่โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนทำให้เกิดการขัดข้องในห่วงโซ่อุปทาน ความเสียหายเพิ่มพูนเป็นทวีคูณ เมื่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดร่วมกัน เช่น คลื่นความร้อนเกิดในพื้นที่ที่ยากลำบากจากความแห้งแล้ง การสูญเสียบางประการ เช่น การตายของแนวปะการัง หรือการละลายของธารนํ้าแข็งจะไม่สามารถฟื้นคืนสภาพได้ในชั่วชีวิตของพวกเรา Ed Carr นักภูมิศาสตร์และมานุษยวิทยา ที่ Clark University, Massachusetts ยํ้าว่า การปรับระบบสังคมและเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยพอเป็นพิธีที่ทำกันในอดีตถึงปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะพาเราสู่สภาพภูมิอากาศที่น่าอยู่อาศัยในอนาคตได้ เราจำเป็นต้อง “ปฏิรูป” ทุกอย่างตั้งแต่เรื่องการผลิตอาหาร พลังงาน การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการเมืองและสังคมด้วย
  2. เรากำลังล่วงเลยขีดจำกัดของการปรับตัวแล้ว รายงานได้กล่าวว่าการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศนั้นมีขีดจำกัด สภาพการณ์กำลังมุ่งไปสู่ระดับความเลวร้ายที่จะทำให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ไม่สามารถรับได้ ขีดจำกัดที่ว่านี้มี 2 ประเภท คือ ขีดจำกัดอย่างอ่อน และขีดจำกัดอย่างแข็ง ในหลายกรณียังมีความเป็นไปได้เชิงเทคนิคที่เราจะสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ทว่า จะเผชิญกับอุปสรรคขัดขวางบางประการ เช่น ต้นทุน หรือนโยบาย ซึ่งจะเป็นขีดจำกัดอ่อน คือยังพอมีทางออกได้ แต่ในกรณีขีดจำกัดแข็งนั้น จะไม่มีทางออกที่ชัดเจนได้เลย เช่น ร่างกายมนุษย์จะทนสภาพอากาศร้อนได้ถึงระดับอุณหภูมิหนึ่งเท่านั้น เกาะที่มีพื้นดินระดับตํ่าจะต้องถูกนํ้าทะเลที่ยกระดับสูงขึ้นท่วมมิด พืชและสัตว์บางประเภทอยู่ในสภาพเลยขีดจำกัดแข็งแล้ว เช่น แนวปะการังที่ตายจากคลื่นความร้อนในมหาสมุทร ปริมาณของขีดจำกัดอย่างแข็งจะเพิ่มขึ้นตามระดับการเพิ่มของความร้อนของโลก แต่จะเพิ่มแบบก้าวกระโดดที่ระดับอุณหภูมิ 1.5°C (2.7°F) เหนือระดับอุณหภูมิโลกก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม น่ากังวลอย่างมากว่าขณะนี้ระดับดังกล่าวสูงขึ้นถึง 1.1°C แล้ว ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะชนขีด 1.5°C ภายในอีก 2 ทศวรรษเท่านั้น ณ ระดับอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นเกิน 1.5°C นี้ ชุมชนที่พึ่งพาอาศัยนํ้าสะอาดจากธารนํ้าแข็งและหิมะละลายจะเผชิญการขาดแคลนนํ้าอย่างรุนแรง ที่ 2°C ธัญพืชสำคัญหลากหลายชนิดจะเพาะปลูกไม่ได้ในพื้นที่ต่าง ๆ สิ่งที่น่ากลัวคือผลกระทบที่เลวร้ายทั้งหลายจะไม่สามารถแก้ไขให้ย้อนกลับสู่สภาพดีดังเดิมได้หากอุณหภูมิสูงเกิน
  3. ธรรมชาติกำลังเผชิญปัญหาอันยิ่งใหญ่ ทุกภูมิภาคของโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงที่สายพันธุ์พืชและสัตว์จะสูญเสียและสูญพันธุ์ไป ที่ระดับร้อนเกิน 1.5°C นักวิทยาศาสตร์คาดว่า 3-14% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตบนผืนดินจะสาบสูญไป กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือสายพันธุ์แถบชายฝั่งทะเลที่จะเผชิญกับระดับนํ้าทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ตลอดจนสายพันธุ์ที่พึ่งพาอาศัยสายนํ้าในแม่นํ้าที่ไหลตามฤดูกาล แต่กลับแห้งเหือดจากภาวะความแห้งแล้งหรือการละลายของธารน้ำแข็งก่อนฤดูกาล กลุ่มของพืชและสัตว์ที่ไม่สามารถอพยพย้ายถิ่นไปสู่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกว่าจะเผชิญความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน นี่เองจึงเป็นสาเหตุที่รายงานเน้นความจำเป็นในการอนุรักษ์ผืนดินนํ้าสะอาด และพื้นที่มหาสมุทรให้ได้ 30-50% สอดคล้องกับเป้าหมายของพิธีสารสหประชาชาติเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้ได้ 30% ขณะนี้เรายังห่างไกลจากเป้าหมายมาก เพราะมีผืนดินเพียง 15% นํ้าสะอาดเพียง 21% และผืนมหาสมุทรเพียง 8% เท่านั้นที่อยู่ภายใต้มาตรการป้องกันอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมักไม่ค่อยจะเพียงพอด้วยซํ้าไป 1.5°C ไปเพียง 2-3 ทศวรรษเท่านั้น
  4. มนุษยชาติและสังคมจะต้องเผชิญความยากลำบากแสนสาหัส นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านสุขภาพจากคลื่นความร้อนและสภาพอากาศที่แปรปรวนแล้ว มนุษย์ยังต้องพบกับความเสี่ยงที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ในเรื่องของโรคระบาดที่มาจากอาหารที่เน่าเสียน้ำสกปรก หรือแมลงพาหะนำโรค เชน่ ยุง ในบางชุมชนที่ยากจนและด้อยโอกาสการพัฒนาจะมีปัญหาการขาดแคลนอาหารเพิ่มสูงขึ้น การผลิตอาหารจะจำกัดลงจากระดับนํ้าทะเลที่เพิ่มขึ้นและภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงเฉียบพลัน การประมงจะพบปัญหามากเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งประมงประเภทที่อาศัยแหล่งหาอาหารจากปะการังชายฝั่ง นอกจากนี้ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้วที่กระทบกับภูมิอากาศจะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งแก่การบริการสาธารณสุข และเพิ่มพูนความเครียดในด้านสุขภาพ
  5. เรากำลังจะไม่มีเวลาแล้ว รายงานของ IPCC เรียกร้องให้ประชากรชาวโลกเตรียมพร้อมกับการต้องใช้ชีวิตในโลกที่อุ่นขึ้นเรื่อย ๆ ภาวะอากาศสุดขั้วและผลกระทบจากภูมิอากาศโลกกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าการคาดการณ์ในรายงานฉบับก่อน ๆ ความล่าช้าต่อไปในการทำมาตรการที่จำเป็นต่าง ๆ จะทำให้มนุษย์พลาดจังหวะเวลาที่เหลือเพียงระยะสั้นมาก ๆ ในการอนุรักษ์และสรรสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือกันระหว่างชุมชนทั่วโลก โดยมุ่งเน้นด้านเงินทุนสนับสนุนการปรับตัวในระยะเวลาทศวรรษที่ถัดไปนี้ ชุมชนทั่วโลกจะต้องสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยพิจารณาทบทวนรูปแบบการจัดการความร้อน อุทกภัย และแหล่งนํ้าบริสุทธิ์ ความพยายามในการยกระดับพื้นฐานการใช้ชีวิตร่วมไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าที่เคยคิดกัน มาตรการต่าง ๆ ที่เน้นความเท่าเทียมและความยุติธรรม พร้อม ๆ ไปกับการสร้างความเท่าเทียมทางเพศและความเสมอภาคของรายได้ประชากร จะได้ผลลัพธ์ในภาพรวมที่เหนือกว่ามาตรการอื่น ๆ

ประเด็นสำคัญของรายงานสรุปได้ 5 ประการดังกล่าวข้างต้นครับ ผมขอนำข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่องกันจากรายงานการประชุมสุดยอดด้านภูมิอากาศที่ Glasgow, U.K. หรือ COP26 ที่เพิ่งจัดกันไประหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 รายงานโดย Kate Abnett จากสำนักข่าว Reuter เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ดังนี้ครับ

ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มาร่วมประชุม COP26 ได้เน้นเป็นเสียงเดียวกันถึงความจำเป็นในการจำกัดระดับอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกินกว่า 1.5°C ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงที่ปารีสใน พ.ศ. 2558 ให้ทุกประเทศร่วมกันจำกัดระดับอุณหภูมิของโลกให้เพิ่มตํ่ากว่า 2°C โดยให้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.5°C

ถามว่า ระดับการเพิ่ม 1.5°C กับการเพิ่มเกินเลยไปแตะ 2°C มีผลแตกต่างกันอย่างไร?

นักวิทยาศาสตร์หลายท่านกล่าวว่า การก้าวข้ามขีดพิกัด 1.5°C ไปนั้นเสี่ยงที่จะไปกระตุ้นให้เกิดผลกระทบของภูมิอากาศที่รุนแรงยิ่งยวดต่อมนุษย์ สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ และระบบนิเวศวิทยาของโลก

แล้วตอนนี้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึงระดับไหน?

เพิ่มขึ้นประมาณ 1.1°C เทียบกับระดับอุณหภูมิโลกยุคก่อนอุตสาหกรรมแล้วละครับ ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมานี้สภาพภูมิอากาศของโลกร้อนขึ้นทุกทศวรรษตั้งแต่ ค.ศ. 1850 (พ.ศ. 2393) เป็นต้นมา

Daniela Jacob นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์บริการภูมิอากาศของเยอรมนีกล่าวว่า

“โลกร้อนเพิ่มขึ้นมานานแล้ว และแม้เพียงครึ่งองศาที่ร้อนขึ้นก็หมายความถึงภาวะอากาศที่สุดขั้วเกิดรุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น กินช่วงเวลายาวนานขึ้นทุกที”

เราได้เห็นพายุฝนกระหนํ่าท่วมท้นจีนและยุโรปตะวันตกเมื่อเร็ว ๆ นี้คร่าชีวิตคนไปหลายร้อยคน และอีกหลายร้อยคนที่เสียชีวิตไปเมื่ออุณหภูมิแถบตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรแปซิฟิกเพิ่มสูงกว่าที่ผ่าน ๆ มา เกิดการหลอมละลายของหิมะและธารนํ้าแข็งมากมายในกรีนแลนด์ ไฟป่าเผาผลาญแถบเมดิเตอเรเนียนและไซบีเรีย ในขณะที่หลายส่วนของบราซิลแห้งแล้งผิดปรกติ

Rachel Warren นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศที่มหาวิทยาลัย East Anglia เสริมว่า “สภาวการณ์เช่นนี้แปลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัยทั่วโลกแล้ว”

อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นถึง 1.5°C และเลยไปจากนั้นจะส่งผลกระทบที่เลวร้ายมากขึ้น

Sonia Seneviratne นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศที่ ETH Zurich กล่าวว่า “ทุก ๆ ระดับที่โลกร้อนขึ้น การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจะเพิ่มขยายขึ้นเป็นเงาตามตัว” เช่น คลื่นความร้อนจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น

รายงานของ IPCC ล่าสุดกล่าวว่า โดยปรกตินั้นจะเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนทุก ๆ หนึ่งทศวรรษหากไม่มีผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ แต่หากมนุษย์ปล่อยปละละเลยทำให้โลกร้อนขึ้น 1.5°C คลื่นความร้อนจะเกิดถี่ขึ้นเป็น 4.1 ครั้งในหนึ่งทศวรรษที่ระดับ 1.5°C และเพิ่มเป็น 5.6 ครั้งในหนึ่งทศวรรษที่ระดับ 2°C และหากปล่อยให้โลกร้อนขึ้นถึง 4°C ก็จะเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนถึง 9.4 ครั้งในหนึ่งทศวรรษ

บรรยากาศที่อุ่นขึ้นยังสามารถจะเก็บกักความชื้นได้มากขึ้น ผลลัพธ์ก็คือปริมาณฝนที่เพิ่มพูนขึ้นมากมายจนเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุทกภัย ทั้งยังเพิ่มการระเหยของนํ้าให้มากขึ้น ทำให้เกิดการแห้งแล้งที่รุนแรงได้

นํ้าแข็ง ทะเล และแนวปะการัง

Michael Mann นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่ง Pennsyl-vania State University ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5°C เทียบกับที่เพิ่มขึ้นถึง 2°C ว่าเป็นค่าความแตกต่างที่วิกฤตของแถบมหาสมุทรและบริเวณเยือกแข็งของโลก เขากล่าวว่า “ที่ 1.5°C เรายังมีโอกาสที่จะป้องกันแผ่นนํ้าแข็งแถบกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกจากการพังทลายได้ ซึ่งก็จะช่วยจำกัดการเพิ่มขึ้นของระดับนํ้าทะเลเพียงไม่กี่ฟุตเมื่อสิ้นศตวรรษ แม้กระนั้นก็ยังสามารถทำลายพื้นดินแถบชายฝั่ง ท่วมประเทศที่เป็นเกาะเล็กเกาะน้อยและเมืองแถบชายทะเลหลายแห่ง”

แต่หากอุณหภูมิพุ่งถึง 2°C และสูงขึ้นไปอีก แผ่นนํ้าแข็งจะทลายลง ระดับนํ้าทะเลเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ 10 เมตร (หรือเท่ากับตึก 3 ชั้น) …ซึ่งเราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้เมื่อใด?

ปะการังไม่ตํ่ากว่า 70% จะถูกทำลายหากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 1.5°C แต่ทว่า ที่ 2°C นั้นปะการัง 99% จะสูญสลายไป ซึ่งหมายถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของปลาและชุมชนที่พึ่งพาอาศัยแถบปะการังเพื่อการประมงและการใช้ชีวิตก็จะถูกทำลายไปด้วย

อาหาร ป่าไม้ และโรคภัยไข้เจ็บ

Simon Lewis นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่ง University College of London ให้ข้อมูลว่าความแตกต่างของอุณหภูมิที่อุ่นขึ้น 2°C เทียบกับ 1.5°C จะมีผลกระทบต่อการผลิตอาหารของโลก “หากพืชพันธุ์ธัญญาหารในแหล่งผลิตอาหารสำคัญ ๆ ของโลกเกิดการเสียหายขึ้นพร้อม ๆ กันแล้ว ราคาอาหาร ความหิวโหย และความอดอยากจะเพิ่มพูนถึงขีดสุดทั่วทุกหัวระแหงละครับ”

โลกที่อุ่นขึ้นจะกระตุ้นการแพร่ขยายของยุงที่เป็นพาหะของมาลาเรียและไข้เลือดออกเป็นวงกว้าง แต่ที่ 2°C นั้นจะส่งผลกระทบให้แมลงและสัตว์หลากหลายพันธุ์สูญเสียที่อยู่อาศัยมากกว่าที่ระดับ 1.5°C ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดไฟป่า…ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในป่าทั้งหลาย

จุดผกผัน

ขณะที่โลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะไปถึงจุดผกผันหรือ Tipping Points ซึ่งก็คือปรากฏการณ์ที่ระบบต่าง ๆ ของโลกเลยขีดจำกัดที่จะเกิดการกระตุ้นก่อผลกระทบที่ไม่สามารถแก้ไขกลับคืนหรือปฏิกิริยาต่อเนื่องที่น่ากลัว

ตัวอย่างเช่น ความแห้งแล้ง ปริมาณฝนที่ลดลง และการตัดไม้ ทำลายป่าแถบอะเมซอนอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสเกิดการล่มสลายของระบบป่าฝน เกิดการปลดปล่อยก๊าซ CO2 สู่บรรยากาศแทนการเก็บกักเอาไว้

หรือความอบอุ่นของบริเวณเยือกแข็งแถบอาร์กติกสามารถทำให้ชีวมวลที่แข็งตัวเกิดการแยกสลายและปลดปล่อย CO2 ออกสู่บรรยากาศ

Simon Lewis สรุปว่า “นี่เองเป็นเหตุที่ว่าทำไมจึงมีความเสี่ยงมากในการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล………เพราะเราเพิ่มโอกาสในการที่เราจะทำให้โลกเลยจุดผกผันเหล่านั้นละครับ”

หากเลย 2°C

คำมั่นสัญญาที่แต่ละประเทศที่สหประชาชาติบันทึกเอาไว้นั้นจะพาโลกไปสู่ระดับที่อุ่นขึ้น 2.7°C ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนสาหัสสากรรจ์เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งในแต่ละปีในภูมิภาคที่อบอุ่นและกึ่งอบอุ่น ความหลากหลายทางชีวภาพจะสูญสลายไปมากมาย ความมั่นคงทางอาหารลดลง และสภาวะอากาศที่แปรเปลี่ยนถึงขีดสุดทั้งหลายจะอยู่ในระดับที่โครงสร้างพื้นฐานของเมืองส่วนใหญ่ของโลกไม่สามารถรองรับได้

Michael Mann สรุปทิ้งท้ายว่า “ถ้าเราสามารถรักษาอุณหภูมิให้ร้อนขึ้นไม่เกิน 3°C เราน่าจะสามารถปรับตัวได้อยู่พอสมควร แต่เพียง 2.7°C เราก็จะลำบากแสนสาหัสแล้วละครับ”

ความหวังเล็ก ๆ ที่การประชุมสุดยอด COP26 ที่ Glasgow นั้น มีคำมั่นสัญญาใหม่จากประเทศต่าง ๆ ซึ่งหากปฏิบัติได้จริงจะสามารถทำให้โลกร้อนขึ้นไม่เกิน 1.8°C คำถามคือ…จะปฏิบัติได้จริงหรือไม่? เพียงใด?

ยิ่งถ้าจะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิร้อนขึ้นเกิน 1.5°C จะต้องลดการปล่อยก๊าซ CO2 ทั้งโลกลงเกือบครึ่งหนึ่งภายใน ค.ศ. 2030 เทียบกับระดับการปล่อยใน ค.ศ. 2010 และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2050 ซึ่งเป็นสิ่งที่วิพากษ์กันอยู่ที่ COP26 ว่าจะทำอย่างไร? และจะสนับสนุนงบประมาณได้อย่างไร?

รัฐบาลไทยเราก็ไปสัญญากับเขาเหมือนกันครับ โดยท่านนายกรัฐมนตรีประกาศว่า ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ใน ค.ศ. 2065

คำถามที่สำคัญก็คือ

  1. เรารู้หรือไม่ว่ามาตรการใดมีผลกระทบต่อก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าใด?
  2. การทำไร่ไถนา การทำฟาร์มปศุสัตว์ การตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่า เผาไร่อ้อย ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมายออกสู่บรรยากาศนั้น เราสามารถห้ามไม่ให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?
  3. แหล่งทิ้งขยะและบ่อขยะต่าง ๆ แถบกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคทั้งหลายมีมากน้อยเท่าใด? สามารถขจัดให้หมดไปได้หรือไม่? เพราะจะเป็นแหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ
  4. เมื่อใดเราจึงสามารถเปลี่ยนรถทุกชนิดเป็นรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 50% ขึ้นไป?
  5. เมื่อใดเราจึงจะมีระบบตรวจติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมโดยการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนเป็นผู้เฝ้าติดตามที่ใกล้ชิดที่สุด?

The answer my friends is blowing in the wind…
The answer is blowing in the wind…


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2565 คอลัมน์ สะดุดฟันเฟือง โดย รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save